Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
ยูโดกับเทคนิคการช่วงชิงจังหวะจับ (เพิ่มรูปแล้วครับ)

สรุปสิ่งที่ผมแกะได้มาจากหนังสือยูโด ภาค1

ว่างมากกับการขาหักนอนหง่าวอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อนที่ซ้อมยูโดด้วยกันกลัวว่าจะเบื่อเลยให้หนังสือมา2เล่ม เล่มแรกคือเรื่องคุมิเท หรือเทคนิคการช่วงชิงในการจับของยูโด ส่วนอีกเล่มคือชิเมะวาซะหรืดเทคนิคการล็อค การเขียนสรุปขอแบ่งเป็น2ภาค คือ
ภาค1 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุมิเทล้วนๆ
ภาค2 เรื่องเกี่ยวกับท่าล็อคของยูโดเนวาซะ (ไม่แน่อาจมีแค่ภาคเดียว555เพราะว่าท่าล็อคแปลและอธิบายยากถ้าไม่เห็นรูป)
เนื่องจากภาษาญี่ปุ่นอันอ่อนด้อยกับความรู้แค่พื้นๆในยูโดอาจจะทำให้บางตอนขาดหายไปบ้าง แปลผิดบ้าง ก็ว่ากันไปในครับ เพราะยูโดมันก็เหมือนกับศิลปะและความรู้อื่นๆที่ไม่มีทางสิ้นสุด ถือว่าเป็นทางเลือกทางนึงสำหรับคนที่เริ่มเล่นและสนใจในยูโดก็แล้วกันครับ แต่ผมว่าหนังสือเล่มนี้คนที่จะนำมาดัดแปลงใช้ได้ต้องซ้อมมาซักพักแล้วละครับหรือว่าต้องมีพลังระเบิดในการเข้าท่า(ซึ่งผมยังไม่มีจุดนี้เลยเป็นแค่ไก่ได้พลอยครับ) มันถึงจะเห็นผลครับ เพราะการได้เปรียบในการช่วงชิงจังหวะจับนำมาซึ่งแรงดึง(คุสูชิ) การจะตามด้วยการเข้าม่า(สะกูริ) และสุดท้ายคืดการทุ่ม(คาเค) อันเป็นหลักพื้นๆของยูโด(แต่ทำจริงยากฉิบหาย)

ในหนังสือเรื่องคุมิเทแบ่งออกเป็น2ส่วนใหญ่ๆ(ตัดพวกรูปแบบการจับคอจับแขนจับเข็มขัดออกไป เพราะยิ่งแปลเยอะยิ่งปวดหัว)คือ
1.การจับแบบไอโยตสึ หรือการจับแบบเดียวกันกับคู่ต่อสู้ เช่นจับคอทางด้านขวาจับแขนทางด้านซ้ายเหมือนกัน หรือว่าจับซ้ายทั้งคู่
2.การจับแบบเก็งกังโยตสึ หรือการจับแบบขัดกัน คือคนนึงจับทางด้านขวาส่วนคู่ต่อสู้จับทางด้านซ้าย ผลก็คือมือมันจะชนเกะกะทะเลาะกัน(เก็งกัง)ตอนที่เข้าจับ



เริ่มจากพื้นฐานที่หนังสืออธิบายก่อนครับ ไม่ว่าจะจับมือไหนหลักพื้นๆมาจากจุดเดียวกันครับ ขอสรุปเพียงแค่บางจุดที่ผมดูแล้ว อึมมันแปลกนะ บางคนรู้แล้วก็ขออภัย(ไม่ต้องอ่านก็ได้ครับ)

- จับทางขวา ขาขวาก้าวออกไปเล็กน้อย จับขวาแต่เสือกทะลึ่งก้าวเท้าซ้ายนำอาจจะต้องมานั่งแกะหนังสืออยู่ที่โรงพยาบาลเหมือนผมครับ (จริงๆเคสผมที่จับขวาแล้วเอาขาซ้ายนำก็เพราะจะหลอกปัดสึบาเมะไคเอชิแต่หัวเข่าขวามันไม่เล่นด้วยเลยหักครับ) ลองดูเล่นๆก็ได้ครับจับขวาแล้วเอาขาซ้ายนำสมดุลย์มันจะเสียไปเล็กน้อยครับ รู้แบบนี้แล้วใครที่เจอคู่ต่อสู้จับขวาแล้วเห็นขาซ้ายนำออกมาก็ปัดเลยนะครับ

- มือที่ยื่นไปจับที่คอนั้น หลักพื้นฐานบอกไว้ว่าให้ใช้3นิ้วในการจับคือ กลาง นาง ก้อย นิิ้วชี้ไม่เกี่ยว (อะไรฟะกูเข้าใจผิดมาโดยตลอดสิเนี่ย) หนังสือคงอธิบายเหตุผลแต่ผมขี้เกียจอ่านครับ ไปถามอาจารย์คุณๆท่านๆอาจมีคำตอบครับ แต่ถ้าเชื่อหนังสือเหมือนผมก็จับเหลือ3นิ้วคือกลางนางก้อยนะครับ

- พวกชอบจับลึกๆไปด้านหลังพึงระวัง กลับกันพวกที่เจอคู่ต่อสู้จับคอลึกไปด้านหลังให้คิดไว้ว่าหนึ่งโอกาสมาแล้วครับ อธิบายคือจับฝั่งเดียวกันนายAเจอนายBจับลึกมาที่คอด้านหลัง หลักพื้นฐานคือจับขวาก้าวขวานำ ดังนั้นBขวานำขาซ้ายอยู่หลัง ถ้าจังหวะนั้นAจิ้มขาขวาเข้าไปบริเวณหน้าขาซ้ายของนายB มันจะพอดีดึงกับพอดีจังหวะเข้าท่าอิปปงเซโอนาเกะ หรือว่า ฮาไรโกชิ ลองใช้ดูนะครับได้ผลยังไงบอกกันด้วยครับ


- ว่ากันที่ฮิกิเทหรือมือฝั่งที่จับบริเวณแขนเสื้อกันบ้างครับ สิ่งสำคัญของมือนี้คือคุมให้มั่นคง อย่าไปเล่นหรือขยับเยอะไป เพราะยิ่งขยับมันยิ่งหลวมทำให้เกิดข้อเสียเปรียบ
จับปลายๆแขนเสื้อคู่ต่อสู้(แต่ไม่ถึงกับจุดโดนเตือน) ข้อดีคือหมุนเข้าท่าได้เร็วแต่ข้อเสียคือแรงดึงน้อย (ยกตัวอย่างท่าเซโอนาเกะ) กลับกันจับลึกๆเกือนแถวรักแร้ ข้อดีคือถ้าเจอคู่ต่อสู้ที่บ้าจี้สมาธิมันอาจกระเจิง เฮ้ย..ไม่ใช่ครับ ข้อเสียคือดึงมาเข้าท่าช้าและยากแต่ทนแทนกันด้วยแรงดึงมาทำให้คู่ต่อสู้เสียหลัก


เข้าสู่ส่วนของไอโยตสึหรือการจับด้วยมือขวาเหมือนกันหรือว่าซ้ายเหมือนกัน เพื่อไม่งงจะอธิบายโดยใช้การจับขวาเป็นหลักครับ

พื้นฐาน1
ในระหว่างการเข้าจับ ให้ตัวตรงย่อเข่าเล็กน้อย อย่าโค้งตัวช่วงบนลักษณะหลังค่อมเข้าไปจับคู่ต่อสู้นะครับเพราะจะถูกดึงเสียสมดุลย์ง่าย รู้แบบนี้แล้วเจอพวกเด็กใหม่หัดเล่นก็ล่อให้มันโค้งตัวช่วงบนออกมาในระหว่างช่วงชิงจังหวะจับกันก็น่าสนุกครับ
อย่าลืมเรื่องที่เขียนก่อนหน้านี้นะครับ คือจับขวาขาขวานำนะครับ


พื้นฐาน2
ที่บอกก่อนหน้า ฮิกิเทหรือมือฝั่งที่จับแขนเสื้อคู่ต่อสู้พื้นฐานคือความมั่นคง จับได้จุดแล้วอย่าเล่นบ่อยจนมั่นไม่มั่นคง ตรงกันข้ามเล่นให้หนักเลยครับที่จะทำให้ฮิกิเทของฝั่งตรงข้ามไม่มั่นคง ทำยังไงเหรอครับ หลับตานึกภาพสิครับ มือขวาเราจับคอ มือซ้ายคู่ต่่อสู้ก็จะมาจับแขนขวาของเรา เราก็สะบัดไปมาให้จับลำบาก(มีโอกาสก็เข้าท่าได้ด้วย) เทคนิคที่หนังสือแนะนำคือจับคอได้แล้วเรายกแขนขวาขึ้น คู่ต่อสู้แน่นอนว่าต้องยกสูงตามมาจับแขนขวาเรา ฮิกิเทคือความมั่นคงพอมันยกสูงมันก็ไม่มั่นคง ทำให้เราได้จังหวะในการทำลายสมดุลย์ หรือคุสูชินั้นเอง จังหวะแรกที่ยกเค้าไม่เสียสมดุลย์ก็ตามจังหวะต่อมาที่เราเอามือต่ำลงมันก็มีจุดโอกาสอีก1ครั้งครับ แต่....ยกสูงไปซวยนะครับเพราะเราจะเสียสมดุลย์เอง

อีกอย่างพื้นแต่จริง ถ้าเราเดินยื่นมือตรงๆเข้าไปหมายจับคอเสื้อคู่ต่อสู้ อีกความหมายนึงก็คือเรายื่นมือเข้าไปให้คู่ต่อสู้จับง่ายๆเหมือนกัน ระวังด้วยครับถ้าคู่ต่อสู้จับคอเสื้อเราได้ก่อนแล้ว ยื่นมือตรงๆเข้าไปจะจับคอเสื้อเค้าก็เตรียมตบเบาะเถอะครับ

พื้นฐาน3
แขนข้างที่เข้าไปจับที่คอหรือที่เรียกว่าทรึริเท (แปลเป็นไทยคือมือตกปลา) ที่บอกว่าใช้3นิ้วในการจับอะครับ จุดที่จับสูงไปก็ไม่ดี ต่ำไปก็ไม่ได้ รู้แบบนี้แล้วเราต้องขย่มให้แขนคู่ต่อสู้ที่จับได้พอดีจุดนั้นเสียหายไปจากจุดที่พอดี(คือทำให้มือเค้าเลื่อนลงมาเล็กน้อย) เข้าท่าได้อานุภาพการทุ่มก็เสียหายไปเยอะครับ น่าสนุกมาลองดูกันเลยครับ อาศัยหลักพื้นฐานข้อ2ครับแต่เคลื่อนไหวแขนทั้ง2ข้างของเราให้มันขนานกัน คือมือขวาทรึริเทของเรานั้นยกศอกขึ้น(ตามพื้นฐาน2)ส่วนมือซ้ายฮิกิเทก็ให้กดลง มือข้างที่เรายกขึ้นจะทำให้คอเสื้อเราหลวมเล็กน้อยส่วนแขนข้างซ้ายที่เรากดลงมือคู่ต่อสู้มันจับที่คอเสื้อเราอยู่แล้ว พอกดลงเค้าก็จะดึงคอเสื้อเราลงมาเองทำให้คู่ต่อสู้เสียจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญตรงคอเสื้อของเราไป ก็ตรงตามหลักยูโดคือใช้แรงคู่ต่อสู้ให้เป็นประโยชน์นั้นเอง

พื้นฐาน4
การแก้ทางการดิ้นให้หลุดอาศัยหลักง่ายๆครับ คือ1แขนของเราเท่ากับ1แขนของคู่ต่อสู้ ดิ้นหลุดได้ก็คือใช้แรงเข้าสู้อันนี้ไม่ได้ใช้หลักยูโดเลย แต่หลักยูโดคือการเอาแรงคู่ต่อสู้มาช่วยให้เป็นประโยชน์กับเรา (ทำง่ายๆทุกคนก็เหรียญทองโอลิมปิคละครับ) หรือใช้วิธีรุมก็ดีครับ เช่นคู่ต่อสู้1แขน เราก็ใช้2แขน หรือว่า1แขนแต่เราเพิ่มการบิดตัวการเอียงหลังช่วย วิธีนี้ถ้าฝึกซักหน่อยจะชำนาญครับ หรืออีก1ตัวอย่าง คู่ต่อสู้ใช้ข้อมือแต่เราใช้ทั้งแขน หรือว่า1แขนเจอกับ1เอว ส่วนใหญ่แล้วท่อนไหนของร่างกายที่มันใหญ่กว่าหนักกว่าก็ชนะครับ อันนี้ไม่เฉพาะเทคนิคการช่วงชิงจังหวะจับเท่านั้นแต่เนวาซะก็ใช้หลักการพื้นฐานอันนี้เหมือนกันครับ


หลักประยุกต์หนังสืออธิบายไว้17แบบ แบ่งเป็น3กลุ่มใหญ่ๆคือทำลายจังหวะทรึริเทของคู่ต่อสู้, ทำลายจังหวะฮิกิเทของคู่ต่อสู้, และพวกของแปลกๆใช้ไม่ดีมีถูกกรรมการเตือนครับ

ประยุกต์ใช้1 ทำลายทรึริเทของคู่ต่อสู้
พื้นสุดง่ายสุด จังหวะที่เราจับแล้วรู้สึกว่าด้อยกว่าการจับของคู่ต่อสู้หรือต้องการทำให้จังหวะคู่ต่อสู้ด้อยลงนั้นด้วยการทำลายทรึริเท ให้เอามือขวาของเรามากดที่ข้อมือขวาของคู่ต่อสู้ในขณะเดียวกันระหว่างกดลง หลังของเราถอยเล็กน้อย(เน้น อย่าถอยเยอะนะครับมันล่อแหลมเดี๋ยวโดนพวกโคกับโอเกี่ยวเอาครับ) มือขวากดมือซ้าย(ฮิกิเท)ของเราที่จับอยู่ตรงแขนคู่ต่อสู้ก็ช่วยดึงลงด้วย สามรุม1(มือ2ข้างกับการถอยหลัง) ยังไงทรึริเทก็ต้องโดนทำลายครับ สำคัญสุดคือต่อจากนี้ครับ ทำลายจังหวะเค้าได้แล้วเราต้องช่วงชิงจังหวะจับเข้าไปให้เร็ว สมดุลย์ และสร้างความได้เปรียบครับ


ประยุกต์ใช้2 คล้ายกับข้อ1ทำลายทรึริเทด้วยการเอามือขวามาเล่นงานข้อมือทรึริเท แต่คราวนี้ไม่กดลง ให้ปัดออกไปด้านข้างแทน (ปัดมือขวาคู่ต่อสู้ออกไปทางด้านซ้ายของเรา) จากถอยหลังก็เป็นเบี่ยงตัวออกขวาเล็กน้อยมือขวาปัดข้อมือมือซ้ายที่อยู่แขนเสื้อคู่ต่อสู้ก็ดึงช่บยด้วย สุดท้ายเหมือนกันคือช่วงชิงการจับให้มันได้เปรียบ อันนี้คือจุดประสงค์หลักเลยครับ (ไม่งั้นจะทำไปเพื่ออะไร)


ประยุกต์ใช้3 เจอกับคู่ต่อสู้ที่แขนลอยสูงมาเลยหมายจะจับคอเสื้อลึกหรือจับไปบริเวณด้านหลัง ให้เอา2มือจัดการเลยครับ ซ้ายขวาช่วยกันรวบมือขวาที่หมายคว้าคอเราเอาไว้ แล้วปัดเป็นวงกลมไปทางซ้ายล่าง ระหว่างรวบและหมุนมือซ้ายเราทำงานฮิกิเทด้วยนะครับคือเลือกจับบริเวณแขนเสื้อคู่ต่อสู้ให้ได้และไวด้วยครับ หลังจากปัดออกไปแล้วมือขวาเราก็พุ่งจับคอเสื้อต่อเลย แต่จะใช้ได้ไม่ใช่ทื่อๆนะครับปกติมันต้องเคลื่อนไหวกันไปด้วย ไม่ฝึกคงใช้ลำบากครับ


ประยุกต์ใช้4 ปัดฮิกิเทของคู่ต่อสู้ไปพร้อมๆกับชิงจังหวะจับทรึริเท คล้ายกับการประยุกต์ข้อ3(ข้อ3ใช้2มือในการจับปัดมือขวาคู่ต่อสู้)แต่คราวนี้ใช้มือซ้ายมือเดียวปัดแขนขวาคู่ต่อสู้ที่ลอยสูงมาหมายคว้าคอเสื้อด้านหลัง ระหว่างที่มือซ้ายปัดนั้น ให้มือซ้ายคว้าจับบริเวณช่วงต้นแขนขวาหรือช่วงไหล่ขวาของคู่ต่อสู้ ขณะเดียวกันมือขวาเราก็จับเข้าที่คอเสื้อคู่ต่อสู้ ได้2มือแล้วจับกดลง คู่ต่อสู้จะเสียสมดุลย์ตามพื้นฐานการจับที่ว่า การเข้าจับห้ามก้มตัวโค้งเข้าจับโดยใช้เฉพาะส่วนบนของร่างกาย ข้อ4นี้ส่วนใหญ่ใช้ได้ดีกับคู่ต่อสู้ที่ตัวสูงกว่า


ประยุกต์ใช้5 ทำลายฮิกิเทของคู่ต่อสู้ในขณะที่เราจับได้ช้ากว่าคู่ต่อสู้หรือจังหวะจับกำลังเสียเปรียบ ในขณะที่แขนขวาเราโดนคู่ต่อสู้จับอยู่บริเวณแขนเสื้อ ให้ยกมือขวามาไว้ข้างหัว พร้อมกับบิดเอียงไปทางหลังขวาเล็กน้อย ก็จะทำให้ฮิกิเทของคู่ต่อสู้หลุดออก


ประยุกต์ใช้6 เหมือน5แต่ใช้5แล้วมันไม่หลุด ก็ต้องรุมกันหน่อยครับ คือยกมือมาไว้ข้างหูแล้ว(ท่าตั้งศอก)แต่มันยังไม่หลุด ก็ให้เอามือซ้ายของเราอ้อมมาด้านล่าง มาช่วยจับแขนเสื้อซ้ายของคู่ต่อสู้พร้อมกับการดึงลง (เพิ่มมาแค่เอามือซ้ายมาช่วยดึงแหละครับ ที่เหลือเหมือนข้อ5คืดการบิดตัวช่วยนิดหน่อย) หลุดแล้วก็เหมือนเดิมคือรีบกลับไปชิงจับให้มันได้เปรียบ


ประยุกต์ใช้7 หมุนแขนขวาลงเพื่อทำลายฮิกิเทของคู่ต่อสู้ การหมุนคือหมุนลงทวนเข็มนาฬิกาครบรอบแล้วไปทำหน้าที่ทรึริเทคือจับบริเวณคอเสื้อคู่ต่อสู้ ระหว่างหมุนแรงบิดกับองศามือของทั้ง2คนทำให้คู่ต่อสู้ปล่อยแขนเสื้อเราครับ แต่ยังไม่ดีพอ สมควรที่จะอาศัยหลักการก้าวเท้าหรือไทซาบากิ ง่ายสุด ระหว่างหมุนก็ถอยเท้าซ้ายลงไปเล็กน้อย ระหว่างถอยมือขวาของคู่ต่อสู้ที่อยู่คอเสื้อซ้ายเรานั้นจะบังคับให้สมดุลย์คู่ต่อสู้ตามเราเข้ามาหน่อยนึง (คุสูชิ) พอมือขวาคว้าคอเค้าได้ครบแล้วก็ใส่เลยครับ


ประยุกต์ใช้8 เหมือน7ทุกอย่างต่างกันที่การหมุนเปลี่ยนเป็นหมุนขึ้นบนตามเข็มนาฬิกา เพราะคู่ต่อสู้แต่ละคนไม่เหมือนกันบางทีหมุนซ้ายอาจไม่หลุดก็ลองหมุนขวาดูบ้างครับ อย่าลืมสิ่งสำคัญกว่าการหมุนคือการใช้ไทซาบากิ(ถอยขาซ้ายลงไปเล็กน้อยเหมือน7) ในการสร้างคุสูชิระหว่างหมุนมือไปจับที่คอ เพื่อที่จะนำไปสู่การเข้าท่าครับ


ประยุกต์ใช้9 ใช้เข่าด้านหลังช่วยในการทำลายฮิกิเทของคู่ต่อสู้ คือวนแขนขวาลงล่างทวนเข็มนาฬิกา แล้วยกเข่าขวาขึ้นเอาเข่าด้านหลังหนีบแขนขวาเราไว้เพื่อออกแรงช่วยกดดึงลง ฝึกให้ชำนาญก่อนใช้จริงนะครับเพราะจังหวะเงอะงะยกเข่าขึ้น เราเหลือขาซ้ายข้างเดียวไว้ยืนนะครับ จังหวะนั้นโดนเกี่ยวเข้ามาก็ตัวใครตัวมันนะครับ อีกอย่างห้างเอาเข่าไปกระแทกส่วนใดส่วนหนึ่งของคู่ต่อสู้นะครับมันผิดกติกา ดังนั้นจะใช้ข้อนี้ระวังด้วยครับ


ประยุกต์ใช้10 ทำลายจังหวะฮิกิเทคู่ต่อสู้ด้วยการเขย่าขย่มแขนขวาของเรา วิธีนี้น่าจะใช้กันบ่อยบางคนใช้โดยไม่ตั้งใจก็มี แต่ถ้าหัดสบัดให้ชำนาญจะช่วยได้มากครับ คือบางครั้งเราอาจจะรู้สึกแขนซ้ายคู่ต่อสู้เกะกะหรืออยากหาจังหวะเข้าท่า วิธีง่ายๆคือการสบัดช่วงข้อศอกขวาของเรา2-3ครั้ง ถ้ามือซ้ายคู่ต่อสู้จับไม่ดีก็มีหลุดได้ แต่ถ้ามือคู่ต่อสู้คุมได้ดี อย่างน้อยก็ช่วยกดดันและทำให้คู่ต่อสู้พะวงอยู่กับจุดนี้ แล้วก็ค่อยใช้วิธีอื่นก็ว่ากันไป


ประยุกต์ใช้11 เอาคอหมุนลงอ้อมแขนทรึริเทคู่ต่อสู้ อันนี้ผมใช้บ่อยแต่ควรเล่นกันคนที่เล่นยูโดเป็นนะครับ บางคนมือใหม่เห็นเราอ้อมออกมามันใส่ท่ามั่วเลยครับเดี๋ยวคอหักได้ครับ (กรณีนี้ถือว่าฆ่าคนโดยเจตนารึเปล่าครับ) มีจุดนึงคือคู่ต่อสู้ถูกเราอ้อมและบังคับให้จับลักษณะนี้ได้ไม่เกิน6วินาทีหลังจากนั้นไม่ปล่อยถูกเตือน ระหว่างที่หมุนคอลงอ้อมไปแล้วมือซ้ายฮิกิเทมือขวาทรึริเทของเราอย่าปล่อยนะครับ รอจังหวะฟลุ๊คใส่โซเดทรึริโกมิโกชิครับ (ฝึกท่านี้กันสักหน่อยครับ ไม่งั้นตอนหมุนเข้าท่ามันหมุนช้าแล้วจะใช้ไม่ออก เพราะจังหวะหมุนมันต้องหมุนเยอะและหมุนตรงข้ามกับท่าอื่นสำหรับคนจับขวาครับ)


ประยุกต์ใช้12 ใช้ขาขวา แขนซ้าย และเบี่ยงตัวไปด้านหลัง(ลำตัวท่อนบน)ในการทำลายทรึริเทของคู่ต่อสู้ เทคนิคนี้มันเริ่มเทพแล้วครับ เพราะว่าต้องใช้การประสานงานหลายส่วนครับ เริ่มจากการขยับเท้าขวาเข้าไปหาคู่ต่อสู้เล็กน้อยทำให้สามารถดันคู่ต่อสู้ถอยหลังไปหน่อยนึง(แล้วแต่ว่าเค้าจะถอยไป1ช่วงขาหรือถอยไปแบบไม่ขยับขาเพียงแค่ขยับตัวเสียสมดุลย์ช่วงบนก็ได้ครับ แต่ปกติแล้วคนเราถ้าถูกดันเพื่อไม่ให้เสียศูนย์มันสืบขาถอยไป) จังหวะนั้นเราเบี่ยงตัวช่วงบนไปด้านหลังหน่อยนึงพร้อมกับเหยียดแขนซ้ายออกแรงดันออกทรึริเทคู่ต่อสู้ออกไป ถ้าเป็นผมพอหลุดแล้วผมจะขยับตามเข้าไปใช้โคอุจิการิที่เป็นของถนัดครับ


ประยุกต์ใช้13 จับดึงและสบัดให้หลุดแบบแปลกๆ ที่ว่าแปลกเพราะว่าเริ่มต้นจากการจับที่แปลกคือมือซ้ายฮิกิเทของเรานั้นจับแขนเสื้อทางด้านในใกล้กับไหล่ขวาคู่ต่อสู้(ได้แค่6วินาทีนะคร้าบ) มือขวาทรึริเทที่จับอยู่คอเสื้อดึงคู่ต่อสู้เข้ามา พร้อมกับถอยเท้าซ้ายลงไปเล็กน้อย จากนั้นเหมือนกับทำการเหวี่ยงสะบัดแขนซ้ายเราออกไป แรง1แขนทรึริเทคู่ต่อสู้เจอกับการดึงของแขนขวาการบิดตัวถอยหลังการเหวี่ยงแขนซ้าย 3รุม1ผมว่ามันน่าจะหลุดครับ


ประยุกต์ใช้14 ทำลายทรึริเทด้วยหลักการหมุนแบบเดียวกับข้อ7 ข้อ7หมุนทวนเข็มนาฬิกาเพื่อทำลายฮิกิเทของคู่ต่อสู้แต่อันนี้มาใช้กับฝั่งทรึริเทของคู่ต่อสู้ หลักเดียวกันใช้มือซ้ายหมุนวงในทวนเข็มนาฬิกา จบตรงที่เอาแขนซ้ายหนีบแขนขวาคู่ต่อสู้ไว้ หนังสือเตือนให้ระวังไว้เพราะเราทำลายทรึริเทได้ก็จริงแต่ว่าแขนคู่ต่อสู้ยังไม่ตายแถมมาอยู่ในจังหวะที่บางครั้งสามารถยกตัวเราได้อีกต่างหาก ดังนั้นใช้แล้วมือซ้ายฮิกิเทเราต้องรีบกลับไปคุมแขนขวาของคู่ต่อสู้ให้อยู่ครับอย่ามัวแต่หนีบเพลิน


ประยุกต์ใช้15 ทำลายทรึริเทของคู่ต่อสู้โดยใช้มือขวาเข้าช่วย การจับเริ่มต้นอยู่ในลักษณะข้อ13 คือมือขวาจับคอเสื้อส่วนมือซ้ายจับแขนเสื้อด้านในบริเวณระหว่างหน้าอกกับไหล่ของคู่ต่อสู้ เริ่มจากสะบัดแขนขวาของเราให้เป็นอิสระพร้อมกับถอยขาขวาลงไป (ตอนนี้ขาซ้ายอยู่หน้าก็จริง แต่มือที่เราใช้จับอยู่มีแค่มือซ้ายไม่ถือว่าผิดหลักสมดุลย์ขั้นพื้นฐานที่อธิบายในตอนต้น) ถัดจากนี้เอามือขวาจับคอเสื้อด้านซ้ายของเรา ดึงพร้อมกับเบี่ยงตัวก็จะหลุดจาดทรึริเทคู่ต่อสู้ หลุดแล้วได้เปรียบให้รีบตามไปจับคอเสื้อต่อเลยครับ ตอนกลับมาจับคอเสื้อคู่ต่อสู้อย่าลืมเอาขาขวากลับมานำด้วยละครับ ใช้ข้อนี้ต้องเร็วหน่อยครับเพราะว่ามือเราจับอยู่ในลักษณะที่กติกาให้จับได้แค่6วินาทีเท่านั้นครับ


ประยุกต์ใช้16 ก่อนถูกจับแบบปกติชิงจับสายคาดด้านหลังคู่ต่อสู้ก่อน จังหวะที่คู่ต่อสู้ยื่นมือขวาเข้ามาเพื่อจะจับคอเสื้อเรานั้น ให้ใช้มือซ้ายจับแขนเสื้อ จับได้แล้วให้ปัดลงไปทางขวาล่าง (ตั้งแต่แรกขาขวานำหน้าตลอดครับ) ตอนนี้คู่ต่อสู้ถูกดึงให้ก้มต่ำลงมา เราก็เอามือขวาข้ามไปจับสายคาดเอวด้านหลังของคู่ต่อสู้ ถ้าจับได้ก็ใส่ท่าง่ายครับ เช่นโอโกชิ ฮาไรโกชิ โอโซโตการิ ฮิกิไคเอชิ แต่....จังหวะที่อ้อมไปจับสายรัดนั้นระวังแขนคู่ต่อสู้รวบเข่า2ข้างพร้อมกับกระแทกไหล่เข้ามา ล้มแบบเจ็บก้นเลยนะครับ


ประยุกต์ใช้17 รวบสายรัดด้านหลังเหมือน16แต่เริ่มต้นใช้2มือช่วย แบบที่16คือใช้มือซ้ายดึงมือขวาคู่ต่อสู้ส่วนมือขวาเรารอที่จะจับสายรัดโดยไม่ทำอะไร แต่แบบที่17มือขวาเข้ามาช่วยด้วยคือเอามือขวาจับไปที่คอเสื้อด้านขวาของคู่ต่อสู้ในขณะที่มือซ้ายก็จับแขนเสื้อขวาคู่ต่อสู้ดึงลง (จับทางด้านเดียวกัน2มือก็ได้6วินาทีเช่นเดียวกันครับ) ดึงลงแล้วที่เหลือเหมือน16เลยครับทั้งจุดที่ต้องระวังก็เหมือนกันครับ


เทคนิครองรับ1 คู่ต่อสู้ใช้ประยุกต์ข้อที่1หวังทำลายทรึริเท ให้ทำพร้อมกันคือ งอข้อศอกขวาเผื่อผ่อนแรงกดของคู่ต่อสู้ มือซ้ายฮิกิเทก็ดึงคู่ต่อสู้เข้ามาใกล้กว่าเดิม(เราอาจจะเขยิบตัวเข้าใกล้คู่ต่อสู้อีกหน่อยก็ได้) จังหวะที่คู่ต่อสู้ใช้มือขวากดข้อมือขวาพร้อมกับใช้มือซ้ายของเค้าดึงมือขวาของเราให้ลงไปนั้น น้ำหนักคู่ต่อสู้เอียงไปทางซ้ายโดยตัวของมันเองแล้ว ที่เหลือมือซ้ายของเราก็แค่เปลี่ยนจากดึงเป็นยกขึ้นพร้อมกับขยับขาเข้าใส่โคโซโตการิไปที่ขาซ้ายคู่ต่อสู้


เทคนิครองรับ2 คู่ต่อสู้ใช้ประยุกต์ข้อ2เป็นการดันข้อมือขวาเราไปด้านข้างเพื่อทำลายทรึริเทของเรา จุดสำคัญอยู่ที่มือซ้ายของเรา ช่วงที่คู่ต่อสู้ขยับมือขวามาดันข้อมือขวาของเรานั้น มือซ้านฮิกิเทของเราอย่าปล่อยหรือหลุดนะครับ ในเมื่อเค้าอยากดันมือขวาของเราก็ให้เค้าดันออกไป ก็ให้ถอนมือออกมาชักศอกเบี่ยงตัวตามประยุกต์ข้อ5 สุดท้ายคือมือหลุดออกจากกันหมดยกเว้นฮิกิเทของเราที่ไม่ได้ปล่อยจับอยู่จุดเดิมตั้งแต่แรกสุด ต่อจากนี้ก็ดึงฮิกิเทไปทางซ้ายควบคุมคู่ต่อสู้กลับมาเพื่อเอามือขวาเข้าไปจับคอเสื้อคู่ต่อสู้ต่อไป


เทคนิครองรับ3 คู่ต่อสู้ใช้เทคนิคกดข้อมือหรือข้อศอกในการทำลายทรึริเทของเรา สามารถสวนกลับด้วยโออุจิการิ เริ่มจากคู่ต่อสู้ใช้ประยุกต์ข้อที่1 จังหวะที่คู่ต่อสู้กดแขนเราลงบริเวณข้อมือขวาหรือข้อศอกของเรา แขนซ้ายฮิกิเทของเราออกแรงดันให้มือขวาคู่ต่อสู้พลาดและเลยข้ามแขนขวาของเราออกไป จากนั้นขยับตัวตามเข้าไปจะอยู่ในลักษณะไหล่ขวาของเราอยู่ใต้รักแร้ขวาของคู่ต่อสู้ ถัดจากนั้นเอามือซ้ายยกขาขวาคู่ต่อสู้ขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้ขาขวาใส่โออุจิการิไปที่ขาซ้ายคู่ต่อสู้ จุดสำคัญที่ควบคุมทั้งหมดมาตั้งแต่ต้นคือมือทรึริเทของเราที่คอยดึงคอยกดให้ท่าโออุจิการิออกผล


เทคนิครองรับ4 ยังอยู่ในรูปแบบการป้องกันและสวนกลับในการปัดมาที่ทรึริเทของเรา คราวนี้สวนกลับตามน้ำด้วยโซเดทรึริโกมิโกชิ คู่ต่อสู้ใช้ประยุกต์ข้อ1หรือข้อ2เข้ามา สำหรับการสวนกลับในท่านี้เราต้องจับดีจับแน่นทั้งฮิกิเทและทรึริเท บวกกับการหมุนตัวอีก225องศา (180องศาหลังเราจะตรงกับหลังคู่ต่อสู้ ซึ่งไม่เพียงพอกับการใส่ท่านี้ เพราะคู่ต่อสู้จะยังเหลือช่องว่างให้เหวี่ยงตัวหลบออกไปได้ ให้เพิ่มองศาเข้าไปอีก45องศาตัวเราจะเฉียงขวางเกะกะตัวคู่ต่อสู้ทำให้ทุ่มง่าย) ชื่อตามท่าเลย จุดสำคัญ2จุดคือมือฮิกิเทซ้ายของเราต้องควบคุมโซเด(แขนเสื้อ)ขวาของคู่ต่อสู้ให้ดี อีกจุดนึงคือทรึริเทที่จับคอเสืิ้อคู่ต่อสู้ ตรงนี้แหละจะเป็นตัวดึงสำคัญในการเพิ่มแรงดึงแรงเหวี่ยง สุดท้ายสำคัญสุดคือการปล่อยมือขวาของคู่ต่อสู้ในจังหวะสุดท้ายเพื่อให้คู่ต่อสู้สามารถลงตบเบาะได้แบบไม่เจ็บตัว (ท่านี้ถ้าจะใช้จริงฝึกให้ชำนาญก่อนและอย่าไปใช้กับคนที่เล่นมาไม่นานนะครับ เพราะเค้าอาจจะลงมั่วเอามือยันพื้นข้อมือข้อศอกฉีกเอาง่ายๆครับ มาพูดแค่เสียใจทีหลังก็ไม่ช่วยให้อะไรมันดีขึ้นนะครับ)


เทคนิครองรับ5 เอาประยุกต์8มาใช้แล้วจังหวะสุดท้ายใส่อิปปงเซโอนาเกะ เริ่มจากการหมุนขึ้นบนตามเข็มนาฬิกา พร้อมๆกับการถอยเท้าซ้ายลงไป จังหวะที่มือเราหมุนครบรอบแล้วให้ตามน้ำใส่อิปปงเซโอนาเกะเลย ไม่ต้องสนใจแขนคู่ต่อสู้ว่าเรารวบได้กี่แขน ถ้ารวบได้2แขนก็ทุ่มมันในท่าอิปปงแบบ2แขนนั้นละครับ สิ่งสำคัญคือการสร้างคุสูชิที่มาจากการขยับขาข้างซ้ายของเราถอยลงมา(ไทซาบากิ) 


เทคนิครองรับ6 ยกทรึริเทขึ้นสูงพร้อมกับการถอยเท้าซ้ายลงมา จากนั้นเข้าท่าฮาไรมากิโกมิ เริ่มต้นในจังหวะที่เราจับได้แค่ฮิกิเทในขณะที่คู่ต่อสู้ได้เปรียบเพราะจับเราได้ทั้ง2แขนแล้ว เทคนิคการขยับขาเหมือนกับเทคนิครองรับในข้อ5 คือสร้างคุสูชิด้วยไทซาบากิโดยการขยับขาซ้ายลงไปต่อจากนั้นให้เอาแขนขวาที่เรายกสูงเพื่อสบัดฮิกิเทของคู่ต่อสู้ ลงมาหนีบแขนขวาคู่ต่อสู้ พร้อมทั้งกดน้ำหนักลงขณะเดียวกันขาก็ตวัดในท่าฮาไร เป็นฮาไรมากิโกมิ ในบางครั้งคนที่ไม่ใช้มากิโกมิ(เหมือนที่โคโดกังถ้าไม่สายดำอาจารย์ไม่อยากให้ใช้มากิโกมิเพราะว่ามันง่ายไปและอันตรายกับคู่ซ้อม) อาจเปลี่ยนเป็นอิปปงเซโอนาเกะก็ได้ แต่ต้องเร็วหน่อยในครับในการใส่มือเข้าไป


เทคนิครองรับ7 เริ่มต้นกับการที่เราจับได้1ข้างคือฮิกิเท แต่เป็นการจับบริเวณรักแร้ขวาของคู่ต่อสู้ ส่วนคู่ต่่อสู้ก็จับคอเสื้อซ้ายของเราได้เช่นกัน ให้เอามือขวาปัดไปบริเวณข้อมือขวาคู่ต่อสู้ที่จับอยู่ตรงคอเสื้อด้านซ้ายของเรา พร้อมๆกับการใช้มือซ้ายช่วยโยกให้ทรึริเทของคู่ต่อสู้หลุดออก ถ้าคู่ต่อสู้คลายมือขวาแล้วให้เริ่มใส่ท่าทันที หนังสือยกตัวอย่างมาให้3ท่าคือ อิปปงเซโอนาเกะ ท่าฮาไรมากิโกมิ และท่าโซตโตมากิโกมิ



จบไปแล้วสำหรับการจับแบบไอโยตสึ เหลืออีกครึ่งนึงคือการช่วงชิงจังหวะจับแบบเก็งกังโยตสึ ต่อกันเลยดีกว่าครับ

เพื่อให้เข้าใจตรงกันต่อจากนี้จะอธิบายโดยที่เราเข้าจับโดยมือขวา ส่วนคู่ต่อสู้เข้าจับทางมือซ้าย แขนทรึริเทของทั้งคู่จะขัดกันที่ฝั่งเดียวกัน จึงเป็นที่มาของคำว่าทะเลาะกัน (เก็งกัง) 

พื้นฐาน1
มือข้างที่จับแขนเสื้อไขว้กันนั้นมีอยู่2แบบคือแบบที่แขนเราอยู่ด้านใน-แขนคู่ต่อสู้อยู่ด้านนอก(หนังสือเรียกว่า จับจากด้านล่าง) กับอีกแบบคือแขนของเราอยู่ด้านนอก-แขนคู่ต่อสู้อยู่ด้านใน(หนังสือเรียกว่า จับจากด้านบน) ทั้ง2แบบมีลูกเล่นได้เปรียบเสียเปรียบพอๆกันขึ้นอยู่กับวิธีใช้ แต่สำหรับคนเพิ่งเริ่มเล่นผมว่าจับทางด้านในจะง่ายกว่าในการเข้าท่า
ทีนี้มาดูหลักง่ายๆพื้นฐาน3ข้อที่ทำให้เราได้เปรียบในการจับ
- ใบหน้าของเราหันไปทางด้านฮิกิเทของคู่ต่อสู้ถือว่าได้เปรียบ
- ขานำของเรา (ผมจับขวาก็หมายถึงขาขวา) อยู่ตรงบริเวณจุดกึ่งกลางระหว่างขาทั้งสองข้างของคู่ต่อสู้ถือว่าได้เปรียบ
- ฮิกิเทของเราอยู่ทางด้านนอกถือว่าได้เปรียบ
อาจารย์ท่านนึงเคยสอนผมว่าเจอกับเก็งกังโยตสึ กุญแจสำคัญคือฮิกิเท ต้องจับให้มั่นและคุมให้อยู่


พื้นฐาน2
การที่ทรึริเทเราจับอยู่ด้านในหรือที่หนังสืออธิบายว่าเป็นการจับด้านล่างนั้น เราสามารถทำให้ทรึริเทของคู่ต่อสู้ไม่ว่างหรือหลุดออกด้วยการยกช่วงศอกขวาของเราขึ้นๆลงๆเป็นการดันทรึริเทของคู่ต่อสู้ให้คลายหรือหลุดออกจากจุดสำคัญ


พื้นฐาน3
การที่ทรึริเทเราจับอยู่ด้านนอกหรือที่หนังสืออธิบายว่าเป็นการจับด้านบนนั้น เราสามารถทำให้ทรึริเทของคู่ต่อสู้ไม่ว่างหรือหลุดออกด้วยการยกกดช่วงศอกขวาของเราทับแขนคู่ต่อสู้หรือ ใช้การเบี่ยงตัวออกข้างเป็นการดันทรึริเทของคู่ต่อสู้ให้คลายหรือหลุดออกจากจุดสำคัญ


พื้นฐาน4
ในกรณีที่อยู่ด้านในหรือด้านล่าง แล้วต้องการเปลี่ยนไปอยู่ด้านนอกหรือด้านบน ให้ทำการถอยขาซ้ายของเราเบี่ยงไปทางหลังขวา พร้อมกับใช้มือซ้ายจับไปที่คอเสื้อด้านขวาของคู่ต่อสู้ (ฝั่งเดียวกับที่ทรึริเทของเราจับอยู่) อย่าปล่อยมือขวาจากคอเสื้อจนกว่ามือซ้ายเราจะจับคอเสื้อได้มั่นคงแล้วจึงค่อยปล่อยมือขวาสลับมาจับทางด้านนอก

สำหรับการที่อยู่ด้านนอกหรือด้านบน แล้วต้องการเปลี่ยนไปอยู่ด้านในหรือด้านล่าง ก็ให้ใช้วิธีเดียวกันครับ


พื้นฐาน5
ในกรณีที่ทรึริเทของเราอยู่ด้านนอก แล้วต้องการทำลายจุดที่ทริริเทจับตรงบริเวณคอเสื้อ ให้เราเอาข้อศอกขวากดทรึริเทของคู่ต่อสู้ส่วนมือซ้ายของเรานั้น ขยับคอเสื้อทางฝั่งซ้ายขึ้น ทรึริเทของคู่ต่อสู้จะเป็นตัวช่วยกดทำให้เลื่อนออกจากจุดที่พอดีในการเข้าท่า ไม่เพียงเท่านั้น จังหวะที่ทรึริเทของคู่ต่อสู้เลื่อนลง บางครั้งลำตัวด้านบนก็โค้งตาม ผิดหลักพื้นฐานความสมดุลย์ทั่วไป


พื้นฐาน6
จับทางด้านนอกแล้วคู่ต่อสู้ออกแรงใช้ทรึริเทดึงเราเข้าไปหานั้น แก้เกมด้วยการกดข้อศอกของทรึริเทของเราลงพร้อมกับใช้มือซ้ายของเราช่วยดึงคอเสื้อด้านขวาของเรากลับมา
ถ้าคู่ต่อสู้ออกแรงดัน ให้ใช้ทรึริเทของเราดึงกลับมาอาจใช้การรุมด้วยการกดศอกช่วยเสริมแรงด้วยก็ได้แล้วก็แบบเดียวกันคือใช้มือซ้ายมาช่วยดึงคอเสื้อทางด้านขวา


ประยุกต์ใช้1 เจอกับคู่ต่อสู้ที่ตัวสูงกว่า ยื่นมือมาหมายจับคอเสื้อด้านหลัง ก่อนอื่นให้เอามือขวาสับลงมากดมือซ้ายคู่ต่อสู้ลงไปก่อน (ลงมือในท่าสับแต่กดด้วยฝ่ามือเบาๆห้ามสับโชะแบบคาราเต้) กดมือซ้ายของคู่ต่อสู้ลงไปได้แล้วให้เอามือซ้ายฮิกิเทของเราไปจับแขนเสื้อซ้ายของคู่ต่อสู้ไว้ก่อน จากนั้นใช้มือซ้ายดึงมือซ้ายคู่ต่อสู้ลงเล็กน้อยเพื่อจะได้เอาทรึริเทไปจับคอเสื้อคู่ต่อสู้ จับได้แล้วค่อยสลับมือซ้ายที่จับแขนเสื้อซ้ายคู่ต่อสู้มาจับแขนเสื้อขวาในท่าปกติ


ประยุกต์ใช้2 สร้างช่องว่างในการเข้าทำในการที่ต่างคนต่างจับกันได้ด้วยทรึริเท โดยทรึริเทของเราอยู่ด้านบนหรือวงนอกนั้นเอง เริ่มจากเบี่ยงตัวแบะออกกดศอกเล็กน้อย เอามือซ้ายมาดึงแขนเสื้อซ้ายด้านล่างของคู่ต่อสู้(ทรึริเทของคู่ต่อสู้) จากนั้นปล่อยมือขวาทรึริเทของเรา ออกมาใช้มือขวากดบริเวณข้อมือซ้ายคู่ต่อสู้ พร้อมๆกับเอียงตัวไปด้านหลังเล็กน้อย มือซ้ายที่จับอยู่แขนเสื้อซ้ายล่างก็ช่วยดึงด้วย(3รุม1เหมือนเคย) มือคู่ต่อสู้หลุดออกจากคอเสื้อเราแล้วค่อยดึงแขนคู่ต่อสู้เข้าหาตัวเหมือนประยุกต์ข้อ1 เพื่อจับคอเสื้อคู่ต่อสู้อีกครั้ง ในขณะที่คู่ต่อสู้จับอะไรไม่ได้เลย (เอาเข้าจริงไม่มีใครยืนเฉยหน้าโง่ให้จับหรอกครับ มันอยู่ที่การฝึกฝนความชำนาญและความคล่องตัว)


ประยุกต์ใช้3 ท่าเริ่มคือจับทรึริเทได้กันคนละข้าง แต่คราวนี้เราอยู่ด้านล่าง ใช้ทรึริเทดึงคู่ต่อสู้เข้ามาเล็กน้อย พร้อมกับเอามือซ้ายปัดไปบริเวณข้อพับแขนซ้าย อาจจะปัดแบบยกขึ้นเล็กน้อยพร้อมกับการสืบขาขวาเข้าไปหาคู่ต่อสู้ พอคู่ต่อสู้มือหลุดออกแล้ว ให้รีบกลับไปจับ2มือในท่าตั้งต้น


ประยุกต์ใช้4 ถูกคู่ต่อสู้ใช้ทรึริเทจับบริเวณคอหลังพร้อมกับดึงเข้าหา แก้จังหวะตรงที่เราโค้งเฉพาะลำตัวช่วงบนก่อน โดยการเอียงถอยหลังเล็กน้อย ถัดมาเอามือซ้ายมาจับแขนเสื้อทรึริเทคู่ต่อสู้ตรงจุดบริเวณแถวข้อมือ ดึงไปทางซ้ายพร้อมกับหมุนคอหลบแขนคู่ต่อสู้ จะคุมทรึริเทของคู่ต่อสู้เพื่อใส่ท่าล็อคต่อไป


ประยุกต์ใช้5 คู่ต่อสู้ตัวสูงกว่า จับหลังคอเสื้อ(แขนเราอยู่ด้านในหรือด้านล่าง) แล้วกดศอกทับแขนเรา แรกสุดแก้การกดศอกก่อนด้วยการเบี่ยงแขนหลบการกดพร้อมทั้งเอาทริริเทของเราดันคอเสื้อคู่ต่อสู้ขึ้น ถัดมาเอามือซ้ายไปจับบริเวณคอเสื้อขวาพร้อมทั้งเบี่ยงตัวสะบัดออก สำคัญคือทรึริเทของเราคุมให้ดีไม่ปล่อยตั้งแต่แรกจนสุดท้าย จากนั้นค่อยหาทางจับด้านฮิกิเท ถ้าไม่ใช้ฮิกิเทจะใส่ท่าเซโอนาเกะก็ได้ แต่จะเป็นการใช้เซโอนาเกะหมุนทวนเข็มนาฬิกา(เข้าแบบจับขวาปกติ)เข้าไปที่แขนซ้ายคู่ต่อสู้ (ท่าแปลกครับ ไม่ชำนาญหรือมือใหม่ระวังไปทำคู่ซ้อมมือหักศอกหลุดด้วยครับ)


ประยุกต์ใช้6 ทำลายทรึริเทของคู่ต่อสู้(ตัวสูง)ที่คว้าจับไปถึงกลางหลัง ปกติเจอการจับแบบนี้เราจะอยู่วงในหรือด้านล่าง วิธีคือการเอาข้อศอกดันขึ้น เบี่ยงตัวพร้อมกับแขนซ้ายจับคอเสื้อทางด้านซ้ายของเราช่วยดึงให้ตึง ทรึริเทคู่ต่อสู้ก็จะหลุดออก


ประยุกต์ใช้7 จับกันได้คนละทรึริเท เราอยู่ด้านนอก ให้กดศอกดันแขนคู่ต่อสู้ไปด้านข้าง พร้อมกับเอามือซ้ายจับคอเสื้อขวาของเรา ดึงแล้วเบี่ยงตัวเล็กน้อยก็จะปลดทรึริเทของคู่ต่อสู้ออกไปตามแรงเหวี่ยง


ประยุกต์ใช้8 ทรึริเทจับได้แล้วจะตามจับทางด้านฮิกิเท แบบแรกคือทรึริเทเราอยู่ด้านบนหรือวงนอก ให้สลับเฉพาะข้อศอกทรึริเทของเรามาอยู่ด้านใน กดคอคู่ต่อสู้ให้ก้มลง สำคัญมากเรื่องการวางขา จังหวะนี้คนที่จะได้เปรียบคือคนที่เอาขานำเข้าไปอยู่กึ่งกลางขาของคู่ต่อสู้ (อย่างน้อยก็เผื่อใส่อุจิมาตะหรือว่ากันอุจิมาตะไปในตัว) ถ้าเอาขานำ(ขาขวา)ไปอยู่กึ่งกลางขาทั้ง2ข้างของคู่ต่อสู้ได้แล้ว ต่อให้คู่ต่อสู้เอามือขวาหลบยังไงมือซ้ายฮิกิเทของเราก็พอเอื้อมถึง)

แบบที่เราอยู่วงใน ให้เบี่ยงตัวพร้อมกับเอามือซ้ายกดไปที่ข้อมือทรึริเทของคู่ต่อสู้ ส่วนทรึริเทของเราออกแรงดันคู่ต่อสู้ให้โค้งตัวลง (ถ้าใช้่ระยุกต์ข้อ4สำเร็จจะอยู่ท่าคล้ายๆกัน) จากนั้นเหมือนกันคือเอาขานำ(ขาขวา)ไปอยู่กึ่งกลางระหว่างขาทั้ง2ข้างของคู่ต่อสู้ เพื่อให้ฮิกิเทตามจับแขนเสื้อขวาของคู่ต่อสู้


ประยุกต์ใช้9 ทรึริเทจับได้พร้อมกันจะใช้ฮิกิเทจับอีกข้างโดยเพิ่มการล็อคแขนเข้ามา เริ่มจากทรึริเทที่จับอยู่วงใน ใช้มือซ้ายช่วยดึงคอเสื้อฝั่งซ้ายของคู่ต่อสู้เข้ามา (ใช้หลักเหมือนพื้นฐาน4ในการสลับทรึริเทวงนอกกับวงใน) มือซ้ายจับคอเสื้อดึงเข้ามาได้แล้ว ให้เอาศอกขวากดแขนคู่ต่อสู้หมุนกลับมาจับที่คอเสื้อคู่ต่อสู้ทางฝั่งซ้ายเหมือนเดิม ตอนนี้แขนขวาทรึริเทเราจะล็อคและคุมแขนซ้ายฮิกิเทของคู่ต่อสู้ได้สมบูรณ์ ที่เหลือก็ใช้หลักประยุกต์ข้อ8ในการก้าวขาขวาไปกึ่งกลางขาของคู่ต่อสู้แล้วไล่จับทางด้านฮิกิเท
อีกวิธีแบบไม่ต้องเอาขาไปอยู่กึ่งกลาง คือให้เอามือซ้ายของเราจับคอเสื้อด้านขวาของคู่ต่อสู้แล้วดึงมาจนกว่าที่จะอยู่ในระยะเอื้อมไปจับแขนขวาคู่ต่อสู้ได้


ประยุกต์ใช้10 การใช้ทรึริเทจับคอเสื้อด้านหลังของคู่ต่อสู้ ระหว่างที่คู่ต่อสู้จิ้มทรึริเทซ้ายหวังจะจับคอเสื้อ ให้เอามือขวาคว้าแขนเสื้อทางด้านซ้ายที่คู่ต่อสู้จิ้มมือเข้ามา เสร็จแล้วก็ดึงลงไปทางเฉียงซ้าย พอคู่ต่อสู้เสียหลักมือซ้าย(ฮิกิเท) ให้จับไปบริเวณระหว่างไหล่กับคอ(จะง่ายกว่าการจับไปที่แขนในรูปแบบปกติ) หลังจากนั้นมือขวาจับไปที่คอเสื้อด้านหลัง


ประยุกต์ใช้11 การอ้อมไปจับสายรัดด้านหลัง เริ่มต้นเหมือนกับประยุกต์10 หลังจากใช้แขนขวาดึงแขนซ้ายคู่ต่อสู้ลงไปแล้ว มือซ้ายให้เลือกจับระหว่างคอเสื้อซ้ายหรือขวาก็ได้แต่คว้าได้แล้วต้องกดดึงลง เพื่อที่จะให้แขนขวาล้วงไปจับสายรัดด้านหลังได้ เทคนิคที่จะช่วยให้จับสายรัดให้ง่ายขึ้นอยู่ที่การขยับขาซ้ายถอยหลังหมุนไปทางด้านขวาเล็กน้อย จะช่วยเพิ่มแรงดึงในจังหวะที่มือซ้ายดึงคอเสื้อคู่ต่อสู้ลงมา


ประยุกต์ใช้12 คล้ายกับข้อ11เพียงแต่คู่ต่อสู้ไม่ได้จิ้มทรึริเทเข้ามา เทคนิคการเข้าเริ่มจากเอามือซ้ายไปคว้าที่คอเสื้อซ้ายของคู่ต่อสู้แล้วดึงลง จากนี้ค่อยเอามือขวาจับแล้วค่อยเอามือซ้ายเปลี่ยนไปจับที่แขนเสื้อ นอกจากการจับที่คอเสื้อแล้วเราสามารถเลือกจับที่อื่นก็ได้เช่นคอเสื้อด้านหลัง กลางหลัง สายคาดเอว การเลือกจับที่กลางหลังหรือสายคาดเอวนี้ควรใช้ขาซ้ายในการขยับไปทางหลังขวาเพื่อเพิ่มแรงดึงและมุมในการเข้าจับทางด้านหลัง


ประยุกต์ใช้13 หลอกด้วยการทำเป็นเข้าจับทางด้านซ้าย จุดที่เข้าจับคือใช้ฮิกิเทจับ ไม่ได้จับไปที่แขนเสื้อหรือที่คอเสื้อ แต่เป็นบริเวณระหว่างไหล่กับคอเสืิ้อ เอามือซ้ายจับบริเวณนี้แล้วมือขวาจับที่แขนเสืิ้อมันก็จะกลายเป็นลักษณะของการจับซ้าย แต่บางครั้งหลอกโดยการใช้มือซ้ายจับบริเวณดังกล่าวแล้วแล้วหาจังหวะดึงเข้ามาเพื่อใช้ทรึริเทมือขวาจับคอ ก็สามารถที่จะทำได้ การใช้ฮิกิเทมือซ้ายจับในรูปแบบดังกล่าวบางครั้งสามารถที่จะใช้บล็อคกเข้าชิงจับของคู่ต่อสู้ได้ด้วย


ประยุกต์ใช้14 ซาซาเอะทรึริโกมิโกชิหลอก ทรึริเทขวาจับคอเสื้อได้แล้วใช้ซาซาเอะ(ขาขวาเตะไปบริเวณข้อเท้าซ้ายของคู่ต่อสู้)เพื่อดึงความสนใจไปที่ขา ในขณะที่เป้าหมายของเรานั้นคือการให้ฮิกิเทเข้าจับบริเวณแขนขวาของคู่ต่อสู้


ประยุกต์ใช้15 ใช้โคอุจิการิหลอกเพื่อให้ฮิกิเทซ้ายจับแขนเสื้อขวาของคู่ต่อสู้ได้ เริ่มจากทรึริเทขวาสามารถจับคอเสื้อคู่ต่อสู้ได้ แล้วให้เข้าท่าโคอุจิการิ คือการสืบเท้าขวาไปกึ่งกลางระหว่างเท้าทั้ง2ข้างของคู่ต่อสู้แล้วขยับขาซ้ายตามมาจากนั้นเอาขาขวาไปตวัดที่หลังขาขวาของคู่ต่อสู้ (คู่ต่อสู้ไม่ล้มหรอกครับถ้ามันไม่โง่) ล้มไม่ล้มไม่สำคัญเพราะว่ามันคือการหลอกเพื่อให้ได้จังหวะฮิกิเทคว้าแขนเสื้อซ้ายต่างหาก


ประยุกต์ใช้16 ใช้รูปแบบ2แขนจับที่คอเสื้อทั้ง2ฝั่งดึงเข้าหา แล้วมือซ้ายเปลี่ยนมาจับที่แขนเสื้อตามปกติ บางครั้งหลังจากใช้สองแขนจับที่คอเสื้อและดึงเข้าหาตัวแล้วมือซ้ายอยู่เหมือนเดิมแต่มือขวาอ้อมไปจับสายรัดด้านหลังเพื่อเตรียมใส่ท่าฮิกิโกมิคาเอชิ

ข้อควรจำและระวัง การใช้2มือจับคอและดึงนั้นสิ่งสำคัญสุดคือทรึริเทของคู่ต่อสู้จะต้องอยู่ด้านนอกนะครับ (คือแขนทรึริเทเราต้องอยู่ด้านในหรือด้านล่าง) ไม่งั้นตอนดึงเข้าหาตัวแขนของคู่ต่อสู้จะติดและเกะกะอยู่บริเวณหน้าอก แย่ไปกว่านั้นจะเป็นการช่วยคู่ต่อสู้ดึงไปเข้าเซโอนาเกะหาคู่ต่อสู้เอาท่อนแขนของทรึริเทตั้งรับได้พอดี อีกอย่างนึงการดึงเข้ามาแล้วให้ได้ผลมากที่สุดจะต้องดึงให้คู่ต่อสู้โค้งตัวเข้าหาเฉพาะลำตัวช่วงบนถึงจะเห็นผลครับ

ปกติผมชอบเอาทรึริเทขวาจับคอข้างเดียวแล้วดึงลงมากกว่าครับ แล้วค่อยเอามือซ้ายข้ามไปจับสายรัดด้านหลัง จากนั้นค่อยดูน้ำหนักคู่ต่อสู้ว่าเอียงไปทางไหนมากกว่ากันถ้าเอียงไปด้านหลังก็ใช้โอโซโตการิพร้อมๆกับใช้ช่วงไหล่ดันช่วย แต่ถ้าเอียงมาด้านหน้าก็ค่อยใช้ฮิกิโกมิไคเอชิ แต่ช่วงดูแรงดูน้ำหนักมาค่อยๆคิดไม่ทันกินนะครับ

ประยุกต์ใช้17 เริ่มต้นจากการใช้ทรึริเทขวาจับไปที่คอเสื้อด้านขวาของคู่ต่อสู้ จับได้แล้วดึงลงเข้าหาตัว จากนั้นฮิกิเทซ้ายของเราจับแขนเสื้อขวาได้แล้วค่อยเปลี่ยนทรึริเทขวาจากคอเสื้อขวาของคู่ต่อสู้มาเป็นคอเสื้อซ้ายในรูปแบบปกติ


ประยุกต์ใช้18 ใช้ทรึริเทจับแขนเสื้อขวาของคู่ต่อสู้ดึงเข้าหาก่อนที่จะเอาฮิกิเทซ้ายเลือกจับในตำแหน่งที่ต้องการ หลังจากนั้นค่อยเอาทรึริเทไปตามจับคอเสื้อซ้ายของคู่ต่อสู้
ท่านี้ผมใช้บ่อยครับ ไม่เฉพาะกับการจับแบบเก็งกังโยตสึแต่สามารถใช้ได้กับการจับแบบขวาเหมือนกันหรือว่าไอโยตสึได้ด้วยครับ การจับแบบนี้สิ่งสำคัญคือฮิกิเท เพราะว่าเราลงทุนเสียเวลากับการใช้2มือในการให้ฮิกิเทซ้ายของเราเลือกจับแขนเสื้อขวาคู่ต่อสู้แล้ว เราต้องจับให้แน่นและคุมแขนฝั่งขวาของคู่ต่อสู้ให้อยู่ครับ


ประยุกต์ใช้19 ฮิกิเทโดนคู่ต่อสู้จับได้ก่อนสามารถแก้ได้ด้วยการหมุนแขนเป็นวงกลม มือซ้ายของเราอยู่ในจังหวะจับไม่เหมาะ หรือโดนคู่ต่อสู้จับได้ก่อน สามารถแก้ทางด้วยการหมุนแขน ทวนเข็มนาฬิกานะครับ เพราะว่าหลักพื้นฐานการจับแบบเก็งกังโยตสึแขนข้างฮิกิเทต้องอยู่ด้านนอกถึงจะได้เปรียบ

หมุนตามเข็มนาฬิกาข้อดีคือหมุนไปจับได้เร็วกว่าแต่ข้อเสียก็คือมันเร็วไปอาจจะคุมได้ไม่หมดทั้งแขน ถ้าเป็นทวนเข็มนาฬิกาแล้วแน่นอนกว่า (อันนี้ผมจับทางด้านซ้ายนะครับถ้าใครที่จับทางด้านซ้าย ฮิกิเทมันก็จะเป็นขวา ด้านนี้ต้องหมุนตามเข็มนาฬิกานะครับ)


จบแล้วครับกับการช่วงชิงจังหวะจับทั้งฝั่งเดียวกัน(ไอโยตสึ) และแบบขัดกัน(เก็งกังโยตสึ) หลายท่านที่เริ่มซ้อมยูโดไม่นาน อาจจะคิดเหมือนผมว่าจะแย่งกันชิงจับไปเพื่ออะไร เพราะจับได้แล้วก็ยังไม่มีปัญหาใส่ท่าทุ่มได้อยู่ดี ก็เอาเป็นว่าการชิงจับจะยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ถ้าหากพื้นฐานการเข้าท่ายังไม่ดีพอ 
เสียดายที่หนังสือเล่มนี้ไม่ค่อยได้พูดถึงการเอาท่าทุ่มหรือแนะนำท่าที่จะใช้ในการทุ่มหลังจากการได้เปรียบในการจับ ก็คงต้องลองฝึกฝนดูแล้วเอาไปปรับแต่งให้มันเหมาะสมกับท่าทุ่มของแต่ละคนกันเองครับ
อีกอย่างนึงหนังสือเล่มนี้มันก็เป็นแค่ส่วนเล็กๆจากอาจารย์ยูโดผู้เขียนและเรียบเรียงกลุ่มนึงเท่านั้นที่ถ่ายทอดออกมา เทคนิคการชิงจับหรือว่าเทคนิคต่างๆของยูโดยังมีอีกมากมายครับ เพียงแค่ฝึกซ้อมท่าชิงจับบางท่าให้มันสอดคล้องกับเทคนิคท่าทุ่มของเราให้ได้ การทุ่มจะตามมาง่ายกว่าเดิมครับ อีกอย่างที่เมืองไทยถ้าไม่ใช่ระดับอาจารย์มากประสบการณ์ หรือว่าพวกที่ผ่านสนามมายาวนานแล้ว เทียบกับที่ญี่ปุ่นแล้วที่ไทยผมไม่ค่อยเห็นคนให้ความสำคัญกับจุดนี้ (ได้มีโอกาสนอนดูคลิปการแข่งขันของพวกดั้งสูงแข่งกัน จุดเริ่มต้นอย่างเอาเป็นเอาตายก็อยู่กันที่การออกตัวชิงจังหวะจับนี้แหละครับ) ดังนั้นที่ไทยหากท่านใดที่รู้หลักการช่วงชิงจังหวะจับนี้และฝึกฝนจนนำไปใช้ได้จริงจะได้เปรียบในสนามแข่งครับ ก็ลองเอาไปใช้กันดูนะครับ

ส่วนผมรอขาหายหักก่อนแล้วจะลองเอาไปทดลองใช้ดูครับ


Create Date : 04 พฤษภาคม 2555
Last Update : 12 พฤษภาคม 2555 17:00:27 น. 8 comments
Counter : 20342 Pageviews.

 
จำไม่ได้สักอย่างงงงงงง


โดย: normalization วันที่: 13 พฤษภาคม 2555 เวลา:21:08:00 น.  

 
จำแค่2-3ท่า แล้วหาจังหวะให้มันเข้ามาในจังหวะท่าของเราได้ก็พอแล้วครับ


โดย: ablaze357 วันที่: 13 พฤษภาคม 2555 เวลา:21:51:21 น.  

 
ยาวเกินค่ะ


โดย: ณัฐณิชา บุญกล้า IP: 101.51.43.222 วันที่: 23 กรกฎาคม 2555 เวลา:20:47:53 น.  

 
จำ3วัน1ท่าก็พอครับ ใช้บ่อยๆมันก็จะออกมาเองแบบไม่ต้องคิดครับ เก็บวันละนิดเดี๋ยวมันก็ได้ครบเองครับ


โดย: ablaze357 วันที่: 23 กรกฎาคม 2555 เวลา:22:58:15 น.  

 
ขอบคุณมากครับที่อุตส่าห์สละเวลาเขียนคำอธิบายไว้ทุกกระบวนท่า น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆที่ได้อ่านแล้วลองนำไปใช้ดู ผมเองก็เห็นอยู่หลายท่าที่น่าสนใจ จะนำไปสอนลูกสาวซึ่งเล่นยูโดอยู่เหมือนกัน


โดย: sillapachai IP: 184.7.79.118 วันที่: 11 ธันวาคม 2555 เวลา:13:37:45 น.  

 
ท่ามันดูเหมือนเยอะๆจำยากนะครับ แต่ว่าถ้าลองเอาไปฝึกใช้จริงซักพักมันจะอยู่ในหัวเองครับ ขอสารภาพตามตรงแรกๆผมก็ลองเอาไปใช้ดูครับมันก็ใช้ดีนะครับ แต่หลังๆผมไม่ได้ซ้อมนานก็ลืมๆไป พอกลับมาซ้อมใหม่ อาจารย์ที่สอนผมอยู่ได้สอนหลักง่ายๆสำหรับการชิงจับ ผมเลยใช้ของที่อาจารย์สอนมาแทน ยังไม่มีเวลามาทบทวนเนื้อหาด้านบนอีกครั้งเลยครับ


โดย: ablaze357 วันที่: 13 ธันวาคม 2555 เวลา:22:07:13 น.  

 
คุณเสียสละมาก ขอบคุณในน้ำใจดี


โดย: สนิท IP: 110.49.224.17 วันที่: 15 เมษายน 2556 เวลา:19:23:20 น.  

 
555อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวครับ ขณะที่แปลนั้นไม่มีกระดาษหรือคอมเอาไว้จดบันทึก เลยใช้มือถือพิมพ์เก็บไว้ พอลงในบล็อคแล้วจะเปิดดูที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ


โดย: ablaze357 วันที่: 21 เมษายน 2556 เวลา:20:15:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.