พ่อยุคใหม่ เปลี่ยนไปแล้ว

ข้อมูลจาก นิตยสารรักลูก
ไม่ว่ายุคไหนๆ พ่อ ยังคงเป็นฮีโร่ในใจลูกไม่เสื่อมคลาย เพียงแต่ว่าวันนี้ ยุคนี้ บทบาทพ่อเปลี่ยนไป ภาพ พ่อ ที่เราเห็นทั่วไปไม่ใช่ผู้นำที่แข็งกร้าวอีกต่อไปแล้ว กลับเป็นภาพ พ่อ ผู้อ่อนโยน เคียงข้างประคับประคองลูกและครอบครัวด้วยความละเอียดอ่อนนุ่มนวลมากขึ้น
ถ้าไม่เชื่อลองดูผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ บทบาทพ่อยุคใหม่ ที่เราสอบถามมามีดังนี้ค่ะ
1. พ่อเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว
บทบาทของชายหญิงในสังคมยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้หญิงมีโอกาสที่จะทำงานและหารายได้ได้มากๆ พอ กับผู้ชาย ทั้งหญิงและชายค่อนข้างเห็นด้วยว่าเมื่อมีครอบครัวพ่อจึงไม่ใช่ผู้หารายได้หลักเสมอไป แต่น่าสังเกตว่าผู้ชายเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อนี้มากกว่าผู้หญิง
ข้อความนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยบางส่วน 65% ไม่เห็นด้วย 17.5% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 17.5%
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยบางส่วน 64.28% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 21.42% ไม่เห็นด้วย 7.14%
2. พ่อเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว
หญิงและชายยุคนี้ค่อนข้างยอมรับว่าผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยบางส่วนและโน้มเอียงไปทางเห็นด้วยอย่างยิ่ง
ข้อความนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยบางส่วน 60% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 37.5% ไม่เห็นด้วย 2.5%
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยบางส่วน 64.28% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 21.42% ไม่เห็นด้วย 7.14%
3. ยินดีเป็นพ่อบ้านหากภรรยาสามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้
พ่อเป็นฝ่ายอยู่บ้านเลี้ยงลูกยังเป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่ค่อยยอมรับ จะเห็นว่าผู้หญิงมีความโน้มเอียงที่จะเห็นด้วยบางส่วนจนถึงไม่เห็นด้วยอยู่ค่อนข้างมาก แต่ที่น่าแปลกใจคือผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วย
ข้อความนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยบางส่วน 57.5% ไม่เห็นด้วย 25% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 15%
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 42.85% เห็นด้วยบางส่วน 28.57% ไม่เห็นด้วย 28.57%
4. ครอบครัวสำคัญกว่าอาชีพการงาน
น่าดีใจ ไม่เพียงฝ่ายหญิงเท่านั้นที่ส่วนใหญ่เห็นว่าครอบครัวสำคัญกว่าอาชีพการงาน ผู้ชายก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ข้อนี้ไม่มีฝ่ายใดตอบว่าไม่เห็นด้วยเลย
ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 50% เช่นเดียวกับ เห็นด้วยบางส่วน
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 64.28% เห็นด้วยบางส่วน 35.71%
5. ร่วมแบ่งเบาภาระในงานบ้าน
6. ร่วมแบ่งเบาภาระภรรยาในการเลี้ยงลูก
ทั้งสองข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า ทั้งหญิงและชายยุคนี้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ภาระในการเลี้ยงลูกและทำงานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนสมัยก่อนแล้ว เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ชายหญิงออกทำงานนอกบ้านอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสองข้อนี้จึงได้คะแนนเห็นด้วยอย่างยิ่งเป็นส่วนใหญ่
ข้อ 5 ผู้หญิงเห็นด้วยอย่างยิ่ง 80% เห็นด้วยบางส่วน 20%
ผู้ชายเห็นด้วยอย่างยิ่ง 85.71% เห็นด้วยบางส่วน 14.28%
ข้อ 6 ผู้หญิงเห็นด้วยอย่างยิ่ง 82.5% เห็นด้วยบางส่วน 15% ไม่เห็นด้วย 2.5%
ผู้ชายเห็นด้วยอย่างยิ่ง 85.71% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 14.28%
7. หาความรู้เรื่องการตั้งครรภ์เมื่อภรรยาตั้งครรภ์
8. หาความรู้เพื่อการเลี้ยงลูก
เช่นเดียวกับข้อ 5 และ 6 ทั้งหญิงและชายเห็นความจำเป็นที่พ่อยุคนี้ต้องหาความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกด้วย ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องของคนเป็นแม่เท่านั้น
ข้อ 7 ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 77.5% เห็นด้วยบางส่วน 17.5% ไม่เห็นด้วย 5%
ข้อ 8 ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 85.7% เห็นด้วยบางส่วน 14.3%
9. มีความละเอียดอ่อนที่จะเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกในเรื่องต่างๆ ของภรรยา
อีกเรื่องที่น่าดีใจ ผู้ชายยุคนี้ส่วนใหญ่เห็นว่าคนเป็นพ่อควรมีความละเอียดอ่อนที่จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของภรรยา ข้อนี้ทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 85% เห็นด้วยบางส่วน 12.5%
ผู้ชายเห็นด้วยอย่างยิ่ง 77.5% เห็นด้วยบางส่วน 14.3%
10. พ่อสามารถเลี้ยงดูลูกอ่อนได้ดีเท่าๆ กับแม่
ทั้งหญิงและชายค่อนข้างยอมรับว่าพ่อสามารถเลี้ยงดูลูกอ่อนได้ดีเท่าๆ กับแม่
ผู้หญิงเห็นด้วยอย่างยิ่งและเห็นด้วยบางส่วนเท่าๆ กัน คือ 47.5% มีไม่เห็นด้วย 5%
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 64.28% เห็นด้วยบางส่วน 28.57% ไม่เห็นด้วย 7.14%
11. พ่อสามารถลาหยุดหลังคลอด เช่นเดียวกับผู้หญิงเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูก
ในเมื่อทั้งหญิงและชายเห็นด้วยกับข้อ 10 จึงไม่น่าประหลาดใจเลยค่ะที่ข้อนี้ทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่จึงเห็นความจำเป็นที่พ่อจะลาหยุดหลังคลอดได้เช่นเดียวกับแม่ แต่ที่น่าสังเกตคือผู้ชายไม่เห็นด้วยกับข้อนี้ไม่น้อย
ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 50% เห็นด้วยบางส่วน 45% ไม่เห็นด้วย 5%
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 50% เห็นด้วยบางส่วน 35.71% ไม่เห็นด้วย 28.57%
12. พ่อมีความสำคัญกับลูกแรกเกิดเท่าๆ กับแม่
ทั้งหญิงและชายยุคนี้มีความเข้าใจว่าพ่อมีความสำคัญกับลูกแรกเกิดเท่าๆ กับแม่ ส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อนี้
ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 87.5% เห็นด้วยบางส่วน 10% ไม่เห็นด้วย 2.5%
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 71.42% เห็นด้วยบางส่วน 21.42% ไม่เห็นด้วย 7.14%
13. ยินดีลางานเพื่อพาลูกไปหาหมอหรือเข้าร่วมกิจกรรมในโรงเรียนลูก
หญิงและชายเห็นว่าการลางานเพื่อดูแลหรือไปร่วมกิจกรรมของลูกเป็นบทบาทหนึ่งของพ่อยุคใหม่
ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 87.5% เห็นด้วยบางส่วน 10% ไม่เห็นด้วย 2.5%
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 85.71% เห็นด้วยบางส่วน 7.14% ไม่เห็นด้วย 7.14%
14. เรื่องใหญ่พ่อตัดสินใจ ส่วนเรื่องเล็กเป็นหน้าที่ของแม่
เรื่องนี้หญิงและชายคิดค่อนข้างแตกต่างกัน คือผู้หญิงค่อนข้างเห็นด้วย ส่วนผู้ชายค่อนข้างไม่เห็นด้วย อาจเป็นไปได้ว่าผู้หญิงค่อนข้างคาดหวังให้ผู้ชายรับผิดชอบตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในขณะที่ฝ่ายชายเองอาจให้โอกาสผู้หญิงได้เป็นผู้นำครอบครัวมากขึ้น
ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 25% เห็นด้วยบางส่วน 50% ไม่เห็นด้วย 25%
ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 28.57% เห็นด้วยบางส่วน 28.57% ไม่เห็นด้วย 57.14%




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:10:16 น.
Counter : 795 Pageviews.

0 comment
พ่อ..ต้นแบบสำคัญของลูก


บทความจากนิตยสาร life & family
________________________________________________________
พ่อนั้น…สำคัญฉะนี้
การเจริญเติบโตของเด็กสักคน ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากพ่อไม่น้อยไปกว่าแม่เลยคะ เพราะพ่อจะเป็นต้นแบบให้ลูกในลักษณะของมาสคูลินิตี้ (Masculinity) คือความเข้มแข็ง อดทน หนักแน่น และมีอำนาจ ในขณะที่แม่จะให้ความเป็นเฟมินินนิตี้ (Femininity) คือความนุ่มนวล อ่อนหวาน ประนีประนอม มากกว่า
เด็กๆ ต้องการทั้งความเป็นพ่อ และความเป็นแม่ เพื่อเรียนรู้การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายและเพศหญิง และควรได้ต้นแบบทั้งสองอย่างในอัตราที่สมดุลกันพัฒนาจึงจะสมบูรณ์ ในกรณีที่เด็กขาดพ่อ จะเป็นเพราะพ่อไปสวรรค์แล้วหรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าได้ต้นแบบดีๆ จากผู้ชายคนอื่นๆ มาชดเชย เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนของแม่ หรือแม้แต่ครู รุ่นพี่ หรือโค้ชกีฬา ก็พอทดแทนกันได้ (แม้จะไม่ดีเท่ามีพ่อเป็นของตัวเองก็ตาม) แต่ถ้าเด็กมีพ่อที่ไม่ค่อยมีเวลา ไม่ค่อยทำหน้าที่พ่อเท่าที่ควร หรือมีบุคลิก 'อ่อน' อาจมีปัญหาเรื่องขาดต้นแบบจากพ่อมากกว่า เพราะลูกไม่ต้องการแม่สองคนในบ้านที่ไม่มีพ่อเลย

เข้าใจลูกวัยนี้
น่าชื่นใจค่ะว่า ผู้ชายทุกวันนี้เริ่มแสดงบทบาทของแฟมิลี่แมนมากขึ้น แม้บางทีจะมีเรื่องขลุกขลักอยู่บ้างก็ตาม

เคยไหมคะ ที่บางทีพ่ออุตส่าห์ตั้งใจรีบกลับบ้าน แต่เจอลูกทำท่าเฉยๆ ชาๆ ใส่ หรือแม้แต่ซื้อของเล่นมาให้ ก็ไม่ได้แสดงอาการดีอกดีใจนักหนา เจอเข้าไม้นี้ บางทีก็เล่นเอาผู้ชายตัวใหญ่ๆ แอบน้อยใจไปเหมือนกัน พานคิดว่าตัวเองไม่มีความหมาย ลูกไม่รัก และใช้โอกาสนั้นออกนอกบ้าน (ต่อไป) ซะเลย

อ๊ะ…อ๊ะ…อย่าเพิ่งคิดไปอย่างนั้น
พ่อต้องเข้าใจว่า (อันนี้แม่อาจไปบอกพ่อนะคะ) ลูกมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ในบางช่วงวัย ลูกก็ไม่ต้องการพ่อเลย พ่อไม่ควรจะคาดหวังกับเขาสูงมาก และต้องไม่หวั่นไหวกับท่าทีไม่ใส่ใจของลูก สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของเด็กที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

เด็กๆ เปลี่ยนแปลงเร็วค่ะ พอวัยเปลี่ยน อะไรๆ ก็เปลี่ยนได้ อีกเดี๋ยวเขาอาจจะแสดงความชื่นชมพ่อออกนอกหน้าอะไรๆ ก็ต้องพ่อ พ่อดี พ่อเก่งทุกอย่าง

7-9 ขวบ ต้องการอะไร
7 ขวบ เป็นช่วงที่ค่อนข้างผันแปร เด็กจะกังวลกับตนเองและไม่ค่อยเป็นสุข มักรู้สึกยุ่งเหยิงอยู่ภายในเป็นวัยที่ทำ คิด ค่อนข้างสุดโด่ง อาจคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่สนใจ ความที่ชอบคิดเกินจริง ทำให้มีพฤติกรรมลุ่มๆ ดอนๆ
เด็กบางคนก็เทิดทูนพ่ออย่างมาก แต่บางคนก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาจเป็นเพราะได้เรียนรู้มากขึ้น อ่านหนังสือได้มากและโลกก็กว้างขึ้น จนรู้สึกหวั่นไหวกับโลก พ่ออาจจะเข้ามาปลอบประโลมให้ความมั่นใจ และในช่วงวัยที่ชอบค้นคว้า หรืออยากรู้อยากทดลองเรื่องราวต่างๆ มีพ่อเข้าไปช่วยเหลือก็น่าจะดีค่ะ

8 ขวบ พ่อกลับสำคัญน้อยลง กลายเป็นคนเล็กๆ อยู่นอกสายตา พ่อจะทำอะไร ก็ไม่ค่อยสนใจ ไม่เรียกร้อง หรือต้องการอะไรจากพ่อ แต่ลูก (โดยเฉพาะผู้ชาย) จะมีท่าทีต่อแม่อย่างมีอารมณ์ ถ้ารักก็รักมาก แต่ถ้าโกรธก็เต็มที่ แม่มักถูกก่อกวน แต่ลูกก็ยังเกรงใจพ่อ ถ้าพ่ออยู่ แม่จะถูกรบกวนน้อยลง
กับวัยนี้ พ่อวางตัวหรือแสดงบทบาทพ่อได้สบายๆ แต่พ่อกับแม่ควรระมัดระวังการแสดงอารมณ์ต่อกัน ทั้งอารมณ์รักใคร่ หรือการขัดแย้งหรือทะเลาะกัน เพราะลูกอยู่ในช่วงวัยที่อารมณ์เปราะบาง รู้สึกได้เร็วกับภาพความสัมพันธ์ของพ่อกับแม่

9 ขวบ เป็นวัยที่วุ่นวายหรือ 'ติด' พ่อแม่น้อยลง แต่กลับไปให้ความสำคัญกับเพื่อนมากขึ้น บางทีพ่อแม่ของเพื่อนยังสำคัญกว่าพ่อแม่ของตัวเองด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กที่ให้ความสำคัญกับโลกภายนอก (เพื่อน) มากกว่าโลกของตัวเอง (บ้าน, พ่อแม่)
ขณะเดียวกัน ลูก 9 ขวบจะรู้สึกว่า พ่อเป็นคนรอบรู้ มีความสามารถ จึงหันมาแลกเปลี่ยนความสนใจกับพ่อ โดยเฉพาะเด็กชายมักป้วนเปี้ยนอยู่กับพ่อ เข้ากลุ่มพ่อ เพราะเป็นเพศเดียวกัน บางคนอ่อนไหวมากกับคำติเตียนของพ่อ เพราะกลัวพ่อไม่รัก หรือตัดตนออกจากกลุ่ม ส่วนเด็กหญิงจะจับกลุ่มกับแม่มากกว่า

เลี้ยงลูกแบบไหน…สไตล์พ่อ
แน่นอนค่ะว่า ผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีทักษะและทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ถ้าจะเรียกร้องให้พ่อมาช่วยกันเลี้ยงลูกบ้าง ก็หมายความว่าให้เลี้ยงแบบพ่อๆ นั่นแหละค่ะ

สิ่งสำคัญในความเป็นพ่อ คือการช่วยสร้างบรรยากาศในบ้านและครอบครัวที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ความสุข ความสนุกสนาน ความกระตือรือร้น

ที่เห็นได้ชัดเลยคือ พ่อเล่นกับลูกได้สนุกกว่าแม่ คงเป็นเพราะความขี้เล่น ทำให้ทั้งลูกชาย ลูกสาว ชอบให้พ่อเป็นเพื่อนเล่น โดยเฉพาะเด็กชาย ดูจะติดใจเล่นกับพ่ออยู่เรื่อยไปจนถึงวัย 11-12 ขวบโน่นเลย ต่อมาคือเรื่องเวลา ถึงทุกวันนี้ ผู้หญิงจะออกทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ คนที่หารายได้หลักมาจุนเจือครอบครัว ก็ยังเป็นพ่ออยู่ดี ทำให้พ่อไม่ค่อยมีเวลามากนัก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีการใช้เวลามากกว่า พ่อกับลูกอาจจะหาโอกาสใช้เวลาอยู่ด้วยกันตามลำพังบ้าง เช่น ไปวิ่งออกกำลังกายด้วยกัน นั่งคุยกันเงียบๆ ก่อนนอน หรือ ช่วยกันตัดหญ้าในสนาม ล้างรถ หรือซ่อมแซมบ้านโดยที่ลูกคอยเป็นลูกมืออยู่ใกล้ๆ วิธีนี้จะแบ่งเบาได้ทั้งงานบ้าน และสานสัมพันธ์ทางใจแถมไปด้วย

ถ้าพ่อจะต้องออกจากบ้านบ่อยๆ หรือไม่ค่อยได้อยู่บ้าน แค่การยิ้มให้ หรือทักทายกัน ก็พอจะช่วยประคับประคองความรักไว้ได้ เด็กจะรู้สึกอบอุ่นและไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป เพราะสิ่งดีๆ ที่พ่อทำ ก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน

เช่นเดียวกัน สามีที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ท่าทีที่ห่วงใยอาทร ซื่อสัตย์ และจริงใจ ย่อมเป็นกำลังใจให้ภรรยาด้วยเหมือนกัน (ย่อหน้านี้ เอาไปกระซิบบอกสามีก็ได้นะคะ)

พ่อกับลูกชาย และลูกสาว
คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า การหล่อหลอมลูกสาวให้เป็นผู้หญิงเป็นเรื่องของแม่ ส่วนพ่อมีหน้าที่หล่อหลอมลูกชายให้เป็นผู้ชาย เรื่องพ่อกับลูกสาว และแม่กับลูกชายเป็นภาระรองลงไป

แต่ความเป็นจริง พ่อจะเป็นแบบอย่างของความเป็นชายให้กับทั้งลูกชายและลูกสาว ลูกจะเรียนรู้ว่าผู้ชายเป็นอย่างไรจากความสัมพันธ์กับพ่อ เด็กผู้ชายจะเลียนแบบความเป็นชายจากพ่อ และจะปฏิบัติต่อผู้หญิง แบบเดียวกับที่พ่อปฏิบัติต่อแม่ ในขณะที่ พ่ออาจมีเวลาให้ลูกสาวน้อยกว่า แต่ก็มีผลในการพัฒนาความเป็นผู้หญิงให้เกิดขึ้น เด็กหญิงจะเรียนรู้ว่าผู้ชายเป็นอย่างไร และจะเป็นผู้หญิงแบบไหนก็จากพ่ออีกเหมือนกัน พ่อจะเป็นต้นแบบของผู้ชายที่ลูกสาวจะเกี่ยวข้องด้วยในอนาคต ถ้าพ่อเป็นนักดื่ม หรือเจ้าชู้ ลูกสาวก็อาจจะมีแนวโน้มรับผู้ชายแบบนี้ได้มากกว่าลูกสาวที่ไม่มีพ่อในลักษณะนี้

นอกจากนี้ ในเรื่องแบบอย่างทางอารมณ์ เด็กหญิงอาจถ่ายแบบความอ่อนไหวมากจากแม่ หากผสมกับอารมณ์ที่หนักแน่นแบบพ่อ ก็น่าจะสมดุลขึ้น

บทบาทพ่อจะช่วยเติมเต็มความต้องการของลูกในเรื่องความรัก ความเอาใจใส่ เป็นอีกคนในครอบครัวที่ลูกเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตด้วย พ่อที่มีความอบอุ่นเป็นหลักได้ สามารถผสมผสานอำนาจในฐานะผู้นำครอบครัวกับความเป็นประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน ในการตัดสินปัญหาต่างๆ และมีความรัก ความผูกพันให้กับลูกๆ จะทำให้พวกเขาเจริญเติบโตขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพ
เพราะเด็กๆ จะเติบโตได้ดี มีความมั่นใจ ในบรรยากาศของความรัก ยิ่งมีคนรักมากเท่าไร เขาก็มีความสุขมากยิ่งขึ้นเท่านั้น…และพ่อก็เป็นหนึ่งคนในบรรยากาศของความรักนั้นด้วยค่ะ






Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:09:50 น.
Counter : 584 Pageviews.

0 comment
พ่อดีต้องอย่างนี้

ข้อมูลจากนิตยสารดวงใจพ่อแม่
พ่อดี แต่ละคนก็คงมีคำนิยามอยู่ในใจ
แต่คำอธิบายไม่มากไม่น้อย แค่ 36 ข้อต่อไปนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพชัดขึ้นค่ะ
1. ผู้ชายซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในบทบาทสามี พ่อ เพื่อน คนทำงาน อาสาสมัคร และปฏิบัติตัวดีตามหลักของศาสนาที่นับถือ
2. ผู้ชายซึ่งรักมากพอที่จะฟัง
3. ผู้ชายซึ่งสอนแต่ไม่สั่งให้ทำตาม
4. ผู้ชายซึ่งพร้อมที่จะเล่นเหมือนเด็กๆ คลุกคลีไปกับลูกได้
5. ผู้ชายซึ่งยอมรับผิดในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากตนเอง
6. ผู้ชายซึ่งยึดมั่นในจริยธรรมของการใช้ชีวิต
7. ผู้ชายซึ่งคิดและสร้างสรรค์วิธีการสอนใหม่ๆ
8. ผู้ชายซึ่งแม้ลูกจะเติบโต แต่ก็สามารถให้คำปรึกษาแก่ลูกได้ทุกเมื่อ
9. ผู้ชายซึ่งมีระเบียบวินัย แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นจนลูกกระดิกตัวไม่ได้
10. ผู้ชายซึ่งมีความตั้งใจที่จะเป็นสามีที่ดีมาเป็นอันดับหนึ่ง
11. ผู้ชายซึ่งจะไม่ตัดสินเด็กๆ จากพฤติกรรมที่เขาแสดงออกอย่างเดียว
12. ผู้ชายซึ่งรู้จักให้ความรักและระเบียบวินัยแก่ลูกอย่างสมดุล
13. ผู้ชายซึ่งเป็นคนแรกที่พูดกับลูกเมื่อเขาพูดครั้งแรก
14. ผู้ชายซึ่งเติบโตไปพร้อมกับลูก ไม่ใช่เป็นผู้ที่ยืนดูลูกเติบโตเท่านั้น
15. ผู้ชายซึ่งไม่เคยพูดว่าความฝันของลูกนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลและไร้สาระ
16. ผู้ชายซึ่งไม่เคยหยุดที่จะให้เวลาคุณภาพแก่ครอบครัว แม้ว่าลูกจะโต
และยุ่งกับการทำกิจกรรมของตนก็ตาม
17. ผู้ชายซึ่งชักชวนลูกโดยทำให้ดูเป็นตัวอย่าง มากกว่าจะออกคำสั่งให้ลูกทำตาม
18. ผู้ชายซึ่งพูดคุยบางเรื่อง และไม่พูดคุยในบางเรื่องกับลูกได้
19. ผู้ชายซึ่งไม่ใช้วิธีคุมบังเหียนลูก หากปล่อยให้ลูกได้ดำเนินชีวิตของตนเองและพร้อมจะช่วยถ้าลูกเกิดปัญหาขึ้น
20. ผู้ชายซึ่งเข้มแข็งและกล้าเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
21. ผู้ชายซึ่งยอมรับในจุดอ่อนและจุดแข็งที่ตนมีและพยายามปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
22. ผู้ชายซึ่งรู้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องไหนเป็นเรื่องเล็ก
23. ผู้ชายซึ่งสามารถช่วยเหลือหรือช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้อย่างรวดเร็ว
เหมาะสมทันทีที่เห็นสีหน้าท่าทางที่ลูกแสดงออก
24. ผู้ชายซึ่งไม่คิดว่าตนเองสำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว
25. ผู้ชายซึ่งพาครอบครัวไปรู้จักผู้คนอื่นๆ
26. ผู้ชายซึ่งชักชวนให้ลูกเริ่ม โดยไม่รอให้ลูกเป็นฝ่ายเริ่มเอง
27. ผู้ชายซึ่งรักลุกตามแบบที่พ่อทั่วไปจะรักลูกได้
28. ผู้ชายซึ่งเข้าร่วมอย่างเต็มใจในกิจกรรมของลูกอย่างกระตือรือร้นและสนใจใคร่รู้
29. ผู้ชายซึ่งให้หลักคำสอนในศาสนามาดำเนินชีวิต
30. ผู้ชายซึ่งสามารถช่วยลูกเผชิญและผ่านประสบการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ เช่น เมื่อลูกทะเลาะกับเพื่อน สัตว์เลี้ยงที่รักตายจาก หรือเผชิญกับบทเรียนในเรื่องความรักและการอกหัก เป็นต้น
31. ผู้ชายซึ่งรู้จักใช้การลงโทษอย่างเหมาะสม รวมทั้งเรื่องการชมเชย ให้รางวัล เพื่อส่งเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมและความประพฤติที่ดี
32. ผู้ชายซึ่งสอนลูกให้รู้จักรักษาคำสัญญา
33. ผู้ชายซึ่งเต็มใจและเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดคุยถกเถียงในเรื่องต่างๆ ที่ลูกสนใจ
34. ผู้ชายซึ่งปล่อยให้ลูกได้ค้นพบตัวเองในเรื่องที่ล้มเหลว แต่คอยอยู่ใกล้และกระตุ้นให้ลูกลุกขึ้นสู้ใหม่
35. ผู้ชายซึ่งตระหนักว่าแบบอย่างที่ลูกเรียนรู้นั้นมาจากตนเอง
36. ผู้ชายซึ่งกระตือรือร้นที่จะหาคำตอบมาตอบทุกคำถามของลูกอย่างเต็มอกเต็มใจ




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:09:17 น.
Counter : 372 Pageviews.

0 comment
นิยามและความหมายของคำว่า"พ่อ"


โดย ผศ.นพ.พนม เกตุมาน
นิยามและความหมายของคำว่า"พ่อ"
พ่อในแนวความคิดคือ บุคคลที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นที่เคารพ เป็นทั้งผู้อุปการะ รวมถึงคำที่เราจะกล่าวได้ว่า "พ่อคือผู้ให้" ให้แบบอย่าง บางคนก็บอกว่าพ่อเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่พ่อจะเป็นมากกว่านั้น พ่อจะคอยสั่งสอนเราตั้งแต่เด็ก ๆ บางทีเราอาจจะไม่รู้ความหมายที่ท่านสั่งสอนเรา แต่พอเราโตขึ้นเราจะรู้ได้ว่าสิ่งที่ท่านสอนเรามาเราควรที่จะปฎิบัติอย่างยิ่ง และเราก็ควรทำตาม คำว่า"พ่อ" อาจจะเปรียบเหมือนกับเรือที่นำพาครอบรัวฟันฝ่ามรสุมให้ตลอดรอดฝั่ง พ่อคือ ผู้นำเป็นแบบอย่าง เป็นทุกอย่าง ในทางจิตวิทยาสังคม พ่อจะมีความหมายของบุคคลในการก่อสร้างครอบครัวขึ้นและก่อสร้างให้มีความสุขได้ทุกคนทั้งพ่อแม่และตัวลูก
หน้าที่ของคนที่ขึ้นชื่อว่าพ่อ หรือได้เป็นพ่อนั่น ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงเหมาะสมกับคำว่าพ่อ
พ่อจริงๆ ก็จะต้องมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ หน้าที่คงจะแบ่งเป็นหลายประการด้วยกัน เช่น หน้าที่ต่อแม่ หน้าที่ต่อลูก ทั้งทางด้านจิตใจร่างกายและสิ่งอื่นๆ อีก โดยทั่วไปพ่อกับแม่ก็ช่วยกันในสิ่งที่จะต้องปฏิบัติต่อลูก
จะมีวิธีการอย่างไร ในฐานะที่เป็นผู้นำผู้ที่ปกป้องครอบครัว ที่จะให้ถึงเป้าหมายของแต่ละครอบครัวที่มุ่งหวังไว้
พ่อต้องปรึกษาหารือกับแม่เพื่อแบ่งหน้าที่กิจกรรมต่างๆ ในครอบครัว ซึ่งอันนี้ก็เป็นบทบาทของพ่อ พ่อเป็นผู้ริเริ่มจัดแบ่งหน้าที่ต่างๆ อันนี้ก็คือหน้าที่ภาระขั้นแรกจริงๆ ก็เริ่มตั้งแต่แต่งงานยังไม่มีลูก สามีภรรยาก็ต้องรู้จักหน้าที่ของกันและกันเอง คือเริ่มมีการวางแผน และการวางแผนแบ่งเป็นหลายด้าน เป็นการแบ่งเวลา การดูแล การทำงาน และการดูแลในเรื่องการเงินว่าจะมี 2 กระเป๋า หรือ 1 กระเป๋า หรือกระเป๋ารวม เป็นผู้นำให้แม่หรือภรรยาดำเนินตามกิจกรรมที่เราตกลงกัน นอกจากนี้พ่อยังมีบทบาทในการเลี้ยงลูกด้วย แม่จะเป็นตัวเอกและจะดูแลในระยะแรกๆ พ่อควรจะต้องดูว่าบทบาทของตัวเองจะไปช่วยเสริมด้วย และเมื่อลูกโตขึ้นพ่อก็จะมีบทบาทมากกว่า แต่ก็ต้องตามวัยและเพศด้วยเหมือนกัน อันนี้ก็ต้องแยกว่าจะต้องใกล้ชิดกับลูกอย่างไรบ้าง
หลายๆ ครอบครัว คิดว่าการเลี้ยงลูกนั้นคงจะเป็นหน้าที่ของคุณแม่แต่คุณพ่อก็มีบทบาทที่จะฝึกฝนให้คำอบรมและสั่งสอนเลี้ยงดู
จริงๆ แล้วเด็กเขาจะดูและเรียนรู้จากพ่อและแม่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกัน ก็น่าจะพูดคุยกันว่าจะได้เหมือนๆ กันแต่จะแบ่งหน้าที่ไป เพราะหน้าที่บางอย่างแม่จะทำได้เหมาะสมกว่าพ่อ ส่วนบางหน้าที่ พ่ออาจจะทำได้มากกว่าแม่ แต่พ่อและแม่ก็สามารถที่จะช่วยเสริมกันได้ ในบางเวลาที่คุณแม่เหนื่อยก็ได้พ่อช่วย พ่อควรจะมีส่วนช่วยเสริมคือ เรื่องของการมีกฎ ระเบียบวินัย เกณฑ์ กติกา หรือความสนุกสนาน หรือระเบียบให้ทุกคนปฏิบัติตาม
พฤติกรรมของคุณพ่อมีส่วนสำคัญกับลูกอย่างไรบ้าง
เด็กเขาเรียนรู้ตลอดเวลาจากคนที่อยู่ใกล้ชิดและถ่ายทอดเอาแบบอย่างนั้นไปเลย เรื่องที่สำคัญคือ ทัศนคติและค่านิยมต่างๆ ซึ่งเด็กจะเรียนรู้ตลอดเวลาเพราะฉะนั้นพ่อและแม่เป็นคนอย่างไรคิดอะไรเด็กก็จะเรียนรู้ชีวิตประจำวันนี้ไปตลอด ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นแกนสำคัญต่อบุคลิกของเด็ก คือเขาโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่เราเลี้ยงเขาขณะที่ยังเล็กๆ อยู่ และสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือ ภาพของคุณพ่อคุณแม่ที่ดำเนินชีวิตครอบครัวไปอย่างมีความสุข ก็จะติดตาติดใจไปถึงตอนนั้นด้วยแล้วก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เขาดำเนินชีวิตด้วย
บางครอบครัวนั้นเด็กก็จะมีนิสัยพฤติกรรมไปทางแม่ ส่วนบางครอบครัวก็จะไปทางพ่อ นั้นก็ขึ้นกับพฤติกรรมที่เด็กได้จดจำมาจากคนใกล้ชิด
ฝากไว้นิดหนึ่งสำหรับผู้ที่จ้างเลี้ยงหรืออยู่กับพี่เลี้ยงที่จ้างมา เด็กก็จะแตกต่างไปจากพ่อและแม่บ้าง ซึ่งนั้นเกิดจากเด็กเขาอยู่ใกล้ชิดใครเขาก็จะซึมซับนิสัยมาบ้าง เพราะฉะนั้นต้องมีเวลาเอาใจใส่บ้างและให้ความอบอุ่น อบรมสั่งสอนกับลูกบ้าง
ส่วนใหญ่ลูกเพศชายหรือหญิงที่จะสนิทกับพ่อมากที่สุด
ตามธรรมชาติลูกผู้หญิงจะสนิทกับคุณพ่อมากในช่วงแรกๆ หมายถึง 3-6 ปีแรกของชีวิตเด็กผู้หญิงจะใกล้ชิดกับคุณพ่อโดยธรรมชาติ เช่นเดียวกับเด็กผู้ชายก็จะไปสนิทกับคุณแม่ แต่เมื่อเขาเริ่มเข้าอนุบาลเด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ว่าเขาเป็นเพศใด และก็จะเริ่มถ่ายทอดแบบอย่างจากเพศเดียวกัน หมายถึงเด็กผู้หญิงก็จะเริ่มเปลี่ยนจากสนิทกับพ่อก็มาเป็นคุณแม่ ส่วนเด็กผู้ชายก็จะกลับไปสนิทกับคุณพ่อแทนเพื่อจะถ่ายทอดแบบอย่าง และการถ่ายทอดก็สำคัญเพราะจะทำให้เขามีเอกลักษณ์ทางเพศถูกต้อง พฤติกรรมทางเพศ บทบาททางเพศเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศตอนเขาโตขึ้นมา และคุณพ่อก็ต้องมีเวลามากๆ ให้กับลูก แม่ควรมีเวลาให้กับลูกผู้หญิง พ่อก็ควรมีเวลาให้กับลูกผู้ชาย
คำแนะนำสำหรับ คุณพ่อทุกๆ คนว่า การที่จะเป็นผู้นำสร้างครอบครัวของแต่ละท่านให้อบอุ่นนั้น เราจะมีวิธีปฎิบัติอย่างไร
หัวใจที่สำคัญที่สุดเลยคือ ความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับพ่อและแม่ ถ้าพ่อกับแม่ความสัมพันธ์ไม่ดีต่อกันมีปัญหากัน โอกาสที่จะเผื่อแผ่ให้ความรักความอบอุ่นนั้นก็จะมีน้อย ฉะนั้นพ่อแม่จะต้องมีพื้นฐานที่ดีก่อน ถ้ามีปัญหาอะไรก็หาทางแก้ไขคลี่คลายเข้าใจกันให้มากที่สุด แต่พ่อต้องรู้หน้าที่บทบาทว่าจะทำอย่างไร ช่วยเสริมการดูแลในส่วนของ อาหาร การกินอยู่หลับนอน และระเบียบ แต่ทุกๆ เรื่องพ่อและแม่สามารถที่จะช่วยกันได้ในการดูแลลูก
ข้อแนะนำ
ทุกคนควรยึดถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพ่อของเราเป็นหลักยึดของทุกคน และในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี จะเป็นวันหนึ่ง ที่ช่วยเตือนสติในการที่เราจะมีบทบาทความเป็นพ่อที่ดีแล้วหรือยัง และควรทำอย่างไรที่จะเป็นพ่อที่ดี







Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:08:53 น.
Counter : 637 Pageviews.

0 comment
บทบาทคุณพ่อ


บทความจาก อ.พรรณี แสงชูโต จากหนังสือเตรียมพร้อมเพื่อลูกรัก(น.พ. อำนาจ บาลี และคณะ 2534)
________________________________________________________
บทบาทคุณพ่อ ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องการคุณพ่อเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ในบ้าน หรือเรื่องของกำลังใจ ซึ่งคุณแม่ต้องการเป็นอย่างมากทีเดียว คุณพ่อจะช่วยแบ่งเบาได้ ทุก ๆ ช่วงของการตั้งครรภ์ ในช่วงแพ้ท้อง คุณแม่มีอาการวิงเวียนศรีษะ ทำอะไรไม่ค่อยได้ คุณแม่อยากให้คุณพ่อมาช่วยประคับประคอง ไต่ถาม ช่วยหยิบฉวย ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณแม่ทำไม่ได้ และเมื่อท้องใหญ่ขึ้น ๆ ก็คุณพ่ออีกนั่นแหละที่ใกล้ชิดคุณแม่มากที่สุด และจะช่วยคุณแม่ได้มากที่สุด
คุณพ่อคือกำลังใจ วินาทีแรกทีรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ คนที่คุณแม่ต้องการให้รับรู้ข่าวดีนี้มากที่สุดคือ คุณพ่อ เพื่อแสดงความยินดี เพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อร่วมที่จะรับผิดชอบ ชีวิตน้อย ๆ ในครรภ์ของคุณแม่ร่วมกัน นับตั้งแต่เมื่อเริ่มรับรู้ว่าเป็นคุณพ่อแล้วนะ
คุณพ่อช่วยให้มีความสุข คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะมีความกังวลหลาย ๆ อย่างมากมาย เช่น กลัวว่าจะดูแลลูกในครรภ์ไม่ดี ลูกจะไม่แข็งแรง กลัวว่าจะทำงานที่ที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ กลัวว่าจะทำงานบ้านไม่เรียบร้อย กลัวว่ารูปร่างจะไม่สวย ไม่น่าดู สามีจะไม่ชอบใจ และกลัวไปอีกด้วยว่า จะปฏิบัติหน้าที่ภรรยาได้ไม่ดี แต่ถ้าคุณพ่อช่วยพูด หรือแสดงอาการยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู๋ในเวลานี้ของคุณแม่ ทั้งรูปร่างเปลี่ยนไป ทั้งการปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ ที่จะไม่ครบถ้วนเรียบร้อยเหมือนเดิม รวมทั้งปลอบโยนพูดคุยเมื่อคุณแม่ท้อแท้ กังวล ก็จะช่วยให้คุณแม่มีความสุขได้ มีความมั่นใจขึ้น คุณพ่อช่วยให้ คุณแม่หายแพ้ท้องได้เร็ว สาเหตุหนึ่งของอาการแพ้ท้องคือ ความกังวล ความกลัวการตั้งครรภ์ ซึ่งคุณพ่อจะเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุดที่จะช่วยพูด ช่วยปลอบ และให้กำลังใจ เพื่อคุณแม่จะได้สบายใจ บรรเทาจากอาการแพ้ท้องได้เร็วขึ้น
คุณพ่อช่วยดูแลคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ยา พักผ่อน คุณพ่ออยู่ในบทบาทที่สามารถจะช่วยดูแล ช่วยเตือนช่วยบอกได้ รวมทั้งการออกกายบริหารที่คุณพ่ออาจร่วมมือฝึกไปกับคุณแม่ ในครั้งแรก เพื่อจะได้ช่วยดูแลเวลาคุณแม่ออกกายบริหารต่าง ๆได้
คุณพ่อในห้องคลอด ช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้น ถ้าคุณพ่อได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องคลอด คุณแม่จะดีใจมากที่สุด เพราะจะมีผู้ที่เป็นกำลังใจ คอยปลอบโยน ร่วมรับรู้ความเจ็บปวด และความสุขที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า บทบาทของคุณพ่อคือ ให้กำลังใจคุณแม่ เตือนคุณแม่ให้หายใจ ให้ถูกจังหวะ และเบ่งเมื่อถึงเวลาควรเบ่ง และในที่สุด 9 เดือนเห่งการช่วยเหลือ ประคับประคอง ก็ผ่านไปด้วยดี ได้เห็นหน้าลูกที่แข็งแรง สมบูรณ์ และก็ได้สร้างความรัก ความผูกพันที่แน่นแฟ้น ระหว่างพ่อแม่ลูก ไว้ด้วยเช่นกัน
เตรียมใจก่อนเป็นพ่อแม่
การจะให้ลูกแข็งแรง ,เก่ง และฉลาดนั้น ต้องอาศัยสุขภาพกายและสุขภาพจิตของทั้งบิดา,มารดา และตัวลูก สุขภาพจิตของคุณแม่จะมีอิทธิพลต่อลูกตั้งแต่ก่อน คุณแม่จะตั้งครรภ์เลยทีเดียว
คุณแม่ที่มีอารมณ์ดี มีการปรับตัวในเข้ากับสภาวะต่าง ๆอย่างเหมาะสมมองโลกในแง่ดี และยอมรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายว่าอาจต้องมีการแพ้ท้อง,ท้องลาย,อึดอัดในการนั่ง,ยืน,นอนบ้าง แต่เมื่อคิดว่าทนเพื่อลูกแล้วคุณแม่ก็จะไม่วิตกกังวลหรือเครียดง่าย จิตใจสบาย อารมณ์แจ่มใส ส่งผลให้ทุกระบบในร่างกายทำงานอย่างสมดุล ร่างกาย แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย เวลาตั้งครรภ์
นอกจากการที่คุณแม่จะต้องมีสุขภาพจิตดีแล้ว อีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีความสำคัญพอ ๆกัน คือ คุณพ่อ ผู้ที่จะนำเชื้อมาผสมกับไข่ เพื่อให้เกิดเป็นตัวลูกขึ้นมา ถ้าร่างกายและจิตใจคุณพ่อดี ก็จะทำให้ตัวเชื้อแข็งแรง สมบูรณ์เต็มที่ ลูกที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิและไข่ของคุณแม่ก็จะมีความแข็งแรง สมบูรณ์ด้วย
การให้กำเนิดลูกจึงเป็นหน้าที่ของทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่จะตั้องเป็นผู้จัดหาและปรุงแต่งสิ่งที่จะบำรุงเลี้ยงดูร่วมกัน จัดหาทั้งเรื่องอาหารกายและอาหารใจให้กับลูก สิ่งบำรุงเลี้ยงดูและอาหารเหล่านี้จะต้องมีการตระเตรียมกัน นับตั้งแต่มีการตัดสินใจว่าจะมีลูกเลยที่เดียว
เตรียมจิตใจคุณพ่อ
ผู้เป็นคุณพ่อควรจะต้องมีความเข้าใจ และตระเตรียมสุขภาพจิตเช่นเดียวกับผู้เป็นแม่ เพียงแต่ในกรณีของคุณพ่อต้องมีหน้าที่ต่อทั้งคุณแม่และลูกพร้อมกันไปด้วย จึงต้องตระเตรียมเพิ่มขึ้นอีกดังนี้
1. เรื่องความรัก จะต้องมีความรักให้ทั้งแม่และลูกในครรภ์ของคุณแม่ด้วย ต้องเข้าใจและเห็นใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของคุณแม่ เพิ่มความใกล้ชิดและให้เวลาแก่ครอบครัวมากขึ้น
2.สถานะที่มั่นคง โดยการตระเตรียม(ทางด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการคลอดและเลี้ยงลูก)ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
3. ความมั่นคงทางอารมณ์ คุณพ่อต้องมีจิตใจและอารมณ์ที่มั่นคง มีความอดทน รู้จักผ่อนหนักเป็นเบา และแนะให้ภรรยาปรับอารมณ์ได้ด้วย
4. ความมีเหตุมีผล ทำตัวเป็นผู้นำที่ดี และคุ้มครองปกป้องทั้งคุณแม่และลูกได้ ลดการกระทำที่เป็นมลภาวะต่อทั้งแม่และลูกในครรภ์ เช่น สูบบุหรี่ในบ้านหรือพกเอาอารมณ์เสียมาจากที่ทำงาน
--------------------------------------------------------------------------------



Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:08:26 น.
Counter : 443 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]