พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มกราคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
16 มกราคม 2557
 
All Blogs
 

สอนเด็กคิดวิเคราะห์ ปฏิรูปปัญญาของแผ่นดิน

สอนเด็กคิดวิเคราะห์ ปฏิรูปปัญญาของแผ่นดิน

พลาดิศัย จันทรทัต



หนึ่งในโจทย์ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามตีให้แตกคือการแสวงหาหนทางแก้ไขการศึกษาของเด็กไทย ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาเบี้ยหัวแตก มีทั้งความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา พัฒนาการทางสมองที่ภาพรวมทั้งประเทศยังต่ำกว่าเกณฑ์ การแยกแยะรู้จักผิดชอบชั่วดีที่น้อยลง รวมถึงความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ที่ยังมีน้อยกว่าความสามารถในการท่องจำ เป็นต้น



เพราะปัญหาเหล่านี้คืออุปสรรคขัดขวางการพัฒนาการของเด็กไทย



จึงไม่แปลกที่ศธ.จะพยายามแก้โจทย์ระดับชาตินี้ด้วยการ "ปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่" จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มาเป็น 6 กลุ่มสาระ ก่อนนำร่องในปีการศึกษา 2557 นี้ แต่คำถามอยู่ที่ว่ามัน "ตอบโจทย์" แล้วจริงๆ หรือ



ในงานแถลงข่าววันเด็กแห่งชาติประจำปี 2557 ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบัน ได้ตีแผ่ผลวิจัย เรื่อง "การพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ปัญญาของแผ่นดิน" ที่สถาบันสำรวจวิจัยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนี้นานกว่า 2 ปี



เพื่อหาคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรคือตัวการขัดขวางการพัฒนาศักยภาพของเด็ก



"ผลสำรวจระบุชัดว่าภาครัฐทุ่มงบประมาณให้กับระบบการศึกษาไทยมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เด็กไทยกลับติดหนี้" นพ.สุริยเดว ปูพื้นผลการวิจัย ก่อนขยายความว่ารัฐบาลใช้งบประมาณในด้านนี้คิดเป็นร้อยละ 4 ของดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) หรือร้อยละ 20 ของงบประมาณรวมของแผ่นดิน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา



"ปัจจุบันเด็กไทยระดับการศึกษาพื้นฐาน มีรายจ่ายต่อคนประมาณปีละ 35,142 บาท ขณะที่ผู้ปกครองต้องควักเงินจ่ายเพิ่มเติมเฉลี่ยอีก 25,000-35,000 บาท ให้ลูกได้เรียนพิเศษและใช้จ่าย ในกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้มีโอกาสทางการศึกษาที่ดี แต่การทุ่มทุนและทุ่มเทสร้างหนี้ กลับทำให้สภาพสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เรื่อยๆ โดยเฉพาะโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่าของเด็กที่ครอบครัวมีฐานะ ขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เช่น ผลคะแนนการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (ปิซ่า) ปีค.ศ. 2009-2012 ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา (โออีซีดี) กำหนดอยู่ดี"



ผอ.สถาบันชี้ชัดว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ถีบให้เด็กหลุดออกนอกระบบมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเด็กป.6 เพราะเกือบทุกครอบครัวมีรายจ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น หากเป็นค่าเรียนพิเศษสำหรับเด็ก 1 คน ระดับอนุบาลจะอยู่ที่ 6,000 บาท ส่วนประถมศึกษา 2,300 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 3,700 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 15,000 บาท รวมแล้วจะมีเม็ดเงินตกไปอยู่กับสถาบันกวดวิชาปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท



"เราพบว่าเด็กในช่วงปฐมวัยยังมีพัฒนาการที่ช้ามาก ขณะที่ช่วงวัยรุ่นก็ติดหนี้การนอน 2 ชั่วโมง เพราะแต่ละปีการศึกษาต้องเรียนมากถึง 1,200 ชั่วโมง และสูงถึง 3,600 ชั่วโมงหากเรียนพิเศษแล้ว มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบ 5 เท่า เพราะเด็กเหล่านั้นเรียนแค่ 600-700 ชั่วโมงต่อปี ฉะนั้นการเรียนเยอะจึงทำให้เด็กไม่มีความสุข และจำกัดพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย"





ที่ไล่เรียงมาทั้งหมด คือ ปัญหาอุปสรรคที่สถาบันและภาคีเครือข่ายด้านเด็กค้นพบตลอดช่วง 2 ปีที่คลุกฝุ่นวิจัยร่วมกันมา ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพวกเขาตีแผ่ปัญหาที่ค้นพบแล้ว ก็ต้องแสวงหาหนทางแก้ไขควบคู่กันด้วย โดยประเด็นนี้หมอสุริยเดวจำกัดความว่า "แนวทางปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง" ก่อนแจกแจงว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะเสนอต่อศธ.เพื่อพิจารณานำไปใช้ต่อไป



สำหรับระยะสั้น คุณหมออธิบายว่า ควรใช้หลักสูตรเดิม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนใหม่ ให้ครู เป็นครูอำนวยการสอน ส่งเสริมให้เด็กเกิดกระบวนการคิดริเริ่ม คิดวิเคราะห์มากขึ้น แค่นี้ก็สามารถพัฒนา ผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ให้สูงขึ้นได้แล้ว พร้อมกันนี้จะต้องเปลี่ยนวิธีการประเมินผลใหม่ คือ ไม่ยึดเฉพาะเด็ก แต่จะต้องผูกพันกับการประเมินวิทย ฐานะของครู โดยยึดพัฒนาการที่เด็กได้รับเป็น ตัวตั้ง



ผอ.สถาบันเน้นย้ำว่า ข้อเสนอระยะสั้นเป็นสิ่งที่ศธ.ควรทำมากกว่าการมุ่งเน้นปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน เพราะการรื้อ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ทิ้ง แล้วเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งหมดนั้น ต้องใช้เวลามากกว่านี้ ไหนจะต้องคุยกับคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ ให้ชัดเจนอีกว่า ยังจำเป็นต้องผลิตครูสุขศึกษาหรือวิทยาศาสตร์อีกหรือไม่ หรือเปลี่ยนมาผลิตครูดำรงชีพและโลกของงานแทน หมอคิดว่าอะไรก็ตามที่ต้องการทั้งเวลาและทรัพยากร ทำไมไม่ไปทำในการปฏิรูปการศึกษาระยะกลาง"



นพ.สุริยเดวมองว่า สิ่งหนึ่งที่ทำแล้วได้ ผลชะงัดโดยไม่ต้องทุ่มทุนมาก คือ การเปลี่ยนรูปแบบการสอน ส่วนวิธีการนั้น ศธ.ในฐานะที่มีกำลังพล คือ ครูจำนวนเป็นแสนๆ คน สามารถทำได้เลย แค่แบ่งครูออกเป็นส่วนๆ ไปปรับเปลี่ยนให้การเรียนการสอนในห้องเรียน ให้เกิดการอภิปรายกลุ่มเพิ่มมากขึ้น เมื่อเด็กเกิดการโต้เถียงกัน กระบวน การคิดวิเคราะห์ก็จะถูกดึงออกมาใช้



"ส่วนการเปลี่ยนวิธีประเมินผลใหม่นั้น สมมติว่ามหิดลไปลงนามความร่วมมือกับโรงเรียนสัก 2-3 โรง โดยระบุว่าจะจัดส่งศึกษานิเทศก์ไปประเมินผลการสอนของครู หากพบว่าสอนแบบห้องเรียนกลับทางแล้วเด็กมีสมรรถนะดีขึ้น มหาวิทยาลัยก็จะมีโควตาให้เด็กได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องสอบ ถามว่าโรงเรียนอื่นๆ จะไม่พยายามเปลี่ยนตามหรือ หมอว่าแนวทางนี้หากทำได้จริง การประเมินผลเด็กและครูจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นภายใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยแทบไม่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเลย"



โดยระยะกลาง คุณหมออธิบายว่า ควรเน้นพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ควบคู่กับการกำหนดทิศทางการผลิตทรัพยากรครูร่วมกับสถาบันผลิตครู ส่วนระยะยาวควรจัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งประเทศ เพื่อพัฒนาเด็กไทยตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีความรู้อย่างแท้จริง



"นี่คือ 3 ข้อที่เราคิดว่าคุณทำอย่างนี้สิ แล้วการปฏิรูปฯ จะเห็นผล" นพ.สุริยเดวแนะปิดท้าย




 

Create Date : 16 มกราคม 2557
0 comments
Last Update : 16 มกราคม 2557 10:39:56 น.
Counter : 908 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.