Group Blog
 
All Blogs
 
๒๓. มัธยมศึกษา



หลักพระพุทธศาสนา

๒๓. มัธยมศึกษา

หลักสูตรใหญ่ของจิตตสิกขา


อบรมจิตให้มีระเบียบงดงามเป็นมัธยมศึกษา ความมีระเบียบอันหมายถึงมีศีล (คือความประพฤติปกติเรียบร้อยหรือประพฤติเรียบร้อยเป็นปกติ) เพราะรักษาวินัย (คือระเบียบสำหรับให้ปฏิบัติให้เกิดเป็นศีลดังกล่าว) รวมถึงทั้งมีวัฒนธรรมอารยธรรมประมวลเป็นสมบัติผู้ดี คือสมบัติของคนดี ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ปฐมศึกษา จำต้องเกี่ยวเนื่องกับจิตใจเป็นส่วนสำคัญ ถ้าจิตใจไม่รักความมีระเบียบ และภาวะของจิตใจก็ยังไม่มีระเบียบ อาการภายนอกก็ต้องยุ่งไม่มีระเบียบไปด้วย ยากที่จะปกปิดซ่อนเร้นได้ ฉะนั้น จึงควรศึกษาเรื่องการอบรมจิตใจต่อไป พูดง่ายๆ คือรักษาจิตใจอย่างไรไม่ให้ยุ่งเหยิงแต่มีระเบียบเรียบร้อย ให้สงบให้ตั้งมั่นในหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติของตน อันนี้แหละเป็นหลักสูตรใหญ่ของจิตตสิกขา ศึกษาจิต อันเป็นมัธยมศึกษาซึ่งจะแสดงในกัณฑ์นี้ แต่เพื่อเข้าใจง่าย จะสมมติเป็นเรื่องครูสอนนักเรียน

ครูสอนวิธีอบรมใจ

ในห้องเรียนแห่งหนึ่ง ครูกำลังสอนนักเรียนอยู่ แต่สังเกตเห็นนักเรียนหลายคนขาดความตั้งใจฟัง เพราะมีอาการตามที่ครูสังเกตเห็นต่างๆ กัน บางคนกำลังนั่งเหม่อ บางคนนั่งหน้าบึ้ง บางคนนั่งโงกหงุบหงับ บางคนดูกระสับกระส่าย บางคนดูสงสัยไม่เข้าใจ ครูจึงเรียกนักเรียนเหล่านี้ออกมาหน้าชั้น ถามว่ามีจิตใจเป็นอย่างไรไปหรือ สังเกตดูว่าไม่ได้ตั้งใจฟังครูอธิบาย ขอให้บอกตามความจริง ครูจะได้ให้คำแนะนำไปทีละคน คำบอกเล่าของนักเรียนและคำกล่าวอบรมของครูมีดังต่อไปนี้

นักเรียนคนที่หนึ่งซึ่งนั่งเหม่อบอกเล่าว่า กำลังคิดเพลินไปถึงละครโทรทัศน์ที่แสดงสนุกสนานเมื่อคืนนี้ และวันนี้ก็นัดจะไปดูภาพยนตร์เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว

ครูกล่าวอบรมว่า เวลานี้กำลังเรียนจะคิดอะไรเพลิดเพลินไปอย่างอื่นไม่ถูกต้อง ต้องปล่อยความคิดอื่นๆ ให้หมด รวมใจมาตั้งใจเรียนเท่านั้นจึงจะถูก สิ่งสนุกสนานสวยงามต่างๆ ทุกๆ คนก็ย่อมชอบใจ แต่ก็ต้องเลือกเฉพาะสิ่งที่เหมาะสมและรู้จักเวลา เช่นเล่นในเวลาที่ควรเล่น พักผ่อนในเวลาที่ควรพักผ่อน เรียนในเวลาที่ควรเรียน ทำการบ้านทบทวนวิชาในเวลาที่ควรทำ ถ้าใช้เวลาดูโทรทัศน์หรือเล่นสนุกเพลิดเพลินอะไรเสียหมด ไม่ทำการบ้านทบทวนวิชาอะไรกัน ก็ทำให้การเรียนอ่อนลง ยิ่งในเวลาเรียนยังติดใจมาคิดเพลินไปเสียอีกก็ยิ่งเป็นโทษอันตรายต่อการเรียน นี่แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า กามฉันท์ แปลว่า ความพึงพอใจในสิ่งปรารถนา สำหรับชั้นนี้หมายความว่าพึงใจปรารถนา หรือในเวลาที่ไม่ควรพึงปรารถนา นี่แหละเป็นอสุภะ คือไม่งาม เพราะในเวลาที่ควรตั้งใจเรียน แต่กลับมานั่งเหม่อคิดถึงละครโทรทัศน์เพลินไปอย่างนี้ก็ไม่งาม เหมือนอย่างเมื่อมาโรงเรียนก็ควรจะแต่งเครื่องแต่งกายนักเรียน แต่กลับแต่งอย่างอื่นมา เป็นการไม่งาม เพราะไม่ถูกต้อง แม้ในเวลาที่ควรจะมีความเพลิดเพลินพักผ่อน กลับไปคิดจดจ่ออยู่กับตำรับตำราปวดศีรษะ ก็ไม่งามเหมือนกัน ฉะนั้น ให้ควรรู้จักควรไม่ควร ให้รู้จักเวลา อย่างในเวลาเรียนเช่นนี้อย่าไปคิดอะไรอย่างอื่นเพลินไป จงข่มใจ ทำความตั้งใจฟังครูอธิบายวิชาแต่อย่างเดียว

นักเรียนคนที่สองบอกเล่าว่า กำลังโกรธเพราะผู้ปกครองไม่อนุญาตให้ไปเที่ยว

ครูกล่าวอบรมว่า ไม่ได้ไปเที่ยวไม่เห็นจะเสียหายอะไร ไปเที่ยวเสียอีกอาจจะต้องเสียหาย ผู้ปกครองจึงไม่อนุญาต ผู้ปกครองท่านมีหน้าที่ปกครองดูแล ท่านต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ส่วนนักเรียนมีหน้าที่ควรจะต้องเชื่อฟัง ไม่เช่นนั้นก็ไปเป็นผู้ปกครองเสียเอง แต่เป็นยังไม่ได้ เพราะยังต้องพึ่งท่านอยู่ ท่านต้องเลี้ยงดูส่งเสีย และข้อสำคัญต้องปกครองใจตนเองให้ได้ อย่าเอาแต่โกรธ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า โกธะ โทสะ บ้าง พยาบาท บ้าง อยู่ด้วยกันมากก็ต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง ผิดใจกันบ้าง เมื่อเขาไม่ทำตามใจเรา เราก็โกรธ ทำไมไม่คิดว่าเพราะเราไม่ทำตามใจเขาต่างหาก จะให้เขาเอาใจเราข้างเดียวอย่างนี้ไม่ยุติธรรม ควรหาทางกลางเพื่อปรองดองกัน คือเขาหย่อนใจมาให้เราบ้าง เราก็หย่อนใจไปให้เขาบ้าง ทุกฝ่ายไม่เอาแต่ใจของตนข้างเดียว ก็จะไม่โกรธกัน และควรคิดตั้งปรารถนาดีต่อกันด้วยเมตตาจิต นี่แหละเป็นวิธีผูกมิตรหรือผูกไมตรีจิตทำให้เกิดมิตรภาพระหว่างกัน ทำให้เกิดความรักความเคารพนับถือกัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้แผ่เมตตาต่อกันเป็นเครื่องป้องกันความโกรธหรือความพยาบาทเคียดแค้น เฉพาะนักเรียนผู้นี้ ซึ่งโกรธผู้ปกครองไม่อนุญาตให้ไปเที่ยว ก็เพราะท่านไม่ตามใจ ทำไมเราจึงไม่ตามใจท่านบ้างเล่า อย่างนี้แหละเรียกว่าคิดเอาแต่ใจตนเองข้างเดียวจึงไม่ยุติธรรม โกรธท่านไม่ถูก ท่านมีเหตุผลของท่าน ซึ่งเราควรจะเคารพเชื่อฟัง จงคิดให้เห็นเหตุผล ให้เห็นความรัก ความเมตตาของท่าน ให้รู้สึกว่าโดยที่แท้ ท่านรักเมตตาเราต่างหาก จงคิดระงับโกรธเสียอย่างนี้ มาตั้งใจฟังครูอธิบายวิชาดีกว่า

นักเรียนคนที่สามซึ่งนั่งโงกหงุบหงับ บอกเล่าว่า เมื่อคืนดูโทรทัศน์จนดึก

ครูกล่าวอบรมว่า นี่เอาเวลาที่ควรจะพักผ่อนไปเพลิดเพลินเสียนั่นเอง และคงจะใช้เวลาที่ควรทำการบ้านทบทวนวิชาไปดูละครเสียอีกเป็นแน่ ร่างกายจำต้องหลับนอนพักผ่อนให้เพียงพอ จึงจะมีสุขภาพอนามัย ให้รู้จักใช้เวลาให้ถูกต้อง ดังที่ได้สอนคนที่หนึ่งแล้ว ความโงกง่วง พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ถีนะ เป็นอาการซึมเซาของร่างกาย บางทีร่างกายไม่เป็นอะไรนัก แต่จิตใจเคลิบเคลิ้มซึมเซาท้อแท้เกียจคร้าน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า มิทธะ เรียกรวมกันว่า ถีนมิทธะ แปลว่า ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มทำให้ซึมทึบโง่ อย่าปล่อยให้ซึมเซาจะเคยตัว ต้องหัดให้ร่างกายและจิตใจกระปรี้กระเปร่าว่องไวอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ สรุปว่า ให้คิดถึงเรื่องที่จะทำให้หายง่วง ให้ตรึกตรองถึงสิ่งที่ได้ฟังได้เรียนมา ให้อ่านท่องทบทวน ให้ยอนหูทั้งสอง ลูบตัวด้วยฝ่ามือ ให้ลุกขึ้นยืน ลูบตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว ให้คิดทำใจให้สว่างกำหนดให้ปรากฏเหมือนอย่างกลางวันในจิตใจ ให้เดินกลับไปกลับมาสำรวมใจ ในที่สุดก็ให้นอนพักผ่อน และถ้าเกิดท้อแท้เกียจคร้านก็อย่ายอม ต้องปลุกใจให้เข้มแข็งขะมักเขม้น เราทุกคนสามารถแก้ไขตนของตนเองได้ เมื่อแก้โงกง่วงเคลิบเคลิ้มได้แล้วจึงจะมีกำลังตั้งใจฟังครูอธิบายวิชาได้ ไม่เช่นนั้นก็จะซึมเซาทึ่มโง่ ไม่รู้เรื่องอะไร

นักเรียนคนที่สี่นั่งกระสับกระส่าย บอกเล่าว่า มีเรื่องกลุ้มใจเพราะเรื่องทางบ้าน ได้ไปเที่ยวเขาดินวนาเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ เที่ยวดูสัตว์ต่างๆ ก็ตื่นเต้นใจดี แต่ครั้นนึกถึงเรื่องที่ขัดข้องก็กลุ้มใจ

ครูกล่าวอบรมว่า ครูควรจะรู้ต้นเหตุทางบ้าน และบางทีจำจะต้องปรึกษากับผู้ปกครองเพื่อแก้หรือป้องกันมิให้มีเหตุเช่นนั้น เหตุทางบ้านที่ทำให้เด็กกลุ้มใจนั้นมีมาก บางทีมิใช่เป็นความผิดหรือบกพร่องของเด็ก และเด็กก็โตขึ้นทุกวัน รู้จักคิดขึ้นทุกวันเหมือนกัน เห็นพฤติการณ์อะไรบางอย่างที่สับสนวุ่นวายเข้าก็กลุ้มใจ แต่บางทีก็เป็นเพราะเด็กเองคิดระแวงมากเกินไป เช่นระแวงไปว่าตนถูกดูหมิ่นว่าต่ำต้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือน้อยหน้าใคร หรือบางทีก็ตรงกันข้าม ร่าเริงใจมากที่เรียกว่าเหลิง ทำให้คิดฟุ้งซ่านอย่างที่เรียกว่าสร้างวิมานในอากาศ นั่งยิ้มอยู่คนเดียวก็มี ถ้าตรงกันข้ามก็นั่งหน้าเศร้าหรือนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว

สามเณรตีพระเถระ

มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า สามเณรหนุ่มหลานของพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง มีความน้อยใจในพระเถระ เพราะไม่รับผ้าสาฎกที่นำไปถวายด้วยความตั้งใจอย่างยิ่ง ในขณะที่กำลังยืนพัดท่านอยู่ด้วยพัดใบตาล ก็คิดว่าจะลาสิกขา และคิดต่อไปว่า จะลาสิกขาไปทำอะไร จึงคิดว่าจะขายผ้าสาฎกที่พระเถระไม่รับนั้น ซื้อแม่แพะสักตัวหนึ่ง แล้วขายลูกของแม่แพะ รวบรวมทรัพย์ไว้ให้มากพอแล้วก็จักมีภริยา ภริยาก็จะคลอดบุตรชายคนหนึ่ง ตนก็จักนำภริยาและบุตรนั่งเกวียนมาเพื่อไหว้หลวงลุง ครั้นมาในระหว่างทางก็จะร้องบอกให้ภริยาส่งบุตรน้อยมาให้ตนอุ้ม ภริยาก็ไม่ยอมส่งให้ อุ้มไปเอง แต่มีกำลังไม่พอ บุตรน้อยก็ตกลงไป ถูกล้อเกวียนทับ ตนจึงเกิดความโกรธ ตีหลังภริยาด้วยด้ามปฏัก สามเณรหนุ่มกำลังยืนพัดพระเถระ คิดปรุงเป็นเรื่องไปถึงตอนตีภรรยา ก็ตีศีรษะพระเถระด้วยพัดในตาล ต่อมาความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกไปอบรม และตรัสเป็นพระคาถาแปลความว่า “จิตเป็นธรรมชาติไปไกล ไปดวงเดียว ไม่มีสรีระ อาศัยอยู่ในถ้ำกาย ผู้ที่สำรวมรักษาได้จะพ้นจากเครื่องผูกของมาร” เรื่องที่คิดไปคล้ายกับเป็นจริงเช่นนี้ โดยมากไม่มีเหตุผล หรือบางทีมีอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย นี่แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ รำคาญใจ อย่าปล่อยให้เกาะกุมใจอยู่ได้ จะทำให้เป็นคนใจลอยหรือทำให้คับใจไม่มีสุข ต้องพยายามสงบใจให้ได้ ด้วยวิธีนับสิบ หรือกำหนดลมหายใจเข้าออก หรือใช้วิธีเปลี่ยนอารมณ์อย่างอื่นๆ นั่นก็ดีอยู่เหมือนกัน แต่ต้องรู้จักเลือกเปลี่ยนให้ดี บางทีเปลี่ยนไปหาอารมณ์ที่เลวกว่า เช่นไปเที่ยว ดื่มสุรา เล่นการพนัน ซึ่งเป็นอบายมุขต่ำลงไปอีก มาโรงเรียนนี้ก็เปลี่ยนอารมณ์เหมือนกัน ไปเปลี่ยนอารมณ์ที่เขาดินวนาได้ก็มาเปลี่ยนอารมณ์ที่โรงเรียนได้ คือมาตั้งใจฟังครูอธิบายวิชานี่แหละ พักความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ ไว้เสีย มีเรื่องอะไรครูจะหารือกับผู้ปกครองแก้ไขต่อไป

นักเรียนคนที่ ๕ ซึ่งนั่งสงสัยไม่เข้าใจ บอกเล่าว่า คิดสงสัยในวิชาที่เรียนและคิดสงสัยไปว่าจะเรียนจบหรือไม่ จึงทำให้ลังเลใจ

หัวใจนักปราชญ์

ครูกล่าวอบรมว่า อย่าปล่อยความสงสัยไว้ ต้องคิดทบทวนไต่ถาม เป็นนักศึกษาต้องมี สุ. จิ. ปุ. ลิ. สุ. (สุตะ) คือฟัง จิ. (จินตา) คือคิด ปุ. (ปุจฉา) คือถาม ลิ. (ลิขิต) คือเขียน ต้องเรียนให้เข้าใจตั้งแต่ต้นเพราะมาเรียนสม่ำเสมอ ทำความเข้าใจเพิ่มเติมติดต่อกันตามที่เรียนถึง หรือเตรียมให้เข้าใจล่วงหน้าไปจากที่สอนก็ยิ่งดี อันที่จริงมีความสงสัยยังแสดงว่ามีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้างจึงรู้จักสงสัย ถ้าไม่มีความรู้อยู่เลยในเรื่องใด ก็จะไม่รู้จักสงสัยในเรื่องนั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ไหวต้องตั้งต้นเรียนกันใหม่เหมือนอย่างสอบไล่ตก ฉะนั้น ต้องคอยเร่งกวดวิชาที่เรียน สงสัยไม่เข้าใจที่ไหนก็ต้องคิดทบทวนไต่ถามให้เข้าใจหายสงสัย ไม่พอกความไม่เข้าใจไว้อย่างดินพอกหางหมู หน้าที่ของนักเรียนก็คือตั้งใจเรียนให้ดีตั้งใจประพฤติให้ดีทุกๆ วัน อย่าไปทำลังเลรวนเรไม่แน่นอน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า วิจิกิจฉา แปลว่า ความลังเลใจไม่แน่นอน เกิดจากความสงสัยต่างๆ ตรัสสอนให้แก้ด้วยความรู้ คือเมื่อสงสัยในเรื่องใด ก็ต้องสืบสาวหาความรู้ในเรื่องนั้นจนถึงต้นเหตุ เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า ใส่ใจคิดสาวหาถึงต้นเหตุ โดยความก็คือ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ข้อสำคัญให้รู้จริง ไม่ใช่หลงว่ารู้ดังคนที่เข้าใจผิดหรือถูกล่อลวงต่างๆ มีความสงสัยเสียยังดีกว่าหลงว่ารู้แล้ว เพราะยังมีทางระมัดระวังตัวและค้นคว้าหาความรู้จริงต่อไป ครูจะชี้แจงข้อสงสัยในวิชาต่างๆ ให้และจะติดต่อให้ผู้ปกครองทางบ้านช่วยอีกทางหนึ่ง และจะหารือกับผู้ปกครองเพื่อทำให้เด็กของตนมีความมั่นใจในการเรียน ไม่สงสัยรวนเรว่าจะไปไม่ตลอด ซึ่งทำให้ใจท้อ แต่ว่าเฉพาะในบัดนี้ อย่าไปสงสัยลังเลอะไรอย่างอื่น ให้ตั้งใจฟังครูอธิบาย ให้เข้าใจในวิชาเฉพาะหน้าในบัดนี้ก่อน สงสัยอะไรก็ให้รีบถามทันที

ครูกล่าวสรุปว่า เท่าที่ครูอบรมมานี้ ก็เพื่อให้นักเรียนทำความสงบใจจากอันตรายของความตั้งใจ เพื่อให้รวมใจตั้งใจฟังครูอธิบาย และขอชี้แจงว่าความตั้งใจนี้ต้องใช้ในกิจที่ทำทุกอย่าง ในเวลาอ่านหรือเขียนหนังสือก็ต้องมีความตั้งใจอ่านตั้งใจเขียน จะทำการงานอะไรก็ต้องมีความตั้งใจทำ นี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า สมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่นใจ หรือเรียกว่า สมถะ ความสงบใจ หมายถึงตั้งใจไว้ให้มั่นในเรื่องที่ทำทุกอย่าง ด้วยความสงบใจจากความคิดยุ่งยากสับสนต่างๆ ดังที่ครูได้ชี้แจงมาแล้ว ซึ่งล้วนเป็นอันตรายหรือเป็นโทษของความตั้งใจหรือความสงบใจทั้งนั้น เครื่องทำให้ยุ่งยากใจเหล่านี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกั้นจิตใจ คือกั้นไว้ไม่ให้ตั้งมั่น ไม่ให้สงบ ไม่ให้บรรลุคุณความดี นิวรณ์เหล่านี้ ขอกล่าวสรุปเพื่อจำง่าย พร้อมทั้งศัพท์ที่เป็นชื่อเรียก คือ

นิวรณ์ห้า

๑. กามฉันท์ ความพึงพอใจในสิ่งปรารถนา ต้องแก้ด้วยคิดเปลี่ยนให้เห็นว่า ไม่งาม ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา เพราะเป็นอันตรายแก่ความตั้งใจเล่าเรียนให้สำเร็จ เป็นต้น
๒. พยาบาท ความโกรธแค้นขัดเคือง แก้ด้วยคิดชะโลมใจด้วยเมตตา ไมตรีจิต
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม แก้ด้วยคิดทำให้ตาสว่าง ทำใจให้สว่าง ให้ร่างกายและจิตใจกระปรี้กระเปร่าว่องไวอยู่เสมอ ไม่ยอมให้ทึมทือ
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แก้ด้วยวิธีทำให้ใจสงบ ใช้การนับสิบหรือกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ที่ทำให้ใจสงบ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลใจไม่แน่นอน ต้องแก้ด้วยศึกษาให้รู้ในเรื่องที่สงสัย ไม่พอกความสงสัยเอาไว้ ทำความมั่นใจให้แก่ตัวเอง

สมาธิต้องใช้ในการทุกอย่าง

วิธีอบรมจิตใจเหล่านี้ ครูสอนตามหลักของพระพุทธเจ้า ครูก็ได้แต่นำมาสอนเท่านั้น นักเรียนทุกคนต้องรับไปใช้ด้วยตนเอง ถ้านักเรียนไม่รับไปใช้เองแล้ว ครูก็ไม่สามารถจะบังคับให้นักเรียนตั้งใจของนักเรียนได้ ต้องตั้งใจของตนเอง ต้องรวมใจของตนเอง บางคนมักเข้าใจว่า สมาธิของพระพุทธเจ้าใช้ได้เฉพาะผู้ใหญ่ที่ไม่ทำงานอะไร นั่งหลับตาภาวนาอยู่เท่านั้น แต่ที่จริงเข้าใจผิด เพราะสมาธิคือความตั้งใจ ต้องใช้ในการทำอะไรทุกๆ อย่าง แต่จะต้องมีการฝึกหัดเหมือนอย่างการลับมีดที่หินลับมีด ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อลับมีดแล้วก็วางมีดทิ้งไว้บนหินลับมีดเท่านั้น ลับเพื่อให้มีดคมแล้วจะได้ใช้มีดทำประโยชน์ต่างๆ การหัดทำสมาธิคือหัดทำความตั้งใจก็เหมือนกัน ก็เพื่อจะใช้จิตใจที่รวมเข้าจนมีพลังดีแล้วไปใช้ในการทำอะไรต่างๆ

จิตใจของเรานี้ก็เหมือนอย่างดวงไฟ ถ้ามีเครื่องหุ้มห่ออยู่และไม่มีเครื่องรวมแสงก็จะปรากฏแสงสว่างน้อยและพร่าไป ถ้านำเครื่องหุ้มห่อออกเสียและมีเครื่องรวมแสง แสงสว่างก็จะมากและพุ่งไปทางเดียวกัน อันเทียบกันได้กับความตั้งใจที่แน่วแน่ ไม่มีอันตรายของใจต่างๆ มารบกวน ดังที่กล่าวแล้ว คือไม่เพลินคิด จิตไม่โกรธ ไม่โงกง่วงซึมเซา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลัดกลุ้ม ไม่ลังเลใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจก็มุ่งจะไปทางเดียว นี้แหละคือสมาธิ ความตั้งใจพร้อมที่จะใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้ทุกอย่าง จะฟังจะอ่านจะเขียนเล่าเรียนวิชาอะไรก็ได้ทั้งนั้น จะทำงานอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ขอให้ใช้ในทางที่ดีก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าทรงทราบจิตตานุภาพคืออำนาจจิต และทรงแสดงวิชาทางจิตไว้เป็นอันมาก ในบัดนี้ก็มีผู้สนใจมากขึ้นได้มีนายแพทย์หลายคนศึกษาวิชาสะกดจิตตามตำราต่างประเทศเพื่อบำบัดโรค และมาทดลองผสมกับวิธีทำสมาธิจนปรากฏอำนาจพิเศษของจิตบางอย่าง เช่นผูกตาและเปิดหน้าส่วนที่สงสัยว่าจะใช้แทนประสาทตาได้ แล้วให้อ่านหนังสือตามที่มีผู้มาส่งให้อ่าน ก็ปรากฏว่าอ่านได้เป็นเครื่องสนับสนุนว่า อำนาจจิตที่นอกเหนือไปจากมันสมองนั้นมีจริง

สรุป

ในที่สุดครูได้กล่าวว่า เครื่องแวดล้อมของนักเรียนต่างๆ นั้นสำคัญมาก คำทางศาสนาเรียกว่าอารมณ์ ทางบ้านและทางโรงเรียนจะต้องร่วมมือกันจัดให้นักเรียนได้รับเครื่องแวดล้อมที่ดี ที่ถูกต้องเหมาะสม และต้องร่วมกันอบรมดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอะไรผิดสังเกตต้องสอบสวนสอบถาม กับให้คำแนะนำในทางที่ถูก ไม่ใช่บังคับกันเรื่อยไป ต้องยกบ้าง ข่มบ้าง ปลอบโยนบ้าง ปล่อยบ้าง ตามแต่จะควรทำอย่างไรให้พอเหมาะพอดี

เรื่องที่แต่งเล่ามานี้ ที่จริงเป็นเรื่องของทุกๆ คน และเมื่อแต่ละคนเป็นทั้งนักเรียนเป็นทั้งครูด้วยตนเอง จึงจะแก้ไขภาวะแห่งใจของตนเองได้ดี

ในโอกาสที่ “ศรีสัปดาห์” ได้มีอายุเจริญก้าวหน้ามาด้วยความมั่นใจ ย่างเข้าปีที่ ๑๐ ในบัดนี้ ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษา “ศรีสัปดาห์” ให้มีความมั่นใจไม่คลอนแคลนเพราะนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดำเนินกิจการบำเพ็ญประโยชน์ให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

ขอให้นักเรียนนักศึกษาทั้งหลาย ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจาก “ศรีสัปดาห์” จงมีจิตประกอบด้วยความกตัญญูกตเวที และตั้งจิตคิดปรารถนาดีให้ “ศรีสัปดาห์” พร้อมทั้งผู้บริจาคทุนอุปการะทั้งหลาย มีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นและจงสนองเจตนาดีของ “ศรีสัปดาห์” ด้วยทำความตั้งใจให้แน่วแน่มั่นคงศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจประพฤติดี ตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีสืบต่อไปทุกๆ คนเทอญ

จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ การฝึกจิตเป็นความดี

๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖



Create Date : 28 พฤษภาคม 2553
Last Update : 28 พฤษภาคม 2553 6:11:53 น. 1 comments
Counter : 518 Pageviews.

 


โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 28 พฤษภาคม 2553 เวลา:7:30:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.