All Blog
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่


ความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ผลดีต่อลูก
1. ได้รับสารอาหารครบถ้วน สมดุล และพอเหมาะแก่ความต้องการของทารก ไม่ทำให้ทารกเป็นโรคขาดสารอาหารหรือโรคอ้วน
2. ได้รับสารอื่นนอกเหนือไปจากสารอาหาร เช่น ฮอร์โมน เอ็นไซม์ สารควบคุมการเจริญเติบโตของอวัยวะ ที่จะช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย และการทำงานของอวัยวะบางระบบ
3. ได้รับภูมิคุ้มกันโรคและสารต่อต้านเชื้อโรค
4. ลดอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน และโรคฟันผุในเด็ก
5. ได้รับความรัก ความอบอุ่น และความเอาใจใส่จากแม่
ผลดีต่อแม่
1. ทำให้มดลูกหดตัวดี เข้าอู่เร็ว ขับน้ำคาวปลาได้ดีจากผลของฮอร์โมน
2. ทำให้แม่รูปร่างกลับคืนดีเร็ว เพราะแม่ได้ใช้ไขมันที่สะสมไว้ระหว่างตั้งครรภ์มาใช้ผลิตน้ำนมให้ลูก
3. ทำให้แม่มีความเป็นแม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความรู้สึกผูกพันกับลูก
4. ทำให้ระยะท้องว่างระหว่างตั้งครรภ์ยาวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ไม่เคยเว้นการให้นมลูกเกิน 5 ชั่วโมง และประจำเดือนยังไม่มา จะมีโอกาสไม่ตั้งครรภ์ถึง 98%ในระยะหกเดือนแรกหลังคลอด เป็นการช่วยวางแผนครอบครัวด้วย
5. ไม่เสียเวลา เพราะนมแม่มีพร้อมที่จะให้อยู่เสมอ ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ
6. ประหยัดรายจ่ายของครอบครัว
7. ช่วยให้แม่ที่ให้ลูกกินนมตัวเองนานเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่น้อยลง
นมแม่ VS นมขวด
ทั้งนมแม่และนมขวดต่างดูเหมือนว่าจะมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อทารกไม่น้อยทั้งคู่ แต่นมแม่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับทารก ทั้งสะดวกในการให้ลูกกินนม และมีสารอาหารครบถ้วนที่ทารกต้องการในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น น้ำ, โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุ นมแม่มีสาร อาหารซึ่งให้ภูมิต้านทานโรคแก่ทารก จนกว่าระบบสร้างภูมิต้านทาน ของทารกจะสมบูรณ์พอ เด็กที่กินนมแม่จึงมีภูมิต้านทานโรคติดเชื้อต่างๆ ดีกว่า และทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องระบบการย่อยอาหาร ทั้งยังป้องกัน อาการภูมิแพ้ต่างๆ ได้อีกด้วย
นอกจากนั้น ผลการศึกษาจากหลายสถาบัน แนะนำว่าเด็กที่กินนม แม่มักทำคะแนนได้สูงกว่าเด็กกินนมขวด เมื่อมีการวัดผลทาง IQ ในเวลาต่อมาที่โตพอจะทดสอบได้
ยิ่งไปกว่านั้น นมแม่สามารถทานได้ทุกเวลา ไม่เสียค่าใช้จ่าย และผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามธรรมชาติเรียบร้อยแล้ว แต่มีข้อสำคัญ อย่างหนึ่งที่คุณแม่พึงจดจำเสมอก็คือ คุณแม่ที่ให้นมลูกควรทาน อาหารที่มีคุณค่าได้สัดส่วนและมีโปรตีนสูง ทั้งนี้ตัวคุณแม่ต้องการ แคลอรี่เพิ่มขึ้นจำนวน 500 แคลอรี่ต่อวัน และควรดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้มากด้วย
ถึงแม้ว่าลูกจะได้รับนมแม่เพียงแค่ 2 - 3 สัปดาห์แรกเท่านั้น แต่นมแม่ก็ยังให้ประโยชน์กับทารกอยู่ดี และการให้นมลูกยัง เป็นผลดีต่อตัวคุณแม่เองด้วย - ช่วยปกป้องจากโรคร้ายที่เต้า นมในระยะหลังจากนั้น ทั้งยังช่วยให้น้ำหนักของคุณแม่ลด ง่ายหลังคลอดอีกด้วย
ทั้งทารกที่กินนมแม่และทารกกินนมขวดควรได้รับการให้นมทุกๆ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แม้ว่าทารกที่กินนมขวดอาจอิ่มนานกว่า ในแต่ละมื้อ หลังจากเดือนแรกจำนวนมื้อนมจะลดลงแต่ลูกจะ ทานมากขึ้น สองอาทิตย์แรกเกิดลูกจะทานนมประมาณ 18 - 22 ออนซ์ต่อวัน แต่เมื่อครบ 1 เดือนจะเพิ่มเป็น 25 ออนซ์

การให้นมลูกที่ประสบความสำเร็จ

1. การสร้างน้ำนมแม่
2. เคล็ดลับในการทำให้มีปริมาณน้ำนมมาก
3. ลักษณะของน้ำนม
4. วิธีให้นมแม่
5. วิธีช่วยให้ลูกหันเข้าหานมแม่
6. ท่าดูดนมที่ถูกต้อง
7. วิธีแก้ไขถ้าลูกดูดเฉพาะหัวนม
8. ความต้องการนมของลูก
9. วิธีดูว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอ
10. การเคลื่อนไหลของน้ำนม (The Let-Down Reflex)
11. ปัญหาในการให้นมแม่
12. การไล่ลมให้ลูกหลังกินอิ่ม
13. อาหารการกินคุณแม่ให้นม
14. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
15. วิธีดูแลเต้านม
16. วิธีรีดน้ำนมด้วยมือ
17. การปั๊มนมโดยใช้อุปกรณ์ปั๊มนม
18. การให้นมแม่เมื่อต้องไปทำงาน
19. บทบาทของคุณพ่อกับนมแม่
การสร้างน้ำนมแม่
เต้านมแต่ละข้างจะมีต่อมผลิตน้ำนมประมาณ 15 - 20 หน่วย ซึ่งอยู่ด้านหลังของลานรอบหัวนม (Arerola) โดยมีท่อน้ำนมต่อไปเปิดที่หัวนมระหว่างตั้งครรภ์ รกและรังไข่จะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ในระดับที่สูงมาก ซึ่งมีผลไปกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมสร้างท่อน้ำนมที่มีคุณ ประโยชน์มาก เรียกว่า โคลอสตรัม (Colostrum) อันอุดมไปด้วยโปรตีน, แร่ธาตุ, วิตามิน, น้ำ, น้ำตาล และภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ที่จะช่วยป้องกัน ทารกจากการติดเชื้อในช่วงแรกๆ หลังคลอด โคลอสตรัมจะมีอยู่ในช่วง 3 - 5 วันหลังคลอดเท่านั้น จากนั้นจึงจะเป็น นมแม่ตามปรกติทุกครั้งที่ลูกดูดนม จะไปกระตุ้นปลายประสาทที่หัวนมส่งสัญญาณไป ยังต่อมไฮโปทาลามัสที่สมองส่วนบน ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปยังต่อมใต้ สมองให้สร้างฮอร์โมนโปรแลกติน และออกซีโตซิน จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อรอบต่อมน้ำนมหดตัวเพื่อบีบขับ น้ำนมให้ไหลออกมา เสียงร้องของลูกและการได้สัมผัส ใกล้ชิดลูกจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนออกซีโตซินได้ด้วย
เคล็ดลับในการทำให้มีปริมาณน้ำนมมาก
วันแรกๆ หลังคลอด เต้านมจะผลิตหัวน้ำนมหรือโคลอสตรัม (Colostrum) ซึ่งมีคุณค่ามาก เพราะมีภูมิต้านทานโรคติดเชื้อต่างๆ ซึ่งจะไหลออก มาประมาณ 3 - 5 วัน ลูกจะเป็นผู้กระตุ้นร่างกายคุณแม่โดย ธรรมชาติให้สร้างน้ำนมเคล็ดลับในการทำให้มีปริมาณน้ำนมมาก คือให้นมลูกทุกครั้งที่ลูกหิว อาจถี่ถึงทุกๆ 2 - 3 ชั่วโมงในวันแรกๆ เต้านมแม่จะสร้างน้ำนมตามความต้องการของลูก ถ้าลูกดูดนมบ่อย (ในท่าที่ถูกต้อง) ร่างกายคุณก็จะผลิตน้ำนมมาก แต่ถ้าคุณให้ลูกดูดนมแม่น้อยลง ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมน้อยลง
ลักษณะของน้ำนม
เมื่อลูกดูดนมแม่ในช่วงแรกๆ น้ำนมที่ไหลออกมาจะมีลักษณะ สีขาวจางใสเหมือนน้ำซึ่งเรียกว่า Foremilk มีไขมันต่ำ แต่อุดมด้วยโปรตีนและดับกระหายได้ดี ทารกสามารถดื่มแทนน้ำได้ เมื่อลูกดูดต่อไป น้ำนมในช่วงหลังซึ่งเรียกว่า Hindmilk จะข้นขาว มีแคลอรี่สูงและให้พลังงานได้มากกว่า จึงควรให้ลูกดูดนมแต่ละข้างไม่ต่ำกว่า 10 - 15 นาทีในแต่ละมื้อ
วิธีให้นมแม่
การให้นมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณแม่ได้ให้กับลูกน้อยหลัง จากเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ไม่นาน น้ำนมแม่เป็นอาหารบำรุง ที่ดีที่สุดตามธรรมชาติ มีสารอาหารครบถ้วน ปลอดภัยและ เหมาะสมสำหรับทารก ทั้งยังมีภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคต่างๆ อีกด้วย คุณแม่เองก็ได้ประสบการณ์ที่น่าภาคภูมิใจที่เห็นหน้าลูกน้อยซุกลง ไปกับทรวงอกขณะดูดนม เสริมสร้างความรักความผูกพันระหว่าง แม่ลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นก่อนอื่นหาที่เหมาะสมซึ่งคุณแม่รู้สึกสบาย ถนัดในการให้นมแม่ เพราะคุณอาจจะต้องอยู่ในท่านี้นานนับชั่วโมงเลยทีเดียว อาจจะเป็นท่านั่งหรือท่านอน
ท่านั่ง
คุณแม่นั่งตัวตรง พิงหลังให้สบายโดยใช้หมอนหนุนหลัง แล้วอุ้มทารกให้แนบไปกับท้องของคุณแม่ ให้ศีรษะของลูกสูงกว่าลำตัว ใช้แขนคุณแม่รองลำตัวของลูก ไม่ใช่เอามือรองศีรษะ อาจใช้หมอนวางบนตักและวาง ลูกบนหมอน เพื่อให้ถนัดขึ้นก็ได้
ท่านอน
คุณแม่นอนตะแคงหันด้านหน้าเข้าหาลูก โดยเอียงเข้า ใกล้ลูกให้มากที่สุด ศีรษะลูกอยู่ระดับเต้านมคุณแม่ เมื่อหัวนมแตะแก้มใกล้ๆ ปากลูก ลูกจะหันมาดูดนม โดยอัตโนมัติ
วิธีช่วยให้ลูกหันเข้าหานมแม่
เมื่อหัวนมแตะแก้มใกล้ๆ ปากลูก หรือคุณแม่ใช้นิ้วเขี่ยเบาๆ บริเวณ แก้มลูกด้านที่ใกล้หัวนม ลูกจะหันหน้าเข้ามาหาเต้านมและดูดหัวนมได้เองถ้าลูกยังไม่หันหน้าตามมา คุณแม่ลองบีบที่ลานหัวนมเบาๆ (บริเวณส่วนสีคล้ำรอบๆ หัวนม) ให้น้ำนมหยดออกมาบ้าง แล้วใช้น้ำนมนั้นแตะริมฝีปากลูกเพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกอ้า ปากชิมรสน้ำนม ครั้งต่อไปลูกจะหันมาหาหัวนมได้เอง
ยกศีรษะลูกขึ้นมาใกล้ๆทรวงอกของคุณแม่ ให้คางลูกอยู่ใกล้กับเต้านมและลิ้นอยู่ใต้หัวนม แล้วคุณแม่จึงค่อยๆ สอดหัวนมเข้าปากลูก
ท่าดูดนมที่ถูกต้อง
ในขณะกินนม ลูกจะต้องดูดแล้วใช้เหงือกกดทับบนลานหัวนม (คือบริเวณวงสีคล้ำรอบหัวนมเป็นส่วนที่ลูกจะอมเข้าไปด้วยเมื่อ ดูดนม) ซึ่งเป็นที่เก็บน้ำนมอยู่ กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรและ ลิ้นของลูกจะทำหน้าที่ประสานกันเพื่อดูดนม คุณแม่จะสังเกต เห็นขมับและหูของลูกขยับเป็นจังหวะตามการดูด แสดงว่า กล้ามเนื้อขากรรไกรกำลังทำงาน ถ้าลูกงับเฉพาะหัวนม ลูกจะได้นมแม่น้อย เพราะไหลไม่สะดวก ตามธรรมชาติน้ำนมจะสร้างจากต่อมซึ่งกระจายอยู่ทั่วเต้านม มีท่อน้ำนมต่อมารวมกันบริเวณที่เป็นวงสีคล้ำๆ รอบหัวนม เรียกว่า ลานหัวนม (Arerola) ถ้าลูกงับ ส่วนนี้จะทำให้ท่อน้ำนมทำงานดีขึ้น
วิธีแก้ไขถ้าลูกดูดเฉพาะหัวนม
สอดปลายนิ้วก้อยที่สะอาดเข้าไประหว่างริมฝีปากพร้อมกับยื่น ลานหัวนมเข้าไปให้ลึกๆ ถ้าลูกงับเฉพาะหัวนมและเริ่มเคี้ยว ให้คุณแม่ใช้นิ้วก้อยที่สะอาดสอดเข้าไปทางมุมปาก หรือแทรก ระหว่างเหงือกพร้อมทั้งเอาหัวนมออกจากปาก แต่คุณแม่อย่าดึงหัวนมออกมาเฉยๆ เพราะลูกจะงับแน่น จะทำให้เจ็บหัวนม ถ้าลูกยังไม่อิ่มค่อยใส่บริเวณลานหัวนม เข้าไปให้ลูกดูดต่อ Back
ความต้องการนมของลูก
เป็นการดี ถ้าคุณจะให้นมลูกตามความต้องการของลูกโดย ให้นมลูกทุกครั้งที่ลูกหิว โดยไม่ต้องคำนึงถึงเวลา ซึ่งในระยะแรกๆ ลูกจะหิวบ่อย, มักจะตื่นและร้องเพราะท้องว่าง เนื่องจากว่า ระบบย่อยอาหารของลูกยังไม่สมบูรณ์พอที่จะกิน ได้ทีละมากๆ ลูกจึงต้องกินทีละน้อยแต่บ่อยๆ ในระยะแรก ในไม่ช้าระบบย่อยอาหารจะดีขึ้น ลูกจะกินได้ปริมาณเยอะขึ้นในมื้อหนึ่ง และแต่ละมื้อจะห่างขึ้นด้วยการดูดของลูกจะกระตุ้นให้เต้านมปล่อยน้ำนมออกมา เพื่อสนองตอบความต้องการของลูก เมื่อลูกอิ่ม ลูกจะหยุดดูดนมเอง
วิธีดูว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอ
• มีน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ
• ผิวพรรณลูกสดใส มีน้ำมีนวล
• ท่าทางลูกร่าเริง, นัยน์ตาสดใส และกล้ามเนื้อกระชับ แน่นขึ้น
• ลูกดูสุขสบายดี มีความสุขหลังจากอิ่มนม
• มีการเปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างน้อย 6 ผืนภายใน 24 ชั่วโมงโดย ไม่ได้รับเครื่องดื่มอื่นใดเลยนอกจากนมแม่
• ถ่ายอุจจาระเหลว สีเหลือง นิ่ม Back
การเคลื่อนไหลของน้ำนม (The Let-Down Reflex)
การที่ลูกดูดนมเป็นการกระตุ้นให้เต้านมปล่อยน้ำนมที่สร้าง เก็บไว้ออกมา คุณแม่อาจรู้สึกจี๊ดๆ ในเต้านม ขณะที่ น้ำนมอุ่นๆ เคลื่อนจากท่อน้ำนมมายังลานหัวนมเมื่อลูกเริ่มดูด แต่ถ้าคุณไม่เกิดความรู้สึกเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติแต่อย่างใด ปฏิกิริยานี้จะทำให้น้ำนมจากเต้านมอีกข้างหยดพร้อมๆ กันไปด้วย ควรใช้แผ่นซับน้ำนมหรือฝาครอบเต้านมรองรับน้ำนมที่ไหลซึม เพื่อไม่ให้เลอะเทอะ
ปัญหาในการให้นมแม่
ถ้าคุณมีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรรีบปรึกษาพยาบาล, แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทันที ยิ่งคุณแก้ปัญหาในการให้นมลูก ได้เร็วเท่าไหร่ เท่ากับว่าเป็นการดีกับลูกคุณมากขึ้นเท่านั้น คุณแม่หลายรายพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น บางครั้งเพียงแต่แก้ ไขด้วยการปรับท่าให้นมลูกหรือท่าการดูดนมของลูกให้ถูกต้องเท่านั้น ก็ประสบความสำเร็จในการให้นมลูกเป็นอย่างดี
มาดูกันสิว่าปัญหาในการให้นมแม่มีอะไรบ้าง
• รู้สึกว่าต้องให้นมโดยไม่ได้หยุดพัก
ถ้าลูกคุณกินเท่าไหร่ไม่รู้จักอิ่ม ดูเหมือนว่าต้องให้นมลูกตลอดเวลา พอเอาลูกวางลงบนที่นอนก็ร้องเพราะจะกินอีก อาจเป็นเพราะว่า ลูกคุณดูดแต่หัวนมเท่านั้น ไม่ได้ดูดลึกไปถึงลานหัวนม (วงสีคล้ำรอบหัวนม) เลยได้รับน้ำนมไม่พอกับความหิว คุณเพียงแต่ปรับท่าทางของลูกใหม่ให้ดูดนมให้ถูกต้อง (กรุณาดูหัวข้อ "การดูดนมที่ถูกต้อง"
• เต้านมคัด, ตึง, เจ็บ
2- 3 วันหลังจากคลอดลูก เต้านมคุณจะบวมขึ้นเล็กน้อยและรู้สึกตึง คัด อึดอัด วิธีแก้ไขคือ ให้ลูกดูดนม โดยบีบเอานมออกสักเล็กน้อย เพื่อให้ลานรอบหัวนมอ่อนนุ่มลง หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบก็ได้
• หัวนมเจ็บหรือแตก
อาจมาจากการที่ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี หรือท่าทางของคุณแม่ขณะ ให้นมไม่เหมาะสม หัวนมจึงแดงและเจ็บเมื่อลูกดูด
คำแนะนำดังต่อไปนี้อาจช่วยได้บ้าง
1. ปล่อยให้หัวนมแห้งเองหลังให้นมทุกมื้อ
2. ให้หัวนมได้ผึ่งลมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. เปลี่ยนแผ่นซับน้ำนมบ่อยๆ
4. หลีกเลี่ยงการถูสบู่บริเวณหัวนม เพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
5. ใส่ยกทรงที่ทำจากผ้าคอตตอนเพื่อให้มีอากาศหมุนเวียน
6. บีบน้ำนม 1 - 2 หยดหลังการให้มื้อนมแล้วนำมาถูเบาๆ บริเวณหัวนมแล้วปล่อยให้หัวนมแห้งเอง
7. อย่าปล่อยให้ลูกดูดนมหลังจากน้ำนมหมดแล้วนานเกินไป
8. ถ้าเจ็บมาก ลองใช้ฝาครอบเต้านม แล้วให้ลูกดูดนมผ่านฝาครอบ แต่คุณต้องฆ่าเชื้อก่อนใช้ทุกครั้ง และควรบีบน้ำนมมาทาฝาครอบก่อน เพื่อลดกลิ่นยางที่สำคัญ คุณควรให้ลูกดูดส่วนลานหัวนมทุกครั้งเวลา ลูกดูดนม และหมั่นดูแลหัวนมให้แห้งเสมอ
• ท่อน้ำนมอุดตัน
เกิดจากการที่ท่อน้ำนมท่อใดท่อหนึ่งอุดตัน เมื่อคลำดูจะพบก้อนแข้งที่กดเจ็บและแดงในเต้านม คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยได้บ้าง
a. ให้ลูกดูดนม แต่ถ้าลูกไม่ดูดเพราะยังไม่หิวหรือเพราะ อะไรก็ตาม ให้บีบนมออกมาบ้าง
b. ขณะที่ลูกดูดนม พยายามใช้นิ้วนวดคลึงเบาๆ บริเวณที่มีก้อนแข็งๆ อาจรู้สึกปวดรุนแรงชั่วครู่ แต่การอุดตันจะหมดไป
c. หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบก็ได้ แล้วค่อยๆ นวดคลึงเบาๆ จากนั้นจึงให้ลูกดูดนม
d. ที่สำคัญอย่าใช้ยกทรงที่คับ รัดแน่นเกินไป
คุณควรรีบขจัดการอุดตันให้หมดไปในทันทีเพื่อป้องกัน การลุกลามต่อไป เป็นเต้านมอักเสบ หากไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ในวันรุ่งขึ้น
• เต้านมอักเสบ
ท่อน้ำนมที่อุดตันอาจมีการติดเชื้อตามมา ทำให้คุณแม่มีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนซึ่งคุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะ และคุณแม่ควรทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง ฉะนั้น หากพบก้อนเนื้อที่ในเต้านม อย่าปล่อยทิ้งไว้ ให้นานเกิน 1 วันโดยไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ มิฉะนั้นอาจลุกลามกลายเป็นฝีในเต้านม ซึ่งจะมีการบวมแดง, อักเสบ และเจ็บปวดลึกๆ ในเต้านม ทั้งนี้ต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ จากแพทย์หรือผ่าตัดเอาหนองออก
การไล่ลมให้ลูกหลังกินอิ่ม
หลังจากลูกกินนมจนอิ่มแล้ว คุณควรให้โอกาสลูกได้เรอลม ที่กลืนเข้าไปในระหว่างการดูดนม ลมจะทำให้ลูกรู้สึกแน่น และอึดอัดได้
การไล่ลมให้ทารกเกิดใหม่
อาจให้ลูกนั่งเอียงตัวมาข้างหน้าบนตักคุณแม่ แล้วใช้มือซ้ายรองคางลูกไว้ มือขวาตบหลังหรือลูบหลังลูกเบาๆ หรืออาจใช้ท่าอุ้มพาดบ่า ใช้มือซ้ายช้อนก้นลูก มือขวาลูบหลังลูกเบาๆ อย่ากังวลถ้าลูกคุณไม่เรอหลังจากอุ้มพาดบ่า ซักพักหนึ่งคุณก็เลิกได้ ลูกอาจไม่ได้กลืนอากาศเข้า ไปจนต้องเรอในมื้อนั้นบางครั้งลูกอาจจะแหวะนมออกมา เล็กน้อยระหว่างไล่ลม ควรเตรียมผ้าอ้อมสะอาดไว้ใกล้มือเสมอ
ท่าเอาหน้าลง
การไล่ลมโดยท่าเอาหน้าลง ใช้กับทารกวัยใดก็ได้ โดยจับลูกนอนคว่ำพาดที่หน้าตัก หรืออุ้มพาดแขนให้หน้าคว่ำลง แล้วใช้มือลูบหลัง หรือตบหลังลูกเบาๆ จะช่วยลูกเรอได้ Back
อาหารการกินคุณแม่ให้นม



ร่างกายของคุณแม่ในระหว่างเลี้ยงลูกด้วยนมนี้ ต้องการแคลอรี่เพิ่มกว่าปรกติจำนวน 500 แคลอรี่ต่อวัน เพราะ คุณแม่ต้องใช้พลังงานมากทีเดียวในการสร้างน้ำนมที่มีคุณค่า และปริมาณ สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ร่างกายมีปริมาณน้ำนมมากพอ คือการกินอาหารที่มีคุณค่า ได้สัดส่วน และมีโปรตีนสูง อย่างดอาหารเพราะจะทำให้ร่างกายคุณอ่อนเพลีย อาหารประเภทโปรตีนเช่น เนื้อ, ตับ, ไก่, หมู และควรกินผักสด, ผลไม้สดมากๆ เพื่อให้ได้วิตามิน เช่น กล้วย, ส้ม, สัปปะรด, มะม่วง, ชมพู่, องุ่น และควรดื่มนม, ดื่มน้ำมากๆ รวมทั้งน้ำผลไม้ด้วย
นอกจากนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่ทานแล้วไม่อ้วนก็สามารถทาน เครื่องดื่มที่มีนมผสมอยู่ เช่น มิลค์เชค, ชอคโกแลต, ไอศกรีม, ซุปใส่นม หรือพวกคุ๊กกี้ต่างๆ
พูดง่ายๆ คือ คุณแม่ควรทานอาหารที่มีคุณค่าให้ครบ 5 หมู่ทั้ง 3 มื้อ และอาหารว่าง เช่น นม ผลไม้ หรือขนมที่มีประโยชน์ จะช่วยให้คุณแม่มีแรงให้นมลูกและเลี้ยงลูกได้Back

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
สิ่งที่คุณแม่ดื่มหรือกิน มีสิทธิ์ผ่านเข้าไปสู่ลูกได้ ทั้งนั้นโดยผ่านทางน้ำนมแม่ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ด้วย ถ้าลูกนอนไม่หลับ ควรงดชา กาแฟ โกโก้ หรือเครื่องดื่มที่มีโคล่าผสมอยู่
ถ้าคุณแม่ต้องรับยาชนิดใดๆ ควรแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรให้ทราบว่า กำลังให้นมลูก
ยาคุมกำเนิดที่เหมาะสมในช่วงที่กำลังให้นมลูก คือยาที่มีโปรเจสโตเจนอย่างเดียว ยาคุมกำเนิดที่มีทั้งเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน ไม่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมลูก
วิธีดูแลเต้านม
1. ถ้าคุณแม่หัวนมบอด ขณะที่กำลังตั้งครรภ์ให้นวดหัวนมและ หัดดึงหัวนมออกมาเพื่อเตรียมให้ลูก
2. ก่อนให้นมลูกหรือจับบริเวณหัวนม คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
3. หลังให้มื้อนมลูก ควรเช็ดทำความสะอาดหัวนมด้วยน้ำสะอาด ทุกครั้งที่ให้นมลูก
4. ควรเปลี่ยนแผ่นผ้าซับน้ำนมทุกครั้งหลังจากให้นมลูก
วิธีรีดน้ำนมด้วยมือ
คุณแม่ควรอยู่ในท่าที่สบายและวางภาชนะบรรจุนม เช่นชามแก้วไว้ตรงข้างหน้า
1. ประคองเต้านมด้วยฝ่ามือข้างหนึ่ง ใช้มืออีกข้างเริ่มนวดคลึง ไล่ตั้งแต่ส่วนบนของเต้านมลงมาจนถึงลานรอบหัวนม (วงสีคล้ำรอบหัวนม)
2. ทำเช่นนี้ไปทั่วเต้านมหลายๆ ครั้ง รวมทั้งส่วนล่างด้วย เพื่อช่วยให้น้ำนมไหลมายังท่อน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น
3. ใช้นิ้วมือทั้งสองข้างบีบเข้าหากัน แล้วค่อยๆ ออกแรงกดมายังลานหัวนม โดยใช้นิ้วหัวแม่มือร่วมกับนิ้วอื่น
4. รวบนิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่นๆ เข้ามาพร้อมกัน แล้วกดนิ้วลงไป เพื่อให้น้ำนมพุ่งออกมา กดและคลายสลับกันไป โดยใช้ทั้งสองนิ้วมือ จนกระทั่งไม่มีน้ำนมไหลออกมาแล้ว
การปั๊มนมโดยใช้อุปกรณ์ปั๊มนม
การรีดน้ำนมโดยใช้อุปกรณ์ปั๊มนมที่มีขายทั่วไป ใช้เวลาน้อยกว่าและเมื่อยน้อยกว่าการรีดด้วยมือ ควรเลือกซื้อชนิดที่สามารถใช้กระบอกส่วนนอกเป็นขวดนมให้ลูกได้เลย มีให้เลือกทั้งปั๊มด้วยมือ และชนิดใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ลองสอบถามจากแพทย์, พยาบาลผดุงครรภ์ หรือเพื่อนฝูง ญาติๆ ที่มีประสบการณ์ว่าชนิดไหนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ยี่ห้อไหนใช้สะดวก วิธีใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก
• ก่อนใช้อุปกรณ์ปั๊มนม คุณต้องฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทุกชิ้นให้ ปราศจากเชื้อโรค แล้วล้างมือให้สะอาดก่อนประกอบอุปกรณ์ปั๊มนมเข้าด้วยกัน
• ใช้ฝากรวยของที่ปั๊มครอบลงบนลานหัวนมให้แน่น แนบสนิทจนเกิดเป็นสูญญากาศในลักษณะเดียวกับขากรรไกรของลูกเวลาดูดนม แล้วเริ่มปั๊มนมตามคำแนะนำของแต่ละเครื่อง
• หลังจากปั๊มนมเสร็จแล้ว ถอดส่วนฝากรวยออก ปิดฝาที่เป็นขวดนมให้แน่น นำไปแช่เก็บในตู้เย็นได้นาน 24 ชั่วโมง หรือแช่แข็งได้ถึง 2 อาทิตย์ แล้วจึงนำมาใช้เมื่อต้องการ
• เมื่อจะนำมาใช้ ให้นำออกมาจากตู้เย็นหรือช่องแข็ง วางไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 30 นาที หรือ 4 ชั่วโมงถ้านำออกมาจากช่องแข็ง
การให้นมแม่เมื่อต้องไปทำงาน
หากคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน หลังจากครบกำหนดลาคลอดแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกต่อไปได้ โดยปั๊มนมแม่ ตามเวลาปรกติที่เคยให้ลูกดูด เพื่อกระตุ้นให้เต้านมสร้างนมต่อไป
• ปรับนิสัยลูกให้เคยชินกับนมขวด โดยคุณแม่ปั๊มนม ใส่ขวดนมแล้วให้คุณพ่อ หรือญาติๆ ช่วยป้อนนมมื้อแรกๆ เพราะถ้าคุณแม่ให้เอง ลูกจะได้กลิ่นนมแม่ และมักไม่ยอมดูดจากขวด
• คุณแม่ต้องหาห้องว่างๆ ส่วนตัวไว้ปั๊มนมในช่วงกลางวัน และช่วงบ่ายแก่ๆ ขณะอยู่ในที่ทำงาน (ถ้าไม่มี คงต้องใช้ห้องน้ำ) และแช่ขวดนมไว้ในตู้เย็นจนกว่าจะถึงเวลากลับบ้าน ส่วนอุปกรณ์ปั๊มนมแช่ใส่กล่องปิคนิคบรรจุน้ำแข็งสะอาด) ที่สามารถเก็บความเย็นได้ เมื่อถึงเวลาเลิกงาน นำขวดน้ำนมมาใส่กล่องปิคนิคที่เก็บความเย็นเพื่อ แช่ขวดน้ำนมระหว่างเดินทางกลับบ้าน
• อุปกรณ์ปั๊มนม และขวดนมทุกขวดต้องผ่านการฆ่าเชื้อแล้วทั้งสิ้น
• เมื่อถึงบ้าน นำขวดน้ำนมที่ปั๊มแช่เก็บในตู้เย็นที่บ้าน หรือแช่แข็งก็ได้ แล้วนำมาให้ลูกกินในเวลากลางวันที่คุณแม่ไปทำงาน
• ส่วนมื้อเย็นและกลางคืน คุณแม่ก็ไห้ลูกกินนมแม่ตามปรกติ
บทบาทของคุณพ่อกับนมแม่
ฝากโน้ตถึงคุณพ่อหน่อยนะคะว่า ......
คุณพ่อมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งเลยล่ะค่ะ ในการช่วยเป็นกำลังใจ และส่งเสริมให้คุณแม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่แรงสนับสนุนจากคุณพ่อเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะจะทำให้คุณแม่มี กำลังใจในการให้นมลูกต่อไป นานเท่าที่ทารกต้องการคุณพ่อเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการให้นมแม่ได้เช่นกันค่ะ โดยให้คุณแม่ปั๊มน้ำนมใส่ขวดเป็นครั้งคราวแล้วให้คุณพ่อ เป็นผู้ป้อนนมแม่แก่ลูกน้อย เพื่อคุณแม่เองก็จะได้ถือโอกาส พักผ่อนร่างกายในช่วงนั้นด้วย ถ้าคุณพ่อยังไม่เชื่อว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แล้วล่ะก็ กรุณาอ่านที่นี่ค่ะ นมแม่ดีที่สุด...ดีอย่างไร?แล้วคุณพ่อจะเปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนคุณแม่ในการเลี้ยง ลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มตัวและเต็มใจอย่างยิ่งเชียวค่ะ!!
นมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก - ดีอย่างไร?
• นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดของทารก อุดมด้วยสารอาหารสำคัญๆ ที่จำเป็นสำหรับร่างกายของทารกในจำนวนที่เหมาะสมสำหรับ 6 เดือนแรกของชีวิต
• เมื่อแรกเกิด ระบบป้องกันการติดเชื้อของทารกยังทำงานได้ไม่ดีนัก นมแม่ซึ่งมีสารอาหารซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายของทารกติดเชื้อได้ง่าย เช่น โรคหวัด, ไอ, การติดเชื้อในหูและท้อง
• ทารกซึ่งเลี้ยงด้วยนมแม่มักจะไม่ค่อยเป็นโรคภูมิแพ้
• นมแม่ย่อยง่าย ทำให้ทารกไม่เป็นโรคปวดท้อง และท้องผูก
• ในน้ำนมแม่มีกรดไขมันชนิดที่ช่วยในการพัฒนาเซลล์สมองให้เจริญ เติบโต
• จากการค้นคว้าพบว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ซึ่งมาจากครอบครัว ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes) ในตอนเด็ก มักจะไม่ค่อยได้รับโรคในเวลาต่อมา ส่วนในรายที่สงสัยอาจมีอาการแพ้โปรตีนในนมวัว
• นมแม่ทำให้แม่และลูกใกล้ชิดกัน สามารถ สร้างความอบอุ่นและความมั่นคงทางจิตใจ ให้ทารกยามทานนมจากอกแม่และอยู่ใน อ้อมแขนของแม่บุคคลที่เขารักที่สุดในโลก
• การให้นมแม่เป็นการกระตุ้นให้มดลูกกลับเข้าอู่โดยเร็ว คือการกลับไปมีขนาดเท่าเดิมก่อนตั้งครรภ์
• ไขมันที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ จะถูกนำมาสร้างน้ำนมแม่ นั่นหมายความว่าไขมันของคุณจะลดน้อยลงและรูปร่างคุณ จะคืนรูปเร็วขึ้น
• ทารกที่ได้รับนมแม่จะมีพัฒนาการฟันที่ดี เนื่องจากต้องออกแรงดูดนมแม่มากกว่าการดูดนมจากขวด เป็นการบริหารขากรรไกรไปในตัว
• จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า ทารกที่ทานนมแม่ส่วนใหญ่มักไม่เป็นผื่นผ้าอ้อม
• จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า การให้นมแม่ทำ ให้มารดาลดอัตราความเสี่ยง ในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม
• ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หากได้รับนมแม่ทำให้มีพัฒนาการทางร่างกายดีขึ้น
• นมแม่มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป อยู่ในภาชนะบรรจุเรียบร้อย สะอาด ปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องผสมสิ่งอื่น และที่สำคัญฟรีค่ะ
• นมแม่ให้ความสะดวกรวดเร็ว ไม่เสียเวลาในการชงนม สามารถให้ทารกยามหิวหรือกระหายน้ำได้ทันที ทุกสถานที่ ทุกเวลาแม้ว่าจะเป็นเวลาตี 1!
• ทารกที่ได้รับนมแม่จะยอมรับอาหารเสริมเมื่อถึง เวลาต้องให้อาหารเสริมได้ดีกว่าทารกที่ทานนมขวด เนื่องจากทารกที่ทานนมแม่มีความคุ้นเคยกับอาหาร และเครื่องดื่มที่มารดารับ ประทานเข้าไปในร่างกาย


ไขข้อ ข้องใจ (เล็กๆ น้อยๆ) เกี่ยวกับนมแม่
ผู้หญิงทุกคนสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มั้ย
โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงแทบทุกคนสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ค่ะ เพียงแต่ว่าบางครั้งอาจต้องใช้เวลาหน่อย ถ้าคุณอดทนโดยพยายามให้นมลูกต่อไป และขอคำแนะนำจากพยาบาล, คุณหมอที่ดูแลลูก หรือผู้รู้ คุณก็สามารถประสบความสำเร็จในการให้นมลูกได้แน่นอนค่ะ
ขนาดของเต้านมเกี่ยวข้องในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มั้ย และถ้าเต้านมเล็กจะเป็นปัญหามั้ย
ตอบรวมกันเลยนะคะว่า ไม่เป็นปัญหาเลยค่ะ เต้านมของคุณแม่ทุกรูปทรงและทุกขนาดสามารถให้นมลูกได้ทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะ เต้านมผู้หญิงประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ ส่วนต่อม สร้างน้ำนมซึ่งรับการหล่อเลี้ยงโดยสายเลือด ส่วนนี้มีปริมาณเท่ากันใน ผู้หญิงไม่ว่าจะเต้านมเล็กหรือใหญ่ อีกส่วนที่แตกต่างกันคือ ส่วนที่ห่อหุ้ม ทำให้เต้านมดูใหญ่หรือเล็ก ส่วนนี้คือไขมัน ผู้หญิงที่มีไขมันมากจะมีหน้าอกโต และผู้หญิง ที่มีไขมันน้อยจะมีหน้าอกเล็ก เวลาให้นมลูก ส่วนที่เป็นต่อม สร้างน้ำนมจะเจริญและโตขึ้นพอๆ กันในคุณแม่ทุกคน
แล้วถ้าหัวนมบอดล่ะคะ จะเป็นปัญหาในการให้นมลูกมั้ย
คุณผู้หญิงที่มีหัวนมบอดส่วนมาก ควรจะสามารถให้นมลูกได้ แต่จัดว่าเป็นอุปสรรคพอสมควรในการให้นมลูก เพราะลูก คุณจะดูดนมไม่ได้เนื่องจากหัวนมคว่ำอยู่ข้างใน วิธีแก้ไขคือให้คุณเตรียมตัวตั้งแต่ตั้งครรภ์โดยพยายามบีบหัว นมและดึงหัวนมทุกวันเวลาอาบน้ำ ถ้าคลอดแล้ว ยังบอดอยู่ คุณควรใช้มือดึงหัวนมออกมาคีบไว้ด้วยมือแล้ว ให้ลูกทานนมเลย หรือก่อนจะให้นมลูก คุณลองบีบน้ำนม ออกมาบ้าง เพื่อทำให้ลานรอบหัวนมนิ่ม ลูกจะได้อมส่วน ลานรอบหัวนมได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นคุณสามารถเรียนรู้ท่าทางในการให้นมลูก จากพยาบาล, คุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญได้
ทารกที่คลอดก่อนกำหนด จะมีแรงพอที่จะดูดนมจากแม่ได้เองหรือไม่
คุณแม่คงต้องรอดูเหตุการณ์ไปก่อน แต่ทารกตัวน้อยๆ จะได้รับประโยชน์จากนมแม่อย่างแน่นอน หรือคุณแม่อาจปั๊มนมแม่ใส่ขวดให้ลูกซึ่งต้องอยู่ที่โรงพยาบาล แล้วค่อยให้นมแม่ด้วยตัวเองเมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้ว นอกจากนั้นคุณแม่อาจช่วยลูกได้ โดยก่อนให้ลูกดูดนม ควรบีบน้ำนมออกมาเล็กน้อยเพื่อลูกจะได้ดูดนมแม่ได้ง่ายขึ้น
จะทำอย่างไรให้คุณพ่อรู้สึกมีส่วนร่วมในตัวลูกน้อยขณะที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ถึงแม้ว่าการให้นมลูกจะทำได้โดยคุณแม่เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่คุณพ่อก็สามารถใกล้ชิดกับลูกน้อยได้ ด้วยการโอบกอด, อุ้มชู, อาบน้ำ และเล่นกับลูกในเวลาที่ลูกตื่น หรือ คุณแม่ปั๊มนมแม่ใส่ขวดแล้วคุณพ่อเป็นผู้ป้อนลูก
ถ้ายังอยู่ในช่วงให้นมแม่ จะออกไปข้างนอกบ้างได้มั้ยโดยไม่มีลูกไปด้วย
ได้สิคะ คุณแม่ก็ปั๊มนมใส่ขวดไว้ แล้วให้คุณพ่อ, พี่เลี้ยงหรือ ญาติพี่น้องป้อนนมลูกแทนคุณแม่ชั่วคราว
จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้มั้ย ถ้าหากต้องกลับไปทำงาน
ได้ค่ะ เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน เพียงแต่ปั๊มนมในขณะอยู่ที่ทำงาน แช่ตู้เย็นไว้ แล้วนำกลับมาให้ลูกทานในวันรุ่งขึ้น (แช่ตู้เย็นให้ใช้ภายใน 24 ชั่วโมง, แช่แข็งอยู่ได้นาน 2 อาทิตย์) หรือ ให้ลูกทานนมผสมระหว่างที่คุณไปทำงาน พอคุณกลับมาตอน เย็นหลังจากนั้นคุณก็ให้นมแม่ต่อ

สิ่งสำคัญคือคุณต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่าคุณสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และคุณมีน้ำนมเพียงพอ และก็อย่าเป็นกังวลนะคะ ถ้าคุณพบว่าคุณแม่ท่านอื่นมีวิธีในการให้นมลูกแตกต่างไปจากคุณ คุณต้องมั่นใจในตัวเองค่ะ คุณแม่กับคุณลูกเมื่อได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วคุณจะพบเองว่าการให้นมลูกแบบไหนจะดีที่สุดและถูกใจลูกของคุณ ในที่สุดก็จะประสบความสำเร็จในการให้นมลูกค่ะ ลูกคุณเองจะมีความสุขด้วยที่ได้ใกล้ชิดคุณ ไ ด้ฟังเสียงหัวใจคุณเต้นอยู่ใกล้หูของเขาเวลากินนมแม่ เหมือนตอนที่เขายังอยู่ในท้องของคุณ



Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 21:57:27 น.
Counter : 1051 Pageviews.

0 comment
หัวนมเจ็บหรือเป็นแผล

บทความจากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ
ป้องกันมิให้หัวนมเจ็บหรือเป็นแผล : จะพบในระยะแรก ๆ ของการให้นมแม่

เวลาลูกดูดนม ควรให้ริมปากลูกงับถึงลานหัวนมทั้งด้านบนและด้านล่าง เพราะบริเวณใต้ลานหัวนมจะมีกระเปาะน้ำนมอยู่ใต้ผิวหนัง เมื่อลูกเอาเหงือกบนและล่างงับลงมาที่ลานหัวนม น้ำนมแม่จะไหลจากกระเปาะน้ำนมออกมาทางหัวนม แต่ถ้าลูกงับไม่ลึก คือ งับแค่หัวนมแม่แล้วดูด ลูกจะไม่ได้น้ำนม เมื่อไม่ได้น้ำนม ลูกจะหงุดหงิดมาก ลูกจึงดูดหัวนมแรงยิ่งขึ้น ทำให้หัวนมคุณอักเสบเป็นแผลได้
อีกกรณีหนึ่งที่อาจจะทำให้หัวนมเป็นแผลคือ เมื่อลูกดูดนมจนหลับ คุณจะเอาลูกออกจากอกของคุณ ขณะที่ปากลูกยังอมหัวนมและลานหัวนมอยู่ ไม่ควรจะดึงหัวลูกออกจากอกทันที แต่คุณควรจะสอดนิ้วชี้ของคุณแทรกเข้าไประหว่างปากลูกกับลานหัวนมของคุณ เพื่อลดการเป็นสุญญากาศก่อน แล้วจึงค่อยดึงหัวลูกออกจากบริเวณหน้าอกคุณ วิธีนี้จะช่วยป้องกันการอักเสบของหัวนมได้
และสุดท้าย เมื่อลูกเลิกดูดนมแม่ ควรผึ่งหัวนมและลานหัวนมของคุณกับอากาศสักพักหนึ่งเพื่อให้แห้งก่อน โดยไม่จำเป็นต้องเช็ดคราบน้ำนมออก ความแห้งจะช่วยป้องกันมิให้ผิวหนังบริเวณหัวนมเป็นแผล และคราบน้ำนมของคุณจะช่วยป้องกันผิวหนังอักเสบได้ด้วย




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 21:55:55 น.
Counter : 913 Pageviews.

0 comment
"ดูดและกลืน" กลไกนี้สำคัญนัก



คอลัมน์: Baby Corner: "ดูดและกลืน" กลไกนี้สำคัญนัก Source - โลกวันนี้ (Th) Friday, September 21, 2007 08:18

เบบี้เริ่มดูดกลืนตั้งแต่ในท้องแม่
คุณแม่อาจแปลกใจทำไมคลอดลูกน้อยออกมาแล้วลูกมีอึออกมาด้วย เป็นเพราะการที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้นกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ ประมาณ 4-5 เดือนก็จะเริ่มเรียนรู้การที่จะดูดกลืน และสิ่งที่ดูดกลืนนั้นก็เป็นน้ำคร่ำ เศษเซลล์ และเศษผิวหนังเล็กๆ ที่อยู่ในน้ำคร่ำนั่นเอง ดังนั้นพอคลอดออกมาเลยมีอึตามออกมาด้วย หลังจากดูดกลืนน้ำคร่ำเป็นแล้วก็จะมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 8-9 เดือนไปแล้วลูกที่เพิ่งคลอดออกมาจะสามารถดูดนมแม่ได้โดยไม่ต้องสอนกันเลย

น้ำนมคุณแม่สู่กระเพาะลูกน้อย
พอคลอดออกมากระบวนการเคี้ยวกลืนในช่วงแรกเกิด-3 เดือน คุณแม่สังเกตมั้ยว่าลูกจะมีสัญชาตญาณของการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กที่ผสมผสานกัน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อในช่องปากที่จะมีการดูดกลืน เด็ก 3 เดือนแรกคงหนีไม่พ้นการดูดนมแม่เป็นอาหาร เพราะธรรมชาติสร้างช่องปากค่อนข้างเล็ก แต่ก็อุดมไปด้วยกล้อมเนื้อและก้อนไขมันอยู่ข้างกระพุ้งแก้ม ทำให้ตุ้ยนุ้ยเชียว เพื่อให้เกิดแรงดูดเอาน้ำนมจากเต้าคุณแม่ให้พุ่งไปด้านหลังช่องปากลงคอในที่สุด เวลาที่ลูกประกบปากกับลานนมแม่นั้น จะเอาลิ้นยื่นออกมาด้านหน้าออกแรงดูดและรูดเข้า โดยใช้กล้ามเนื้อส่วนกระพุ้งแก้ม กล้ามเนื้อขากรรไกร และการใช้ลิ้นประสานกัน

กระบวนการดูดของลูกเรียกว่า Oral Phase ซึ่งเปิดขึ้นในช่องปากเร็วมาก พอน้ำนมแม่พุ่งจากกระพุ้งแก้มลงสู่ปากด้านหลังปุ๊บจะมีขั้นตอนต่อมาที่ค่อนข้างซับซ้อนที่เรียกว่าระบบ Time Lock เป็นระบบที่ทำงานประสานกันช่วยไม่ให้น้ำนมหลุดไปในหลอดลม โดยจะควบคุมกล้ามเนื้อการเปิดปิดเพื่อไม่ให้ไหลเข้าสู่ทางเดินหายใจ แต่ให้ไหลเข้าหลอดอาหารแทน แล้วเริ่มเข้ากระบวนการย่อยอาหาร

ระบบการดูดกลืนของเด็กจะเริ่มพัฒนาการกลืนแบบสมบูรณ์ก็ต่อเมื่ออายุเกิน 4 เดือนขึ้นไป โดยจะเริ่มใช้เหงือกในการบดเคี้ยว กลไกช่องปากเริ่มแตกต่างจากการดูดนม แทนที่จะยกลิ้นดูดเหมือนเดิมก็ต้องตวัดลิ้นเพื่อเอาอาหารเข้าสู่ช่องปากด้านหลังแทน และเมื่ออายุ 6 เดือน แม่ก็จะเริ่มเสริมอาหาร เช่น ข้าวบด กล้วยครูด ฯลฯ ให้ลูกได้แล้ว

ช่วงแรกที่เริ่มป้อนอาหารเสริมนั้นคงต้องใช้ความอดทนนิดหนึ่งเพราะลูกจะเอาลิ้นดุนๆ ทิ้งออกมาด้วยความเคยชินกับการดูดนม อาจจะเลี่ยงโดยการป้อนน้อยๆ หรือแตะที่ลิ้นให้ลูกชินกับรสชาติของอาหารก่อน

นมแม่ นมแม่เป็นนมที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะนมแม่จะมีไขมันชนิดดี น้ำตาล และโปรตีนในขนาดที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลูก ที่สำคัญช่วยให้ถ่ายง่าย ไม่ท้องเสีย ลดอาการร้องโคลิก และช่วยลดอาการภูมิแพ้ที่อาจจะเกิดในลูกแน่นอน

นมผสม เป็นนมที่ดัดแปลงให้มีคุณค่าทางสารอาหารใกล้เคียงกับนมแม่มากที่สุด ซึ่งขั้นตอนการผลิตนมจะมีการผสมสารอาหารต่างๆ ลงไปเพื่อให้เพียงพอต่อร่างกายของเด็ก

นมสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เด็กบางคนแพ้โปรตีน เพราะนมผสมทั่วไปมีโปรตีนผสมอยู่มาก และไม่เหมาะกับระบบการย่อยอาหาร ดังนั้น นมสูตรพิเศษจึงเกิดขึ้น ทำให้โปรตีนที่ผสมอยู่มีขนาดเล็กลง ช่วยให้อาการแพ้โปรตีนดีขึ้นเรื่อยๆ และจะหายไปเอง

นมแพะ เป็นผมที่ช่วยลดอาการแพ้โปรตตีนในนมวัว แต่ไม่ใช่โปรตีนที่ได้จากนมแม่--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้



Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:41:07 น.
Counter : 598 Pageviews.

0 comment
ควรจะให้ลูกดูดบ่อย(และนาน)แค่ไหน?


ลูกควรที่จะได้ดูดนมบ่อยเท่าที่ลูกต้องการ คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะคอยสังเกตอากับกริยาของลูก ลูกมักมีกริยาส่ายหน้าหาหัวนม เอามือถูที่ปาก ทำท่าดูด ฯลฯ แสดงว่า ลูกต้องการที่จะดูดนมแล้ว
คุณพ่อคุณแม่จะสามารถเห็นอากับกริยาเหล่านี้ได้ตั้งแต่ 30 นาทีก่อนที่ลูกจะเริ่มร้องไห้เพราะหิว การที่ลูกต้องร้องไห้ ก่อนได้รับนมนั้นอาจทำให้มีการดูดที่ไม่มีการประสานงานของกล้ามเนื้อต่างๆ การดูดนมก็จะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก
เด็กที่คลอดใหม่ๆมักต้องการดูดนม 8 ถึง 12 ครั้งในระยะเวลา 24 ชม ครั้นเมื่อแม่และลูกมีความคุ้นเคยกันดีแล้ว ลูกก็มักจะต้องการ ดูดบ่อยน้อยลง และดูดนานน้อยลง ช่วงนี้มักต้องใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งเท่ากับระยะเวลาที่ร่างกาย ของคุณแม่จะฟื้น จากการคลอดลูกพอดี
คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมข้างหนึ่งนานเท่าที่ลูกต้องการ ลูกจะแสดงให้เห็นเองว่าอิ่มแล้วโดยการคายหัวนม หรือลดแรงการดูดลงกลายเป็นแบบ " ดูดเล่นๆ" ถึงตอนนี้คุณแม่ควรอุ้มลูกพาดบ่าให้เรอสักครั้งหนึ่ง จากนั้นก็ให้ ลูกดูดนมอีกข้างหนึ่งถ้าลูกต้องการ ถ้าลูกไม่ต้องการดูดอีกก็ไม่เป็นไร

ความจริงแล้วไม่มีกฏตายตัวว่าจะต้องให้ลูกดูดนมทั้งสองเต้าทุกครั้ง หากลูกดูดข้างเดียว แล้วรู้สึกว่าพอ ครั้งต่อไป คุณแม่ก็เอานมอีกข้างให้ลูกดูดก็ได้ บางครั้งนั้นลูกอาจอยากดูดนมแม่ไม่ใช่ว่าเพราะหิว แต่เพราะอยากแนบสนิทกับแม่ และเพราะอยากที่จะรู้สึกอบอุ่นเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว ลูกจะดูดนมทุกๆ 2 หรือ 3 ชั่วโมง ครั้งละ 5 ถึง 15 นาที

โดย นายแพทย์อภิชัย ตันติเวสส
ที่มา : //www.clinicrak.com




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:40:34 น.
Counter : 498 Pageviews.

0 comment
จะให้ลูกกินอะไรเมื่อแม่ไปทำงาน


นี่ไม่ใช่แผ่นพับที่ให้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการทำงานนอกบ้านและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่เป็นแผ่นพับที่จะให้ข้อมูลว่าจะให้ลูกกินอะไรและอย่างไรเมื่อคุณแม่ไม่ได้อยู่กับเขา ซึ่งจะเน้นไปที่คุณแม่ที่จำเป็นต้องกลับไปทำงานเมื่อลูกอายุได้ประมาณ 6 เดือน สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร คุณควรจะอยู่บ้านกับลูกให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพยายามใช้ประโยชน์จากสิทธิ์การลาคลอดบุตรให้นานที่สุดเท่าที่กฎหมายจะอนุญาต ถ้าเป็นไปได้พยายามลาคลอดอย่างน้อย 6 เดือน และถ้าคุณแม่สามารถลางานได้ถึง 7 เดือนก็จะยิ่งช่วยให้การให้ลูกกินนมแม่อย่างต่อเนื่องหลังจากที่คุณแม่กลับไปทำงานเป็นเรื่องง่ายขึ้น อย่าลืมว่าลูกของคุณจะไม่ได้มีอายุเท่านี้อีกต่อไป

ต่อไปนี้เป็นความเชื่อผิดๆ

1. ลูกจะต้องหัดกินนมจากขวดให้ได้ เพื่อที่เราจะได้ป้อนนมให้เขาได้เวลาที่คุณแม่ไม่อยู่กับเขา

ไม่จริง ทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวบางคนจะไม่ยอมกินจากขวดตอนอายุ 2-3 เดือน ทารกส่วนใหญ่ที่ไม่ได้กินนมจากขวดและแม้แต่ทารกที่เคยกินจากขวดในช่วงสัปดาห์แรกๆ จะไม่ยอมกินจากขวดเมื่อเขาอายุ 4-5 เดือน นี่ไม่ใช่เรื่องเศร้า และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้เขากินนมจากขวดตั้งแต่เนิ่นๆ เพียงเพื่อให้เขารู้วิธี ถ้าลูกของคุณไม่ยอมกินจากขวด อย่าพยายามบังคับเขา ไม่เช่นนั้นทั้งคุณและเขาจะหงุดหงิดรำคาญใจมากๆ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้นเลย

ถ้าลูกของคุณอายุอย่างน้อย 6 เดือนตอนที่คุณต้องกลับไปทำงาน เขาก็ ไม่ จำเป็นต้องกินนมจากขวด หรือถ้าเขาอายุแค่ 4 เดือนก็ยังไม่จำเป็นต้องกินจากขวด เพราะคุณสามารถป้อนของเหลวหรืออาหารเสริมด้วยช้อนให้เขาได้เหมือนกับที่เราป้อนทารกอายุ 6 เดือน และพอเขาอายุถึง 6 เดือนเขาก็จะสามารถกินได้มากเพียงพอจนไม่รู้สึกหิวในระหว่างวัน ยิ่งไปกว่านั้นคุณแม่ยังเริ่มให้เขาหัดดื่มจากถ้วยได้ตั้งแต่ 5-6 เดือน โดยถ้วยอาจจะเป็นแบบเปิดและไม่จำเป็นต้องมีที่ดูดด้วยซ้ำ

เริ่มให้เขาหัดดื่มน้ำก่อนเพราะเขาจะทำหกเลอะเทอะค่อนข้างมากในตอนแรก แต่ถึงแม้ตอนที่คุณต้องกลับไปทำงานแล้ว เขาจะยังดื่มจากถ้วยไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เราก็ยังใช้ช้อนป้อนของเหลวให้เขาได้อยู่ดี หรือคุณอาจจะผสมของเหลว (นมที่ปั๊มออกมา หรือน้ำ หรือน้ำผลไม้) ในอาหารเสริมให้มากขึ้นก็ได้ แน่นอนว่าทารกควรจะได้รับอาหารที่หลากหลายขึ้นเมื่อเขาอายุได้ 6 เดือน เขาอาจจะต้องเริ่มกินอาหารเสริมตอนอายุ 5 เดือน อย่างไรก็ตามทารกบางคนอาจจะเลือกที่จะรอคุณแม่เพื่อดูดนมแม่ นี่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะทารกหลายคนก็นอนหลับตอนกลางคืนรวดเดียว 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้ดื่มหรือกินอะไรเลยอยู่แล้ว

2. แต่ให้ลูกหัดกินนมจากขวดก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร

อาจไม่จริงเสมอไป ทารกบางคนสามารถดูดนมได้ดีทั้งจากขวดและจากเต้านมแม่ การให้กินจากขวดเป็นครั้งคราวควบคู่กันไปในขณะที่การกินนมจากอกแม่กำลังเป็นไปด้วยดีก็อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ถ้าทารกกินนมจากขวดหลายๆ ครั้งต่อวันเป็นประจำ และในขณะเดียวกันปริมาณน้ำนมของคุณแม่ก็เริ่มลดลงเนื่องจากให้ทารกดูดนมน้อยลงแล้ว มันก็จะมีความเป็นไปได้ที่ทารกจะเริ่มไม่ยอมดูดนมจากอกแม่ ถึงแม้เขาจะอายุมากกว่า 6 เดือนก็ตาม

3. ทารกจำเป็นต้องดื่มนม (ชนิดอื่นที่ไม่ใช่นมมแม่) ตอนที่แม่ไม่อยู่บ้าน

ไม่จริง การได้กินนมแม่อย่างเพียงพอจำนวน 3-4 ครั้งในช่วง 24 ชั่วโมง บวกกับอาหารเสริมชนิดต่างๆ จะทำให้ทารกได้รับสารอาหารเพียงพอ ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องการดื่มนมไม่ว่าชนิดใดก็ตามในระหว่างที่คุณแม่ไปทำงานนอกบ้าน แน่นอนว่าคุณอาจจะผสมนมแม่ที่ปั๊มออกมาหรือนมชนิดอื่นๆ ลงในอาหารเสริมก็ได้ แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำเสมอไป

4. ถ้าทารกจะต้องกินนมชนิดอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ เขาจะต้องกินนมสังเคราะห์สำหรับทารก (นมผสม) จนถึงอายุ 9 เดือนเป็นอย่างน้อย

ไม่จริง ถ้าทารกได้กินนมแม่อย่างน้อยสองสามครั้งต่อวัน และได้รับอาหารเสริมหลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม นมผสมก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นและไม่ใช่สิ่งที่ทารกต้องการ ความจริงแล้วทารกที่ไม่เคยกินนมผสมก่อนอายุ 5-6 เดือน มักจะไม่ยอมกินนมผสมเพราะมันมีรสชาติค่อนข้างแย่ (ถ้าคุณต้องการคำยืนยันเพื่อให้ตัวเองเชื่อว่า เรารู้จักนมแม่น้อยเพียงใด ลองถามตัวเองดูว่า ทำไมทั้งที่นมแม่และนมผสมมีปริมาณน้ำตาลพอๆ กัน แต่นมแม่กลับมีรสหวานกว่ามาก) ถ้าคุณแม่ต้องการให้ลูกกินนมชนิดอื่น ก็สามารถให้นมโฮโมจีไนส์*กับทารกอายุ 6 เดือนได้ แต่จะต้องให้อาหารอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ความจริงถ้าทารกสามารถกินอาหารเสริมได้หลากหลายชนิดแล้ว และได้กินนมแม่ 3-4 ครั้งต่อวัน และมีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ปกติ ให้เขากินนมโฮโมจีไนส์หรือนมที่มีไขมัน 2% ก็พอแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอยู่ดี

*นมโฮโมจีไนส์ คือ นมที่ผ่านขบวนการทำให้เนื้อนมกับเนื้อครีมไม่แยกตัวออกจากกัน สำหรับนมโคที่มีขายในท้องตลาด ทั้งนมสดพาสเจอร์ไรส์และนมสดยูเอชทีจัดว่าเป็นนมโฮโมจีไนส์ทั้งคู่ แต่ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อที่แตกต่างกัน

5. ทารกต้องดื่มนมเพื่อให้ได้แคลเซียม

ไม่จริง ถ้าคุณกังวลว่าทารกจะได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ คุณสามารถให้เขากินชีสหรือโยเกิตก็ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องดื่มเพื่อให้ได้แคลเซียม นอกจากนี้แล้วถ้าทารกได้กินนมแม่ นมแม่ก็มีแคลเซียมด้วยเหมือนกัน

6. นมผสมสำหรับทารก 6 เดือนขึ้นไป เป็นสูตรที่ดัดแปลงเป็นพิเศษสำหรับทารกอายุ 6-12 เดือน

ไม่จริง นมผสมชนิดนี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลยแม้แต่น้อย และมันถูกดัดแปลงเป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการในการหากำไรของบริษัทผลิตนมผสมต่างหาก มันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาดที่พยายามหลีกเลี่ยงข้อกำหนดในการเผยแพร่โฆษณานมผสมสำหรับทารกออกสู่สาธารณชน (ซึ่งบริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่มักจะไม่ใส่ใจกับข้อกำหนดเหล่านี้) ตอนนี้มีนมผสมสูตรพิเศษสำหรับเด็กวัย 1-3 ปีออกวางขายแล้ว ดูเหมือนว่าคนบางคนก็พร้อมที่จะซื้อสินค้าทุกอย่าง และเนื่องจากผู้ผลิตคิดถึงแต่เรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว ในไม่ช้าเราก็คงจะมีนมผสมตั้งแต่แรกเกิดไปจนตาย

7. ทารกที่กินนมแม่ เมื่ออายุ 4 เดือน ควรจะต้องได้รับธาตุเหล็กมากกว่าปริมาณที่เขาจะได้รับจากนมแม่เพียงอย่างเดียว

ไม่จริง ทารกที่คลอดตามกำหนดและกินนมแม่เพียงอย่างเดียว จะได้รับธาตุเหล็กจากนมแม่ในปริมาณที่เพียงพอกับที่เขาต้องการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อทารกอายุประมาณ 6 เดือน ก็เป็นเรื่องดีที่จะให้เขาได้รับธาตุเหล็กเพิ่มเติมจากปริมาณที่เขาได้รับจากนมแม่ วิธีที่ดีที่สุดที่ทารกจะได้รับธาตุเหล็ก คือ จากอาหาร และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก็ คือ เนื้อสัตว์ ไม่ใช่นมผสมหรือซีเรียลสำหรับทารก

8. วิธีที่ดีที่สุดที่จะให้ทารกได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ คือให้เขากินซีเรียลสำหรับทารก

ไม่จริง แน่นอนว่าซีเรียลสำหรับทารกมีธาตุเหล็กอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ไม่สามารถดูดซึมได้ และธาตุเหล็กที่ดูดซึมไม่ได้เหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกในทารกบางคนอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึง 5-6 เดือนบางคนจะไม่ชอบกินซีเรียล การให้กินซีเรียลไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่การบังคับให้ทารกกินสิ่งที่เขาไม่อยากกินอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการป้อนอาหารอื่นๆ ให้เขาในภายหลัง

วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ทารกได้รับธาตุเหล็กอย่างแน่นอนและเพียงพอ คือ การให้กินนมแม่ต่อไปและเริ่มให้ทารกกินอาหารเสริมด้วยวิธีการที่ผ่อนคลายและสนุกสนานในจังหวะเวลาที่เหมาะสม (ดูแผ่นพับที่ 16 เรื่องการเริ่มให้อาหารเสริม) จังหวะเวลาที่เหมาะสมก็คือเมื่อทารกเริ่มแสดงความสนใจกับการกิน โดยเขาจะเริ่มยื่นมือมาคว้าและพยายามจะกินอาหารที่พ่อแม่หรือสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวกำลังกินอยู่

โดยทั่วไปเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นตอนทารกอายุประมาณสี่เดือนครึ่งถึงห้าเดือนครึ่ง ทารกวัยนี้สามารถกินอาหารที่พ่อแม่กินได้แล้ว (โดยมีข้อยกเว้นบางประการ) คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลมากเกินไปว่าจะต้องหัดให้เขาเริ่มกินอาหารชนิดใดก่อนตามลำดับก่อนหลัง หรือพยายามให้ทารกกินอาหารเพียงชนิดเดียวต่อสัปดาห์ วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะให้ทารกวัย 6-12 เดือนได้รับธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น คือ ให้กินเนื้อสัตว์ ซึ่งมีธาตุเหล็กที่ทารกสามารถดูดซึมได้ดี ควรเริ่มป้อนอาหารเสริมให้ทารกด้วยวิธีการที่ทำให้เขารู้สึกสนุกกับการกิน และทารกก็จะสามารถกินอาหารที่มีธาตุเหล็กได้ดี

แผ่นพับที่ 17 - จะให้ลูกกินอะไรเมื่อคุณแม่ไปทำงานนอกบ้าน (สิงหาคม 2549)
แปลและเรียบเรียงโดย นิจวรรณ ตั้งวิรุฬ์ห์
จาก Handout #17 What to Feed... Revised January 2005 Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005






Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:40:06 น.
Counter : 489 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]