เทคนิคการเป็นพ่อที่ดีของลูกสาว

ข้อมูลจากนิตยสารแม่และเด็ก
โดย รศ.สุพัตรา สุภาพ
--------------------------------------------------------------------------------
การเป็นพ่อไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องมีหลักสังคมวิทยาและจิตวิทยาในการเข้าใจลูก ถ้าไม่อยากให้ลูกรักมีอันเป็นไปโดยเฉพาะลูกสาว เนื่องจากจะมีพฤติกรรมที่ผิดปกติได้
ดร.จูดิธ ล็อก (Dr. Judith Logue) นักจิตวิทยาจากพรินส์ตันให้ข้อคิดว่า
ถ้าพ่อว่าลูกสาวหรือตำหนิติเตียนหรือควบคุมลูกสาวมากเกินไป ลูกสาวอาจจะหาทางออกด้วยการกินเป็นหลัก เข้าทำนองกินทุกอย่างที่ขวางหน้า หรืออาจจะอาเจียนอยู่เรื่อย หรือกินอาหารไม่ได้อยู่ตลอดเวลา
หรือพ่อบางคนทำให้ลูกกลัวตั้งแต่เด็ก เช่นตีและเตะแม่ แกเห็นก็จะกลัวและอาจร้องโหยหวน ผลคือ พ่อหันมาดุหรือใส่อารมณ์ หรือตีแกอีกคน ทำให้แกหวาดกลัวมากขึ้น ด้วยเหตุนี้มีเด็กไม่น้อยที่กลัวพ่อและไม่กล้าเข้าใกล้พอเห็นพ่อทำร้ายแม่ด้วยคำพูดหรือการกระทำมากๆ เข้าก็จะเกิดความรู้สึกว่าพ่อน่ากลัว แม่น่าสงสาร
ลูกสาวที่สงสารแม่มาก ๆ เข้าจะเข้าข้างเพศเดียวกันทำให้เกลียดเพศตรงข้ามโดยไม่รู้ตัว เข้าทำนองชอบแต่ผู้หญิง บางคนอาจกลายเป็นพวกชอบไม้ป่าเดียวกัน การเป็นพ่อที่ดีจึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างพัฒนาการของลูกสาวไม่ว่าในด้านจิตใจหรือร่างกาย ถ้าลูกไม่พอใจพ่อแล้วแสดงออกมาในรูปแค่อาเจียน เบื่ออาหาร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ก็ยังพอจะแก้ไขได้ หากลูกสาวได้พ่อไม่ถูกใจ จนลูกเปลี่ยนแปลงเพศไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร พ่อแม่จะหนักใจ
การเป็นพ่อที่ดีควรเป็นตั้งแต่ลูกยังเล็ก โดยเฉพาะช่วง 1-3 ขวบ ช่วงนี้มีความสำคัญมากในด้านความรัก ความอบอุ่น
ช่วงถัดมาคือ 3-5 ขวบ เพราะกำลังเรียนรู้
ช่วง 5-8 ขวบ กำลังปรับเพศ ยิ่งวัยรุ่นยิ่งต้องการพ่อมาก วัยรุ่นเริ่มตั้งแต่ 10 ขวบ
10-15 ปี วัยรุ่นตอนต้น
15-20 วัยรุ่นตอนกลาง
20-25 ปี วัยรุ่นตอนปลาย
ซึ่งในแต่ละช่วงนับว่ามีความหมายต่อลูกสาวเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม พ่อที่ดีต้องปฏิบัติหรือเลี้ยงดูลูกให้ดีแต่เกิด ยิ่งลูกสาวเริ่มรู้เรื่องมากขึ้นเท่าไรพ่อยิ่งต้องทำตัวให้ลูกไว้วางใจ เชื่อมั่น และรักใคร่มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเล็กเท่าไรยิ่งต้องใส่ใจ เพราะเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาอารมณ์และทางกายที่จะอยู่กับตัวแกทั้งในและนอกบ้าน
ดร.ล็อก ให้ข้อคิดสำหรับการเป็นพ่อที่ดีกับลูกสาวตัวน้อยๆ หรือตัวใหญ่ว่า
ให้ลูกเชื่อมั่นตัวเอง
เป็นการเชื่อมั่นในด้านสติปัญญา เช่น ชมว่าแกเก่งถ้าแกทำอะไรได้ดี แม้แกทำผิดก็ไม่ว่ากล่าว เพียงแต่ให้แกรู้จักคิดว่าผิดพลาดไปเพราะอะไร แล้วพยายามจำไว้และทำให้ถูกต้องในโอกาสต่อไป
ด้านบุคลิกภาพ ก็อย่าไปตำหนิว่าแกเตี้ย ดำ หรือไม่สวย พยายามหาจุดดีของลูกสาวมาให้กำลังใจ เช่น ลูกยิ้มสวย พูดจาดี มีน้ำใจ เป็นต้น
ด้านความสามารถเราส่งเสริมได้ถ้าแกทำอะไรได้ดีไม่ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เพื่อลูกสาวจะได้เชื่อมั่นว่าแกมีความสามารถ ไม่ว่าลูกสาวตัวน้อยๆ จะถือแก้วน้ำหกไปบ้าง ก็ให้บอกว่าแกเก่งแล้วที่ถือแก้วน้ำได้ ดื่มนมเองได้
อย่าลืมว่า น้ำหกหรือนมหกเราเช็ดได้ แต่ถ้าทำร้ายจิตใจเด็ก เด็กจะลบจากใจยาก
ให้ช่วยตัวเอง
เด็กที่ทำอะไรด้วยตัวเองได้มักจะอยากได้กำลังใจ โดยเฉพาะลูกสาวของเราเอง ถ้าเราไม่ให้กำลังใจลูกสาวก็คงทำได้แต่จะทำแบบว้าเหว่ใจ ฉะนั้นไม่ว่าลูกจะใส่เสื้อผิดก็ต้องชมว่าแกใส่เสื้อเองได้เพียงแต่บอกว่าลูกอาจไม่ทันดู แล้วช่วยแกกลับเสื้อหรือกลัดกระดุมให้ถูกต้อง
รับฟัง
เป็นศิลปะการฟังที่ต้องใช้ทักษะพอควร ไม่ใช่ฟังแบบเข้าหูซ้ายย้ายไปหูขวา แต่เป็นการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ว่าลูกสาวจะพูดอะไร ได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่องบ้างก็อย่าแสดงอาการเบื่อหน่าย เพราะลูกจะเซ็งเอาง่ายๆ เป็นการฟังแบบพยักหน้ายิ้มให้บ้าง ไม่ใช่ฟังแบบรูดซิบเฉยเมย จนลูกอาจจะถามได้ว่า "พ่อยังมีชีวิตอยู่ไหม"
ให้ของขวัญบ้าง
ไม่จำเป็นต้องหรูหราราคาแพง แต่เป็นอะไรก็ได้ที่แสดงว่า พ่อมีน้ำใจต่อลูกสาวตัวน้อยของพ่อ เช่น ให้ตุ๊กตา ให้ขนม คุกกี้ กิ๊บติดผม ให้เสื้อผ้า ฯลฯ แต่ไม่ควรให้พร่ำเพรื่อจนลูกติดเป็นนิสัย ถึงเวลาก็อยากได้ ถ้าไม่ให้ก็อาละวาดให้พ่อได้ตกใจเป็นของชำร่วย
พาไปเที่ยวบ้าง
เช่น ไปสวนสาธารณะ สวนสัตว์ (ต้องเกินกว่า 2 ขวบ) ปิกนิก ศูนย์การค้า หรือต่างจังหวัด เป็นต้น ลูกสาวจะได้มีโอกาสไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกบ้าน
ปลอบจิตลูกยามมีปัญหา
ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กน้อยสำหรับพ่อ เช่น แขนเสื้อตุ๊กตาขาด แต่ในความรู้สึกของลูกสาวเป็นเรื่องใหญ่ ก็อาจจะปลอบว่าไม่เป็นไร ให้แม่เย็บให้ได้ หรือถ้าพ่อเย็บเสื้อได้ก็ทำไป หรือลูกถูกรังแกมา อย่าซ้ำเติมหาว่าลูกสู้ใครไม่ได้ พ่ออาจจะปลอบและสอนลูกให้รู้จักป้องกันตัวเอง เช่น ไม่เข้าใกล้คนที่ชอบรังแก ถ้าเขารังแกก็ให้บอกคุณครู แต่ลูกต้องไม่ไปพูดอะไรหรือทำอะไรให้เขาโกรธจนเขารังแกเอาได้
ถ้าลูกทำการบ้านไม่ได้ จนนั่งร้องไห้ ก็ต้องถามว่า ติดขัดตรงไหน แล้วพยายามอธิบายให้เข้าใจ ถ้าทำได้ หากสอนการบ้านลูกไม่ได้ คงต้องปรึกษาคุณครูหรือโทรศัพท์ไปถามเพื่อนหรือผู้ปกครองคนอื่นๆ ที่รู้จัก เพื่อจะได้ช่วยลูกสาวสุดที่รักให้พอมีทางออกได้บ้าง ดีกว่าปล่อยให้ลูกนั่งกลัวว่าการบ้านไม่เสร็จแล้วพรุ่งนี้คุณครูจะตีเอา
ให้ความรัก ความอบอุ่น
สปิทซ์ (Spitz) นักสังคมวิทยากล่าวว่า
"ความรักความอบอุ่นเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจริญเติบโตของเด็ก"
ลูกสาวต้องการอ้อมกอดของพ่อเพื่อให้แกมั่นใจได้ว่าแกจะสามารถยืนหยัดต่อไปได้ แต่ความรักอย่างเดียวคงไม่ทำให้ลูกสาวเจริญเติบโตได้ดี ต้องมีความเอาใจใส่ในทางที่ถูกที่ควร โดยพ่อต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกในด้านความคิดและการกระทำ
พ่อที่ดีจึงต้องมีคุณธรรม มีระเบียบวินัย ไม่ทำตัวเหลวไหล ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน แต่เป็นพ่อที่แสนดีของลูกสาวตัวน้อยๆ ที่เกิดมาก็เห็นพ่อที่หนูน้อยรักใคร่ เป็นพ่อที่ให้ลูกสาวเสมอตั้งแต่จำความได้
ให้ความรักแบบหมดใจ ให้ความเอาใจใส่ด้วยหัวใจให้เหตุและผลในการเป็นลูกสาวที่ดี ให้ชีวิตไม่ว่าลูกรักจะอยู่ตรงไหน ให้ลูกได้รู้ว่าพ่อจะเป็นพ่อที่ดีของลูกสาวตลอดไป ไม่ว่าลูกรักจะเล็กหรือเติบใหญ่แค่ไหน เพราะพ่อคือพ่อของลูก ไม่ว่าพ่อจะมีชีวิตอยู่หรือตายจากลูกไปลูกจะอยู่ในดวงใจของพ่อตราบชั่วฟ้าดินสลาย







Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:04:17 น.
Counter : 478 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]