Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
30 กันยายน 2554
 
All Blogs
 
1ปียูโดกับการไล่ล่าสายดำ9

ยูโด Tokushu-ka course เดือนแรกผ่านไป

เข้าสู่ช่วงกลางเดือนแรกของคอร์สนี้ เริ่มจะคุ้นหน้าคุ้นตากับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ คงเป็นเพราะธรรมเนียมการทักทายทุกคนที่เจอกันก่อนจะเริ่มฝึกซ้อม และการทักทายหลังจากการฝึกซ้อมเสร็จเรียบร้อย เลยทำให้การเข้าคู่ การฝึกท่า หรือ การรันโดริ ไม่ติดๆขัดๆเหมือนกับว่าคอยเกรงใจกันเกินไป

ช่วงนี้บ้าพลังหน่อยๆ บางครั้งก็รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำไปตอนรันโดริ สิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่คือ การที่ต้องไปจับคู่รันโดริกับคนที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าที่ไม่ใช่สายดำ บางคนก็ประมาณเด็กม.ปลาย มันเหมือนกับการเอาเปรียบเกินไปรึเปล่า วันนี้ตอนใช้ osoto gari ก็ไปเตะถูกขาเด็กม.ปลายคนนึง ท่าทางจะเจ็บพอสมควร เด็กเค้าก็คงเกรงใจให้หยุดพักก็ไม่หยุดซ้อมต่อ ในการรันโดริครั้งนี้ ผมก็เลยแก้ตัวโดยการจะใช้ท่าอะไรผมจะบอกก่อนเพื่อจะได้ไม่เจ็บมากเตรียมป้องกันให้เต็มที่ แต่ว่าด้วยแรงกับน้ำหนักที่ต่างกันพอสมควร ถึงจะบอกท่าไปแต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้อยู่ดี พอเข้าใจเหมือนกันว่าคนตัวเล็กเจอกับคนน้ำหนักเยอะกว่ามันจะทำอะไรก็ไม่สะดวก แล้วผมเป็นพวกใส่เต็มที่กับการรันโดริทุกครั้งอยู่แล้ว(การเก็บแรงไม่ออกท่า มันเหมือนเป็นการดูถูกคู่ต่อสู้จนเกินไป) แต่บางครั้งมันก็อาจจะเกินไป ต่อไปนี้จะปรับปรุงในจุดนี้ ลดแรงลงมาหน่อยถ้าเจอกับพวกที่ฝีมืออ่อนกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะทุกคนมันก็ต้องมีจุดเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนกันกับผมนั้นแหละ การเข้าทำโดยมันมือกับการทุ่มนั้น ผมว่ามันไม่ใช่วิถีของยูโด

เกิดเรื่องอีกแล้ว กับ ท่าอุจิมาตะ วันนี้สนามข้างๆเป็นการซ้อมยูโดของเด็กตัวเล็กๆ มีเด็กคู่นึงประมาณป.5-ป.6 ซ้อมรันโดริอยู่ปกติ เด็กคนนั้นใช้ท่าคล้ายๆจะเป็นอุจิมาตะ แต่คิดว่าแรงคงไม่พอ จังหวะยกขาจะเกี่ยวก็ยังทรงตัวไม่ดีเท่าไร แล้วดันไปก้มหัวต่ำอีก (ข้อห้ามเลยสำหรับการก้มหัวต่ำในจังหวะเกี่ยวขา) รวมๆแล้วแรงไม่พอกับทรงตัวไม่ดีเลยทุ่มคู่ต่อสู้ไม่ได้ พอล้มเองแล้วโดนคู่ต่อสู้ทับอีกที สรุปคือไหล่หลุด ท่าทางจะเจ็บแบบตึงๆก่อนที่จะปวดในอีก2-3ชั่วโมงถัดไป แต่เด็กปัญหาเรื่องเอ็นเรื่องกระดูกถ้าไม่หักน่าจะฟื้นตัวเร็ว (คงประมาณ2-3เดือน) เห็นแล้วก็สงสาร เพราะผมก็เคยเจอปัญหานี้เหมือนกัน แต่ตอนนั้นเป็นเพราะเพื่อนผมเล่นผิดกติกาสอดขาจากด้านหลังมาเกี่ยวขาหลักของผมแล้วผลัก มันถึงได้เส้นเอ็นบริเวณข้อศอกพังไปทั้งแถบ (บางครั้งออกแรงมากๆก็ยังเจ็บอยู่เลย)

Utsuri goshi
เป็นการแก้ท่าจำพวกที่หมุนเข้ามา เช่นท่าจำพวกharai goshi, hane goshi คือพอคู่ต่อสู้หมุนเข้ามาเพื่อที่จะทุ่มเราแล้วนั้น มือข้างที่เราจับแขนเสื้อนั้นให้พลิกกลับไปจับบริเวณเข็มขัด้านหลังของคู่ต่อสู้(จับง่ายเพราะว่าคู่ต่อสู้หมุนเข้ามาหาแล้ว ไม่ต้องเอื้อมไปคว้าไกล) ส่วนมือที่อยู่คอเสื้อก็ให้ไว้อยู่อย่างนั้น ย่อตัว(ใช้เข่าย่อ)ลงเล็กน้อยแล้วยกคู่ต่อสู้ขึ้นทั้งตัวแล้วโยนทิ้ง ทิ้งไปในทิศทางของแรงและน้ำหนักนะครับ อย่าไปสวนทาง (ฟังดูแล้วเหมือนยาก แล้วลองทำดูครั้ง2ครั้งจะเข้าใจ) มือที่จับที่คอเสื้อคู่ต่อสู้ ก็ช่วยยกด้วยนะครับ ในจังหวะที่คู่ต่อสู้กำลังจะตวัดขา จังหวะนั้นจะยกตัวคู่ต่อสู้ได้ง่ายขึ้น ท่านี้มีประโยชน์มากครับ วันนี้ผมลองยกดูคนน้ำหนักประมาณเกือบ100โล ยังยกได้สบายๆเลยครับ (จังหวะที่สำคัญคือการย่อเข่านิดหน่อยก่อนยก จะทำให้ยกง่ายขึ้น)

Newaza kuzure kesa gatame และ ude waki gatame
เป็นท่าเนวาซะที่ใช้จัดการคู่ต่อสู้ในขณะที่เราตั้งท่าอยู่ในท่าเต่า การเอามือสอดเข้ามาของคู่ต่อสู้ขอแยกออกเป็น2ชนิด แบบแรกเคยเรียนเมื่อนานมาแล้วในคอร์สแรกคือ คู่ต่อสู้อยู่ด้านข้างหรืออยู่คล่อมตัวเรา แล้วเอามือสอดเข้ามา ให้เอาแขนหนีบเอาไว้แล้วหมุนตัวไป ตามจังหวะ คู่ต่อสู้จะหมุนตาม (ถ้าคู่ต่อสู้สอดแขนเข้ามาทางขวาก็หมุนขวา ถ้าสอดซ้ายก็หมุนซ้าย) หลังจากหมุนจนครบรอบ จะมาอยู่ในท่า kuzure kesa gatame พอดิบพอดี จุดสำคัญคือตอนหนีบแขนถ้าคู่ต่อสู้หลุดจากที่หนีบได้การล๊อคก็จะหลุดตามไปด้วย ดังนั้นแขนที่เราหนีบคู่ต่อสู้นั้นหากแรงไม่พอให้เราจับคอเสื้อยูโดของเราเองเพื่อเพิ่มความแน่น

แบบที่สอง คือ คู่ต่อสู้อยู่ด้านหัวของเรา (เรายังอยู่ในท่าเต่า) แล้วสอดมือเข้ามาบริเวณลำตัว ใช้แบบเดียวกันคือเอาแขนหนีบไว้ ไม่ต้องหมุนตัวเหมือนท่าแรก แต่ให้เอาขาหงายและไขว้เข้าไปทางตัวคู่ต่อสู้ จากนั้นก็หงายตัวจากท่าเต่าขึ้นมา จะกลายเป็นหัวพิงอยู่ที่หลังคู่ต่อสู้ แต่ที่เราได้มาคือแขนหนึงในสภาพบิดๆที่อยู่ในท่าUde waki gatameแล้ว เพียงแต่เพิ่มแรงเข้าไปอีกหน่อยก็จะทำให้คู่ต่อสู้ยอมได้ ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับการไขว้ขา เริ่มจากเราอยู่ในท่าเต่า คู่ต่อสู้อยู่ด้านหน้าเราสอดมือขวาเข้ามาด้านซ้ายของเราในท่าเต่า เราก็ใช้มือซ้ายหนีบไว้ จากนั้นเอาขาซ้ายของเราไขว้ออกไปทางด้านขวา หงายตัวขึ้นเอาหัวพิงหลังคู่ต่อสู้ (หากไขว้ขาถูกทางจังหวะนี้จะไปเองแล้วลงตัวที่หัวพิงหลังคู่ต่อสู้ - ก็คือคู่ต่อสู้จะคว่ำหน้าลงส่วนเราจะหงายตัวขึ้นแทน โดยหลังคู่ต่อสู้จะชนกันกับคอของเรา) โดยเราได้หนีบมือคู่ต่อสู้มาข้างนึงด้วย

Uchimata 2 แบบ
ตะก่อนผมงงกับบางท่าที่เห็นในคลิปหรือที่นักกีฬายูโดใช้กันในการแข่งขัน แล้วอาจารย์ยูโดจะบอกว่าเป็นอุจิมาตะ แต่แล้วผมก็เพิ่งมาเข้าใจวันนี้ว่า การตวัดขาของอุจิมาตะนั้นมีอยู่สองแบบ คือการตวัดขาข้างขวาของคู่ต่อสู้กับการตวัดขาข้างซ้ายของคู่ต่อสู้ แรกๆผมคิดว่าการตวัดขาข้างซ้ายนั้นคืออุจิมาตะ ส่วนการตวัดข้างขวานั้นจะเป็นhanegoshi หรือ harai goshi (สังเกตุได้จากตามคลิปที่นักกีฬาเก่งๆบางคนใช้อุจิมาตะ แต่จะมีฝรั่งจำนวนมากเถียงกันว่าเป็นฮาเนโกชิ บ้างก็ว่าเป็น ฮาไรโกชิ ว่าแต่ว่านักกีฬาระดับเหรียญทองจะออกท่าและใช้ผิดท่าไปได้ขนาดนั้นเชียวหรือ) ผมเพิ่งจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง3ท่านี้ ที่ใช้การตวัดไปที่ขาข้างขวาของคู่ต่อสู้เหมือนกัน เริ่มจาก harai goshi คือการตวัดขาออกไปด้านนอกของคู่ต่อสู้กวาดขึ้นไปเฉียงๆทางด้านบนสะโพก ส่วน hanegoshi คนทุ่มจะทำขางอหน่อยเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วจะตบเข้าไปตรงกลางขาขวาของคู่ต่อสู้แรงที่ใช้ในการตวัดขาจะใช้บริเวณต้นขาและสะโพก ส่วนอุจิมาตะแบบตวัดที่ขาขวานั้นจะใกล้เคียงกับฮาเนโกชิ เพียงแต่แรงที่ใช้จะมาจากบริเวณปลายขามากกว่าต้นขา ผมว่าการใช้อุจิมาตะแบบตวัดที่ขาขวานั้นจะรัดกุมกว่าการตวัดที่ขาซ้าย(เหมือนกับเป็นการปัดขาทั้ง2ข้างของคู่ต่อสู้ไปพร้อมๆกัน) การปัดที่ขาซ้ายคู่ต่อสู้จะเข้าท่าได้ง่ายกว่าก็จริงแต่ว่าเปอร์เซนต์การทุ่มโดยการตวัดขาขวาจะเห็นผมมากกว่า และถึงจะพลาดไปก็ยังมีขาซ้ายของคู่ต่อสู้ที่สามารถใส่ท่าได้ง่ายให้ตวัดได้อยู่ดี

วันนี้ก่อนซ้อมคิดถึงคำอาจารย์สอนอยู่หลายอย่างเกี่ยวกับยูโดที่ถูกต้องของญี่ปุ่น
1. ใช้2มือในการเข้าท่า
2. kuzushi tsukuri kake 3อย่างต้องถูกต้องหมด + tai-sabaki
3. จังหวะและความเร็ว
แล้วกลับมาคิดดูว่าทุกวันนี้ที่ใช้ในการซ้อมแข่งนั้น มีแต่ลูกตุกติก เช่น ใช้มือเดียว จับสลับ จังหวะกับความเร็วพอมีแต่เล่นทีเผลอ ถ้าทีหลังต้องออกหน้าออกตาท่าที่จริงๆแบบยูโดญี่ปุ่นแล้ว จะอายเค้าเพราะไม่มีซักท่าเลย
ตะก่อนฝึกอุจิมาตะอยู่ แต่รู้สึกว่ามันอันตรายไปทั้งคนทุ่มและคนถูกทุ่ม ช่วงนี้ก็ไม่ได้ฝึกแล้วมันก็ค่อยๆลืมไป ตอนนี้ที่เล็งอยู่ก็คือท่า เซโอนาเกะ เพราะว่าท่านี้ถ้าใช้ได้จะสวยงามมากๆ แถมยังเป็นพื้นฐานของหลายๆท่าอีกต่างหาก เริ่มต้นก่อนการซ้อมท่าต้องวิเคราะห์ให้ออกกว่าว่า จุดสำคัญมันอยู่ตรงไหน
- kuzushi เป็นการดึงคู่ต่อสู้มาทางด้านหน้า
- tsukuri ตามข้างล่างเป็นข้อๆนี้เลย
1. เข้าทำโดยการจับขวา ก้าวขาขวาออกไปข้างหน้าเฉียงหน่อยๆไปทางขาขวาคู่ต่อสู้ (เฉียงมากจะเสียสมดุลย์เอง) จังหวะก้าวนี้เข่าต้องงอลงเล็กน้อย(สำคัญ)
2. ขาซ้ายตวัดเพื่อหมุนตัว อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าต้องใช้แรงเหวี่ยงจากขาซ้าย ส่งไปถึงสะโพก และส่งขึ้นไปถึงแขนซ้ายเพื่อช่วยเพิ่มแรงดึงแขนขวาคู่ต่อสู้ ตอนดึงแขนขวาคู่ต่อสู้ต้องให้ยกขึ้นสูงกว่าหัวของเรา (เร็วและแรง พูดง่ายแต่ทำยาก)
3. หมุนตัว180องศา ไหล่สองข้างต้องชนกับหน้าอกคู่ต่อสู้พอดี ศอกขวางัดเข้าไปอยู่รักแร้ขวาของคู่ต่อสู้
4. ขาสองข้างหลังจากหมุนตัวแล้วต้องอยู่ในลักษณะง่อเข่าหลังตรง และขาจะต้องไม่อ้าออก และพื้นที่ของขาจะต้องเท่าๆกับความกว้างไหล่อยู่ในท่าธรรมชาติ (จุดสำคัญคือ คู่ถูกทุ่มจะต้องอยู่สูงกว่าคนทุ่ม มีสองวิธี คือดึงคู่ต่อสู้ให้ขึ้นสูง หรือว่า ย่อตัวเองลงมาต่ำกว่าคู่ต่อสู้ แต่เพื่อเพิ่มความของท่าเอามันทั้ง2ข้อนั้นแหละคือดึงให้คู่ต่อสู้+กับการย่อตัวเองลงมา)
5. หลังตรง คอตรง ย่อเข่าลง ยิ่งย่อเยอะยิ่งทำให้น้ำหนักคู่ต่อสู้เบาขึ้นและทุ่มง่ายขึ้น
- kake (ถ้ามี kuzushi กับ tsukuriที่ถูกต้องแล้ว kake แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย)
6. พิเศษแอบจับจุดได้ คือในข้อที่4 หลังจากหมุนขาไปแล้ว ถ้าจะให้แรงยิ่งขึ้น ขาต้องเขย่งทั้ง2ข้าง เพื่อที่จะเอามาใช้ในข้อ6นี้ คือหลังจากย่อเข่าในข้อ5ต่อไปก็คือการดันเข่าขึ้น จังหวะที่ดันเข่าขึ้นหลังที่ตรงอยู่ให้ก้มโค้งเพื่อทำการโยนคู่ต่อสู้ไปด้านหน้า จังหวะที่ก้มนั้นขาที่เขย่งให้กดส้นเท้าลงพื้น (จะช่วยเพิ่มแรงส่งในการทุ่มได้อีกเยอะ)
หลักการkuzushi tsukuri kake มันก็อยู่ใน6ข้อนี้ เพียงแต่ทำจริงจะมานั่งค่อยๆนับข้อ1ข้อ2ข้อ3มันไม่ทันกิน จังหวะหายไปหมดแล้ว ที่ทำได้ก็คือต้องฝึกในมันลื่นไหลจาก1ไป6ให้ได้ แต่ว่า.....

ปัญหาใหญ่อีกข้อนึงก็คือ จังหวะที่หมุนตัวแล้วดันทรงตัวไม่อยู่เอง แบบว่า บางครั้งก็จะล้มไปหน้า บางครั้งก็จะล้มไปหลัง วิธีแก้คือห้ามล้มไปหน้าโดยเด็ดขาด เพราะล้มไปหน้าแล้วมันจบหมดกับการทุ่มท่านี้ ล้มไปทางด้านหลังได้แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำ kuzushi ให้สมบูรณ์มากๆ ถึงล้มไปด้านหลังก็ยังมีคู่ต่อสู้ช่วยทรงตัวเอาไว้นั้นเอง

วันนี้พอมีเวลาช่วงกลางวันหน่อย ก็แอบซ้อมท่านี้อยู่นานพอสมควร (ทั้งๆที่เรียนมาตั้งหลายสิบรอบแล้ว แต่ยังทำได้ไม่สวยถูกใจซักที)

ตอนฝึกเข้าท่าในวันนี้อาจารย์ให้เลือกใช้ท่าที่ชอบเอง ก็พอดีเลย เอาท่า เซโอนาเกะ ที่ปัดฝุ่นมาใหม่ใช้ซะเลย ตรงจุดนี้ให้ซ้อมเข้าท่าเฉยๆยังไม่ต้องทุ่ม ก็พยายามเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน รู้สึกว่าวันนี้ท่านี้ใช้ได้สวยและสมบูรณ์กว่าตะก่อนเยอะมาก (ปัดฝุ่นซ้อมแค่นิดเดียว เห็นผลเลย) วันนี้ซ้อมเข้าท่าไปประมาณ 90 ครั้ง เป็นเซโอนาเกะซะ60ครั้ง ส่วนท่าอื่นก็เป็นพวกท่าขา

ต่อมาถึงเวลาซ้อมโดยการทุ่ม ก็ยังเลือกใช้ท่านี้อยู่ดี แล้วก็เข้าใจจนได้ ว่าถ้าทำท่าได้สมบูรณ์แบบ การทุ่มไม่ใช่เรื่องยากเลย น้ำหนักตัวคนถูกทุ่มแถบจะไม่มีผลเท่าไร (ถ้าย่อเข่าและทำการดึงในจังหวะแรกได้ถูกต้อง) มีแอบมองตัวเองตอนทุ่มในกระจกด้วยนะ ถ้าเต็มสิบให้คะแนนตัวเอง8.5 ที่เหลือ1คะแนนที่หายไปคงจะเป็นเพราะการทุ่มในจังหวะสุดท้ายยังไม่คล่องเลยไม่มีการเซฟคู่ต่อสู้เท่าที่ควร น่าจะเจ็บอยู่เพราะว่าถ้าย่อเข่าหลังตรงดันขึ้นแล้ว คนถูกทุ่มโดนทุ่มแบบหมุนตัวข้ามไหล่แนวตั้ง180องศา (ปกติไม่ได้เน้นท่ามากจะทุ่มแบบกลัวคู่ต่อสู้เจ็บจะไม่หมุนสูงมากและลงแค่เฉียงๆไหล่ไป) ส่วน0.5คะแนนที่หายไปก็คงเป็นเพราะเรื่องการแอบมองกระจก จริงๆแล้วคอกับสายตามันต้องเน้นสมาธิไปที่จุดตรงพื้นที่จะทุ่มคู่ต่อสู้ลงไป แต่นี้ดันไปมองกระจกซะได้ (ยังแอบชมตัวเองอยู่เลยว่า เป็นครั้งแรกที่เห็นคนเป็นๆใช้ท่านี้ ทุ่มออกมาด้วยท่าและจังหวะที่สวยมาก ปกติเห็นแต่ในคลิปวิดีโอที่นักยูโดระดับสูงใช้กันออกมาเท่านั้น) ต่อแต่นี้อย่างน้อยต้องฝึกเข้าท่าวันละ100ครั้งกับท่านี้ (ท่านี้อยู่บ้านฝึกคนเดียวได้) น่าจะทันใช้ในการแข่งฤดูใบไม้ร่วงที่จะมีขึ้นในอีก3อาทิตย์ถัดไป (ถ้าไม่ทันก็คงต้องเอาพวกท่าที่ไม่ใช้ยูโดฉบับญี่ปุ่นมาใช้แก้ขัดไปก่อน)

ช่วงนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว แต่ก็ยังพยายามที่จะไม่ลดละเลิกกับยูโด แบบว่าเรียนตั้งแต่9โมงเช้าไปถึง16.00 แล้วก็ต้องรีบนั่งรถไฟมาซ้อมยูโดให้ทันตอน 17.30 – 19.00 วันละนิดค่อยๆเก็บกันไป ตอนนี้สายดำมันเป็นของชัวร์แล้วที่จะได้ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ได้มาพร้อมกับสายดำอาจจะเป็นแรงกดดันก็ได้ ดังนั้นขณะนี้ยังมีเวลาอยู่ ก็ควรที่จะขัดเกลาท่าให้มันถูกต้อง

วันก่อนซ้อมท่าเซโอนาเกะ ไม่รู้กี่ครั้งแล้วไม่ได้นับ แต่ว่ามีแว๊บนึงมันโผล่เข้ามาในหัวเอง ไอ้แว๊บแบบนี้คงจะเป็นสิ่งที่อาจารย์พูดและสอนปากเปียกปากแฉะกันมาหลายสิบรอบแล้ว คือรู้สึกได้(อย่างมาก) ว่าท่านี้อานุภาพมันเพิ่มขึ้นมาหน่อยนึงเพราะว่ามันสามารถที่จะดึงแรง(ไม่รู้ว่าออกมาจากส่วนไหนเหมือนกัน) ออกมาใช้ได้นิดหน่อยแล้ว แถมจุดที่กังวลอยู่เรื่อยๆ คือในขณะย่อตัว ผมจะพยายามย่อตัวให้ต่ำที่สุด พระเอกที่รับบทหนักก็คือช่วงเข่ากับขา ทำให้เสียสมดุลย์อยู่บ่อยๆ ไม่ล้มไปด้านหน้าก็เฉไปด้านหลัง แต่ในที่สุดก็จับจุดได้ตอนที่มันแว๊บเข้ามาในหัว ก็คือ ขาต้องแยกห่างกันเท่าๆกับไหล่ แล้วมันจะเป็นฐานที่มั่นคงมากกว่าเดิม จริงๆแล้วจุดนี้ก็รู้นานแล้ว เพียงแต่พยายามที่จะเพิ่มความเร็ว แล้วหาทางดึงแรงจากการหมุนออกมาใช้ ทำให้ละเลยจุดนี้ไปบ้าง ถึงตอนนี้ก็คิดว่า tsukiri ของท่านี้น่าจะสมบูรณ์แล้ว ขาดแล้ว kuzushi ในจังหวะแรก กับความเร็วในการเข้าท่า ส่วน kake นั้นพยายามหาคนมาลองทุ่มอยู่เหมือนกัน (หายากเหมือนกันพวกที่ยอมให้ทุ่มฟรีๆหลายๆครั้งเพื่อหาจุดkake) ช่วงที่ย่อตัวนั้นเหมือนกับว่าจะต้องหยุดชะงัดไปหน่อยนึง จุดนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในการรันโดริหรือการแข่งขันจริงๆจังๆ วิธีแก้คือฝึกไปเรื่อยๆทุกๆวัน รอจังหวะมันแว๊บเข้ามาในหัวเอง

Renzoku waza o-uchigari + tai otoshi ตรงตัวเลยครับ เริ่มต้นจาก o-uchigari เข้าไปก่อน เมื่อคู่ต่อสู้สามารถถอยหลังเอาขาหลบออกไปในจังหวะแรกแล้ว ให้ ขาขวาที่เราใช้ปัดออกไปเป็นท่าo-uchigariนั้น ให้ใช้ต่อเนื่องเป็นท่า tai otoshi (เหมือนกับว่าเราได้ก้าวขาขวาออกไปในจังหวะปกติที่จะใช้ tai otoshi) ตรงจุดนี้ต้องพยายามศึกษาจังหวะและเวลาในการก้าวขาหลบของคู่ต่อสู้ให้ได้ ถึงจะสามารถนำแรงเหวี่ยงที่คู่ต่อสู้ใช้ในการหลบ o-uchigari นั้นมาเสริมแรงให้กับท่า tai otoshi

Renzoku waza sasae-tsurikomi ashi + uchimata ถ้าใช้ sasae-tsurikomi ashi โดยการเอาขาขวาไปปัดขาซ้ายของคู่ต่อสู้แล้ว หมุนตัวตามเข็มนาฬิกา แต่ว่า sasae-tsurikomi ashi นั้นไม่สามารถทำให้คู่ต่อสู้ล้มในจังหวะแรก อาจจะสามารถใช้ uchimata ตามมาในจังหวะสองได้ เท่ากับว่าเป็นการดึงคู่ต่อสู้เข้ามาพร้อมกับการหันหลังเตรียมใช้ท่าพอดี หากฝึกบ่อยๆแล้วแรงเหวี่ยง + ความแรงของท่า uchimata นั้นสามารถเป็นคะแนนได้ในการแข่งขัน บางครั้งอาจจะไม่ต้องใช้ท่า sasae-tsurikomi ashi ก็ได้ จุดหลักๆของท่านี้คือ การหมุนตัว(ถอยหลังวนขวา) แล้วเปลี่ยนกลับมาใส่ท่าอุจิมาตะ

Newaza – katagatame
การใส่ท่าคือ มือล็อคที่คอคู่ต่อสู้ ระหว่างคอคู่ต่อสู้กับคอของเรานั้นจะมีแขนข้างหนึ่งของคู่ต่อสู้คั่นอยู่ตรงกลาง จุดสำคัญคือการประสานมือ(ไม่ใช่การประสานนิ้ว) คอกับแขนอยู่ต่อสู้ต้องพยายามจับให้แน่น (คู่ต่อสู้แค่หายใจก็จะลำบากแล้ว) เข่าจะต้องใส่เข้าไปบริเวณเอวคู่ต่อสู้ ส่วนขาอีกข้างยึดตรงไว้ เผื่อคู่ต่อสู้ดิ้นจะได้ไม่เสียสมดุลย์ บางครั้ง คู่ต่อสู้ดิ้นมาก อาจจะต้องไขว้ขาสลับเพื่อให้สมดุลย์ไม่เสีย

วิธีการหลบหลักๆมีอยู่3แบบ แบบแรก คือการม้วนตัวตีลังกาไปด้านหลัง ส่วนแบบที่สองคือการดันศอกข้างที่ถูกรัดอยู่กับคอไปทางคอคู่ต่อสู้ เพื่อให้หลวมหน่อยๆจากนั้นหมุนตัวเองไปทางคู่ต่อสู้จะสามารถพลิกตัวขึ้นมาได้พร้อมกับล๊อคแขนคู่ต่อสู้เอาไว้ได้ด้วย วิธีที่3คือ เริ่มจากการดันศอกเช่นกันหรือพับแขนข้างที่อยู่ติดกับตัวคู่ต่อสู้เข้าไปทางด้านล่างของคู่ต่อสู้ ส่วนมืออีกข้างเอื้อมไปจับเข็มขัดคู่ต่อสู้แล้วออกแรงพลิก แขนข้างที่อยู่ใต้ตัวคู่ต่อสู้ก็ออกแรงดันขึ้น ส่วนข้างที่จับสายคาดเอวอยู่นั้นก็ออกแรงดึง จะสามารถพลิกตัวขึ้นมาพร้อมกับล๊อคคู่ต่อสู้ได้ (ถ้าทำดีๆ หลังจากพลิกตัวแล้วจะพอดีกับการใส่ท่า kuzure kesa gatame)

ใกล้จะจบเดือนแรกของคอร์สสองแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปจนรู้สึกได้คือ เรื่องของความเหนื่อยความอึด แรกๆพอรันโดริติดกัน2ครั้งแล้วต้องพักครั้งนึง เพราะว่าแรงหมด แต่ช่วงหลังๆ สามารถรันโดริได้ครบทุกยก แบบว่าถ้ามี5ยกก็ลงทั้ง5ยก ส่วนเรื่องฝีไม้ลายมือ เพิ่มขึ้นมั้ย อันนี้วัดกันลำบาก เพราะว่าแต่ละคนก็ซ้อมเหมือนกันฝึกเหมือนกัน ถ้ามันเพิ่มขึ้นเท่าๆกันทุกคน ความต่างมันก็ยังเท่าเดิมอยู่ แต่รู้สึกว่า การวางแผนการเดินเกมจะรัดกุมขึ้น การบุกมีการเสริมแรงเพิ่มขึ้น การรับมีการโต้กลับเป็นระบบยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเขี่ยขาหรือปัดขาคู่ต่อสู้หรือว่า de ashi barai จับจังหวะได้ดีขึ้น ท่านี้เป็นการทำให้คู่ต่อสู้ล้มโดยไม่ต้องใช้แรงเลย ขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาเท่านั้นเอง อันนี้แค่เดือนแรก ยังมีอีกแปดเดือน แต่จริงๆถ้าอยากรู้ว่าพัฒนาเพิ่มขึ้นรึเปล่า ไว้ต้องลองไปซ้อมกับรุ่นพี่ชมรมที่มหาลัยดูถึงจะรู้ว่าbefore กับ after แตกต่างกันมั้ย ไม่ได้ซ้อมที่มหาลัยมาก็เดือนนึงเต็มๆแล้ว คิดถึงเด็กม.ปลาย อยากลองดูอีกครั้ง ว่าฝีมือจะก้าวหน้าขึ้นรึเปล่า

ที่โคโดกังส่วนใหญ่ การรันโดริ จะเป็นการบุกเข้าทำครึ่งนึง แล้วก็การป้องกันไปในตัวด้วยอีกครึ่งนึง เพื่อรอจังหวะสวนกลับ แต่ที่ซ้อมกับเด็กม.ปลายส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นแบบว่าเน้นบุกอย่างเดียว การบุกคงจะประมาณ70เปอร์เซนต์ ส่วนที่เหลือ30ก็เป็นการป้องกันตัวเองหลังจากบุกพลาด(ไม่มีการสวนกลับ) เพื่อกลับไปตั้งหลักแล้วบุกเข้ามาใหม่อีกครั้ง จำได้ว่าที่เคยซ้อมกับเด็กม.ปลายคนนึง พยายามเข้าทำด้วยท่า เซโอนาเกะ มากกว่า10ครั้ง เรียกได้ว่าตลอดทั้งเกมเลย แบบว่าพลาดกี่ครั้งก็ยังไม่ถอดใจจากท่านี้ พยายามเข้ามาใหม่ ชอบครับพวกใจสู้เปิดเกมบุกอย่างเดียว เล่นด้วยแล้วสนุกดี ตรงกันข้ามทางฝั่งนั้นก็คงชอบด้วยเหมือนกัน เพราะว่าการเคลื่อนไหวมันจะแปลกไม่จำเจเหมือนคู่ซ้อมที่ซ้อมด้วยกันทุกวัน ไว้ต้องหาโอกาสกลับไปซ้อมที่มหาลัยอีกครั้งให้ได้

ก่อนจบเดือนนี้ วันนี้วันสุดท้ายพรุ่งนี้มีสอบ4คิว วันนี้พอเลิกแล้วยังอยู่ศึกษาท่าแปลกๆและเทคนิคของเพื่อนแต่ละคน(2-3คน) ทั้งท่ายืนและนอน แต่แล้วอาจารย์ก็เห็นเข้าพอดีตอนใช้ท่า คานิบาซามิ กับ ท่าโซเดมือเดียว อาจารย์ไม่รอช้ารีบเดินเข้ามาเตือนทันทีว่า ตอนนี้ท่าที่สมควรจะฝึกคือท่าพื้นฐานต่างๆ ไม่ใช่ท่าจำพวกนี้ ท่าจำพวกนี้ไว้รอให้ได้สายดำก่อนแล้วค่อยมาศึกษาขยายผลยังไม่สาย ตอนนี้สิ่งสำคัญคือการทำให้พื้นฐานท่าต่างๆที่เรียนไปจากโคโดกังใช้ได้อย่างแน่นอนและแม่นยำ ถ้าพื้นฐานแน่นแล้วต่อๆไปหลังจากได้สายดำแล้วมันจะสามารถปรับเปลี่ยนแล้วขยายออกไปได้เรื่อยๆจากลูกปิงปองเป็นลูกเทนนิสเป็นลูกฟุตบอลแบบว่าแน่นทั้งนอกและใน แต่ถ้าตอนนี้พื้นฐานไม่แม่น ฝึกท่าเด้งข้ามไปข้ามมา ต่อไปพอได้สายดำแล้วจะมาแก้ไขมันยากมากเหมือนกับแอ็ปเปิ้ลที่มีหนอนเจาะเป็นรูอยู่ข้างใน คำสอนพวกนี้สมัยเด็กๆตอนอ่านการ์ตูนก็ได้เจอบ่อยๆพวกที่ฝึกแต่พื้นฐานไปเรื่อยๆแล้วหลังๆจะเก่งมากกว่า ก็จะน้อมรับมาปฏิบัติตาม (เฉพาะการซ้อมที่โคโดกัง) ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นก็จะเชื่อฟังอาจารย์ดี เห็นซ้อมกันก็ซ้อมกันเฉพาะท่าที่เรียนไปแล้วเท่านั้น ส่วนพวกท่าที่แตกแขนงออกมาก็ไม่ใช้ซ้อมกันเลย



Create Date : 30 กันยายน 2554
Last Update : 30 กันยายน 2554 9:43:35 น. 4 comments
Counter : 1135 Pageviews.

 
ได้ความรู้เรื่องยูโดมาก ๆ เลยค่ะ ตั้งใจฝึกซ้อมนะคะ ^^


โดย: a whispering star วันที่: 30 กันยายน 2554 เวลา:10:25:56 น.  

 
ขอให้ประสบความสำเร็จค่ะ


โดย: Water_1 วันที่: 30 กันยายน 2554 เวลา:12:53:43 น.  

 
ความรู้แน่นเอี๊ยดเลยค่ะ ขอให้โชคดีและประสบกับความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งมั่นนะค๊ะ...สมัยเรียนมอ. เคยไปลงเรียนกับเค๊าเหมือนกัน แต่ครูที่สอนชีกอมากๆ ออกแนวอื่นมากกว่าสอนยูโด ก็เลยเลิกตั้งแต่นั้นมาค่ะ

มีความสุขมากค่ะ


โดย: Why England วันที่: 30 กันยายน 2554 เวลา:18:05:28 น.  

 
ที่ญี่ปุ่นจะแบ่งแยกออกไปเรียนต่างหากสำหรับผู้หญิง(เรียนชั้น5)ส่วนที่บางทีโผล่มารันโดริด้วยนั้น ถ้าไม่ใช่อาจารย์(5ดั้งขึ้นไป)ก็เป็นนักกีฬาโอลิมปิค เรียกว่าไม่แน่จริงก็ไม่โผล่มา ใครเข้าไปชีกอน่าจะโดนทุ่มจนหายบ้าแน่ๆ อีกอย่างอาจารย์กับพวกคุณลุง7-8ดั้งก็อยู่กันเยอะ ใครที่กะจะมาทำอย่างอื่นคิดว่าพวกอยู่กับยูโดมา40-50ปีมองทีเดียวก็ออกแล้ว

ไม่ชอบเหมือนกันพวกเอากีฬามาบังหน้าเพื่อสนองตัณหาเรื่องอื่นของตัวเอง อย่างนี้ต้องโดนท่าอุจิมาตะแบบเต็มๆใบ


โดย: ablaze357 วันที่: 30 กันยายน 2554 เวลา:18:35:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.