Group Blog
 
All Blogs
 

๒๖. พระพุทธศาสนาสอนเด็ก



หลักพระพุทธศาสนา

๒๖. พระพุทธศาสนาสอนเด็ก

เด็กกับผู้ใหญ่


ทุกๆ คนเมื่อเกิดมาก็เป็นเด็กก่อนแล้วจึงเป็นผู้ใหญ่ แต่ที่ไม่ค่อยจะเป็นผู้ใหญ่สักทีก็มีอย่างคนที่มีอายุมากๆ ถูกตำหนิว่าทำอย่างเด็ก พูดอย่างเด็ก หรือคิดอย่างเด็ก ในทางตรงกันข้าม คนเล็กๆ คือเด็กบางคนได้รับชมว่ามีความคิดอย่างผู้ใหญ่ เหตุฉะนี้ ตามที่เข้าใจกันภาวะเป็นเด็กและผู้ใหญ่จึงเนื่องด้วยภาวะทางจิตใจอีกส่วนหนึ่ง โดยปกติทั่วไป คนเรามีภาวะทางจิตใจเติบโตขึ้นตามส่วนที่ควรกับกับความเติบโตของส่วนร่างกาย จนถึงกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปได้ เช่นอายุเท่าไรเข้าโรงเรียน อายุเท่าไรเป็นทหาร อายุเท่าไรบรรลุนิติภาวะ อายุเท่าไรบวชเรียนได้ เป็นต้น เหล่านี้ถือเกณฑ์ความเติบโตทางร่ายกายกำหนดด้วยอายุ ส่วนความเติบโตทางจิตใจอาจมาช้ากว่าอายุหรือมาเร็วกว่าอายุก็ได้ ด้วยถือเอาลักษณะที่ควรเป็นโดยทั่วไปเป็นหลักเทียบเคียง ที่มาช้ากว่าอายุ เช่นมีอายุสิบขวบแต่มีภาวะทางจิตใจขนาดเด็กอายุห้าขวบ ส่วนที่มาเร็วกว่าอายุ เช่นมีอายุสิบขวบแต่มีภาวะทางจิตใจเท่ากับเด็กอายุสิบห้าขวบ ทั้งนี้เป็นเพราะความทึบหรือความฉลาดที่เป็นพื้นเพมาแต่กำเนิดก็มี เพราะขาดการศึกษาอบรมหรือมีการศึกษาอบรมดีเป็นพิเศษก็มี พื้นเพเป็นข้อสำคัญในทางเป็นบ่อเกิดและเป็นที่รองรับ เหมือนอย่างเป็นตัวพืชและเป็นที่นาพืช การศึกษาอบรมเป็นข้อสำคัญในทางเป็นการเพาะปลูกพืชให้เกิดเจริญ จึงต้องมีเป็นคู่กัน พื้นไม่สู้ดีแต่ตั้งใจศึกษาอบรมให้ดีก็อาจไปได้ เด็กบางคนที่มีอายุมากแต่ยังเรียนอยู่ชั้นต่ำจึงไม่ควรท้อใจ ไปอย่างเต่าแต่ไปเรื่อยจนถึงที่หมาย ดีกว่าไปเร็วอย่างกระต่ายซึ่งวิ่งไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็ไปหยุดนอนเสียไม่ถึงที่หมาย

เด็กกับความอ่อน

เด็กโดยปกติมีร่างกายและจิตใจอ่อน ไร้เดียงสา ในขณะยังเป็นเด็กเล็กๆ เมื่อหิวหรือง่วงนอน ก็ร้องหรือออกฤทธิ์ต่างๆ ไม่ค่อยกลัวอะไรๆ เอื้อมมือจะหยิบไฟก็ได้ จะปาดคมมีดก็ได้ นักคิด (ทางตะวันตก) บางคนจึงกล่าวว่า เด็กทุกคนเป็นอาชญากรที่ยังไม่อาจประกอบอาชญากรรม เพราะร่างกายยังอ่อน ไม่อำนวยให้ทำอะไรได้ ถ้าร่างกายเก่งกล้า ทั้งที่มีจิตใจไร้เดียงสาดังนั้น เด็กจะประกอบอาชญากรรมเพื่อให้ได้ตามปรารถนาด้วยความไร้เดียงสา ในภาษาบาลีมีคำเรียกเด็กอ่อนว่า พาลกะ แปลกันว่า เด็กอ่อน แต่ตามศัพท์คือคนพาลเล็กๆ ในภาษาไทยก็พูดกันถึงอาการโยเยของเด็กว่าพาลโยเยต่างๆ เป็นต้น คำของนักคิดผู้นี้กล่าวด้วยมองแง่เดียว เด็กอาจเป็นคนดีเป็นวีรบุรุษที่ยังไม่สามารถประกอบความดีหรือวีรกรรมก็ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อมุ่งถึงความไร้เดียงสาอันหมายถึงความยังไม่รู้จักใช้ความคิดให้รู้เหตุผล ความยังไม่รู้จักผิดชอบ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ เป็นต้น ก็น่ากลัวว่า ถ้าร่างกายสามารถก็น่าจะเป็นอาชญากรเพราะไร้เดียงสาตามสิ่งแวดล้อมได้ ความไร้เดียงสาดังกล่าวนี้คือความเป็นเด็ก เด็กที่มีความเป็นเด็กหรือไร้เดียงสาไม่น่าต้องกลัว เพราะยังไม่สามารถประกอบอาชญากรรมความชั่วอะไรได้ ทั้งไม่สามารถประกอบความดีได้ ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาควรจะรู้เดียงสาแล้ว หรือเป็นคนโตๆ เป็นหนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่ยังไม่รู้เดียงสาคือยังมีภาวะเป็นเด็กอยู่เป็นบุคคลที่น่ากลัวเพราะอาจเป็นอาชญากรที่ประกอบอาชญากรรมได้ทีเดียว

เด็กกับการเลี้ยง

การเลี้ยงดูเด็กให้เติบโต ควรทำความเข้าใจว่ามี ๒ อย่าง คือเลี้ยงดูร่างกาย ๑ เลี้ยงดูจิตใจ ๑ เพราะความเติบโตของเด็กมีทั้งทางร่ายกายและทั้งทางจิตใจ จะมุ่งเลี้ยงแต่ทางร่ายกายทอดทิ้งทางจิตใจย่อมเป็นความบกพร่องอย่างสำคัญ ไม่ควรถือตามคำปัดว่าเลี้ยงกันได้แต่กาย ใจเลี้ยงไม่ได้ ใจที่อาจเลี้ยงไม่ได้คือใจที่แข็งหรือเติบโตเป็นตัวของตัวเองในทางที่ถูกก็ตามผิดก็ตามเสียแล้ว แต่จิตใจที่ยังอ่อนยังเติบโตต่อไป ถ้าผู้ปกครองบำรุงเลี้ยงให้อาหารใจที่ดีอยู่เสมอแล้ว ภาวะทางจิตใจของเด็กก็จะเติบโตขึ้นในทางที่ดี ทั้งนี้เกี่ยวแก่การอบรมดี ให้เด็กได้เสวนาคือสร้องเสพคบหาคุ้นเคยกับบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่ชอบถูกต้อง เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูให้มีร่างกายและจิตใจเติบโตขึ้นสมดุลย์กันก็จะเติบโตดีขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น เสวนาของเด็กจึงควรได้รับความเอาใจใส่ และไม่ควรมองออกไปแต่ภายนอก แต่ควรมองเข้ามาดูภายในด้วย คือภายในครอบครัว เพราะเด็กต้องจำเจอยู่ในครอบครัวจึงเสวนากับบุคคลและสิ่งแวดล้อมในครอบครัวเป็นส่วนมาก ถ้ามีพี่เลี้ยงเป็นต้นก็ควรเลือกพี่เลี้ยงที่ดี โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ของเด็ก เช่นบิดามารดา ต้องประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก เด็กย่อมเฝ้าผูกปัญหาสงสัยและคิดแก้ปัญหาในบุคคลและสิ่งรอบๆ ตัวอยู่เสมอ และคอยลอกเลียนดำเนินตามสิ่งที่ตนได้เห็น การดำเนินตามสิ่งที่ได้เห็นนี้ เรียกว่า ทิฏฐานุคติ (ทิฏฐ สิ่งที่ได้เห็น + อนุคติ ดำเนินตาม หรือไปตาม) ผู้ใหญ่นั้นเองเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐานุคติอันสำคัญของเด็ก เมื่อประสงค์จะให้เด็กดี จึงจำต้องทำตนให้เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐานุคติที่ดีของเด็กด้วย เพราะเสวนาเป็นเหตุแห่งทิฏฐานุคติดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงตรัสแปลความว่า การไม่เสวนาพาลชนคนชั่วโฉด การเสวนาบัณฑิตคนดีมีปัญญา เป็นมงคลอันอุดม

เด็กกับพระพุทธเจ้า

โดยปกติ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนแก่ผู้ที่อาจเข้าใจได้ เพราะทรงมุ่งให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นรายๆ ไป แต่พระธรรมที่ทรงสั่งสอนทุกข้ออาจนำมาใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กตามควรแก่ภูมิชั้น บางคราวทรงแสดงแก่เด็กโดยตรง ดังมีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี โกศลรัฐ เช้าวันหนึ่ง เสด็จออกบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังตีงูด้วยท่อนไม้ ตรัสถามว่า “ทำอะไรกัน” “งูพระเจ้าข้า กำลังตีด้วยท่อนไม้” “เพราะเหตุอะไร” “เพราะกลัวจะกัดพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนแปลความว่า “ผู้ที่แสวงหาสุขเพื่อตน เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายที่รักสุขด้วยท่อนไม้ ต่อไปย่อมไม่ได้สุข ส่วนผู้ที่แสวงหาสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายที่รักสุขด้วยท่อนไม้ ต่อไปย่อมได้สุข” เด็กกลุ่มนั้นฟังเข้าใจซาบซึ้ง เลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายโดยเด็ดขาดตั้งแต่นั้นมา

สามเณรกับภิกษุ

บรรพชิต คือผู้บวชในพระพุทธศาสนา ทีแรกมีแต่ภิกษุ คือชายที่มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต่อมา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชเด็กชายที่มีอายุต่ำกว่านั้นเป็นสามเณร เมื่อทรงอนุญาตให้สตรีผู้มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปอุปสมบทเป็นภิกษุณี ได้ทรงอนุญาตให้บวชเด็กหญิงเป็นสามเณรี สามเณรีที่จะอุปสมบทเป็น “ภิกษุณี” ต้องเป็น “สิกขมานา” แปลว่า “ผู้กำลังศึกษา” มีกำหนด ๒ ปี (เท่ากันชั้นเตรียมอุดมในบัดนี้) สามเณร แปลว่าเหล่ากอของสมณะ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลว่า “ลูกพระ” การมีสามเณรสามเณรีแสดงว่าพระพุทธเจ้าโปรดเด็กเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ทรงลดหย่อนข้อปฏิบัติทางวินัยลงมาให้พอเหมาะกับภาวะของเด็ก ได้มีสามเณรหลายองค์มีชื่อเสียงติดอยู่ในพระคัมภีร์สืบมาจนทุกวันนี้ จะเล่าเรื่องพระราหุลสามเณรเป็นตัวอย่างแห่งเด็กของพระพุทธเจ้า

เรื่องพระราหุลสามเณร

พระราหุลเป็นพระโอรสของพระโพธิสัตว์เจ้า คือพระสิทธัตถราชกุมาร (พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้เสด็จออกทรงผนวช) และพระพิมพาเทวี ประสูติในพระราชนิเวศน์ กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ในวันที่พระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จออกทรงผนวช เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทับประกาศพระพุทธศาสนาอยู่ในกรุงราชคฤห์ พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาได้ทรงส่งทูตมาอัญเชิญเสด็จไปกรุงราชคฤห์หลายครั้ง ครั้นทรงเห็นว่าถึงคราวควรเสด็จไปโปรดพระญาติ จึงเสด็จจากกรุงราชคฤห์ไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมกับพระสงฆ์สาวกหมู่ใหญ่ ประทับอยู่ในนิโครธาราม เวลาเช้าทรงอุ้มบาตรเสด็จเข้าไปในกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระพุทธบิดา ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ต้อนรับ พระเทวี พระมารดาพระราหุล ได้ทรงสอนพระราหุลกุมารให้เข้าไปเฝ้ากราบทูลขอมรดก พระราหุลกุมารได้เข้าไปยืนเบื้องพระพักตร์พระพุทธเจ้า กราบทูลอย่างฉลาดว่า พระฉายา (ร่มเงา) ของล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระเป็นสุขยิ่งนัก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ พระราหุลได้เสด็จตามพระปฤษฏางค์ติดๆ ไป กราบทูลขอมรดกที่องค์ทายาทพึงได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสั่งพระสารีบุตรเถระให้บรรพชาพระราหุลกุมารเป็นสามเณร พระราหุลสามเณรได้เป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาทรงทราบแล้วทรงโทมนัสพระหฤทัยอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเข้าเสด็จออกทรงผนวชได้ทรงโทมนัสมากเป็นครั้งแรก ต่อมา เมื่อพระนันทกุมาร พระราชโอรสองค์ที่สอง ประสูติแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้องนางของพระนางมายาพระพุทธมารดา ทรงผนวชอีก ได้ทรงโทมนัสมากอีกเป็นครั้งที่สอง แต่ก็ยังทรงหวังว่ามีพระราชนัดดาคือพระราหุลกุมาร ครั้นเมื่อพระราหุลกุมารทรงผนวชอีก จึงทรงโทมนัสอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอพรข้อหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสห้ามว่า “พระตถาคตทั้งหลายล่วงพ้นพรหมดแล้ว” ตรัสว่าทรงขอเฉพาะพรที่สมควรไม่มีโทษ เมื่อพระพุทธเจ้าทูลให้ตรัสขอแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสเล่าถึงความทุกข์ที่ได้ทรงประสบมานับแต่พระพุทธเจ้า พระนันทกุมาร เสด็จออกทรงผนวช จนพระราหุลกุมารเสด็จออกทรงผนวชในครั้งนี้ โดยลำดับ ตรัสว่า ความรักในบุตร ในคราวพลัดพรากเช่นนี้ ตัดผิวหนังเนื้อเอ็นกระดูกเข้าไปจนถึงเยื่อในกระดูก จึงขอให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงให้บวชบุตรที่มารดาบิดามิได้อนุญาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมมีกถาให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงเห็นจริง จนถึงทรงมีพระหฤทัยตั้งมั่นอาจหาญรื่นเริง คลายโทมนัสพระหฤทัย ครั้นเสด็จกลับแล้ว ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุมิให้อุปสมบทบุตรที่มารดาบิดามิได้อนุญาต

พระพุทธโอวาทแก่เด็ก ๗ – ๑๐ ขวบ

เมื่อพระราหุลสามเณรทรงผนวชแล้ว ได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปสู่กรุงราชคฤห์ ปรากฏว่าเป็นเด็กฉลาด เป็นสิกขกามะ คือใคร่การศึกษา หรือรักการศึกษา พระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาทอบรมด้วยพระองค์เองเนืองๆ ตั้งแต่เมื่อแรกผนวช ดังมีแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า ณ พระเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ บ่ายวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยมพระราหุลสามเณร ประทับนั่งบนอาสนะ ล้างพระบาทด้วยน้ำที่พระราหุลสามเณรจัดถวายทรงเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำเล็กน้อย ตรัสถามให้พระราหุลสามเณรตอบ ดังต่อไปนี้

“ราหุล เห็นหรือไม่ น้ำเล็กน้อยเหลืออยู่ในภาชนะน้ำนี้” “เห็นพระเจ้าข้า”
“ราหุล ผู้ใด ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งรู้ ผู้นั้นเหลือความเป็นสมณะอยู่เพียงเล็กน้อย” ทรงเทน้ำที่เหลือออกจนหมด ตรัสถามว่า
“ราหุล เห็นหรือไม่ น้ำที่เหลือเล็กน้อยนี้เททิ้งหมดแล้ว” “เห็นพระเจ้าข้า”
“ราหุล ผู้ใดไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งรู้ ผู้นั้นทิ้งความเป็นสมณะเสียหมดสิ้น” ทรงคว่ำภาชนะน้ำ ตรัสถามว่า
“ราหุล เห็นหรือไม่ ภาชนะน้ำนี้ถูกคว่ำเสียแล้ว” “เห็นพระเจ้าข้า”
“ราหุล ผู้ใดไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งรู้ ความเป็นสมณะของผู้นั้นถูกคว่ำเสียแล้ว” ทรงหงายภาชนะน้ำขึ้น ตรัสถามว่า
“ราหุล เห็นหรือไม่ ภาชนะน้ำนี้ว่างเปล่า” “เห็นพระเจ้าข้า”
“ราหุล ผู้ใดไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งรู้ ความเป็นสมณะของผู้นั้นว่างเปล่า”
“ราหุล ช้างทรงของพระราชา มีงางามอย่างงอนไถ ขึ้นระวางเป็นพญาช้างออกสงคราม เข้าสนามรบแล้ว ทำการรบด้วยเท้าหน้า เท้าหลัง ศีรษะ หู งา แม้ด้วยหาง แต่ยังรักษางวง ก็ชื่อว่ายังไม่สละชีวิตเพื่อพระราชา ต่อเมื่อทำการรบด้วยอวัยวะทั้งปวงดังกล่าวตลอดถึงด้วยงวง จึงชื่อว่าได้สละชีวิตเพื่อพระราชา ไม่มีอะไรที่ช้างศึกนั้นยังมิได้ทำฉันใด ใครผู้นั้นก็ฉันนั้น ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งรู้ เราไม่กล่าวว่าผู้นั้นจะไม่พึงทำกรรมชั่วอะไรๆ เพราะฉะนั้นราหุล พึงศึกษาว่าเราจักไม่กล่าวเท็จ แม้เพื่อหัวเราะเล่น”
“ราหุล แว่นส่อง (กระจกส่อง) มีประโยชน์อย่างไร” “มีประโยชน์สำหรับส่องดูพระจ้าข้า”
“ราหุล อย่างนั้นแหละ ควรส่องตรวจดูหลายๆ หน จึงทำด้วยกาย พูดด้วยวาจา คิดด้วยใจ” ต่อจากนี้ ได้ตรัสอธิบายโดยพิสดาร มีใจความว่าเมื่อใคร่จะทำจะพูดจะคิดอะไรให้คิดดูให้ดีให้รู้ก่อน

(๑) ถ้าเป็นเหตุเบียดเบียนตนและผู้อื่น ก็เป็นอกุศล ให้ผลเป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่ควรทำโดยส่วนเดียว ต่อเมื่อเป็นไปตรงกันข้ามจึงควรทำ
(๒) ถ้ากำลังทำกรรมที่ไม่ดี ก็ให้เลิกเสีย ถ้าทำกรรมที่ดี ก็ทำเพิ่มเข้าอีก
(๓) ถ้าทำกรรมที่ไม่ดีไปเสียแล้ว ก็ให้แสดงเปิดเผยในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ และตั้งใจสังวรระวังเพื่อไม่ทำอีกต่อไป ถ้าทำกรรมที่ดีแล้ว ก็พึงมีปิติปราโมทย์ ใฝ่ใจศึกษาอยู่ในกุศลกรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน สมณพราหมณ์ทุกกาลสมัยล้วนพิจารณาตรวจชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้บริสุทธิ์

ในที่สุดตรัสเตือนว่า “ราหุล พึงศึกษาว่า เราจักพิจารณาตรวจตราชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้บริสุทธิ์ดังนี้เถิด”

พระพุทธโอวาทนี้ พระอาจารย์แสดงว่า ตรัสสอนพระราหุลสามเณรเมื่อมีพระชนม์ ๗ พรรษา แต่อนุมานอย่างกว้างคงอยู่ในระหว่าง ๗ ถึง ๑๐ พรรษา ดูตามความ คือตรัสสอนให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นอันทรงอบรมในสีลสิกขาหรือปฐมศึกษา

พระพุทธโอวาทแก่เด็กอายุ ๑๘

ต่อมา พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่กรุงสาวัตถี โกศลรัฐ ประทับ ณ พระเชตวนาราม ได้ประทานพระโอวาทแก่พระราหุลสามเณร ทรงสอนให้พิจารณาแยกธาตุในกาย มิให้ยึดถือมาเป็นเครื่องย้อมใจ ทรงสอนวิธีอบรมจิตใจมิให้หวั่นไหว ให้ตั้งมั่น ตามควรแก่เด็กวัยรุ่น พระอาจารย์แสดงว่า ขณะที่ประทานพระโอวาทนี้พระราหุลสามเณรมีพระชนม์ ๑๘ พรรษา เป็นอันทรงอบรมในจิตตสิกขา หรือมัธยมศึกษา

พระพุทธโอวาทแก่เด็กใหญ่

ต่อมา ณ พระเชตวนารามนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงนำพระราหุลซึ่งได้อุปสมบทแล้วได้กึ่งพรรษา ไปประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ในป่าใกล้เคียงกับพระเชตวัน ได้ตรัสสอนอบรมปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่มีทั่วไปแก่สิ่งทั้งหลายในโลก จนพระราหุลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นอันทรงอบรมในปัญญาสิกขา หรืออุดมศึกษา นับว่าจบการศึกษาเพียงนี้

พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมพระราหุลด้วยพระโอวาทอื่นๆ นอกจากข้อใหญ่ๆ ที่ยกมานี้อีกมาก แต่ก็รวมลงในไตรสิกขาดังกล่าว เป็นอันได้ทรงทำกิจที่บิดาพึงทำแก่บุตรอย่างบริบูรณ์ ทั้งในฐานะเป็นพระบิดาในทางโลก ทั้งในฐานะเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระพุทธบิดาของพระสาวก ซึ่งเป็นพระพุทธบุตรทั้งปวง พระราหุลได้ตั้งใจศึกษา คือตั้งใจฟังพระโอวาทแล้วรับมาปฏิบัติจริงๆ จนสำเร็จในที่สุด พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นยอดของภิกษุผู้เป็น “สิกขกามะ” คือใคร่การศึกษา หรือรักการศึกษา เป็นบุตรดีที่ควรถือเป็นตัวอย่าง

เด็กชายหญิงทุกคนกำลังเติบโตต่อไปทั้งทางกายทั้งทางจิตใจ กำลังศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ จึงควรเป็น “สิกขกามะ” ผู้รักการศึกษาอย่างพระราหุล และควรหัดใช้แว่นส่องหรือกระจกส่องของพระพุทธเจ้าบ้าง คือแว่นใจหรือกระจกใจ ใช้ส่องตรวจตราดูกรรมของตนให้รู้แล้วชำระให้บริสุทธิ์สะอาด เหมือนอย่างอาบน้ำชำระกาย ส่องกระจกแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย รักษาความสะอาดไว้ทั้งทางกายและใจ ให้สะอาดกายเจริญวัย สะอาดใจเจริญสุข ทั่วกันทุกคน

ปุตฺตา วตฺถุ มนุสฺสานํ
บุตรเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย


๑ ตุลาคม ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2553    
Last Update : 19 มิถุนายน 2553 5:43:45 น.
Counter : 1387 Pageviews.  

๒๕. สรุปเรื่องการศึกษา



หลักพระพุทธศาสนา

๒๕. สรุปเรื่องการศึกษา

ไตรสิกขา


เมื่อครูอธิบายเรื่องอะไรให้ฟัง จะต้องมีหัวข้อ บางทีครูก็บอกหัวข้อให้ทราบ เมื่อได้ฟังอธิบายของครูเข้าใจดีแล้ว ก็จำไว้เพียงหัวข้อเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนให้คนปฏิบัติชอบ ก็มีหัวข้อเป็นที่รวมความ หัวข้อใหญ่คือสิกขา ๓ อันเรียกว่าไตรสิกขา ได้แก่ สิลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา หรือ ศึกษาศีล ศึกษาจิต ศึกษาปัญญา ซึ่งนับว่าเป็น ปฐมศึกษา มัยธมศึกษา อุดมศึกษา ในพระพุทธศาสนาโดยลำดับ ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติทุกประการรวมลงในหลักไตรสิกขานี้ สีลสิกขา เกี่ยวกับความประพฤติทั้งปวง จิตตสิกขา เกี่ยวกับภาวะทางจิตใจทุกอย่าง ปัญญาสิกขา เกี่ยวกับความรู้ความเห็นทุกประการ คนเราทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องมีความประพฤติของตน ต้องมีจิตใจของตน ต้องมีความรู้ความเห็นของตน จึงมีหน้าที่หรือมีความสมควรจะพึงศึกษาในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องของตนแท้ๆ และต้องศึกษาอยู่เรื่อยไปจึงจะมีความเฉลียวฉลาดต่อตนเองอยู่เสมอๆ ไม่เช่นนั้นก็จะโง่เขลาต่อตนเอง ฉะนั้น ไตรสิกขาของพระพุทธเจ้าจึงจำเป็นแก่ชีวิต เหมือนอย่างลมหายใจที่จำเป็นแก่ชีวิตร่างกาย หยุดหายใจเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น หยุดศึกษาเมื่อใดก็ตายจากความดีและความรู้เมื่อนั้น คนตายย่อมไม่มีความรู้สึกตัว คนที่ไม่รู้จักตนเองจึงเหมือนคนตายโดยแท้

หลักการศึกษาทางตะวันตก

หลักความคิดของฝ่ายตะวันตก ในเรื่องของคนและโลกเป็นต้น ดังที่เรียกว่า จริยธรรม (เอธิค) จิตวิทยา (ไซโคโลยี) ปรัชญาหรืออภิปรัชญา (ฟิโลโซฟี หรือ เมตาฟิสิก) ก็มีหลักเค้าเดียวกันกับสิกขา ๓ คือ จริยธรรมเค้าเดียวกับสีลสิกขา จิตวิทยาเค้าเดียวกับจิตตสิกขา ปรัชญาหรืออภิปรัชญาเค้าเดียวกับปัญญาสิกขา แต่ก็เป็นเพียงมีเค้าๆ เท่านั้น เพราะผู้ที่แสดงหลักเหล่านั้นก็กำลังศึกษาอยู่ บางทีแสดงเรื่องที่ยังศึกษาไม่ถึงจึงแสดงไปอย่างเดาหรือเก็งความจริง เหมือนอย่างกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมหนึ่งแต่ไปแต่งตำราชั้นมัธยมปลายหรือชั้นอุดมศึกษา ส่วนพระพุทธเจ้าได้ทรงสำเร็จการศึกษาหรือศึกษาจบ ดังที่เรียกว่าได้ตรัสรู้เองชอบแล้ว จึงทรงสั่งสอนวางหลักสิกขาทั้ง ๓ เพื่อให้ชาวโลกศึกษาปฏิบัติ ไตรสิกขาของพระองค์จึงเป็นหลักที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ และรวบรัดเข้าใจง่าย มีเหตุผลปฏิบัติให้สำเร็จผลได้จริง

หลักในการศึกษาในปัจจุบันอีกอย่างหนึ่ง (อีกนัยหนึ่งจาก ๔ หลักที่แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๒๑) ในบางสำนักจำแนกไว้ ๗ ข้อ (เรียกว่า ๗ ฮ.) คือ

(๑) แฮบบิท ฝึกสอนอบรมให้มีนิสัยดีงาม
(๒) (ฮ) ออนเนอร์ ฝึกสอนอบรมให้รู้จักรักเกียรติยศชื่อเสียงของตนเองของหมู่คณะประเทศชาติ
(๓) ฮาร์ต ฝึกสอนอบรมให้มีน้ำใจและอัธยาศัยอันดีงาม เข้าสังคมเป็น
(๔) เฮด ฝึกสอนอบรมให้รู้จักใช้หัว คือรู้จักคิดและใช้สมอง
(๕) แฮนด์ ฝึกสอนอบรมให้รู้จักใช้มือทำงานให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
(๖) แฮนด์เวอร์ค ฝึกสอนอบรมให้มีความอดทน ทำงานหนักเป็นเพื่อให้นิสัยที่อ่อนแอหายไป
(๗) เฮลธ์ ฝึกสอนอบรมให้เป็นคนดี มีพลานามัยสมบูรณ์

หลักเหล่านี้ก็แสดงปลีกย่อยออกไปจากหลักที่กล่าวมาแล้ว

อริยสัจจ์ ๔

ถ้ายังไม่ได้กล่าวถึงอริยสัจจ์ ๔ ก็รู้สึกว่าแสดงเรื่องการศึกษายังไม่จบ โดยเฉพาะยังไม่จบอุดมศึกษา เพราะการศึกษาให้เกิดปัญญาในพระพุทธศาสนานั้น โดยตรงมุ่งให้เกิดปัญญาในอริยสัจจ์ ๔ คำว่าอริยะหรืออารยะเป็นคำเดียวกัน หมายถึงคนที่ประเสริฐคนที่เจริญมีบางคนพูดว่า อารยชน อารยประเทศ บางทีชอบพูดว่า ทำประเทศไทยเจริญให้อย่างนานาอารยประเทศ ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า นานาอารยประเทศนั้นคือประเทศที่มีความเจริญอย่างไร? คำตอบปัญหานี้เข้าใจว่าน่าจะมีว่า คือเจริญด้วยความรู้ความสามารถในวิชาการในการสร้างสรรค์ประดิษฐ์กระทำสิ่งต่างๆ ทั้งในด้านบำบัดทุกข์บำรุงสุข ทั้งในด้านทำลายล้าง มีความก้าวหน้าจนถึงเป็นผู้จัดการโลกอยู่ในปัจจุบันนี้ อาจทำให้โลกสงบก็ได้ อาจทำให้โลกยุ่งเหยิงจนถึงเป็นสงครามโลกขึ้นก็ได้ อันที่จริงผู้ที่สามารถบันดาลโลกให้เป็นไปดังกล่าวได้นั้น ก็นับว่าเก่งอยู่ เมื่อก่อนนี้ก็มักเข้าใจว่ามีใครหรืออะไรเป็นผู้บันดาล แต่บัดนี้เข้าใจกันทั่วไปแล้วว่า มนุษย์นั่นเองเป็นผู้บันดาล โดยมากก็ในประเทศที่เราชอบยกย่องว่านานาอารยประเทศนั้นเอง การเรียกคนที่เจริญว่าอารยะ หรืออริยะ ก็เป็นการใช้เรียกที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์อยู่ ดังที่เรียกหมู่ชนที่อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศอินเดียเมื่อก่อนพุทธกาลว่าอารยัน หมายความว่าเป็นพวกที่เจริญ และยังมีการเรียกว่าอารยะเพราะเหตุอย่างอื่นอีก ดังที่พระอาจารย์ได้ประมวลแสดงไว้ ๔ ประเภทคือ

(๑) อาจารอริยะ เป็นอริยะด้วยความประพฤติ

(๒) ทัสสนอริยะ เป็นอริยะด้วยความเห็น หรือด้วยมีรูปร่างและอิริยาบถน่าดูน่าชม

(๓) ลิงคอริยะ เป็นอริยะด้วยเพศหรือด้วยชาติกำเนิด

(๔) ปฏิเวธอริยะ เป็นอริยะด้วยปัญญารู้ทั่วถึงในอริยสัจจ์

กล่าวเฉพาะในพระพุทธศาสนา นิยมเรียกบุคคลประเภทที่ ๔ นี้เท่านั้นว่าอริยะหรืออารยะ อันได้แก่พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย สัจจ์ แปลว่า ความจริง รวมกันเข้าว่า อริยสัจจ์ แปลว่า ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่พระอริยะตรัสรู้ หรือความจริงอย่างประเสริฐ อริยสัจจ์นี้ ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาโดยมากมักจะจำหัวข้อได้ คือ

(๑) ทุกข์ แปลว่าความไม่สบายก็ได้ แปลว่าความทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนไปก็ได้ ในภาษาไทยเมื่อพูดว่าทุกข์ ก็มักหมายกันว่า คือความไม่สบายกายความไม่สบายใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนายังหมายถึงความที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในโลกนี้มีอะไรเล่าที่ตั้งคงที่อยู่ได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดวงอาทิตย์และดวงดาวทั้งหลายตลอดถึงโลกก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ปีเดือนวันคืนก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ชีวิตก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ทุกๆ คนเกิดมาแล้วก็เติบโตขึ้นเรื่อย เป็นเด็กเล็กเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาวโดยลำดับ และก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ยังเปลี่ยนแปลงต่อไป เป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่ จนถึงที่สุดของชีวิต ฉะนั้น พระพุทธเจ้า เพื่อจะทรงชี้ว่าทุกข์คืออะไรให้เห็นอย่างประจักษ์ชัด จึงทรงชี้ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ คือทรงชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิตหรือของโลกดังกล่าวมานั่นเอง ข้อนี้เรียกว่าเป็นทุกข์ประจำชีวิต หรือประจำโลก เมื่อยังมีชีวิตหรือยังมีโลก ก็ต้องมีทุกข์ คือความเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกประหลาดอันใด เมื่อจะสรุปกล่าวให้สั้น ความเกิดแก่เจ็บตายทั้งสี่นี้ย่อลงเป็นสอง คือความเกิดและความดับ ซึ่งเป็นสิ่งสกัดหน้าสกัดหลังของโลกหรือของชีวิตทุกชีวิต นี้แหละเรียกว่าคติธรรมดา แปลว่าความเป็นไปตามธรรมดา สิ่งที่เป็นไปตามธรรมดาดังกล่าวเรียกว่าสภาวะ คือสภาพ แปลว่ามีภาวะของตนเอง หรือเป็นไปเอง หรือจะเรียกว่าสภาวธรรมก็ได้ ชีวิตร่างกายเรียกว่าเป็นสภาวะทั้งนั้น อีกอย่างหนึ่ง ความไม่สบายใจทุกๆ อย่างพระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ว่าเป็นทุกข์ ทุกๆ คนคงเคยประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง แล้วเกิดความทุกข์โศกต่างๆ นี้แหละพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นทุกข์ โลกหรือชีวิตประกอบด้วยทุกข์ดังกล่าวมาแล้ว ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นความจริงที่โลกหรือทุกๆ ชีวิตจะต้องเผชิญ

(๒) ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่าตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ตัณหามี ๓ คือ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อจะได้สิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ๑ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อเป็นนั่นเป็นนี่ ๑ วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อให้สิ่งหรือภาวะที่ไม่ชอบเสื่อมสิ้นไป ๑ ตัณหา ดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ใจต่างๆ ดังกล่าวแล้ว และเป็นเหตุให้ประกอบกรรมที่เป็นทุจริต ทำให้ประสบความทุกข์เพราะทุจริตอีกส่วนหนึ่ง

(๓) ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า ดับตัณหาเสียได้เป็นความดับทุกข์

(๔) มรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ทางสายหนึ่งที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการคือ สัมมาทิฐิ เห็นชอบ (คือเห็นอริยสัจจ์ ๔) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (คือดำริออก ดำริไม่พยาบาท ดำริไม่เบียดเบียน) สัมมาวาจา เจรจาชอบ (คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล) สัมมากัมมันตะ การงานชอบ (คือเว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (คือเว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด การทำเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ) สัมมาวายามะ พยายามชอบ (คือเพียรพยายามป้องกันมิให้ความชั่วเกิดขึ้น เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีให้เกิดขึ้น เพียรรักษาส่งเสริมความดี) สัมมาสติ ระลึกชอบ (คือระลึกไปในที่ตั้งของสติ) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ (คือตั้งใจให้เป็นสมาธิจนถึงอย่างแน่วแน่) มรรคมีองค์ ๘ นี้รวมเป็นทางเดียวไม่ใช่แปดทาง แต่แบ่งออกเป็นองค์ประกอบเป็น ๘ และสรุปรวมลงได้ในสิกขา ๓ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ รวมเป็นปัญญาสิกขา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ รวมเป็นสีลสิกขา สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ รวมเป็นจิตตสิกขา มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขานี้ เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

อริยสัจจ์ ๔ ประการนี้ รวมลงเป็นเหตุและผล คือ ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นี้เป็นฝ่ายทุกข์ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ นี้เป็นฝ่ายดับทุกข์

การศึกษาอบรมปัญญา โดยตรงมุ่งให้รู้ทั่วถึงอริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ และที่เรียกว่าปัญญาหรือรู้ทั่วถึงนั้น ต้องรู้ในความจริง ต้องรู้ในกิจคือหน้าที่จะพึงทำ ต้องรู้ในกิจที่ได้ทำไปแล้ว จึงจะเป็นปัญญาสมบูรณ์ การศึกษาก็สมบูรณ์

ผลของการศึกษา

ผลของการศึกษาในไตรสิกขาดังกล่าวโดยตรง คือความสวัสดี ได้แก่ความปลอดภัย ความผ่านพ้นปลอดโปร่ง

สีลสิกขา ศึกษาปฏิบัติให้เป็นคนมีศีล คือมีความประพฤติดี ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ทำให้เกิดความสวัสดี คือผ่องพ้นจากความเป็นคนชั่วเสียหาย และจากภัยเวรจากความทุกข์เดือดร้อนเพราะความชั่วร้ายเสียหาย

จิตตสิกขา ศึกษาปฏิบัติอบรมจิตให้ตั้งมั่นในความดี ทำให้เกิดความสวัสดี คือผ่องพ้นจากบรรดาเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี

ปัญญาสิกขา ศึกษาอบรมปัญญา ทำให้เกิดความสวัสดี คือผ่องพ้นจากความโง่เขลาเข้าใจผิด

ความสวัสดีผ่องพ้นดังกล่าว ท่านเรียกว่าวิมุตติ แปลว่าความหลุดพ้น ปฏิบัติพระธรรมของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะคือไตรสิกขาดังกล่าวเมื่อใด ก็ได้วิมุตติคือความหลุดพ้นเมื่อนั้นทันที ดังเช่นทุกๆ คนเมื่อรักษาศีลเช่นไม่ลักขโมยใครเมื่อใด ก็หลุดพ้นจากความเป็นขโมยเมื่อนั้นทันที และพ้นจากภัยเวรที่เกิดจากความเป็นขโมย

ส่วนผลโดยอ้อม คือผลดีต่างๆ ที่เกิดจากความดีตามคราวที่ความดีนั้นๆ จะพึงอำนวยให้ เทียบอย่างเมื่อตั้งใจเรียนดี ครูหรือผู้ปกครองก็ให้รางวัลเป็นบางครั้งบางคราว แต่ความจริง ผลของการเรียนดีโดยตรงก็คือความรู้ที่ได้จากการเรียนนั่นเอง ส่วนรางวัลต่างๆ ที่ได้รับเป็นผลโดยอ้อม หรือเป็นผลพลอยได้เท่านั้น

ความเข้าใจผิดในผล

คนโดยมากมักเข้าใจผิดในผลของความดี คือมักไปเข้าใจผลพลอยได้ว่าเป็นผลโดยตรง และมักไปมุ่งผลพลอยได้เป็นสำคัญ ดังเช่นเมื่อไม่ได้ผลที่เป็นวัตถุอะไรๆ ในเมื่อทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มักบ่นว่าทำดีไม่เห็นจะได้อะไร รักษาศีลก็ไม่เห็นร่ำรวยอะไร ทั้งนี้ เพราะไม่เข้าใจว่าผลของความดีคืออะไร เช่นความดีดังที่กล่าวแล้ว ผลของศีลก็คือความหลุดพ้นจากภัยเวรเพราะความประพฤติชั่วเป็นต้น วิมุตติคือความหลุดพ้นหรือความสวัสดีดังกล่าวนี้แหละเป็นผลแห่งความดีดังกล่าวทั้งปวง ผู้ที่ทำความดีได้อย่างมากย่อมแสดงถึงว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัว มีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ผู้อื่นเป็นส่วนรวมที่กว้างขวางออกไปโดยลำดับ และย่อมเห็นว่าการให้สำคัญกว่าการรับ และย่อมบำเพ็ญความดีเพื่อความดี มิใช่เพื่อผลตอบแทนใดๆ เป็นสำคัญ ดังจะพึงเห็นได้ว่า บรรดาผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ทั้งหลายซึ่งเรียกว่าเป็นผู้มีคุณทั้งสิ้นล้วนเป็นผู้ให้ เช่นมารดาบิดาเป็นผู้ให้ทุกๆ สิ่งแก่บุตรธิดา ครูอาจารย์เป็นผู้ให้ศิลปวิทยาแก่ศิษย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ให้การปกครองโดยทศพิธราชธรรม ให้ความปรากฏด้วยเกียรติและศรีสง่า ความเป็นขวัญใจ ความอุ่นใจ และความรวมใจแห่งประชาชน พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ให้แสงสว่างแห่งชีวิต ผู้มีอุปการะอื่นๆ ก็ล้วนเป็นผู้ให้อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยจิตใจประกอบด้วยการเสียสละ ท่านผู้ใหญ่เหล่านี้แหละชื่อว่าเป็นผู้มีคุณ ท่านผู้มีคุณทั้งปวงย่อมบำเพ็ญความดีเพื่อความดี อันแสดงถึงจิตใจที่หลุดพ้นหรือผ่องพ้นจากความชั่วตลอดถึงความเห็นแก่ตัว มากหรือน้อยตามภูมิชั้น ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยอบรมปัญญาให้รู้จักเหตุผลทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายก่อทุกข์และทั้งฝ่ายดับทุกข์ เทียบเคียงกันให้ประจักษ์ชัด และให้รู้จักคุณค่าของความดีให้รู้จักตีราคาของความดีว่าสูงกว่าความชั่วและผลต่างๆ ที่จะพึงได้เพราะความชั่ว ให้รู้จักว่าความดีทำให้เกิดเกียรติ การรักษาเกียรติก็คือรักษาความดีเอาไว้ ทิ้งความดีเสียเมื่อใดก็เป็นอันทิ้งเกียรติเสียเมื่อนั้น เมื่อศึกษาอบรมให้มีความประพฤติมีจิตใจมีความรู้มีความเห็นเข้าทางแห่งเหตุผลที่ถูกต้องดังกล่าว ก็จักบรรลุถึงความเป็นคนโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลสรุปยอดของการศึกษาของพระพุทธเจ้า

คนชนิดต่างๆ

คนที่เกิดมาท่านแสดงว่ามีหลายชนิดคือ

มนุสฺสเนรยิโก แปลว่า คนนรก หมายถึงคนที่ร้อนรนอยู่เสมอเพราะมีโลภ โกรธ หลง ประกอบทุจริตต่างๆ อยู่เป็นอาจิณ ซึ่งเหมือนเป็นไฟเผาให้ร้อนอยู่เรื่อย บางทีดูเหมือนเป็นสุขสมบูรณ์ แต่ความจริงถูกเผาอยู่เสมอ ทีแรกอาจเป็นไฟเย็น แต่เมื่อความชั่วปรากฏก็เป็นไฟร้อนขึ้นมาทันที

มนุสฺสติรจฺฉาโน แปลว่า คนเดียรฉาน คือคนที่ทำอะไรไม่มีความละอายไม่มีความเกรงกลัวต่อความชั่วอะไร ทำชั่วได้อย่างเปิดเผยหรือย่างหน้าตาเฉย

มนุสฺสเปโต แปลว่า คนเปรต คือคนที่มีโลภอยากได้อยู่ไม่รู้จักอิ่มจักพอ มุ่งที่จะอาศัยเบียดเบียนผู้อื่นอยู่เท่านั้น

มนุสฺสมนุสฺโส แปลว่า คนมนุษย์ คือคนที่รู้จักการควรการไม่ควร รู้จักละอายใจ รู้จักยับยั้ง และศึกษาอบรมตนให้มีศีลธรรมตามฐาน

มนุสฺสเทโว แปลว่า คนเทวดา คือคนที่ถึงพร้อมด้วยหิริ (ละอายรังเกียจความชั่ว) โอตตัปปะ (เกรงกลัวความชั่ว) มีความประพฤติสะอาด มีความสงบ

มนุสฺสวิสุทฺโธ แปลว่า คนผู้บริสุทธิ์แล้ว คือท่านผู้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ หรือในไตรสิกขาดังกล่าว จนดับตัณหาเสียได้ บรรลุถึงความดับทุกข์ ดังเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย

คนนรกคนเดียรฉานและคนเปรตนับว่าเป็นคนบกพร่อง มีความเป็นคนไม่สมบูรณ์ ส่วนคนมนุษย์คนเทวดาและคนบริสุทธิ์แล้วเป็นคนสมบูรณ์โดยลำดับ การศึกษาของพระพุทธเจ้ามุ่งให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ ดังแสดงมา

ประเทศไทยเราเรียกว่าเป็นประเทศนับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็ปรากฏว่ามีบุคคลที่บกพร่องอยู่มิใช่น้อย บางประเทศที่มิได้นับถือพระพุทธศาสนาปรากฏว่าคนที่ประพฤติดีอย่างสามัญเช่นไม่ลักขโมยไม่ต้องระวังรักษาสิ่งของกันเท่าไรมีอยู่มาก ดูก็น่าอายเขาอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาและตั้งใจปฏิบัติพระพุทธศาสนาตามสมควร ฉะนั้น แม้จะจัดการกับบุคคลอื่นไม่ได้ ก็ควรจะจัดการกับตนเอง แต่ละคนนี่แหละให้ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา ทำตนให้เป็นคนดี ให้เป็นคนสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ ก็จะเกิดความสวัสดีสมกับที่ต้อนรับกันด้วยสวัสดี

ปุญฺเญมว โส สิกฺเขยฺย
ควรศึกษาทำความดีแล


๑๗ กันยายน ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2553    
Last Update : 11 มิถุนายน 2553 9:16:44 น.
Counter : 630 Pageviews.  

๒๔. อุดมศึกษา



หลักพระพุทธศาสนา

๒๔. อุดมศึกษา

ศึกษาทุกอย่างเพื่อให้เกิดปัญญา


การศึกษาทุกอย่างเพื่อให้ขึ้นถึงขั้นสูงสุด คือ ปัญญา ปัญญาสิกขาได้แก่ศึกษาปัญญาจึงเป็นอุดมศึกษาของคน ที่จะแสดงในกัณฑ์นี้ ข้อที่ควรทราบก่อนคือ ปัญญาได้แก่อะไร? ศึกษาปัญญา นั้นศึกษาอย่างไร?

ปัญญา คือความรู้ทั่วถึงความจริงของสิ่งที่ควรรู้ทั้งหลาย คำว่า ปัญญา ซึ่งเป็นภาษามคธ กับคำว่า ปรัชญา ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต เป็นคำเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัส “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” เพราะไม่มีแสงอะไรที่จะส่องให้เห็นความจริงทั้งหลายได้เหมือนอย่างแสงปัญญา เพียงแต่จะคิดเลขสักข้อหนึ่ง จะใช้แสงอะไรส่องให้เห็นได้ นอกจากใช้ปัญญาคิด

ศึกษาปัญญา

ศึกษาปัญญาอันหมายถึงศึกษาเพื่อให้เจริญปัญญานั้น คือ ศึกษาด้วยการเรียน ๑ การคิด ๑ การทำ ๑

การเรียน ดังที่เรียกว่า โสตศึกษา ศึกษาด้วยการฟังทางหู ดังที่ฟังครูอธิบาย หรือฟังเทศน์นี้ ทัศนศึกษา ศึกษาด้วยการดูทางตา เช่นดูหรือเที่ยวดูสิ่งต่างๆ โดยมากศึกษาด้วยทางทั้งสองนี้ แต่ก็อาจศึกษาได้ทางอื่นอีก คือ ฆายนศึกษา ศึกษาด้วยการสูดกลิ่นทางจมูก สายนศึกษา ศึกษาด้วยการลิ้มรสทางลิ้น ผุสนศึกษา ศึกษาด้วยการถูกต้องทางกาย รวมความว่า ศึกษาด้วยอาศัยประสาททั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่การเรียนอาศัยทางหูทางตามากกว่าทางอื่น เพราะบุคคลมีภาษาสำหรับพูดถ่ายทอดความรู้ให้แก่กัน มีตัวหนังสือสำหรับเขียนอ่านแทนภาษา จึงอาจฟังหรืออ่านให้เกิดความรู้ขึ้นได้ ปัญญาที่เกิดจากความรู้ดังกล่าวเรียก สุตามยปัญญา แปลว่า ปัญญาที่เกิดจากการฟัง คือยกโสตศึกษาขึ้นเป็นที่ตั้ง เพราะส่วนใหญ่เรียนด้วยการฟัง ถึงจะดูหนังสือนั้นๆ ก็ใช้แทนภาษาที่พูดกันนั้นเอง จึงอาจนับเข้าในโสตศึกษาได้

การคิด คือคนเรามีจิตใจ และมีมันสมองซึ่งเป็นเครื่องมือของจิตใจ สำหรับคิดอ่านต่างๆ จึงอาจใช้คิดให้เกิดปัญญาได้ ดังที่มีนักคิดพบความจริงต่างๆ และตั้งเป็นศาสตร์ต่างๆ มาโดยลำดับ ปัญญาที่เกิดจากการคิดนี้ เรียก จินตามยปัญญา แปลว่า ปัญญาเกิดจากการคิด

การทำ คือทำให้มีขึ้นทำให้เป็นขึ้น เรียกว่า ภาวนา แปลว่า การทำให้มีให้เป็น เช่นเมื่อเรียนการค้าเรียนการทำนาทำสวนแล้ว ก็ทำการค้าทำนาทำสวนขึ้น เมื่อทำขึ้นเองดังนี้ ก็ได้ความรู้เกิดจากการที่ลงมือปฏิบัตินั่นเองโดยลำดับ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา แปลว่า ปัญญาเกิดจากภาวนา คือการทำให้มีให้เป็นขึ้น

สรุปวิธีศึกษาให้เกิดปัญญาเป็นสาม คือ สุตะ การฟังหรือการเรียน ๑ จินตา การคิด ๑ ภาวนา การลงมือทำ ๑ เรียกสั้นว่า สุ จิ ภา

ปัญญาต้องเป็นความรู้ทั่วถึงความจริง

ได้กล่าวแล้วว่า ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงความจริง ฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ทั่วถึงในสิ่งใด ก็ชื่อว่ายังไม่มีปัญญาสมบูรณ์ในสิ่งนั้น ดังที่มีเล่าถึงเด็กผู้เกิดในสกุลมั่งคั่งสามคน ซึ่งไม่เคยเห็นการทำนา กล่าวสนทนากันเรื่องที่เกิดของข้าว คนที่ ๑ กล่าวว่า ข้าวเกิดในยุ้ง เพราะเคยเห็นแต่คนโกยข้าวออกจากยุ้ง คนที่ ๒ กล่าวว่า ข้าวเกิดในหม้อข้าว เพราะเคยเห็นแต่คนคดข้าวออกจาหม้อ คนที่ ๓ กล่าวว่า ข้าวเกิดในชามข้าว เพราะเคยเห็นแต่ข้าวในชามที่เขาคดมาตั้งเทียบไว้เสร็จ อีกเรื่องหนึ่ง เรียกว่าคนตาบอดคลำช้าง คือมีคนตาบอด ๖ คน พากันไปดูช้าง แต่เมื่อไม่เห็นจึงใช้มือลูบคลำดู คนที่ ๑ เข้าไปคลำถูกที่สีข้างช้าง ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนกำแพง คนที่ ๒ เข้าไปคลำถูกที่งา ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนหอก คนที่ ๓ เข้าไปคลำถูกที่งวง ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนงู คนที่ ๔ เข้าไปคลำถูกที่เข่า ร้องบอกว่า รูปร่างเหมือนต้นไม้ คนที่ ๕ เข้าไปคลำถูกที่ใบหู ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนพัด คนที่ ๖ เข้าไปคลำถูกที่หาง ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนเชือก

เรื่องที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่างของความรู้ที่ไม่ทั่วถึง รู้เพียงแต่ตอนใดตอนหนึ่ง จึงทำให้เข้าใจผิด คำโบราณก็มีว่าฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด ต่อมาเมื่อรู้ทั่วถึงจึงจะเข้าใจถูก ดังเช่นเมื่อมองเห็นช้างทั้งตัวจึงจะรู้ว่าช้างมีรูปร่างเช่นไร ข้อที่ว่ารู้ทั่วถึงความจริงนั้นยังเป็นคำพูดรวมๆ อาจจะอธิบายออกไปได้อีกว่า คือรู้ทั่วถึงความจริงตามเหตุและผล พูดสั้นว่ารู้เหตุผลนั้นเอง เช่นในเรื่องการเรียน ก็มีความรู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้การเรียนไม่ได้ผล อะไรเป็นเหตุให้การเรียนได้ผล และไม่ได้ผลหรือได้ผลอย่างไร

โดยปกติ คนเราย่อมปลูกปัญญาได้เท่าที่มีโอกาสได้เรียนหรือได้ฟังได้เห็น เท่าที่สามารถคิดค้น และเท่าที่ได้ลงมือกระทำ เหมือนอย่างเรื่องเด็กสามคนนั้นรู้เรื่องที่เกิดของข้าวเท่าที่ได้เห็นมาเพียงเท่านั้น และเท่าที่คิดได้ในวัยเด็กเพียงเท่านั้น ถึงทุกๆ คนที่มีปัญญากันอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ก็เช่นเดียวกัน คงมีความรู้เท่าที่ได้ฟังได้เห็นมาเป็นต้นดังกล่าว ฉะนั้นจึงมีสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมากมาย เพียงแต่สิ่งที่คนไม่อาจเห็นได้ด้วยตาไม่อาจได้ยินได้ด้วยหู โดยปกติก็มีอยู่เป็นอันมาก ไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างอื่น เรื่องของความรู้จึงเป็นสิ่งที่เรียนกันไม่จบ ต้องจัดเป็นหลักสูตรไว้สำหรับเรียนในโรงเรียน เท่าที่ควรจะเรียนเพื่อเป็นหลักวิชาสำหรับออกไปประกอบการงาน เพื่อครองชีวิตและเพื่อฝึกให้เกิดความฉลาดสามารถเป็นต้น

ลับปัญญา

หลักสูตรที่เรียนในโรงเรียนดังกล่าวนั้น ข้อที่ว่าฝึกหัดให้เกิดความฉลาดสามารถนั้นพูดสั้นว่าเพื่อลับปัญญา เหมือนอย่างลับมีดให้คมเพื่อจะได้ใช้ในการครองชีวิตต่อไป เพราะมีความรู้หลายอย่างที่ไม่ได้นำไปใช้ในการครองชีวิตโดยตรง เช่นวิชาคำนวณเป็นต้น เรียนไปมิใช่เพื่อว่าจะทำอะไรจะต้องตั้งโจทย์เลขคิดคำนวณไปเสียทุกๆ อย่าง ทั้งนี้เว้นไว้แต่กิจการที่ต้องใช้หลักวิชาตามที่เรียนมาโดยตรง แต่การที่เรียนวิชาต่างๆ หลายอย่าง ก็เพื่อฝึกปัญญาหรือฝึกสมอง ให้เกิดความรู้กว้างขวาง ให้รู้จักใช้ความคิดอ่าน ให้รู้จักเหตุผล ให้มีความสามารถ ให้มีความเฉลียวฉลาด อันสมองหรือปัญญาก็คล้ายๆ กับร่างกาย ถ้าไม่มีการบริหารร่างกาย ไม่ใช้ร่างกายให้เคลื่อนไหวตามที่ควร ร่างกายก็จะอ่อนแอและติดขัด สมองหรือปัญญาของคนก็เหมือนกัน ถ้าไม่บริหารด้วยการให้การศึกษาอยู่เสมอ ด้วยวิธีดังกล่าวก็จะโง่ทึบลงไป ไม่ฉลาดเฉลียว คิดอะไรไม่ค่อยออก รู้อะไรไม่ทันท่วงที การฝึกฝนสมองหรือปัญญาเพื่อให้เกิดความเฉลียวฉลาด จึงเป็นกิจที่ควรทำอยู่เสมอ

ปัญญาช่วยตน

ปัญญาที่จะต้องนำไปใช้สำหรับชีวิตโดยตรงนั้น คือปัญญาที่สามารถใช้ช่วยตนได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่ชีวิต คือสามารถใช้ปัญญาแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ทำความสวัสดีให้เกิดขึ้นแก่ตนและผู้อื่น ในเวลาเช่นนี้ ถ้าไม่สามารถช่วยตนได้ถึงจะได้ร่ำเรียนมามากก็เข้าลักษณะแห่งคำว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ดังมีเรื่องเล่าเปรียบเทียบว่า มีนักเรียนนอกผู้หนึ่งเรียนสำเร็จจากต่างประเทศ กลับเข้ามาทำงานในที่แห่งหนึ่งซึ่งต้องข้ามแม่น้ำไปกลับทุกวัน และโดยปกติก็นั่งเรือจ้างของคนแจวเรือจ้างแก่คนหนึ่งเป็นประจำ ในขณะที่นั่งเรือข้ามฟาก ได้ถามคนแจวเรือจ้างว่า ลุงรู้ภาษาอังกฤษหรือเปล่า คนเรือจ้างตอบว่าไม่รู้ คราวต่อมาก็ถามว่า ลุงรู้ภาษาฝรั่งเศสหรือเปล่า คนเรือจ้างก็ตอบว่าไม่รู้ ในคราวต่อๆ มาก็มักถามว่า ลุงรู้แอลยิบรา (พีชคณิต) หรือเปล่า รู้ยีออรเมทรี (เรขาคณิต) หรือเปล่า คนแจวเรือจ้างก็ตอบว่าไม่รู้ๆ ครั้นต่อมาวันหนึ่ง เกิดมีคลื่นจัดจนถึงเรือจ้างจมล่มลง นักเรียนนอกผู้นั้นว่ายน้ำไม่ถนัดก็ร้องขอให้คนแจวเรือจ้างช่วย คนแจวเรือจ้างจึงตอบว่า ตนไม่มีความรู้อะไรสักอย่าง ให้นักเรียนนอกผู้นั้นเอาอังกฤษฝรั่งเศสมาช่วยซิ นักเรียนนอกผู้นั้นรู้สึกว่าตนจะจมน้ำตายแน่ก็หมดความทะนงตน พูดอ้อนวอนขอให้คนแจวเรือจ้างช่วยแล้วจะกราบไหว้ขอโทษ ฝ่ายคนแจวเรือจ้างก็เกิดความสงสาร จึงว่ายน้ำไปช่วยพยุงให้เข้ามาเกาะเรือจ้างไว้ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างแสดงว่า คนเรามีความสามารถในทางต่างๆ กันไม่ควรจะหมิ่นแคลนกัน คนแจวเรือจ้างมีความรู้ความสามารถในทางแจวเรือและในทางว่ายน้ำ อาจจะช่วยตนเองและผู้อื่นในทางนั้น ดังที่อาจช่วยนักเรียนนอกให้พ้นจากการจมน้ำ แม้หนูก็ยังช่วยราชสีห์ได้ในนิทานอีสป และนักเรียนนอกผู้นั้นเมื่อถึงคราวคับขันดังกล่าวก็ต้องใช้วิธีขอโทษและวิธีกราบไหว้ ซึ่งเป็นความอ่อนน้อมและอ่อนโยนซึ่งผู้ปกครองได้สอนมาแต่เด็กๆ นั่นเอง เป็นเครื่องช่วยตน

ลักษณะความฉลาด

ปัญญาเป็นเครื่องช่วยตนในการดำเนินชีวิตจริงๆ ดังกล่าวพระพุทธเจ้าตรัสเรียก นิปกปัญญา แปลว่า ปัญญาเป็นเครื่องปกปักรักษาตน กล่าวโดยทั่วไปได้แก่ความฉลาดที่มีลักษณะสามอย่างคือ

(๑) ความฉลาดรู้ในทางเจริญ คือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลในทางเจริญ เรียก อายโกศล

(๒) ความฉลาดรู้ในทางเสื่อม คือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลในทางเสื่อมเสีย เรียก อปายโกศล

(๓) ความฉลาดรู้ในอุบาย คือวิธีนำตนเข้าไปสู่ทางเจริญ รอดพ้นจากทางเสื่อมเสีย เรียก อุปายโกศล

โกศล คือความฉลาดรู้ทั้งสามนี้ เมื่อมีรักษาตัวอยู่ ย่อมจะดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด แม้เป็นผู้ปกครอง เช่นเป็นมารดาบิดา ก็จำต้องมีให้กว้างขวางออกไปจึงสามารถจะให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่บุตรธิดาเป็นต้นได้ โดยเฉพาะโกศลข้อสามจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง เป็นต้นว่าการศึกษาในบัดนี้ สามัญศึกษาจำต้องเรียนทั่วไปทุกคน ส่วนวิสามัญศึกษามีมาก ซึ่งก็ล้วนเป็นทางเจริญทั้งนั้น จึงมีปัญหาว่าจะเรียนต่อไปทางไหน และควรจะเรียนต่อไปจนถึงอุดมศึกษาหรือไม่ ถ้าเรียนต่อไปได้จะเรียนต่อไปในสาขาไหน และเมื่อเรียนสำเร็จแล้วจะทำงานอะไร งานที่จะพึงทำมีมาก ล้วนเป็นทางเจริญต่างๆ กัน ปัญหาเหล่านี้ ต้องใช้โกศลข้อสามตัดสินคือความฉลาดรู้ในอุบาย หมายถึงวิธีนำตนเข้าไปหาทางเจริญ โดยความคือ ความเจริญใดๆ ก็ตามถ้าตนไม่สามารถจะเข้าไปหาได้ทางเจริญนั้นๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ตน ส่วนทางเจริญที่เป็นประโยชน์แก่ตนนั้น ก็เฉพาะที่ตนสามารถเข้าไปหาได้เท่านั้น การนำตนเข้าไปหาทางเจริญที่ตนสามารถจะเข้าไปหาได้นี้เรียกว่า อุปาย ในที่นี้แปลว่า เข้าไปหาทางเจริญ ฉะนั้น ความฉลาดรู้ในข้อนี้ จึงจำต้องรู้เหตุแวดล้อม เป็นต้นว่า (๑) รู้เหตุ (๒) รู้ผล ของเรื่องที่เกี่ยวข้อง (๓) รู้จักตน ว่ามีกำลังสามารถเท่าไรเป็นต้น (๔) รู้จักประมาณ (๕) รู้จักกาลเวลา (๖) รู้จักประชุมชน หรือหมู่คนที่เกี่ยวข้อง (๗) รู้จักบุคคล ที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีความรู้เหตุแวดล้อมต่างๆ ดังกล่าว จึงจะสามารถตัดสินลงไปได้ว่า จะควรเรียนหรือให้เรียนอะไรแค่ไหน จะควรทำงานอะไร ซึ่งเมื่อเรียนและเมื่อทำไปแล้วจะเกิดความสำเร็จและความเจริญนี้แหละคืออุปายโกศล ฉะนั้น ปัญญาที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริงนั้นๆ จึงต้องเป็นปัญญาประยุกต์ คือที่ใช้ได้พอเหมาะแก่ตนและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนจะสามารถทำอะไรไปได้ตามที่อยาก จะทำได้ก็เท่าที่ตนสามารถจะทำได้ ตามที่เหตุต่างๆ ดังกล่าวแล้วอำนวย แต่คนที่มีความฉลาดมากย่อมสามารถปรับตนให้เข้ากับเหตุการณ์หรือปรับเหตุการณ์ให้เข้ากับตนได้ดีกว่าคนที่มีความฉลาดน้อย

หลักปัญญาของพระพุทธเจ้า

หลักปัญญาในพระพุทธศาสนา มุ่งให้รู้ตามหลักกว้างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อกล่าวโดยเฉพาะก็อาจสรุปได้ว่า

(๑) มุ่งให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ควรมิควร

(๒) มุ่งให้รู้คติ คือความดำเนินไปของธรรมดา

(๓) มุ่งให้รู้จักความจริงตามเหตุผล หรือรู้เหตุผลตามเป็นจริง ดังที่เรียกว่ารู้สัจจะคือความจริงนั้นเอง

(๔) มุ่งให้มีความเห็นชอบถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เป็นต้นว่าให้ทานรักษาศีล มีผลดีจริง ทำดีได้ผลดีจริง ทำชั่วได้ผลชั่วจริง โลกนี้โลกอื่นมีจริง มารดาบิดามีคุณจริง สัตว์ที่ผุดเกิดตามกรรมมีจริง สมณะที่ประพฤติปฏิบัติชอบจนถึงรู้แจ้งเห็นจริง ดังเช่นพระพุทธเจ้ามีจริง ตลอดถึงคำสั่งสอนของท่านก็เป็นจริง

หลักปัญญาเหล่านี้เป็นหลักที่ควรเชื่อ และควรศึกษาให้เกิดความรู้ทั่วถึง เมื่อยังรู้ไม่ได้เอง ก็เคารพเชื่อฟัง ไม่ลบหลู่ดูหมิ่น เหมือนอย่างบุตรธิดาเคารพเชื่อฟังโอวาทของมารดาบิดา หรือนักเรียนเคารพเชื่อฟังครูผู้ประสาทวิชา จะอวดเก่งกล้าไม่เชื่อท่านก็จะกลายเป็นคนดื้อรั้นไม่เข้าทาง เมื่อมีความเคารพอยู่ในหลักปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็จะมีความเห็นและการปฏิบัติเข้าทางที่ถูก ไม่เตลิดออกไปนอกทาง ใครๆ จะมาหลอกลวงลบล้าง ดังที่เรียกว่าล้างสมอง แล้วบรรจุหลักอะไรที่ผิดทางลงไปแทนหาได้ไม่

สรุปการศึกษาเพื่อให้เจริญปัญญา

การศึกษาเพื่อให้เจริญปัญญาดังกล่าว สรุปอย่างสั้นว่า สำเหนียกเพื่อให้มีความรู้เฉลียวฉลาด คือรู้จักเฉลียว ไม่ประมาทไว้วางใจ ดังที่เรียกว่ามีสติเฉลียวใจและมีความฉลาดสามารถปกปักรักษาตนได้ ปัญญาอย่างนี้ประกอบด้วยสติสูงกว่าความรู้ทั่วๆ ไป ผู้ที่มีปัญญาดังกล่าวสามารถปกครองตนและผู้อื่นให้สวัสดีได้ ดังเช่นพระมหากษัตริย์โดยลำดับรัชกาลมาได้ทรงดำเนินพระราชกุศโลบาย (กุศล + อุบาย คืออุปายโกศลนั่นเอง) นำประเทศชาติให้ผ่านพ้นอุปสรรคอันตราย รักษาสถาบันทุกอย่างของชาติไว้ได้โดยสวัสดี ดังที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์และในเหตุการณ์ในปัจจุบัน กล่าวเฉพาะในบุคคลแต่ละคน ใครจะเชื่อว่ามีปัญญาหรือไม่ มิใช่พิสูจน์ได้ด้วยใบประกาศนียบัตร แต่พิสูจน์ได้ด้วยเหตุการณ์ที่ชีวิตของแต่ละคนได้ประสบจริงๆ คือเมื่อประสบเหตุการณ์อะไรทุกอย่าง

(๑) ต้องรู้ว่ามีเหตุผลอย่างใด ผิดหรือถูกอย่างไร ควรหรือมิควรอย่างไร

(๒) ต้องสามารถหลีกละการที่มิควร ทำแต่การที่ชอบที่ควร

(๓) ต้องรู้วิธีที่จะปฏิบัติให้บังเกิดผลที่ดี โดยสวัสดีเรียบร้อย

ทั้งนี้ต้องอาศัยมีจิตใจตั้งมั่นแน่วแน่ ไม่อ่อนแอคลอนแคลนไปเพราะนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังที่แสดงแล้วในกัณฑ์ก่อน ซึ่งสรุปลงในความรัก ความชอบ ความชัง ความหลงนั้นเอง สิ่งใดที่จิตใจมีนิวรณ์เกี่ยวเกาะอยู่ สิ่งนั้นก็ชื่อว่าเกี่ยวข้องกับตน ทำให้เกิดความลำเอียงไปตามภาวะของจิตใจ ดังเช่นเมื่อมีความชอบในสิ่งใดก็ย่อมเห็นว่าสิ่งนั้นดี เหมือนอย่างสวมแว่นสีแดงก็เห็นรูปต่างๆ เป็นสีแดง เมื่อมีความชังในสิ่งใดก็ย่อมเห็นว่าสิ่งนั้นชั่วเหมือนอย่างสวมแว่นสีเขียวก็ย่อมเห็นรูปต่างๆ เป็นสีเขียว เมื่อมีความหลงในสิ่งใดก็ย่อมซบเซาอยู่ในสิ่งนั้น เหมือนอย่างสวมแว่นสีดำก็ย่อมเห็นรูปต่างๆ เป็นสีคล้ำ จึงไม่อาจตัดสินได้ถูกต้องตามเป็นจริง ต่อเมื่อสงบใจได้จากนิวรณ์ดังกล่าวมีจิตใจตั้งมั่นไม่คลอนแคลนแล้วพินิจดูใหม่อีกครั้งหนึ่งจึงจะเห็นความจริงได้โดยถ่องแท้ เหมือนอย่างถอดแว่นสีออกแล้วจึงจะเห็นรูปต่างๆ ได้โดยถูกต้อง ท่านสอนให้ทำสมาธิละนิวรณ์ก็เพื่อเหตุนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสโอวาทไว้ว่า

สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพราะว่าผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามเป็นจริงแล

๓ กันยายน ๒๕๐๓

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖





 

Create Date : 05 มิถุนายน 2553    
Last Update : 6 มิถุนายน 2553 6:11:37 น.
Counter : 522 Pageviews.  

๒๓. มัธยมศึกษา



หลักพระพุทธศาสนา

๒๓. มัธยมศึกษา

หลักสูตรใหญ่ของจิตตสิกขา


อบรมจิตให้มีระเบียบงดงามเป็นมัธยมศึกษา ความมีระเบียบอันหมายถึงมีศีล (คือความประพฤติปกติเรียบร้อยหรือประพฤติเรียบร้อยเป็นปกติ) เพราะรักษาวินัย (คือระเบียบสำหรับให้ปฏิบัติให้เกิดเป็นศีลดังกล่าว) รวมถึงทั้งมีวัฒนธรรมอารยธรรมประมวลเป็นสมบัติผู้ดี คือสมบัติของคนดี ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ปฐมศึกษา จำต้องเกี่ยวเนื่องกับจิตใจเป็นส่วนสำคัญ ถ้าจิตใจไม่รักความมีระเบียบ และภาวะของจิตใจก็ยังไม่มีระเบียบ อาการภายนอกก็ต้องยุ่งไม่มีระเบียบไปด้วย ยากที่จะปกปิดซ่อนเร้นได้ ฉะนั้น จึงควรศึกษาเรื่องการอบรมจิตใจต่อไป พูดง่ายๆ คือรักษาจิตใจอย่างไรไม่ให้ยุ่งเหยิงแต่มีระเบียบเรียบร้อย ให้สงบให้ตั้งมั่นในหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติของตน อันนี้แหละเป็นหลักสูตรใหญ่ของจิตตสิกขา ศึกษาจิต อันเป็นมัธยมศึกษาซึ่งจะแสดงในกัณฑ์นี้ แต่เพื่อเข้าใจง่าย จะสมมติเป็นเรื่องครูสอนนักเรียน

ครูสอนวิธีอบรมใจ

ในห้องเรียนแห่งหนึ่ง ครูกำลังสอนนักเรียนอยู่ แต่สังเกตเห็นนักเรียนหลายคนขาดความตั้งใจฟัง เพราะมีอาการตามที่ครูสังเกตเห็นต่างๆ กัน บางคนกำลังนั่งเหม่อ บางคนนั่งหน้าบึ้ง บางคนนั่งโงกหงุบหงับ บางคนดูกระสับกระส่าย บางคนดูสงสัยไม่เข้าใจ ครูจึงเรียกนักเรียนเหล่านี้ออกมาหน้าชั้น ถามว่ามีจิตใจเป็นอย่างไรไปหรือ สังเกตดูว่าไม่ได้ตั้งใจฟังครูอธิบาย ขอให้บอกตามความจริง ครูจะได้ให้คำแนะนำไปทีละคน คำบอกเล่าของนักเรียนและคำกล่าวอบรมของครูมีดังต่อไปนี้

นักเรียนคนที่หนึ่งซึ่งนั่งเหม่อบอกเล่าว่า กำลังคิดเพลินไปถึงละครโทรทัศน์ที่แสดงสนุกสนานเมื่อคืนนี้ และวันนี้ก็นัดจะไปดูภาพยนตร์เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว

ครูกล่าวอบรมว่า เวลานี้กำลังเรียนจะคิดอะไรเพลิดเพลินไปอย่างอื่นไม่ถูกต้อง ต้องปล่อยความคิดอื่นๆ ให้หมด รวมใจมาตั้งใจเรียนเท่านั้นจึงจะถูก สิ่งสนุกสนานสวยงามต่างๆ ทุกๆ คนก็ย่อมชอบใจ แต่ก็ต้องเลือกเฉพาะสิ่งที่เหมาะสมและรู้จักเวลา เช่นเล่นในเวลาที่ควรเล่น พักผ่อนในเวลาที่ควรพักผ่อน เรียนในเวลาที่ควรเรียน ทำการบ้านทบทวนวิชาในเวลาที่ควรทำ ถ้าใช้เวลาดูโทรทัศน์หรือเล่นสนุกเพลิดเพลินอะไรเสียหมด ไม่ทำการบ้านทบทวนวิชาอะไรกัน ก็ทำให้การเรียนอ่อนลง ยิ่งในเวลาเรียนยังติดใจมาคิดเพลินไปเสียอีกก็ยิ่งเป็นโทษอันตรายต่อการเรียน นี่แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า กามฉันท์ แปลว่า ความพึงพอใจในสิ่งปรารถนา สำหรับชั้นนี้หมายความว่าพึงใจปรารถนา หรือในเวลาที่ไม่ควรพึงปรารถนา นี่แหละเป็นอสุภะ คือไม่งาม เพราะในเวลาที่ควรตั้งใจเรียน แต่กลับมานั่งเหม่อคิดถึงละครโทรทัศน์เพลินไปอย่างนี้ก็ไม่งาม เหมือนอย่างเมื่อมาโรงเรียนก็ควรจะแต่งเครื่องแต่งกายนักเรียน แต่กลับแต่งอย่างอื่นมา เป็นการไม่งาม เพราะไม่ถูกต้อง แม้ในเวลาที่ควรจะมีความเพลิดเพลินพักผ่อน กลับไปคิดจดจ่ออยู่กับตำรับตำราปวดศีรษะ ก็ไม่งามเหมือนกัน ฉะนั้น ให้ควรรู้จักควรไม่ควร ให้รู้จักเวลา อย่างในเวลาเรียนเช่นนี้อย่าไปคิดอะไรอย่างอื่นเพลินไป จงข่มใจ ทำความตั้งใจฟังครูอธิบายวิชาแต่อย่างเดียว

นักเรียนคนที่สองบอกเล่าว่า กำลังโกรธเพราะผู้ปกครองไม่อนุญาตให้ไปเที่ยว

ครูกล่าวอบรมว่า ไม่ได้ไปเที่ยวไม่เห็นจะเสียหายอะไร ไปเที่ยวเสียอีกอาจจะต้องเสียหาย ผู้ปกครองจึงไม่อนุญาต ผู้ปกครองท่านมีหน้าที่ปกครองดูแล ท่านต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ส่วนนักเรียนมีหน้าที่ควรจะต้องเชื่อฟัง ไม่เช่นนั้นก็ไปเป็นผู้ปกครองเสียเอง แต่เป็นยังไม่ได้ เพราะยังต้องพึ่งท่านอยู่ ท่านต้องเลี้ยงดูส่งเสีย และข้อสำคัญต้องปกครองใจตนเองให้ได้ อย่าเอาแต่โกรธ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า โกธะ โทสะ บ้าง พยาบาท บ้าง อยู่ด้วยกันมากก็ต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง ผิดใจกันบ้าง เมื่อเขาไม่ทำตามใจเรา เราก็โกรธ ทำไมไม่คิดว่าเพราะเราไม่ทำตามใจเขาต่างหาก จะให้เขาเอาใจเราข้างเดียวอย่างนี้ไม่ยุติธรรม ควรหาทางกลางเพื่อปรองดองกัน คือเขาหย่อนใจมาให้เราบ้าง เราก็หย่อนใจไปให้เขาบ้าง ทุกฝ่ายไม่เอาแต่ใจของตนข้างเดียว ก็จะไม่โกรธกัน และควรคิดตั้งปรารถนาดีต่อกันด้วยเมตตาจิต นี่แหละเป็นวิธีผูกมิตรหรือผูกไมตรีจิตทำให้เกิดมิตรภาพระหว่างกัน ทำให้เกิดความรักความเคารพนับถือกัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้แผ่เมตตาต่อกันเป็นเครื่องป้องกันความโกรธหรือความพยาบาทเคียดแค้น เฉพาะนักเรียนผู้นี้ ซึ่งโกรธผู้ปกครองไม่อนุญาตให้ไปเที่ยว ก็เพราะท่านไม่ตามใจ ทำไมเราจึงไม่ตามใจท่านบ้างเล่า อย่างนี้แหละเรียกว่าคิดเอาแต่ใจตนเองข้างเดียวจึงไม่ยุติธรรม โกรธท่านไม่ถูก ท่านมีเหตุผลของท่าน ซึ่งเราควรจะเคารพเชื่อฟัง จงคิดให้เห็นเหตุผล ให้เห็นความรัก ความเมตตาของท่าน ให้รู้สึกว่าโดยที่แท้ ท่านรักเมตตาเราต่างหาก จงคิดระงับโกรธเสียอย่างนี้ มาตั้งใจฟังครูอธิบายวิชาดีกว่า

นักเรียนคนที่สามซึ่งนั่งโงกหงุบหงับ บอกเล่าว่า เมื่อคืนดูโทรทัศน์จนดึก

ครูกล่าวอบรมว่า นี่เอาเวลาที่ควรจะพักผ่อนไปเพลิดเพลินเสียนั่นเอง และคงจะใช้เวลาที่ควรทำการบ้านทบทวนวิชาไปดูละครเสียอีกเป็นแน่ ร่างกายจำต้องหลับนอนพักผ่อนให้เพียงพอ จึงจะมีสุขภาพอนามัย ให้รู้จักใช้เวลาให้ถูกต้อง ดังที่ได้สอนคนที่หนึ่งแล้ว ความโงกง่วง พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ถีนะ เป็นอาการซึมเซาของร่างกาย บางทีร่างกายไม่เป็นอะไรนัก แต่จิตใจเคลิบเคลิ้มซึมเซาท้อแท้เกียจคร้าน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า มิทธะ เรียกรวมกันว่า ถีนมิทธะ แปลว่า ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มทำให้ซึมทึบโง่ อย่าปล่อยให้ซึมเซาจะเคยตัว ต้องหัดให้ร่างกายและจิตใจกระปรี้กระเปร่าว่องไวอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ สรุปว่า ให้คิดถึงเรื่องที่จะทำให้หายง่วง ให้ตรึกตรองถึงสิ่งที่ได้ฟังได้เรียนมา ให้อ่านท่องทบทวน ให้ยอนหูทั้งสอง ลูบตัวด้วยฝ่ามือ ให้ลุกขึ้นยืน ลูบตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว ให้คิดทำใจให้สว่างกำหนดให้ปรากฏเหมือนอย่างกลางวันในจิตใจ ให้เดินกลับไปกลับมาสำรวมใจ ในที่สุดก็ให้นอนพักผ่อน และถ้าเกิดท้อแท้เกียจคร้านก็อย่ายอม ต้องปลุกใจให้เข้มแข็งขะมักเขม้น เราทุกคนสามารถแก้ไขตนของตนเองได้ เมื่อแก้โงกง่วงเคลิบเคลิ้มได้แล้วจึงจะมีกำลังตั้งใจฟังครูอธิบายวิชาได้ ไม่เช่นนั้นก็จะซึมเซาทึ่มโง่ ไม่รู้เรื่องอะไร

นักเรียนคนที่สี่นั่งกระสับกระส่าย บอกเล่าว่า มีเรื่องกลุ้มใจเพราะเรื่องทางบ้าน ได้ไปเที่ยวเขาดินวนาเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ เที่ยวดูสัตว์ต่างๆ ก็ตื่นเต้นใจดี แต่ครั้นนึกถึงเรื่องที่ขัดข้องก็กลุ้มใจ

ครูกล่าวอบรมว่า ครูควรจะรู้ต้นเหตุทางบ้าน และบางทีจำจะต้องปรึกษากับผู้ปกครองเพื่อแก้หรือป้องกันมิให้มีเหตุเช่นนั้น เหตุทางบ้านที่ทำให้เด็กกลุ้มใจนั้นมีมาก บางทีมิใช่เป็นความผิดหรือบกพร่องของเด็ก และเด็กก็โตขึ้นทุกวัน รู้จักคิดขึ้นทุกวันเหมือนกัน เห็นพฤติการณ์อะไรบางอย่างที่สับสนวุ่นวายเข้าก็กลุ้มใจ แต่บางทีก็เป็นเพราะเด็กเองคิดระแวงมากเกินไป เช่นระแวงไปว่าตนถูกดูหมิ่นว่าต่ำต้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือน้อยหน้าใคร หรือบางทีก็ตรงกันข้าม ร่าเริงใจมากที่เรียกว่าเหลิง ทำให้คิดฟุ้งซ่านอย่างที่เรียกว่าสร้างวิมานในอากาศ นั่งยิ้มอยู่คนเดียวก็มี ถ้าตรงกันข้ามก็นั่งหน้าเศร้าหรือนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว

สามเณรตีพระเถระ

มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า สามเณรหนุ่มหลานของพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง มีความน้อยใจในพระเถระ เพราะไม่รับผ้าสาฎกที่นำไปถวายด้วยความตั้งใจอย่างยิ่ง ในขณะที่กำลังยืนพัดท่านอยู่ด้วยพัดใบตาล ก็คิดว่าจะลาสิกขา และคิดต่อไปว่า จะลาสิกขาไปทำอะไร จึงคิดว่าจะขายผ้าสาฎกที่พระเถระไม่รับนั้น ซื้อแม่แพะสักตัวหนึ่ง แล้วขายลูกของแม่แพะ รวบรวมทรัพย์ไว้ให้มากพอแล้วก็จักมีภริยา ภริยาก็จะคลอดบุตรชายคนหนึ่ง ตนก็จักนำภริยาและบุตรนั่งเกวียนมาเพื่อไหว้หลวงลุง ครั้นมาในระหว่างทางก็จะร้องบอกให้ภริยาส่งบุตรน้อยมาให้ตนอุ้ม ภริยาก็ไม่ยอมส่งให้ อุ้มไปเอง แต่มีกำลังไม่พอ บุตรน้อยก็ตกลงไป ถูกล้อเกวียนทับ ตนจึงเกิดความโกรธ ตีหลังภริยาด้วยด้ามปฏัก สามเณรหนุ่มกำลังยืนพัดพระเถระ คิดปรุงเป็นเรื่องไปถึงตอนตีภรรยา ก็ตีศีรษะพระเถระด้วยพัดในตาล ต่อมาความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกไปอบรม และตรัสเป็นพระคาถาแปลความว่า “จิตเป็นธรรมชาติไปไกล ไปดวงเดียว ไม่มีสรีระ อาศัยอยู่ในถ้ำกาย ผู้ที่สำรวมรักษาได้จะพ้นจากเครื่องผูกของมาร” เรื่องที่คิดไปคล้ายกับเป็นจริงเช่นนี้ โดยมากไม่มีเหตุผล หรือบางทีมีอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย นี่แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ รำคาญใจ อย่าปล่อยให้เกาะกุมใจอยู่ได้ จะทำให้เป็นคนใจลอยหรือทำให้คับใจไม่มีสุข ต้องพยายามสงบใจให้ได้ ด้วยวิธีนับสิบ หรือกำหนดลมหายใจเข้าออก หรือใช้วิธีเปลี่ยนอารมณ์อย่างอื่นๆ นั่นก็ดีอยู่เหมือนกัน แต่ต้องรู้จักเลือกเปลี่ยนให้ดี บางทีเปลี่ยนไปหาอารมณ์ที่เลวกว่า เช่นไปเที่ยว ดื่มสุรา เล่นการพนัน ซึ่งเป็นอบายมุขต่ำลงไปอีก มาโรงเรียนนี้ก็เปลี่ยนอารมณ์เหมือนกัน ไปเปลี่ยนอารมณ์ที่เขาดินวนาได้ก็มาเปลี่ยนอารมณ์ที่โรงเรียนได้ คือมาตั้งใจฟังครูอธิบายวิชานี่แหละ พักความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ ไว้เสีย มีเรื่องอะไรครูจะหารือกับผู้ปกครองแก้ไขต่อไป

นักเรียนคนที่ ๕ ซึ่งนั่งสงสัยไม่เข้าใจ บอกเล่าว่า คิดสงสัยในวิชาที่เรียนและคิดสงสัยไปว่าจะเรียนจบหรือไม่ จึงทำให้ลังเลใจ

หัวใจนักปราชญ์

ครูกล่าวอบรมว่า อย่าปล่อยความสงสัยไว้ ต้องคิดทบทวนไต่ถาม เป็นนักศึกษาต้องมี สุ. จิ. ปุ. ลิ. สุ. (สุตะ) คือฟัง จิ. (จินตา) คือคิด ปุ. (ปุจฉา) คือถาม ลิ. (ลิขิต) คือเขียน ต้องเรียนให้เข้าใจตั้งแต่ต้นเพราะมาเรียนสม่ำเสมอ ทำความเข้าใจเพิ่มเติมติดต่อกันตามที่เรียนถึง หรือเตรียมให้เข้าใจล่วงหน้าไปจากที่สอนก็ยิ่งดี อันที่จริงมีความสงสัยยังแสดงว่ามีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้างจึงรู้จักสงสัย ถ้าไม่มีความรู้อยู่เลยในเรื่องใด ก็จะไม่รู้จักสงสัยในเรื่องนั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ไหวต้องตั้งต้นเรียนกันใหม่เหมือนอย่างสอบไล่ตก ฉะนั้น ต้องคอยเร่งกวดวิชาที่เรียน สงสัยไม่เข้าใจที่ไหนก็ต้องคิดทบทวนไต่ถามให้เข้าใจหายสงสัย ไม่พอกความไม่เข้าใจไว้อย่างดินพอกหางหมู หน้าที่ของนักเรียนก็คือตั้งใจเรียนให้ดีตั้งใจประพฤติให้ดีทุกๆ วัน อย่าไปทำลังเลรวนเรไม่แน่นอน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า วิจิกิจฉา แปลว่า ความลังเลใจไม่แน่นอน เกิดจากความสงสัยต่างๆ ตรัสสอนให้แก้ด้วยความรู้ คือเมื่อสงสัยในเรื่องใด ก็ต้องสืบสาวหาความรู้ในเรื่องนั้นจนถึงต้นเหตุ เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า ใส่ใจคิดสาวหาถึงต้นเหตุ โดยความก็คือ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ข้อสำคัญให้รู้จริง ไม่ใช่หลงว่ารู้ดังคนที่เข้าใจผิดหรือถูกล่อลวงต่างๆ มีความสงสัยเสียยังดีกว่าหลงว่ารู้แล้ว เพราะยังมีทางระมัดระวังตัวและค้นคว้าหาความรู้จริงต่อไป ครูจะชี้แจงข้อสงสัยในวิชาต่างๆ ให้และจะติดต่อให้ผู้ปกครองทางบ้านช่วยอีกทางหนึ่ง และจะหารือกับผู้ปกครองเพื่อทำให้เด็กของตนมีความมั่นใจในการเรียน ไม่สงสัยรวนเรว่าจะไปไม่ตลอด ซึ่งทำให้ใจท้อ แต่ว่าเฉพาะในบัดนี้ อย่าไปสงสัยลังเลอะไรอย่างอื่น ให้ตั้งใจฟังครูอธิบาย ให้เข้าใจในวิชาเฉพาะหน้าในบัดนี้ก่อน สงสัยอะไรก็ให้รีบถามทันที

ครูกล่าวสรุปว่า เท่าที่ครูอบรมมานี้ ก็เพื่อให้นักเรียนทำความสงบใจจากอันตรายของความตั้งใจ เพื่อให้รวมใจตั้งใจฟังครูอธิบาย และขอชี้แจงว่าความตั้งใจนี้ต้องใช้ในกิจที่ทำทุกอย่าง ในเวลาอ่านหรือเขียนหนังสือก็ต้องมีความตั้งใจอ่านตั้งใจเขียน จะทำการงานอะไรก็ต้องมีความตั้งใจทำ นี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า สมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่นใจ หรือเรียกว่า สมถะ ความสงบใจ หมายถึงตั้งใจไว้ให้มั่นในเรื่องที่ทำทุกอย่าง ด้วยความสงบใจจากความคิดยุ่งยากสับสนต่างๆ ดังที่ครูได้ชี้แจงมาแล้ว ซึ่งล้วนเป็นอันตรายหรือเป็นโทษของความตั้งใจหรือความสงบใจทั้งนั้น เครื่องทำให้ยุ่งยากใจเหล่านี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกั้นจิตใจ คือกั้นไว้ไม่ให้ตั้งมั่น ไม่ให้สงบ ไม่ให้บรรลุคุณความดี นิวรณ์เหล่านี้ ขอกล่าวสรุปเพื่อจำง่าย พร้อมทั้งศัพท์ที่เป็นชื่อเรียก คือ

นิวรณ์ห้า

๑. กามฉันท์ ความพึงพอใจในสิ่งปรารถนา ต้องแก้ด้วยคิดเปลี่ยนให้เห็นว่า ไม่งาม ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา เพราะเป็นอันตรายแก่ความตั้งใจเล่าเรียนให้สำเร็จ เป็นต้น
๒. พยาบาท ความโกรธแค้นขัดเคือง แก้ด้วยคิดชะโลมใจด้วยเมตตา ไมตรีจิต
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม แก้ด้วยคิดทำให้ตาสว่าง ทำใจให้สว่าง ให้ร่างกายและจิตใจกระปรี้กระเปร่าว่องไวอยู่เสมอ ไม่ยอมให้ทึมทือ
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แก้ด้วยวิธีทำให้ใจสงบ ใช้การนับสิบหรือกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ที่ทำให้ใจสงบ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลใจไม่แน่นอน ต้องแก้ด้วยศึกษาให้รู้ในเรื่องที่สงสัย ไม่พอกความสงสัยเอาไว้ ทำความมั่นใจให้แก่ตัวเอง

สมาธิต้องใช้ในการทุกอย่าง

วิธีอบรมจิตใจเหล่านี้ ครูสอนตามหลักของพระพุทธเจ้า ครูก็ได้แต่นำมาสอนเท่านั้น นักเรียนทุกคนต้องรับไปใช้ด้วยตนเอง ถ้านักเรียนไม่รับไปใช้เองแล้ว ครูก็ไม่สามารถจะบังคับให้นักเรียนตั้งใจของนักเรียนได้ ต้องตั้งใจของตนเอง ต้องรวมใจของตนเอง บางคนมักเข้าใจว่า สมาธิของพระพุทธเจ้าใช้ได้เฉพาะผู้ใหญ่ที่ไม่ทำงานอะไร นั่งหลับตาภาวนาอยู่เท่านั้น แต่ที่จริงเข้าใจผิด เพราะสมาธิคือความตั้งใจ ต้องใช้ในการทำอะไรทุกๆ อย่าง แต่จะต้องมีการฝึกหัดเหมือนอย่างการลับมีดที่หินลับมีด ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อลับมีดแล้วก็วางมีดทิ้งไว้บนหินลับมีดเท่านั้น ลับเพื่อให้มีดคมแล้วจะได้ใช้มีดทำประโยชน์ต่างๆ การหัดทำสมาธิคือหัดทำความตั้งใจก็เหมือนกัน ก็เพื่อจะใช้จิตใจที่รวมเข้าจนมีพลังดีแล้วไปใช้ในการทำอะไรต่างๆ

จิตใจของเรานี้ก็เหมือนอย่างดวงไฟ ถ้ามีเครื่องหุ้มห่ออยู่และไม่มีเครื่องรวมแสงก็จะปรากฏแสงสว่างน้อยและพร่าไป ถ้านำเครื่องหุ้มห่อออกเสียและมีเครื่องรวมแสง แสงสว่างก็จะมากและพุ่งไปทางเดียวกัน อันเทียบกันได้กับความตั้งใจที่แน่วแน่ ไม่มีอันตรายของใจต่างๆ มารบกวน ดังที่กล่าวแล้ว คือไม่เพลินคิด จิตไม่โกรธ ไม่โงกง่วงซึมเซา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลัดกลุ้ม ไม่ลังเลใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจก็มุ่งจะไปทางเดียว นี้แหละคือสมาธิ ความตั้งใจพร้อมที่จะใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้ทุกอย่าง จะฟังจะอ่านจะเขียนเล่าเรียนวิชาอะไรก็ได้ทั้งนั้น จะทำงานอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ขอให้ใช้ในทางที่ดีก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าทรงทราบจิตตานุภาพคืออำนาจจิต และทรงแสดงวิชาทางจิตไว้เป็นอันมาก ในบัดนี้ก็มีผู้สนใจมากขึ้นได้มีนายแพทย์หลายคนศึกษาวิชาสะกดจิตตามตำราต่างประเทศเพื่อบำบัดโรค และมาทดลองผสมกับวิธีทำสมาธิจนปรากฏอำนาจพิเศษของจิตบางอย่าง เช่นผูกตาและเปิดหน้าส่วนที่สงสัยว่าจะใช้แทนประสาทตาได้ แล้วให้อ่านหนังสือตามที่มีผู้มาส่งให้อ่าน ก็ปรากฏว่าอ่านได้เป็นเครื่องสนับสนุนว่า อำนาจจิตที่นอกเหนือไปจากมันสมองนั้นมีจริง

สรุป

ในที่สุดครูได้กล่าวว่า เครื่องแวดล้อมของนักเรียนต่างๆ นั้นสำคัญมาก คำทางศาสนาเรียกว่าอารมณ์ ทางบ้านและทางโรงเรียนจะต้องร่วมมือกันจัดให้นักเรียนได้รับเครื่องแวดล้อมที่ดี ที่ถูกต้องเหมาะสม และต้องร่วมกันอบรมดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอะไรผิดสังเกตต้องสอบสวนสอบถาม กับให้คำแนะนำในทางที่ถูก ไม่ใช่บังคับกันเรื่อยไป ต้องยกบ้าง ข่มบ้าง ปลอบโยนบ้าง ปล่อยบ้าง ตามแต่จะควรทำอย่างไรให้พอเหมาะพอดี

เรื่องที่แต่งเล่ามานี้ ที่จริงเป็นเรื่องของทุกๆ คน และเมื่อแต่ละคนเป็นทั้งนักเรียนเป็นทั้งครูด้วยตนเอง จึงจะแก้ไขภาวะแห่งใจของตนเองได้ดี

ในโอกาสที่ “ศรีสัปดาห์” ได้มีอายุเจริญก้าวหน้ามาด้วยความมั่นใจ ย่างเข้าปีที่ ๑๐ ในบัดนี้ ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษา “ศรีสัปดาห์” ให้มีความมั่นใจไม่คลอนแคลนเพราะนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดำเนินกิจการบำเพ็ญประโยชน์ให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

ขอให้นักเรียนนักศึกษาทั้งหลาย ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจาก “ศรีสัปดาห์” จงมีจิตประกอบด้วยความกตัญญูกตเวที และตั้งจิตคิดปรารถนาดีให้ “ศรีสัปดาห์” พร้อมทั้งผู้บริจาคทุนอุปการะทั้งหลาย มีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นและจงสนองเจตนาดีของ “ศรีสัปดาห์” ด้วยทำความตั้งใจให้แน่วแน่มั่นคงศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจประพฤติดี ตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีสืบต่อไปทุกๆ คนเทอญ

จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ การฝึกจิตเป็นความดี

๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖




 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 28 พฤษภาคม 2553 6:11:53 น.
Counter : 519 Pageviews.  

๒๒. ปฐมศึกษา



หลักพระพุทธศาสนา

๒๒. ปฐมศึกษา

ความมีระเบียบ


ดอกไม้ที่จัดไว้ในพานและแจกันอย่างเป็นระเบียบงดงามบนโต๊ะบูชาพระ เมื่อมองดูจะรู้สึกว่าเรียบร้อยงดงามน่าดูน่าชม ในห้องที่อยู่อาศัย เมื่อวางสิ่งของต่างๆ ไว้ตามที่โดยเรียบร้อยก็จะดูเรียบร้อยงดงาม ได้ประโยชน์ ดังคำว่าของใช้ไว้เป็นที่หายก็รู้ดูก็งามตา บ้านเรือนเมื่อจัดวางสิ่งต่างๆ ให้เป็นระเบียบ รักษาความสะอาดให้ทั่วถึงตลอดถึงบริเวณบ้าน ก็จะดูงดงามน่าอยู่น่าอาศัย อาหารที่บริโภค ภาชนะสำหรับใช้ ตลอดถึงเครื่องปรุงอาหารต่างๆ เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ที่หลับที่นอน ตลอดถึงที่ทิ้งที่ถ่ายสิ่งที่ไม่สะอาด เมื่อจัดให้เรียบร้อยให้สะอาดและถูกต้องด้วยหลักสุขลักษณะอนามัย ก็จะน่าดูน่าชมให้เกิดความสุข แม้ภายนอกบ้านออกมา ถนนหนทางบ้านเรือนทั่วไป ตลอดถึงโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน เมื่อช่วยกันรักษาความเรียบร้อยความสะอาด ไม่ทำให้สกปรกรกรุงรัง ก็จะแลดูเรียบร้อยงดงาม และให้เกิดความสุขร่วมกันโดยทั่วๆ ไป แม้สิ่งของของตนเองที่นอกจากนี้ เช่นหนังสือเรียน สมุด ดินสอ ก็รักษาความสะอาดและทะนุถนอม เมื่อจะเขียนก็เขียนเฉพาะเรื่องที่ควรเขียนลงไปในสมุด และเขียนให้เรียบร้อยให้มีระเบียบและถูกต้อง หนังสือนั้นเขียนสำหรับอ่าน ก็ต้องเขียนให้อ่านออก และสำเหนียกสังเกตวิธีใช้ตัวอักษรสะกดการันต์เพื่อเขียนให้ถูก หนังสือเมื่อเปิดอ่านก็ไม่เปิดพลิกโดยแรงและไม่เปิดแบะเกินไป จะเป็นเหตุให้ฉีกขาดเสียหาย บางทีหนังสือยับไปเสียก่อน เหล่านี้เป็นต้น แม้กิริยามารยาทก็เช่นเดียวกัน การพูดจา การแสดงกิริยาทางกาย เมื่อใช้วาจาที่ถูกต้องเรียบร้อย จะยืนเดินนั่งนอนก็เรียบร้อย มีมารยาทดี รู้จักแสดงความเคารพในผู้ที่ควรเคารพ ไม่แสดงกิริยาชนิดไม่มีมารยาทหรือชนิดล่วงเกินต่อผู้หลักผู้ใหญ่และบุคคลทั่วๆ ไป ปฏิบัติตนให้เป็นผู้มีสมบัติของผู้ดีคือสมบัติของคนดี คนที่มีกิริยามารยาทดีทั้งทางกายทั้งทางวาจาเช่นกล่าวมานี้ ย่อมเป็นคนเรียบร้อย น่านิยมชมชอบ นี้แหละคือความมีระเบียบ เมื่อมีระเบียบเพราะจัดให้ถูกที่เหมาะสม ก็ย่อมเกิดความเรียบร้อยงดงาม

ความมีระเบียบของธรรมชาติ

ความมีระเบียบนี้ ย่อมมีอยู่แม้โดยธรรมชาติ ดังเช่นมีในต้นไม้และในร่างกายของสัตว์ดิรัจฉาน ในต้นไม้มีลำต้น กิ่งใบ ดอก มีรูปและสีต่างๆ ประกอบกันอยู่ตามที่ ร่างกายของสัตว์ดิรัจฉานเล่า มีรูปพรรณสันฐาน มีขนสีต่างๆ ประกอบกันอยู่อย่างมีระเบียบ เช่นนกต่างชนิด แม้ร่างกายของคนเราเองอวัยวะต่างๆ ก็ประกอบกันอยู่อย่างมีระเบียบ เช่นส่วนศีรษะ ส่วนลำตัว ส่วนแขนขา อวัยวะภายในต่างๆ เช่นมันสมอง ประสาทต่างๆ หัวใจ ปอด เป็นต้น ก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีระเบียบทั่วถึงกัน ถ้าร่างกายประกอบกันไม่ถูกที่ เช่นหู ตา จมูก ปาก ของใครประกอบอยู่ผิดที่ ก็จะดูพิกลพิการพิลึกพิลั่นแปลกผู้แปลกคนไป และเมื่อหัวใจปอดเป็นต้น ไม่ปฏิบัติหน้าที่ไปอย่างมีระเบียบ ก็หมายความว่าเกิดเป็นโรคขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องรีบแก้ไขรักษา แม้ธรรมชาติก็ยังมีความเป็นระเบียบเช่นนี้ ถึงส่วนที่ใหญ่กว่านี้ก็มีความเป็นระเบียบเช่นเดียวกัน เช่นการหมุนของโลก ของดวงจันทร์และของดาวพระเคราะห์ทั้งหลายที่หมุนไปรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ ก็หมุนไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยมีเกณฑ์ที่แน่นอน ฉะนั้น กำหนดวันเดือนฤดูและปีจึงเป็นไปสม่ำเสมอแน่นอนอาจคำนวณเวลาได้โดยถูกต้อง ถ้าไม่มีระเบียบ เวลาต่างๆ ก็จะคลาดเคลื่อนไปหมด และจะเกิดอันตรายอย่างมหาศาล คิดดูง่ายๆ เฉพาะโลกนี้เท่านั้น ผู้ที่เรียนภูมิศาสตร์ย่อมจะทราบได้ว่าบนพื้นผิวของโลกก็มีบริเวณที่เป็นน้ำมากกว่าพื้นดิน ถ้าโลกหมุนผิดท่าไปอย่างไร คือเอียงผิดระเบียบไป น้ำในมหาสมุทรก็จะบ่าพังลงมาท่วมโลกที่เป็นส่วนพื้นดิน ทำลายชีวิตคนและสัตว์ดิรัจฉานที่อาศัยอยู่บนพื้นดินให้หมดไปทั้งโลกก็น่าจะได้ หรือหมุนเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์จนเกินไปก็จะเกิดไฟไหม้โลกขึ้นได้ หรือมิฉะนั้นถ้าหมุนเคว้งคว้างไปอย่างไม่มีระเบียบก็จะไปชนกับดาวดวงอื่นๆ ที่เป็นโลกแต่ละโลก จนทำให้โลกแตกไปด้วยกัน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะไม่เกิดขึ้นในเมื่อโลกหมุนไปอย่างมีระเบียบ ด้วยอำนาจของแรงถ่วงหรือแรงดูดดึงซึ่งรักษาความเป็นระเบียบที่เป็นดุลยภาพไว้ได้

ความมีระเบียบของธรรมดา

มิใช่แต่ในธรรมชาติเท่านั้น แม้ในธรรมดาก็มีความเป็นระเบียบเหมือนกัน เป็นต้นว่าหลักของกรรมดังที่ได้แสดงแล้ว คือสัตว์โลกทั้งปวงทั้งมนุษย์และดิรัจฉานย่อมหมุนไปตามกรรม กรรมเป็นแรงถ่วงหรือแรงดูดดึงให้สัตว์ทั้งหลายเป็นไปในระเบียบเดียวกัน คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้แหละเป็นหลักยุติธรรมหรือดุลยภาพของธรรมดา ทำให้เกิดระเบียบเป็นอันเดียวขึ้น ถ้าไม่มีหลักกรรมดังกล่าวก็จะไม่ดุลยภาพหรือยุติธรรมในธรรมดา ก็จะเกิดสับสนวุ่นวายดังที่เรียกว่า เป็นไปตามพระมโน (คือใจ) ของใครก็ได้ที่เข้าใจว่าเป็นผู้บันดาลต่างๆ แต่ความสับสนวุ่นวายอย่างนั้นไม่มี ก็เพราะมีหลักกรรมทำให้เกิดดุลยภาพดังกล่าวเช่นเดียวกับมีหลักแรงความถ่วงหรือแรงดูดดึง ทำให้เกิดดุลยภาพในการหมุนของโลกเป็นต้น ความเป็นระเบียบของสิ่งต่างๆ จึงมีอยู่โดยทั่วไป

ความมีระเบียบเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมอารยธรรม

คนเรามีสติปัญญาสูงกว่าสัตว์ดิรัจฉาน จึงรู้จักสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นแก่ตนและสังคมยิ่งกว่าพื้นเพเดิม พึงมองดูเทียบดูกับสัตว์ดิรัจฉาน สัตว์ดิรัจฉานตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนบัดนี้ ไม่มีปัญญาสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตน การกิน การอยู่อาศัย และกิริยา อาการต่างๆ เป็นต้น เดิมเป็นอย่างไร บัดนี้ก็เป็นอย่างนั้น ทำอะไรได้เท่าที่ธรรมชาติอำนวยให้มาเท่านั้น ส่วนหมู่มนุษย์มีสติปัญญาปรับปรุงให้ดีขึ้นเจริญขึ้นโดยลำดับ ดังจะเห็นได้ว่าอาหารก็ปรับปรุงให้ดี เครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัยเป็นต้น ก็จัดสร้างให้เพียงพอแก่ความต้องการและให้วิจิตรสวยงามให้เป็นสุขสบาย และรวมกันเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นประเทศชาติ มีพระเจ้าแผ่นดิน มีรัฐบาล มีโรงเรียน โรงพยาบาล มีอาชีพต่างๆ มีเครื่องทะนุบำรุงความสุขต่างๆ มีทหารตำรวจ ตลอดจนถึงมีศาสนาสำหรับเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เหล่านี้แหละรวมเรียกว่าวัฒนธรรม หมายถึงเพาะปลูกความเจริญให้เกิดขึ้น หรือเรียกว่าอารยธรรม หรือนาครธรรม หมายถึงรู้จักสร้างให้เป็นบ้านเป็นเมืองที่มีความเจริญเพียบพร้อมด้วยสิ่งต่างๆ ตลอดถึงขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม วัฒนธรรมและอารยธรรมนี้ หาไม่ได้หรือหาได้ยากในหมู่สัตว์ดิรัจฉาน และในพวกคนป่าที่ยังประพฤติอยู่ตามเดิมอย่างสมัยดึกดำบรรพ์ เมื่อมองหมู่มนุษย์เทียบกับหมู่สัตว์ดิรัจฉานหรือคนป่าแล้ว ย่อมจะเข้าใจความหมายของคำว่าวัฒนธรรมและอารยธรรมเพราะคนเรามีวัฒนธรรมและอารยธรรมอยู่ จึงเจริญก้าวหน้าไปไกล ต่างจากสัตว์ดิรัจฉานมากมาย ดังที่เป็นไปอยู่นี้ แต่วัฒนธรรมและอารยธรรมโดยมากมีอยู่เพียงผิวเผิน เหมือนอย่างเพียงผิวหนัง พ้นผิวหนังไปแล้วก็ไม่พบวัฒนธรรมหรืออารยธรรม หมายความว่ามีแต่ภายนอกเท่านั้น ส่วนภายในเต็มไปด้วยหายนธรรม (เหตุของความเสื่อม) หรืออนารยธรรม (ความเป็นป่าเถื่อนไม่เจริญ) ฉะนั้น คนเราโดยมากจึงมีภายนอกและภายในไม่ตรงกัน เช่นภายนอกรักษามารยาทอันดีต่อกัน แต่ภายในคิดไม่ดีต่อกัน เช่นคิดทำร้ายประหัตประหารกัน คือบางทีภายในใจไม่มีวัฒนธรรมเลยทั้งที่ภายนอกแสดงว่ามีวัฒนธรรมต่อกัน เป็นการตีหน้าซื่อแต่ใจคด เรื่องเช่นนี้มีมานานแล้ว จนถึงมีคำกล่าวมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ว่า สัตว์ดิรัจฉานอ่านง่าย ส่วนมนุษย์อ่านยากเพราะมีชั้นเชิงมากนัก เหมือนอย่างป่ารกชัฏ ไม่รู้ว่าสิงสาราสัตว์จะซ่อนอยู่ที่ไหนบ้าง แม้คำกลอนในโลกนิติก็มีว่า

พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา กำหนด
จิตมนุษย์นี่ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง ฯ


ศีลและวินัย

พระพุทธเจ้าทรงเสริมความมีระเบียบให้เข้าถึงจิตใจ เริ่มด้วยศีลและวินัย
ท่านผู้ที่หยั่งจิตมนุษย์ได้โดยถูกต้องและวางหลักการอบรมกายวาจาพร้อมทั้งจิตใจไว้อย่างบริบูรณ์ก็คือ พระพุทธเจ้า หลักแรกที่ทรงวางไว้ก็คือศีล คำว่า ศีล แปลตามศัพท์ว่า ปกติ หมายความว่า ความเป็นปกติเรียบร้อย อย่างหนึ่ง ความเคยชิน ลงรูปลงตัวติดอยู่ ประจำอยู่เป็นปกติ อย่างหนึ่ง ความปกติเรียบร้อยนั้น หมายถึงความปกติเรียบร้อยของความประพฤติ เพราะเว้นการที่ควรเว้น ประพฤติการที่ควรประพฤติ จะเว้นอะไรจะทำอะไร เมื่อกล่าวโดยทั่วไปก็สุดแต่ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นระเบียบของตระกูล ระเบียบของโรงเรียน ระเบียบราชการ ระเบียบของทหาร ดังที่เรียกว่าวินัยข้าราชการ วินัยทหาร เป็นต้น เมื่อเป็นพุทธศาสนิกก็ต้องถือวินัยของพระพุทธเจ้า คือเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไว้ ทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติอนุญาตไว้ ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เหล่านี้แหละเรียกว่าวินัย ซึ่งเป็นคำสั่ง คู่กับพระธรรมซึ่งเป็นคำสอน พระธรรมและพระวินัยนี้รวมเป็นพระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

วัตถุประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย

ในชั้นแรก พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นพระธรรมคือคำสอน ต่อมาเมื่อมีพุทธบริษัทขึ้น คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา กล่าวโดยเฉพาะภิกษุบริษัท เมื่อมีผู้เข้ามาบวชมีเชื้อชาติ วรรณะ ตระกูลต่างๆ กัน มีศรัทธาต่างๆ กัน เพิ่มจำนวนมากขึ้น มีผู้ที่บวชมานานมากขึ้น ไพบูลย์มากขึ้น ลาภดีๆ มากขึ้น ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยในสงฆ์ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยคือคำสั่งเป็นเครื่องปกครองพระสาวก เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยบริสุทธิ์สะอาดเสมอกันในสงฆ์ อำนาจประโยชน์ คือวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นนั้น

เพื่อให้เป็นสงฆ์คือเป็นหมู่กันด้วยดี
เพื่อให้สงฆ์มีผาสุก
เพื่อนิคคหะ (ข่ม) บุคคลที่ด้านดื้อ
เพื่อให้ภิกษุที่มีศีลเป็นที่รักอยู่เป็นผาสุก
เพื่อป้องกันมิให้มีความหมักหมมอยู่ในปัจจุบัน
เพื่อกำจัดความหมักหมมมิให้มีต่อไปภายหน้า
เพื่อให้บุคคลผู้ยังไม่เลื่อมใสมีความเลื่อมใสขึ้น
เพื่อให้บุคคลผู้เลื่อมใสอยู่แล้วมีความเลื่อมใสยิ่งขึ้น
เพื่อให้พระสัทธรรมคือพระศาสนาดำรงอยู่
เพื่อช่วยให้มีวินัย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์เรียบร้อยขึ้นในสงฆ์

วินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสำหรับบรรพชิต (ผู้บวช) เรียกอนาคาริยวินัย (วินัยของผู้ไม่ครองเรือน) ได้แก่ศีลของภิกษุสามเณรในบัดนี้ ส่วนศีลของคฤหัสถ์ – ฆราวาส คือ ศีล ๕ ศีล ๘ เรียกอาคาริยวินัย (วินัยของผู้ครองเรือน) อันที่จริงศีลมีจำนวนต่างๆ นั้น เรียกตามจำนวนสิกขาบท คือจำนวนข้อหรือมาตราในพระวินัยนั้นเอง ดังเช่นปฏิบัติตามวินัยบัญญัติ ๕ สิกขาบท คือ ๕ ข้อ ก็เรียกว่ามีศีล ๕ ๘ ข้อ ก็เรียกว่ามีศีล ๘ ลำพังตัวศีลไม่มีจำนวนเพราะมีลักษณะอย่างเดียว คือความเป็นปกติเรียบร้อยเท่านั้น

เหมือนอย่างกฏหมายมีมากข้อ แต่ก็เพื่อผลร่วมกันอย่างเดียวเท่านั้น คือความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชน และเมื่อปฏิบัติเป็นปกติแล้วก็เป็นศีลที่อยู่ตัว คืองดเว้นได้เป็นปกติทีเดียว ผู้ที่ปฏิบัติได้เป็นปกติดังกล่าว ย่อมไม่รู้สึกอึดอัดลำบาก เพราะทำได้จนอยู่ตัวหรือคงตัวแล้ว ทั้งไม่ต้องคำนึงว่ามีกี่ข้อ แต่ก็อาจปฏิบัติได้โดยไม่ผิด เหมือนอย่างการปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน เมื่อปฏิบัติอยู่เป็นปกติก็ไม่ต้องคำนึงว่าระเบียบมีกี่ข้อ บางทีถูกถามก็ตอบไม่ได้ แต่เมื่อจะทำอะไรก็ไม่ผิดระเบียบ หรือผิดเข้าก็รู้ได้ นี้สำหรับผู้ปฏิบัติจนอยู่ตัวแล้ว เมื่อกล่าวโดยทั่วๆ ไป ก็ต้องศึกษาให้รู้วินัยของตนให้ทั่วถึง

ความหมายของศีลและวินัยอย่างกว้าง

เรื่องศีล ๕ กับธรรมอีก ๕ ข้อได้แสดงแล้วพร้อมทั้งอานิสงส์คือผลที่ดีของศีล ในที่นี้ต้องการจะกล่าวถึงวินัย และประสงค์จะแนะนำให้เข้าใจเรื่องศีลให้กว้างออกไปอีกว่า ถึงความประพฤติเรียบร้อยในทุกๆ ทางดังที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด อันแสดงถึงความมีวัฒนธรรมและอารยธรรม รวมเรียกว่าเป็นศีลทั้งหมด

อนึ่ง ควรเข้าใจคำว่าวินัยให้กว้างออกไปด้วย ว่าหมายถึงคำสั่งและระเบียบวินัยในทางต่างๆ ตลอดถึงกฏหมายบ้านเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามเหล่านี้ เมื่อตนอยู่ในหมู่ที่มีวินัยอย่างใด ก็เคารพปฏิบัติในวินัยอย่างนั้น เช่นทุกๆ คนในฐานะที่อยู่ในตระกูลก็ประพฤติในวินัยของตระกูล ในฐานะที่อยู่ในโรงเรียนก็ปฏิบัติตามวินัยของโรงเรียน เมื่อรับราชการหรือทำงานอะไรก็ปฏิบัติตามวินัยของทางราชการหรือขององค์การนั้นๆ ในฐานะเป็นพลเมืองก็ปฏิบัติตามกฏหมายของบ้านเมือง ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกก็ปฏิบัติตามวินัยของพระพุทธเจ้า วินัยนี้แลเป็นเส้นบรรทัดของศีล เป็นถนนของศีล ศีลมีวินัยเป็นเส้นบรรทัดหรือเป็นทางดำเนิน เหมือนดังยวดยานพาหนะวิ่งไปตามถนน จึงจะยังให้เกิดผลดีคือความงดงามดังกล่าวแล้ว

ปฐมศึกษาของคน

ศีลหรือวินัยนี้แหละเป็นปฐมศึกษา คือข้อที่พึงศึกษาเป็นชั้นแรก ศึกษาในเรื่องนี้เรียกว่าศึกษาศีล เมื่อมองดูอย่างกว้างๆ ทุกๆ คนได้เริ่มศึกษามาตั้งแต่เกิด มารดาบิดาได้เริ่มสอนให้ศึกษา คือฝึกหัดให้รู้จักใช้อวัยวะร่างกาย ให้รู้จักใช้ภาษาพูด ให้รู้จักวินัยคือระเบียบมารยาทต่างๆ ต่อมาครูอาจารย์เป็นต้นก็ช่วยให้ศึกษาวินัยต่างๆ ควบคู่กันไปกับศิลปวิทยา จนถึงพระพุทธเจ้าทรงให้ศึกษาวินัยในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ เมื่อกล่าวประมวลกันเข้าทั้งหมด ก็เพื่อให้มี

สีลสมบัติ ถึงพร้อมด้วยศีล คือความประพฤติดี
อาจารสมบัติ ถึงพร้อมด้วยมารยาทดี
โคจรสมบัติ ถึงพร้อมด้วยที่เที่ยว คือไปในที่สมควรจะไป
อาชีวสมบัติ ถึงพร้อมด้วยอาชีพ คือหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ
ทิฐิสมบัติ ถึงพร้อมด้วยความเห็น คือมีความเห็นชอบตามคลองธรรม ทำให้ประพฤติชอบธรรม


นี้แลคือสมบัติผู้ดี หมายถึงสมบัติคนดี เป็นสีลสิกขา นับเป็นปฐมศึกษา

คนดีมีสิริ

คนที่มีสมบัติผู้ดีหรือสมบัติคนดีประจำตัว เป็นคนสุภาพไม่หยาบคายเพราะมีศีลมีวินัย ทำอะไรมีความเป็นระเบียบและสะอาดไม่สกปรก ย่อมเป็นผู้ที่มีสิริหรือศรีคือมิ่งขวัญประจำตน ประดับอยู่กับตน เป็นเครื่องดึงดูดให้เกิดความดีและความสุขความเจริญ อันสิรินี้ใครๆ จะขอหรือจะลักไปหาได้ไม่ ดังเรื่องเล่าว่า ในกรุงสาวัตถีสมัยพุทธกาล เศรษฐีใจบุญผู้หนึ่งชื่ออนาถบิณฑิกะ เคยตกยากแล้วกลับมั่งมีขึ้นอีก มีพราหมณ์ผู้รู้ลักษณะสิริคนหนึ่ง จึงคิดจะไปขโมยสิริของเศรษฐีนั้น ได้ไปยังเรือนของเศรษฐี พิจารณาดูว่าสิริอยู่ที่ไหน ก็ทราบว่า อยู่ที่หงอนของไก่ขาวเหมือนอย่างสังข์ขัดในกรงทอง จึงกล่าวขอไก่ขาวนั้น ด้วยอ้างเรื่องลวงว่า ตนเป็นอาจารย์บอกมนต์แก่ศิษย์เป็นอันมาก แต่รำคาญไก่ที่มีอยู่ตัวหนึ่งซึ่งขันไม่เป็นเวลา แต่ว่าไก่ตัวนี้ได้ทราบว่าขันเป็นเวลาจึงมาขอ เศรษฐีก็ให้ ในขณะที่เศรษฐีกล่าวให้นั้นสิริก็ออกจากหงอนไก่ไปอยู่ที่แก้วมณีที่วางไว้เหนือศีรษะ พราหมณ์ขอแก้วมณี เมื่อเศรษฐีกล่าวให้สิริก็ออกไปอยู่ที่ไม้อารักษ์ที่วางไว้เหนือศีรษะ พราหมณ์กล่าวขออีก เมื่อเศรษฐีออกปากให้สิริก็ออกไปอยู่บนศีรษะของอัครภรรยาของเศรษฐี พราหมณ์ไม่อาจจะขอต่อไปจึงบอกความจริงแก่เศรษฐี และกล่าวว่า “ไม่อาจจะขโมยสิริของท่านไปได้ ของของท่านจงเป็นของท่านเท่านั้น” เรื่องนี้แสดงว่า ความดีและสิริซึ่งเกิดจากความดีย่อมเป็นของจำเพาะของตนของผู้ทำความดีทุกๆ คนแล

สีลํ กิเรว กลฺยาณํ
ท่านว่าศีลนั่นเทียว เป็นความดี


๖ สิงหาคม ๒๕๐๓

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2553 20:57:42 น.
Counter : 529 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.