พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
20 พฤศจิกายน 2555
 
All Blogs
 
เลิกซุกปัญหาใต้พรม

เลิกซุกปัญหาใต้พรม


เปิดจุดอ่อน 5 ปีหลังบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

“ริบบิ้นสีขาว”

สัญลักษณ์สากลที่ถูกนำมาใช้รณรงค์ถึงการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ทุกรูปแบบ

สำหรับประเทศไทย มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2549 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศ เพื่อให้สังคมตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหา


ขณะเดียวกัน ก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.2550 เป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรง

แต่ภาพความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้น และรูปแบบความรุนแรงที่หลากหลาย

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว พม. (ณ วันที่ 9 พ.ย.55) แสดงถึงจำนวนผู้ถูกกระทำที่อยู่ในวิสัยที่จะร้องทุกข์และไม่อยู่ในวิสัยที่จะร้องทุกข์จาก 54 คน ในปี 2551 เพิ่มเป็น 1,050 คน ในปี 2554 เพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า ส่วนข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงเด็กและสตรีถูกทำร้ายและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในปี 2550 เฉลี่ยวันละ 52 คนเพิ่มเป็น 71 คน ในปี 2553 ขณะเดียวกัน สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ประมวลข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ทั้งไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ช่วงวันที่ 30 ต.ค.-7 พ.ย.55 พบว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวคิดเป็นร้อยละ 53.8 ของข่าวทั้งหมด

นั่นเป็นเพียงตัวเลขที่ถูกตีแผ่ให้สังคมรับรู้ ยังไม่นับรวมอีกไม่รู้กี่กรณีที่ถูกซ่อนเร้น ด้วยค่านิยมสังคมไทยที่ยังคงชาชินกับคำว่า “เรื่องครอบครัว เรื่องผัวเมีย เป็นเรื่องส่วนตัว”
รศ.บุญเสริม

รศ.บุญเสริม


รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์ อาจารย์สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สะท้อนภาพถึงสถิติผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นว่า “มองในเชิงบวกอาจบ่งชี้ได้ว่าหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจถึงปัญหา ทำให้คนรู้จักสิทธิปกป้องตนเอง และเข้าถึงการบริการของหน่วยงานได้ดีขึ้น แต่สภาพปัญหาที่ปรากฏยังคงไม่ต่างจากเดิมคือ ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก โดยมีผู้กระทำเป็นชาย และเป็นคนในครอบครัว หรือคนที่มีอำนาจบังคับบัญชา สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ชายขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัว นอกใจภรรยา โดยอาจจะมีปัจจัยกระตุ้นคือการดื่มสุรา ติดยาเสพติด และสาเหตุจากพฤติกรรมส่วนตัวอื่นๆ เช่น การใช้อำนาจเหนือกว่า ขาดการควบคุมอารมณ์”

หากประเมินถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่บังคับใช้มา 5 ปี รศ.บุญเสริม ชี้ว่า “ยังพบข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องยังขาดความรู้ความเข้าใจในการนำกฎหมายไปใช้ รวมถึงกลไกการทำงานเพื่อขับเคลื่อนยังขาดการประสานความร่วมมือของทีมสหวิชาชีพ รวมถึงการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มองเป็นการเพิ่มภาระงาน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องพัฒนากลไกการทำงานทั้งการประสาน ระบบข้อมูล การติดตามประเมินผล การพัฒนาทักษะ เพิ่มขีดความสามารถพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพ”
นายจะเด็จ

นายจะเด็จ


ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ฉายภาพถึงผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัวล่าสุด ซึ่งได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี 1,005 คน ช่วงอายุ 18-80 ปี พบว่า “ส่วนใหญ่หรือ 58.1% ไม่เห็นด้วยกับทัศนคติที่มองผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ ทั้ง 67.9% ไม่เห็นด้วยที่มองภรรยาเป็นสมบัติของสามี 63.9% ก็ไม่เห็นด้วยกับการมองเรื่องทะเลาะ เบาะแว้ง ทุบตีคนในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ขณะที่ 78.8% เห็นว่าชุมชนควรมีส่วนร่วม แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เมื่อถามถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ จำนวน 80.8% ระบุว่ารับรู้ แต่ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประสบความรุนแรงไม่ขอความ ช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ 42.1% ระบุ ว่าอาย 37% ระบุ ไม่รู้ช่องทาง 16.4% บอกว่าไม่เชื่อมั่นในการช่วย เหลือจากหน่วยงานรัฐ ผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงเริ่มมองเห็นศักยภาพตนเอง เพียงแต่ยังอายที่จะเปิดเผยหรือไม่เห็นช่องทางขอความช่วยเหลือ”

นายจะเด็จ เสนอแนะว่า “ทำอย่างไรให้กลไกภาครัฐ หน่วยงานเอกชน และภาคประชาสังคมตื่นตัวและเข้าใจปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ไม่มองเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายมีส่วนปกป้อง คุ้มครอง ช่วยเหลืออย่างเป็นมิตร และไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ บูรณาการการทำงานทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ”

ทีมข่าวพัฒนาสังคม มองว่า ข้อติติงและข้อเสนอแนะต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีต้องนำไปพิจารณาแก้ไขด้วยความจริงจังและจริงใจ

โดยเฉพาะเรามองว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงต้องกล้าเผชิญความจริงและลุกขึ้นสู้ ขณะที่บุคคลรอบข้างใกล้ตัว ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นแรงหนุนที่จะช่วยกันสลายปัญหา ภายใต้ทัศนคติที่เข้าใจว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแก้ไข

วันนี้ประเทศไทยมี “สตรี” เป็นผู้นำประเทศ น่าจะเป็นแต้มต่อที่เป็นเหมือนโอกาสในการสร้างความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสตรีและเด็กอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

หากสังคมไทยยังมองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว การทำงานของภาคส่วนต่างๆ ที่ยังไร้ระบบ ขาดการประสานงาน รวมถึงการขาดความเข้าใจใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงฯ ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้อง ย่อมหมายถึงปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างจริงจังถึงต้นตอ

เพราะนั่นก็ไม่ต่างกับการซุกปัญหาไว้ใต้พรม.



Create Date : 20 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2555 10:13:03 น. 0 comments
Counter : 1412 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.