กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
หลักเมือง


หลักเมืองกรุงเทพมหานคร



.........................................................................................................................................................



เรื่อง หลักเมือง


ปัญหา ประเพณีการตั้งหลักเมืองนั้นมีมาอย่างไร

ตอบ หลักเมืองเป็นประเพณีพราหมณ์มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้นคงเป็นด้วยประชุมชน ประชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มีหมู่บ้านหลายๆ หมู่บ้านรวมเป็นตำบล ๆ ตั้งขึ้นเป็นอำเภอ ๆ นั้นเดิมเรียกว่าเมือง เมืองหลายๆเมืองรวมกันเป็นเมืองใหญ่ เมืองใหญ่หลายๆเมืองเป็นมหานคร คือ เมืองมหานคร

ตัวอย่างหลักเมืองที่มีเก่าที่สุดในสยามประเทศนี้คือ หลักเมืองศรีเทพในแถบเพ็ชรบูรณ์ ทำด้วยศิลาจารึก อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานบัดนี้ เรียกเป็นภาษาอินเดียสันสกฤตว่า “ขีนํ” เป็นมคธว่า “อินทขีน” หลักเมืองศรีเทพทำเป็นรูปตาปูหัวเห็ด หลักเมืองชั้นหลังมาก็คงทำด้วยหินบ้างไม้บ้าง หลักเมืองที่กรุงเทพฯทำด้วยไม้ ได้ตั้งพิธียกหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที ตรงกับปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๓๔๔ พ.ศ. ๒๓๒๕

หลักเมืองนี้เดิมมีหลังคาเป็นรูปศาลา มาจนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงก่อสร้างและปรับปรุงถาวรวัตถุต่างๆ โปรดฯให้ยกยอกปรางค์ต่างๆ ตามแบบอย่างศาลาที่กรุงเก่า และที่ศาลเสื้อเมือง ทรงเมือง ศาลพระกาล และศาลเจตคุปต์เดิมหลังคาเป็นศาลา ก็โปรดฯให้ก่อเป็นปรางค์เหมือนศาลเจ้าหลักเมือง

มีเครื่องหมายอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตำรา พบในพระราชพงศาวดาร เมื่อเจ้าอนุเวียงขันขบถตีได้เมืองนครราชสีมา สั่งให้อพยพผู้คนไปเมืองเวียงจัน และให้ถอนหลักเมืองเสีย กิริยาที่ถอนหลักเมืองนั้น เขาจะมีตำรับตำราถือว่า เลิกเมืองต้องถอนหลักเมืองหรืออย่างไรไม่พบหลักฐาน มีแต่พงศาวดารว่าทำอย่างนั้น ขันอยู่ หลักเมืองนครราชสีมาเป็นหลักไม้ ไม่มีใครกล้ายก ตั้งแต่เจ้าอนุฯ ถอนก็เอาหลักเมืองนอนไว้ที่ศาลอย่างนั้น และก็บูชากันทั้งนอนๆ จนฉันมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจราชการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ไปพบเข้าเห็นนอนอยู่ จึงให้ทำพิธียกขึ้นอย่างเดิม หลักเมืองนครราชสีมาตั้งมา ณ บัดนี้

เมื่อพระพุทธยอดฟ้าฯ ข้ามฟากมาจากธนบุรี สิ่งแรกที่กระทำคือตั้งหลักเมือง คิดดูด้วยปัญญาก็เห็นเป็นการสมควร เป็นยุติติได้แน่นอนว่าจะตั้งหลักเมืองที่ตรงนี้ ถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย ความไม่แน่ก็คงมี อาจเปลี่ยนแปลงและโยกย้ายได้ ที่ปักไปแล้วคนเป็นใจด้วยทุกคน อนึ่งควรสังเกตไว้ด้วยว่าการตั้งเมืองใหญ่มีของสองอย่างกำกับกัน คือ หลักเมืองและพระบรมธาตุ.


.........................................................................................................................................................



คัดจาก
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล



Create Date : 14 พฤษภาคม 2550
Last Update : 14 พฤษภาคม 2550 20:41:32 น. 0 comments
Counter : 1434 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com