Group Blog
 
 
กันยายน 2564
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
3 กันยายน 2564
 
All Blogs
 
แข่งกับตัวเองให้ดีก่อนจะไปแข่งกับคนอื่น


ตั้งแต่เริ่มต้นกับยูโด ไม่เคยคิดว่าจะเดินมาถึงตรงนี้ได้…
- ตอนนั้นกางเกงจะผูกยังไงให้มันไม่หลุด
- เสื้อจะใส่ยังไงให้มันไม่รุ่มราม ใส่แล้วซ้ายขวาต่างคนต่างไป
- ที่สำคัญสายเข็มขัดมันต้องผูกยังไงถึงจะโอเค

เป้าหมายแรก และเป้าหมายเดียวที่มีตอนนั้นคือ ไปให้ถึงสายดำ ดำแล้วจบ…พอ
เพราะคิดเหมือนอีกหลายล้านคน ที่ว่าสายดำคือผู้ชำนาญละ ไปห้าวหาญยืนสั่งยืนสอนคนอื่นได้ละ

แต่พอสายดำ โชดั้งแล้ว สิ่งที่เห็นมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เริ่มคิดหนักเลยว่า ก็ฝึกซ้อมมาตามลำดับขั้นตอน ทำไมสายดำแล้วท่าทุ่มยังไม่มี
ท่าทุ่มแบบที่กดปุ่มสั่งได้
ท่าทุ่มแบบทำลายล้างทุ่มทีสึนามิมา ท่าแบบ ’เฟทัลลิตี้’ ในมอทัลคอมแบต ก็ยังไม่มี
ทุกอย่างยังไม่มีเมื่อได้สายดำมา แสดงว่ามันต้องมีอะไรผิดในส่วนผสมแน่ๆ ถึงได้ต่างกับท่านอื่นที่ดำแล้วกลายเป็นเทพเจ้าได้

ช่วงจากดั้งแรกไปดั้งสอง สิ่งที่เห็นว่าจำเป็นแล้วควรเติมลงไปเร่งด่วนคือเรื่องของเนวาซะ หรือท่านอน ตอนนั้นหลักๆวนซ้อมในสามที่
- เบาะโคโดกังโดยมีทีมเซนเซของโคโดกังให้คำแนะนำ กับมัสสึมุระเซนเซ เป็นผู้ถ่ายทอดให้
- เบาะอำเภอฮามาโจ แนวโคเซนยูโด โดยได้นิคกิเซนเซเป็นผู้แนะนำ ตามแต่ละโอกาส
- เบาะโตเกียวบุโดกัง แนวโคเซนยูโด ฮอนดะเซนเซเป็นผู้ให้คำแนะนำ

ดั้งสองผ่านไป ได้เวลากลับเมืองไทยพอดี แบบว่าใบประกาศนียบัตร ต้องส่งอีเอ็มเอสตามมาที่เมืองไทย (ขอขอบคุณแผนกต่างประเทศของโคโดกังและเซนเซอีกหลายท่าน ที่เป็นผู้ช่วยประสานงานในการจัดส่งใบประกาศมาในครั้งนั้น)

กลับมาเมืองไทย มืดแปดด้าน จะซ้อมต่อยังไงดี ช่วงนั้นลองผิดลองถูก แต่ส่วนใหญ่จะผิดไม่ค่อยมีถูก ชีวิตนี้คงจบกันได้แค่ดั้งสอง จนกระทั่งได้มาเจอกับอาจารย์เป้

เป้าหมายตอนนั้นคืออยากได้ท่าฮาเนโกชิ ไม่ได้คิดถึงการแข่งขันเลื่อนดั้งซักเท่าไหร่ แต่ว่าอยู่ดีๆจะมาฮาเนโกชิทันที มันทำไม่ได้

ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงการซ้อมที่ตื่นเต้นในทุกๆครั้งที่อาจารย์เป้แนะนำ เปิดอีกมุมมองนึงของยูโด รวมไปถึงเริ่มต้นพื้นฐานกันอีกครั้ง เรื่องของขา สะโพก หลัง คอ แนวสายตา ข้อมือ แขน ค่อยๆเก็บกันไปทีละส่วน รวมไปถึงส่วนของท่านอน และท่าทุ่มด้วยขา

ที่ตื่นเต้นคือวันนี้ซ้อมจะได้รู้เพิ่มเติมในส่วนไหน และส่วนที่ซ้อมชิ้นเล็กๆแต่ละชิ้นมันเอาออกใช้ประโยชน์ยังไง ในขณะเดียวกันเนื้อหาของฮาเนโกชิก็ยังมีเพิ่มเติมมาตลอด

ยูโดซ้อมท่าเดียวแล้วได้มาแค่ท่าเดียว มันไม่คุ้ม การซ้อมของอาจารย์เป้ ถึงจะปูทางไปฮาเนโกชิ แต่ระหว่างทางยังมีแวะเก็บส่วนประกอบของท่าอื่น หลักการทำงานของท่าทุ่มอื่น เช่นท่าโมโรเทะ ท่าเกี่ยวนอกเกี่ยวใน โอโซโต ถึงได้บอกว่าเป็นการซ้อมที่น่าตื่นเต้น เพราะเนื้อหาความรู้ในการซ้อมแต่ละครั้ง ประเมินมูลค่าไม่ได้

ดั้งสองไปสาม ได้อาจารย์มาชี้นำ มาจับท่าให้ พอมีโอกาสมาญี่ปุ่นแข่งขันเพื่อที่จะขึ้นดั้งสาม มาแต่ละครั้งก็เรียกว่าเก็บแต้มได้พอสมควร ช่วงที่แข่งขันเก็บจนได้แต้มครบสำหรับดั้งสาม ยังมึนๆอยู่เลยว่าแต้มมันครบแล้วจริงเหรอ กับการที่อยู่เมืองไทย นานๆทีมีโอกาสมาญี่ปุ่นเพื่อที่จะแข่งขัน แต่ยังสามารถเก็บแต้มได้เพียงพอกับดั้งสาม

ปัญหาอีกอย่างของการขึ้นดั้งสามคือคาตาเมะโนะคาตะ เพื่อนคู่ซ้อมอยู่กันคนละประเทศ แถมเนื้อหาของท่ามีสิบห้าท่า แล้วในหมวดแรกห้าท่า แต่ละท่าแยกออกมาเป็นสามส่วนที่ต้องรับส่งให้เข้ากัน แค่ลำดับท่าที่ต้องทำ จำได้ก็บุญละ

ถึงตอนสอบ เดอะโชว์มัสโกออน ก็ผ่านอะ ฉลุย ถ้าไม่ผ่านนี้เครียดเลยนะ ต้องบินไปญี่ปุ่นเพื่อที่จะมาสอบ คาตาเมะโนะคาตะมันก็ไม่ใช่เรื่อง หลังจากที่ผ่านได้แบบเฉียดฉิว บอกกับตัวเองไว้เลยว่า ฉันจะต้องโปรในคาตาเมะโนะคาตะให้ได้

จากเกะนินไปเป็นจูนิน
สามไปสี่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายละ ตอนแข่งขันคู่แข่งขันทุกคนมีทั้งท่ายืนและนอน เอาจริงๆที่แข่งมาแทบไม่มีใครอ่อนในท่านอนเลย แบบว่ายืนลำบากจะลากไปนอน อาจจะยิ่งลำบากกว่ายืนซะอีก ตรงจุดนี้ อาจารย์เป้ได้ส่งมือดี อาจารย์เฮาส์มาเพิ่มเสริมเติมการซ้อม

การซ้อมของอาจารย์เฮาส์ เป็นการดึงเอาแต่ละส่วนที่ได้เคยเรียนรู้จากอาจารย์เป้ มาใส่รายละเอียดเรียงลำดับฐานข้อมูลและเพิ่มศักยภาพของรายละเอียดเล็กๆแต่ละจุดให้ดึงออกมาใช้งานได้ถูกที่ถูกเวลา

จุดเริ่มต้นของท่าทำมาหากินได้บังเกิด…
สองท่าที่ได้ติดตัวมาจากการซ้อมกับอาจารย์เฮาส์ ในระยะเวลาซ้อมเข้มข้นยี่สิบวันติด (อาจารย์เป้ยังอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นผู้กำกับอยู่เช่นกัน) โอโกชิ กับ โอโซโต สองท่ามหาประลัยนี้ได้ติดมาปัจจุบันกับตัวพร้อมกับการเป็นจูนิน

การแข่งขันแต่ละครั้ง เบื้องหน้าแข่งไป เบื้องหลังได้อาจารย์ทั้งสองท่านแนะนำว่าจะต้องแก้จุดไหน เน้นและเพิ่มเติมในการซ้อมในส่วนไหน อาจารย์เฮาส์ได้แนะนำในการปิดจุดบอดของเวลาเจอจับซ้ายแล้วแขนขวาเสียเปรียบ เป็นที่มาของท่าโอโกชิในปัจจุบัน ท่านี้ทรงพลังมาก ใช้แล้วสะใจ หลายๆครั้งที่ใช้ออกไป คู่ซ้อมพวกที่น้ำหนักเกินร้อยยี่สิบ ลอยแบบครบวงสวยๆมาแล้ว ท่านี้ทุ่มแล้วเคลียร์คัทชัดเจน ตามแบบฉบับยูโดว่าคนตัวเล็กทุ่มคนตัวโตกว่าได้แบบลอยสวยและไม่หนัก (จุดเริ่มต้นที่สนใจยูโดของผม มันก็เริ่มจากตรงจุดที่ว่าคนตัวเท่ากันแต่ทำไมทุ่มกันลอยได้ทั้งที่สองมือสองขาเท่ากัน แต่นี้ตัวเล็กกว่าทุ่มได้ มันยิ่งกว่าคำว่าตรงใจ)

โอโซโต ท่านี้ก็สนุก มีหลายๆครั้งที่เจอกับคู่ซ้อมที่เก่งกว่าเยอะ ได้โอโซโตตัวนี้แหละที่ทุ่มกันสนุก ไอ้พวกที่เก่งกว่าพอโดนทุ่มไป มันก็เปิดเครื่องยำเละตามระเบียบ แต่ยังไงกูก็ทุ่มมันได้ชัดๆทีนึงละกัน

ช่วงที่แข่งขันไล่ตามเก็บแต้ม ถือว่ายาก เพราะเด็กมหาลัยที่เอาดีทางยูโด ก่อนจบการศึกษาเป้าหมายก็อยู่ที่ดั้งสี่เช่นกัน มันมากระจุกกันอยู่ตรงนี้ ตอนที่ไปดูชาจ์ตตารางการแข่งขัน ไม่ต้องมาลุ้นเลยว่าเฮ้ยโชคดีวะเจอคนที่อ่อน มันไม่มีอ่อน ถ้าจะอ่อนก็คือกูนี้แหละอ่อนสุด ตอนที่รอแข่งก็ดูผู้เข้าแข่งขันหลายๆคนหลายๆรอบแข่ง แต่ละคนฝีมือหลากหลายรอบตัวจริงๆ ได้แต่คิดว่าเดี๋ยวมาเจอกู! กูคงแพ้ แจกแต้มให้ตามระเบียบ แต่พอเจอกันจริงๆ เฮ้ยทำไมสู้ได้วะ ท่ายืนมาดิ หรือจะนอนก็เต็มที่ จุดนี้น่าจะมาจากการซ้อมและแนวคิดที่ปลูกฝังมาจากอาจารย์เฮาส์และอาจารย์เป้ นอกจากการซ้อมทางกายภาพแล้วเรื่องของการซ้อมด้านจิตใจก็มีแฝงอยู่ในการซ้อมเสมอๆ ตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ

ลิมิตสามสิบแปด
คนอื่นเท่าไหร่ไม่รู้แต่ผมสุดที่สามสิบแปด เข้าท่าไปเรื่อยๆพอถึงทีที่สามสิบแปด มันอิดออดเกินกว่านี้จะเป็นจะตาย ตาลาย ขาอ่อนล้มพับ แต่อาจารย์เฮาส์สามารถดึงลากยาวไปถึงเลขสามหลักได้

อุจิโกมิ วันละพัน…ตลกคาเฟ่วะ
ไม่เจอกับตัว ไม่รู้หรอกว่ามันทำได้ ไม่ได้โม้ ที่สำคัญปริมาณหลักพันต้องคุณภาพคับแก้วด้วย ไม่มีแบบที่ขยับจึกๆเป็นซีดีตกร่อง เพื่อให้ได้ปริมาณมาคุยโม้

ก่อสร้างตอนดึกทุกวัน
ที่บ้านจะได้ยินเสียงตอกเสาเข็มในทุกคืน มันเป็นส่วนนึงของการเข้าท่า น้องชายมักจะออกมาด่าเป็นประจำว่า อย่าเยอะ…เดี๋ยวบ้านถล่ม

เตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการแข่งก็พอไม่ต้องคิดเผื่อไปถึงคู่แข่งขันว่ามันเก่งไม่เก่ง ซ้อมจนมั่นใจขึ้นแข่งขัน ความมั่นมันก็มาเอง

ทางมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนะ มีแต่โรยด้วยก้านกุหลาบ ไปแข่งบางครั้งไม่ได้แต้มเลยก็มี เศร้าแป้บแล้วไปกินข้าวกินเหล้ากับเซนเซและเพื่อนๆก็หายเศร้า

ทุกการแข่งขันแพ้หรือชนะไม่ใช่ประเด็น สิ่งสุดคัญคือแข่งแล้วได้อะไร ?
ได้แต้มเอาไว้เลื่อนดั้งไงละ (ถุย…ไม่ใช่ละ)
อย่างที่บอกเบื้องหลังความสำเร็จมีอาจารย์เป้กับอาจารย์เฮาส์ดูแลอยู่ การแข่งขันทุกครั้งจะแพ้หรือจะชนะ ทุกคลิปจัดส่งให้ผู้กำกับทั้งสองท่านดูแล แนะนำ ติชม จะได้รู้ว่าเมนูการซ้อมจะต้องเดินต่อไปในทิศทางไหน

อาจารย์ท่านอื่นๆ เพื่อนๆคู่ซ้อมก็มีส่วนสำคัญ ไม่สามารถเอยนามออกมาได้ เพราะมันเยอะ บางท่านชื่อผมยังจำไม่ได้เลย แต่เห็นหน้าแล้วท่าทุ่มของท่านนั้นๆมันลอยโผล่ออกมาชัดเจน ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยฝึกซ้อม ครั้งแล้วครั้งเล่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้

①ขอได้รับความขอบคุณ
เบาะที่ให้ความอนุเคราะห์ในการฝึกซ้อม มีหลายเบาะ เอาหลักๆที่ไทยละกันญี่ปุ่นบางเบาะไปประจำยังจำชื่อสถานที่ไม่ได้เลย
- เบาะมหาลัยจุฬา อันนี้ไปประจำ ช่วงฟิตจัดวันที่เค้าไม่ซ้อมก็ยังไปซ้อม ไปตั้งแต่ไม่เก็บตังค์จนเค้ารำคาญไล่เก็บตังค์ก็ยังจะไป เรียกว่าเสียตังค์ซื้อความเหนื่อย
- เบาะกกท การกีฬาแห่งประเทศไทย ตรงนี้ผมว่าสะดวก โปร่งโล่ง บางครั้งกดสูตรติดมีตัวละครลับโผล่มาซ้อมด้วย เป็นเบาะหลักในการเรียนรู้ฝึกซ้อมกับอาจารย์เป้
- เบาะโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นอีกหนึ่งเบาะที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ คู่ซ้อมที่นี่ให้ผลลัพธ์กับทางยูโดมามิใช่น้อย
- เบาะมหาลัยรามคำแหง แหล่งรวมอาจารย์และเหล่ายอดฝีมือ
- เบาะบางกอกไฟล์ทแล็บ เบาะนี้ออกแนวอินเตอร์ บางครั้งคู่ซ้อมอินเตอร์ก็ช่วยเปิดมุมมองการฝึกซ้อมได้อย่างจะแจ้ง
- เบาะสมาคมยูโดแห่งประเทศไทย มีอยู่ช่วงนึงถึงจะเป็นแต่ช่วงสั้นๆ ที่ได้มีโอกาสไปฝึกซ้อมที่นี่ แต่ผลตอบแทนของการไปซ้อมตรงนี้ มีประโยชน์สำหรับการแข่งขันล่าแต้มมากมาย
- เบาะมหาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เบาะมหาลัยเกษตรและเบาะโรงเรียนสาระวิทยา เรียกได้ว่าเป็นเซ็ทแพ็คเกจความรู้ทางยูโด แวะเวียนมาแถวนี้มีเหงื่อท่วม
- เบาะอิปปงยูโดคลับ อาจารย์กฤษณ์และคู่ซ้อมที่เบาะนี้ไปซ้อมแล้วได้อะไรมากกว่าความเหนื่อย
- เบาะโรงเรียนกีฬาจ.ชลบุรี เบาะนี้สุดจริงกับการสร้างนักกีฬาฝีมือฉกาจนับไม่ถ้วน
- เบาะโรงเรียนวัดราชโอรส ท่ายืนต้องเบาะนี้เลยที่สำคัญเด็กนักเรียนโรงเรียนนี้ มารยาทชนะเลิศ
- เบาะที่มหาชัยสมุทรสาคร เบาะนี้จำได้เคยขับรถจากกรุงเทพเพื่อไปขอคำแนะนำยูโดจากโค้ชต้น อีกส่วนนึงคือแค่คิดถึงจึงมาหา
- อีกหลายเบาะที่ไปเพื่อเรียนรู้จากการสอนเช่น เบาะโรงเรียนกีฬากรุงเทพ(บางมด) เบาะ(เล็กๆ)โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เบาะโรงเรียนกรมแผ่นที่ทหาร การเรียนรู้จากการสอนมีส่วนสำคัญที่ช่วยทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่ซ้อมมันเฉออกนอกเส้นทางรึเปล่า เป็นการทบทวนพื้นฐานและมีส่วนช่วยมากในการลับท่าทุ่มให้คม

สรุปแล้วการจะเดินทางมาถึงดั้งสี่ ผมนี่มีแต่เป็นหนี้บุญคุณทั้งในส่วนของสถานที่ฝึกซ้อม อาจารย์ผู้ฝึกสอน คู่ซ้อม รวมไปถึงนักเรียนที่เคยมีโอกาสแนะนำผ่านมาบ้าง มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าคนๆนึงทำด้วยตัวเองคนเดียวแล้วจะมาได้ ไอ้ดั้งอะยังไม่เท่าไหร่แต่ไอ้ความรู้ความสามารถในทางยูโดที่มันต้องติดตัวตามมาอันนี้เรื่องใหญ่
.
.
.
ต้อง ขอขอบพระคุณยิ่งด้วยใจจริงที่กรุณา
m(._.)m
กราบงามๆไม่จือปาก

② โควิทเอฟเฟค
- จากดั้งสามมาสี่ใช้เวลาประมาณสามปี จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเก็บให้ได้ในสองปี แต่เนื่องจากโควิทโผล่มา ปีที่แล้วทั้งปีไม่ได้มีการจัดการแข่งขัน ทำให้ช้าไปปีนึง (มาช้าดีกว่าไม่มา)
- อีกผลกระทบที่ส่วนใหญ่จะเจอกันคือเรื่องการซ้อม เอาจริงๆโควิทโผล่มา มันแทบไม่กระทบกับการซ้อมอะไรของผมเลย อาจารย์เป้กับอาจารย์เฮาส์เหมือนจะรู้ก่อนแล้วว่าซักวันนึงอาจจะเกิดสถานการณ์แบบนี้ เช่นเบาะปิดซ้อมไม่ได้ (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตด้วยเหตุผลต่างๆนานาออกไป) ตลอดระยะเวลาการซ้อม อาจารย์ได้ถ่ายทอดวิธีการซ้อม ทำให้ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว อยู่ที่ไหนก็ซ้อมได้ เบาะปิดจากโควิทจึงไม่กระทบกับการซ้อมใดๆทั้งสิ้น

③ เรื่องแย่ๆ
ยูโดไม่ได้โลกสวยที่มีแต่เรื่องดีๆเสมอไป พูดถึงเรื่องไม่ดีของการซ้อมยูโด เรื่องแย่สุดที่เจอมากับตัวเองและถือว่าเป็นการพลาดอย่างที่สุดคือ การไปซ้อมซัมเมอร์คอร์สที่โคโดกัง เป็นการซ้อมห้าวันติดในฤดูร้อนของญี่ปุ่น เวลาปกติคือเก้าโมงเช้าไปจนถึงห้าโมงเย็น (มีพักกลางวัน) ส่วนเวลาที่ไม่ปกติคือหลังจากห้าโมงเย็นยังสามารถบ้าซ้อมต่อไปจนถึงสองทุ่มได้ การซ้อมไม่ได้เลวร้ายอะไรก็แค่เหนื่อยบ้าง แต่ก็เข้าใจเพราะเลือกที่จะมาซ้อมเอง ในระหว่างการซ้อมก็จะได้เจอกับเพื่อนทั่วโลกที่บ้ายูโดเหมือนกัน เรียกว่าเป็นอินเตอร์เนชั่นนัลจริงๆ หลายคน(พวกบราซิล พวกทางอเมริกาใต้) เดินทางมากกว่าหนึ่งวันเพื่อมาซ้อมห้าวันที่ญี่ปุ่น หลายคนสื่อสารญี่ปุ่นไม่ต้องพูดถึงภาษาอังกฤษยังลำบากเลย แต่ก็ยังเข้าใจกันได้เพราะมันใช้ยูโดในการสื่อสาร ครึ่งวันสุดท้ายในการซ้อมจะเป็นการแข่งขัน (หลังๆซอฟต์ลงมาแล้ว กลายเป็นกึ่งรันโดริที่โดนทุ่มป้งแล้วสามารถเลือกที่จะแข่งต่อไปได้อีกจนหมดเวลาหรือจะหยุดตรงแค่นั้น) ความเลวร้ายมันจะเกิดหลังจากจบการแข่งขันหรือจบการซ้อมในวันสุดท้ายไปแล้ว

วันสุดท้ายซ้อมจบ ทุกคนต่างทยอยกันกลับไปในเส้นทางของตัวเอง ทางใครทางมัน ก็ยังไม่แย่นัก แต่ถ้าใครยังอยู่ที่โคโดกังต่อไปอีกวัน คือเช้าวันถัดไปตื่นขึ้นมา นรกแม่_!!มาเยือนจริงๆ ตื่นขึ้นมาห้องยี่สิบเตียงที่เต็มทุกปีถ้าไม่จองก่อนสี่เดือน กลายเป็นนอนโล่งอยู่คนเดียวยี่สิบเตียง ตื่นเช้ามากลายเป็นไร้จุดหมาย จากปกติห้าวันรีบเร่งเตรียมตัวหาข้าวกินตั้งแต่เช้าเพื่อจะไปซ้อม จากปกติคนพลุกพล่านตั้งแต่เช้า เช้าวันถัดมาจะเงียบมาก คนที่อยู่ต่อน้อยมาก และคาดว่าทุกคนที่ยังเหลืออยู่จะต้องแวะขึ้นไปมองดูโดโจจากทางด้านบนชั้นแปดว่าเป็นยังไง คำตอบด้านบนคือความว่างเปล่า ความเงียบที่มีแค่แสงแดดส่องลงมากระทบบนเบาะที่เคยซ้อมมาห้าวันติด ผู้คนหายเกลี้ยง จนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า มึงอยู่ทำอะไรเพื่ออะไร ณ จุดๆนี้….

คำเตือน: ควรรีบเดินทางออกจากโคโดกังทันทีหลังจากจบการซ้อมวันสุดท้าย ใครมีเป้าหมายอื่น ใครมีที่ไป ใครจะไปเที่ยว หาเพื่อน หรือจะไปทำอะไรรีบออกไปซะ อย่าอยู่ต่อ อย่ารอเช้าถัดไปเพราะบรรยากาศวังเวงมาก (เตือนคนอื่นได้ แต่คนเตือนเคยอยู่ต่อคนเดียวอีกสองวันหลังจากจบการซ้อม) แทบบ้า อันนี้แหละคือสิ่งที่แย่สุดละที่เจอมาในการซ้อมยูโด

④ บทเรียน
มาถึงจุดๆนี้ บทเรียนที่ได้พบเจอมามีมากมาย แต่จะยกเอามาแค่เอามาบทเดียวก่อน เพราะบทเรียนนี้จำแล้วเอามาใช้ได้กับทุกๆเรื่อง
- อาจารย์เป้ เคยสอน(สอนและบอกหลายครั้งด้วย) คือเรื่องของการลงมือทำ อยากจะทำอะไร จะซ้อม จะแข่ง หรือจะทำอะไรก็ตาม ถ้าจะทำให้รีบลงมือทำเลย อย่ามัวแต่รอ เช่นในเรื่องของการซ้อมการแข่งขัน ตอนนี้ร่างกายยังได้ถ้าจะทำก็ต้องทำตอนนี้ เพราะถ้าถึงจุดที่ทำไม่ไหวจะได้ไม่ต้องมาเสียใจ
- อาจารย์เฮาส์ ก็มาแนวเดียวกัน ((แน่ละเพราะเป็นศิษย์อาจารย์กันมา) อาจารย์เฮาส์จะบอกเสมอๆว่า ตั้งใจทำให้เต็มที่ส่วนผลลัพธ์จะออกมายังไงก็ถือว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว การแข่งมีแพ้มีชนะแต่สำคัญคือเต็มที่กับมันรึยัง
- คุมะ (เพื่อนที่ฮ่องกง) คนนี้ก็เคยเจอความเลวร้ายของซัมเมอร์คอร์สมาแล้วเช่นกัน555 คุมะตอนเจอไม่ว่าจะเป็นการมาแข่งขันรายเดือนหรือว่าการซ้อมซัมเมอร์คอร์ส หรือทุกๆครั้งทุกๆที่ที่เจอ คุมะอยากทำอะไรก็จะทำทันที เพราะเค้าจะถือคติว่า ทำในขณะที่มีโอกาสที่จะทำได้ เพราะโอกาสตรงนี้อาจจะไม่มีอีกเป็นครั้งที่สอง ตรงนี้ต้องย้อนกลับไปพูดถึงซัมเมอร์คอร์สอีกครั้งถ้าเจอเพื่อนไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหนอายุเท่าไหร่ ถ้าจะซ้อมด้วยก็ให้ไปซ้อมด้วยอย่าลีลา ถ้าจะคุยอยากจะถ่ายรูปเซลฟี่ก็ลงมือทำซะ เพราะคู่ซ้อมที่เจอกันตรงนี้หลังจากจบแล้วต่างคนต่างไปอาจจะไม่ได้กลับมาเจอกันอีกเลย (มันก็จริง คนที่เคยทุ่มผมแล้วกลับประเทศไป จนถึงขณะนี้ชื่อที่อยู่มันก็ไม่รู้จะไปตามทุ่มคืนได้ที่ไหน)
สรุปคือ คิดจะทำอะไร ก็ให้ลงมือทำ ทำให้เต็มที่ รีบคว้าโอกาสและลงมือทำในขณะที่ยังสามารถจะทำได้ หลังจากนั้นผลลัพธ์จะออกมายังไง ก็ไม่ต้องมานั่งเสียใจเพราะว่าได้ลงมือทำเต็มที่แล้ว


⑤ เป้าหมาย
เป้าหมายถัดไป ยังมีอีกเยอะ นอกเหนือจากการซ้อมต่างๆที่ทำเป็นกิจวัตรแล้ว สิ่งที่เร่งด่วนคือต้องไปศึกษาจูโนะคาตะให้เข้าใจมากๆและมากขึ้นไปกว่าที่มีอยู่นี้
(เป็นอะไรมากมั้ยกับคาตะ ตอนได้ดั้งสามมาก็ต้องไปศึกษาคาตาเมะโนะคาตะให้โปร มาดั้งสี่ยังไงก็ยังต้องไปเน้นที่คาตะให้แน่นๆ)


ปล. วันนี้ในโลกนินจา ถือว่าเป็นจูนินแล้ว (ว่าแต่เมื่อไหร่จะได้เป็นโฮคาเงะ…ก่อนโฮคาเงะก็ต้องเป็นโจนินให้ได้ก่อน!!)


Create Date : 03 กันยายน 2564
Last Update : 3 กันยายน 2564 12:59:30 น. 1 comments
Counter : 851 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณSweet_pills


 
ยินดีกับการเป็นจูนินนะคะ
บทสรุปให้ข้อคิดที่ดีจังค่ะ


โดย: Sweet_pills วันที่: 10 กันยายน 2564 เวลา:23:57:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.