Group Blog
 
All Blogs
 
พระไตรสรณาคมน์ ตอนที่ ๒ สมาธิวิธี โดย พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

พระไตรสรณาคมน์ (๒)
โดยพระญาณวิศิษฏ์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม)




สมาธิวิธี

๑. นั่งสมาธิวิธี
ให้นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาวางทับมือซ้าย
อุชุง กายัง ปะณิธายะ ตั้งกายให้ตรง คือ ไม่ให้เอียงไปข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง และอย่าก้มนัก เช่น อย่างหอยนาหน้าต่ำ อย่าเงยหน้านัก เช่น นกกระแต้ (นกกระต้อยตีวิด) นอนหงาย พึงดูพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง
อุชุง จิตตัง ปะณิธายะ ตั้งจิตให้ตรง คือ อย่าส่งใจไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และอย่าส่งใจไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา พึงกำหนดเข้าไว้ในจิต

๒. วิธีสำรวมจิตในสมาธิ
มะนะสา สังวะโร สาธุ สำรวมจิตให้ดีคือ ให้นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์สาวกอยู่ที่ใจ นึกอยู่อย่างนี้จนใจตกลงเห็นว่าอยู่ที่ใจจริงๆ แล้ว ทอดธุระเครื่องกังวลลงได้ว่า ไม่ต้องกังวลอะไรอื่นอีก จะกำหนดเฉพาะที่ใจแห่งเดียวเท่านั้นจึงตั้งสติกำหนดใจนั้นไว้ นึกคำบริกรรมภาวนารวมใจไว้เข้า

๓. วิธีนึกคำบริกรรม
ให้ตรวจดูจิตเสียก่อน ว่าจิตอยู่ในอารมณ์อะไร ในอารมณ์อันนั้นเป็นอารมณ์ที่น่ารักหรือน่าชัง เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่ารัก พึงเข้าใจว่า จิตนี้ลำเอียงไปด้วยความรัก เมื่อติดในอารมณ์ที่น่าชัง พึงเข้าใจว่า จิตนี้ลำเอียงด้วยความชัง ไม่ตั้งเที่ยงพึงกำหนดส่วนทั้งสองนั้น ให้เป็นคู่กันเข้าไว้ที่ตรงหน้าซ้ายขวา แล้วตั้งสติกำหนดใจตั้งไว้ระหว่างกลางเปรียบอย่างถนนสามแยกออกจากจิตตรงหน้าอก ระวังไม่ให้จิตแวะไปตามทางเส้นซ้าย เส้นขวา ให้เดินตรงตามเส้นกลาง แต่ระวังไม่ให้ไปข้างหน้า ให้กำหนดจิตอยู่กะที่นั้นก่อน แล้วเลือกคำบริกรรมที่เลือกไว้จำเพาะเหมาะกับใจคำใดคำหนึ่ง เป็นต้นว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆ ๆ” ๓ จบ แล้วรวมเอาคำเดียวว่า “พุทโธ ๆ ๆ” เป็นอารมณ์เพ่งจำเพาะจิตจนกว่าจิตนั้นจะวาง ความรัก ความชังได้ขาดตั้งลงเป็นกลางจริงๆ แล้วจึงกำหนดรวมทวนกระแสประชุมลงในภวังค์ตั้งสติกำหนดจิตในภวังค์นั้นให้เห็นแจ่มแจ้งไม่ให้เผลอ

๔. วิธีสังเกตจิตเข้าสู่ภวังค์
พึงสังเกตจิตในเวลากำลังนึกถึงคำบริกรรมภาวนาอยู่นั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งลงเป็นกลางวางความรักความชังทั้งสองนั้นได้แล้วจิตย่อมเข้าสู่ภวังค์ (คือจิตเดิม) มีอาการต่างๆ กัน บางคนรวมผับลง บางคนรวมปีบลง บางคนรวมวับแวบเข้าไป แล้วสว่างขึ้น ลืมคำบริกรรมไป บางคนก็ไม่ลืม แต่รู้สึกว่าเบาในกายในใจที่เรียกว่า
กายะละหุตา จิตตะละหุตา กายก็เบา จิตก็เบา
กายะมุทุตา จิตตะมุทุตา กายก็อ่อน จิตก็อ่อน
กายะปัสสัทธิ จิตตะปัสสัทธิ กายก็สงบ จิตก็สงบ
กายุชุกตา จิตตุชุกตา กายก็ตรง จิตก็ตรง
กายะกัมมัญญะตา จิตตะกัมมัญญะตา กายก็ควรแก่การทำสมาธิ จิตก็ควรแก่การทำสมาธิ
กายะปาคุญญะตา จิตตะปาคุญญะตา กายก็คล่องแคล่ว จิตก็คล่องแคล่ว
หายเหน็ด หายเหนื่อย หายเมื่อย หายหิว หายปวดหลัง ปวดเอว ก็รู้สึกว่าสบาย ในใจมาก
พึงเข้าใจว่า จิตเข้าสู่ภวังค์แล้วให้หยุดคำบริกรรมเสียและวางสัญญาภายนอกให้หมด ค่อยๆ ตั้งสติกำหนดจิต จนกว่าจิตนั้นจะหยุดและตั้งมั่นลง เป็นหนึ่งอยู่กับที่ เมื่อจิตประชุมเป็นหนึ่ง ก็อย่าเผลอสติ ให้พึงกำหนด อยู่อย่างนั้น จนกว่าจะนั่งเหนื่อย นี้แล เรียกว่า ภาวนาอย่างละเอียด

๕. วิธีออกจากสมาธิ
เมื่อจะออกจากที่นั่งสมาธิภาวนา ในเวลาที่รู้สึกเหนื่อยแล้วนั้น ให้พึงกำหนดจิตไว้ให้ดีแล้วเพ่งเล็งพิจารณาเบื้องบน เบื้องปลายให้รู้แจ้งเสียก่อนว่า เบื้องต้นได้ตั้งสติกำหนดจิตไว้อย่างไร พิจารณาอย่างไร นึกคำบริกรรมอะไร ใจจึงสงบอยู่อย่างนี้ ครั้นเมื่อใจสงบแล้ว ได้ตั้งสติอย่างไร กำหนดจิตอย่างไร ใจจึงไม่ถอนจากสมาธิพึงทำใจไว้ว่า ออกจากที่นั่งแล้วนอนลงก็จะกำหนดไว้อย่างนี้ จนกว่าจะนอนหลับ แม้ตื่นขึ้นมา ก็จะกำหนดอย่างนี้ตลอดวันและคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อทำในใจเช่นนี้แล้ว จึงออกจากที่นั่งสมาธิ เช่นนั้นอีกก็พึงทำพิธีอย่างที่ทำมาแล้ว

๖. มรรคสมังคี
มรรคมีองค์อวัยวะ ๘ ประการ ประชุมลงเป็นเอกมรรค คือ ๗ เป็นอาการ องค์ที่ ๘ เป็นหัวหน้า อธิบายว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือ จิตเป็นผู้เห็น
สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ก็คือ จิตเป็นผู้ดำริ
สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ ก็คือ จิตเป็นผู้นึกแล้วกล่าว
สัมมากัมมันโต การงานชอบ ก็คือ จิตเป็นผู้คิดทำการงาน
สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ ก็คือ จิตเป็นผู้คิดหาเลี้ยงชีวิต
สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ก็คือ จิตเป็นผู้มีเพียรมีหมั่น
สัมมาสติ ความระลึกชอบ ก็คือ จิตเป็นผู้ระลึก
ทั้ง ๗ นี้แหละ เป็นอาการประชุมอาการทั้ง ๗ นี้ลงเป็นองค์สัมมาสมาธิ แปลว่าตั้งจิตไว้ชอบ ก็คือ ความประกอบกำหนดจิตให้เข้าสู่ภวังค์ได้แล้วตั้งสติกำหนดจิตนั้น ไว้ให้เป็นเอกัคคตาอยู่ในความเป็นหนึ่ง ไม่มีไป ไม่มีมา ไม่มีออก ไม่มีเข้า เรียกว่า มรรคสมังคี ประชุมมรรคทั้งองค์ ๘ ลงเป็นหนึ่งหรือเอกมรรค ก็เรียกมรรคสมังคีนี้ ประชุมถึง ๔ ครั้ง จึงเรียกว่า มรรค ๔ ดังแสดงมา ฉะนี้

๗. นิมิตสมาธิ
ในเวลาจิตเข้าสู่ภวังค์ และตั้งลงเป็นองค์มรรคสมังคีดีแล้วนั้น ย่อมมีนิมิตต่างๆ มาปรากฎในขณะจิตอันนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายพึงตั้งสติกำหนดใจไว้ให้ดีอย่าตกประหม่ากระดาก และอย่าทำความกลัวจนเสียสติและอารมณ์ ทำใจให้ฟุ้งซ่านรั้งใจไม่อยู่ จะเสียสมาธิ นิมิตทั้งหลายไม่ใช่เป็นของเที่ยง เพียงสักว่าเป็นเงาๆ พอเห็นปรากฎแล้วหายไปเท่านั้นเอง
นิมิตที่ปรากฎนั้นคือ อุคคหนิมิต ๑ ปฏิภาคนิมิต ๑ นิมิตที่ปรากฎเห็นดวงหทัยของตนใสสว่างเหมือนดวงแก้ว แล้วยึดหน่วงเหนี่ยวรั้ง ให้ตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดี เรียก อุคคหนิมิต ไม่เป็นของน่ากลัว
นิมิตที่ปรากฎเห็นคนตาย สัตว์ตาย ผู้ไม่มีสติย่อมกลัว แต่ผู้มีสติย่อมไม่กลัว ยิ่งเป็นอุบาย ให้พิจารณาเห็นเป็นอสุภะ แยกส่วนแบ่งส่วนของกายนั้นออกดูได้ดีทีเดียวและน้อมเข้ามาพิจารณากายของตนให้เห็นแจ่มแจ้ง จนเกิดนิพพิทาญาณเบื่อหน่ายสังเวชสลดใจ ยังน้ำใจให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีกำลังยิ่งขึ้น เรียก ปฏิภาคนิมิต

๘. วิธีเดินจงกรม
พึงกำหนดหนทางสั้นยาว แล้วแต่ต้องการ ยืนที่ต้นทาง ยกมือประนม ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติ เพื่อเป็นปฏิบัติบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ขอให้ใจของข้าพเจ้าสงบระงับ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปัญญาเฉลียวฉลาดรู้แจ้งแทงตลอด ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเทอญ แล้ววางมือลง เอามือขวาจับมือซ้ายไว้ข้างหนึ่ง เจริญพรหมวิหาร ๔ ทอดตาลงต่ำ ตั้งสติกำหนดจิตนึกถึงคำบริกรรมเดินกลับไปกลับมาจนกว่าจิตจะสงบลงเป็นองค์สมาธิ ในขณะที่จิตกำลังรวมอยู่นั้น จะหยุดยืนกำหนดจิตให้รวมเป็นสมาธิก่อนจึงเดินต่อไปอีกได้ ในวิธีเดินจงกรมนี้ กำหนดจิตอย่างเดียวกันกับการนั่งสมาธิ แปลกแต่ใช้อริยาบถเดินเท่านั้น
จิตในสมาธินี้มีวิธีฝึกหัดในอิริยาบถทั้ง ๔ จึงต้องนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดจิตบ้าง นอนสีหไสยยาสน์บ้างเพื่อให้ชำนาญคล่องแคล่ว และเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอ

๙. วิธีแก้นิมิต
มีวิธีแก้นิมิตได้เป็น ๓ อย่างคือ
วิธีที่ ๑ ทำความนิ่งเฉย คือ พึงตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้มั่นคง ทำความสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ในสมาธิแม้มีนิมิตอะไรๆ มาปรากฏหรือรู้เห็นเป็นจริงในจิตอย่างไร ไม่ต้องหวั่นไหว ไปตาม คือ ไม่ต้องส่งจิตคิดไป จะเป็นความคิดผิดที่เรียกว่า จิตวิปลาส แปลว่าความคิดเคลื่อนคลาดแปลกประหลาดจากความจริง นิ่งอยู่ในสมาธิไม่ได้ให้บังเกิดเป็นสัญญาความสำคัญผิดที่เรียกว่า สัญญาวิปลาส แปลว่า หมายมั่นไปตามนิมิต เคลื่อนคลาดจากจิตผู้เป็นจริงทั้งนั้น จนบังเกิดถือทิฏฐิมานะขึ้นที่เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส แปลว่าความเห็นเคลื่อนจากความเป็นจริง คือเห็นไปหน้าเดียวไม่แลเหลียวดูให้รู้เท่าส่วนในส่วนนอก ชื่อว่าไม่รอบคอบเป็นจิตลำเอียงไม่เที่ยงตรง เมื่อรู้เช่นนี้จึงไม่ควรส่งจิตไปตาม เมื่อไม่ส่งจิตไปตามนิมิตเช่นนั้น แล้วก็คอยให้ระวังไม่ให้จิตเป็นตัณหาเกิดขึ้น คือ ไม่ให้จิตดิ้นรนยินดีอยากเห็นนิมิตนั้น แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นก็ดี หรือยินร้าย อยากให้นิมิตนั้นหายไปก็ดี หรือแม้ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ซึ่งนิมิตน่ากลัวก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่า ตัณหา ถ้าเกิดมีในจิตอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ให้รีบระงับดับเสีย คือ ถอนความอยาก ความไม่อยากออกเสีย เมื่อนิมิตมีมาก็อย่ายิน เมื่อนิมิตหายไปก็อย่ายินร้าย หรือเมื่อนิมิตที่น่ากลัวมีมาก็อย่าทำความกลัว และอย่าทำความคดโกง อยากให้หายไปก็ไม่ว่า ไม่อยากให้หายก็ไม่ว่า อยากเห็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเห็นก็ไม่ว่า ให้เป็นสันทิฏฐิโก คือเห็นเอง อยากรู้ก็ไม่ว่า ไม่อยากรู้ก็ไม่ว่า ให้เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะกับจิต ตั้งจิตไว้เป็นกลางๆ แล้วพึงทำความรู้เท่าว่า อันนี้เป็นส่วนจิต อันนั้นเป็นส่วนนิมิต แยกส่วนแบ่งส่วนตั้งไว้เป็นคนละอันรักษาเอาแต่จิตกำหนดให้ตั้งอยู่เป็นฐีติธรรมเที่ยงแน่ว ทำความรู้เท่าทันจิตและนิมิตทั้งสองเงื่อนรักษาไม่ให้สติเคลื่อนคลาดจากจิต ทั้งไม่ให้เผลอสติได้เป็นดี สะติมา ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ วิเนยยะ โลเก อภิชฌา โทมะนัสสัง ถอนอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้แล้ว ก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในวินัย เมื่อประกอบข้อปฏิบัติอันนี้ อยู่อย่างนี้ สติก็ตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่น ประชุมกันเป็นสมาธิดังนี้ เรียก ญาตปริญญา แปลว่า รู้เท่าอารมณ์

วิธีที่ ๒ ตรวจค้นปฏิภาคนิมิต คือเมื่อเห็นว่าจิตมีกำลังประชุมกันอยู่เป็นปึกแผ่นแน่นหนาดีแล้ว พึงฝึกหัดปฏิภาคนิมิตให้ชำนาญ คือ เมื่อเห็นรูปนิมิตมาปรากฏในตาในจิต เห็นเป็นรูปคนเด็กเล็ก หญิงชาย หนุ่มน้อย บ่าวสาว หรือแก่เฒ่าชราประการใดประการหนึ่งก็ตาม แสดงอาการ แลบลิ้น ปลิ้นตา หน้าบิดตาเบือน อาการใดอาการหนึ่งก็ตาม ให้รีบพลิกจิตเข้ามากลับตั้งสติผูกปัญหาหรือทำในใจก็ได้ว่า รูปนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง จะแก่เฒ่าชราต่อไปหรือไม่ เมื่อนึกในใจกระนี้แล้วพึงหยุดและวางคำที่นึกนั้นเสีย กำหนดพิจารณานิ่งเฉยอยู่ จนกว่าจะตกลงและแลเห็นในใจว่า เฒ่าแก่ชราได้เป็นแท้ จึงรีบพิจารณาให้เห็นเฒ่าชรา หลังขด หลังโข สั่นทดๆ ไป ในขณะปัจจุบันทันใจนั้น แล้วผูกปัญหาถามดูทีว่า “ตายเป็นไหมเล่า” หยุดนิ่งพิจารณาอยู่อีกจนกว่าจะตกลงเห็นในใจได้ว่า ตายแน่ตายแท้ไม่แปรผัน จึงรีบพิจารณาให้เห็น ตายลงไปอีกเล่าในขณะปัจจุบันทันใจนั้น “เมื่อตายแล้วจะเปื่อยเน่าแตกทำลายไปหรือไม่” หยุดนิ่งพิจารณาเฉยอยู่อีก จนกว่าจิตของเราจะตกลงเห็นว่า เปื่อยเน่าแตกทำลายไปได้แท้ แน่ในใจฉะนี้แล้วก็ให้รีบพิจารณาให้เห็นเปื่อยเน่าแตกทำลาย จนละลายหายสูญลงไป เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ไปตามธรรมดา ธรรมธาตุ ธรรมฐีติ ธรรมนิยามะ แล้วพลิกเอาจิตของเรากลับทวนเข้ามาพิจารณาภายในกายของเราเอง ให้เห็นลงไปอย่างเดียวกัน จนกว่าจะตกลงและตัดสินในใจได้ว่า ร่างกายของเรานี้ก็แก่เฒ่าชรา ทุพพลภาพ แตก ตาย ทำลาย เปื่อยเน่าไปเป็นเหมือนกัน แล้วให้รีบตั้งสติพิจารณาเห็นเป็นแก่เฒ่าชราดูทันที และพิจารณาให้เห็นตายลงไป ในขณะปัจจุบันแยกส่วนแบ่งออกดูให้เห็นแจ้งว่า หนังเป็นอย่างไร เนื้อเป็นอย่างไร กระดูกเป็นอย่างไร ตับไตไส้พุง เครื่องในเป็นอย่างไร เป็นของงาม หรือไม่งาม ตรวจดูให้ดีพิจารณาให้ละเอียดจนกว่าจะถอนความยินดียินร้ายเสียได้ แล้วพิจารณาให้เห็นเปื่อย เน่า ผุ พัง ลงถมแผ่นดินไป ภายหลังกลับพิจารณาให้เห็นคืนกลับมาอีก แล้วฝึกหัดทำอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะชำนาญ หรือยิ่งเป็นผู้มีสติได้พิจารณาให้เนื้อ หนัง เส้นเอ็น และเครื่องในทั้งหลายมี ตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น เปื่อยเน่า ผุพัง ลงไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า จงกำหนดเอาร่างกระดูกนั้น เป็นอารมณ์ทำไว้ในใจ ใคร่ครวญให้เห็นแจ้งอยู่เป็นนิจจนกว่าจะนับได้ทุกกระดูกก็ยิ่งดี เพียงเท่านี้ ก็เป็นอันแก้นิมิตได้ดีทีเดียว
คราวนี้ พึงทำพิธีพิจารณาเป็นอณุโลมถอยขึ้นถอยลง คือ ตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดีแล้วเพ่งพิจารณาให้เห็นผมอยู่บนศรีษะมีสีดำสัณฐานยาวก็จะหงอกขาวลง ขาวลง ถมแผ่นดินทั้งนั้นและพิจารณาให้เห็นขนซึ่งเกิดตามขุมขนตลอดทั่วทั้งร่างกาย นอกจากฝ่ามือฝ่าเท้า ก็ลงถมแผ่นดินเหมือนกัน พิจารณาเล็บที่อยู่ปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ ให้เห็นเป็นของที่จะต้องถมแผ่นดินด้วยกันทั้งนั้น พิจารณาฟัน ซึ่งอยู่ในปากข้างบนข้างล่างให้เห็นแจ้งว่า ได้ใช้เคี้ยวอาหารกินอยู่เป็นนิจ แต่ก็ต้องลงถมแผ่นดินเหมือนกัน คราวนี้พิจารณาหนังเบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมามีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ยังมีชีวิตนี้ให้ตั้งอยู่และเป็นไป ถ้าถลกหนังนี้ออกหมดแล้วก็ต้องตาย ตายแล้วก็ต้องถมแผ่นดิน พิจารณาเห็นความจริงฉะนี้แล้ว เลิกหนังออกวางไว้บนพื้นดินแล้วพิจารณาดูเนื้อให้เห็นแจ้งว่า เนื้อในร่างกายมีอยู่เป็นกล้ามๆ แล้วกำหนดให้เน่า ผุพังลงไปกองไว้ที่พื้นดิน พิจารณาเส้นเอ็น ให้เห็นแจ้งว่า เส้นเอ็นทั้งหลายรัดรึงกระดูกไว้ให้ติดกันอยู่ เมื่อเลิกเส้นเอ็นนี้ออกหมดแล้ว กระดูกก็จะหลุดจากกันผุพังลงถมแผ่นดินทั้งสิ้น แล้วกำหนดเลิกเส้นเอ็นนั้นออกเสียกองไว้ที่พื้นดิน พิจารณาร่างกระดูกให้เห็นแจ้งว่า กระดูกในร่างกายนี้เป็นท่อนๆ เบื้องต่ำแต่กระดูกกระโหลกศรีษะลงไป เบื้องบนแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นมา เห็นได้กระจ่างพอสมควรแล้วเพ่งเล็งพิจารณาดูเครื่องในทั้งหลายให้เห็นว่า ปอดอยู่ที่ไหน ม้ามอยู่ที่ไหน ดวงหทัยอยู่ที่ไหน ใหญ่น้อยเท่าไร เห็นตับไต ไส้พุงอาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร มีสีสันวรรณะเป็นไฉน เครื่องในทั้งปวงนี้เป็นที่ประชุมแห่งชีวิตก็จริง แต่ก็ต้องถมแผ่นดิน เมื่อพิจารณาเห็นฉะนี้แล้วพึงกำหนดให้ขาดตกลงกองไว้ที่พื้นดินยังเหลือแต่ร่างกระดูก จึงพิจารณาดูกระดูกกระโหลกศรีษะเป็นลำดับลงมากระดูกคอ กระดูกแขน กระดูกหัวไหล่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกเข่า กระดูกแข้ง กระดูกพื้นเท้า พิจารณาอย่างนี้เรียกว่า อนุโลม
คราวนี้พึงพิจารณาเป็นปฏิโลม คือพิจารณาถอยกลับขึ้นเบื้องบนตั้งแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นไป ตลอดถึงกระดูกกระโหลกศรีษะ พิจารณาทวนกลับจากศรีษะถอยลงมาตรงหน้าอกนั้นให้มั่นคง ทำในใจว่า ร่างกายทั้งหมดนี้ มีจิตเป็นใหญ่ประชุมอยู่ที่จิต จึงกำหนดรวมจิตเข้าให้สงบ แลตั้งอยู่เป็นเอกัคคตา วิธีที่ ๒ เรียกว่า ตีรณปริญญา แปลว่า ใคร่ครวญอารมณ์

ขอเตือนสติไว้ว่า ในระหว่างที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น ห้ามไม่ให้จิตเคลื่อนจากที่คือ ระวังไม่ให้ส่งจิตไปตามอาการ จิตจะถอนจากสมาธิ ถ้าจิตถอนจากสมาธิเป็นใช้ไม่ได้ ข้อสำคัญให้เอาจิตเป็นหลักไม่ปล่อยจิต ให้มีสติเพ่งรอบจิตพิจารณารอบกายรักษาใจไม่ให้ฟุ้ง จึงไม่ยุ่งในการพิจารณา

วิธีที่ ๓ เจริญวิปัสสนา คือ เมื่อผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้ฝึกหัดมาถึงขั้นนี้ มีกำลังพอพิจารณาปฏิภาคนิมิต ได้ชำนาญคล่องแคล่วเป็นประจักขสิทธิ์ ดังที่ได้อธิบายมาแล้วและกำหนดจิตรวมเข้าไว้ในขณะจิตอันเดียว ณ ที่หน้าอกตั้งสติพิจารณาดูให้รู้รอบจิตเพ่งพินิจให้สว่างแลเห็นร่างกระดูกทั่วทั้งกายยกคำบริกรรมวิปัสสนาวิโมกขปริวัตรบริกรรมจำเพาะจิตว่า
สัพเพ ธัมมา อะนัตตา
สัพเพ ธัมมา อะนิจจา
สัพเพ ธัมมา ทุกขา
ให้เห็นร่างกระดูกทั้งหมด เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรถือเอา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ กำหนดให้เห็น กระดูกทั้งหลาย หลุดจากกันหมด ตกลงไปกองที่พื้นดิน คราวนี้ตั้งสติให้ดี รักษาไว้ซึ่งจิตอย่าให้เผลอ ยกคำบริกรรมวิปัสสนานั้นอีก เพ่งพิจารณาจำเพาะจิตให้เห็นอวัยวะ ที่กระจัดกระจายกองไว้ที่พื้นดินละลายกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟถมแผ่นดินไปหมด กำหนดจำเพาะจิตผู้รู้เพ่งพินิจพิจารณาให้เห็นพื้นแผ่นดินกว้างใหญ่เท่าไร เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งโลก ก็ยังต้องฉิบหายด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ ยกวิปัสสนาละลายแผ่นดินนั้นทิ้งเสียให้เห็นเป็นสภาวธรรม เพียงสักว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น รวบรวมเอาแต่จิตคือ ผู้รู้ตั้งไว้เป็นเอกจิต เอกธรรม สงบนิ่งแน่วอยู่และวางลงเป็นอุเบกขาเฉยอยู่กะที่ คราวนี้จะแลเห็นจิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทีเดียว ก้าวล่วงจากนิมิตได้ดี มีกำลังให้แลเห็นอำนาจอานิสงส์ของจิต ที่ได้ฝึกหัดสมาธิมาเพียงชั้นนี้ ก็พอมีศรัทธาเชื่อในใจของตน ในการที่จะทำความเพียรยิ่งๆ ขึ้นไป
วิธีที่ ๓ นี้เรียกว่า ปหานปริญญา แปลว่า ละวางอารมณ์เสียได้
แล้วในที่สุด มีเทวปัญหาปรากฏขึ้นเฉพาะที่เวลารจนาหนังสือนี้สำเร็จว่า “น้ำมันหอมเอ้าเท่าสยาม” ดังนี้จะมีนัยอธิบายเป็นประการใด

------------- จบ ---------------

คัดลอกจาก

หนังสือสวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็น
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา



Create Date : 14 กันยายน 2552
Last Update : 2 ตุลาคม 2552 23:06:28 น. 2 comments
Counter : 795 Pageviews.

 
ขอเชิญเพื่อนชาว bloggang ร่วมทำบุญวันเกิดกันน่ะครับ


โดย: prempcc วันที่: 14 กันยายน 2552 เวลา:21:31:06 น.  

 
รบกวนขอชื่อสำนักพิมพ์ และเบอร์โทรสำนักพิมพ์ด้วยครับ
อยากจะพิมพ์แจกงานบุญนะครับ
ส่งมาที่email นี้นะครับ
mngorsed@gmail.com
ขอบคุณล่วงหน้าครับ


โดย: พ่อm IP: 58.10.102.110 วันที่: 24 ธันวาคม 2552 เวลา:17:07:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.