สุดแต่ใจจะไขว่คว้า สุดแต่ใจจะไขว่คว้า สุดแต่ใจจะไขว่คว้า
=สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ^_^ สุดแต่ใจจะไขว่คว้า=
Group Blog
 
<<
เมษายน 2558
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
26 เมษายน 2558
 
All Blogs
 

ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hypertrophy)

 ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hypertrophy)


เรียนนายแพทย์สันต์ที่นับถือ
ผมอายุ 53ปี เป็นโรคต่อมลูกหมากโต คือต้องไปปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแต่ละทีมันไม่รู้จักสุดสมควรแก่เวลาเลิกแล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่ามีปัสสาวะเหลืออยู่ ต้องเบ่งช่วยมาก บางวันต้องรอนานกว่าปัสสาวะจะออกออกมาแล้วก็ไม่พุ่ง ต้องลุ้น แต่ก็ไม่ถึงกับหยดติ๋งๆ ผมไปหาหมอ เขาเจาะเลือดตรวจทางทวารหนัก แล้วให้ยา minipress มากิน อาการดีขึ้นบ้างครั้งต่อมาผมถามหมอว่าจะผ่าตัดดีไหม หมอตอบว่าอย่าไปผ่าเลย ผ่าแล้วปัญหาแยะผมไม่ค่อยมั่นใจในคำตอบ จึงไปหาอีกหมอหนึ่ง แต่เป็นรพ.เอกชนพยาบาลบอกว่าเป็นหมอรักษาต่อมลูกหมากโดยตรงผมไม่ชัวร์ว่าของจริงหรือไม่เพราะดูไม่เป็น คราวนี้หมอตรวจอุลตราซาวด์ แล้วบอกว่าต้องผ่าตัดแล้วและเปลี่ยนยาให้ใหม่ชื่อยา Cardura และยา Avodart และนัดหมายให้มาผ่าตัด ผมทานยาแล้วอาการดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่หายแต่ไม่ได้ไปหาหมอตามนัดเพราะไม่แน่ใจว่าหมอแนะนำผ่าตัดเพราะอยากได้เงินหรือไม่(ขอโทษครับ พูดตามความกลัวของตัวเอง เนื่องจากเป็นเอกชน) ตั้งใจว่าถ้าต้องผ่ากันจริงๆก็จะไปผ่ารพ.ประกันสังคมของตัวเอง แต่ยังไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่า ผมเป็นโรคนี้ควรรักษาอย่างไรดี บางคนเขาว่าจะผ่าตัดต้องตัดชิ้นเนื้อมาตรวจก่อนจริงหรือไม่แล้วยารักษาโรคนี้มันมีกี่อย่าง แต่ละอย่างมีทำงานอย่างไร ยาทั้งสามตัวที่ผมได้มามันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ขอให้คุณหมอขยันตอบคำถามไปนานๆบางช่วงคุณหมอหายไปนานผมใจหายกลัวว่าคุณหมอจะเลิกตอบเสียอีก
ขอบพระคุณอีกครั้ง
.........................................................................

ตอบครับ

     1.. โรคต่อมลูกหมากโต (benign prostate hypertrophy) คือภาวะที่ต่อมลูกหมากซึ่งมีหน้าที่ผลิตน้ำเมือกหล่อลื่นและเลี้ยงอสุจิมีขนาดโตขึ้นตามอายุขัย เพราะมันถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) ความที่ต่อมลูกหมากมันอยู่ในที่แคบเมื่อมันโตถึงระดับหนึ่งก็จะกดทับท่อปัสสาวะทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ผู้ชายพออายุเกิน50 ปีขึ้นไปอย่างคุณนี้ จะเป็นโรคนี้เสีย 1 ใน 3 เลยทีเดียวเรียกว่าเป็นโรคยอดนิยมของชายสูงอายุก็ว่าได้


     2.. การวินิจฉัยโรคนี้ดีที่สุดก็คือฟังจากอาการที่ปัสสาวะลำบากการตรวจโดยใช้นิ้วคลำผ่านทวารหนักก็ดี  การตรวจคลื่นเสียงผ่านทวารหนัก (transrectal ultrasound) ก็ดี เป็นเพียงข้อมูลช่วยยืนยันว่าต่อมลูกหมากมีปริมาตรใหญ่ขึ้นจริงคือใหญ่กว่า 20 กรัมขึ้นไปแต่ตัวตัดสินเรื่องการรักษาคืออาการ ไม่ใช่ขนาดของต่อมลูกหมาก

     3.. การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตโดยทั่วไปทำเป็นสามขั้นตอนคือ

      ขั้นตอนที่ 1. ถ้ามีอาการไม่มากและผู้ป่วยไม่เดือดร้อนรักษาด้วยการรอดูเฉยๆลูกเดียว (watchful waiting) แล้วไปหาหมอตรวจร่างกายปีละครั้งในระยะที่อาการไม่มากนี้ การใช้ยาได้ประโยชน์น้อยไม่คุ้มกับความเสี่ยงของยาและการเริ่มใช้ยาช้าก็ไม่ได้เป็นผลเสียต่อโรคนี้แต่อย่างใด เพราะยาไม่ได้รักษาโรคเพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น
     ขั้นตอนที่ 2. ระยะที่มีอาการมากจนรบกวนชีวิตปกติ อย่างกรณีของคุณนี้ก็จะรักษาด้วยยา ยารักษาโรคนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ
     2.1 กลุ่มยากั้นอัลฟา1 (alpha-1 adrenergic blocker) เป็นยาแถวแรกที่แพทย์เรียกใช้มันออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบที่คุมทางออกของปัสสาวะซึ่งมีตัวรับชื่ออัลฟา-1 ถ้าเป็นรุ่นเก่าเช่น prazosin (Minipress) จะมีฤทธิสั้นแต่ถ้าเป็นรุ่นใหม่เช่น terazosin (Hytrin), doxazosin(Cardura XL) ก็จะมีฤทธิ์ยาวกว่า กินทีเดียวอยู่ได้ทั้งวัน บางตัวเช่นtamsulosin (Flomax) มีฤทธิ์เจาะจงเฉพาะตัวรับอัลฟา-1aซึ่งเกี่ยวข้องกับทางออกปัสสาวะมากที่สุด ยาพวกนี้ล้วนมีผลข้างเคียงบ้างเหมือนกันเช่นปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ เพลีย บ้อลัด (หมายความว่านกเขาไม่ขัน) เป็นต้นยาที่ลดอาการปัสสาวะลำบากอีกตัวหนึ่งที่ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบเหมือนกันแต่มีเคมีที่แตกต่างกันคือยาในกลุ่มphosphodiesterase-5 inhibitor เช่นยา tadalafil ซึ่งเป็นยาแก้นกเขาไม่ขันนั่นแหละ ใช้บรรเทาอาการต่อมลูกหมากโตได้เหมือนกัน
     2.2 กลุ่มยาต้านฮอร์โมนเพศ(5-alpha reductase inhibitor) เช่นยา finasteride (Proscar),dutaseride (Avodart) พวกนี้ทำให้ต่อมลูกหมากหดเล็กลงได้สัก 20-30%แต่เนื่องจากเป็นยาต้านฮอร์โมนเพศชายจึงย่อมจะมีฤทธิ์ข้างเคียงไปในทางไม่สร้างสรรค์สำหรับผู้ชายนักเช่นทำให้เสื่อมสมรรถนะทางเพศ หมดอารมณ์ นกเขาไม่ขัน เวลาทำการบ้านก็ฉีด (ejaculation) ไม่ออก ปวดไข่ (หมายถึงอัณฑะนะครับ) เป็นต้น ข้อเสียอีกอย่างของยากลุ่มนี้คือมีงานวิจัยอยู่สองงาน(PCPT trial กับ REDUCE trial) ที่พิสูจน์ได้ว่าคนกินยากลุ่มนี้เมื่อเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นมามีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งชนิดรุนแรงมากกว่าคนที่กินยาหลอกดังนั้นเมื่อใช้ยานี้ต้องเจาะดูสารชี้บ่งมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) เป็นระยะ หากสารนี้สูงขึ้นก็ควรหยุดยาซะ ไม่ควรเสี่ยงทู่ซี้ใช้ต่อเพราะมะเร็งต่อมลูกหมากโดยทั่วไปเป็นมะเร็งที่โตช้าไม่อันตรายก็จริงแต่ถ้าแจ๊คพ็อตไปเจอมะเร็งชนิดก้าวร้าวรุนแรงก็แย่เอาเรื่องเหมือนกัน
      ขั้นตอนที่ 3. คือเมื่ออาการที่เคยเป็นเพียงเรื่องหยุมหยิมเกี่ยวกับทางเดินปัสสาะส่วนล่าง(lower urinary tract symptom - LUTS) เช่นปัสสาวะบ่อยออกยาก เบ่งนาน ได้กลายเป็นอาการที่เกิดจากการอุดกั้นการไหลของปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ(Bladder outlet obstruction – BOO) พูดง่ายๆว่าฉี่ไม่ออกและพิสูจน์ด้วยวิธีตรวจการไหล(urodynamic) แล้วว่ากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะก็ยังดีๆอยู่ เมื่อมาถึงจุดนี้ก็จำเป็นต้องผ่าตัดซึ่งทำโดยเอาเครื่องมือสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปผ่าตัดเอาเนื้อต่อมลูกหมากออก(transurethral resection of the prostate - TURP) เป็นการผ่าตัดที่ดูเหมือนเล็กเพราะไม่มีแผลแต่ไม่เล็กเพราะมีโอกาส 5% ที่เลือดจะไหลไม่หยุด 2% จะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ (TURP syndrome) และเมื่อผ่านพ้นระยะแรกไปแล้วก็ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญคืออั้นปัสสาวะไม่อยู่ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบเสมอแต่ถือว่าไม่สำคัญต้องยอมรับมันโดยปริยายคือปัญหาเซ็กซ์เสื่อมหลังผ่าตัด

     3. ถามว่ากรณีของคุณควรจะทำอย่างไรต่อไปขึ้นอยู่กับตัวคุณละครับ ผมประเมินจากข้อมูลที่ให้มาอาการของคุณยังจิ๊บจ้อยไม่มากเพราะชั่วดีถี่ห่างก็ยังฉี่ออกดีอยู่ ยังถูลู่ถูกังใช้ยาแบบลองยาโน้นไปหายานี้ได้อีกนาน ผมเคยมีผู้ร่วมงานเป็นหมอผ่าตัดอาวุโส ตัวท่านทำมาหากินทางผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยแต่เวลาตัวเองเป็นต่อมลูกหมากโตท่านมีน้ำอดน้ำทนกับการใช้ยาดีจังนั่งประชุมกันอยู่ดีๆท่านบอกว่าขอเวลาไปเบาก่อนนะแล้วหายไปราวสิบนาทีกลับมาบอกว่ายังไม่สำเร็จ คือฉี่ยังไม่ออก สักพักก็ขอตัวไปพยายามอีกที ถ้าขนาดนี้เป็นผมคงเลือกวิธีผ่าตัดไปแล้วแค่เล่าให้ฟังเป็นอุทาหรณ์นะครับ อย่างไรก็ตาม คนตัดสินเรื่องนี้คือตัวคุณเพราะคุณรู้อาการตัวเองดีที่สุดเมื่อใดที่เห็นว่าอาการมันแย่จนประโยชน์ของการผ่าตัดน่าจะมากกว่าความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนเมื่อนั้นแหละครับ ควรผ่าตัด

      4. เรื่องการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจก่อนผ่านั้นเขาใช้ในกรณีวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจริงหรือไม่ไม่ใช่กรณีของคุณซึ่งเป็นโรคต่อมลูกหมากโต คนละโรคกัน กรณีเป็นโรคต่อมลูกหมากโตไม่ต้องตัดชิ้นเนื้อมาตรวจก่อนผ่าตัดครับ

นพ.สันต์ใจยอดศิลป์




 

Create Date : 26 เมษายน 2558
0 comments
Last Update : 26 เมษายน 2558 8:16:29 น.
Counter : 3329 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


bestyx
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]





เป็นคนเรียบง่าย สบาย ๆ ..คิดอะไรได้ช้า.. คิดไม่ค่อยทันคนอื่น...เขียนอะไรไม่ค่อยเป็น... เลยต้องหาสิ่งที่คนอื่นคิด สิ่งที่คนอื่นเขียน มาเก็บรวบรวมไว้อ่าน เพื่อให้ตนเองได้ฉลาดขึ้น เป็นคนที่ไม่ชื่นชอบหรือหลงใหลสิ่งใดเป็นพิเศษ ..แต่ก็ค้นหาหาไปเรื่อยๆ.. จนกว่าได้จะพบเจอ....แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งค้นหาก็ .."ยิ่งยาก".. ที่จะพบ เพราะโลกกว้างใหญ่เกินไปที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งจะเรียนรู้ได้หมด

Friends' blogs
[Add bestyx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.