Group Blog
 
All Blogs
 
พระไตรสรณาคมน์ ตอนที่ ๑ โดย พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

พระไตรสรณาคมน์ (๑)
โดย พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม)




พระไตรสรณาคมน์นี้ เป็นวิธีประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณาคมน์แสดงตนเป็นพุทธมามกะด้วย ตามระเบียบธรรมเนียมของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลก็มีพระบาลี แสดงให้ปรากฏอยู่แล้วว่า ประชาชนทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาความเชื่อเลื่อมใส ได้ตั้งตนเป็นพุทธบริษัทมาแล้ว ล้วนแต่ได้ประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณาคมน์ทั้งนั้น อุทาหรณ์ข้อนี้ พึงเห็นมารดา บิดาแห่งยศกุลบุตร แลสิงคมลกมาณพเป็นตัวอย่าง วิธีปฏิญาณตนถึงสรณะนี้ ดูเหมือนขาดคราวไม่ได้ใช้ทำกันมานาน จนพวกอุบาสก อุบาสิกา กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ คือ นับถือ ภูต ผี ปีศาจ นับถือเทวดา อารักษ์ หลักคุณกันไปหมด ผู้ที่จะตั้งใจนับถือพระไตรสรณาคมน์จริงๆ ไม่ใคร่มีเลย ถึงเม้มีก็น้อยที่สุด จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าปรารถถึงพระพุทธศาสนาบ่อยๆ แลได้ช่วยแนะนำสั่งสอนให้ประชาชน พลเมืองทั้งหลายได้ประกาศ ปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณาคมน์แสดงตนเป็นพุทธมามกะก็มากมายหลายคนแล้ว แต่ยังไม่หนังสือแจก จึงได้พิมพ์หนังสือพระไตรสรณาคมน์นี้ขึ้น

อีกประการหนึ่ง ในพระพุทธศาสนา แสดงว่า บุญกับบาปสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ บุคคลที่ได้ทำบาปทำอกุศลไว้แล้วจะทำบุญแก้บาปก็แก้ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่จะละบาปบำเพ็ญบุญนั้นจะต้องทำอย่างไรกัน ก็ต้องตอบง่ายๆ ว่า ไม่มีวิธีอย่างอื่น นอกจากวิธีแก้จิต เพราะเหตุว่า วิธีแก้จิตเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแลเป็นหัวใจของสมถะแลวิปัสสนากัมมัฎฐานในพระบาลี ก็แสดงให้รู้แจ้งแล้วว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าก็ดี ล้วนแต่ ได้แก้จิตมาแล้วทั้งนั้น จึงสำเร็จโพธิญาณแสสาวกบารมีญาณพ้นทุกข์ ในวัฏฏะสงสารไปได้ เมื่อบุคคลมาแก้ไขซึ่งจิตของตนให้บริสุทธิ์เรียบร้อยแล้วบาปอกุศลที่ตนทำไว้ทั้งหลายก็หายไปเอง อุทาหรณ์ข้อนี้พึงเห็นองคุลีมาลเป็นตัวอย่าง

วิธีแก้จิตก็คือ วิธีนั่งสมาธินี้เอง แต่ก็เป็นของที่ขาดคราวมานานจนผู้ศึษาพระพุทธศาสนาเข้าใจผิดไปว่าหมดคราวหมดสมัยหมดเขตมรรคผลธรรมวิเศษแล้ว จึงทำให้เป็นคนจน ท้อแท้อปราชัยไม่สามารถหาอุบายแก้ไขจิตของตนต่อไปได้ มีข้อเหล่านี้แลเป็นเหตุทำให้ข้าพเจ้าได้รับสังเวชมากจึงปรารภถึงพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น คุณหา บุญมาชัย ปลัดขวา อำเภอพระลับจังหวัดขอนแก่น อาราธนาให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงวิธีแก้จิต คือ สมาธิวิธีขึ้น เชื่อว่า คงเป็นประโยชน์แก่เหล่าพุทธบริษัทผู้นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในสรณาคมน์ ได้ปฏิบัติสืบไป อุบาสก อุบาสิกา มีศรัทธาบริจาคทรัพย์พิมพ์ไว้ในพระพุทธศาสนา

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

วิธีปฏิญาณตน

ถึงพระไตรสรณาคมน์ เป็นพุทธมามกะ คือ เป็นอุบาสก อุบาสิกา ในพระพุทธศาสนาตลอดชีพ
คำปฏิญาณตนถึงสรณะเมื่อน้อมตนเข้ามานั่งเฉพาะหน้าพระสงฆ์ทั้งปวงแล้ว ถวายเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น
(กราบ ๓ หน)
นั่งคุกเข่าประนมมือ เปล่งวาจาว่า
อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตังอะภิวาเทมิ
(กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ
(กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ
(กราบ)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
(๓ จบ)

ว่าองค์พระไตรสรณาคมน์

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ปฏิญาณตนว่า
เอสาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตังภะคะวันตัง สะระณังคัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ
อุปาสะกัง (อุปาสิกัง) มัง สังโฆ ธาเรตุ อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง สะระณัง คะตัง
ทุติยัมปาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตังภะคะวันตัง สะระณังคัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ
อุปาสะกัง (อุปาสิกัง) มัง สังโฆ ธาเรตุ อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง สะระณัง คะตัง
ตะติยัมปาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตังภะคะวันตัง สะระณังคัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ
อุปาสะกัง (อุปาสิกัง) มัง สังโฆ ธาเรตุ อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง สะระณัง คะตัง

แปลว่า
ข้าพเจ้า ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานมานานแล้วพร้อมทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ที่นับถือของข้าพเจ้า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าสิ้นชีวิต ขอพระสงฆ์ ทั้งปวงจงทรงจำไว้ ซึ่งข้าพเจ้าเป็นอุบาสก (อุบาสิกา) ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิตแห่งข้าพเจ้าแล

เจริญพระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหังสัมมา สัมพุทโธ, วิชชาจะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู, อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ
(กราบลง หมอบว่า)
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยายัง พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ
เจริญพระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฎฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ
(กราบลง หมอบว่า)
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, ธัมเม กุกัมมัง ปะกะตัง มะยายัง ธัมโม ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ ธัมเม
เจริญพระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย, อัญชะลี กะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ
(กราบลง หมอบว่า)
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, สังเฆ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยายัง สังโฆ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ สังเฆ
(เงยขึ้น กราบ ๓ หน)
นั่งพับเพียบ ประณมมือ ฟังคำสั่งสอนในระเบียบ วิธีรักษาและปฏิบัติพระไตรสรณาคมน์ ต่อไป
ผู้ที่ได้ปฏิญาณตนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท ชายเป็นอุบาสก หญิงเป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนามีหน้าที่ต้องปฏิบัติพระพุทธศาสนาสืบไป

วิธีรักษาพระไตรสรณาคมน์ไม่ให้ขาดและเศร้าหมอง มีดังนี้
๑. เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเคารพ ๖ ประการ คือ เคารพในพระพุทธเจ้า ๑ เคารพในพระธรรม ๑ เคารพในพระอริยสงฆ์สาวก ๑ เคารพในความไม่ประมาท ๑ เคารพในไตรสิกขา ๓ คือ ศีล ๑ สมาธิ ๑ ปัญญา ๑ เคารพในปฏิสันถารการต้อนรับ ๑ ต้องเป็นผู้มีความเชื่อ ความเลื่อมใส นับถือ พระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกของตนจริง ถ้าประมาทเมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น
๒. เว้นจากการนับถือพระภูมิต่างๆ คือ ไม่นับถือภูตผีปีศาจ พระภูมิเจ้าที่ เทวบุตร เทวดา มนต์ คาถา วิชาต่างๆ ต่อไป ถ้านับถือเมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น
๓. ไม่เข้ารีตเดียรถีย์นิครณฐ์ คือ ไม่นับถือลัทธิอื่นวิธีศาสนาอื่น ภายนอกพระพุทธศาสนามาเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกของตนสืบไป ถ้านับถือ เข้ารีตเดียรถีย์เมื่อไร ก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น
๔. ไม่นับถือลัทธิศาสนาพราหมณ์ คือ ไม่ดูไม้ดูหมอ แต่งแก้ แต่งบูชา เสียเคราะห์เสียขวัญเป็นต้น ถ้านับถือเมื่อไร ก็เศร้าหมองในคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น
๕. เป็นผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เช่น เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น ตลอดจนเชื่อความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่สุด ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ข้อนี้ต้องเป็นผู้มีสมาธิเสมอ ถ้าขาดสมาธิเมื่อไร ก็ขาดศรัทธาความเชื่อเมื่อนั้น ถ้าขาดศรัทธา ความเชื่อเมื่อไร ก็เศร้าหมองในคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

วิธีปฏิบัติพระไตรสรณาคมน์

ท่านสอนให้ปฏิบัติใจของตนเอง เพราะคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งสามนี้สำเร็จด้วยใจ ล้วนเป็นคุณสมบัติของใจทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติใจของตนเองให้เป็นคนหมั่น คนขยัน ไหว้พระทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน
ปะฐะมัง ยามัง จังคะมายะ นิสัชชัง อาวะระณิเยหิ ธัมเมหิ จิตตัง ปะริโสเธติ
เวลาก่อนเข้านอน ตอนหัวค่ำให้เดินจงกรม แล้วทำพิธีไหว้พระเจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิภาวนา ทำจิตให้สงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อนเข้านอน
อัฆฒะรัตตัง จังกะมายะ นิสัชชัง อาวะระณิเยหิ ธัมเมหิ จิตตังปะริโสเธติ
เวลาเที่ยงคืน นอนตื่นขึ้นเป็นเวลาที่สงบสงัดดี ให้เดินจงกรม ทำพิธีไหว้พระ เจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิภาวนา ทำจิตให้สงบและตั้งมั่นในสมาธิแน่วแน่ จึงนอนต่ออีก
ปัจฉิมัง ยามัง จังกะมายะ นิสัชชัง อาวะระณิเยหิ ธัมเมหิ จิตตังปะริโสเธติ
เวลาปัจจุสมัย จวนใกล้รุ่ง ให้ลุกขึ้นแต่เช้า ล้างหน้า เช็ดหน้าเรียบร้อยแล้ว ทำพิธีไหว้พระ เจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิ ภาวนาทำจิตให้สงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ แล้วเดินจงกรมต่อไปอีกจนแจ้งเป็นวันใหม่ จึงประกอบงานต่อไป

อานิสงส์ของการสวดมนต์

๑. ไล่ความขี้เกียจขณะสวดมนต์ อารมณ์เบื่อ เซื่องซึม ง่วงนอน เกียจคร้านจะหมดไป เกิดความแช่มชื่นกระฉับกระเฉง
๒. ตัดความเห็นแก่ตัว เพราะขณะนั้นอารมณ์ของเรา ไปหน่วงที่การสวดมนต์ ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ความโลภ โกรธ หลง จึงมิได้กร้ำกรายเข้าสู่วาระจิต
๓. ได้ปัญญา การสวดมนต์โดยรู้คำแปล รู้ความหมาย ย่อมทำให้ผู้สวด ได้ปัญญา ความรู้ แทนที่จะสวดแจ้วๆ เหมือนนกแก้ว นกขุนทอง โดยไม่รู้อะไรเลย
๔. จิตเป็นสมาธิ เพราะขณะสวดต้องสำรวมใจแน่วแน่มิฉะนั้นจะสวดผิด ได้หน้าลืมหลัง เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความสงบเยือกเย็น ในจิตจะเกิดขึ้น
๕. ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะขณะนั้นผู้สวดมี กาย วาจา ใจ ปกติ (มีศีล) มีใจแน่วแน่ (มีสมาธิ) มีความรู้ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า (มีปัญญา) เท่ากับได้เฝ้าพระองค์ด้วยการปฏิบัติบูชา ครบไตรสิกขาอย่างแท้จริง

-------------- จบ ตอนที่ ๑ -----------------



คัดลอกจาก

หนังสือสวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็น
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา



Create Date : 14 กันยายน 2552
Last Update : 2 ตุลาคม 2552 23:04:21 น. 1 comments
Counter : 1144 Pageviews.

 
อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

ขออนุญาติ copy เพื่อไปพิมพ์ รวมหนังสือสวดมนต์ แจก ของวัด ภูทอก ค่ะ


โดย: p-pen IP: 118.174.98.232 วันที่: 10 มกราคม 2553 เวลา:21:19:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.