Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2560
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
11 ธันวาคม 2560
 
All Blogs
 
เทศน์2ตค2554



อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พวกเราทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อหวังความหลุดพ้น ฉะนั้น..อย่าให้การตั้งเป้าหมายของเรานั้นเป็นไปโดยเลื่อนลอย สักแต่ว่าพูด โดยไม่ได้มีการทุ่มเทการปฏิบัติเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของเราอย่างจริงจัง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องบอกว่า "อีกนาน" 

คำว่า "อีกนาน" นี้ แฝงไว้ด้วยความหมายว่าเราจะต้องเวียนตายเวียนเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วน ยังต้องทนทุกข์ทรมานโดยการเวียนว่ายตายเกิดอีกประมาณไม่ได้ การที่เราปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น หลักใหญ่ก็อยู่ ศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง 

อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง คือเห็นในอริยสัจ สัมมาสังกัปปะ ความดำริที่ถูกต้อง คือดำริจะออกจากกาม เป็นต้น สัมมาทิฐิและสัมมาสังกัปปะนี้จัดเป็นปัญญา 

สัมมาวาจา การพูดที่ถูกต้อง สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ถูกต้อง การพูดที่ถูกต้องก็คือเว้นจากการพูดโกหก พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์ การกระทำที่ถูกต้องก็คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น สัมมาอาชีวะ ก็คือหาเลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง ไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรม เป็นต้น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะจัดเป็นศีล ก็คือควบคุมวาจา ควบคุมกาย ตลอดจนการทำมาหากินของเราไม่ให้ละเมิดศีลธรรม 

สัมมาวายามะ คือความเพียรพยายามในทางที่ถูกต้อง เพียรพยายามละกิเลสที่เกิดขึ้น เพียรระมัดระวังไม่ให้กิเลสอื่น ๆ เกิดขึ้น เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้น เพียรระวังรักษาและสร้างเสริมความดีให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น สัมมาสติ เป็นผู้มีสติตั้งมั่น ก็คือสติต้องเป็นไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือมีความเข้าใจใน กาย เวทนา จิต ธรรม รู้เท่าทันอารมณ์ใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น จะดีหรือชั่วก็ตาม ล้วนแต่ต้องละวางทั้งสิ้น 

สัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ถูกต้อง ได้แก่การดำเนินจิตโดยการปฏิบัติภาวนาให้ได้อย่างน้อยปฐมฌานละเอียดขึ้นไป เพื่อที่จะได้มีกำลังในการตัดกิเลส ถ้าหากว่าเราไม่ได้นำกำลังสมาธิมาตัดกิเลสไม่จัดว่าเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิเป็นส่วนของสมาธิ

ดังนั้น..เราจะเห็นว่ามรรค ๘ ก็คือปัญญา ศีล สมาธิ หรือที่เราเรียกว่า "ไตรสิกขา" นั่นเอง สำหรับพวกเราแล้ว ศีลถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าหนักใจ เราสามารถระมัดระวังรักษาศีลทุกสิกขาบทเอาไว้ได้ แต่ว่าให้เพิ่มความละเอียดยิ่งขึ้น ในระดับที่ว่าไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองแล้ว ไม่ยุยงให้ผู้อื่นกระทำการละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นล่วงละเมิดในศีล 

ในเรื่องของสมาธินั้น เป็นส่วนสำคัญที่สุดสำหรับพวกเราทั้งหลายในตอนนี้ เพราะว่าถ้าขาดสมาธิ สติก็ไม่ว่องไว ไม่แหลมคม ทำให้รู้เท่าทันกิเลสไม่ได้ หรือว่าถ้าหากรู้เท่าทันกิเลสได้ แต่กำลังสมาธิไม่เพียงพอ ก็ขาดสิ่งที่จะฉุดรั้งหักห้าม ไม่ให้เราล่วงละเมิดในสิ่งที่เป็นกิเลสทั้งปวง 

ดังนั้น..ในการปฏิบัติแต่ละครั้งของพวกเรา หลังจากที่ทบทวนศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ขอให้ทุกคนทำใจให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของเราให้เป็นปกติ ลมหายใจเข้าจะผ่านจมูก..ผ่านอก..มาสุดที่ท้อง ลมหายใจออกจะผ่านท้อง..ผ่านอก..มาสุดที่ปลายจมูก ก็ให้ตามดูตามรู้เอาไว้ ส่วนจะทรงเป็นสมาธิขั้นใดก็ตาม นั่นเป็นเรื่องของผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับเรา 

ถ้าเรามัวแต่ปฏิบัติเพื่อหวังว่าจะได้ผลอย่างนั้น ได้ผลอย่างนี้ เคยทำได้อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วอยากจะทำได้อย่างนั้นอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นสมาธิของท่านจะไม่ทรงตัว เพราะจิตส่งส่ายวุ่นวายไปเรื่อย 

เมื่อท่านมีลมหายใจอยู่ ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจ มีคำภาวนาอยู่ ก็ให้กำหนดรู้คำภาวนา ถ้าลมหายใจเบาลง ก็กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง คำภาวนาหายไป ก็กำหนดรู้ว่าคำภาวนาหายไป อย่าไปดิ้นรนอยากหายใจใหม่ อย่าไปดิ้นรนอยากภาวนาใหม่ ให้เรากำหนดความกำหนดรู้สึกที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าตอนนั้นให้ชัดเจนไว้ก็พอ สภาพจิตจะดิ่งลึกเข้าไปหาสมาธิที่ลึกกว่านั้นไปเอง 

ส่วนใหญ่แล้วพวกเราพอถึงเวลาลมหายใจหายไป สติก็ขาดไปด้วย เมื่อสติคืนมาก็รีบตะเกียกตะกายหาลมหายใจใหม่ เท่ากับว่าเราย้อนกลับไปนับ ๑ ใหม่ ทั้งที่เราขึ้นบันไดไปตั้งเยอะแล้ว ใกล้จะถึงจุดหมายชั้นบนแล้ว เราก็ย้อนกลับมาขั้นแรกใหม่เสียทุกที จึงทำให้การปฏิบัติของเราไม่ก้าวหน้า

อีกส่วนหนึ่งก็คือว่า เมื่อปฏิบัติแล้วเราไม่สามารถรักษาสมาธิภาวนาให้ทรงตัวต่อเนื่องได้ การปฏิบัติของเราเป็นการว่ายทวนน้ำ เมื่อสมาธิไม่ทรงตัวต่อเนื่องก็เท่ากับว่าเราลอยตามน้ำไป พอปฏิบัติใหม่ก็เท่ากับว่ายทวนน้ำกลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งอย่างดีก็ได้แค่เดิม ถ้าวันไหนเหนื่อยล้าขึ้นมาก็ได้น้อยกว่าเดิม เท่ากับว่าเราห่างจากเป้าหมายไปเรื่อยทุกครั้ง 

ดังนั้น..ในส่วนสำคัญอีกส่วนก็คือว่าเมื่อเราปฏิบัติได้แล้ว ต้องรู้จักประคับประคองอารมณ์ใจของเราให้นิ่ง ให้ทรงตัวเหมือนอย่างตอนที่เรานั่ง ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ถ้าหากว่าเราซักซ้อมบ่อย ๆ มีความคล่องตัวมากขึ้น ไม่ว่าอิริยาบถไหนเราก็สามารถทรงสมาธิไว้ได้ ไม่ว่าจะทำการทำงานสิ่งใดเราก็จะทรงสมาธิไว้ได้

ถ้าเป็นเช่นนั้นโอกาสที่ รัก โลภ โกรธ หลง จะกำเริบขึ้นมาก็น้อย สภาพจิตของเราจะมีความผ่องใสมากเป็นพิเศษ ตัวปัญญาก็จะแหลมคมว่องไว รู้เท่าทันว่าจะทำอย่างไรถึงจะต่อต้านกับกิเลส หรือว่าหลบหลีกไม่ให้กิเลสนั้นทำอันตรายเราได้ และท้ายสุดก็คือสามารถกำจัด ตัดละกิเลสให้หมดสิ้นไปได้จากใจของเราได้ 

การปฏิบัติสมาธิภาวนาจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับเราในตอนปัจจุบันนี้ อีกประการหนึ่งก็คือว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้ว อารมณ์ใจทรงตัวถึงที่สุดก็จะเริ่มคลายออกมา ซึ่งเป็นอาการปกติของสมาธิทั้งปวง เราต้องรีบหาวิปัสสนาญาณให้พิจารณา ให้เห็นชัดเจนว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้ยึดถือมั่นหมายได้ 

ถ้าไม่คิดพิจารณาดังนี้ สภาพจิตจะเอากำลังสมาธิที่ทำได้ ไปนึกคิดฟุ้งซ่านในเรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง และจะฟุ้งซ่านได้อย่างเป็นหลักเป็นฐานมาก เพราะใช้กำลังสมาธิที่เราทำได้ไปฟุ้งซ่านนั่นเอง

ดังนั้น..ในวันนี้ที่กล่าวถึงมา ไม่ว่าจะเป็นการที่เราต้องปฏิบัติภาวนาให้อารมณ์ใจทรงตัวก็ดี เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวแล้วต้องรักษาประคับประคองไว้ก็ดี โดยเฉพาะเมื่อประคับประคองถึงที่สุดแล้ว ถ้ากำลังจิตถอยออกมา ต้องรีบหาวิปัสสนาญาณให้พิจารณาก็ดี 

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถือว่าเป็นงานที่มอบให้กับพวกเรา นำไปซักซ้อมประพฤติปฏิบัติในช่วงระยะตอนนี้ จนกว่าจะถึงต้นเดือนหน้า เพื่อสร้างความคล่องตัว สร้างสมาธิภาวนาของเราให้มีกำลังที่มั่นคง จะได้เสริมในการที่เราจะระมัดระวังรักษาศีล ได้ช่วยสติให้ว่องไวรู้เท่าทันกิเลส ให้มีกำลังในการหักห้ามใจตนเองไม่ให้ละเมิดในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม และท้ายสุดให้มีกำลังในการช่วยปัญญาตัดละกิเลสทั้งหลายทั้งปวงให้สิ้นไป

พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๔



Create Date : 11 ธันวาคม 2560
Last Update : 11 ธันวาคม 2560 17:58:10 น. 0 comments
Counter : 428 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

doraeme
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add doraeme's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.