Group Blog
 
 
กันยายน 2557
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
23 กันยายน 2557
 
All Blogs
 

"พระผู้จุดประทีปในดวงใจ - หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ"

 "พระผู้จุดประทีปในดวงใจ - หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ"
 

อีก ๒๕ เรื่องเล่าหลวงปู่ดู่กับธรรมะลึกซึ้งเข้าใจง่าย ชัดเจน นำไปใช้ได้ทันที
________________________________________
ธรรมสวัสดีครับทุกท่าน(Leo_tn)
กลับมาอีกครั้งกับ
"พระผู้จุดประทีปในดวงใจ - หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ"

กระทู้นี้มีทั้งหมด ๒๕ เรื่อง
ขณะที่ผมจะเปิดกระทู้ใหม่ๆ
เพื่อเผยแผ่เรื่องราว-ธรรมะ-การปฏิบัติ
ด้วยระลึกถึงพระคุณของหลวงปู่ที่มอบสิ่งดีงามไว้ให้กับพวกเรา

ข้อมูลโดย leo_tn

๑. สมมุติและวิมุติ

ในวันสิ้นปีเมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนได้มาค้างคืนอยู่ปฏิบัติที่วัดสะแก และได้มีโอกาสเรียนถามปัญหาการปฏิบัติกับหลวงปู่เรื่องนิมิตจริง นิมิตรปลอม ที่เกิดขึ้นจริงภายในจากการภาวนา

ท่านตอบให้สรุปได้ใจความว่า

ต้องสมมุติขึ้นก่อนจึงจะเป็นวิมุติได้ เช่น การทำอสุภะหรือกสิณ ต้องอาศัยสัญญาและสังขารน้อมนึกเป็นนิมิตขึ้น ในขั้นนี้ไม่ควรสงสัยว่านิมิตนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม มาจากภายนอกหรือออกมาจากจิต เพราะเราจะอาศัยสมมุติตัวนี้ทำประโยชน์ คือยังจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ขึ้น แต่ก็อย่าสำคัญมั่นหมายว่าตนรู้เห็นแล้ว ดีวิเศษแล้ว

การน้อมจิตตั้งนิมิตเป็นองค์พระ เป็นสิ่งที่ดีไม่ผิด เป็นศุภนิมิตคือนิมิตที่ดี เมื่อเห็นองค์พระ ให้ตั้งสติคุมเข้าไปตรงๆ (ไม่ปรุงแต่ง หรืออยากโน้นนี้) ไม่ออกซ้าย ไม่ออกขวา ทำความเลื่อมใสเข้า เดินจิตให้แน่วแน่ สติละเอียดเข้า ต่อไปก็จะสามารถแยกแยะหรือพิจารณานิมิตให้เป็นไตรลักษณ์ จนเกิดปัญญาสามารถจะก้าวสู่วิมุติได้

"ก็เหมือนแกเรียนหนังสือทางโลกแหละ มาถึงทุกวันนี้ได้ ครูเขาก็ต้องหัดหลอกให้แกเขียนหนังสือ หัดให้แกอ่านโน่นนี่ มันถึงจะได้ดีในบั้นปลาย นี่ข้าเปรียบเทียบแบบโลกให้ฟัง"

กล่าวโดยสรุป คือ ท่านสอนให้ใช้ประโยชน์จากนิมิต ไม่ใช่ให้หลงนิมิต สอนให้ใช้แสงสว่าง ไม่ใช่ให้ติดแสงสว่างหรือติดสมาธิ


๒. หลักพุทธศาสนา

เล่ากันว่ามีโยมท่านหนึ่ง ไปนมัสการพระเถระองค์หนึ่งอยู่เป็นประจำ และในวันหนึ่ง ได้ถามปัญหาธรรมกับท่านว่า

"หลักของพระพุทธศาสนาคืออะไร?"

พระเถระตอบว่า

"ละความชั่ว ทำความดี ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว"

โยมท่านนั้นได้ฟังแล้วพูดว่า
"อย่างนี้เด็ก ๗ ขวบก็รู้"

"แต่ผู้ใหญ่อายุ ๘๐ ก็ยังปฏิบัติไม่ได้"

อย่างนี้กระมังที่ผู้เขียนเคยได้ยินหลวงปู่พูดเสมอว่า
"ของจริง ต้องหมั่นทำ"

พระพุทธศาสนานั้น ถ้าปราศจากการน้อมนำเข้าไปไว้ในใจแล้ว การ "ถือ" พุทธศาสนาก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด


๓. พระเก่าของหลวงปู่
สำหรับพระเครื่องแล้ว พระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเลงพระว่า เป็นของหายากและมีราคาแพง ใครได้ไว้บูชานับเป็นมงคลอย่างยิ่ง

หลวงปู่ได้สอนว่า การนับถือพระเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นดีภายนอกมิใช่ดีภายใน ท่านบอกว่า "ให้หาพระเก่าให้พบ นี่ซิ ของแท้ ของดีจริง"

ผู้เขียนเรียนถามท่านว่า "พระเก่า" หมายความว่าอย่างไร

ท่านว่า "ก็หมายถึงพระพุทธเจ้าน่ะซิ นั่น ท่านเป็นพระเก่า พระโบราณ พระองค์แรกที่สุด"


๔. ธรรมะในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลเป็นสถานที่บำบัดทุกข์ของมนุษย์เราอย่างน้อย ๓ ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระสูตรสำคัญหลายเรื่องคือ

ชาติทุกข์ - ความเดือดร้อนเวลาเกิด

ชราทุกข์ - ความเดือดร้อนเมื่อความแก่มาถึง และ

พยาธิทุกข์ - ความเดือดร้อนในยามเจ็บไข้ได้ป่วย

หลวงปู่เคยบอกกับผู้เขียนว่า ที่โรงพยาบาลนั่นแหละมีของดีเยอะ เป็นเหมือนโรงเรียน เวลาไปอย่าลืมดูตัวเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในนั้นหมด

"ดูข้างนอกแล้วย้อนมาดูตัวเรา เหมือนกันไหม"


๕.ทรรศนะต่างกัน

เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในวงของผู้ปฏิบัติธรรม หลวงปู่ท่านได้ให้โอวาทเตือนผู้ปฏิบัติไว้ว่า "การมาอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกันมากเข้า ย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ ทิฐิความเห็นย่อมต่างกัน ขอให้เอาแต่ส่วนดีมาสนับสนุนกัน อย่าเอาเลวมาอวดกัน"

การปรามาสพระก็ดี การพูดจาจ้วงจาบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือท่านที่มีศีล มีธรรมก็ดี จะเป็นกรรมติดตัวเราและขัดขวางการปฏิบัติธรรมในภายหน้า ดังนั้น หากเห็นใครทำความดี ก็ควรอนุโมทนายินดีด้วย แม้ต่างวัด ต่างสำนัก หรือแบบปฏิบัติต่างกันก็ตาม

ไม่มีใครผิดหรอก เพราะจุดมุ่งหมายต่างก็เป็นไป เพื่อความพ้นทุกข์เช่นกัน เพียงแต่เราจะทำให้ดี ดียิ่ง ดีที่สุดเท่านั้น ขอให้ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า "แล้วเราละ ถึงที่สุดแล้วหรือยัง?"


๖.อุบายธรรมแก้ความกลัว
เคยมีผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้วเกิดความกลัว โดยเฉพาะนักปฏิบัติที่เป็นหญิง ไม่ว่าจะกลัวผีสาง นิมิตในภาวนา หรือกลัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ได้เรียนถามหลวงปู่ว่า ถ้ากลัวแล้วจะทำอย่างไรดี

หลวงปู่ตอบว่า
"ถ้ากลัวให้นึกถึงพระ"

ในพระไตรปิฎก ธชัคคสูตร กล่าวไว้สรุปได้ว่า
"เมื่อพวกเธอตระหนักถึงเราตถาคตอยู่ พระธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอยู่ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จะมีขึ้นก็จะหายไป"

ท่านยังฝากไว้ให้คิดอีกว่า
"ธรรมนั้นอยู่ฟากตาย"


๗. แนะวิธีวางอารมณ์

หลวงปู่เคยพูดเสมอว่า "ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นตามดูจิต รักษาจิต" สำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติแล้ว ไม่รู้จะดูที่ไหน อะไรจะดูอะไร รู้สึกสับสน แยกไม่ถูกเพราะไม่เคยดู เคยอยู่แต่ในความคิดปรุงแต่ง อยู่กับอารมณ์แต่แยกอารมณ์ไม่ได้ ยิ่งคนที่ยังไม่เคยบวช คนที่อยู่ในโลกแบบวุ่นวาย ยิ่งดูจิตของตนได้ยาก

หลวงปู่ได้เปรียบให้ผู้เขียนฟัง โดยท่านกำมือและยื่นนิ้วกลางมาข้างหน้าผู้เขียนว่า เราภาวนาทีแรกก็เป็นอย่างนี้ สักครู่ท่านก็ยื่นนิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อย ตามลำดับออกมา จนครบ ๕ นิ้ว ท่านทำมือโคลงไปโคลงมา เปรียบการภาวนาของนักปฏิบัติที่จิตแตก ไม่สามารถรวมใจให้เป็นหนึ่งได้

ผู้ฝึกจิต ถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่างก็จะสงบไม่ได้ และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็มีกำลังเปล่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ว่า อะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรควรรักษา อะไรที่ควรละ


๘. เชื่อจริงหรือไม่

สำหรับผู้ปฏิบัติแล้ว คำดุด่าว่ากล่าวของครูบาอาจารย์ นับเป็นเรื่องสำคัญ และมีคุณค่ายิ่ง หากครูบาอาจารย์เมินเฉย ไม่ดุด่าว่ากล่าวก็เหมือนเป็นการลงโทษ

ผู้เขียนเคยถูกหลวงปู่ดุว่า
"แกยังเชื่อไม่จริง ถ้าเชื่อจริง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ต้องเชื่อและยอมรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แทนที่จะเอาความโลภมาเป็นที่พึ่ง เอาความโกรธมาเป็นที่พึ่ง เอาความหลงมาเป็นที่พึ่ง"

หลวงปู่ท่านกล่าวกับผู้เขียนว่า
"โกรธ โลภ หลง เกิดขึ้น
ให้ภาวนา แล้วโกรธ โลภ หลงจะคลายลง
ข้ารับรอง ถ้าทำแล้วไม่จริง ให้มาด่าข้าได้"


๙.คิดว่าไม่มีดี

ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะไม่พอใจในผลการปฏิบัติของตน โดยที่มักจะขาดการไตร่ตรองว่าสาเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร ดังที่เคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงปู่ได้มานั่งบ่นให้ท่านฟังในความอาภัพอับวาสนาของตนในการภาวนา ว่าตนไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นในสิ่งต่างๆ ภายใน มีนิมิตภาวนา เป็นต้น ลงท้ายก็ตำหนิว่าตนนั้นไม่มีความรู้อรรถ รู้ธรรมและความดีอะไรเลย

หลวงปู่นั่งฟังอยู่สักครู่ ท่านจึงย้อนถามลูกศิษย์จอมขี้บ่นผู้นั้นว่า

"แกแน่ใจหรือว่าไม่มีอะไรดี
แล้วแกรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเปล่า"

ลูกศิษย์ผู้นั้นนิ่งอึ้งสักครู่จึงตอบว่า "รู้จักครับ"

หลวงปู่จึงกล่าวสรุปว่า
"เออ นั่นซี แล้วแกทำไมจึงคิดว่าตัวเราไม่มีดี"

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเมตตาของท่านที่หาทางออกทางปัญญาให้ศิษย์ผู้กำลังท้อถอยด้อยความคิด และตำหนิวาสนาตนเอง หากปล่อยไว้ย่อมทำให้ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อผลที่ควรได้แห่งตน



๑๐.พระที่คล้องใจ

เมื่อมีผู้ไปขอของดีจำพวกวัตถุมงคลจากหลวงปู่ไว้ห้อยคอหรือพกติดตัว หลวงปู่จะสอนว่า

"จะเอาไปทำไม ของดีภายนอก ทำไมไม่เอาของดีภายใน พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละ ของวิเศษ"

ท่านให้เหตุผลว่า "คนเรานั้น ถ้าไม่มีพุทธัง ธัมมัง สังฆัง เป็นของดีภายใน ถึงแม้จะได้ของดีภายนอกไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร"

"ทำอย่างไรจึงจะได้เห็นพระจริงๆ เห็นมีแต่พระปูน พระไม้ พระโลหะ พระรูปถ่าย พระสงฆ์ ลองกลับไปคิดดู"


๑๑.จะเอาดีหรือจะเอารวย

อีกครั้งหนึ่งที่คณะผู้เขียนได้มานมัสการหลวงปู่ เพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งต้องการเช้าพระอุปคุตที่วัด เพื่อนำไปบูชา โดยกล่าวกับผู้ที่มาด้วยกันว่า บูชาแล้วจะได้รวย

เพื่อนของผู้เขียนท่านนั้นแทบตะลึง เมื่อมากราบหลวงปู่แล้ว ท่านได้ตักเตือนว่า "รวยกับซวยมันใกล้ๆ กันนะ"

ผู้เขียนได้เรียนถามหลวงปู่ว่า
"ใกล้กันยังไงครับ"

ท่านยิ้มและตอบว่า "มันออกเสียงคล้ายกัน"

พวกเราต่างยิ้มน้อย ยิ้มใหญ่ สักครู่ท่านจึงขยายความใหเพวกเราฟัง

"จะเอารวยน่ะ จะหามายังไงก็ทุกข์ จะรักษามันก็ทุกข์ หมดไปก็เป็นทุกข์อีก กลัวคนจะจี้จะปล้น ไปคิดดูเถอะมันไม่จบหรอก มีแต่เรื่องยุ่ง เอาดี ดีกว่า"

คำว่า ดี ของหลวงปู่ มีความหมายลึกซึ้งมาก ผู้เขียนขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของในหลวงของเราในเรื่องทำความดี มาเปรียบ ณ ที่นี้ ความตอนหนึ่งว่า

"...ความดีนี้ ไม่ต้องแย่งกัน ความดีนี้ ทุกคนทำได้ เพราะความดีนี้ทำแล้วก็ดี ตามคำว่า ดี นี้ ดีทั้งนั้น ฉะนั้น ถ้าช่วยกันทำดี ความดีนั้นก็จะใหญ่โต จะดียิ่ง ดีเยี่ยม..."



๑๒."พ พาน" ของหลวงปู่

หลวงปู่เคยปรารภธรรมกับผู้เขียนว่า
"ถ้าแกเขียนตัว พ พาน ได้เมือไร นั่นแหละจึงจะดี"

ผู้เขียนถามท่านว่าเป็นอย่างไรครับ พ พาน

ท่านตอบว่า
"ก็ตัว พอ น่ะซี"

คนเราจะมีชีวิตอยู่ในโลก
ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีฐานะ แล้วจึงจะมีความสุข
มีคนที่ลำบากอีกมาก
แต่เขารู้จักว่า อะไรคือสิ่งที่พอตัว
ก็สามารถอยู่อย่างเป็นสุขได้
นี่ก็อยู่ที่คนเรา รู้จักคำว่า "พอ" หรือไม่
รู้จัก "พอ" ก็จะมีแต่ความสุข
ไม่รู้จัก "พอ" ถึงแม้จะร่ำรวย มีเกียรติ ตำแหน่งใหญ่โตอะไร
มันก็ไม่มีความสุขได้เหมือนกัน
คนที่มีเงิน ก็ยิ่งอยากมีเพิ่มขึ้นอีก
คนที่ทำงาน ก็อยากกินตำแหน่งสูงขึ้น

มีสิ่งใดก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด



๑๓.การสอนของท่าน

วิธีวัดอย่างหนึ่งว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมได้ดีเพียงใดนั้น ท่านให้สังเกตดูว่า ผู้นั้นสามารถฝึกตน สอนตัวเองได้ดีเพียงใด การเตือนผู้อื่นไม่ให้หลงผิดได้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การเตือนตนให้ได้ย่อมดีกว่า

การสอนของหลวงปู่ท่านจะทำให้เราดูเป็นตัวอย่าง ท่านสอนให้เราทำอย่างที่ท่านทำ มิได้สอนให้ทำตามที่ท่านสอน ทุกอย่างที่ท่านสอน ท่านได้ทดลองทำและปฏิบัติทางจิตจนรู้ จนเห็นหมดแล้วทั้งสิ้น จึงนำมาอบรมแก่ศิษย์

เหมือนเป็นแบบอย่างให้เราได้ยึดถือตามครูอาจารย์ว่า การแนะนำ อบรม หรือสอนธรรมผู้อื่นนั้น เราต้องปฏิบัติจนแน่ใจตนเองเสียก่อน และควรคำนึงถึงสติปัญญาความสามารถของตน ถ้ากำลังไม่พอแต่จะรับภาระมาก นอกจากผู้มาศึกษาจะไม่ได้รับประโยชน์แล้ว ตนเองยังจะกลายเป็นคนเสียไปด้วย ท่านว่าเป็นการไม่เคารพธรรม และไม่เคารพครูบาอาจารย์อีกด้วย


๑๔.หัดมองชั้นลึก

ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนมีความหมายชั้นลึกโดยตัวของมันเองอยู่เสมอ ไอน์สไตน์มองเห็นวัตถุ เขาคิดทะลุเลยไปถึงการที่จะสลายวัตถุให้เป็นปรมาณู สองพี่น้องตระกูลไรท์มองเห็นนกบินไปมาในอากาศ ก็คิดเลยไปถึงการสร้างเครื่องบินได้

พระพุทธเจ้าแต่ครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงพบคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านก็มองเห็นถึงความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

หลวงปู่เคยเตือนสติลูกศิษย์รุ่นหนุ่มที่ยังมองเห็นสาวๆ ว่าสวย ว่างาม น่าหลงใหลใฝ่ฝันกันนักว่า

"แกมันดูตัวเกิด ไม่ดูตัวดับ
ไม่สวย ไม่งาม ตาย เน่า เหม็น
ให้เห็นอย่างนี้ได้เมื่อไร ข้าว่าแกใช้ได้"

๑๕.เวลาเป็นของมีค่า

หลวงปู่เคยบอกว่า
"คนฉลาดน่ะ เขาไม่เคยมีเวลาว่าง"

เวลาเป็นของมีค่า เพราะไม่เหมือนสิ่งอื่น แก้วแหวนเงินทอง สิ่งของทั้งหลาย เมื่อหมดไปแล้วสามารถหามาใหม่ได้

แต่สำหรับเวลาแล้ว หากปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ขอให้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า "สมควรแล้วหรือ กับวันคืนที่ล่วงไปๆ คุ้มค่าแล้วหรือกับลมหายใจที่เหลือน้อยลงทุกขณะ

๑๖.ต้องทำจริง

ในเรื่องของความเคารพครูอาจารย์ และความตั้งใจจริงในการปฏิบัติ หลวงปู่เคยบอกว่า

"การปฏิบัติ ถ้าหยิบจากตำราโน้นนี้ แบบแผน มาสงสัยถาม มักจะโต้เถียงกันเปล่า โดยมากชอบเอาจากอาจารย์โน่นนี่ ว่าอย่างนั้นอย่างนี้มา

การจะปฏิบัติให้รู้ธรรม เห็นธรรม ต้องทำจริง จะได้อยู่ที่ทำจริง ข้าเป็นคนมีทิฐิแรง เรียนจากครูบาอาจารย์นี้ยังไม่ได้ผล ก็จะต้องเอาให้จริงให้รู้ ยังไม่ไปเรียนกับอาจารย์อื่น ถ้าเกิดไปเรียนกับครูอาจารย์อื่น โดยยังไม่ทำให้จริง ให้รู้ ก็เหมือนดูถูกดูหมิ่นครูบาอาจารย์

๑๗.ของจริงนั้นมีอยู่

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความท้อใจ ปฏิบัติอยู่เป็นเวลานาน ก็ยังรู้สึกว่าตนเองไม่ได้พัฒนาขึ้น หลวงปู่เคยเมตตาสอนผู้เขียนว่า

"ของที่มีมันยังไม่จริง ของจริงเขามี
เมื่อยังไม่จริง มันก็ยังไม่มี"

หลวงปู่เมตตากล่าวเสริมอีกว่า...
"คนที่กล้าจริง ทำจริง เพียรปฏิบัติอยู่เสมอ จะพบความสำเร็จในที่สุด ถ้าทำจริงแล้วต้องได้แน่ๆ" หลวงปู่ยืนยันอย่างหนักแน่น และให้กำลังใจแก่ลูกศิษย์ของท่านเสมอ เพื่อให้ตั้งใจ "ทำจริง" แล้วผลที่เกิดจากความตั้งใจจริงจะเกิดขึ้นให้ตัวผู้ปฏิบัติได้ชื่นชมยินดีในที่สุด

๑๘.ล้มให้รีบลุก

เป็นปกติของผู้ปฏิบัติธรรม ช่วงใดเวลาใดที่สามารถปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้า จิตใจสงบเย็นเป็นสมาธิได้ง่าย สามารถพิจารณาอรรถธรรมให้ผ่านทะลุจิตใจได้โดยตลอดสาย ช่วงดังกล่าวมักจะต้องมีปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาไม่ในรูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง เพื่อมาขวางกั้นการปฏิบัติธรรมของผู้ปฏิบัติคนนั้นๆ ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมไม่สามารถเตรียมใจรับกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ ธรรมที่กำลังพิจารณาดีๆ ก็ต้องโอนเอนไปมา หรือล้มลุกคลุกคลานอีกได้

ผู้เขียนเคยกราบเรียนให้หลวงปู่ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่กำลังประสบอยู่

หลวงปู่
"พอล้มให้รีบลุก รู้ตัวว่าล้มแล้วต้องรีบลุก แล้วตั้งหลักใหม่ จะไปยอมมันไม่ได้ " ท่านเมตตาสอนต่อว่า "ก็เหมือนกับตอนที่แกเป็นเด็กคลอดออกมา กว่าจะเดินเป็น แกก็ต้องหัดเดิน จนเดินได้ แกต้องล้มกี่ทีเคยนับไหม พอล้มแกก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ใช่ไหม ค่อยๆ ทำไป" หลวงปู่เพ่งสายตามาที่ผู้เขียนแล้วสอนว่า "ของข้าเสียมากกว่าอายุแกซะอีก ไม่เป็นไรตั้งมันกลับไป"

ผู้เขียน
"แล้วจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ล้มบ่อยได้อย่างไร"

หลวงปู่
"ต้องปฏิบัติธรรมให้มาก ถ้ารู้ว่าใจเรายังแข็งแกร่งไม่พอ ถูกโลกเล่นงานง่ายๆ แกต้องทำให้ใจแกแข็งแกร่งให้ได้ แกถึงจะสู้กับมันได้"

เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังใจของนักปฏิบัติ ไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้งก็ตาม แต่ทุกๆ ครั้งเราจะได้บทเรียน ได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ให้น้อมนำสิ่งที่เราเผชิญมาเป็นครู เป็นอุทาหรณ์สอนใจของเราเอง เตรียมใจของเราให้พร้อมอีกครั้ง ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก

๑๙.สนทนาธรรม

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนกับหมู่เพื่อนใกล้สำเร็จการศึกษา ได้มากราบนมัสการหลวงปู่ ท่านได้สนทนากับพวกเราอยู่นาน สาระสำคัญที่เกี่ยวกับการปฏิบัติคือ

เมื่อพบแสงสว่างในขณะภาวนาให้ไล่ดู ถามท่านว่าไล่แสงหรือไล่จิต ท่านตอบว่าให้ไล่จิตโดยเอาแสงเป็นประธาน (เข้าใจว่าอาศัยปีติ คือความสว่างมาสอนจิตตนเอง) เช่น ไล่ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือไม่ มีจริงก็เป็นพยานแก่ตน

ถามท่านว่าไล่ดู มักเห็นแต่สิ่งปกปิด คือกิเลสในใจ ท่านว่า

"ถ้าแกเกลียดกิเลสเหมือนหมาเน่า หรือของบูดเน่าก็ดี ให้เกลียดให้ได้อย่างนั้น"

๒๐.ผู้บอกทาง

ครั้งหนึ่ง มีผู้มาหาซื้อยาลมในวัด ไม่ทราบว่ามีจำหน่ายที่กุฏิไหน หลวงปู่ท่านได้บอกทางให้ เมื่อผู้นั้นผ่านไปแล้ว หลวงปู่ท่านได้ปรารภธรรมให้ลูกศิษย์ที่นั่งอยู่ฟังว่า

"ข้านั่งอยู่ ก็เหมือนคนคอยบอกทาง เขามาหาข้า แล้วก็ไป..."

ผู้เขียนได้ฟังแล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็น "กัลยาณมิตร" คอยชี้แนะทางให้เดิน ดังพุทธภาษิตว่า
"จงรีบพากเพียรพยายามดำเนินตามทางที่บอกเสียแต่เดี๋ยวนี้ ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้ชี้ทางให้เท่านั้น"

หลวงปู่เป็นผู้บอก แต่พวกเราต้องเป็นคนทำ และทำเดี๋ยวนี้


๒๑.อย่าทำเล่น

มีผู้ปฏิบัติธรรมบางท่านเคยปรารภกับผู้เขียนว่า ปฏิบัติธรรมมาหลายปีเต็มที แต่ภูมิจิต ภูมิธรรม ไม่ค่อยจะก้าวหน้าถึงขั้น "น่าชมเชย" ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตัวเองและหมู่เพื่อนเป็นโรคระบาด คือ โรคขาอ่อน หลังอ่อน ไม่สามารถจะเดินจงกรม นั่งสมาธิได้ ต้องอาศัยนอนภาวนาพิจารณา "ความหลับ" เป็นอารมณ์ เลยต้องพ่ายแพ้ต่อเจ้ากรรมนายเวร คือ เสื่อ และหมอน ตลอดชาติ

พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขย กำไรแสนมหากัป ครั้นออกบวชก็ทรงเพียรปฏิบัติอยู่หลายปี กว่าจะได้บรรลุพระโพธิญาณ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน ฯลฯ ท่านปฏิบัติธรรมตามป่าตามเขา บางองค์ถึงกับสลบเพราะพิษไข้ป่าก็หลายครั้ง หลวงปู่ดู่ท่านก็ปฏิบัติอย่างจริงจังมาตลอดหลายสิบพรรษา กว่าจะได้ธรรมแท้ๆ มาอบรมพร่ำสอนเรา

แล้วเราล่ะ ปฏิบัติกันจริงจังแค่ไหน
"ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม" แล้วหรือยัง

๒๒.อะไรมีค่าที่สุด

ถ้าเราลองมาคิดดูกันแล้ว สิ่งที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตเรา ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตายคืออะไร หลายคนอาจตอบว่าทรัพย์สมบัติ สามี ภรรยา บุคคลที่รัก หรือบุตร หรืออะไรอื่นๆ แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องยอมรับว่าชีวิตของเรานั้นมีค่าที่สุด เพราะถ้าเราสิ้นชีวิตแล้ว สิ่งที่กล่าวข้างต้นก็ไม่มีความหมายใดๆ

ชีวิตเป็นของมีค่าที่สุด ในจำนวนสิ่งที่เรามีอยู่ในโลกนี้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นของมีค่าที่สุดในโลก สิ่งต่างๆ ในโลกช่วยให้เราพ้นทุกข์ชนิดถาวรไม่ได้ แต่พระธรรมช่วยเราได้ ผู้มีปัญญาทั้งหลายควรจะผนวกเอาสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดทั้งสองนี้ให้ขนานทาบทับเป็นเส้นเดียวกัน อย่าให้แตกแยกจากกันได้เลยดังพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก
กิจฉํ มจฺจานํ ชีวิตํ การได้มีชีวิตอยู่เป็นของยาก
กิจฉํ สทฺธมฺม สฺสานํ การได้ฟังพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของยาก
กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของยาก

อะไรจะมีค่าที่สุดสำหรับผู้ได้มานมัสการหลวงปู่นั้น คงไม่ใช่พระพรหมผง หรือเหรียญอันมีชื่อของท่าน

หลวงปู่เคยเตือนศิษย์เสมอว่า

"ข้าไม่มีอะไรให้แก (ธรรม) ที่สอนไปนั้นแหละให้รักษาเท่าชีวิต"


๒๓. การบวชจิต-บวชใน

หลวงปู่เคยปรารภไว้ว่า...

จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
มีศีล รักในการปฏิบัติ
จิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุกๆ คน
มีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพานได้เท่าเทียมกันทุกคน
ไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือฐานะแต่อย่างใด
ไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้ นอกจากใจของผู้ปฏิบัติเอง

ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า....

"ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น คำกล่าวว่า
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ให้เรานึกว่า เรามีพระพุทธเจ้า เป็นพระอุปัชฌาย์ของเรา
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ให้เรานึกว่า เรามีพระธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ให้เรานึกว่า เรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

แล้วอย่าสนใจขันธ์ ๕ หรือร่างกายเรานี้
ให้สำรวมจิตให้ดี มีความยินดีในการบวช
ชายก็เป็นพระภิกษุ หญิงก็เป็นพระภิกษุณี
อย่างนี้ก็จะมีอานิสงส์สูงมาก จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว


๒๔.ข้อควรคิด

การไปวัด ไปไหว้พระ ตลอดจนการสนทนาธรรมกับท่าน สมควรที่จะต้องมีความตั้งใจ และเตรียมให้พร้อมที่จะรับธรรมจากท่าน มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดเป็นโทษได้ดังเรื่องต่อไปนี้

ปกติหลวงปู่ท่านมีความเมตตา อบรมสั่งสอนศิษย์ และสนทนาธรรมกับผู้สนใจตลอดมา วันหนึ่ง มีผู้มากราบนมัสการท่าน และเรียนถามปัญหาต่างๆ จากนั้นจึงกลับไป

หลวงปู่ท่านได้ยกเป็นคติเตือนใจให้ผู้เขียนฟังว่า
"คนที่มาหาเมื่อกี้ หากไปเจอะพระดีละก็ลงนรก ไม่ไปสวรรค์นิพพานหรอก"

ผู้เขียนจึงเรียนถามท่านว่า
"เพราะเหตุไรครับ"

ท่านตอบว่า
"ก็จะไปปรามาสพระนั่นนะซิ ไม่ได้ไปเอาธรรมจากท่าน"

หลวงปู่เคยเตือนพวกเราไว้ว่า

"การไปอยู่กับพระอรหันต์ อย่าอยู่กับท่านนาน เพราะเมื่อเกิดความมักคุ้นแล้ว มักทำให้ลืมตัว เห็นท่านเป็นเพื่อนเล่น คุยเล่นหัวท่านบ้าง ให้ท่านเหาะให้ดูบ้าง ถึงกับออกปากใช้ท่านเลยก็มี การกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการปรามาสพระ ลบหลู่ครูอาจารย์และเป็นบาปมาก ปิดกั้นทางมรรคผลนิพพานได้ จึงขอให้พวกเราสำรวมระวังให้ดี"

๒๕. จะตามมาเอง

หลายปีมาแล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้มาบวชปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดสะแก ก่อนที่จะลาสิกขาเข้าสู่เพศฆราวาส ท่านได้นัดแนะกับเพื่อนพระภิกษุที่จะสึกด้วยกัน ๓ องค์ว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนสึก พวกเราจะไปกราบให้หลวงปู่พรมน้ำมนต์และให้พร ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ขณะที่หลวงปู่พรมน้ำมนต์ให้พรอยู่นั้น ท่านก็นึกอธิษฐานอยู่ในใจว่า
"ขอความร่ำรวยมหาศาล ขอลาภขอผลพูนทวี มีกินมีใช้ไม่รู้หมด จะได้แบ่งไปทำบุญมากๆ"

หลวงปู่หันมามองหน้าหลวงพี่ ที่กำลังคิดละเมอเพ้อฝันถึงความร่ำรวยนี้ ก่อนที่จะบอกว่า
"ท่าน ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ แล้วเรื่องที่ท่านคิดน่ะ จะตามมาทีหลัง"




 

Create Date : 23 กันยายน 2557
0 comments
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2557 16:13:06 น.
Counter : 3308 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


doraeme
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add doraeme's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.