Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2559
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
2829 
 
5 กุมภาพันธ์ 2559
 
All Blogs
 
ยูโด เซไกอิดชู around the world ท่าชุดสำหรับการซ้อมเนวาซะ



เซไกอิดชู หรือ around the world เป็นท่าฝึกซ้อมเนวาซะพื้นฐานที่คิดค้นโดยกลุ่มของอาจารย์โคโดกัง สำหรับผมแล้ว การซ้อมตัวนี้เป็นพื้นฐานแรกเริ่มเนวาซะของผม ซึ่งมันสามารถต่อยอดไปยังท่าอื่นๆได้

การฝึกตัวนี้ ให้เริ่มต้นจากเป่ายิ้งชุบกันก่อนว่าใครจะเป็นโทริ(คนล๊อค) ใครจะเป็นอุเกะ (คนถูกล๊อค)

หน้าที่ของโทริ คือการล๊อคต่อท่าไปเรื่อยๆ โทริสามารถเรียนรู้การล๊อคได้ว่าจุดอ่อนของท่าล๊อคเราอยู่ตรงไหน จุดไหนที่ควรเน้นย้ำในการล๊อคแต่ละท่า

หน้าที่ของอุเกะ คือการพลิ้วหนีท่าล๊อคออกไปเรื่อยๆ โดยเน้นไปที่พื้นฐานจุดอ่อนหลักๆของท่าล๊อคนั้นๆ

หน้าที่ของโทริและอุเกะคือการซ้อมส่งต่อท่ากันให้มันค่อยๆไหลต่อไปเรื่อยๆจนครบทั้งเซ็ท หลังจากนั้นค่อยสลับอุเกะเป็นโทริ และสลับโทริเป็นอุเกะ รวมถึงการสลับฝั่งการล๊อคจากฝั่งซ้ายเป็นขวา หรือขวาเป็นซ้าย

สมัยที่ผมซ้อม อาจารย์ผมใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง ในการลงรายละเอียดในแต่ละท่าจนครบเซ็ท แต่เนื่องจากแต่ละเบาะที่ผมได้มีโอกาสไปซ้อมด้วย เวลาเป็นสิ่งที่ถูกจำกัดไว้ และการจะแบ่งการซ้อมออกไปเป็นสองครั้งมันก็ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงพื้นฐานท่านอนของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน รายละเอียดเล็กๆน้อยๆก็ถูกละเลยไป

พื้นฐานคร่าวๆของเซไกอิดชูประกอบไปด้วยท่าล๊อค 7ครั้ง (จริงๆแล้วมีแปด แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเหลือการล๊อคเจ็ดครั้ง)
①เคซะกาตาเมะ
②คุสุเรเคซะกาตาเมะ
③โยโกชิโฮกาตาเมะ
(3.5c คามิชิโฮกาตาเมะ) ตัวนี้ถูกตัดออกไป
④โยโกชิโฮกาตาเมะ
⑤ทัตเตชิโฮกาตาเมะ
⑥คาตากาตาเมะ
⑦เคซะกาตาเมะ

***เพื่อให้ง่ายในการอธิบายและง่ายในความเข้าใจ ทั้งหมดนี้เป็นการเข้าล๊อคทางด้านขวา คือเริ่มจากท่าแรกเคซะกาตาเมะ โทริจะใช้แขนขวาในการล๊อคคออุเกะ

***พื้นฐานเนวาซะของผมจะไม่ล๊อคแน่นจนเป็นเนื้อเดียวกับตัวคู่ซ้อม เพราะการล๊อคในลักษณะนั้นมันง่ายในการถูกพลิกกลับ ผมจะล๊อคในลักษณะหลวมๆเหมือนกับเกลียวฟรี ขยับได้แต่ไม่หลุดออกจากเบ้า

***จุดสำคัญหรือคีย์ในการกดล๊อค ไม่ว่าจะท่าไหนส่วนใหญ่เน้นที่ไหล่ของอุเกะทั้งนั้น ผมจะพยายามคุมน้ำหนักกดลงที่ไหล่ทั้งสองข้างของอุเกะ มันทำให้ง่ายต่อการควบคุมมากกว่ากดที่หน้าอก กดที่ท้องยิ่งไปกันใหญ่ เอาไหล่นี้แหละดีสุด อย่าเอาไปผสมกันกับ "สภาวะยกลอยพร้อมกดลง"ที่เดี๋ยวจะมีพูดถึงต่อไปนะครับ มันใช้งานพร้อมกันแต่ใช้กันคนละส่วน

***ในการฝึกซ้อมตรงนี้บางส่วนไม่เกี่ยวโดยตรงกับการซ้อมเซไกอิดชู แต่เป็นผลพลอยได้จากการฝึกตัวนี้ เราจะรู้จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละท่า และเราจะคิดเพิ่มเติมได้ว่าจะสร้างหรือทำลายจุดอ่อนอย่างไร รวมถึงวิธีช่วยในการปิดจุดอ่อนในแต่ละจุด ง่ายๆคือโทริมิได้ดีหรือว่าได้เปรียบไปกว่าอุเกะ ถึงแม้ว่าโทริจะเป็นฝ่ายล๊อคอุเกะอยู่ก็ตาม (พลาดเมื่อไหร่ ฉากจบของเรื่องอาจจะสลับกัน)

①เคซะกาตาเมะ
จุดเน้นย้ำสำหรับโทริ
- มือซ้ายที่หนีบ+ล๊อคแขนขวาอุเกะ ใช้รักแร้ในการช่วยหนีบ รวมถึงใช้ฝ่ามือช่วยประคองแขนขวาของอุเกะ
- แขนขวา สำคัญมาก(ถึงมากที่สุด) แขนขวาที่ล๊อคคออุเกะ จะต้องไม่ล๊อคตนเอง วิธีที่ล๊อคแขนตนเองคือการเอามือขวาไปจับคอเสื้อของอุเกะ หรือการเอานิ้วมือขวาไปคว้าจับขากางเกงของตนเอง เป็นท่ามะฟุร่าเคซะกาตาเมะ (จุดประสงค์ของท่ามะฟุร่าเคซะกาตาเมะ มันใช้อีกแบบนึง ไม่ใช่การล๊อคที่ทำให้แขนขวาของเราตายอย่างที่เราไม่เข้าใจและใช้ออกไปอย่างผิดๆ
แขนขวาของเราล๊อคคอแล้วเอาฝ่ามือวางบนพื้น พร้อมที่จะเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนก็พอ อย่าไปล๊อคแน่นจนแขนขวาเราตายและขยับไม่ได้
- ขาซ้าย อย่ายึดตรง เพราะจะถูกขาของอุเกะโยกขยับมาพันทำให้ "โทเคตะ" หรือการเวลากดโอไซโกมิหยุดเดิน ไม่ก็ต้องมาเสียเวลาในการแกะขาออกมาจากอ้อมขาคู่ซ้อม ถ้าเป็นตอนแข่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายในการเก็บชัยชนะอย่างง่ายๆ

จุดเน้นย้ำสำหรับอุเกะ
จุดเน้นของโทริคืออะไร เราต้องเข้าใจตรงนั้นก่อน และพยายามทำสิ่งที่กลับกันทั้งหมดของจุดที่โทริพยายามประคองไว้
-แขนซ้ายโทริที่พยายามประคองแขนขวาอุเกะ ในเมื่อเค้าพยายามประคองให้ไม่หลุด เราก็ต้องกวนตีนทำให้มันหลุดออกมา ถ้าหลุดได้เส้นทางการหนีจะเปิดกว้างออกมาเป็นทางเลือกให้เราเพิ่มอีกหนึ่งทาง
แต่...แขนขวาของเราสามารถหลุดออกมาจากการประคองของโทริ มันก็อาจจะกลายเป็นหายนะที่ยิ่งใหญ่ของเราได้เช่นกัน แขนขวาถูกหักได้ง่ายๆ มีหลายท่าจากจังหวะตรงนั้นที่โทริสามารถหักแขนของอุเกะได้ (บางครั้งทางเลือกที่ดีคืออย่าไปยุ่งกับแขนขวาของเรา ปล่อยให้โทริประคองหนีบเอาไว้แบบนั้นก็ปลอดภัยไปอีกแบบ)
-แชนขวาของโทริที่ล๊อคคอเราอยู่ ถ้าแขนไม่ตายเราต้องทำให้มันตาย วิธีที่ผมใช้บ่อยๆคือการเอาคอของเรากดแขนโทรอให้ขยับไม่ได้ แขนก็จะตายอยู่ในอ้อมคอของเราการพลิกก็จะง่ายขึ้น(อย่างมาก)
-ขาซ้ายของโทริ ในเมื่อพยายามหลบจากการถูกขาของเราตามเกี่ยว เราก็ต้องพยายามก่อกวนตามเกี่ยวไป จุดประสงค์ของการไล่เกี่ยวคือ เกี่ยวได้ก็ดีไป เกี่ยวไม่ได้การขยับตัวก็เกิดขึ้น การขยับตัวเกิดการถ่ายน้ำหนักเริ่มกระเพื่อม เราจะเอาการถ่ายเทน้ำหนักตรงนั้นเป็นพวกในการช่วยพลิกกลับขึ้นมา

1.5a วิธีหนี
- อุเกะพลิกตัวตะแคงข้างขึ้นมา โดยใช้มือซ้ายโอบไปบริเวณสายรัดของโทริ พยายามโอบไปด้านหน้าให้มากที่สุด
-พลิกตัวตะแคงสำคัญมาก เพราะเราจะใช้แรงจากแกนกลางลำตัว ไม่ใช่แค่ใช้แรงจากมือซ้ายที่โอบเอว
-ฝ่าเท้าทั้งสองข้างของอุเกะ ติดพื้นไว้ เพราะเราจะใช้แรงส่งจากฝ่าเท้าที่ยันพื้นมาช่วยด้วย
ผมเคยมีคำถามเรื่องฝ่าเท้าว่าเราสมควรเหยียบเต็มเท้าต้องแต่นิ้วไปจนถึงส้นเท้ารึเปล่า ตรงนี้ผมได้คำตอบแล้วคือแล้วแต่ความถนัดมากกว่าว่าเราจะใช้เต็มฝ่าเท้าหรือใช้แค่ช่วยด้านหน้าของฝ่าเท้า(ไม่ลงส้น) การลงส้นในบางครั้งช่วยเสริมแรงให้เราได้ แต่องศาการขยับจะถูกจำกัดวงให้น้อยลง ดังนั้นตรงจุดนี้แล้วแต่ความถนัดรวมถึงการซ้อมให้ได้ตำแหน่งที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลมากกว่า (แต่ไอ้แบบใช้ส้นเท้าอย่างเดียวในการดันหรือขยับไม่มีนะครับ)
-ทำสะพานโค้ง (ญี่ปุ่นเรียกว่าบริดจิ) โดยดันตัวขึ้นแล้วเทน้ำหนักไปทางไหล่ซ้ายเฉียงขึ้นบน อย่าลืมว่าแขนซ้ายและมือซ้ายของเรายังโอบเอวโทริอยู่ การทำสะพานโค้งก็จะดึงโทริตามมาเช่นกัน (การล๊อคคนอื่นผมใช้การล๊อคแบบหลวมๆทำให้การรวมแรงยากขึ้น แต่ตอนถูกคนอื่นล๊อค ผมชอบทำตัวให้เป็นเนื้อเดียวหรือเป็นก้อนเดียวกันกับคนที่ล๊อค การส่งแรงจะได้ไปชิ้นเดียวในทิศทางเดียวกัน)

1.5b โทริกำลังจะถูกพลิกและถูกล๊อค
-โทริแก้เกมโอยการคลายแขนขวาที่ล๊อคคออุเกะออก แล้วเอาฝ่ามือขวาสไลด์ออกมาวางข้างๆอุเกะ เพียงฝ่ามือเดียวท่าที่อุเกะทุ่มเทจะพลิกกลับ แรงพยายามตรงนั้นหายไปจนหมดสิ้นด้วยฝ่ามือข้างเดียว

1.5c อุเกะไม่สิ้นความพยายาม จุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากจุดแข็งตรงนั้นคือเรื่องฝ่ามือขวาของโทริ
- แขนซ้ายอุเกะ ไม่องไม่โอบเอวแล้ว เอามือซ้ายมาดันตรงบริเวณข้อมือขวาของโทริ ให้แขนโทริปัดเลยข้ามคอของอุเกะออกไป
- ปัดแขนขวาโทริที่โอบคอ ออกไปได้ สามารถใช้การหนีโดยการพลิกตัวกลิ้งไปทางซ้ายได้

1.5d ความซวยของอุเกะคือแขนขวาเราอยู่ในสุด ช่วยที่กำลังกลิ้งพลิกตัวไปด้านซ้าย แขนขวาเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะออกมา
- โทริแขนขวาอ้อมคออุเกะไปแล้ว เสียหลัก....แต่ตามน้ำ พลิกสะโพกนั่งโดยใช้ก้นด้านซ้าย ส่วนก้นขวาดันตัวอุเกะเข้าไป พร้อมกับเอาแขนขวาที่โดนดันพลิกมา เอารักแร้หนีบแขนขวาของอุเกะเอาไว้
- จุดหนีบที่ดีสุดคือบริเวณข้อมือ เพราะแขนคนเราบริเวณนั้นจะเส้นผ่าศูนย์กลางจะเล็กสุด ล๊อคได้พอดี
- มือซ้ายโทริ เอื้อมไปจับบริเวณหลังเข่าซ้าย หรือต้นขาซ้ายของอุเกะ ขย้ำไว้เลย (ขย้ำกางเกงนะ ไม่ใช้ขย้ำต้นขาของอุเกะ) ส่วนตัวผมชอบจับกาวเกงบริเวณข้อพับหลังเข่ามากกว่าต้นขา เพราะบริเวณหลังเข่าเนื้อที่จะเป็นกอบเป็นกำ และคนที่ถูกจับจะสะบัดยากกว่าที่ต้นขา ท่าจะเปลี่ยนมาเป็นท่า คุสุเรเคซะกาตาเมะ

②คุสุเรเคซะกาตาเมะ
จุดเน้นย้ำสำหรับโทริ
- รักแร้ขวาหนีบข้อมือขวาของอุเกะเอาไว้ อย่าหลุด และเพื่อประหยัดแขนขา ตามหลักประสิทธิภาพสูงสุด ผสมกับหลักคณิตศาสตร์ร่างกายของโคเซ็นยูโด เราจะใช้แค่แขนขวาข้างเดียวในการคุมแขนขวาของอุเกะ เอามือขวาของเราจับคอเสื้อฝั่งซ้ายของเรา จะเพิ่มแรงบีบรักแร้ที่กดข้อมือขวาของอุเกะได้
- คอเสื้อของเราที่ถูกจับจองโดยมือขวาของเราแล้ว ไม่เหลือที่ให้มือขวาของอุเกะมาจับเชือดได้ ... สบายใจแล้ว นอกจากเราจะเชือดตัวเราเอง
- โทริหันตัวตะแคงข้างซ้าย ครึ่งของครึ่งก้นซ้ายนั่งพื้น ส่วนครึ่งก้นขวาดันบริเวณสีข้างหน้าอกเอวของอุเกะให้แน่น รักแร้ขวาดึงอุเกะขึ้น ก้นขวาดันอุเกะลง ....งงปะ อุเกะจะอยู่ในสภาวะเหนือไหล่ถูกยกลอย ต่ำกว่าไหล่ถูกกดลงไป จะขึ้นก็ไม่ขึ้นลงก็ไม่ลง ลักษณะนี้การส่งแรงของอุเกะทำได้ลำบาก (แม้แต่พื้นดินก็ไม่เข้าข้าง555)
สภาวะการยกลอยและกดลง สามารถเอาไปปรับใช้ได้กับโอไซโกมิทุกท่า ก่อนหน้านี้มีพูดถึงท่ามะฟุร่าเคซะกาตาเมะ จุดประสงค์ของการล๊อคท่ามะฟุร่าเคซะกาตาเมะก็คือการทำให้อุเกะอยู่ในสภาวะยกลอยและกดลงเช่นเดียวกัน (ชำนาญแล้วค่อยใช้ละกัน ตอนนี้เล่นพื้นๆกันไปก่อน)

จุดเน้นย้ำสำหรับอุเกะ (ตามเดิมทำตรงข้าม)
- ข้อมือขวาถูกหนีบก็อย่าให้หนีบ พยายามเอาให้หลุด โทริจะหนีบที่ข้อมือก็อย่าให้ลงตัวที่จุดนั้น หนีบเป็นบริเวณข้อพักใกล้ศอกแทนได้มั้ย หรือบังคับให้ไปหนีบสุดปลายมือขยับนิดเดียวก็หลุดได้มั้ย (ดูข้อ2.5 ในการเอาให้หลุดและท่าซ้อมก็จะไหลกันต่อไป)
- เชือดซะ มือขวาอุเกะพยายามรีบจับจองพื้นที่คอเสื้อซ้ายของโทริ เอาลึกๆเชือดง่ายๆ โอไซโกมิใช้เวลา20วิในการเป็นแต้มอิปปง แต่การเชือดให้หลับ7-8วิน่าจะพอเอาอยู่ (มีคำถามครับถ้าโดนกดครบยี่สิบวิ เสียงออดดัวพอดีแต่คนที่กดหลับไปแล้ว....ใครจะชนะ???)
- สภาวะยกลอยพร้อมกดลง ทำให้มันไม่เกิดจะทรมานน้อยสุด อยากยกก็ยกขี้นไปเลย คนถูกกดล๊อคขึ้นมานั่งการกดโอไซโกมิจะเป็นยังไง หรือถูกกดก็ให้โดนกดลงไปให้สุดจะได้เอาพื้นเบาะเป็นเพื่อนในการส่งแรงดันขึ้นมาในจังหวะถัดไป

2.5a อุเกะเอามือซ้ายที่ยังว่างอยู่ ดันไปที่ข้อศอกขวาของโทริ ตรงนั้นการส่งแรงน่าจะมีน้อยพอดันศอกเปิด รีบชักเอาแขนขวาออกมาซะ พร้อมกับการพลิกตัวหมุนออกด้านซ้าย

2.5b โทริพอถูกดันศอกออก ท่าคุสุเรเคซะ ส่อเค้าว่าจะพัง แขนขวาของอุเกะหลุดออกไป อุเกะพลิกตัวกลิ้งซ้ายจะออกไปตั้งหลัง
- มือซ้ายของโทริที่ขย้ำหลังเข่าซ้ายของโทริ เลิกได้ละ (เพราะท่าคุสุเรเคซะจะพังแล้ว) พลิกสะโพกพร้อมตีศอกซ้าย เอาให้แขนซ้ายไปล๊อคแขนขวาของอุเกะที่กำลังพลิกหนี หยุดแขนขวาอุเกะได้ แขนซ้ายโทริอ้อมไปล๊อคคอต่อทันที
-สะโพกพลิกตอนตีศอก มือขวาโทริอ้อมต้นขาซ้ายอุเกะ เจออะไรจับไว้ก่อน ไม่ว่าตะเป็นกางเกง จะเป็นชายเสื้อ จะเป็นสายรัด หรือมือยาวๆจะอ้อมมาตะปบจับเสื้อบริเวณเอวของอุเกะก็ได้ ท่าได้เปลี่ยนต่อมาเป็นท่าโยโกชิโฮกาตาเมะ

③โยโกชิโฮกาตาเมะ
จุดเน้นย้ำสำหรับโทริ
- ขาโทริที่อยู่ใกล้เอวอุเกะ ขาข้างนั้นเปลี่ยนเป็นเอาเข่าจิ้มเข้าไปบริเวณเอวหรือบริเวณสายรัดของอุเกะ (ตามท่าที่พลิกมาจะเป็นเข่าขวา) นิ้วโป้งขาของเข่าข้างที่จิ้มเอวจิกลงพื้นเอาไว้
ขาขวายืดยาวออกไปอาจโดนขาของอุเกะพลิกมารัด (โทเคตะอีกแล้ว)
- ขาอีกข้าง(ขาซ้าย)จะเข่าหรือเอว ฟรีสไตล์ครับ สำคัญคือตัวโทริต้องรู้ตัว ควบคุมอย่าให้น้ำหนักเทลงไปทางศรีษะเยอะไป
- พื้นฐานของโยโกชิโฮ (คามิชิโฮด้วย) มาจากการซ้อมไถลตัวถูเบาะในท่าวากิชิเมะ ท่าที่เราเอาแขนเก็บเข้ามา ปิดรักแร้ พร้อมกับการดันตัวขึ้นไปด้านหน้า พอดันไปสุดแยกขาออกเอานิ้วโป้งขาทั้งสองข้างจิกลงพื้น ดันช่วงหน้าอกขี้น เอาน้ำหนักทิ้งลงท้อง ท่าตรงนั้นแหละมาใช้กับโยโกชิโฮ ทำดีๆเกิดสภาวะ"ยกลอยพร้อมกดลง" อีกเช่นกัน

จุดเน้นย้ำสำหรับอุเกะ (ทำตรงข้าม)
- อย่าให้ถูกโทริเอาเข่าจิ้มเอว จิ้มมาถอยออกจิ้มมาถอยออกสร้างระยะ มันจะง่ายในการหนีถ้าไม่ถูกเข่าจิ้มเอว
นิ้วโป้งขาข้างที่เข่าจิ้มเอวของโทริถ้าไม่จิกพื้น พออุเกะถอยสร้างระยะไม่ให้เข่ามาติดเอว เข่าของโทริจะขยับตามมาไม่ทันเพราะไม่มีแรงดันจากนิ้วโป้งขา (นิ้วเดียวพลิกชีวิตได้)
- น้ำหนักของโทริอย่าเทไปทางหัว อุเกะก็ต้องพยายามทำให้น้ำหนักเทไป บางครั้งการตั้งใจกดล๊อคที่จริงจังเกินไปของโทริ ทำให้น้ำหนักค่อยๆเทไปอย่างไม่รู้ตัว การถอยหนีของอุเกะบางครั้งก็สามารถล่อให้โทริโถมตามต่อเข้ามาจนน้ำหนักเทเอียงไปอยู่ที่ศรีษะเช่นกัน
ตอนเราวอร์มมีการซ้อมเอบิ เกียกกุเอบิ(คนไทยบางคนเรียกว่าท่าปู) และโยโกเอบิ ท่าโยโกเอบิตัวนี้แหละ หลักๆนำมาใช้ในการถอยหนีของการกดโยโกชิโฮ ถึงหนีไม่ได้ทั้งหมดแต่มันหลอกล่อ สร้างจังหวะความได้เปรียบเสียเปรียบในจังหวะถัดไปได้
- โทริใช้ท่าวากิชิเมะในการขยับตัวเข้าหา อุเกะใช้ท่าเอบิในการดันออกได้ จำไว้สร้างระยะ กดดัน หลอกล่อ อย่าให้สภาวะยกลอยพร้อมกดลงเกิดขึ้น

3.5a อุเกะสร้างพื้นที่สร้างระยะ ที่ใกล้ตัวและง่ายสุดคือไหล่ของโทริ
- มือของอุเกะสองข้างช่วยกันดันไหล่ซ้ายของโทริให้เกิดช่องพื้นที่และช่อง เอาให้พอกับการเอาแขนขวาของอุเกะสอดออกมา
- พอให้แขนขวาสอดหนีออกมาได้ ตามเดิม หมุนตัวกลิ้งพลิกไปทางซ้าย กลิ้งๆกลิ้ง ออกมาซะ (ผมถนัดกลิ้งนะครับ แต่กลิ้งมา2ทีแล้วก็ยังถูกกด กลิ้งคราวนี้ก็เช่นกัน)

3.5b ท่าโยโกชิโฮส่อเค้าพังอีกแล้ว มือขวาโทริที่อ้อมจับต้นขากางเกงของอุเกะ ไม่ต้องจับแล้ว ให้โทริเอาแขนขวามาสอดเข้าไปที่แขนขวาของอุเกะ ข้อพับชนข้อพับ แรงชนแรง คนอยู่ด้านบนหรือตัวโทริจะได้เปรียบกว่าอุเกะที่อยู่ด้านล่าง
- จังหวะนี้ปิดเกมจบดื้อๆด้วยจูจิกาตาเมะ หรือที่เรียกกันว่าอาร์มบาร์ก็ได้ (ไม่เอายังอยากซ้อมต่อให้วนไปครบทั้งโลกก่อน)

3.5c (ตรงนี้ไม่ต้องดูก็ได้ ผ่านไปข้อ 3.5dได้เลย) ไปท่าคามิชิโฮกาตาเมะ ท่าตรงจุดนี้ถูกตัดออกไปแล้ว เพราะมันมีความไม่โฟลว์เกิดขึ้นในท่าซ้อมชุดนี้ ถ้าอยากลองดูทำได้ครับ
ส่วนของคามิชิโฮจะเป็นการซ้อมวิธีการพันแขนของโทริเข้ากับแขนของอุเกะ แล้วใช้ชายเสื้อ หรือสายรัดของตัวอุเกะในการปิดผนึกแขนอุเกะข้างนึง (ในท่าตรงนี้ที่ไหลมา โทริจะใช้แขนขวาพันแขนขวาของอุเกะ แล้วโทริใช้มือซ้ายหยิบเอาชายเสื้อไม่ก็สายรัดของอุเกะมาไว้ที่มือขวา) จากนั้นกดล๊อคในท่าคามิชิโฮ

3.5d แขนขวาโทริบริเวณข้อพับดึงแขนขวาอุเกะบริเวณข้อพับแล้ว เอาให้แน่ใจ โทริใช้แขนซ้ายมาช่วยแขนขวาอีกข้าง 2ต่อ1ชนะอยู่แล้ว

3.5e เดินด้วยเข่า อ้อมหัวอุเกะวนไปฝั่งซ้าย แขนสองข้างยังคุมแขนขวาอุเกะอยู่ จนเข่าซ้ายของโทริ อยู่บริเวณคอของอุเกะ แล้วค่อยเอามือซ้ายจับชายกางเกง แขนขวาวนล๊อคใต้คออุเกะ มาอยู่ในท่าโยโกชิโฮอีกฝั่งนึง

④โยโกชิโฮกาตาเมะ
จุดเน้นย้ำสำหรับโทริ-อุเกะ มันเหมือนข้างบน ไม่พูดซ้ำละ
4.5 การหนีถ้าจะวนเหมือนข้อ3 วนสิบรอบซ้ายขวาคงน่าเบื่อ เอาเป็นวิธีการหนีอีกแบบนึง วิธีการหนีแบบนี้ผมชอบและถนัดมาก
4.5a ดันไหล่นิดๆสร้างระยะ เอานิดเดียวไม่ได้จะเอาแขนซ้ายที่ติดอยู่ออก แต่สร้างระยะในการทำท่าเอบิ จุดประสงค์ของเอบิตรงนี้ของผมคือ จะเอาเข่าซ้ายและศอกซ้ายมาชนกันอยู่ใต้ท้องของโทริ
เรื่องของเอบิตอนวอร์มก็มีสองแบบ แต่ละแบบจุดประสงค์การซ้อมต่างกัน
ที่โคโดกังให้ใช้ฝ่าเท้าของขาบนเป็นตัวเหยียบพื้นแล้วขยับดัน จุดประสงค์ก็เพื่อกาลนี้แหละ
(ขาบนคือตอนที่ตัวเข้าพลิกด้านข้าวจะทำเอบิจะมีขาข้างนึงที่อยู่ด้านบน ไหล่ซ้ายลงพื้นขาขวาคือขาบน ไหล่ขวาลงพื้นขาซ้ายคือขาบน)
ที่โคเซ็นยูโดจะใช้ขาล่างเป็นตัวขยับ จึดประสงค์เพื่อถอยฉากได้เร็วขึ้นตอนที่โดนโยโกชิโฮแบบมีผสมวากิชิเมะเข้ามา หรือตอนที่คู่ซ้อมเข้ามาจากด้านขาแล้วเราต้องการสร้างระยะ

4.5b มือขวาของอุเกะจะมีด้านนึงที่เอื้อมไปจับสายรัดด้านหลังของโทริได้ ลองดูถ้าเอื้อมไม่ถึงติดคอโทริ ให้เอื้อมอีกฝั่ง (จริงๆแล้วแขนกับคอของอุเกะจะต้องไม่มีคอของโทริมาขวางกลางขณะเอื้อม)

4.5c อุเกะทำเอบิแล้ว มือขวาจับสายด้านหลังได้ เข่าซ้าย ศอกซ้ายอยู่ใต้ตัวโทริแล้ว มือขวาดึงสาย เข่ากับศอกซ้ายดันขึ้น โยนโทริไปเฉียงขวาบน (ไปทางไหล่ขวาของอุเกะ)
จุดนี้ถ้าอุเกะทำในขณะที่โทริเทน้ำหนักไปที่ศรีษะ จะหัวทิ่มพลิกเอาง่ายๆ

4.5d โทริถูกดึงมาตามแรง เดชะบุญและความซวยของอุเกะยังไม่สิ้น ขาซ้ายโทริพลิกเหยียบลงพื้นหยุดแรงดึงทั้งหมด (ขาเดียวพลิกชีวิตอีกแล้ว) โทริกลายเป็นคร่อมอยู่บนตัวอุเกะ แขนขวาอุเกะดันติดกับคออุเกะเองแล้วมีหน้ากับคอโทริดันอยู่พอดี ท่ามันมาลงตัวกับท่าทัตเตชิโฮพอดี

⑤ ทัตเตชิโฮกาตาเมะ
จุดเน้นย้ำสำหรับโทริ
-มือขวาโทริที่ล๊อคคอข้ามมา กับมือซ้ายให้เอามาประสานกัน อย่าเอานิ้วไปขัดกันโดยเด็ดขาด ขยับมั่วนิ้วหักทันที เอามาประสานกันในรูปแบบเช็คแฮนด์พอ
- ขาที่คร่อมบนตัวอุเกะ จะแยกออกเพื่อเอาข้อเท้าไปล๊อคเข่าด้านหลังของอุเกะ หรือจะเอาฝ่าเท้ามาแปะรวมกัน(คล้ายๆการพนมมือโดยการใช้ขา) อันนี้แล้วแต่ชอบ
- น้ำหนักกดลงที่ไหล่แต่อย่าเทน้ำหนักไปที่หัว

จุดเน้นย้ำสำหรับอุเกะ (ตามเคย ทำตรงข้าม)
- เพื่อนกันซ้อมด้วยกัน อย่าทำนิ้วโทริหักนะครับ ทำให้มือสองข้างของโทริไม่ประสานกัน มือไม่ประสานท่าจะโคลงเคล้า ทำลายจังหวะง่ายขึ้น
- ขาที่คล่อมก็ทำให้มันไม่คล่อม (ดู5.5 วิธีหนีของท่านี้แบบง่าย)
- ทำให้น้ำหนักโทริลงหัว จากนั้นกระแทกท่องขึ้นทำสะพานโค้ง หัวโทริจิ้มพื้น...เจ็บจัง จังหวะจิ้มพื้นเลือกเอาซักทางว่าจะหมุนซ้ายหรือขวาพลิกตัวขึ้นมา (ถ้าเอาปลอดภัย อุเกะมันมีทางไปแค่ฝั่งเดียว แขนขวาของอุเกะถูกยกติดกับคอ ต้องพลิกเอาแขนขวากดตัวโทริลงในการหนี ถ้าแขนซ้ายอุเกะยกแขนขึ้นติดกับคอต้องเอาแขนซ้ายกดตัวโทริในการหนี เป็นการป้องกันจูจิกาตาเมะที่มักเกิดขึ้นต่อจากท่าทัตเตชิโฮ)

5.5a อุเกะเอาแขนข้างที่ขยับได้ (ในขณะนี้คือมือซ้าย) จับเข่าขวาโทริดันออกให้การคร่อมตัวเสียหลัก แล้วเอาขาอุเกะสองข้างกอดขาขวาโทริไว้ (ถ้านานไปเวลาโทเคตะ)

5.5b ก่อนจะโทเคตะ โทริรีบเขย่าขาขวาข้างที่ถูกกอดให้เข่าตั้งขึ้นมาและฝ่าเท้าขาขวาเหยียบพื้น เข่าโทริตั้งขึ้นได้แล้วให้เอาเข่าขวาข้างนั้นจิ้มลงข้างลำตัวฝั่งขวาของอุเกะ ใช้ฝ่าเท้าซ้ายในการช่วยปัดเปิดให้มีช่องกว้างพอที่จะพลิกเอาข้อเท้าขวาออกมา จากทัตเตชิโฮจะกลายมาเป็นคาตะกาตาเมะ

⑥คาตะกาตาเมะ
จุดเน้นย้ำของโทริ
- ทำมุมสามเหลี่ยม ฝ่าเท้าซ้ายเหยียบพื้น ยืดเข่าซ้ายตรง บริเวณที่ฝ่าเท้าวางคือบริเวณแนวเดียวกับศรีษะของอุเกะ เข่าขวาจิ้มไว้ข้างเอวของอุเกะ และอีกมุมนึงคือมุมที่มือยังประสานกันไว้ตั้งแต่ท่าทัตเตชิโฮ
- เทน้ำหนักกดไปที่ไหล่ทั้งสองข้างของอุเกะ ท่านี้ผมล๊อคหลวมๆถ้าเวลาเดินอุเกะไม่ทรมาน ถ้าอุเกะพยายามดิ้นหรือพยายามทำให้เวลาหยุดเดิน ผมจะดันคอและหน้าไปชิดติดให้แน่นกับแขนของอุเกะที่ถูกยกขึ้น(ในขณะนี้คือหน้าฝั่งขวาของผมดันแขนขวาของอุเกะที่ถูกล๊อคไว้) ดันไปในทิศทางขึ้นบน แขนข้างที่ยกขึ้นของอุเกะจะเป็นตัวกดเชือดอุเกะทีละน้อย.... ถ้าอุเกะถอดใจกลับมาในลักษณะไม่ดิ้นรนผมก็จะดันคลอยออกมาให้หายใจต่อไปซักเฮือกสองเฮือก

จุดเน้นย้ำของอุเกะ
- ทำตรงข้ามกับด้านบน ทำให้ท่าของโทริสามเหลี่ยมบิดเบี้ยว (เก้าอี้สามขาเปรียบเสมือนสามเหลี่ยมตรงนี้ มุมนึงถูกทำลายก็เหมือนกับขาเก้าอี้ข้างนึงถูกทำลาย ตัวท่าจะพังลงได้ง่าย)
-ระวังเรื่องแขนของเราล๊อคตัวเราเอง พยายามสร้างพื้นที่ การตีศอกอย่างนุ่มนวลกับโยโกเอบิช่วยได้

6.5a อุเกะตีศอกขวาอย่างเบาๆ โดยการใช้มือซ้ายดันมือขวาช่วยสร้างแรงเพิ่มขึ้นในการดันศอกไปชนกับหน้าของโทริที่ดันเข้ามาหา
จุดประสงค์ในการตีศอกคือการสร้างพื้นที่ให้กับอุเกะ วิธีในการหนีคือม้วนหลังโดยใช้ไหล่ซ้ายเป็นแกนในการม้วนตัวออกไป อะไรที่ติดอยู่อย่าคลายตามม้วนไปให้หมดจะจบที่อุเกะกดโทริแทน (เสียใจกับอุเกะด้วยที่ไม่เป็นไปตามที่คิด เพราะนี่คือเซไกอิดชู มันต้องเป็นไปตามวงจรซ้อมของท่า555)

6.5b ชณะตีศอกโทริพลิกคอ และเอาแขนซ้ายประคองแขนขวาของอุเกะที่หลุดตามออกมาจากการตีศอกแล้วโทริหมุนหลบ
- มุมสามมุมของท่าคาตะกาตาเมะ ถูกตัวโทริเองในการพลิกสะโพกเปลี่ยนไปเป็นท่าเคซะกาตาเมะ

สรุปเริ่มต้นที่เคซะวนรอบโลกกลับมาเป็นเคซะเช่นเดิม

ท่าซ้อมนี้ทำให้ชำนาญ วิเคราะห์จุดแข็งของท่า จุดอ่อนของช่องว่างท่าที่เกิดขึ้น ซ้อมให้เข้าขากันสองคนโดยเริ่มจากช้าๆไปเรื่อยๆจนลื่นไหล โดยสลับกันทั้งอุเกะและโทริ พอเจอล๊อคท่ามันจะออกมาเองในการหนีหรือในการต่อท่าล๊อคจะช่วยเราได้ในระดับนึง

พื้นฐานท่านอนอีกส่วนนึงที่เราจะได้จากท่าซ้อมชุดนี้คือความยืดหยุ่นของสะโพก ลำตัว เราสามารถใช้สะโพกพลิกแพลงแก้ทาง โดยแค่การหมุนสะโพกเพียงครั้งเดียวขณะกดล๊อค


Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2559 12:15:29 น. 0 comments
Counter : 1929 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.