พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
3 มีนาคม 2557
 
All Blogs
 
พื้นที่ชุมนุม 'แหล่งบ่มเพาะความรุนแรง' ในเด็ก?

พื้นที่ชุมนุม 'แหล่งบ่มเพาะความรุนแรง' ในเด็ก?

ออกมาเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็น "อย่านำเด็กไปในที่ชุมนุม" หลังจากเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 22-23 ก.พ. 57 ที่ผ่านมา จนทำให้มีเด็กเสียชีวิต 4 ราย ซึ่งนอกเหนือจากความสูญเสียต่อชีวิตเด็ก ความเสียใจ ความหดหู่ของครอบครัว และคนทั่วไปแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่อยู่ตามเบื้องหลัง "การนำเด็กไปในที่ชุมนุม" คือ "ความรุนแรงในจิตใจ" ที่อาจถูกบ่มเพาะให้กลายเป็นความรุนแรงในอนาคต โดยที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ทันระวังตัว...

"ไทยรัฐออนไลน์" ได้รับการยืนยันจากจิตแพทย์ กรมสุขภาพจิตแล้วว่า การพาเด็กไปยังสถานที่ชุมนุมนั้น นอกจากไม่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ "วิถีพลเมือง" แล้ว ยังทำให้เด็กซึมซับเนื้อหาความรุนแรงจากสภาพแวดล้อมรอบด้าน ทั้งกิริยา การพูด จากการฟังปราศรัย หรือบทสนทนาระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง รวมไปถึงท่าทางและการแสดงออก ส่งผลกระทบ 3 ระดับ เริ่มจากมีพฤติกรรมเลียนแบบ จากนั้นจะเริ่มชินชาต่อการกระทำ และสุดท้ายจะนำให้เด็กไปสู่การขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งในส่วนนี้เด็กจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือลดน้อยลง ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเด็กที่อยู่แบบดั้งเดิมด้วย และหากอยากให้เด็กเรียนรู้การเป็นพลเมือง เด็กควรเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เช่น การปลูกต้นไม้ เก็บขยะในที่สาธารณะ การเลือกตั้ง เป็นต้น

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ธรรมชาติการรับรู้ของเด็กจะซึมซับความรุนแรงมากกว่าเนื้อหา ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ ที่สามารถแยกแยะได้ ทั้งนี้ เด็กที่ไปชุมนุมต้องอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป จึงจะไม่เสี่ยงต่อการซึมซับความรุนแรง รวมทั้งหากผู้ปกครองยังมีการรับสื่อที่หลากหลาย รวมถึงคอยอธิบายความเป็นไปให้เด็กเข้าใจ และหากิจกรรมอื่นๆ ทำร่วมกับเด็ก ก็เป็นแนวทางที่ช่วยได้มาก

แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีบางครอบครัวจำเป็นต้องนำลูกไปเลี้ยง เนื่องจากไม่มีเวลา จะมีการดูแล และขัดเกลาจิตใจเด็กอย่างไร นพ.ยงยุทธ ไม่ได้ให้คำแนะนำในส่วนนี้ เนื่องจากไม่ต้องการชี้ช่องให้ผู้ปกครองใช้เป็นข้ออ้าง เพราะถึงอย่างไร เด็กก็ไม่ควร และไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ลักษณะนั้น

"การให้เหตุผลว่า อยากให้ลูกเรียนรู้ประชาธิปไตย หรือหน้าที่พลเมืองจากสถานการณ์จริงนั้น ผมยืนยันว่า มันไม่ได้ผล เพราะในที่ชุมนุมเป็นปกติที่จะต้องมีไฮปาร์ค มีการพูดจาเสียดสี หรือบางทีมีการกระทำที่รุนแรง เด็กจะซึมซับง่าย ผมอยากให้พ่อแม่ทบทวนให้ดี ในภาวะความเป็นจริง เราเลือกไม่ได้ว่า เราจะอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้งสูง หรือต่ำ แต่เราเลือกได้ว่า จะให้สังคมมีความรุนแรงมาก หรือน้อย ซึ่งหากเราอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้งสูง แต่ความรุนแรงต่ำ ส่วนนี้จะดี เพราะจะช่วยให้สังคมก้าวไปสู่การหาทางออก ซึ่งก็มีส่วนดีกับตัวเด็กเอง รวมถึงผู้ใหญ่" นพ.ยงยุทธ กล่าว

สอดคล้องกับการคลุกคลีทำงาน กับเด็กที่ได้รับผลพวงมาจากความรุนแรง อย่าง นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก ที่มองเห็นสัญญาณเตือนบางอย่างของสถานการณ์การชุมนุมที่น่าเป็นห่วง แต่ยังคงเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดพ่อแม่จึงต้องพาเด็กไปในพื้นที่ชุมนุม ทั้งเหตุผลของความปลอดภัยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดเหตุรุนแรง ทั้งเรื่องของบรรยากาศการชุมนุมที่ไม่เหมือนการชุมนุมทั่วไป เพราะมีทั้งเสื้อผ้า อาหาร และสิ่งบันเทิงต่างๆ จุดนี้เอง จึงเป็นจุดที่ทำให้พ่อแม่อาจไม่ทันระวัง อย่างไรก็ตาม แนวคิดของการจัด "เซฟตี้ โซน" อาจเป็นหนทางหนึ่งของการปกป้องผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก และหากจำเป็นต้องทำ

"จากการที่ทำงานพบว่า มีเด็กที่มีปัญหาจากความรุนแรงมีเยอะมาก ซึ่งความจริงแล้ว ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ต้องมีบ่มเพาะมาเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อมก็ตาม ก็มีส่วนทั้งนั้น เหมือนเด็กที่มาชุมนุมก็มีความเสี่ยง แล้วที่สำคัญ เด็กที่มีความรุนแรงจะได้รับ และซึมซับสิ่งเหล่านั้น ก่อนกลายเป็นผู้ส่งผ่านเอง ซึ่งสื่อเองก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลิตซ้ำ เพราะนอกจากนี้จะให้คนได้รับรู้เรื่องความรุนแรงแล้ว ยังไปกระตุ้นเร้าปัญหาคนอีกส่วนหนึ่งด้วย" นางทิชา กล่าว

เช่นเดียวกับ นางสุธาทิพย์ ธัชยพงษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็กและคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่ชุมนุม การพิจารณา และดุลยพินิจการพาเด็กเข้าร่วมชุมนุม จึงอยู่ที่พ่อแม่ หากพ่อแม่แข็งแกร่งในอุดมการณ์ และมั่นใจว่าพื้นที่นั้นปลอดภัย พ่อแม่ก็มีสิทธิ์นั้น ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า เด็กอาจไม่ได้อยากฟังปราศรัย แต่อยากไปเที่ยวเล่นมากกว่า รวมถึงประเด็นที่เพิ่มขึ้นมา เมื่อเด็กถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ หรือตัวประกันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการ "ละเมิดสิทธิ์เด็ก"​ อย่างชัดเจน เพราะเด็กไม่มีส่วนในการตัดสินใจนั้น และถึงแม้ว่าเด็กจะตัดสินใจแบบนั้น ผู้ที่เป็นพ่อแม่ จึงต้องเป็นผู้ที่พิจารณาและให้การปกป้องชีวิตเด็กในทุกกรณี

ในส่วนของการบำบัดและเยียวยาเด็กที่มีปัญหามาจากความรุนแรง ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ทันที ครอบครัว และคนรอบข้าง รวมถึงผู้บำบัด ต้องไม่ตอบโต้เด็กด้วยวิธีที่รุนแรงใน "ทุกกรณี" แม้ว่าเด็กจะตอบโต้มารุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้อง "ขัดเกลา" กันไปตลอด จนเด็กยอมไว้ใจ และแก้ไข ที่สำคัญทุกคนต้องคอยสอนเด็กถึงความหลากหลายของชีวิต ความแตกต่างของคนในสังคม มองความขัดแย้งเป็นสิ่งสวยงาม และไม่ใช่เรื่องผิด เมื่อนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็จะน้อยลง

อย่างไรก็ตาม แม้การบ่มเพาะความรุนแรงในจิตใจของเด็ก จะมีสาเหตุมากกว่า "การนำไปในพื้นที่ชุมนุม" ก็ตาม แต่สำหรับพื้นที่ที่หลายคนเชื่อว่า จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ และเข้าใจวิถีประชาธิปไตย รวมถึงหน้าที่พลเมือง กลับมีเบื้องหลังของความรุนแรงที่แอบแฝงซ่อนเร้น และอาจติดตัวเด็กกลับมาบ้าน...ก็เป็นได้.




Create Date : 03 มีนาคม 2557
Last Update : 3 มีนาคม 2557 17:57:46 น. 0 comments
Counter : 974 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.