"พ่อ"คุณภาพเป็นได้อย่างไร?
"พ่อ"คุณภาพเป็นได้อย่างไร?

บทความจาก หนังสือบันทึกคุณแม่ คอลัมน์ babies 0-1
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม มีผลต่อค่านิยมและทัศนคติของคนไทยในเรื่องการใช้ชีวิตคู่ เช่น การแยกมาอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวเพียงคู่สามีภรรยา การที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน เทียบเคียงผู้ชาย ส่วนผู้ชายเองก็หันมาช่วยเลี้ยงเจ้าตัวน้อยที่บ้าน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนปลงค่านิยมและทัศนคติของผู้ชายไทยแต่เดิมว่า หน้าที่ของการเลี้ยงลูกคือหน้าที่ของผู้หญิง

อะไรที่ทำให้ความคิดของผู้ชายไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นนี้? แล้วบทบาทของพ่อต่อการเลี้ยงดูลูก จะส่งผลดีกับลูกอย่างไร? ติดตามกันค่ะ

คุณจิรัฎฐ์ ศิลา อาจารย์พิเศษแห่งหนึ่ง ตัวแทนของคุณพ่อเลี้ยงลูก ซึ่งปัจจุบันลูกอายุได้เดือนเศษกล่าวว่า

"การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ทุกคน ผมไม่รู้ว่าภรรยาต้องอดทนอย่างไรระหว่างตั้งครรภ์จึงขอมามีส่วนร่วมรับรู้ความยากลำบากหลังจากที่เขาเกิด ซึ่งได้ประโยชน์กับตัวผมแน่นอน เพราะผมต้องการเลี้ยงเขาตั้งแต่เล็ก เพื่อเรียนรูนิสัยใจคอ และความต้องการจริง ๆ ของเขา เพราะถ้าวันใดวันหนึ่งที่เขาโตขึ้นแล้วมีปัญหา เราจะเข้าใจและช่วยเขาแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น ใครอาจคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชาย แต่ผมมีความรู้สึกดี ๆ ที่ต้องการมีลูก อะไรที่ทำให้ลูกได้ มันเป็นสิ่งดีมากกว่าคำว่าไม่ใช่หน้าที่ นอกจากนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ผู้หญิงสมัยนี้ทำงานเทียบเคียงผู้ชาย ดังนั้นอะไรที่ช่วยกันได้ก็ควรช่วยซึ่งเพื่อน ๆ ของผมที่รู้ว่าผมเลี้ยงลูกเองต่างก็ชื่นชมผมมากกว่าดีครับ

พันตรีหญิงอรวรรณ ถิรพรพงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการคุณพ่อคุณภาพผู้หนึ่ง ซึ่งจัดโดยหอผู้ป่วยสูติกรรมพิเศษ 6 โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ แสดงถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ชายมีทัศนคติต่อบทบาทของพ่อ ในการเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยเปลี่ยนไป เนื่องจากแต่เดิมครอบครัวไทยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีญาติพี่น้องอยู่ร่วมบ้านเดียวกันมากมาย ดังนั้นคุณพ่อมีหน้าที่หาสตางค์มาเลี้ยงดูครอบครัวอย่างเดียวได้โดยไม่กังวลถึงคุณแม่และลูก เพราะมีญาติผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้คอยช่วยเลี้ยงดูเด็กอยู่แล้ว

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การแยกมาอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว ทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องของสามีและภรรยาเพียงสองคน การปล่อยให้คุณแม่มือใหม่อยู่บ้านเลี้ยงลูกจึงทำให้คุณพ่อมือใหม่กังวลใจ เพราะต่างก็มือใหม่ทั้งคู่ ถ้านำลูกไปฝากคุณปู่คุณย่าที่อยู่ห่างไกลกัน ก็กลัวว่าจะทนคิดถึงลูกไม่ไหว การจ้างพี่เลี้ยงก็หายากหรือไม่ไว้ใจ

การเลี้ยงเด็กในสังคมปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่จึงพยายามเลี้ยงดูลูกกันเอง ถึงคุณพ่อจะไปทำงานช่วงกลางวัน แต่จะมีบทบาทช่วยเลี้ยงลูกในตอนกลางคืนมากขึ้น

5 ข้อดีของพ่อที่มีส่วนร่วมเลี้ยงลูก

ผศ.นพ.วิฐารณ บุญสิทธิ หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ชี้แจงถึงการที่คุณพ่อเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก ด้วยการช่วยอาบน้ำ ชงนม ป้อนนมให้ลูก ฯลฯ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะ…

1. เด็กรับรู้ถึงความผูกพันที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนมากกว่าหนึ่ง (นอกจากคุณแม่) อันเป็นพื้นฐานในการสร้างความรักความผูกพันกับบุคคลอื่น ๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นต่อไป

2. ความผูกพันของเด็กที่มีต่อคุณพ่อคุณแม่มีลักษณะเฉพาะตัวและแตกต่างกันซึ่งเด็กจะเรียนรู้และแยกแยะว่า คุณพ่อเป็นอย่างหนึ่ง คุณแม่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง และตอบสนองต่างกัน เด็กจะเริ่มแยกแยะได้ตั้งแต่อายุประมาณ 6 สัปดาห์ โดยสังเกตได้ว่า เมื่อเด็กเห็นหรือได้ยินเสียงคุณแม่ เด็กจะมีการตอบสนองอย่างสงบ ผ่อนคลายเหมือนรู้ว่าเขาจะได้กิน เขาจะได้พัก เขาจะได้รับการทะนุถนอมอ่อนโยน ในขณะที่คุณพ่อเข้ามาหา เด็กจะรู้สึกตื่นเต้น หัวใจเต้นเร็ว ขยับแขนขยับขา เหมือนรู้ว่าเดี่ยวคุณพ่อจะอุ้มไปเล่นแล้ว คุณพ่อจะจับโยนไปในอากาศ จะจี้พุง จึงทำให้เด็กมีการตอบสนองต่างกัน การที่เด็กสร้างความผูกพันธ์ที่ดีกับทั้งคุณพ่อและคุณแม่ และจะเป็นพื้นฐานการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในอนาคต

3. ส่งเสริมพัฒนาการด้านความมั่นใจและการปรับตัวต่อสิ่งใหม่ พบว่าเด็กที่มีคุณพ่อช่วยเลี้ยงดูด้วย เมื่อจำเป็นต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ชั่วคราว จะมีความมั่นใจมากกว่า และร้องกวนน้อยกว่าเด็กที่ไม่มีคุณพ่อช่วยดูแล

4. ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาโดยการเล่นที่หลากหลายคุณพ่อและคุณแม่วิธีการเล่นกับลูกต่างกันคือ คุณแม่มักใช้ของเล่นเป็นสื่อ ขณะที่คุณพ่อและคุณแม่วิธีการเล่นกับลูกต่างกันคือ คุณแม่มักใช้ของเล่นเป็นสื่อ ขณะที่คุณพ่อจะใช้ของเล่นน้อย แต่จะใช้สำรวจสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และมักใช้ตัวของคุณพ่อในการเล่น โดยอุ้มให้ลูกเป็นเครื่องบินบ้าง จับลูกโยนไปมาบ้าง ให้เป็นป่ายบนตัวของคุณพ่อบ้าง เหมือนกับคุณพ่อเป็นสนามออกกำลังกาย เด็กจะมีพัฒนาการโดยเฉพาะกล้ามเนื้อ การเล่นที่แตกต่างกันของคุณพ่อและคุณแม่จะส่งเสริมกัน และช่วยพัฒนาการตอบสนองของเด็กทั้งสองรูปแบบด้วย

5. พัฒนาการด้านจิรยธรรม มีการวิจัยพบว่า ครอบครัวที่คุณพ่อมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูก จะทำให้ลูกมีความสามารถในการควบคุม และยับยั้งใจตนเองได้ดีกว่าโดยพบว่าเด็กผู้ชายที่เติบโตมาโดยไม่มีแบบอย่างของคุณพ่อ จะก้าวร้าวกว่าเด็กที่มีคุณพ่อช่วยเลี้ยงดู เด็กทุกคนต้องผ่านวัยที่เอาแต่ใจตนเอง การที่มีคุณพ่อเสนอให้เขายับยั้งใจ จะช่วยให้เด็กควบคุมความก้าวร้าวของตนเองต่อผู้อื่นได้ดีขึ้น

นอกจากนี้การที่คุณพ่อเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลูกจะได้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวคุณพ่อคุณแม่และลูกคือ

1. บรรยากาศของครอบครัวที่อบอุ่น

2. เด็กรู้สึกว่าเขาได้รับความรัก ความเอาใจใส่ จากทั้งคุณพ่อและคุณแม่

3. คุณพ่อได้เห็นพัฒนาการ การเติบโต และเปลี่ยนแปลงของลูกทุกวินาทีที่เขาเติบโต ทำให้ความรู้สึกของพ่อที่มีต่อลูกดีขึ้น มีความใกล้ชิดกัน และรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยลูกเหมือนกับที่แม่รู้สึก

4. เด็กได้รู้ถึงวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างพ่อและแม่ ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าแต่ละคนมีวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน เป็นต้นว่า พ่ออาบน้ำให้ลูกมีวิธีอย่างหนึ่ง ให้แม่อาบน้ำเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งลูกอาจชอบและสนุกแตกต่างกัน และรับรู้ถึงความหลากหลายนี้

5. เด็กได้มีความผูกพันที่ดีกับทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ซึ่งเมื่อเด็กเติบโตขึ้น จะได้มีโอกาสเรียนรู้บทบาททางเพศของหญิง และชายอย่างเหมาะสม

แต่ถ้าคุณพ่อไม่ได้มีส่วนร่มให้การช่วยดูแลเด็กจะมีผลที่แตกต่างกับคุณพ่อที่ช่วยเลี้ยงดูเด็กคือถ้าคุณพ่อได้ให้เวลา และได้เข้ามาร่วมเลี้ยงดูสร้างความรักความผูกพันกับลูก จะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาไปได้ดีกว่าในทุกด้าน เช่น ด้านกล้ามเนื้อฝึกให้เด็กออกกำลังกาย การเคลื่อนไหว เด็กที่มีคุณพ่อและคุณแม่พูดคุยด้วยจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี การระงับยับยั่งควบคุมตนเอง ลดความก้าวร้าว ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านสังคม แต่หากคุณแม่เลี้ยงดูเดียว ซึ่งต้องทำหน้าที่แทนคุณพ่อด้วย อาจทำให้คุณแม่ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ เด็กจึงมีโอกาสพัฒนาบางด้านไม่ดี เป็นต้นว่า ควบคุมตนเองได้ไม่ดี ก้าวร้าว

จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ไม่มีคุณพ่อช่วยเหลี้ยงดูอาจมีพัฒนาการทางสติปัญญาไม่ดีเท่าที่ควรการพัฒนาทางปัญญาขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เมื่อคุณพ่อไม่ช่วยเลี้ยงดู จะส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณแม่ ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อพัฒนาการสิ่งแวดล้อมเด็กนั่นเอง
พ่อเลี้ยงลูกช่วยลดปัญหาสังคม…!

พันตรีหญิงอรวรรณ กล่าวว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เป็นแห่งหนึ่งที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดยมีความคิดว่า จะทำอย่างไรให้คุณพ่อ คุณแม่สามารถเลี้ยงเด็กที่เกิดมาได้อย่างมีคุณภาพเพราะการเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นภารกิจของคุณพ่อคุณแม่ ต้องร่วมมือร่วมใจกันไม่ใช่เพียงเฉพาะเป็นหน้าที่ของบุคคลใด บุคคลเดียว จึงได้จัดโครงการอบรมคุณพ่อขึ้น เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพ หรือความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อกับลูก และสนับสนุนช่วยเหลือให้คุณพ่อได้แสดงบทบาทให้การเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยอย่างเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการเพิ่มทักษะการเลี้ยงเจ้าตัวน้อยให้กับคุณพ่ออย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาสังคมจากความบกพร่องของสถาบันครอบครัว ตามแนว คิดของคลอส และแคนเนล (Klen MH. Kamnel Jm. 1998) นักจิตวิทยา ที่กล่าวว่า ความผูกพันหรือสัมพันธ์ภาพเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างบุคคล 2 คน จะมีความคงทนตลอดไป โดยจะต้องมีลักษณะ 2 ทางคือ

ความผูกพันที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อลูก และที่ลูกมีต่อคุณพ่อคุณแม่ผู้เลี้ยงดู รวมทั้งเชื่อว่า ช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังคลอด จะเกิดกระบวนการความผูกพันระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลานาทีแรก ๆ ชั่วโมงแรก ๆ หลังคลอด และระยะนี้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อกัน

จ่าสิบเอกธารดี โอสถศรี ข้าราชการทหารผู้หนึ่ง ที่เข้าร่วมโครงการคุณพ่อคุณภาพกล่าวว่า

"ผมตั้งใจมีลูก จึงเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องดูแลทั้งลูกและภรรยา โดยช่วยเลี้ยงลูกตั้งแต่คนแรกซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมา พอภรรยาตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 ถึงทราบว่ามีโครงการคุณพ่อคุณภาพ ผมสนใจเพราะนอกจากอยากช่วยภรรยาเลี้ยงลูกแล้ว ผมเคยเป็นบุรุษพยาบาล ที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ ด้วยการักษาพยาบาลเบื้องต้น อย่างน้อยการเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงเด็ก จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ปัจจุบันผมย้ายมาทำงานตำแหน่งธุรการในโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ตึกเดียวกับที่มีการฝึกสอน จึงไม่ลำบากที่จะไปเรียน ซึ่งมันทำให้ผมได้เห็นในสิ่งที่ผมมองข้ามไป อาทิเข้าใจวิธีการเลี้ยงดูลูก ซึ่งเขาจะสอนวิธีการเช็ดสายสะดือ ชงนมให้ถูกสัดส่วน การเตรียมน้ำอุ่น อาบน้ำให้ลูกที่ถูกต้อง วิธีช่วยเหลือ ให้กำลังใจภรรยา ช่วยลดความเครียดของภรรยาจากการเลี้ยงลูกนาน ๆ เพราะบางทีถ้าลูกร้องมาก ๆ แล้วภรรยาเกิดความเครียด จนไม่รู้จะทำอย่างไร พ่อทั่วไปอาจไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเหมือนกัน แต่ถ้าพ่อที่ผ่านการอบรมมา จะกล้าตัดสินใจเข้าไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และนำมาใช้ ทำให้ใกล้ชิดภรรยาและลูก รู้สึกถึงความเป็นครอบครัวมากขึ้นครับ"

โครงการคุณพ่อคุณภาพ จึงเป็นการอบรมที่ช่วยเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในการเสริมทักษะการเลี้ยงลูกให้กับคุณพ่อเพื่อให้รู้ถึงการปฏิบัติกับเด็กด้วยความถูกต้องมั่นใจ จากการสาธิตต่าง ๆ เช่น การอุ้มลูกอย่างมั่นใจ การเช็ดสายสะดือ อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ชงนมผสม ฯลฯ โดยคุณพ่อจะได้รับรู้ขั้นตอนการเติบโตของเจ้ตัวน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพื่อจะได้ช่วยดูแลคุณแม่ เช่น การช่วยนวดแขนนวดขาของคุณแม่ เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่มีความผ่อนคลาย แนะนำวิธีการให้กำลังใจคุณแม่ขณะคลอด ฯลฯ

การที่คุณพ่อให้กำลังใจคุณแม่ต่าง ๆ จะส่งผลไปยังเด็กในครรภ์ และหลังจากเจ้าตัวน้อยเกิดมา ยังมีการนะนำถึงวิธีที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มีคุณภาพต่อไปด้วย โดยจะมีการสอบถามทัศนคติบทบาทของความเป็นพ่อ ที่แสดงถึงความพึงพอใจในการร่วมโครงการทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดการประเมินทางความคิด และความสามารถที่เพิ่มขึ้นของตัวคุณพ่อเอง และต่อการนำไปพัฒนาโครงการอบรม เพื่อนำมาปรับปรุงวิธีการอบรมให้กับคุณพ่อคุณภาพกลุ่มต่อ ๆ ไป

คุณพ่อที่มีเวลาน้อย ทำอย่างไร?

พันตรีหญิงอรวรรณ ได้แนะนำวิธีการแก้ปัญหา คุณพ่อที่ไม่ค่อยได้มีเวลาเลี้ยงดูลูกว่า คุณพ่อจัดสรรเวลาว่าง หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้กำลังใจคุณแม่ ซึ่งการสื่อสารทางโทรศัพท์ในปัจจุบันช่วยได้มากเพราะถ้าคุณแม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกว่าคุณพ่อเอาใจใส่ที่จะโทรศัพท์มาถามถึงสารทุกข์สุขดิบของคุณแม่บ่อย ๆ ว่าต้องการอะไรหรือไม่ หาข้าวของเครื่องใช้อำนวยความสะดวกมาให้ ฯลฯ คุณแม่ก็เชื่อมั่นในตัวคุณพ่อ ลดความวิตกในการเลี้ยงลูก (ซึ่งลูกคนแรกคุณแม่จะมีความวิตกในการเลี้ยงลูกค่อนข้างมาก) และคุณแม่ก็จะส่งผ่านความรักความคิดถึงคุณพ่อมีให้ไปถึงลูกด้วย

นอกจากนี้คุณพ่อควรหาดโอกาสได้ใกล้ชิดลูก เช่น หลังจากคุณพ่อกลับจากทำงานควรจะได้อุ้มลูก และเลี้ยงลูกต่อจากคุณแม่ในช่วงค่ำ หรือวันหยุด เป็นต้น

ส่วน ผศ.น.พ.วิฐารณ ได้กล่าวถึงการเตรียมตัวของคุณพ่อ เพื่อให้สามารถแสดงบทบาทของคุณพ่อต่อลบูกได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพว่า คุณพ่อควรจะได้มีโอกาสเตรียมตัวตั้งแต่การวางแผนที่จะมีลูก ทั้งในเรื่องฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวสะสางงานที่คั่งค้างให้เสร็จก่อนลูกจะเกิด เพื่อเตรียมเวลาที่ต้องมีให้ครอบครัวมากขึ้น พ่อควรมีส่วนเลี้ยงลูกตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ โดยมีบทบาทในการดูแลสุขภาพกายและใจของแม่ เพราะผู้หญิงตั้งครรภ์มักมีอารมณ์ปรวนแปรง่าย ขี้ใจน้อย เครียดและวิตกกังวล คุณพ่อจึงควรดูแลเอาใจใส่ รับฟังและให้กำลังใจ เพราะถ้าสุขภาพจิตของคุณแม่ดีจะส่งผลกับทารก ที่กำลังมีพัฒนาการทางสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ให้เติบโตดีด้วย นอกจากนั้นคุณพ่อยังต้องเตรียมสถานที่ให้เพียงพอและปลอดภัยสำหรับลูก

เตรียมความพร้อมด้านจิตใจ

การเตรียมพร้อมทางจิตใจของคุณพ่อที่จะมีคนอีกคนเข้ามาในครอบครัว ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ตัวของคุณแม่เองมีการปรับตัวตั้งแต่ตั้งครรภ์ด้วยความเครียดและอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย พอมีลูกก็มีภาระมากขึ้น ต้องมีการอดหลับอดนอนดูแลลูกคุณพ่อจึงต้องเตรียมใจปรับตัวต่อเรื่องทั้งหมดนี้ โดยอาจหาข้อมูลจากคุณพ่อท่านอื่นที่เคยมีประสบการณ์มาแล้ว

นอกจากนั้นควรเตรียมความรู้ในการเลี้ยงดูลูก โดยหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือพัฒนาการเด็ก ว่าคุณพ่อจะมีส่วนช่วยอย่างไร และเมื่อลูกคลอดออกมา คุณพ่อยังคงต้องดูแลด้านร่างกายและจิตใจของคุณแม่ และความมั่นคงต่าง ๆ เหมือนเดิมแล้ว ยังต้องดูแลเพิ่มในการเป็นกำลังใจให้คุณแม่เลี้ยงดูลูก ผ่อนภาระให้คุณแม่พัก

สิ่งที่คุณพ่อช่วยได้มากที่สุดคือการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว เพราะการเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องอยากกว่าที่จะเติบโตมา อาจมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคุณแม่กลับพ่อหรือกับวงศาคณาญาติ คุณพ่อควรเข้ามาลดความขัดแย้งเพื่อให้การปฏิบัติต่อเด็กสอดคล้องกัน คุณพ่อกับคุณแม่อาจมีวิธีการปฏิบัติของลูกที่แตกต่างกันได้ แต่ควรสอดคล้องกันเพื่อไม่ให้เด็กสับสนค่ะ

จะเห็นได้ว่าการที่พ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกมีผลต่อเจ้าตัวน้อยในอนาคตอย่างมาก เพราะเมื่อเด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ อันเป็นเครื่องหมายของครอบครัวที่อบอุ่นปรองดองกัน จะทำให้เขาเติบโตมาเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีการควบคุมตนเองที่ดี การที่คุณพ่อยุคใหม่หันมาให้ความสำคัญในการมีส่วนช่วยเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยมากขึ้น จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและทัศนคติ ที่จะช่วยโอบอุ้มครอบครัว และหล่อหลอมให้เจ้าตัวน้องได้ความรักความอบอุ่น และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคมต่อไปค่ะ




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:05:47 น.
Counter : 524 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]