กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
คำว่า "มหาราช"


สมเด็จพระปิยมหาราช



.........................................................................................................................................................



เรื่อง คำว่า "มหาราช"


เหตุ สงสัยในคำว่า "มหาราช" ของไทยที่ใช้กันอยู่ เช่น คำว่า สมเด็จพระนานรายณ์มหาราช เป็นต้น ว่าใช้กันมาแต่ครั้งไหน

ถาม คำว่า "มหาราช" ของไทยนั้นใช้กันมาแต่เมื่อไร ตรงกับคำว่า "The Great" ของฝรั่งหรือมิใช่

ตอบ คำว่า "มหาราช" ว่าโดยคำ "ราช" ว่าเกิดเป็นเจ้า เช่นราชกุมาร เป็นต้น หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในหมู่ “ราช” คือพระเจ้าแผ่นดิน เหตุไรหนังสือเก่าจึงเรียกพระนารายณ์ว่า “มหาราช” ไม่รู้โดยหลักฐาน นึกดูพระนารายณ์เป็นราชกุมารมาแต่แรก เสวยราชย์แล้วดูเหมือนเรียกพระศรีสรรเพชญ์ แต่นิยมเรียกพระนามเดิม “มหาราช” ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่มิได้หมายถึง มหาราชที่แปลว่า “The Great”

มหาราชที่แปลว่า “The Great” นั้นเพิ่งมาใช้กันในกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง การที่ฝรั่งเขาใช้ของเขา เขามีหลักอย่างหนึ่ง เขาเรียกพระเจ้าแผ่นดินนั้นเขาไม่ได้ให้นามพิเศษ เขามี Christian Name เป็นต้นว่าองค์หนึ่งชื่อ Peter เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วอีกองค์หนึ่งชื่อ Peter อีก ลักษณะจะเรียกชื่อให้ผิดกันตามแบบฝรั่งใช้หลายอย่าง แต่ใช้คุณศัพท์เป็นเครื่องช่วย บางทีก็เป็น Peter ที่ ๑ ที่ ๒ ฯลฯ George ที่ ๑ ที่ ๒ จนถึงที่ ๖ โบราณเก่าขึ้นไปก็มี Richard the Lion Heart เพื่อให้ผิดกับ Richard ที่แล้ว อย่าง Frederick the Great ก็คือ Frederick ที่ ๒ แต่ค่าที่มีเกียรติคุณรุ่งเรืองจึงเป็น The Great คล้ายคำ “มหา” ของเรา แต่เราเพิ่งเอามาใช้

ว่าถึงยศพระเจ้าแผ่นดินไทย หนังสือเก่ายอกันจนสุดซึ้ง ไปดูร่ายเรื่องยอพระเกียรติต่างๆ จะเห็นได้ พระเจ้าแผ่นดินทุกองค์เรียก “ราชาธิราช” ทั้งนั้น คือเป็นเจ้าของเจ้า เท่ากับคำว่า Emperor คำ Emperor ที่จริงเป็นยศ เช่น Emperor William ที่ ๑ ที่เป็น Kaiser เดิมเป็น King of Prussia เมื่อเป็น Emperor แล้วอยากให้เรียกว่า William the Great แต่ไม่มีใครเรียก เลยไปใช้ชื่อว่า Kaiser Wilhem der Gross หมายถึง William the Great

เมื่อจะถวายพระนาม “ปิยมหาราช” แด่พระพุทธเจ้าหลวง ได้ปรึกษากันเห็นพ้องว่า พระพุทธเจ้าหลวงมีอภินิหารผิดกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ในบางประการ คือ ทำนุบำรุงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เหมือนบ้านเมืองเจริญยิ่งในทางวัฒนธรรม คือ Civilization (คำว่า Civilization นี้เดิมเรียกกันว่า อารยธรรม แต่ดูเป็นของแขกไป สู้วัฒนธรรมไม่ได้ คำว่าวัฒนธรรมเหมาะดี แต่ไม่ใช่ Culture) พระคุณสมบัตินี้ ยากที่จะหาพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่นเสมอได้ เป็นพระคุณสมบัติที่เด่นชัด ใครๆ ก็เถียงไม่ได้ อีกประกาศหนึ่งพระพุทธเจ้าหลวงเสวยราชย์นานกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่นๆ ในพงศาวดาร อันนี้เป็นตัวเหตุ ว่าควรเฉลิมพระเกียรติยศเป็นพิเศษด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง หาใครอื่นจะบำรุงบ้านเมืองให้เจริญเร็ว และเสวยราชย์นาน ทั้งสองอย่างมิได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะถวายพระนามว่ากระไรจึงดี

สมัยก่อนใช้ “ราชาธิราช” แต่ก็ใช้กันจนเฝือ จะเรียกพระเจ้าช้างเผือก ก็ดูธรรมดา ช้างเผือกก็มีถึง ๑๒ – ๑๓ ตัว ใคร่จะได้พระนามพิเศษ ให้สมกับพระคุณวิเศษของพระองค์ และจะให้เป็นความจริงอยู่ชั่วกัลปาวสาน ที่สุดลงมติว่า ให้ถวายเป็น “พระปิยมหาราชเจ้า” เป็นมติมหาชนทั้งประเทศรับรอง เพราะเป็นที่รักของมหาชนจริงๆ ไม่ใช่จะเป็นที่บุคคลคณะหนึ่งพวกหนึ่งนั่งพร้อมกันชี้เอาตามใจตัว เป็นด้วยคนทั้งหลายยินยอมเพราะเขาเห็นว่าเป็นจริง พระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่มักเรียกกันว่า “มหาราช” ที่สำคัญก็มีท้าวลกและท้าวบุญเป็นต้น.


.........................................................................................................................................................



คัดจากบันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทาน หม่อมราชวงศ์ สุมนชาติ สวัสดิกุล



Create Date : 09 พฤษภาคม 2550
Last Update : 8 มิถุนายน 2550 16:41:28 น. 0 comments
Counter : 1794 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com