Group Blog
 
All Blogs
 

๒๑. ศึกษา หรือ สิกขา



หลักพระพุทธศาสนา

๒๑. ศึกษา หรือสิกขา

การศึกษาจำเป็นแก่ชีวิต


“บุตรที่ยังไม่เกิด ๑ บุตรที่ตายไปแล้ว ๑ และบุตรที่โง่เขลา ๑ บุตร ๒ จำพวกข้างต้นยังดีกว่าจำพวกท้าย เพราะ ๒ จำพวกข้างต้นให้เกิดความทุกข์ชั่วคราว ส่วนจำพวกหลังคือ บุตรที่โง่เขลาให้เกิดความทุกข์อยู่ทุกระยะเวลา”

คำข้างบนนี้ เป็นคำแปลภาษิตในหิโตปเทศ แสดงเป็นพระราชดำริของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงปรารถถึงพระราชบุตรผู้ยังมิได้ศึกษา จึงโปรดจัดให้มีพระอาจารย์ถวายการศึกษาแก่พระราชบุตร การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ทำชีวิตให้มีคุณค่าขึ้น จนถึงเห็นกันมาตั้งแต่โบราณแล้วว่า ผู้ที่ยังไม่เกิดมาหรือผู้ที่ตายไปแล้วยังดีกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ มารดาบิดาและผู้มีเมตตาทั่วไปจึงอุปการะให้การศึกษาแก่เด็กของตนถึงจะให้อย่างอื่นไม่ได้ก็พยายามให้การศึกษา เพราะวิชาเป็นทรัพย์ที่ติดตัว ทำให้สามารถดำรงตนได้

การศึกษาในหลักสูตรและนอกหลักสูตร

ในบัดนี้ การศึกษากำลังก้าวหน้ามาก แบ่งเป็นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เหมือนอย่างต้นไม้แบ่งเป็นโคนต้น กลางต้น และยอด ทุกๆ คนกำลังขึ้นศึกษาพฤกษ์คือต้นไม้การศึกษานี้อยู่ จึงได้รับความรู้ซึ่งแปลกหูแปลกตาแปลกใจขึ้นทุกวัน การรับความรู้ตามหลักสูตร เป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลเลือกสรรแล้วตามควรแก่สมัย ส่วนการรับความรู้นอกหลักสูตรหรือนอกโรงเรียนซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะความรู้บางอย่างเมื่อไปรับมาแล้ว ทำให้เกิดความหลงเข้าใจผิด คิดเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นชีวิตเนื้อหาของชาติ ความรู้บางอย่างทำให้ใจแตก ไม่ประพฤติตนอยู่ในทางที่ดี ความรู้บางอย่างก็มีประโยชน์

ครูบอกแถว

ทางมาของความรู้เหล่านี้มาโดยตรงก็มี มาโดยแอบแฝงก็มี และบัดนี้มีเครื่องสื่อความรู้กันได้อย่างรวดเร็วตลอดทั้งโลก มีวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ มียวดยานพาหนะที่วิเศษต่างๆ และมีหลายฝ่ายหลายพวก แต่ละฝ่ายก็ชักจูงให้รับรู้ไปปฏิบัติกันไปทางหนึ่งๆ เรียกว่ามีทิศาปาโมกข์ หรือมีครูมากพวกมากฝ่าย บางพวกก็สอนให้เดินไปทางซ้าย บางพวกก็สอนให้เดินไปทางขวา บางพวกก็สอนให้เดินตรงกลาง ผู้ที่เชื่อฟังก็จะพากันเดินชนกันเองกลุ้มไปหมดเท่านั้น เหมือนอย่างในโรงเรียนหนึ่ง นักเรียนทั้งหมดมายืนเข้าแถวอยู่กลางสนาม ครูคนหนึ่งบอกให้นักเรียนซ้ายหัน ครูอีกคนหนึ่งบอกให้นักเรียนขวาหัน แล้วบอกหน้าเดินพร้อมๆ กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ลองคิดมองดูภาพ นักเรียนทั้งโรงเรียนจะเดินชนกันอย่างยุ่งเหยิงกันไปหมดเท่านั้น เพราะเมื่อยืนเข้าแถวกัน ฝ่ายหนึ่งซ้ายหัน ฝ่ายหนึ่งขวาหัน ก็คือหันหน้าชนกัน แล้วเดินชนกันอย่างอลหม่าน ส่วนฝ่ายที่หันหน้ากลางๆ นั้นก็จะพลอยถูกชนด้วย เว้นไว้แต่จะเดินออกไปเสียจากสนาม เมื่อยังอยู่ในสนามแล้วก็ไม่อาจจะพ้นจากการถูกชนให้รวนเรไปในทางใดทางหนึ่ง นี้เป็นตัวอย่างสมมติในสนามโรงเรียน ซึ่งน่าจะยังไม่เคยมี แต่ก็เป็นข้อที่น่าแปลกที่ปรากฏว่ามีในสนามนอกโรงเรียน เช่นในถนนหนทางในประเทศต่างๆ คนหลายพวกได้รับความรู้ตามคำสั่งสอนของครูต่างๆ ออกมาเดินชนกัน ปะทะกันสับสนวุ่นวายอยู่ตามถนนหนทาง ดังที่ปรากฏในบางประเทศแม้ในเร็วๆ นี้

หลักไตรรงค์

ส่วนในประเทศไทยไม่ปรากฏเหตุการณ์เช่นนั้น เพราะรัฐบาลและประชาชนเคารพยึดมั่นอยู่ในหลักไตรรงค์ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งธงชาติ และพากันบำรุงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ทั้งส่วนมากแม้จะได้รับรู้จากครูเป็นอันมาก แต่ก็ยังเคารพนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นครูที่เยี่ยมยอดเพียงพระองค์เดียว ไม่นับถือว่าครูไหนเยี่ยมยอดกว่า ทั้งมีความรักเคารพในพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อตั้งมั่นอยู่ในหลักไตรรงค์เช่นนี้จึงไม่หันเหไปทางไหนอื่น นอกจากทางหลักไตรรงค์นี้เท่านั้น จึงควบคุมกันอยู่อย่างสงบเรียบร้อย แสดงว่ามีหลักของตนดีอยู่ ส่วนผู้ที่รับเอาหลักอื่นให้กวัดแกว่งไขว้เขวแสดงว่าตนเองไม่มีหลักของตนเองอยู่ ดังที่เรียกว่าคนหลักลอย ไม่เป็นที่นับถือไว้วางใจของใคร ผู้ที่เยาว์ความคิดอาจมีความคิดผิดทางไปได้ง่าย เป็นเยาวชนอาจจะเยาว์ความคิดเพราะยังเยาว์วัย เป็นผู้ใหญ่อาจจะเยาว์ความคิดเพราะไม่ฉลาดขาดการศึกษา หรือเพราะหลงเชื่อไปในทางที่ผิด จึงจำต้องวางรากฐานหรือเสริมฐานของหลักไตรรงค์ให้มั่นคงทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ จึงควบคุมกันอยู่โดยสงบสุขเรียบร้อยได้ตลอดไป

เสริมฐานหลักไตรรงค์

วิธีวางรากฐานหรือเสริมฐานหลักไตรรงค์ คืออบรมปลูกความเคารพรักในองค์ ๓ นั้น ลงไปในจิตใจของทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ รักษาธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับองค์ทั้ง ๓ นี้ไว้ นับถือเป็นสิ่งสำคัญไม่ทอดทิ้งละเลย เมื่อรักษาส่งเสริมหลักของตนให้มั่นคง เรียกว่าคนมีหลักร่วมกันอยู่เป็นอันเดียวกัน ก็เกิดความสามัคคีอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นโอกาสให้ได้ศึกษารับความรู้ต่างๆ ทันต่อความรู้และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรับความเจริญในด้านวัตถุต่างๆมาทะนุบำรุงบ้านทะนุบำรุงเมืองให้มั่งคั่งเป็นสุข โดยเฉพาะเยาวชนก็ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ให้มีความรู้ความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เว้นรับความรู้ที่จะชักพาให้เสียหาย เว้นสิ่งเย้ายวนที่เป็นอันตรายแก่การศึกษาและความดี

ความเจริญก้าวหน้ากันหลักไตรรงค์

เมื่อเป็นดังนี้ องค์ที่เป็นหลักทั้ง ๓ นั้น จึงไม่ขัดอะไรกับความเจริญก้าวหน้า กลับเป็นเครื่องรักษาส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้าขึ้นโดยสวัสดี เพราะมีหลักเป็นที่พึ่งอาศัยให้เกษมสวัสดิ์ ไม่ใช่เจริญก้าวหน้าไปอย่างหลักลอยซึ่งมีหวังว่าจะล้มลงอย่างง่ายดาย และทำให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย

ความเป็นอารยชน

ทั้งนี้เป็นข้อที่ควรภูมิใจได้ว่า ได้มีหลักที่ดีที่เจริญแล้วของตนเองเป็นที่ยึดเหนี่ยวมาแต่โบราณกาล ถึงจะยังด้อยอยู่ในด้านวัตถุและในด้านความรู้สาขาต่างๆ แต่ในด้านหลักยึดเหนี่ยวที่ดีทางจิตใจแล้วไม่ด้อยเลย ชื่อว่าเป็นอารยะ คือเป็นคนเจริญได้ทีเดียว ส่วนผู้ที่หมิ่นแคลนทอดทิ้งหลักของตนเสียนั้นแหละแสดงว่าเป็นผู้ด้อยเป็นผู้ที่หมิ่นตนเอง ไม่ควรแก่การนับถือไว้วางใจ

การศึกษานั้นเพื่ออะไร

คำว่า “ศึกษา” ตามปทานุกรมให้ความหมายไว้ว่า “การเล่าเรียนฝึกฝนอบรม” ในตำราศัพท์อีกฉบับหนึ่งให้ความหมายไว้ว่า “การถือเอาวิชา” ทางบ้านเมืองได้วางแผนการศึกษาของชาติไว้เป็น ๔ ส่วน คือ จริยศึกษา พลศึกษา พุทธิศึกษา และหัตถศึกษา ตามที่โรงเรียนทั่วไปได้สอนอยู่แล้ว เมื่อพิจารณากล่าวอย่างสรุป การศึกษาก็เพื่อ

(๑) ให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบการงาน และในการสังคมเป็นต้น ได้เป็นอย่างดี

(๒) เพื่อให้มีความเป็นคนโดยสมบูรณ์


ความประสงค์ของการศึกษาข้อแรกมีความชัดอยู่แล้ว ส่วนข้อ ๒ หมายความว่า คนที่ถือกำเนิดเป็นคนนั้น ยังไม่จัดว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์เพราะเหตุเพียงที่เกิดมามีรูปร่าง เป็นคนต่อเมื่อมีการปฏิบัติประกอบด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีสมกับความเป็นคน จึงจะเรียกว่าเป็นคนโดยธรรม เมื่อมีธรรมของคนบริบูรณ์จึงจะชื่อว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์ แม้คำในหิโตปเทส ก็กล่าวว่า “การกิน การนอน ความกลัว และการสืบพันธุ์ของคนและสัตว์ดิรัจฉานเสมอกัน แต่ธรรมของคน และสัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้น แปลกกว่ากัน เว้นจากธรรมเสีย คนก็เสมอกันสัตว์ดิรัจฉาน”

การศึกษาธรรมทำให้คนสมบูรณ์

การศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดธรรม ยังเป็นเหตุใช้ความรู้ความสามารถนั้นไปในทางที่ผิด ดังเช่นเป็นโจรจำพวกต่างๆ ดังเรื่องต่อไปนี้ ในสมัยพุทธกาล บุตรของนางพราหมณีมันตานี ภริยาของพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าปเสนกิโศล กรุงสาวัตถี ได้เกิดในราตรีวันหนึ่ง เมื่อเกิดนั้น อาวุธต่างๆ ได้สว่างโพลงขึ้นทั่วพระนคร ตลอดถึงพระแสงหอกพระแสงดาบของพระราชา พราหมณ์ปุโรหิตออกดูดาวนักษัตร เห็นว่าบุตรของตนเกิดในโจรฤกษ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลถามความผาสุกในการบรรทม พระราชาตรัสว่าจะบรรทมเป็นสุขจากที่ไหน มงคลอาวุธสว่างโพลงขึ้น ชะรอยจะมีอันตรายแก่พระราชสมบัติหรือแก่ชีวิต พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่าบุตรของตนเกิด อาวุธเหล่านั้นสว่างโพลงขึ้นด้วยอานุภาพของเด็กนั้น เด็กนั้นจะเป็นโจรต่อไป แต่ว่าจักเป็นโจรผู้เดียว มิใช่เป็นโจรราชสมบัติ ตนจะให้ฆ่าเสีย พระราชาตรัสว่า เมื่อเป็นโจรผู้เดียวจักทำอะไรได้ จงเลี้ยงไว้เถิด ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตพร้อมกับพวกญาติขนานนามเด็กนั้นว่า อหิงสกะ แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน ด้วยถือเป็นนิมิตว่าอาวุธทั้งหลายสว่างขึ้น แต่ก็ไม่เบียดเบียนใคร เมื่ออหิงสกะเติบโตขึ้นถึงวัยเล่าเรียนก็ส่งไปเรียนในกรุงตักศิลา อหิงสกะตั้งใจเรียนศิลปวิทยา และตั้งใจปฏิบัติอาจารย์เป็นอย่างดีจนเป็นที่รัก เป็นศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์ ฝ่ายศิษย์อื่นซึ่งพากันต่ำต้อยถอยเป็นศิษย์ภายนอกก็พากันริษยา คิดจะทำลายอหิงสกะ จึงปรึกษากันเห็นว่า “จะไปยุแหย่อาจารย์ว่า อหิงสกะโง่เขลาหรือประพฤติไม่ดีหรือมีชาติต่ำต้อยหาได้ไม่ เพราะอหิงสกะมีปัญญามีความประพฤติมีชาติดีพร้อม มีอยู่ทางเดียวคือหาวิธียุแหย่ให้อาจารย์กินแหนงระแวงใจอหิงสกะ” จึงแบ่งกันออกเป็น ๓ พวก เข้าไปหาอาจารย์ทีละพวก ยุแหย่ว่าอหิงสกะคิดร้ายอาจารย์ ทีแรกอาจารย์ไม่เชื่อ ขับไล่พวกศิษย์ที่มายุแหย่ออกไป พูดสำทับว่า “อย่ามายุแหย่ให้เราแตกกับบุตรของเราเลย” ครั้นถึงพวกที่ ๒ – ๓ อาจารย์ก็ชักแคลงใจ จนถึงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงคิดจะฆ่าอหิงสกะเสีย แต่ครั้นจะฆ่าโดยเปิดเผยก็เกรงจะเกิดโทษ เกิดเสื่อมเสียชื่อเสียงและลาภผลต่อไป จึงคิดหาวิธีฆ่าให้แนบเนียน ครั้นคิดได้แล้วจึงเรียกอหิงสกะมากล่าวว่า การเรียนศิลป์ใกล้จะสำเร็จแล้ว แต่จักเข้าเขตสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อไปฆ่าคนให้ครบพัน คืออาจารย์คิดเห็นทางว่า เมื่ออหิงสกะไปฆ่าคนเป็นอันมาก จักมีคนหนึ่งต่อสู้ฆ่าอหิงสกะเสีย ฝ่ายอหิงสกะทีแรกตอบปฏิเสธอาจารย์ แต่ครั้นอาจารย์อ้างว่าจะไม่ได้รับผลของศิลป ด้วยความรักจะได้ศิลปจึงถืออาวุธไปดักฆ่ามนุษย์อยู่ในดง ครั้นฆ่าได้หลายคนเข้าก็จำไม่ได้ว่ากี่คน เพราะโดยปกติอหิงสกะเป็นคนมีปัญญา ไม่ตั้งจิตใจต่อเรื่องปาณาติบาต ฉะนั้น ต่อมาจึงตัดนิ้วไว้นิ้วหนึ่งๆ เก็บไว้ ครั้นนิ้วเหล่านั้นหายไปเสียอีก จึงนำมาเสียบเป็นพวงนิ้วแขวนไว้กับตน จึงเกิดเรียกชื่อขึ้นว่า องคุลิมาล แปลว่า ผู้มีพวงมาลานิ้วมือ หรือมีนิ้วเป็นพวงมาลา ชื่อเสียงขององคุลิมาลโจรได้กระฉ่อน เป็นที่กลัวเกรงของคนทั่วไป จนไม่มีใครกล้าเข้าป่า องคุลิมาลโจรจึงเข้าไปจับคนฆ่าในบ้านในตำบลภายนอกกรุงสาวัตถี ประชาชนต้องอพยพเข้าไปในกรุงสาวัตถี ประชุมกันที่ท้องพระลานหลวง กราบทูลร้องทุกข์ ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตทราบข่าวจึงกลับไปบอกนางมันตานีผู้เป็นภรรยาว่า “โจรองคุลิมาลเกิดขึ้น ไม่ใช่คนอื่น คงเป็นอหิงสกกุมาร บัดนี้ พระราชาจักปราบปราม จะควรทำอย่างไร” นางมันตานีบอกว่า ตนจะออกไปนำบุตรกลับ พราหมณ์ปุโรหิตก็กล่าวห้ามมิให้ออกไป อ้างว่าไม่ควรทำวิสาสะคือความไว้วางใจชน ๔ จำพวก คือไม่ควรไว้วางใจในโจรว่าเป็นสหายเก่า ในเพื่อนว่าเป็นคนชิดชอบมาเก่า ในพระราชาว่าทรงนับถือ และในสตรีว่าอยู่ในอำนาจ แต่ใจของมารดาเป็นของอ่อนด้วยความรักในบุตร จึงออกไปจากบ้านเพื่อจะนำบุตรของตนกลับ เช้าวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูโลก ทรงทราบว่าถ้าไม่เสด็จไปโปรด องคุลิมาลก็จะทำมาตุฆาต ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นผู้ที่โปรดไม่ขึ้น ครั้นเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ทรงทำภัตกิจแล้ว จึงเสด็จไปยังที่อยู่ขององคุลิมาลโจร แม้มีพวกคนเลี้ยงโคพวกชาวนาเป็นต้นห้ามมิให้เสด็จ ก็คงเสด็จต่อไปโดยดุษณี ฝ่ายองคุมาลโจรได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกลก็มีความแปลกใจ ว่าไฉนสมณะนี้มาได้เพียงผู้เดียว คนอื่นๆ ต้องมากันเป็นพวกๆ ถึงเช่นนั้นก็ยังแพ้เรา ชะรอยว่าจะมาวางข่ม จะต้องปลงชีวิตเสีย จึงวิ่งตามพระพุทธเจ้าอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ไม่อาจจะทัน จึงร้องให้พระพุทธเจ้าหยุด พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้วองคุลิมาล ฝ่ายท่านจงหยุด” องคุลิมาลคิดว่า “สมณะเหล่านี้เป็นผู้พูดจริง แต่พระองค์นี้เดินอยู่พูดว่าหยุด ควรจะต้องถามดู” จึงร้องถามว่า พูดอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวง จึงชื่อว่าหยุดแล้ว ส่วนท่านยังเที่ยวฆ่าฟันประหัตประหาร จึงชื่อว่ายังไม่หยุด” พอองคุลิมาลได้ยินพระพุทธเจ้าดำรัสเป็นคำสะกิดใจ ก็กลับได้สติขึ้นทันที จึงกราบพระบาทของพระพุทธเจ้าทูลขอบวช พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด องคุลิมาลโจรจึงกลับเป็นภิกษุพุทธสาวก ตามเสด็จพระพุทธเจ้ากลับสู่พระเชตวนาราม เมื่อท่านเป็นพระภิกษุแล้วก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต่อมาได้บำเพ็ญเพียรจนได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ท่านเป็นตัวอย่างของบุคคลประเภทมืดมาสว่างไป ซึ่งเป็นผู้ที่เคยผิดไปแล้วกลับตัวได้ และเรื่องนี้เป็นตัวอย่างแสดงว่า เชื่อครูผิดที่สั่งให้หันไปต่างๆ ก็ทำให้หันไปผิดจนกว่าจะได้พบครูที่ถูกและแสดงว่าการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถอย่างเดียวอาจกลายเป็นโจรไปก็ได้ และสามารถทำความชั่วร้ายเสียหายได้มากกว่าคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ต่อเมื่อได้ศึกษาให้เป็นคนโดยสมบูรณ์อีกส่วนหนึ่ง การศึกษาของตนจึงจะสมบูรณ์ ดังเช่นองคุลิมาลโจร เมื่อพบพระพุทธเจ้าจึงได้พบทางที่ถูกต้องของชีวิต

การศึกษาเพื่อให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ ต้องศึกษาธรรมตามหลักสิกขา ๓ ของพระพุทธเจ้าคือ

๑. ศีลสิกขา ศึกษาศีล
๒. จิตตสิกขา ศึกษาจิต
๓. ปัญญาสิกขา ศึกษาปัญญา

สนฺติเมว สิกฺเขยฺย พึงศึกษาสันติแล


๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๓

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 13 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2553 20:52:00 น.
Counter : 509 Pageviews.  

๒๐. เวรและวิธีป้องกันระงับเวร



หลักพระพุทธศาสนา

๒๐. เวรและวิธีป้องกันระงับเวร

การผูกเวร

“ฝากไว้ก่อนเถิด รอให้ถึงทีเราบ้าง”
นาย ข. คิดผูกใจไว้เมื่อถูกนาย ก. ข่มเหงคะเนงร้าย ต่อมาเมื่อนาย ข. ได้โอกาสก็ทำร้าย นาย ก. ตอบแทน นาย ก. ก็ทำร้ายนาย ข. ตอบเข้าอีก แล้วต่างก็ทำร้ายตอบกันไปตอบกันมา ตัวอย่างนี้แหละเรียกว่าเวร บางรายผูกเวรกันไปชั่วลูกชั่วหลาน บางรายผู้ใหญ่ผูกเวรกันแล้วยังห้ามไม่ให้บุตรหลานของตนผูกมิตรกันอีกด้วย ถือว่าไปผูกมิตรกับลูกหลานศัตรู มิใช่แต่ต้องร้ายแรงจึงเรียกว่าเวร ถึงรายย่อยๆ ดังการตอบโต้กันในวงด่าวงชกต่อย ก็เรียกว่าเวร เช่น นาย ก. ด่า นาย ข. ชกต่อย นาย ข. ก่อน นาย ข. ก็ด่าตอบชกต่อยตอบ แล้วต่างก็ด่าและต่างก็ชกต่อยกันอุตลุด บางทีวงวิวาทขยายออกไป คือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ ก็ไปบอกพรรคพวกร่วมคณะร่วมโรงเรียนให้พลอยโกรธ แล้วยกพวกไปชกต่อยต่อสู้กัน ขยายวงเวรออกไป บางรายเด็กทะเลาะกันแล้วไปฟ้องผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายเข้ากับเด็กที่เป็นบุตรหลานของตนก็ออกต่อว่าต่อปากวิวาทกัน เวรวงเล็กก็ขยายออกเป็นเวรวงใหญ่ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องทะเลาะวิวาทกันรายใหญ่ๆ มิใช่น้อยเกิดจากมูลเหตุที่เล็กนิดเดียว ดังนิทานเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวทำให้เกิดสงครามกลางเมือง

วงเวรในระหว่างบุคคลให้เกิดความเสียหายในวงแคบ ส่วนวงเวรในระหว่างหมู่คณะให้เกิดความเสียหายในวงกว้างออกไป ยิ่งวงเวรในระหว่างประเทศชาติ ในระหว่างค่ายของชาติทั้งหลาย ยิ่งให้เกิดความเสียหายกว้างขวางตลอดจนถึงทั้งโลก เหล่านี้เป็นเรื่องของเวรทั้งนั้น ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจควบคู่กันไปกับเรื่องกรรม

เวรคืออะไร

เวรคือความเป็นศัตรูกันของบุคคล ๒ คนหรือ ๒ ฝ่าย เพราะฝ่ายหนึ่งก่อกรรมเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายนั้นก็ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้นตอบแทน เวรจึงประกอบด้วยบุคคล ๒ คนหรือ ๒ ฝ่าย คือ ผู้ก่อความเสียหาย ๑ ผู้รับความเสียหาย ๑ บุคคลที่ ๒ นี้ผูกใจเจ็บแค้น จึงเกิดความเป็นศัตรูกันขึ้น นี้แหละคือเวร

เวรเกิดจากอะไร

เวรเกิดจากความผูกใจเจ็บแค้นของบุคคลที่ ๒ คือผู้รับความเสียหาย พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ว่า “ชนเหล่าใดผูกอยู่ว่า คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของเรา เวรของชนเหล่านั้นไม่สงบ” ดังนี้ ทั้งนี้เพราะลำพังบุคคลที่ ๑ ฝ่ายเดียวก็ยังไม่เป็นเวรสมบูรณ์ ต่อเมื่อบุคคลที่ ๒ ผูกใจเจ็บไว้จึงเกิดเป็นเวรสมบูรณ์ แต่ถ้าบุคคลที่ ๒ นั้นไม่ผูกใจเจ็บ ก็ไม่เกิดเป็นเวรขึ้นเหมือนกัน ฉะนั้น ความเกิดเป็นเวรขึ้นจึงมีเพราะบุคคลที่ ๒ เป็นสำคัญ เห็นอย่างง่ายๆ ในเรื่องเวรสามัญ เมื่อมีใครทำความล่วงเกินอะไรเล็กๆ น้อยๆ ต่อเรา เมื่อเราไม่ผูกอาฆาต เขาและเราก็ไม่เกิดเป็นศัตรูกัน คือไม่เกิดเป็นคู่เวรกันนั่นเอง เหมือนอย่างตบมือข้างเดียวไม่เกิดเสียง

เวรระงับเพราะอะไร

เวรระงับเพราะบุคคลที่ ๒ ไม่ผูกอาฆาตดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้โดยความว่า “ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกอยู่ว่า คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ เวรไม่ระงับด้วยเวรในกาลไหนๆ เลย แต่ย่อมระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร” ดังนี้น่าคิดว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลที่ ๒ เป็นผู้ที่น่าติมากกว่าบุคคลที่ ๑ เพราะทำให้เป็นเวรขึ้น ในเรื่องเวรก็เป็นความจริงอย่างนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างเป็นความกันในโรงศาล เมื่อมีใครเป็นโจทก์ฟ้องใครเป็นจำเลยขึ้นจึงเกิดเป็นความ คดีถึงที่สุดหรือโจทก์ถอนฟ้องเสียเมื่อใด ความก็ระงับเมื่อนั้น แต่ถ้าจำเลยไม่เป็นตัวการก่อกรรมเสียหายแก่โจทก์ เมื่อกล่าวโดยปกติมิใช่แกล้งกันแล้ว โจทก์ก็คงไม่ฟ้อง ฉันใดก็ดี บุคคลที่ ๑ นั้นเองเป็นมูลเหตุของเวร เพราะเป็นตัวการก่อกรรมเสียหายขึ้นก่อน

เวรเกี่ยวกับกรรมอย่างไร

เวรเกี่ยวกับกรรมของบุคคลที่ ๑ ซึ่งทำความเสียหายให้แก่บุคคลที่ ๒ และเกี่ยวกับกรรมของบุคคลที่ ๒ ซึ่งทำตอบด้วย ดังเช่น นาย ก. ฆ่า นาย ข. ลักทรัพย์ของนาย ข. นาย ข. จึงผูกใจอาฆาต เกิดเป็นเวรกันขึ้น นี้ก็เพราะกรรมของนาย ก. นั่นเอง ซึ่งทำแก่นาย ข. และนาย ข. ก็ผูกใจทำตอบ ฉะนั้น เวรจึงเกี่ยวแก่กรรมของบุคคลนั่นเอง ที่ยังให้เกิดความเสียหายเจ็บแค้นแก่คนอื่น กรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ละเว้นในศีล ๕ คือการฆ่าสัตว์ ๑ การลักทรัพย์ ๑ การประพฤติผิดประเพณีในทางกาม ๑ การพูดเท็จ ๑ การดื่มน้ำเมา ๑ เรียกว่าเวร ๕ หรือภัย ๕ อย่าง เพราะเป็นกรรมที่ก่อเวรก่อภัยทั้งนั้น เช่นการฆ่าสัตว์ ก็มีผู้ฆ่าฝ่ายหนึ่ง ผู้ถูกฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคู่เวรคู่ภัยกัน การลักทรัพย์ก็มีผู้ลักฝ่ายหนึ่ง ผู้ถูกลักอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคู่เวรคู่ภัยกัน ดังนี้เป็นตัวอย่าง เมื่อกล่าวโดยรวบรัด เวรเกิดจากกรรมที่ก่อความเสียหายให้แก่ใครๆ นั่นเอง

ผลเวรต่างจากผลของกรรมอย่างไร

ผลของกรรมได้แสดงแล้วว่า ผลดีต่างๆ เกิดเพราะกรรมดี ผลชั่วต่างๆ เกิดเพราะกรรมชั่ว ส่วนผลของเวร คือความทุกข์ที่บุคคล ๒ ฝ่ายผู้เป็นศัตรูคู่เวรก่อให้แก่กัน กรรมเมื่อให้ผลแล้วก็หมดไป เหมือนอย่างผู้ต้องโทษครบกำหนดแล้วก็พ้นโทษ ส่วนเวร เมื่อบุคคลทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นยังผูกใจเป็นศัตรูกันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่ระงับตราบนั้น แต่เมื่อบุคคลทั้ง ๒ ฝ่ายเลิกเป็นศัตรูกันเมื่อใด เวรก็ระงับเมื่อนั้น ฉะนั้น เวรจึงอาจยาวก็ได้ สั้นก็ได้ สุดแต่บุคคล ๒ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สัตว์บางชนิดพบกันเข้าไม่ได้ เป็นต้องทำร้ายกัน เช่นกากับนกเค้า บัณฑิตผู้ฉลาดในการสอนยกเป็นตัวอย่างของเวรที่ผูกกันยืดยาวไม่รู้จบเหมือนกับผูกกันมาตั้งแต่ปฐมกัลป์ และผูกกันไปไม่สิ้นสุด ในหมู่มนุษย์ บางชาติบางเหล่าก็คล้ายๆ กัน อย่างนั้น

เรื่องทีฆาวุกุมาร

นิทานเรื่องระงับเวร
ท่านเล่าเป็นเรื่องสอนให้ระงับเวร ดังจะเล่าโดยย่อต่อไป มีเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วว่า พระเจ้าพรหมทัตครอบครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ในรัฐกาสี ได้เสด็จกรีธาทัพไปย่ำยีพระเจ้าทีฆีติ แห่งแคว้นโกศล พระเจ้าทีฆีติทรงประมาณกำลังเห็นว่าจะต่อสู้ไม่ได้ จึงทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีออกจากพระนคร ปลอมพระองค์เป็นปริพาชก (ชีปะขาว) ไปทรงอาศัยอยู่ในบ้านของนายช่างหม้อที่ชานเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นนครของราชศัตรู ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตก็ทรงยกทัพเข้าครอบครองแคว้นโกศล ต่อมาพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติทรงพระครรภ์เกิดอาการแพ้พระครรภ์ ด้วยทรงอยากทอดพระเนตรกองทัพประกอบด้วยองค์ ๔ คือ กองช้าง กองม้า กองรถ และกองราบ ในเวลาอาทิตย์ขึ้น และอยากจะทรงดื่มน้ำล้างพระขรรค์ จึงกราบทูลพระราชสวามี พระเจ้าทีฆีติพระราชสวามีได้ตรัสห้าม พระนางก็ตรัสยืนยันว่าถ้าไม่ทรงได้ก็จักสิ้นพระชนม์ ครั้งนั้นพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตเป็นพระสหายของพระเจ้าทีฆีติ พระเจ้าทีฆีติจึงเสด็จไปหาตรัสเล่าความให้ฟัง ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตก็ขอไปเฝ้าพระเทวีก่อน พระเจ้าทีฆีติทรงนำไปยังบ้านที่พักอาศัย พราหมณ์ปุโรหิตได้เห็นพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติเสด็จดำเนินมาแต่ไกล ก็ยกมือพนมนอบน้อมไปทางพระนาง เปล่งวาจาขึ้นว่า “พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระครรภ์” แล้วกล่าวรับรองจะจัดการให้พระนางได้ทอดพระเนตรเห็นกองทัพทั้งสี่เหล่า และได้ดื่มน้ำล้างพระขรรค์ พราหมณ์ปุโรหิตจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตกราบทูลว่า ได้เห็นนิมิตบางอย่าง ขอให้ทรงจัดกองทัพสี่เหล่าให้ยกออกตั้งขบวนในสนามในเวลารุ่งอรุณวันพรุ่งนี้ และให้ล้างพระขรรค์ พระเจ้าพรหมทัตทรงอำนวยตาม พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติจึงได้ทอดพระเนตรเห็นกองทัพและได้ทรงดื่มน้ำล้างพระขรรค์สมอาการที่ทรงแพ้ครรภ์ ต่อมาได้ประสูติพระโอรส ตั้งพระนามว่า ทีฆาวุ เมื่อทีฆาวุกุมารเติบโตขึ้น พระเจ้าทีฆีติทรงส่งออกไปให้ศึกษาศิลปศาสตร์อยู่ในภายนอกพระนคร เพราะทรงเกรงว่า ถ้าพระเจ้าพรหมทัตทรงทราบจักปลงพระชนม์เสียทั้ง ๓ พระองค์ ต่อมานายช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติซึ่งมาอาศัยอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าพรหมทัต ได้เห็นพระเจ้าทีฆีติที่ชานพระนครก็จำได้ จึงไปเฝ้ากราบทูลพระเจ้าพรหมทัตให้ทรงทราบ พระเจ้าพรหมทัตจึงมีรับสั่งให้จับพระเจ้าทีฆีติพร้อมทั้งพระมเหสีมาแล้ว รับสั่งให้พันธนาการ ให้โกนพระเศียร ให้นำตระเวนไปตามถนนต่างๆ ทั่วพระนคร แล้วให้นำออกไปภายนอกพระนคร ให้ตัดพระองค์เป็นสี่ท่อน ทิ้งไว้สี่ทิศ พวกเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติตามพระราชบัญชา ในขณะที่เขานำพระเจ้าทีฆีติกับพระมเหสีตระเวนไปรอบพระนครนั้น ทีฆาวุกุมารได้ระลึกถึงพระราชมารดาบิดา จึงเข้ามาเพื่อจะมาเยี่ยม ก็ได้เห็นพระราชมารดาบิดากำลังถูกพันธนาการ เขากำลังนำตระเวนไปอยู่ จึงตรงเข้าไปหา ฝ่ายพระเจ้าทีฆีติทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสกำลังมาแต่ไกลก็ตรัสขึ้นว่า “พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นยาว อย่าเห็นสั้น พ่อทีฆาวุ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับด้วยความไม่ผูกเวร” พอพวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ยินพระดำรัสนั้น ก็พากันกล่าวว่าพระเจ้าทีฆีติเสียพระสติรับสั่งเพ้อไป พระเจ้าทีฆีติก็ตรัสว่า พระองค์มิได้เสียสติ ผู้ที่เป็นวิญญูจักเข้าใจ แล้วได้ตรัสซ้ำๆ ความอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง เมื่อพวกเจ้าหน้าที่นำตระเวนแล้วก็นำออกนอกพระนคร ตัดพระองค์ออกเป็นสี่ท่อน ทิ้งไว้สี่ทิศ แล้วตั้งกองรักษา ทีฆาวุกุมารได้นำสุราไปเลี้ยงพวกกองรักษาจนเมาฟุบหลับหมดแล้ว เก็บพระศพของพระมารดาบิดามารวมกันเข้าถวายพระเพลิง เสร็จแล้วก็เข้าป่า ทรงกันแสงคร่ำครวญจนเพียงพอแล้วก็เข้าสู่กรุงพาราณสี ไปสู่โรงช้างหลวง ฝากพระองค์เป็นศิษย์นายหัตถาจารย์ ในเวลาใกล้รุ่ง ทีฆาวุกุมารมักตื่นบรรทมขึ้น ทรงขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะและดีดพิณ พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงสดับเสียง รับสั่งถามทรงทราบแล้วตรัสให้หาทีฆาวุกุมารเข้าเฝ้า ครั้นทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารก็โปรดให้เป็นมหาดเล็กในพระองค์ ทีฆาวุกุมารได้ตั้งหทัยปฏิบัติพระเจ้าพรหมทัต เป็นที่โปรดปรานมาก ในไม่ช้าก็ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ประจำในตำแหน่งเป็นที่วางพระราชหฤทัยในภายใน วันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จทรงรถออกไปทรงล่าเนื้อ ทีฆาวุกุมารเป็นนายสารถีรถพระที่นั่งได้นำรถพระที่นั่งแยกทางไปจากพวกทหารรักษาพระองค์ ครั้นไปไกลมากแล้ว พระเจ้าพรหมทัตทรงเหน็ดเหนื่อย มีพระราชประสงค์จะบรรทมพัก จึงโปรดให้หยุดรถ แล้วทรงบรรทมหนุนบนเพลา (หน้าตัก) ของทีฆาวุกุมาร ครู่เดียวก็บรรทมหลับ ฝ่ายทีฆาวุกุมารคิดถึงเวรขึ้นว่า “พระเจ้าพรหมทัตนี้ ได้ทรงประกอบกรรมก่อความเดือดร้อนให้เป็นอันมาก จนถึงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของตน บัดนี้ถึงเวลาจะสิ้นเวรกันเสียที” จึงชักพระขรรค์ขึ้นจากฝัก ในขณะนั้นพระดำรัสของพระราชบิดาก็ผุดขึ้นในหทัยของทีฆาวุกุมาร เตือนให้คิดว่าไม่ควรละเมิดคำของพระราชบิดา จึงสอดพระขรรค์เข้าฝัก ครั้นแล้วความคิดที่เป็นเวรก็เกิดผุดขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ ๒ ทีฆาวุกุมารก็ชักพระขรรค์ขึ้นจากฝัก แต่เมื่อระลึกถึงพระดำรัสของพระราชบิดาก็สอดพระขรรค์เก็บอีก ในครั้งที่ ๓ ก็เหมือนกัน ทีฆาวุกุมารชักพระขรรค์ขึ้นแล้วด้วยอำนาจเวรจิต แล้วก็สอดพระขรรค์เก็บด้วยอำนาจดำรัสของพระราชบิดา ในขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงสะดุ้งเสด็จลุกขึ้นโดยฉับพลัน มีพระอาการตกพระทัยกลัวทีฆาวุกุมารจึงกราบบังคมทูลถาม จึงรับสั่งเล่าว่าทรงพระสุบินเห็นทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติแทงพระองค์ให้ล้มลงด้วยพระขรรค์ ทันใดนั้นทีฆาวุกุมารก็จับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตด้วยหัตถ์ซ้าย ชักพระขรรค์ออกด้วยหัตถ์ขวา ทูลว่า “เรานี้แหละคือทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติ ซึ่งพระองค์ได้ทำความทุกข์ยากให้อย่างมากมาย จนถึงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของเรา บัดนี้ถึงเวลาที่เราจำทำให้สิ้นเวรกันเสียที” พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงหมอบลงขอชีวิต “ข้าพระองค์อาจจะถวายชีวิตแก่พระองค์ได้อย่างไร พระองค์นั่นเองพึงประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์” “พ่อทีฆาวุ ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ให้ชีวิตแก่เจ้า” พระเจ้าพรหมทัตและทีฆาวุกุมารทั้งสองจึงต่างให้ชีวิตแก่กันและกัน ต่างได้ทำการสบถสาบานว่าจะไม่คิดทรยศต่อกัน ครั้นแล้วพระเจ้าพรหมทัตก็เสด็จขึ้นประทับรถ ทีฆาวุกุมารก็ขับรถมาบรรจบพบกองทหารแล้วเข้าสู่พระนคร พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้ประชุมอำมาตย์ตรัสถามว่าถ้าพบทีฆาวุกุมารโอรสพระเจ้าทีฆีติจะพึงทำอย่างไร อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่าให้ตัดมือตัดเท้าตัดหูตัดจมูกบ้าง ให้ตัดศีรษะบ้าง พระเจ้าพรหมทัตจึงตรัสว่า “ผู้นี้แหละคือทีฆาวุกุมาร โอรสพระเจ้าทีฆีติ แต่ใครจะทำอะไรๆ ไม่ได้ เพราะกุมารนี้ให้ชีวิตแก่เราแล้ว และเราก็ให้ชีวิตแก่กุมารนี้แล้ว” แล้วทรงหันไปตรัสขอให้ทีฆาวุกุมารอธิบายพระดำรัสของพระราชบิดาในเวลาที่จะสิ้นพระชนม์ ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลอธิบายว่า “คำว่าอย่าเห็นยาว คืออย่าได้ทำเวรให้ยาว คำว่าอย่าเห็นสั้น คืออย่าด่วนแตกกับมิตร คำว่าเวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับด้วยความไม่ผูกเวร คือถ้าข้าพระองค์คิดว่าพระองค์ทรงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของข้าพระองค์ จึงปลงพระชนม์ของพระองค์เสีย พวกคนที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ก็จะพึงปลงชีวิตข้าพระองค์ ส่วนพวกคนที่ชอบข้าพระองค์ก็จะพึงปลงชีวิตพวกคนเหล่านั้น เวรจึงไม่ระงับลงได้ด้วยเวรอย่างนี้ แต่ว่าบัดนี้พระองค์ได้ประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์และข้าพระองค์ก็ได้ถวายชีวิตแก่พระองค์แล้ว เวรนั้นจึงเป็นอันระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร” พระเจ้าพรหมทัตตรัสสรรเสริญแล้ว พระราชทานคืนราชสมบัติของพระเจ้าทีฆีติ และได้พระราชทานพระราชธิดาแก่ทีฆาวุกุมาร เรื่องนี้สมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์เป็นคำฉันท์เรียกว่า ทีฆาวุคำฉันท์

ใจไทย

นิทาน
เรื่องระงับเวรที่เล่านี้เป็นเรื่องโบราณ ยังมีนิทานเรื่องระงับเวรในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ คือในสงครามโลกคราวที่แล้ว เมื่อญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย จับฝรั่งมาเป็นเชลยกำหนดให้ทำงานต่างๆ คนไทยก็พากันสงสารเชลยฝรั่งและแสดงเมตตาจิตสงเคราะห์ จะเห็นพวกชาวบ้านหาบคอนผลไม้ไปคอยให้ พากันช่วยเจือจานต่างๆ ไม่ได้ถือว่าเป็นคู่เวรคู่ศัตรู ครั้นเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามกลับเป็นเชลย คนไทยก็กลับสงสารญี่ปุ่น อำนาจเมตตาจิตของคนไทยส่วนรวมนี้เชื่อกันว่าเป็นเครื่องผูกมิตรในจิตใจของทั้งฝรั่งทั้งญี่ปุ่น ซึ่งได้ช่วยประเทศไทยไว้อย่างมากมาย ถ้าคนไทยมีนิสัยผูกเวรมากกว่าผูกมิตรแล้ว เหตุการณ์ก็น่าจะไม่เป็นเช่นนี้

วิธีระงับเวรและป้องกัน

อาศัยการปฏิบัติตามคำที่ทุกคนคงได้ฟังจนคุ้นหู คือ “ขออภัย” กับคำว่า “ให้อภัย” เมื่อใครทำอะไรล่วงเกินแก่คนอื่นก็กล่าวคำขออภัยหรือขอโทษ ฝ่ายผู้ที่ถูกล่วงเกินก็ให้อภัยคือยกโทษให้ คนเราต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่ คือร่วมบ้านเรือน ร่วมโรงเรียน ร่วมประเทศชาติ เป็นต้น ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ก็อาจจะประพฤติล่วงเกินกันบ้างเพราะความประมาทพลั้งเผลอต่างๆ ถ้าต่างไม่รู้จักขออภัยและไม่รู้จักให้อภัยแก่กันและกันแล้ว ก็จะทะเลาะวิวาทกัน แตกญาติแตกมิตรแตกสหายกัน ไม่มีความสงบสุข นี้แหละคือเวร อันได้แก่ความเป็นศัตรูกัน หรือที่เรียกอย่างเบาๆ ว่าไม่ถูกกันนั้นเอง

อนึ่ง จะคิดว่าล่วงเกินเขาแล้วก็ขอโทษเขาได้ ดังนี้แล้ว ไม่ระมัดระวังในความประพฤติของตนก็ไม่ถูก เพราะโดยปกติสามัญ ย่อมให้อภัยกันในกรณีที่ควรให้อภัย ซึ่งผู้ประพฤติล่วงเกินแสดงให้เห็นได้ ว่าทำไปด้วยความประมาทหรือด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาและให้เกิดโทษไม่มากนัก คนที่มีจิตใจสูงเป็นพิเศษเท่านั้นจึงจะให้อภัยในเรื่องที่ร้ายแรงได้ซึ่งก็มีเป็นส่วนน้อย และถึงแม้จะให้อภัยในส่วนตัว แต่กฏหมายของบ้านเมืองไม่ยอมอภัยให้ก็มี และโดยเฉพาะเมื่อเป็นบาป หรืออกุศลกรรมแล้ว กรรมที่ตนก่อขึ้นไม่ให้อภัยแก่ผู้ก่อกรรมนั้นเลย ฉะนั้น ทางที่ดีจึงควรมีสติระมัดระวัง มีขันติ คือความอดทน มีโสรัจจะ คือความสงบเสงี่ยม คอยเจียมตน ประหยัดตน ไม่ให้ก่อเหตุเป็นเวรเป็นภัยแก่ใคร พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้ว่า “สญฺญมโต เวรํ น จียติ ผู้ระมัดระวังอยู่ย่อมไม่ก่อเวร”

ธรรมเนียมไทย

ธรรมเนียมที่คนไทยเรานิยมกัน
นาคผู้จะบวชนิยมไปลาญาติมิตรขออัจจโยโทษ คือ ขอโทษในกรรมที่ตนได้ประพฤติล่วงเกินไปแล้ว และเมื่ออุปสมบทแล้ว ในพิธีเข้าพรรษาซึ่งในศก ๒๕๐๓ นี้ ตกวันที่ ๙ กรกฎาคม ก็มีธรรมเนียมขอขมากันในหมู่สงฆ์ เป็นการแสดงว่าพร้อมที่จะระมัดระวังความประพฤติของตนไม่ให้ล่วงเกินกัน พร้อมที่จะขอขมาคือขอโทษและพร้อมที่จะให้อภัยโทษแก่กัน เป็นวิธีผูกมิตรสามัคคีในหมู่คณะ

บัดนี้ ก็ใกล้เทศกาลเข้าพรรษา ทุกๆ คนจึงสมควรร่วมทำพิธีเข้าพรรษากับพระสงฆ์บูชาพระพุทธเจ้า ด้วยการ (๑) ตั้งใจระมัดระวังความประพฤติของตนไม่ให้ล่วงละเมิด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ใครๆ ทั้งในบ้าน ทั้งในโรงเรียน ทั้งในสถานที่อื่น (๒) ตั้งใจว่าพร้อมที่จะขออภัย ขอโทษ ในเมื่อไปล่วงเกินต่อใครๆ (๓) ตั้งใจว่าพร้อมที่จะให้อภัยแก่ใครๆ ตามควรแก่กรณี ฉะนี้แล

๒ กรกฎาคม ๒๕๐๓

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2553 20:48:38 น.
Counter : 921 Pageviews.  

๑๙. เกณฑ์กรรม



หลักพระพุทธศาสนา

๑๙. เกณฑ์กรรม

สาเหตุไม่เชื่อกรรม ๒ อย่าง


ในจิตใจที่มีสามัญสำนึกของทุกๆ คน ย่อมมีความรู้สึกว่า มีความดีความชั่ว มีผลของความดีความชั่ว และผู้ทำนั้นเองเป็นผู้มีความดีความชั่วติดตัวอยู่ เพราะใครทำกรรมอันใดกรรมอันนั้นย่อมจารึกอยู่ในจิตใจ และผู้ทำนั้นเองต้องเป็นผู้รับผล คือรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ความพิสดารในเรื่องนี้ได้แสดงแล้ว แต่การที่คนไม่น้อยยังไม่มีความเชื่อตั้งมั่นลงไปในกรรมตามหลักที่กล่าว ซึ่งรวมรัดโดยย่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ก็เพราะเหตุ ๒ ประการคือ

๑. ความลำเอียงเข้ากับตนเอง หรือถือเอาแต่ใจตน
๒. ไม่เห็นผลสนองที่สาสมทันตาทันใจ

๑. ความลำเอียงเข้ากับตนเองนั้น คือมุ่งประโยชน์ตน หรือมุ่งจะได้เพื่อตนเท่านั้น ไม่คำนึงถึงความเสียหายทุกข์ยากของผู้อื่น ดังเช่นเมื่อโกรธขึ้นมาก็ทำร้ายเขา เมื่ออยากได้ขึ้นมาก็ลักของเขา เมื่อทำได้สำเร็จดังนี้ก็มีความยินดีและอาจเข้าใจว่าทำดี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ใครมาทำร้ายตัวเรา มาลักของเรา ถ้าใครมาทำเข้า เราก็ต้องว่าเขาไม่ดี ถึงเราจะไปยั่วให้เขาโกรธ เมื่อเขาโกรธขึ้นมาทำร้ายร่างกายเรา เราก็ยังว่าเขาไม่ดีอยู่นั่นเอง การกระทำอย่างเดียวกัน จะดีบ้างไม่ดีบ้างอย่างไรได้ เหมือนอย่างการทำร้ายร่างกาย การลักทรัพย์ เมื่อเราทำแก่เขาได้ก็เป็นดี แต่ถ้าเขาทำแก่เราเป็นไม่ดี จะเป็นดังนี้หาถูกต้องไม่ เพราะเป็นการที่เราพูดเอาเองอย่างไม่ยุติธรรม แต่การลำเอียงเข้ากับตนเองข้อนี้แหละเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนเป็นอันมากยังประกอบกรรมชั่วเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือประโยชน์แก่ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับตน ถึงจะมีกรรมศรัทธาอยู่อย่างผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนามีอยู่ทั่วๆ ไปก็ตาม เมื่อความมุ่งจะได้ (โลภะ) ความโกรธแค้นขัดเคือง (โทสะ) ความหลงผิด (โมหะ) มีกำลังแรงกล้ากว่ากำลังศรัทธา คนก็ประกอบกรรมที่ชั่วได้ สุดแต่ใจที่อยากได้ ที่โกรธ ที่หลง จะฉุดชักนำไป ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้สึกสำนึกรู้ในความดีความชั่ว ก็มีความรู้สึกสำนึกรู้เหมือนกัน แต่ไม่มีกำลังใจในฝ่ายสูงที่จะห้ามกำลังใจในฝ่ายต่ำ จึงยับยั้งตนเองไว้ไม่ได้ มีคนเป็นอันมากเมื่อทำไปแล้วเกิดเสียใจในภายหลัง ดังเช่นเมื่อทำอะไรลงไปในขณะที่อยากได้หรือรักชอบอย่างจัด ในขณะที่โกรธจัด ในขณะที่หลงจัดอย่างที่เรียกว่าหลงอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือในขณะที่กำลังเมาสุราอันเรียกได้ว่าหลงเหมือนกัน ครั้นเมื่อสร่างรัก สร่างชัง สร่างหลง สร่างเมาแล้ว ก็กลับเสียใจในกรรมที่ตนได้ประกอบไปแล้วในขณะที่ใจวิปริตเช่นนั้น บางทีทำให้เป็นรอยแผลจารึกอยู่ในจิตใจ คอยสะกิดให้เจ็บช้ำเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลานาน และทำให้เกิดความเกลียดตนเองหรือรังเกียจตนเองจนถึงต้องหลบหน้าเพื่อนฝูงมิตรสหายไปก็มี แต่ถึงจะหลบหน้าคนอื่นเป็นส่วนมากได้แต่หลบตนเองไม่พ้น เมื่อเกิดความเกลียดหรือรังเกียจตนเองมากขึ้นจนไม่สามารถจะทนอยู่ในโลกได้ต้องพยายามทำลายตนเองไปก็มี ฉะนั้น เมื่อเกิดแผลในใจขึ้นก็มักเป็นชนิดโรคเรื้อรังที่รักษาหายยาก สู้ป้องกันไม่ให้มีขึ้นไว้ก่อนไม่ได้ ทั้งนี้ด้วยวิธีปลูกกรรมศรัทธาคือความเชื่อกรรมนี้แหละให้ตั้งมั่นขึ้นในใจ ให้มีเป็นกำลังใจจนพอที่จะเชื่อใจได้ว่าจะไม่ประกอบกรรมที่ชั่วที่ผิดอะไรๆ ถ้ายังคลางแคลงสงสัยไม่เชื่อใจตนเองว่าจะยับยั้งใจไว้ได้ ก็ต้องเว้นจากสิ่งยั่วยุเย้าแหย่ต่างๆ ฉะนั้น ทางบิดามารดาหรือผู้ปกครองและทางโรงเรียนจึงได้คอยแนะนำสั่งสอนห้ามปราม ไม่ให้อ่านหนังสือบางชนิด ไม่ให้ดูภาพยนตร์บางชนิด ที่เป็นเครื่องยุแหย่ยั่วเย้าให้ประพฤติผิดศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดี คำแนะนำห้ามปรามนั้นก็สมควรที่จะเชื่อฟังและปฏิบัติตาม เป็นการป้องกันตัวเราเองไว้ตั้งแต่เบื้องต้น ท่านผู้ใหญ่ที่กรุณาให้คำแนะนำตักเตือนก็ดี พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนก็ดี ท่านก็ได้แต่เป็นเพียงผู้บอกกล่าวแนะนำ ส่วนความเชื่อฟังเป็นหน้าที่ของเราเอง เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจของเรา ถ้าใจของเราเกิดดื้อดึงขัดแย้งไม่เชื่อฟังเสียแล้ว คำแนะนำตักเตือนต่างๆ ก็ไม่มีประโยชน์ หรือมีประโยชน์น้อยมาก ฉะนั้น จึงควรที่จะคอยตรวจดูใจของเราเองว่ามีความเชื่อฟังต่อคำแนะนำสั่งสอนอยู่เพียงไร มีความดื้อดึงขัดแย้งอยู่เพียงไร และคิดต่อไปว่าเพราะเหตุไร หรือหมั่นคิดอยู่ดังนี้แล้วจะเห็นผลเทียบเคียงได้เอง ถ้าคิดตั้งใจฟังคำชี้แจงของท่าน ไม่ตั้งป้อมดื้อดึงเสียก่อนแล้ว ก็คงจะได้ความกระจ่างในคำแนะนำของท่าน และจะได้ซาบซึ้งในเมตตากรุณาของท่าน การหัดมีความเชื่อฟังอย่างมีเหตุผลนี้ เป็นวิธีแก้ความลำเอียงเข้ากับตนเองที่เป็นเหตุให้ทำอะไรตามใจตนเองโดยส่วนเดียว ผู้ใหญ่ที่ดีจึงไม่ตามใจเด็กในทางที่ผิด คอยแนะนำห้ามปราม หรือแม้ต้องปราบเอาบ้างตามสมควร เป็นการหัดไม่ให้ลำเอียงเข้ากับตนเองหรือถือเอาแต่ใจตนเองมาตั้งแต่อ่อน เข้าในคำว่าดัดไม้ตั้งแต่อ่อน เพราะดัดเมื่อแก่นั้นเป็นการดัดยาก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคงเป็นการสั่งสอนให้เป็นคนรู้ผิดรู้ถูกอย่างมีเหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวข้องทุกๆ วัน ทำให้รู้จักเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่อว่ามีถูกมีผิด มีเหตุมีผล ซึ่งเมื่อเป็นความผิดแล้ว ตัวเราเองทำก็ผิด คนอื่นทำก็ผิด เมื่อเป็นความถูกแล้ว ตัวเราเองทำก็ถูก คนอื่นทำก็ถูก ข้อนี้แหละเป็นกรรมศรัทธา ที่ผู้ใหญ่สมควรปลูกฝังให้แก่เด็กมาตั้งแต่ต้น และผู้ใหญ่ก็ควรเว้นจากการการทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่งามให้เด็กเห็นและอ้างได้ว่าทำไมผู้ใหญ่ทำได้ เช่นห้ามไม่ให้เด็กทะเลาะวิวาทกันแต่ผู้ใหญ่เมาสุราทะเลาะวิวาทกัน ห้ามไม่ให้เด็กเล่นการพนันเที่ยวเตร่แต่ผู้ใหญ่เล่นการพนันเที่ยวเตร่ เหล่านี้เป็นต้น เมื่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่างไม่ดี ก็ทำให้เด็กอยากเอาอย่าง ทำให้น้ำหนักในคำอบรมห้ามปรามน้อยลงไปจนเกือบจะไม่มีความหมายอะไรและจะเข้าทำนองคำว่า จงทำตามคำที่ฉันพูด แต่อย่าประพฤติอย่างที่ฉันทำ

๒. ไม่เห็นผลสนองที่สาสมทันตาทันใจ โดยมากต้องการเห็นผลของกรรมเกิดสนองให้เห็นอย่างสาสมทันตาทันใจ เช่นเมื่อทำกรรมดี ก็อยากเห็นกรรมดีให้ผลเป็นรางวัลอย่างมากมายทันตาทันใจ เมื่อเห็นหรือได้ทราบว่าใครทำกรรมชั่ว และไม่เห็นว่าเขาเสื่อมเสียอย่างไรหรือกลับเจริญรุ่งเรือง ก็สงสัยว่า ทำชั่วไม่ได้ชั่วจริงกระมัง อันที่จริงกรรมดีต้องให้ผลดี กรรมชั่วต้องให้ผลชั่ว ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างไม่ผิดโดยแน่นอน และผลที่สนองนั้นจะเรียกว่าเป็นผลที่สาสมก็ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นตัวอย่างในพระสูตร ๑ ว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย (หมายถึงทั้งคนดิรัจฉานเป็นต้น ที่เกี่ยวข้องอยู่ในโลกทั้งหมด) ให้เลวและดีต่างๆ กัน คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทำให้มีอายุสั้น การเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทำให้มีอายุยืน การเบียดเบียนเขาให้ลำบากทำให้มีโรคมาก การไม่เบียดเบียนเขาให้ลำบากทำให้มีโรคน้อย ความมักโกรธหุนหันขึ้งเคียดคับแค้นขัดเคืองกระเง้ากระงอดทำให้ผิวพรรณเศร้าหมองไม่งดงาม ความไม่มักโกรธเคียดแค้นทำให้ผิวพรรณผ่องใสงดงาม ความมักริษยาผู้อื่นทำให้มีศักดิ์ต่ำต้อยน้อยหน้า ความไม่ริษยาทำให้มีศักดิ์สูงใหญ่ ความไม่เผื่อแผ่เจือจานทำให้มีโภคสมบัติน้อย ความเผื่อแผ่เจือจานทำให้มีโภคสมบัติมาก ความแข็งกระด้างถือตัวดูหมิ่นท่านทำให้เกิดในสกุลต่ำ ความไม่แข็งกระด้างถือตัวดูหมิ่นท่านมีความอ่อนน้อมเคารพนับถือผู้ที่ควรอ่อนน้อมเคารพนับถือทำให้เกิดในสกุลสูง ความไม่เข้าหานักปราชญ์หรือผู้รู้ศึกษาไต่ถามทำให้มีปัญญาทราม การเข้าหานักปราชญ์หรือผู้รู้ศึกษาไต่ถามทำให้มีปัญญามาก

ผลที่สาสมกันของกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นตัวอย่างดังที่กล่าวมานี้ เป็นผลของกรรมเก่าคือกรรมที่ทำไว้แล้วในอดีตกาล ส่วนกรรมใหม่คือกรรมที่ทำในปัจจุบันนี้ท่านแสดงว่าจักให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ เหมือนอย่างในวันนี้ ในเดือนนี้ ในปีนี้เองก็มี จักให้ผลในชาติหน้า เหมือนอย่างในวันพรุ่งนี้ ในเดือนหน้า ในปีหน้าก็มี จักให้ผลในชาติต่อๆ ไป เหมือนอย่างในวันมะรืนนี้ หรือในเดือนโน้น ในปีโน้นเป็นต้นก็มี ฉะนั้น การให้ผลของกรรมจึงเกี่ยวแก่กาลเวลาเป็นสำคัญ การกระทำทุกๆ อย่างที่ให้ผลนั้นต้องเกี่ยวแก่กาลเวลาทั้งนั้น เช่นการปลูกต้นไม่มีผลก็มิใช่ว่าต้นไม่นั้นจะให้ผลทันที ต้องรอจนต้นไม้เจริญเติบโต และถึงฤดูกาลให้ผลจึงจะให้ผลตามชนิด การเรียนหนังสือก็มิใช่ว่าจะเรียนให้สอบไล่ได้ในวันเดียว ต้องเรียนเรื่อยไปจนถึงกำหนดสอบไล่จึงเข้าสอบไล่ บางทีก็ต้องเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่ละความพยายามก็อาจจะสอบไล่ได้ การทำการค้าประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ รับราชการ หรือประกอบอาชีพทุกอย่างก็เหมือนกัน จะได้รับผลก็อาศัยกาลเวลาทั้งนั้น และผลที่ได้รับนั้นจะดีหรือไม่ดีอย่างไร จะรวดเร็วหรือช้าอย่างไร ก็สุดแต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้ในเรื่องกรรมให้ผลท่านก็แสดงว่าเกี่ยวแก่สถานการณ์ ๔ อย่างคือ (๑) คติ (๒) อัตภาพ (๓) กาลสมัย (๔) การประกอบ

ส่วนประกอบของการให้ผลของกรรม ๔ อย่าง

(๑) คติ คือที่ไป แสดงในปัจจุบัน คือไปทุกๆ แห่ง จะไปเที่ยวไปพักอาศัยชั่วคราวหรือไปอยู่ประจำก็ตาม คนที่ทำดีมาแล้ว ถ้าไปในที่ที่ไม่ดี ความดีที่ทำไว้ก็อาจจะยังไม่ให้ผล เหมือนอย่างนักเรียนที่เรียนมัธยม ๖ มาแล้วจากต่างจังหวัด เรียกว่าได้ทำความดีมาแล้วถึงชั้นนี้ และเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ แต่ไปอยู่ในหอพักที่ไม่ดี เมื่อควรจะไปโรงเรียนก็ไม่ไป แต่ไปเถลไถลเสียที่อื่น อย่างนี้เรียกว่ามีคติที่ไปไม่ดี ความดีเท่าที่ทำไว้คือที่เรียนมาจนจบมัธยม ๖ ในต่างจังหวัด ก็ไม่ส่งเสริมให้เจริญวิทยฐานะขึ้นต่อไป ส่วนนักเรียนที่เรียนมาไม่สู้ดี ไม่จบถึงชั้นไหน แต่เกิดความตั้งใจดี ไปพักอาศัยอยู่ในที่ดีและไปเรียนกวดวิชาอย่างจริงจัง ก็อาจจะสอบขึ้นชั้นสูงได้ ตัวอย่างนี้เป็นเพียงตัวอย่างเฉพาะเรื่องเท่านั้น เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้ว คนที่มีกรรมเก่าไม่ดี แต่ว่ามีคติใหม่ดี อย่างที่เรียกว่ากลับตนดำเนินทางใหม่ คือเว้นจากทางไม่ดีเก่าๆ ที่เคยดำเนินมา มาเปลี่ยนดำเนินทางใหม่ที่ดีอันตรงกันข้าม กรรมชั่วที่ทำไว้แล้วแต่ก่อนก็อาจยังไม่ให้ผล ได้ในคำว่ามืดมาสว่างไป ถ้าทางเก่าก็ไม่ดี ทางใหม่ก็ไม่ดี ได้ในคำว่า มืดมามืดไป ก็เป็นอันเอาดีไม่ได้เลย ส่วนคนที่ทำความดีมาแล้วเรียกว่าเดินทางถูกมาแล้ว แต่ต่อมากลับไปเดินทางผิด กรรมดีที่ทำไว้แล้วก็อาจยังให้ผลไม่ได้ ได้ในคำว่าสว่างมามืดไป ฝ่ายคนที่มาดีคือเดินทางมาถูกแล้วและก็เดินทางถูกต่อไป เป็นอันว่าความดีที่ทำไว้สนับสนุนให้ดีอีกต่อไปไม่ขาดสาย ได้ในคำว่าสว่างมาสว่างไป ฉะนั้น คติที่ไปหรือการไป คือทางที่ทุกๆ คนดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้แหละสำคัญมาก ในส่วนที่ล่วงมาแล้วจะผิดหรือถูกเราก็ได้ดำเนินมาแล้ว ฉะนั้น ให้ถือว่าเป็นอันแล้วไป หรือให้ถือเป็นบทเรียน ถ้าเดินทางดีมาแล้วก็จงเดินทางดีนั้นต่อไป ถ้าทางที่เดินมาแล้วไม่ดีก็เปลี่ยนทางใหม่ เลือกเดินไปในทางที่ดี นับว่าเป็นผู้ที่กลับตัวได้ เข้าในคำว่ามืดมาสว่างไป พระพุทธเจ้าโปรดปรานบุคคลเช่นนี้ ดังเช่นองคุลิมาลโจรเป็นตัวอย่าง เพราะทุกๆ คนย่อมมีผิดพลาดมาแล้วมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งผ่านชีวิตมามาก ยิ่งมีโอกาสผิดพลาดได้มาก จนถึงมีคำพังเพยว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์ ข้อสำคัญจึงอยู่ที่เมื่อทำผิดไปแล้วก็ให้รู้ตัวว่าทำผิดและตั้งใจไม่ให้ทำผิดอีก เป็นอันนำตัวให้เข้าทางที่ถูก นี่แหละคือคติที่ดีของชีวิตปัจจุบัน

(๒) อัตภาพ หมายถึงความมีร่างกายสมบูรณ์ประกอบด้วยพลานามัย สามารถทำสิ่งที่ควรทำได้ตามต้องการ พลานามัยของร่างกายนี้เป็นสิ่งสำคัญ ความดีจะให้ผลเต็มที่ต่อเมื่อร่างกายสมบูรณ์ด้วย เช่นเรียนหนังสือมาได้ถึงชั้นใดชั้นหนึ่ง นับได้ว่าทำความดีมาจะเรียนต่อไปได้จนสำเร็จก็ต้องมีร่างกายสมบูรณ์ที่สามารถจะเรียนต่อไปได้ ถ้าป่วยเป็นโรคกระเสาะกระแสะการเรียนต่อก็ขัดข้องไม่สะดวก หรือคนที่กำลังทำงาน ถ้าล้มป่วยลงความเจริญก็ชะงัก ในทางตรงกันข้าม คนที่เคยประพฤติผิดพลาดเหลวไหลมาแล้ว แต่ต่อมาได้คติของชีวิตที่ดีดังกล่าวแล้วในข้อคติ ก็อาจประกอบกรรมที่ดีสืบต่อไปได้ ความเหลวไหลที่แล้วมาก็อาจยังไม่มีโอกาสให้ผล ความมีอัตภาพร่างกายสมบูรณ์เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตทุกอย่าง เพราะเครื่องบั่นทอนต่างๆ นั้นมีเป็นอันมาก กล่าวโดยเฉพาะในทางการแพทย์ปัจจุบันนี้ก็แสดงว่ามีเชื้อโรคต่างๆ ในที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโดยรอบร่างกายมากมายหลายชนิด เมื่อร่างกายมีกำลังต้านทานเชื้อโรคเพียงพอก็ไม่เกิดอาการเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนแอลงเมื่อใดเชื้อโรคก็ได้ช่องเมื่อนั้น ฉันใดก็ดี กรรมดีกรรมชั่วต่างๆ ที่บุคคลทำไว้ในปางหลังก็มีมากมาย ถ้าเราตั้งตัวไว้ดี กรรมชั่วก็อาจไม่มีโอกาสให้ผล กรรมดีมีโอกาสส่งเสริม แต่เมื่อเพลี่ยงพล้ำลงเมื่อใด กรรมชั่วก็มีโอกาสให้ผลซ้ำเติมเมื่อนั้น

(๓) กาลสมัย หมายถึง ในกาลสมัยที่สมบูรณ์ มีผู้ปกครองดี มีหมู่ชนที่ดี กรรมดีก็มีโอกาสให้ผลได้มาก กรรมชั่วก็อาจสงบผลอยู่ก่อน เพราะในกาลสมัยเช่นนี้จะพากันยกย่องอุดหนุนคนดี ไม่สนับสนุนคนชั่ว ทำให้คนดีมีโอกาสปรากฏตัว ประกอบกรรมที่ดีอำนวยให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมยิ่งขึ้น แต่ในกาลสมัยที่บกพร่อง มีผู้ปกครองไม่ดี มีหมู่ชนไม่ดี กรรมดีที่ตนทำไว้ก็ไม่มีโอกาสให้ผล กรรมชั่วกลับมีโอกาสให้ผล เพราะเป็นสมัยที่กดคนดี ยกย่องคนชั่ว นับว่าเป็นกาลวิบัติ อีกอย่างหนึ่ง ในกาลสมัยที่มีการกดขี่เบียดเบียนกันจนถึงทำสงครามกันดังเช่นสงครามโลกที่แล้วๆ มา คนในโลกได้รับภัยสงครามกันเป็นอันมาก นี้เรียกว่าเป็นโอกาสที่กรรมชั่วซึ่งต่างได้กระทำไว้ในอดีตให้ผล ทำให้ต้องประสบภัยต่างๆ ตลอดถึงความทุกข์ยากขาดแคลนกันทั่วๆ ไป แต่ในกาลสมัยที่มีความสงบเรียบร้อยก็เป็นไปตรงกันข้าม ต่างไปเล่าเรียนศึกษาประกอบการงานกันได้ตามปกติ

(๔) การประกอบกรรม หมายถึงการประกอบกระทำในปัจจุบัน ถ้าประกอบกระทำกรรมที่ดีที่ชอบอยู่ในปัจจุบัน กรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีตก็อาจยังระงับผล หรือแม้กำลังให้ผลอยู่แล้วก็อาจเอาลงได้ ดังเช่นผู้ที่ต้องถูกกักขังจองจำ เมื่อประพฤติตัวดีก็ย่อมได้รับผ่อนผันและลดเวลากักขังจองจำนั้นให้น้อยเข้า ถ้ากรรมเก่าดีอยู่แล้วก็ยิ่งจะส่งเสริม เหมือนอย่างนักเรียนที่ตั้งใจเรียนดีมาแล้ว และตั้งใจเรียนดีอยู่ในปัจจุบัน ก็ช่วยกันให้เรียนดียิ่งขึ้น แต่ถ้าในปัจจุบันนี้ประกอบกรรมที่ชั่วเสียหายก็จะตัดผลของกรรมดีที่เคยทำมาแล้วด้วย เหมือนอย่างข้าราชการที่ทำงานมาโดยสุจริตแล้ว แต่มาทำทุจริตขึ้น ก็อาจตัดผลของความดีที่ทำมาแล้ว ในเมื่อการทำทุจริตในหน้าที่นั้นปรากฏขึ้น

ตัวอย่างการให้ผลของกรรม

การให้ผลของกรรม ย่อมเกี่ยวแก่กาลเวลา ประกอบกับสถานการณ์ทั้งสี่ดังกล่าวมานี้ ท่านเล่าเรื่องเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้หนึ่งรับราชการ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองแห่งหนึ่ง แต่บุรุษผู้นั้นมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ไปข่มขู่ถือเอาทรัพย์ต่างๆ ของประชาชนในเมืองที่ปกครองโดยพลการ แต่ก็ยังไม่มีใครอาจจะฟ้องร้องว่ากล่าว เพราะกลัวอำนาจ บุรุษผู้นั้นกำเริบยิ่งขึ้น ถึงกับไปผิดในบุคคลที่เป็นใหญ่กว่าตนมีอำนาจยิ่งกว่าตน จึงถูกจับไปเข้าเรือนจำ และมีประกาศให้ประชาชนที่ถูกข่มเหงร้องทุกข์กล่าวโทษ จึงมีเสียงร้องทุกข์กล่าวโทษขึ้นตั้งร้อยตั้งพัน บุรุษนั้นจึงถูกลงโทษไปตามความผิด เรื่องนี้พึงเห็นความเปรียบเทียบดังนี้ เวลาที่บุรุษนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกำลังรุ่งเรืองก็เท่ากับเวลาตั้งอยู่ในคติคือตำแหน่งมีอำนาจ ประกอบด้วยมีฐานะของตนสูงทำอะไรได้ตามต้องการ อยู่ในสมัยที่ตนมีอำนาจ ทั้งอยู่ในหน้าที่เป็นโอกาสให้ประกอบกระทำอะไรได้ อกุศลกรรมจึงยังไม่มีโอกาสจะให้ผล ต่อเมื่อถูกจับเข้าเรือนจำ เสียงร้องทุกข์กล่าวโทษเกิดขึ้นตั้งร้อยตั้งพันเรื่อง ก็เท่ากับถึงกาลวิบัติของตน สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวที่เคยดีก็กลับเลวลง เข้าในคำว่าน้ำลดตอผุด อกุศลกรรมที่ตนทำไว้จึงมีโอกาสให้ผล

รวมความว่า ทุกๆ คนทำกรรมใดๆ ไว้ กรรมนั้นๆ ย่อมให้ผลในปัจจุบันบ้าง ในภายหน้าบ้าง ในเวลาต่อๆ ไปบ้าง ตามแต่กรรมนั้นๆ จะหนักเบาอย่างไร ท่านเปรียบเหมือนอย่างยืนอยู่บนที่สูงและโยนสิ่งต่างๆ มีก้อนหิน ก้อนดิน กิ่งไม้ใบหญ้าเป็นต้น ลงมาของที่มีน้ำหนักมากย่อมตกลงสู่พื้นดินก่อน ส่วนของที่มีน้ำหนักน้อยกว่าก็ตกถึงพื้นดินภายหลังโดยลำดับ กรรมก็ฉันนั้น กรรมที่หนักให้ผลก่อน ส่วนกรรมที่หนักน้อยกว่าหรือเบากว่าก็ให้ผลตามหลัง การให้ผลของกรรมจึงเกี่ยวกับกาลเวลา ประกอบกับสถานการณ์สี่อย่างคือ (๑) คติ (๒) อัตภาพ (๓) กาลสมัย (๔) การประกอบกรรมในปัจจุบัน แต่กรรมย่อมให้ผลแน่นอนตามพระพุทธภาษิตว่า

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ทำดีได้ดี
ปาปการี จ ปาปกํ ทำชั่วได้ชั่วแล


๑๘ มิถุนายน ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖




 

Create Date : 28 เมษายน 2553    
Last Update : 28 เมษายน 2553 5:13:29 น.
Counter : 485 Pageviews.  

๑๘. พิสูจน์กรรม



หลักพระพุทธศาสนา

๑๘. พิสูจน์กรรม

การพิสูจน์ทางโลก


เดี๋ยวนี้เมื่อพูดว่าอะไรเป็นอะไร ก็มักจะถูกถามว่าพิสูจน์ได้หรือไม่ เหมือนอย่างวิธีพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ อันทุกๆ สิ่งที่ปรากฏขึ้น หรือดังที่เรียกว่าปรากฏการณ์นั้น ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้แน่ในเมื่อมีเครื่องพิสูจน์ที่เพียงพอ แต่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ชนิดไหนก็สุดแต่สิ่งที่จะพิสูจน์ ถ้าสิ่งที่พิสูจน์นั้นเป็นวัตถุหรือสสารก็พึงพิสูจน์ด้วยเครื่องพิสูจน์สำหรับวัตถุหรือสสารนั้นทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้เป็นต้น ถ้าสิ่งที่จะพิสูจน์เป็นอย่างอื่น จะใช้เครื่องพิสูจน์สำหรับวัตถุหรือสสารนั้นหาได้ไม่ ถ้าจะพึงใช้เครื่องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้ทุกอย่างแล้วศาลหลวงก็ไม่ต้องตั้งขึ้น เพราะเมื่อใครถูกกล่าวหาฟ้องร้องว่าทำผิดก็จับตัวมาเข้าห้องวิทยาศาสตร์พิสูจน์ ไม่ต้องขึ้นศาล ในบัดนี้แม้จะมีเครื่องจับเท็จก็ใช้เป็นเพียงเครื่องมือประกอบเท่านั้น ใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยเด็ดขาดหาได้ไม่ ฉะนั้น จะพิสูจน์อะไรก็ต้องมีเครื่องพิสูจน์ที่ควรกัน กล่าวอย่างสรุป เมื่อสิ่งที่พิสูจน์เป็นวัตถุหรือสสารก็ใช้เครื่องพิสูจน์ในทางนั้น เมื่อสิ่งที่พิสูจน์เป็นความจริงที่นอกไปจากวัตถุหรือสสารก็ต้องใช้เครื่องพิสูจน์อย่างอื่นที่จะชี้ถึงความจริงนั้นๆ ได้ ดังวิธีที่ทั่วโลกก็ใช้กันอยู่แล้ว เป็นต้นว่า

การพิสูจน์ความผิด เมื่อบุคคลถูกกล่าวหาฟ้องร้องว่าทำผิดกฎหมายก็ต้องพิสูจน์กันตามวิธีที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น สืบสวน สอบสวน ไต่สวน พิจารณา วินิจฉัยโดยยุติธรรม ตามกฎหมาย

การพิสูจน์ภูมิรู้สติปัญญา เรื่องนี้จะชั่งตวงวัดอย่างวัตถุ หรือจะคำนวณด้วยวิธีคณิตศาสตร์ ให้รู้ว่าใครมีภูมิสติปัญญาเท่าไรหาได้ไม่ เพราะมิใช่เป็นสิ่งที่มีส่วนกว้างบางตื้นลึกหนักเบาอย่างสิ่งของ ฉะนั้น จึงต้องใช้วิธีให้แสดงออกเหมือนอย่างในครั้งโบราณ ผู้ที่ไปเรียนสำเร็จศิลปศาสตร์มาแล้วก็แสดงศิลปศาสตร์นั้นในที่ประชุมชน ในบัดนี้ก็ใช้การสอบต่างๆ ตั้งข้อสอบให้ตอบ เมื่อตอบได้ตามเกณฑ์ก็รับรองว่าสอบได้ มีภูมิรู้ชั้นนั้นชั้นนี้ แม้การวัดภูมิสติปัญญาที่เรียกว่าไอคิวของฝรั่ง ก็เป็นวิธีตั้งปัญหาให้ตอบเช่นเดียวกัน แล้วก็ตัดสินว่ามีสติปัญญาขนาดนั้นขนาดนี้ วิธีพิสูจน์ด้วยการสังเกตจากการแสดงออกนี้ก็คล้ายเป็นการทำนายอย่างหมอดู ซึ่งทำนายไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ใช่เป็นความจริงอย่างเต็มที่เหมือนอย่างรู้ด้วยญาณ (ความหยั่งรู้จริง) แต่เรียกว่าเป็นญาณสมมติก็พอได้ คือต่างว่าเป็นญาณ เมื่อใช้วิธีซึ่งเป็นที่รับรองกันแล้ว เช่นวิธีสอบดังกล่าว ก็เป็นใช้ได้

การพิสูจน์มติและจิตใจ เมื่อต้องการจะรู้ว่าใครมีความคิดเห็นอย่างไรจะใช้เครื่องชั่งตวงวัดเป็นต้น ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องใช้วิธีให้แสดงออกมา ในทางการเมืองเช่นออกเสียงเลือกตั้ง ออกเสียงแสดงประชามติ ในการประชุมเช่นการอภิปราย การลงมติ และในส่วนปลีกย่อย เฉพาะเรื่อง เฉพาะบุคคล ก็ใช้วิธีแหย่ให้บุคคลนั้นแสดงออกมา และสังเกตจากอาการที่เขาแสดงออกมานั้น แต่ถ้าเขาไม่แสดงอาการออกมาแล้วก็จะรู้ไม่ได้ เว้นไว้แต่จะมีญาณหยั่งรู้จิตใจของเขาเท่านั้น

การพิสูจน์ต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ แสดงว่าเครื่องพิสูจน์นั้นมีต่างๆ เมื่อเป็นวัตถุก็นำเข้าห้องวิทยาศาสตร์ เมื่อเป็นความผิดก็นำเข้าโรงศาล เมื่อเป็นภูมิรู้ก็นำเข้าสอบไล่ เมื่อเป็นจิตใจก็แหย่ให้แสดงออก ดังนี้เป็นต้น คราวนี้เป็นกรรมจะนำเข้าวิธีไหน? จะนำเข้าโรงศาลหรือจะนำเข้าห้องสอบไล่ดังกล่าวแล้วเป็นต้น ก็คงไม่ได้ผล จึงต้องนำเข้าพิสูจน์ตามหลักเหตุผล อันเป็นเหตุผลอย่างธรรมดาสามัญที่สามารถจะเข้าใจได้ด้วยสามัญสำนึกของทุกๆ คน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

การพิสูจน์ตามหลักเหตุผล

ทุกๆ คนเมื่อตากแดดก็ร้อน เมื่ออาบน้ำก็เย็น เมื่อได้รับความร้อนเย็นตามที่ต้องการก็เป็นสุข เมื่อได้รับเกินต้องการก็เป็นทุกข์ สิ่งที่ทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์เหล่านี้เรียกว่าเหตุ ส่วนความสุขหรือทุกข์ที่ได้รับเรียกว่าผล ถ้าเป็นเหตุผลในทางให้เกิดสุขก็เรียกว่าดี ถ้าเป็นเหตุผลในทางให้เกิดทุกข์ก็เรียกว่าชั่วร้าย เหตุผลที่เกิดจากการทำของบุคคลก็เช่นเดียวกัน เช่นเมื่อผู้ใดมารังแกตัวเราให้เดือดร้อนเราก็เห็นว่าคนนั้นไม่ดีเกเร เมื่อมีผู้ใดมาช่วยเหลือเกื้อกูลตัวเราให้เป็นสุขสบายเราก็เห็นว่าคนนั้นเป็นคนดีเป็นคนมีคุณเกื้อกูล ตัวอย่างง่ายๆ ดังกล่าวนี้เป็นเครื่องแสดงว่าทุกๆ คนต่างก็มีสามัญสำนึกบอกตัวเองอยู่ว่า ความดีและความชั่วมีจริง เพราะเรารู้สึกตัวของเราเองว่าคนนั้นทำดีแก่เรา คนโน้นทำชั่วร้ายแก่เรา และในทำนองเดียวกันตัวเราเองก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่า ตัวเราเองทำดีหรือไม่ดีอย่างไร จนถึงบางทีรู้สึกภูมิใจในความดีของเรา หรือเสียใจในความชั่วของเรา ในเมื่อเกิดรู้สึกตัวขึ้น อันความดีหรือความชั่วที่ตัวเราเองทำหรือที่คนอื่นทำซึ่งปรากฏในความรู้สึกของเรานั้น คืออะไรเล่า? ก็คือกรรมนั่นเอง เป็นกุศลกรรม (กรรมดี) บ้าง เป็นอกุศลกรรม (กรรมชั่ว) บ้าง ฉะนั้น กรรมจึงมีจริง และมีตัวอยู่จริง เพราะติดอยู่ในความรู้สึก ในจิตใจของตัวเราเอง ท่านผู้ทำความดีให้แก่ตัวเรา เช่นมารดาบิดา และผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย พระคุณของท่านเหล่านี้ย่อมติดอยู่ในจิตใจของตัวเรา เกิดเป็นความกตัญญู (รู้พระคุณที่ท่านได้ทำ) และกตเวที (ประกาศพระคุณที่ท่านได้ทำแล้ว คือการตอบแทนพระคุณท่าน) ในทางตรงกันข้าม เมื่อใครทำไม่ดีต่อเราก็มักจะติดใจตัวเรา กลายเป็นผูกเวรกันต่อไปได้เหมือนกัน กรรมของคนอื่นยังติดใจตัวเราเองอยู่ได้ถึงเช่นนี้ ไฉนกรรมของเราเองจะติดใจตัวของเราเองอยู่ไม่ได้ เราไม่สามารถจะแกล้งลืมกรรมของเราได้ ถึงจะลืมไปแล้วก็ยังฝังอยู่อย่างลึกซึ้งในจิตใจ เพราะกรรมเกิดจากเจตนาของเรา จึงเป็นรอยจารึกของจิตใจ

กรรมและวิบาก

เมื่อรู้สึกว่ากรรมมีจริง ทำดีเมื่อใดเป็นกรรมดีเมื่อนั้น ทำไม่ดีเมื่อใดเป็นกรรมชั่วเมื่อนั้น ปัญหาต่อไปจึงมีว่า กรรมวิบากคือผลของกรรมมีหรือไม่และมีอย่างไร คิดดูง่ายๆ ในเวลาสอบไล่ เมื่อได้รับข้อสอบ คิดออกตอบได้สอบไล่ได้ การที่ตอบได้สอบไล่ได้เป็นผลดี เกิดจากความตั้งใจเรียนดี นี้แหละคือกรรมดี ทำให้เกิดผลดีคือสอบไล่ได้ ถ้าตรงกันข้ามเรียนอย่างเหลวไหลจนถึงสอบไม่ได้ นี้เป็นกรรมชั่ว ทำให้เกิดผลชั่วคือสอบตก ฉะนั้น ผลของกรรมจึงมีอยู่จริง และมีตามชนิดของกรรม คือผลดีเกิดจากกรรมดีผลชั่วเกิดจากรรมชั่ว เพราะกรรมดีย่อมให้ผลดีกรรมชั่วย่อมให้ผลชั่วเสมอ ไม่สับสนกัน เหมือนอย่างต้นมะม่วงให้ผลเป็นมะม่วง ต้นขนุนให้ผลเป็นขนุน เป็นไปตามชนิด

แต่ยังมีปัญหาต่อไปอีก กรรมและกรรมวิบากนั้นเป็นของใคร คิดดูง่ายๆ อย่างการเรียนการสอบดังกล่าวแล้ว คนไหนเรียนคนนั้นรู้ คนไหนไม่เรียนคนนั้นก็ไม่รู้ ถ้าไม่เรียนใครจะมาบันดาลให้ใครรู้ขึ้นเองหาได้ไม่ ฉะนั้น กรรมและวิบากกรรมจึงเป็นของของคนที่ทำกรรมนั้นเอง ผู้ใดทำกรรมอย่างใดก็ย่อมได้ผลกรรมอย่างนั้น เหมือนอย่างหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทุกๆ คนจึงต้องรับผิดชอบต่อกรรมของตนเอง จะป้ายไปให้คนอื่นไม่ได้ คนที่ทำดี เช่นประพฤติตนเรียบร้อย ช่วยทำกิจที่เป็นประโยชน์เป็นต้น จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามก็เป็นคนดีขึ้นเพราะกรรมของตน ใครจะรู้จะชมหรือไม่ก็ตามตัวผู้ทำเองก็รู้สึกตัวเองว่าทำดี คนที่ทำไม่ดี เช่นประพฤติตนเกะกะระราน เป็นคนหัวขโมยเป็นต้น ก็เป็นคนชั่วขึ้นเพราะกรรมของตน ใครจะรู้จะติหรือไม่ก็ตามตัวผู้ทำเองก็รู้สึกว่าตัวของตัวทำชั่ว อาจจะป้ายความผิดให้ผู้อื่น ด้วยการหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิด แต่จะหลอกตัวเองไม่ได้ ตัวเองย่อมรู้สึกสำนึกตัวเองอย่างเต็มที่ ฉะนั้นเมื่อทำดีทำชั่วแล้วจึงปัดดีปัดชั่วออกไปให้พ้นตัวเองไม่ได้ เพราะรู้สึกตัวเองอยู่ทางจิตใจของตน ใครจะแย่งดีไปจะใส่ชั่วให้ก็ไม่ได้ นอกจากหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิดเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง

สรุปความว่า เมื่อคิดพิสูจน์ด้วยสามัญสำนึกตามเหตุผลอย่างง่ายๆ ในเรื่องความดีความชั่วทั่วๆ ไปที่มีอยู่เฉพาะหน้า ก็จะเห็นได้แล้วว่า

๑. กรรมมี คือมีความดีความชั่วในการทำของทุกๆ คน
๒. กรรมวิบากมี คือมีผลดีของความดี มีผลชั่วของความชั่ว
๓. กรรมเป็นของผู้ทำ คือใครทำกรรมอย่างใดก็ได้รับผลกรรมอย่างนั้น

เมื่อกล่าวเฉพาะตัวของเราเองแล้ว เมื่อเป็นกรรมของเราเองยิ่งพิสูจน์ได้ง่าย คือนำเข้าพิสูจน์ในห้องใจของเราเอง เพราะเรารู้ตัวเราเองได้ดี แต่ข้อสำคัญเราต้องมียุติธรรม คือไม่ลำเอียง เหมือนอย่างการพิสูจน์วัตถุหรือสสารในห้องวิทยาศาสตร์ เครื่องพิสูจน์ต้องใช้ได้หรือการพิสูจน์ความผิดในโรงศาล โรงศาลก็ต้องสถิตยุติธรรม

ที่ลับไม่มี

คำเก่าๆ มีกล่าวว่า “ถึงคนไม่เห็นเทวดาก็เห็น” เดี๋ยวนี้อาจเห็นว่าพ้นสมัย แต่ถ้ารู้จักคิดคำนี้ก็ยังใช้ได้ คือเทวดาในดวงใจของเราเอง หมายความว่าความมีหิริ (ละอายใจ) และโอตตัปปะ (เกรงบาป) ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นเทวธรรม (ธรรมของเทวดา หรือธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา) ใจที่มีละอายมีเกรงต่อบาปคือความชั่วช้าต่างๆ นี้แหละคือเทวดา แต่ใจกระด้างด้านหยาบช้าแข็งกร้าวชั่วร้ายอาจมองไม่เห็น ภาษิตมอญมีกล่าวว่า “เมื่อกาจับที่ใบต้นหญ้า ด้วยคิดว่าไม่มีใครเห็น ถึงกระนั้นก็มีผู้เห็นอยู่ถึงสองเป็นอย่างน้อย” ผู้เห็นทั้งสองในภาษิตมอญนี้คือใคร ขอให้คิดเอาเอง ถ้าคิดไม่เห็นก็ให้ส่องหน้าในกระจก ก็จะเห็นผู้ที่เห็นกา แม้พระพุทธภาษิตก็มีกล่าวไว้ว่า “ชื่อว่าที่ลับย่อมไม่มีแก่ผู้ทำชั่ว”

ลัทธิ ๔ อย่าง

ในมหาโพธิชาดกตอนหนึ่ง เล่าว่า พระราชาแห่งรัฐหนึ่งมีอำมาตย์อยู่ ๔ คน เป็นผู้แสดงลัทธิต่างๆ แก่พระราชา อำมาตย์คนที่ ๑ แสดงลัทธิว่า ผลทุกๆ อย่างไม่มีเหตุ อำมาตย์คนที่ ๒ แสดงลัทธิว่า พระอิศวร (พระเป็นเจ้า) สร้าง อำมาตย์คนที่ ๓ แสดงลัทธิว่า ทุกๆ อย่างเป็นเพราะบุพกรรม (กรรมในปางก่อน) อำมาตย์คนที่ ๔ แสดงลัทธิว่า ขาดสูญ ยังมีชีปะขาวอีกคนหนึ่งซึ่งพระราชาเคารพนับถือ ปรารถนาจะโต้วาทะกับอำมาตย์เหล่านั้น จึงไปขอหนังของวานรจากชาวบ้านมาตากทำให้หมดกลิ่นให้เรียบร้อยดีแล้ว จึงนุ่งห่มหนังวานรและใช้เป็นอย่างผ้าพาดบ่าเข้าไปในพระอุทยาน พระราชาได้ทรงทราบ ได้เสด็จพร้อมกับอำมาตย์ทั้ง ๔ ทอดพระเนตรเห็นท่านชีปะขาวกำลังนั่งสนใจอยู่กับหนังวานร จึงตรัสถาม ชีปะขาวก็ทูลตอบว่า วานรนี้มีอุปการะแก่อาตมามาก ช่วยนำน้ำมาให้บ้าง กวาดที่ให้อยู่บ้าง ทำการปฏิบัติให้ต่างๆ อาตมาจะไปไหนก็ขึ้นหลังวานรนี้ไป แต่คราวหนึ่งอาตมาเกิดมีจิตใจทรามจึงกินเนื้อของวานรนั้น นำหนังมาตากให้แห้งใช้นุ่งห่มตลอดถึงปูนั่งนอนเพราะคิดถึงบุญคุณว่ามีอุปการะแก่อาตมามาก ฝ่ายอำมาตย์ทั้ง ๔ ได้ยินดังนั้นก็พากันกล่าวเย้ยหยันว่า ตาชีปะขาวนี้เป็นคนอกตัญญู ทรยศต่อมิตร ทำปาณาติบาต

ฝ่ายชีปะขาวจึงกล่าวโต้แก่อำมาตย์คนที่ ๑ ซึ่งถือลัทธิทุกๆ อย่างไม่มีเหตุ ว่าเมื่อผลทุกๆ อย่างไม่มีเหตุ เกิดขึ้นเอง ความชั่วอะไรๆ จะมีได้อย่างไร เพราะตามลัทธิของท่าน ย่อมไม่มีเหตุที่จะทำให้ใครๆ ในโลกเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์ โลกนี้เป็นไปตามคติและภาวะของตนเอง แปรปรวนวิวัฒนาการไปเอง มีสุขมีทุกข์ไปเอง จะทำอะไรก็ทำไปไม่จำต้องประสงค์จะทำดีหรือทำชั่ว ทำๆ ไปก็แล้วกัน ทำอะไรก็ทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีใครทำบาปหรือทำบุญอะไรเล่า ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านเป็นจริง ถึงอาตมาจะฆ่าวานรกินเนื้อเสียอาตมาก็ไม่มีโทษไม่มีบาป อำมาตย์คนที่ ๑ เมื่อถูกโต้เช่นนั้นก็นั่งนิ่ง

ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๒ ซึ่งถือลัทธิพระเป็นเจ้าสร้าง ว่าถ้าพระเป็นเจ้าสร้างชีวิตแก่โลกทั้งหมด เที่ยวจัดแจงให้คนนี้ทำกสิกรรมให้คนนั้นเลี้ยงโคเป็นต้น เป็นผู้สร้างความเจริญความเสื่อมความดีความชั่วทั้งปวง เป็นผู้บันดาลสิ่งทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครทำบาปก็ทำเพราะพระเป็นเจ้าสั่งให้ทำ พระเป็นเจ้าจึงต้องรับบาปนั้นไปเอง ถึงอาตมาจะฆ่าลิงหรือใครจะทำบาปอะไรๆ ก็ไม่ต้องรับบาป เพราะทำตามคำสั่งของพระเป็นเจ้าต่างหาก อำมาตย์คนที่ ๒ ถูกโต้ดังนั้นก็นิ่งไป

ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๓ ซึ่งถือลัทธิกรรมในปางก่อน ว่าถ้าใครๆ พากันถึงสุขทุกข์เพราะกรรมในปางก่อนเป็นเหตุเท่านั้นแล้ว ใครๆ ที่ต้องได้รับทุกข์ในบัดนี้ เช่นถูกเขาฆ่า ถูกเขาลักทรัพย์ ถูกเขาเบียดเบียนต่างๆ ก็เพราะกรรมในปางก่อนของตนเองเหมือนอย่างกู้หนี้เขามาแล้วก็ใช้หนี้เขาไป ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านเป็นจริง วานรนี้ก็คงเคยฆ่าอาตมามาแล้วในชาติปางก่อน เหมือนอย่างเป็นหนี้อาตมาอยู่ มาชาตินี้อาตมาจึงฆ่าเสียบ้าง ลิงนี้จึงถูกฆ่าเป็นการใช้หนี้กรรมเก่าให้สิ้นไป อาตมาซึ่งเป็นผู้ฆ่าจึงเท่ากับเป็นผู้ช่วยลิงนี้ให้พ้นจากหนี้ จึงไม่เป็นบาปอะไร กลับจะเป็นการช่วยไปเสียอีก และใครๆ จะฆ่าหรือทำร้ายใคร เมื่ออ้างว่าเป็นกรรมเก่าของเขาๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น และอาจอ้างเอาบุญคุณเสียอีกก็ได้ ว่าช่วยฆ่าเขาเป็นการช่วยเปลื้องหนี้กรรมให้แก่เขา อำมาตย์คนที่ ๓ ถูกโต้เช่นนี้ก็นิ่งไป

ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๔ ซึ่งถือลัทธิขาดสูญ ว่าถ้าใครๆ ขาดสูญเสียหมดคือตายสูญไปเลยไม่ต้องเกิดอีก จะทำอะไรก็มุ่งประโยชน์เดี๋ยวนี้เท่านั้น แม้ว่าจะต้องทำมาตุฆาตปิตุฆาตเพื่อประโยชน์ของตนก็ทำได้ ไม่มีภายหน้าที่จะต้องไปรับผล ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านดังกล่าวเป็นจริง แม้ว่าอาตมาจะฆ่าวานรก็ไม่มีบาปอะไรที่จะต้องไปรับ ตัวเราเองก็ขาดสูญ บาปและสิ่งทั้งหลายก็ขาดสูญไปด้วยกัน อำมาตย์คนที่ ๔ เมื่อถูกโต้ดังนั้นจึงเงียบไป

ชีปะขาวที่ท่านกล่าวว่าเป็นพระโพธิสัตว์ จึงถวายโอวาทพระราชามิให้เชื่อลัทธิของ ๔ อำมาตย์เหล่านั้น และให้ทรงประพฤติธรรม ปกครองแว่นแคว้นโดยธรรม

เรื่องในชาดกที่เล่ามานี้แสดงว่า แม้ผู้ที่ถือลัทธิว่าไม่มีความดีความชั่วก็ยังมีสามัญสำนึกอยู่ในความดีความชั่ว ซึ่งเป็นหลักความจริง จึงได้กล่าวตำหนิชีปะขาวโพธิสัตว์ไปโดยที่ไม่ทันนึกถึงลัทธิของตนที่ถืออยู่ ฉะนั้น เรื่องของกรรมจึงเป็นเรื่องของความจริงที่เป็นไปอยู่โดยธรรมดาสามัญ พระพุทธเจ้าก็ทรงยกเอาความจริงนี้แหละมาสั่งสอน มิได้ทรงแต่งเรื่องของกรรมขึ้นเอง ทั้งมิได้ทรงยักย้ายเปลี่ยนแปลงบิดผันไปจากความจริง ทรงชี้แจงแสดงเปิดเผยไปตามหลักความจริงเท่านั้น

กรรมปัจจุบันสำคัญ

ข้อที่ควรกล่าวย้ำอีกก็คือ มักจะเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องของกรรมเป็นเรื่องอดีตคือล่วงมาแล้ว ในปัจจุบัน เรามักมีหน้าที่ปล่อยตนให้เป็นไปตามกรรมที่เรียกกันว่ายถากรรมเท่านั้น จึงไม่คิดจะทำอะไร ถ้าเห็นดังนี้เป็นความเห็นผิด ดังลัทธิของอำมาตย์ที่ถือว่าอะไรๆ เกิดเพราะกรรมปางก่อน (ปุพเพกตเหตุ) ดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนมิให้เชื่อลัทธินี้ ถือว่าเป็นลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา และตรัสยก เวทนา สุข ทุกข์ ที่ทุกๆ คนได้รับอยู่เป็นตัวอย่าง ว่าเกิดเพราะโรคต่างๆ ในปัจจุบันก็มี เกิดเพราะกรรมเก่าก็มี ฉะนั้น เมื่อโรคเกิดขึ้นก็ต้องเยียวยา และต้องป้องกันรักษาตัวไม่ให้เกิดโรค ในด้านความประพฤติต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ให้ละกรรมที่ชั่วทำกรรมที่ดี กรรมปัจจุบันนี้แหละเป็นข้อสำคัญแห่งชีวิตของทุกๆ คน คือ การที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้อยคำที่เราพูดอยู่เดี๋ยวนี้ เรื่องที่เราคิดอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นหน้าที่ของเราจะต้องคอยตรวจตราดูให้ตัวเราเองทำพูดคิดแต่ในทางที่ถูก ก่อให้เกิดคุณประโยชน์โดยส่วนเดียวเท่านั้น อย่าเอาเรื่องกรรมเก่ามาเป็นเครื่องตัดรอนคุณประโยชน์ มาทำให้นอนรอโชคลาภ ดังมีเรื่องเล่าเป็นคติไว้ว่า มีชาย ๒ คนไปให้หมอดู หมอทำนายทายคนหนึ่งว่าจะได้เศวตฉัตร ทำนายอีกคนหนึ่งว่าจะลำบาก ชายคนที่ได้รับทำนายว่าจะได้เศวตฉัตรก็ดีใจ นั่งนอนรอไม่ทำมาหากินอะไร ในที่สุดก็สิ้นทรัพย์สมบัติ ไปนอนเจ็บอยู่อย่างอนาถในป่าทุ่ง มีพระธุดงค์เดินผ่านมาพบเข้า มีจิตสงสารจึงเอากลดปักให้ ชายผู้นั้นก็สิ้นใจในกลดของพระธุดงค์ ก็ได้เศวตฉัตรเหมือนกัน เพราะคำว่าเศวตฉัตรแปลว่าร่มขาว กลดของพระธุดงค์ก็เป็นร่มขาวชนิดหนึ่ง ส่วนชายอีกคนหนึ่งซึ่งได้รับทำนายว่าจะลำบาก เกิดความกลัวลำบากจึงตั้งหน้าขวนขวายพากเพียรทำมาหากิน เก็บออมทรัพย์สินอยู่เรื่อยๆ มา จึงมีหลักฐานเป็นสุขสบายขึ้นโดยลำดับ แต่ก็ลำบากมาก่อนเป็นอันมาก เรื่องนี้เป็นคติสอนใจว่า หน้าที่ของเราทุกๆ คนก็คือทำกรรมปัจจุบันนี้แหละให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปแล

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ
ควรทำความเพียรในวันนี้ทีเดียว


๔ มิถุนายน ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 21 เมษายน 2553    
Last Update : 21 เมษายน 2553 9:38:47 น.
Counter : 663 Pageviews.  

๑๗. กรรม



หลักพระพุทธศาสนา

๑๗. กรรม

กรรม - กิริยา


การศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจในหลักกรรมก็ชื่อว่ายังมิได้ศึกษาในข้อหลัก และการนับถือพระพุทธศาสนา ถ้ายังมิได้นับถือหลักของกรรมตามพระพุทธศาสนาก็ชื่อว่ายังมิได้นับถืออย่างเข้าถึงหลัก คล้ายกับการนับถือมารดาบิดา ถ้าขาดความกตัญญูตกเวทีเสียแล้ว ก็ไม่ชื่อว่านับถืออย่างจริงใจ ฉะนั้น ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงมุ่งให้เชื่อในหลักกรรม ประกอบกันไปกับความเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ได้แสดงแล้วในกัณฑ์ต้นๆ

คำว่า กรรม มีใช้ในภาษาไทยมาก เช่น กรรมการ กรรมกร กรรมาธิการ แต่ในภาษาที่พูดกัน เคราะห์ร้ายมักตกอยู่แก่กรรม เคราะห์ดีมักอยู่แก่บุญ ดังเมื่อใครประสบเคราะห์ร้ายคือทุกข์ภัยพิบัติต่างๆ ก็พูดว่าเป็นกรรม แต่เมื่อใครประสบเคราะห์ดีมักพูดว่าเป็นบุญ และมีคำพูดคู่กันว่าบุญทำกรรมแต่ง เกณฑ์ให้กรรมเป็นฝ่ายดำ ให้บุญเป็นฝ่ายขาว ความเข้าใจเรื่องกรรมและคำที่ใช้พูดกันในภาษาไทยจักเป็นอย่างไรให้งดไว้ก่อน ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามความหมายในพระพุทธศาสนา

คำว่า กรรม แปลว่า กิจการที่คนกระทำ คำว่า ทำ หมายถึงทั้งทำด้วยกาย อันเรียกว่ากายกรรม ทั้งทำด้วยวาจาคือพูด อันเรียกว่าวจีกรรม ทั้งทำด้วยใจคือคิด อันเรียกว่ามโนกรรม บางทีเมื่อพูดกันว่าทำ ก็หมายถึงทำทางกายเท่านั้น ส่วนทางวาจาเรียกว่าพูด ทางใจเรียกว่าคิด แต่เรียกรวมได้ว่าเป็นการทำทุกอย่าง เพราะจะพูดก็ต้องทำ คือทำการพูด จะคิดก็ต้องทำ คือทำการคิด จึงควรทำความเข้าใจว่า ในที่นี้คำว่า ทำ ใช้ได้ทุกทาง เมื่อได้ฟังว่าทำทางกายก็ให้เข้าใจว่าทำอะไรด้วยกายที่เข้าใจอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังว่าทำทางวาจาก็ให้เข้าใจว่าพูดอะไรต่างๆ เมื่อได้ฟังว่าทำทางใจก็ให้เข้าใจว่าคิดอะไรต่างๆ ก็การฟังคำพูดอธิบายหลักวิชาอาจขวางหูอยู่บ้าง แต่เมื่อเข้าใจความหมายแล้วก็จักสิ้นขัดขวาง กลับจะรู้สึกว่าสะดวกเพราะเป็นคำที่มีความหมายลงตัวแน่นอน

คำว่ากรรม มักแปลกันง่ายๆ ว่า การทำ แต่ผู้เพ่งศัพท์และความแปลว่า กิจการที่บุคคลทำ ดังกล่าวแล้ว ถ้าแปลว่าการทำ ก็ไปพ้องกับคำว่ากิริยา คำว่ากิริยา แปลว่าการทำโดยตรง ส่วนคำว่ากรรมนั้นหมายถึงตัวกิจหรือการงานที่กระทำ ดังคำที่พูดในภาษาไทยที่ถูกต้อง เช่น กสิกรรม พาณิชยกรรม และคำอื่นที่ยกไว้ข้างต้น คำเหล่านี้ล้วนหมายถึงกิจการอย่างหนึ่งๆ ที่สำเร็จจากการทำ (กิริยา)

กรรมคืออะไร

กรรมคืออะไร กรรมแปลว่าอะไรได้กล่าวแล้ว แต่กรรมคืออะไร จำต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า “เรากล่าวเจตนา (ความจงใจ) ว่า เป็นกรรม เพราะคนจงใจ คือมีใจมุ่งแล้วจึงทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง” ฉะนั้น กรรมคือกิจที่บุคคลจงใจทำหรือทำด้วยเจตนา ถ้าทำด้วยไม่มีเจตนาไม่เรียกว่ากรรม อย่างเช่นไม่มีเจตนา เหยียบมดตาย ไม่เป็นกรรมคือปาณาติบาต ต่อเมื่อเจตนาจะเหยียบให้ตายจึงเป็นกรรมคือปาณาติบาต แต่เมื่อจัดอย่างละเอียด สิ่งที่ทำด้วยไม่มีเจตนาท่านก็จัดเป็นกรรมชนิดหนึ่ง เรียกว่ากรรมสักว่าทำ เพราะอาจให้โทษได้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่กฎหมายถือว่าผิดในฐานะประมาท

กรรมเกี่ยวกับคนเราอย่างไร กรรมเกี่ยวกับคนเราหรือคนเรานั่นแหละเกี่ยวกับกรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะคนเรานั้นตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นจนถึงหลับไปใหม่ก็มีเจตนาทำอะไรต่างๆ พูดอะไรต่างๆ คิดอะไรต่างๆ อยู่เสมอ โดยปกติไม่มีใครหยุดนิ่งอยู่เฉยๆ ได้ ถึงมือไม่ทำปากก็พูด ถึงปากไม่พูดใจก็คิดเรื่องต่างๆ การต่างๆ ที่ทำนี้แหละเรียกว่ากายกรรม คำต่างๆ ที่พูดนี่แหละเรียกว่าวจีกรรม เรื่องต่างๆ ที่คิดนี่แหละเรียกว่ามโนกรรม

กรรมดี – กรรมไม่ดี

กรรมนั้นดีหรือไม่ดี กรรมจะดีหรือไม่ดีก็สุดแต่ผลที่เกิดขึ้นจากกรรมนั้นๆ ถ้าให้เกิดผลเป็นคุณเกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่น ก็เป็นกรรมดี เรียกว่ากุศลกรรม แปลว่ากรรมที่เป็นกิจของคนฉลาด หรือบุญกรรม กรรมที่เป็นบุญ คือความดีเป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว เช่น การรักษาศีล ประพฤติธรรมคู่กับศีล หรือแม้กิจการที่ดีที่ชอบที่เป็นตามที่แสดงมาแล้วที่เป็นสุจริตต่างๆ เช่น การตั้งใจช่วยมารดาบิดาทำการงาน การตั้งใจเรียน การตั้งใจประพฤติตนให้ดี การช่วยเหลือเกื้อกูลมิตรสหาย การทำสาธารณะสงเคราะห์ต่างๆ ส่วนกรรมที่ให้เกิดผลเป็นโทษเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นกรรมชั่ว ไม่ดี เรียกว่าอกุศลกรรม แปลว่ากรรมที่เป็นกิจของคนไม่ฉลาด บาปกรรม กรรมที่เป็นบาป เช่นการประพฤติผิดในศีลธรรม ประพฤติทุจริตต่างๆ ที่ตรงกันข้ามกับกุศลกรรม

กรรมบถ

ตัวอย่างของกรรมดีและกรรมไม่ดีข้างต้นนั้น กล่าวตามแนวพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแสดงเป็นทางปฏิบัติไว้ชัดเจน เรียกว่ากรรมบถ แปลว่าทางของกรรม เรียกสั้นว่าทางกรรม ทรงชี้แจงไว้เพียงพอและเข้าใจง่ายว่าทางไหนดีทางไหนไม่ดี คือ

กายกรรม (กรรมทางกาย) นั้น ฆ่าเขา ๑ ลักของเขา ๑ ประพฤติผิดในทางกาม ๑ เป็นอกุศล ไม่ดี เว้นจากการทำอย่างนั้น และอนุเคราะห์เกื้อกูลเขา ๑ เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ๑ สังวรในกาม ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี

วจีกรรม (กรรมทางวาจานั้น) นั้น พูดมุสา ๑ พูดส่อเสียดเพื่อให้เขาแตกกัน ๑ พูดคำหยาบด้วยใจมีโทสะเพื่อให้เขาเจ็บใจ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑ เป็นอกุศล ไม่ดี เว้นจากการพูดอย่างนั้น และพูดแต่คำจริง ๑ พูดสมัครสมาน ๑ พูดคำสุภาพระรื่นหูจับใจ ๑ พูดมีหลักฐานถูกต้องชอบด้วยกาลเทศะ ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี

มโนกรรม (กรรมทางใจ) นั้น คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขามาเป็นของของตนเอง ๑ คิดพยาบาทมุ่งร้ายเขา ๑ เห็นผิดจากคลองธรรม ๑ เช่นเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ๑ เป็นอกุศล ไม่ดี ไม่คิดอย่างนั้น และคิดเผื่อแผ่จิตให้เขาอยู่เป็นสุข ๑ คิดเห็นชอบตามคลองธรรม ๑ เช่นเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี

หลักสมภาพ

คนที่เว้นจากทางกรรมเป็นอกุศลดำเนินไปในทางกรรมที่เป็นกุศลเรียกว่า ธรรมจารี แปลว่าผู้ประพฤติธรรม สมจารี แปลว่าผู้ประพฤติเรียบร้อยสม่ำเสมอ ความประพฤติดังนี้เรียกว่าธรรมจริยาหรือธรรมจรรยา สมจริยาหรือสมจรรยา สมจริยาดังนี้แหละคือหลักสมภาพในพระพุทธศาสนา สมภาพคือความเสมอกันนั้น อาจทำให้เสมอกันได้ในทางที่อาจจะทำได้ แต่ไม่อาจทำให้เสมอกันได้ในทางที่ไม่อาจจะทำ ในทางที่ไม่อาจจะทำนั้นเช่นคนเกิดมามีเพศต่างกัน มีรูปร่างสูงต่ำดำขาวต่างกัน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะทำให้เสมอกันได้ เช่นทำให้สูงต่ำเท่ากันหมด แม้ในคนเดียวกันนิ้วทั้ง ๕ ก็ไม่เท่ากัน จะทำให้เท่ากันได้อย่างไร สิ่งที่ไม่อาจจะทำให้เท่ากันได้ ถ้าใครไปพยายามจัดทำเข้า ก็เหมือนกับนิทานเรื่องเปรตจัดระเบียบ เรื่องมีอยู่ว่า มีคนเดินทางหลายคนเข้าไปนอนพักอยู่ในศาลา ซึ่งเป็นที่พักของคนเดินทางหลังหนึ่ง เมื่อพากันนอนหลับแล้ว มีเปรตเจ้าระเบียบตนหนึ่งเข้าไปในศาลา เห็นคนนอนอยู่เป็นแถว จึงไปตรวจดูทางเท้า ก็เห็นเท้าของคนนอนหลับไม่เสมอกัน จึงดึงเท้าของคนเหล่านั้นลงมาให้เสมอกัน ครั้งตรวจดูเห็นเท้าเป็นแถวเสมอเรียบร้อยดีแล้ว ก็ไปตรวจดูทางด้านศีรษะเห็นศีรษะของคนเหล่านั้นไม่อยู่ในแถวเสมอกันอีก จึงดึงศีรษะให้ขึ้นมาเสมอกันเป็นแนวเดียวทั้งหมด แล้วก็ย้อนกลับไปตรวจดูทางเท้าอีก ก็เห็นเหลื่อมล้ำไม่เสมอกันอีก ก็ดึงเท้าให้เสมอกันใหม่อีก คนก็ไม่เป็นอันได้หลับได้นอนเป็นสุข เพราะต้องถูกดึงเท้าบ้าง ดึงศีรษะบ้าง ขึ้นๆ ลงๆ ไม่รู้จักแล้ว ทั้งเปรตเจ้าระเบียบนั้นก็ไม่สามารถจัดให้เสมอกันได้ การจัดให้เสมอกันในทางที่ไม่อาจจะจัดได้เช่นนี้เป็นการจัดที่ไม่สำเร็จ รังแต่จะให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไม่สงบสุขอย่างเดียว ส่วนการจัดให้เสมอกันในทางที่อาจจัดได้นั้น พระพุทธเจ้าทรงจัดด้วยหลักสมจริยานี้ คือเว้นจากทางกรรมฝ่ายอกุศลดำเนินในทางกรรมฝ่ายกุศลตามที่ทรงสั่งสอนไว้นั้น คราวนี้มาพิจารณาดูว่า เมื่อปฏิบัติในสมจริยานั้นเป็นสมภาพได้อย่างไร สมภาพ แปลว่าความเสมอกัน คือตัวเราเองกับผู้อื่นหรือผู้อื่นกับตัวเราเองเสมอกัน ตัวเราเองรักสุขเกลียดทุกข์ ผู้อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน ตัวเราเองไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นมาก่อกรรมที่ไม่ดีแก่เราทุกๆ ข้อ พอใจแต่จะให้เขามาประกอบกรรมที่ดีแก่เราทั้งนั้น ถึงผู้อื่นก็เหมือนกัน เขาก็ไม่ประสงค์ให้เราไปก่อกรรมที่ชั่วร้ายแก่เขา ประสงค์แต่จะให้เราไปประกอบกรรมที่ดีแก่เขาเท่านั้น เมื่อทั้งเราทั้งเขาต่างมีความชอบและไม่ชอบเสมอกันอยู่เช่นนี้ ทางที่จะให้เกิดสมภาพได้โดยตรงก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างดำเนินเข้าหาจุดที่เสมอกันนี้ คืองดเว้นจากทางกรรมที่ชั่วร้ายซึ่งต่างก็ไม่ชอบให้ใครมาทำแก่ตนด้วยกัน และดำเนินไปในทางกรรมที่ดีซึ่งเกื้อกูลกันที่ต่างก็ชอบจะให้ใครมาทำแก่ตนด้วยกัน เมื่อประพฤติดังนี้สมภาพที่ถูกต้องก็เกิดขึ้น และเป็นสมภาพคือเป็นความเสมอกันจริงๆ และเมื่อมีสมภาพดังนี้ ภราดรภาพคือความเป็นพี่น้องกันหรือเป็นญาติที่คุ้นเคยไว้วางใจกันก็เกิดขึ้น เสรีภาพคือความมีเสรีในอันที่จะไปไหนๆ ได้ทำอะไรได้โดยที่ไม่ถูกใครเบียดเบียนและก็ไม่เบียดเบียนใครด้วยก็เกิดขึ้น สมจริยาของพระพุทธเจ้าอันยังให้เกิดสมภาพ ภราดรภาพ เสรีภาพ ดังกล่าวมานี้ เป็นธรรมจรรยาความประพฤติธรรมประกอบอยู่ด้วยหลักยุติธรรมและศีลธรรมต่างๆ บริบูรณ์ ถ้ามีปัญหา ประพฤติธรรมคือประพฤติอย่างไร ก็ตอบได้ว่า ประพฤติให้เป็นสมจริยาดังกล่าวนั่นเอง และเมื่อเข้าใจความดังนี้แล้ว คำว่าสมจริยาจะแปลว่าความประพฤติเรียบร้อยสม่ำเสมอก็ได้ ความประพฤติสมควรหรือเหมาะสมก็ได้ ความประพฤติโดยสมภาพก็ได้ เป็นคำแปลที่ถูกต้องกับความหมายทั้งนั้น ดังนี้แหละเป็นธรรมจรรยา ฉะนั้น หลักธรรมจรรยาของพระพุทธเจ้าก็เป็นหลักที่เป็นแม่บทของหลักทั้งหลายแห่งความสุขสงบของชุมนุมชนทั่วไปนั่นเอง ถ้าไม่อยู่ในแม่บทนี้แล้ว จะเกิดความสงบสุขขึ้นไม่ได้ สมภาพ ภราดรภาพ เสรีภาพก็จักมีขึ้นไม่ได้ จะมีได้ก็เช่นเสรีภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และผู้ที่จัดทำไปนอกแม่บทก็จะเป็นเหมือนเปรตจัดระเบียบดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องจัดกันไม่รู้จักเสร็จ ทั้งเป็นการก่อภัยก่อเวร ก่อศัตรูและความวุ่นวายเดือดร้อน จัดกันไปจนโลกแตกก็ไม่เสร็จ

ประมวลหลักกรรม

กรรมตามที่กล่าวมานี้ ที่ชี้ระบุลงไปว่า กรรมคืออะไร และทำอย่างไรเป็นกรรมดี ทำอย่างไรเป็นกรรมไม่ดี เป็นทางกรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็พอประมวลเป็นหลักใหญ่ๆ ได้เป็น ๓ ข้อคือ

๑. พระพุทธศาสนาแสดงว่ามีกรรม ใครทำดีก็เป็นกุศลกรรมติดตัวอยู่ ใครทำชั่วก็เป็นอกุศลกรรมติดตัวอยู่

๒. พระพุทธศาสนาแสดงว่ามีกรรมวิบาก คือผลของกรรม ผลที่ดีเกิดจากกรรมที่ดี ผลที่ชั่วเกิดจากกรรมที่ชั่ว ไม่สับสนกัน เหมือนอย่างผลมะม่วงเกิดจากต้นมะม่วง ผลขนุนเกิดจากต้นขนุน หว่านพืชเช่นไรก็ได้ผลเช่นนั้น

๓. พระพุทธศาสนาแสดงว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน คือตัวเราเองทุกๆ คนเจ้าของกรรมที่เราทำ และเป็นเจ้าของผลกรรมนั้นๆ ด้วย เมื่อตัวเราเองทำดีก็มีกรรมดีติดตัวและต้องได้รับผลดี เมื่อตัวเราเองทำไม่ดีก็มีกรรมชั่วติดตัวและต้องได้รับผลชั่วไม่ดี จะปัดกรรมที่ตัวเราเองทำให้พ้นตัวออกไปและจะปัดผลของกรรมให้พ้นตัวออกไปด้วยหาได้ไม่ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรรมของตนเอง

เมื่อหลักกรรมของพระพุทธศาสนามีอยู่ดังนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ทุกๆ คนหมั่นนึกคิดอยู่เสมอๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นกรรมทายาทคือเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัยเฉพาะ (ตนเป็นคนๆ ไป) นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและดีต่างๆ กัน เป็นต้น

หลักกรรมในลัทธิอื่น

ส่วนในลัทธิอื่น บางลัทธิปฏิเสธกรรมเสียเลย บางลัทธิรับรองหลักกรรมบ้าง ปฏิเสธบ้าง แต่การระบุว่าทำอะไรเป็นกรรมดีทำอะไรเป็นกรรมไม่ดีก็มีกล่าวไว้ต่างๆ กัน ลัทธิที่ปฏิเสธหลักกรรมเสียเลยนั้น คือปฏิเสธกรรมดีชั่วไม่มี ผลของกรรมดีชั่วก็ไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีกรรมเป็นของของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของของกรรม เพราะเมื่อใครทำอะไรทำแล้วก็แล้วไป ไม่เห็นมีอะไรที่เรียกว่ากรรมเหลือติดตัว และที่ว่าดีไม่ดีนั้นก็เป็นการว่าเอาเอง ใครชอบก็ว่าดี ใครไม่ชอบก็ว่าไม่ดี เหมือนอย่างฝนตกแดดออก ใครชอบก็ชม ใครไม่ชอบก็ติ โดยที่แท้เป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีผลอะไรของกรรมอะไร ส่วนผลต่างๆ ที่ได้รับนั้นเกิดขึ้นตามคราวตามสมัย เหมือนอย่างผลไม้ต่างๆ ถึงคราวจะมีผลก็มีผลขึ้นตามชนิด

ลัทธิที่รับบ้างปฏิเสธบ้าง เช่นรับว่าเมื่อทำอะไรไปก็เป็นบุญเป็นบาป ทำนองรับรองว่ากรรมมี แต่เมื่อคราวจะต้องรับผลของกรรม ก็อยากจะรับแต่ผลของกรรมดี ไม่อยากรับผลของกรรมชั่ว จึงแสดงวิธีทำให้หายบาป เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ทำเองจึงมิใช่เป็นเจ้าของของกรรมที่ทำอย่างแน่นอน แต่มีเจ้าของอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผู้บันดาลผลอะไรให้เกิดแก่ใครก็ได้ อาจเป็นผู้ยกบาปเพิ่มบาปให้ก็ได้ มีเรื่องเล่าไว้ในพงศาวดารลังกาว่า ในระหว่างพระพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โอรสของเจ้าผู้ครองรัฐที่อยู่กลางเกาะ นามว่าราชสิงหะ ได้ทำปิตุฆาต (ปลงพระชนม์พระบิด) แล้วเกิดกลัวบาป จึงได้ประชุมพราหมณ์ถามหาวิธีล้างบาป ฝ่ายภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาตอบว่า เป็นอนันตริยกรรม (กรรมหนักที่ให้ผลในอันดับสืบไปทีเดียว ไม่มีอะไรมาคั่นได้) ไม่มีทางล้างบาปได้ พวกพราหมณ์ตอบว่ามีวิธีล้างบาป ราชสิงหะจึงขัดเคืองภิกษุสงฆ์ ไปนับถือศาสนาพราหมณ์ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของคนที่อยากจะรับแต่ชอบ ไม่อยากรับผิดจากกรรมของตน

อนึ่ง ลัทธิใดๆ แม้จะรับรองหลักกรรมอยู่บ้าง แต่ก็แสดงว่าทำอะไรดีอะไรไม่ดีต่างๆ กัน เพราะถือหลักต่างๆ กัน เหมือนอย่างการฆ่าสัตว์ ที่ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่าเป็นบาป แต่ลัทธิอื่นแสดงว่าเป็นบุญก็มี หลักในการชี้ว่าอะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาปในพระพุทธศาสนานั้น ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าคือหลักธรรมจริยา สมจริยา ดังกล่าวแล้วข้างต้น หรือหลักเมตตา หลักยุติธรรม ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ว่าด้วยเบญจศีลเบญจธรรมโดยลำดับ ฉะนั้น ที่พูดว่าทุกลัทธิศาสนาสอนให้คนละชั่วทำดี จึงนับถือได้เหมือนๆ กัน อาจจะเป็นคำพูดเพื่อประนีประนอม หรือเพื่อแสดงมรรยาทว่าไม่ยกตนข่มท่าน เจตนาก็ดีอยู่ แต่ถ้าจะต้องนับถือกันจริงๆ และต้องพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่าไม่เหมือนกัน ปฏิบัติกันไปคนละอย่าง เพราะเห็นว่าเป็นการถูกผิด เป็นบุญบาป หรือดีชั่วกันไปคนละอย่าง เหมือนอย่างการฆ่าสัตว์ดังกล่าวแล้ว ได้ทราบว่า คราวหนึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าในพระโกศได้รับสั่งถามท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาสว่า เห็นว่าฆ่าสัตว์บูชายัญไปสวรรค์เป็นสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) หรือมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ตอบว่า เป็นสัมมาทิฏฐิแขก ดังนี้ ท่านตอบเพียงเท่านี้ จะพูดกลับอีกทีหนึ่งก็ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิทางพุทธศาสนา เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่ามิได้นับถือได้เหมือนกันจริง

ไม่ต้องกล่าวถึงผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น แม้พุทธศาสนิกชนเอง ซึ่งมีศรัทธาในกรรมอยู่บ้าง ก็ยังคลางแคลงกันอยู่โดยมากว่า ผู้ทำกรรมจะได้รับผลเมื่อไร เพราะตามที่ปรากฏเห็นกันอยู่ บางคนทำดีแต่ไม่เห็นว่าได้ดี บางคนทำชั่วแต่ไม่เห็นว่าได้ชั่ว บางทีกลับได้รับผลตรงกันข้าม จะมีอะไรมาพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วตามที่แสดงไว้ในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เรื่องกรรมจึงยังไม่จบ จักได้แสดงในกัณฑ์ต่อไป

กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย
กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ดีเลวต่างๆ กัน


๒๓ มกราคม ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 13 เมษายน 2553    
Last Update : 13 เมษายน 2553 10:37:35 น.
Counter : 526 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.