Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
18 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 

พักยกRound5 การฝึกเปลี่ยนมาจับทางด้านซ้าย+ซ้อมยูโดครั้งที่2กับเด็กญี่ปุ่นม.ปลายเรื่องใจสู้ยกให้เลย

การฝึกพื้นฐานของยูโดในการเปลี่ยนมาจับทางด้านซ้าย + ซ้อมครั้งที่2กับเด็กญี่ปุ่นม.ปลาย ให้คะแนนเต็มเรื่องใจสู้

สืบเนื่องมาจากปัญหาเรื่องแขนเกะกะตอนรันโดริ กับคำพูดที่ไม่ตั้งใจบางคำของรุ่นพี่ ทำให้ลูกบ้าของผมเกิดขึ้นอีกครั้ง ช่วงนี้เป็นช่วงหยุดยาวของญี่ปุ่นเนื่องจากเทศกาลโอบง ทำให้ผมมีเวลาประมาณ5-6วันในการเปลี่ยนแปลงการจับจากขวาเป็นซ้าย

อาทิตย์ที่แล้ว ที่ผมได้มีโอกาสไปซ้อมยูโดกับเด็กม.ปลาย ปรากฏว่าเด็กม.ปลายทุกคน รวมไปถึงรุ่นพี่มหาลัยถนัดการจับทางด้านซ้ายทั้งหมด แล้วทำไมมีผมคนเดียวที่จับทางด้านขวา คำตอบง่ายๆก็คือสงสัยมีผมคนเดียวที่เรียนมาจากสำนักที่ต่างกัน (ไม่ได้เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น เลยไม่ได้เรียนยูโดจากโรงเรียนนี้ ทำให้ผมจับซ้ายไม่เป็น)

ตอนรันโดริกับคนที่จับทางด้านขวาเหมือนกัน ผมมีความรู้สึกว่ามันสนุกกว่า ใช้ท่าได้หลากหลายกว่า รวมถึงการเป็นฝ่ายตั้งรับและแก้ท่ากลับไป แต่พอมาเจอกับคนที่จับทางด้านซ้ายรู้สึกว่ามันทำให้การรันโดริขาดอะไรบ้างอย่างไป แล้วทำให้ท่าของผมออกได้ไม่ค่อยดี แต่ว่านานมาแล้วละครับที่ผมรู้สึกเกี่ยวกับการจับซ้าย จนกระทั่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ตอนทำอุจิโกมิกับรุ่นพี่ประธานชมรม ผมก็อยากจะลองจับมือซ้ายดูบ้าง โดยลองใช้ท่า osoto-gari พอเริ่มใช้ไปประมาณ2-3ครั้ง รุ่นพี่ก็เริ่มงง ว่าไอ้นี่มันจะมาไม้ไหนอีก แล้วกลับบอกว่าความถนัดของคนมันไม่เหมือนกัน บางคนถนัดซ้าย บางคนถนัดขวา แล้วก็อยากให้ผมเปลี่ยนกลับมาใช้จับทางด้านขวาเหมือนเดิมในการฝึกซ้อม แต่ว่าผมไม่สนใจก็ซ้อมเข้าท่าจนครบตามจำนวนครั้งด้วยการจับทางด้านซ้ายนั้นแหละครับ ด้วยความที่สนิทกันและความสัมพันธ์ในลักษณะลูกศิษย์กับอาจารย์ เพราะว่ารุ่นพี่ก็เคยสอนท่ายูโดผมมาหลายท่าแล้ว ตอนนี้รุ่นพี่ก็พูดออกมาในลักษณะเตือนว่า ไม่มีคนเล่นยูโดคนไหนหรอกที่จะถนัดในการจับทั้ง2มือ หรือจะเปลี่ยนความถนัดจากขวาเป็นซ้าย หรือ ซ้ายเป็นขวา ทำให้การซ้อมที่เหลืออยู่ผมต้องกลับมาใช้การจับทางด้านขวาเหมือนเดิม

หลังจากการซ้อมในวันนั้น ทำให้ผมต้องกลับมาคิดว่าจะทำยังไงถึงจะทำให้สามารถจับได้ถนัดทั้งซ้ายและขวา จุดที่ต้องคิดคือ การจับด้วยมือขวาของผมนั้นให้ความมั่นคงกว่าการใช้จับซ้าย แล้วเหตุผลทั้งหมดมันก็มาจากขาซ้ายนั้นเอง ในช่วงที่ผมโดนเกี่ยวขาขวา หรือว่าในช่วงที่ผมใช้ขาขวาตวัดหรือเกี่ยวคนอื่น ขาซ้ายผมจะมีความสมดุลย์และสามารถที่จะทรงตัวอยู่ได้มากกว่าเมื่อเทียบกับขาขวา ยกตัวอย่างเช่นการกระโดดกระต่ายขาเดียวด้วยขาซ้าย ผมจะกระโดดได้ระยะทางที่ไกลและเร็วกว่า การใช้ขาขวากระโดด ทำให้เป็นที่มาของการฝึกซ้อมเล็กๆน้อยๆของผม

เริ่มด้วยการฝึกกระโดด กระต่ายขาเดียวด้วยขาขวาก่อน ตามด้วยการเตะลมด้วยขาซ้าย(ขาขวายืนเป็นฐานไว้) ถัดมาคือการฝึกตวัดขาในท่าอุจิมาตะด้วยการยืนด้วยขาขวา การฝึก3อย่างนี้เป็นการสร้างสมดุลย์การยืนให้มั่นคงให้กับขาขวา ที่น่าจะเป็นพื้นฐานสำหรับการจับซ้ายของยูโด (ปกติผมซ้อมท่า de-ashibarai เป็นประจำอยู่แล้วแต่จะให้ขาขวาคล่องเหมือนขาซ้ายคงต้องซ้อมต่อไปอีกซักระยะ)

ถัดจากขาก็เป็นเรื่องของแขน คราวนี้แขนซ้ายต้องฝึกให้ยกขึ้นแบบไม่เก้งๆกังๆ ส่วนแขนขวาต้องฝึกให้หมุนเข้าหาตัวในท่าดูนาฬิกา แขนทางด้านขวาไม่มีปัญหาเท่าไร ซักพักก็เข้าที่ แต่ว่าแขนซ้ายคงต้องให้เวลาซักหน่อย ขนาดยังไม่ได้ซ้อมกับคนจริงๆมันยังดูแข็งๆอยู่ ก็ต้องพยายามหัดยกขึ้นยกลงให้มันเข้าที่เหมือนกับการยกแขนขวานั้นแหละ

ก่อนที่เขยิบไปฝึกในการเข้าท่าต่างๆนั้น ผมคิดว่ายังต้องฝึกการหมุนตัวหรือไท-ซาบากิ ในทิศทางต่างๆของการจับซ้ายให้คล่องซะก่อน เรื่องการหมุนตัวไม่เป็นปัญหาเท่าไร เพราะว่าตอนซ้อมที่โคโดกังก็มีบ่อยครั้งที่อาจารย์ให้ลองฝึกอุจิโกมิทางด้านซ้ายดู จุดนี้จึงใช้เวลาในการปรับตัวไม่นานเท่าไร เพิ่งความซับซ้อนอีกนิด คือการหมุนตัว90องศา กับการหมุนตัว180องศา ในขณะที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าและข้างหลัง

ขาพร้อม แขนพร้อม การหมุนตัวก็ใช้ได้แล้ว ต่อไปก็คือการฝึกเข้าท่าหรืออุจิโกมิ โชคร้ายในความโชคดีคือว่าช่วงนี้เป็นวันหยุดยาว ผมก็เลยไม่มีคู่ซ้อมที่เป็นคนจริงๆ ก็ต้องใช้จินตนาการดูว่าการจับซ้ายเข้าท่าต้องทำยังไงบ้าง แต่ที่โชคดีก็คือ วันพฤหัสนี้จะเป็นการซ้อมครั้งแรกหลังจากหยุดยาว อยากรู้ว่าถ้าลองอุจิโกมิกับคนจริงๆมันจะใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนตอนจับทางด้านขวารึเปล่า

ท่าพื้นฐานที่ผมหยิบมาฝึกเพื่อให้สามารถที่จะจับซ้ายคือ
-Osoto-gari
- Seoinage
-Tsurigomi koshi (ก่อนที่จะฝึกท่านี้ต้องฝึกท่า o-goshi ให้ได้ซะก่อน)
-Tai otoshi
-Uchimata

Osoto-gari ผมเคยลองใช้จับซ้ายมาหลายครั้งแล้ว แต่รู้สึกว่าจังหวะที่ดึงคู่ต่อสู้เข้าหาตัว จะเบาไปหน่อยเมื่อเทียบกับการจับขวา อีกจุดนึงที่ยากคือเรื่องการบิดสะโพก ส่วนจุดที่ง่ายสำหรับท่านี้ในการจับซ้ายก็คือ การก้าวขาขวาในจังหวะแรก มันจะเหมือนกับการก้าวขาของ Ko-uchi gari หรือ o-uchi gari แบบจับขวานั้นเอง

Seoinage ท่านี้ผมเจอบ่อยมาก สำหรับคนที่จับขวา แต่ใช้ seoinage หรือ ippon seoinage กับมือซ้ายของคู่ต่อสู้ (หมุนวนทางขวา) สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ฝึกท่านี้ในการใช้กับแขนซ้ายของคู่ต่อสู้ น่าจะมาจากการต้องการใช้ประโยชน์ของการไหลเวียนของแรงและจังหวะที่คู่ต่อสู้เสียสมดุลย์ไปทางด้านซ้าย (การใช้ประโยชน์ของการไหลของแรงและน้ำหนักคงจะคล้ายๆกับท่า sode tsurigomi koshi หมุนวนขวาของผม) ก่อนหน้าที่ผมมีความคิดที่จะฝึกจับทางด้านซ้าย ผมคิดไว้แล้วว่าท่า seoinage และท่า ippon seoinage นั้นสมควรที่จะต้องฝึกให้ใช้ได้ทั้งหมุนวนซ้ายและหมุนวนขวา ตัวอย่างเช่นการรันโดริกับคนจับทางด้านซ้าย การจับขวาของผมในบางจังหวะแขนขวาของผมกดบนแขนซ้ายของคู่ต่อสู้ คู่ต่อสู้จะส่งแรงต้านออกมาในจังหวะนี้ seoinage และท่า ippon seoinage แบบวนขวาสามารถนำมาใช้ได้และสามารถเห็นผลค่อนข้างชัดเจน สำหรับทฤษฏีการใช้แรงคู่ต่อสู้ในการทุ่มคู่ต่อสู้ เรื่องการหมุนตัวย่อเข่าถ้าทำเป็นประจำอยู่แล้ว จุดนี้ไม่มีปัญหา แต่ท่านี้ความยากน่าจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างหลังกับเข่าในขณะทุ่ม

Tsurigomi koshi อันนี้ผมว่าเป็นท่าเบสิคที่สำคัญมากๆ ต่อท่าหมุนตัวหลายๆท่า เช่นท่า harai-goshi, hane-goshi, uchimata รวมไปถึงการใช้มือในท่า tai otoshiด้วย พอสลับจากมือขวามาใช้เป็นมือซ้าย เหมือนกับส่องกระจก ผมว่ามือในท่านี้มันทำให้อ่อนช้อยยากมากๆ ผมลองกลับไปกลับมามากกกว่า 50 ครั้ง ในการเทียบกันระหว่างการจับขวา และ การจับซ้าย แต่ก็ยังเก้งๆกังๆอยู่กับมือซ้ายในจังหวะแรก และจังหวะสุดท้ายหลังจากหมุนตัวไปแล้ว คิดว่าคงต้องลองซ้อมกับคนจริงๆในท่า o-goshi ให้ชำนาญซะก่อน

Tai otoshi ผมว่าต้องฝึกการก้าวขา ย่อตัวให้ชำนาญซะก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยใส่จังหวะกับแขนเข้าไปให้เข้ากับขาและการหมุนตัว ถ้าแขนชำนาญแล้วเรื่องมือไม่ยากเท่าไรครับ ถ้ามือออกมาแปลกๆ ลองทำฝั่งขวาดูแล้วค่อยๆเทียบดูว่ามันต่างกับการจับซ้ายตรงไหน

Uchimata ที่เลือกเอาอุจิมาตะมาฝึกในการจับซ้ายเพราะว่า มันสำคัญตรงบริเวณขา ถ้าสมดุลย์ขาที่ยืนไม่ดี การตวัดมันก็จะไม่ดีตามไปด้วย เริ่มจากพื้นฐานก่อน คือการจับซ้าย มือขวาดึงมาดูนาฬิกา มือซ้ายยกขึ้นเล็กน้อย หน้าอกชนกัน(ตอนนี้ฝึกท่าอยู่คนเดียวไม่มีคนให้ชนด้วย) ขาขวานิ้วโป้ง กระแทกลงกับพื้น หลังจากที่ทำอยู่ในท่านี้จนชำนาญแล้ว ก็ไปหากำแพง หรือเสาก็ได้ เพื่อที่จะฝึกในการตวัด ตอนตวัดขา ผมรู้สึกว่าถ้าตวัดเพียงด้านเดียวมันจะรู้สึกแปลกๆ ก็ตวัดสลับกับทั้ง2ข้างนั้นแหละจะได้ฝึกการหมุนสะโพกไปในตัวด้วย

5ท่าที่ผมเลือกมาฝึกในการจับซ้ายก็ฝึกคร่าวๆผ่านไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็ได้แต่รอให้ถึงวันซ้อมอีกครั้งที่จะได้ลองกับคนจริงๆดูบ้างว่าเป็นยังไง
ช่วงหยุดยาวนี้มีสิ่งที่ต้องทำอีกอย่างคือ เรื่องการสร้าง stamina หรือเพิ่มความอึด ถ้าเป็นการซ้อมของมหาลัยอย่างเดียวมันไม่เหนื่อยเท่าไรครับ แต่ว่าพอซ้อมกับพวกเด็กม.ปลายด้วยแล้ว มันเหนื่อยมากๆ ไอ้ถึงที่สุดแล้วจะหยุดก็ยังไม่อยากจะหยุดคงเป็นเพราะว่าอายเด็กมันครับ สิ่งที่ต้องทำทุกวันหยุดก็คือการวิ่ง เริ่มต้นจากระยะทาง5โล สมัยก่อนตอนที่ผมบ้ามากๆเกี่ยวกับแบตมินตันก็เคยวิ่งครับ เอาระยะทางเท่าเดิมที่เคยวิ่งก่อน วันแรกที่เริ่มวิ่ง รู้สึกงงๆว่าทำไมมันไม่เหนื่อยเลย ไม่เหมือนตะก่อนที่วิ่ง ระยะทางเท่าเดิมแต่ผมวิ่งช้าไปรึเปล่า ดูเวลาตอนที่ออกไปวิ่งก็เท่าๆกับของเดิม เอาเป็นว่าวันที่2ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางให้ยาวขึ้นกว่าเก่าหน่อย ก็เพิ่มเป็น6กิโลกว่าๆ วนๆแถวบ้าน ทะลุสวนสาธารณะ ทะลุสถานนีรถไฟ แล้ววนกลับมาที่บ้าน ตอนวิ่งไม่เหนื่อยครับ แต่ว่าพอกลับมาแล้วสักพักขามันจะล้าๆหน่อย เป็นอย่างนี้อยู่2-3วันแรก ต่อจากนี้ก็อยู่ตัวแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ซ้อมยูโดได้ถึง150นาทีรึเปล่า ไว้ต้องลองดู



วันพฤหัส ซ้อมครั้งที่2 กับ เด็กม.ปลาย (คราวนี้มีเด็กม.ต้นโรงเรียนอื่นมาใช้สถานที่ด้วย)

โปรแกรมการซ้อม เหมือนกับอาทิตย์ที่แล้วเพียงแต่ว่าวันนี้คนเยอะมากๆ 2สนามของมหาลัย กลายเป็นแคบไปเลย วอร์มอัพ การเข้าท่าอุจิโกมิ เนวาซะ รันโดริ แล้วก็ฝึกเข้าท่าอีกครั้ง เนวาซะกับรันโดริ จะแยกกันนิดหน่อยระหว่างเด็กเล็กกับเด็กโต แต่ถ้าไม่คิดมากจะเข้าคู่กันก็ได้

เนวาซะในวันนี้ มีของแปลกเป็นประสบการณ์ที่ดีเกิดขึ้น คือว่า ผมมีท่าเพิ่มมาเล็กน้อย อาทิตย์ที่แล้วเด็กม.ปลายที่ซ้อมด้วยกัน วันนี้ก็ได้เข้าคู่กันตั้งแต่คู่แรกเลย คงไม่คิดว่าตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่าต่างๆของเค้าอยู่ในสมองของผม ลำดับเหตุการณ์และลำดับวิธีการในการแก้ท่าเอาไว้แล้ว ผมใช้ท่า sangaku jime ได้เป็นที่เรียบร้อย ด้วยความที่กลัวคู่ซ้อมจะเจ็บ ผมใช้แรงหนีบแค่ครึ่งเดียวก่อน ดูว่าจะเอายังไง อาจารย์ที่ยืนดูคุมเชิงอยู่ ก็บอกคนที่ถูกหนีบอยู่ว่า ทำเท่าที่ทำได้ถ้าไม่ไหวก็ยอมซะ สงสัยผมหนีบเบาไปหน่อย เลยเพิ่มแรงเข้าไปอีกหน่อยนึง พร้อมกับถามว่ายอมรึยัง ม.ปลายคนนั้นไม่ตอบแต่ก็ยังดิ้นอยู่แบบว่าไม่ยอม

อาจารย์ก็รอลุ้นดูอยู่ว่าจะเอายังไงกันต่อ เวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ ไม่มีใครมานับให้ว่ากี่วิ ไอ้ขาที่ผมรัดคอกับไหล่คู่ต่อสู้อยู่ทำยังไงมันก็ไม่หลุดหรอกครับ แถมมือของคู่ต่อสู้ก็ถูกผมรัดอยู่ในท่าคล้ายๆกับjuji gatameไว้ด้วยถ้าใส่เต็มแรงหรือหนีบเพิ่ม ยังไม่รู้เลยว่าส่วนไหนจะไปก่อนระหว่างข้อศอก หรือคอที่ถูกกดไว้ให้หายใจลำบาก ที่สำคัญที่สุดมันเป็นแค่การซ้อมเล่นๆ ใครแพ้ใครชนะก็ไม่มีใครเก็บมาคิดหรอกหรือว่ามีผลอะไรหรอก ผมรู้สึกว่ามันนานมากๆ แล้วคนที่โดนรัดอยู่มันต้องยิ่งนานกว่าที่ผมรู้สึก (ความรู้สึกส่วนตัว คือไม่ชอบตอนถูกรัด มันเหมือนอยู่ในที่แคบๆจะยื่นแขนขาก็ทำไม่ได้ แถมหายใจยากอีก) สรุปเอาเป็นว่าผมยอมแกะออกเองดีกว่า ความคิดผมคือท่าอื่นก็มีตั้งเยอะแยะจะมาติดกันอยู่ที่ท่านี้ทำไม เป็นครั้งแรกที่ผมเจอกับความใจสู้ของคนญี่ปุ่นเข้าอย่างจัง และเป็นครั้งแรกที่ผมยอมแกะท่าล๊อคออกก่อนเอง ก่อนที่คู่ต่อสู้จะยอม (ปกติจะเจอแบบแค่ใส่ท่าเสร็จก็ยอมกันแล้ว ยิ่งถ้ากลับกัน ผมยอมตั้งแต่5วิแรกแล้วถ้าแกะหรือดิ้นไม่ออก) ซ้อมเนวาซะรอบอื่นก็เป็นปกติไม่มีอะไรพิเศษ จะมีก็แต่ภาพเก่าๆตอนผมแขนหักผ่านเข้ามาในสมองตอนที่ผมโดย juji gatame เจ็บแปล๊บและตกใจมากๆว่า แขนจะกลับไปหักอีกครั้งรึเปล่า ไม่ต้องคิดก็รู้ว่าผมยอมทันที เมื่อเจอท่านี้เข้าไป (ตอนที่โดนเข้าไป คำพูดของหมอดังขึ้นมาในสมองเลยว่า ถ้าเป็นอีกครั้งต้องผ่าตัดแล้วนะ)

เนวาซะกับรันโดริ จะแบ่งกันเล็กน้อยระหว่าง เด็กเล็ก และเด็กโต แต่ที่ผมรู้สึกงง ก็คือ ทำไมทุกคนต้องเป็นยูโดจับซ้ายกันหมด แต่ตอนนี้เข้าทางผมแล้วครับ เพราะว่าผมเตรียมสำหรับการรับมือกับการจับซ้ายมาพร้อมแล้ว ท่าจับซ้ายผมก็มี แต่ว่าไม่มั่นคงเท่าไร ถ้าเจอกับสายดำ ผมก็ต้องใช้จับขวาเอาศอกกดแขนซ้ายเหมือนเดิมแล้วค่อยๆหาจังหวะไป

คนแรกที่ผมต้องการเข้าคู่ด้วยก็คือเด็กปีหนึ่ง อดีตประธานชมรมของเด็กม.ปลาย เมื่อปีที่แล้ว แปลกอีกแล้ว ทำไมอาทิตย์ที่แล้ว เห็นรันโดริกับรุ่นพี่ คนๆนี้ใช้จับทางด้านขวา แต่พอมาเจอกับผมดันมาเป็นจับซ้ายอีกแล้ว จุดเด่นน่าจะเป็นเรื่องแรง และเทคนิคเล็กๆน้อยๆในการไม่ใช้คู่ต่อสู้จับได้ถนัดทั้ง2มือ มีบางครั้งที่ผมจับได้แบบฟลุ๊คๆทั้ง2มือ กำลังจะเริ่มงัดท่าออกมาใช้ ปีหนึ่งคนนี้ก็จะสะบัดดิ้นให้หลุดออกจากการจับของผม แต่ว่านิ้วมือขวาผมแรงควายอยู่แล้ว กับสายดำที่น่ากลัวยิ่งต้องระวังเรื่องการจับมากขึ้นไปอีก ถ้าลองได้จับที่คอเสื้อแล้วหลุดยาก เพียงแต่จะเอาท่าไหนไปจัดการดี Seoinage ลองดูก็งัดแขนไม่ขึ้น จะเป็น ippon seoinage มือขวาก็ต้องปล่อยคอเสื้อ และจะกลับมาให้จับได้มันไม่ใช่ง่ายๆ ลองใช้ท่าจำพวกขาดูทั้งซ้ายทั้งขวา คู่ต่อสู้มันก็ไม่สะเทือนเท่าไร จะเอาขาขวาเข้าไปเกี่ยวขาซ้ายคู่ต่อสู้มันก็เข้าไม่ถึง แถมจะเสียจังหวะให้โดนรวบทุ่มไปด้านข้างหรือด้านหลังได้อีก สรุปหมดเวลา3นาที ไม่มีใครล้มซักครั้ง เพราะว่าต่างคนก็ต่างเสียเวลากับการจับที่จะทำให้อยู่ในจุดที่ได้เปรียบ หมดเวลาพอหันนิ้วขึ้นมาดู ประมาณ5-6นิ้ว มีเลือดซิบๆออกมา ถึงได้รู้ว่าการจับมันและถูกสะบัดมันจะทำให้เสื้อคู่ต่อสู้เลอะเลือดของผม

พวกที่ไม่ใช้สายดำแรงกดดันจะต่างกัน เข้าคู่ซ้อมด้วยจะไม่เหนื่อยเท่าไร มีครั้งนึงคู่ไม่ครบ เลยทำให้ผมไปจับคู่กับเด็กม.ต้น (จับซ้ายอีกละ) นานๆจะได้อยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่าทุกอย่าง ทั้งเทคนิค น้ำหนัก ร่างกาย ประสบการณ์ เด็กม.ต้นคิดว่าน้ำหนักคงจะน้อยกว่าผม2เท่ากว่าๆ ท่าจะเพิ่มเริ่มเรียนไม่นาน พยายามที่จะใช้ o-soto gari เข้ามา ผมเตือนแล้วนะ ว่าอย่าใช้เพราะว่าส่วนสูงน้ำหนักที่ต่างกันมันส่วนกลับง่าย นอกจากแรงดึงและความเร็วที่อยู่ในขั้นเทพเท่านั้น ถึงจะทุ่มผมลงได้ แต่ว่าเด็กคนนั้นพยายามใช้เข้ามายังไงมันก็ไม่ล้มครับ แค่ผมบิดสะโพกหน่อยเดียวก็สวนกลับได้แล้ว กลับกลายเป็นการรังแกเด็กไปซะงั้น แต่ถ้าเด็กคนนี้ ฝึกอย่างนี้ต่อๆไป อีก5-6ปี ร่างกายโตกว่านี้ ถึงตอนนั้นผมคงสู้ไม่ไหวละครับ

ท่าจับขวาที่เจอกับการจับซ้าย ที่ผมคิดว่า ใช้ได้ง่ายและเหนื่อยน้อยสุดคือท่า hikikomi gaeshi กับท่า o-soto gari (มือเดียว เข้าทางด้านซ้ายมือของคู่ต่อสู้) วันนี้คู่ต่อสู้เกือบทุกคนจะต้องโดน2ท่านี้ไปครับ 2ท่านี้คล้ายๆกันในจังหวะแรก คือใช้มือขวาดึงบริเวณคอคู่ต่อสู้ให้ก้มลง หลังจากนั้นใช้มือซ้ายอ้อมไปจับเข็มขัดทางด้านหลัง ทิ้งตัวยกขาขวาใส่เข้าไปบริเวณขาคู่ต่อสู้เพื่อโยนไปด้านหลัง ง่ายครับแต่ตอนจะใช้ต้องเหลียวหลังดูก่อนเพราะถ้าโยนคู่ต่อสู้เข้าไปโดนคู่ซ้อมคนอื่น คงต้องมีคนเจ็บแน่ๆแล้วแต่ว่าจะเจ็บมากเจ็บน้อย คงเป็นเพราะเด็กม.ปลายไม่ค่อยจะเจอท่านี้เท่าไร พอเจอเข้าไปก็เลยยังแก้ไม่ออก ส่วน o-soto gari มือเดียวนั้นจุดแรกเหมือนกับท่า hikikomi gaeshi คือดึงคอให้คู่ต่อสู้ก้มต่ำ แล้วก็เอามือซ้ายอ้อมไปจับมือซ้ายด้านหลังคู่ต่อสู้ (ถ้าเป็นท่า hikikomi gaeshiจะไปจับที่เข็มขัด) แล้วใช้ขาซ้ายตวัดให้ล้ม (ต้องขอบคุณการฝึกจับทางด้านซ้ายของผม ทำให้ตอนนี้ผมใช้ o-soto gari ได้ทั้งด้านซ้ายและขวาแล้ว แต่ว่าความสมดุลย์ตอนยืนขาเดียวด้วยขาขวายังไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น)

วันนี้การฝึกกล้ามเนื้อหลังซ้อมทำได้ครบตามโปรแกรมทุกอย่าง น่าจะเป็นผลมาจากการวิ่งรอบดึกวันละ6กิโลกว่าๆทุกวัน แต่เรื่องดื่มน้ำตอนพักระหว่างซ้อม ยังดื่มเยอะไปหน่อย ทำให้รอบท้ายๆเคลื่อนไหวอึดๆลงไปนิดนึง หลังจากซ้อมเลิกแล้ว อาจารย์ของเด็กม.ปลาย บอกว่าอยากให้มาทุกวัน เพราะว่าแต่ละคนก็มีจุดเด่นจุดด้อย แตกต่างกันไป ถ้าซ้อมกับหลายๆคนก็จะมีประสบการณ์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เด็กมหาลัยได้แต่ยิ้มๆไม่มีใครตอบ ต่างคนก็ต่างรู้อยู่ในใจว่ามันไม่สามารถจะทำได้ ว่าแล้วเย็นนี้ไปซ้อมต่อที่โคโดกังดีกว่า ส่วนเรื่องท่าต่างๆที่เจอกับคู่ซ้อมในวันนี้ทั้งตอนเนวาซะ และรันโดริ ค่อยเก็บไปคิดคืนนี้ เผื่อจะได้วิธีแก้หรือวิธีจัดการที่ให้เหนื่อยน้อยที่สุด
กลับถึงบ้าน เสื้อเลอะเลือดเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเลือดผมเองครับ บริเวณหัวเข่า แผลถลอกจากอาทิตย์ที่แล้วยังไม่แห้งสนิทดี ส่วนเสื้อยูโดผมทั้งด้านหน้าด้านหลังก็มีเลือดเป็นหลายหย่อม แต่ผงซักฟอกที่ญี่ปุ่น จัดการคราบเลือดได้ดีทีเดียว ตอนนี้ก็ตากแดดไปก่อน ไว้เย็นนี้ใส่ไปซ้อมที่โคโดกัง แล้วค่อยซัก (ซักครั้งที่ผ่านมาไม่ค่อยคุ้มเลย ใช้ใส่แค่วันนี้วันเดียวเองก็เละไปด้วยเลือดแล้ว)




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2554
4 comments
Last Update : 28 สิงหาคม 2554 10:01:08 น.
Counter : 1542 Pageviews.

 

สวัสดีค่ะ แวะมาเยี่ยมค่ะ ปีหน้าว่าจะให้ลูกชายเข้าเรียนคอร์สเทควันโดหรือยูโดยังติดใจอยู่ว่าจะเลือกอันไหนดี
การฝึกซ้อมยูโดของคุณ ablaze357กว่าจะเก่งและแกร่งได้ต้องใช้ความพยายามมุมานะอดทนสูงมากเลยใช่ไหมค่ะ เป็นกำลังใจให้สู้นะค่ะๆดูแลสุขภาพและกินอาหารที่มีประโยชน์(สร้างกล้ามเนื้อไม่รู้ว่าจะเกี่ยวหรือเปล่า)

 

โดย: eveava (eveava ) 27 สิงหาคม 2554 9:17:35 น.  

 

ขอบคุณครับ

ถ้าเป็นผม เลือก ผมก็ต้องเลือกยูโดอยู่แล้วครับ การแข่งจริงใหญ่ๆผมยังไม่เคยลงดูก็เลยไม่รู้ว่า นักกีฬาเค้าเอาเป็นเอาตายกันขนาดไหนกับคำว่าชัยชนะ แต่ว่าการแข่ง การซ้อมทั่วไป ผมยังไม่เคยเจอคู่ซ้อมแบบแย่ๆเลยครับ (แบบว่าจะคิดเอาแต่ชนะอย่างเดียว จนไม่สนใจว่าคู่ต่อสู้จะเจ็บหรือว่าจะเกิดอันตรายขึ้น) นักกีฬายูโดทุกคน(เฉพาะที่ญี่ปุ่น ส่วนที่เมืองไทยผมไม่รู้) ที่ผมผ่านมา ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับคู่ซ้อมมากๆ แบบว่ากลัวคู่ซ้อมจะเจ็บ พยายามเซฟกันเต็มที่ แล้วตามมารยาทถ้าฝีมือต่างกันมากหน่อย ก็จะมีการสอนเพิ่มเติมให้อีกต่างหาก ส่วนเรื่องการทุ่มถ้าไม่ชัวร์ว่าหลังจากทุ่มแล้ว คนถูกทุ่มจะเซฟรึเปล่า ที่โคโดกังส่วนใหญ่ก็จะหยุดกันแค่นั้น แล้วเปลี่ยนเป็นท่าอื่นที่ชัวร์ว่าปลอดภัยแทน จริงๆแล้วกติกาของยูโดมันก็มีระบุไว้ชัดเจนทุกอย่างแล้วเกี่ยวกับท่าต่างๆและครอบคลุมให้ผู้เล่นปลอดภัย แต่ก็มีบางกรณีเช่นเรื่องแขนของผมที่ผมดันโชคร้ายไปเจอกับเพื่อนคนไม่รู้กติกายูโด(รู้พื้นๆ แต่รู้ไม่ลึก) เข้าทำแบบมั่วๆจนทำให้ผมต้องไปพักรักษาตัวอยู่เกือบ2เดือน

เรื่องทำความเคารพก่อนซ้อม และหลังซ้อม แรกๆผมก็คิดว่าก็ทำๆไปอย่างนั้นเป็นธรรมเนียมทั่วไป กีฬาอื่นๆก็มีการทำความเคารพเช่นกัน แต่ทำความเคารพซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ่อยๆเข้าผมเริ่มจะเข้าใจว่า มันมีความสำคัญมากกว่าการทำแบบขอไปที ที่โคโดกังที่ผมเรียนอยู่ สิ่งสำคัญมากที่สุดก็คือรูปแบบการทำความเคารพนี้แหละครับ อาจารย์บอกว่าถึงคุณจะเก่งยังไงชนะสายดำขึ้นเท่าไรแล้วก็ตาม แต่ถ้าสเต็ปต่างๆในการทำความเคารพผิดไปหน่อยนึงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมือ หรือเรื่องการก้าวขา ก็ถือว่ายังใช้ไม่ได้

ข้อเสียของยูโด
- ระยะเริ่มเล่น
แรกๆจะเหนื่อย และเมื่อยมากๆ จำได้เลยว่าวันแรกหลังจากที่ผมรู้จักกับยูโด และซ้อมไปประมาณ2ชั่วโมง วันถัดไปแขนผมยกไม่ขึ้น บริเวณช่วงไหล่ทั้ง2ข้างเหมือนคล้ายๆกับกล้ามเนื้อจะอักเสบ ขาทั้ง2ข้างพอขยับหน่อยนึงก็ปวดไปทั่วๆ เป็นอย่างนี้อยู่เกือบอาทิตย์ ถึงจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง บางคนจะมีปวดหลัง ปวดไหล่เสริมมาด้วย
- ระยะเริ่มเป็นแล้ว
อันนี้อยู่ที่คู่ซ้อม เพราะเราจะเลือกแต่คู่ซ้อมที่เป็นสายดำหรือว่าเก่งๆอย่างเดียวมันทำไม่ได้ มันก็แล้วแต่โชคว่าจะวนมาเจอคู่ซ้อมคนไหน ในการเข้าท่าต่างๆ ถ้าเจอคู่ซ้อมที่แย่ๆหน่อย ก็จะมีเจ็บขา เจ็บหลัง จากการโดนทุ่มผิดท่าเล็กๆน้อยรวมถึงการใช้พวกเทคนิคขาผิดๆ(จะเจ็บบริเวณหน้าแข้งคล้ายๆกับตกบันไดในบ้างครั้ง)
อีกอย่างคือ เรื่องเข่า กับบริเวณขาแถวๆนิ้วโป้งทั้ง2ข้าง ถ้าเริ่มมีการรันโดรินอนสู้ (เนวาซะ) บริเวณนี้ถ้าเป็นคนบอบบาง อาจจะเป็นแผลถลอก ก่อนที่ร่างกายจะปรับตัวให้บริเวณดังกล่าวเป็นเนื้อด้านๆ
-ระยะมือโปร
อันนี้น่ากลัวมากๆ คือเรื่องเกี่ยวกับหู สังเกตุได้เลยว่าใครเป็นมือโปรทางด้านยูโด หูจะมีลักษณะแปลกๆกว่าคนปกติ ผมแล้วเพื่อนคนญี่ปุ่นตั้งชื้อให้หูลักษณะนี้ว่า หูเกี้ยวซ่า มันเกิดจากการล้มบ่อยๆ รวมถึงเอาหูไปถูบ่อยๆ กับหัวคู่ต่อสู้ตอนใช้เนวาซะต่างๆ หรือว่า หูถูกับพื้นโดยไม่ตั้งใจ แต่กว่าจะได้หูเกี้ยวซ่ามา ผมว่ามันก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปีอยู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ประมาณสายดำ 4-5ดั้งขึ้นไป

วันก่อนไปทะเล มีรูปถ่ายมา พอเอารูปไปเทียบกับก่อนเล่นยูโด ผมว่ามันต่างกันเยอะมากเลยครับ เพื่อนที่เมืองไทยเห็นรูปยังตกใจไปตามๆกันว่า มันเกิดอะไรขึ้น ไหล่ หน้าอก แขน ท้อง ขา มันขยายขึ้นมากๆ ครั้งหลังสุดที่ผมกลับเมืองไทยไปเจอกับเพื่อนๆ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันตอนเห็นตัวว่า ตัวใหญ่ขึ้นนะ

 

โดย: ablaze357 27 สิงหาคม 2554 21:19:40 น.  

 

สวัสดีค่ะ ขอบคุณนะค่ะที่ให้ละเอียดมาอย่างชัดเจนและเล่าสู่กันฟัง คิดว่าภายในอนาคตข้างหน้าคงจะได้เห็นคุณ ablaze357 ในสนามแข่งขันโอลิมปิคและบรรลุผลสำเร็จอย่างแน่นอน(ดูจะมีแวว)
ลูกชายปีหน้า7ขวบค่ะ ไม่รู้จะทนรับความเจ็บปวดจากฝึกซ้อมได้น้อยมากแค่ไหนแต่สิ่งหนึ่งถ้าลูกชายมีความชอบและถนัดก็พิจารณาดูอีกครั้ง

 

โดย: eveava (eveava ) 28 สิงหาคม 2554 9:39:17 น.  

 

ท่าจะยากครับ ฝีมือผมทำยังไงมันเป็นแค่ผงฝุ่นเกาะตามริมสนามเฉยๆ ตอนนี้พอเจอคนตัวเท่าๆกันถ้าไม่รอท่าทีเผลอก็ทุ่มไม่ลงละครับ คงต้องฝึกอีกนานนนนมากๆกว่าหูจะเป็นเกี้ยวซ่า

 

โดย: ablaze357 28 สิงหาคม 2554 9:47:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.