Group Blog
 
All blogs
 

ค้นแหล่งทำเงินปี2554 ผ่าน5มือโปรการลงทุน


Fundamentals รวบรวม คำแนะนำกูรูต่างชาติเพื่อเป็นคู่มือให้ข้อมูลรอบด้านแก่นักลงทุนไทยได้ พิจารณา ระวังความเสี่ยงก่อนตัดสินลงทุนตลาดทั่วโลก
หลังจากพ้นพายุวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังมีความเสี่ยงและผันผวน จนนักลงทุนไทยทั้งในและต่างประเทศ ขาดความมั่นใจในการเสาะหาแหล่งทำกำไร และมองเห็นเส้นทางทำเงินได้ไม่ชัดเจนนักในปี 2554
ขณะเดียวกันช่วงรอย ต่อก้าวข้ามปีเสือ เข้าสู่ปีกระต่ายต้องตื่นตัว "ฟอร์จูน" ได้เปิดเวทีเสวนาระดมสมอง 5 เซียนการลงทุน ผู้มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ในตลาดหลากหลายประเภท เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มแหล่งที่น่าจะต่อยอดเงินให้งอกเงยในปีเถาะ
Fundamentals จึงใช้จังหวะนี้รวบรวม ถ่ายทอดคำแนะนำกูรูต่างชาติกลุ่มนี้ เพื่อเป็นคู่มือให้ข้อมูลรอบด้านแก่นักลงทุนไทยได้พิจารณา ระวังความเสี่ยงก่อนตัดสินใจเลือกตลาดหรือแหล่งลงทุนเหมาะสมนอกบ้านในปีใหม่ นี้

เพราะเศรษฐกิจโลกปีเสือ ถือเป็นปีแรกของการฟื้นตัวจากพิษวิกฤติการเงินโลกครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ เกือบ 80 ปี และการฟื้นตัวยังไม่มั่นคง ซึ่งในปีเถาะ 2554 กูรูเศรษฐกิจประเมินไว้ว่า อัตราการโตของจีดีพีประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะซีกโลกตะวันตกกับตะวันออก หรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
จากแนวโน้มเศรษฐกิจ โลกเติบโตฟื้นตัวไม่ราบรื่น และอัตราการเติบโตไม่เท่ากัน ย่อมนำมาซึ่งความไม่สมดุล จุดความผันผวนที่มาควบคู่กับความเสี่ยง ให้ตลาดเพื่อการลงทุนทั่วโลกเช่นกันในปีกระต่ายต้องตื่นตัวนี้
ความ วิตกข้างต้น สอดคล้องกับแนวคิดของ "ฟอร์จูน" นิตยสารเศรษฐกิจชั้นนำของสหรัฐ ที่ว่าวิกฤติการเงินอาจจะจบลงแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าในตลาดทั่วโลกยังมีฝุ่นตลบอบอวล บดบังวิสัยทัศน์ทำให้การลงทุนไม่ได้ง่ายขึ้นเลย
เพราะภาวะแวดล้อมใน ตลาดโลกหลังวิกฤติ ทิ้งไว้ซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในเศรษฐกิจหลายประเทศ และในสกุลเงินประเทศต่างๆ จนทำให้นักลงทุนไทยเกิดความลังเลใจ ไม่รู้จะหันไปทิศทางใดที่มีความผันผวนและความเสี่ยงน้อยที่สุด
เพื่อ ช่วยนักลงทุนไทยทั่วโลก วิเคราะห์ทิศทางตลาดได้ดีขึ้น Fundamentals จึงขอเป็นสื่อกลางนำประสบการณ์ของ 5 กูรู การลงทุนชั้นนำระดับโลก ประกอบด้วย แอบเฮย์ เดชแพนดี นักลงทุนเล่นหุ้นมูลค่า บริหารสินทรัพย์มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้ เฟิร์สต์ อีเกิล อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์, เดวิด เอลลิสัน ประธานของเอฟบีอาร์ ฟันด์ แอดไวเซอร์ส ผู้มากประสบการณ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงิน, เรเน่ โฮเจอรูด ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของกองทุนบริหารความเสี่ยง "กัลเทียร์ ลิมมิเทด" ซึ่งชื่นชอบการลงทุนตลาดโภคภัณฑ์
นอกจากนี้ยังมี เจมส์ สวอนสัน หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของเอ็มเอฟเอส อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์ ผู้บริหารดูแลกองทุนรวมกว่า 60 แห่ง และสุดท้าย วาลลี เวตซ์ นักลงทุนเน้นมูลค่า ผู้บริหารของ เวตซ์ ฟันด์ ซึ่งมีกองทุนให้บริการจัดการ 8 กองทุน ทั้งหมดได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง ช่วยกันพยากรณ์แนวโน้มตลาดต่างๆ โดยเฉพาะหุ้นกับสินค้าโภคภัณฑ์ ให้แก่นักลงทุนไทยเก็บเป็นข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุน
0 ยังมีโอกาสทำเงินในสหรัฐ
การสนทนาเริ่มจาก เดชแพนดี ตอบข้อสงสัยที่ว่า ผู้คนกังวลสหรัฐมีปัญหาการคลัง หนี้ประเทศและการเติบโตไม่ดี ยังจะเป็นตลาดที่สำหรับนักลงทุนระยะยาวหรือไม่นั้น เขาในฐานะนักลงทุนระดับโลก ไม่เน้นตลาดใดเป็นพิเศษ เวลานี้ตั้งใจเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนในตลาดสหรัฐมากกว่าตลาดอื่นที่นิยม กันอย่างกลุ่มตลาดเกิดใหม่
โดยนักลงทุนระยะยาว 5-15 ปี เน้นมูลค่าอย่างเดชแพนดี เชื่อว่าตลาดสหรัฐในภาวะเศรษฐกิจมหภาคไม่ดีดูน่ากลัว และสถานะการคลังย่ำแย่ กลับซ่อนโอกาสอย่างมากให้นักลงทุนเน้นมูลค่า ที่สามารถมองข้ามสถานการณ์น่ากังวลช่วง 2 ปีข้างหน้าได้
"เราดูมูลค่า ธุรกิจเป็นการดำเนินงานให้เงินสดหมุนเวียนได้ตลอดอายุขัยของธุรกิจนั้นๆ ไม่ใช่แค่ 1 ปี หรือ 2 ปีข้างหน้า แต่ผู้คนในตลาดหุ้นสหรัฐเน้นดูแค่ 3-6 เดือนข้างหน้า จังหวะนี้เป็นโอกาสทำกำไรให้นักลงทุนระยะยาวอย่างเราได้" เดชแพนดี กล่าว
0 บริษัทสหรัฐโกยกำไรนอกบ้าน
เดชแพนดี แนะนำว่า การติดตามสถานการณ์เกิดขึ้นในสหรัฐดูไม่เพียงพอเสียแล้ว หากสังเกตจากตัวเลขที่สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐ ให้ข้อมูลว่า เกือบ 40% ของกำไร ที่บริษัทเอกชนสหรัฐทำได้นั้นมาจากเครือข่ายในต่างประเทศ
ดังนั้นแม้ลงทุนหุ้นน่าสนใจในดัชนีเอสแอนด์พี 500 นั้น แท้จริงแล้วเหมือนการลงทุนในบริษัทมีธุรกิจอยู่ทั่วโลก เช่น การลงทุนในหุ้นบริษัท 3เอ็ม ทุกวันนี้กำไรที่ 3เอ็ม ทำได้ มาจากตลาดอื่นนอกสหรัฐ เวตซ์เห็นด้วยกับเดชแพนดีและให้ข้อมูลว่ากำไร 80% ของโค้กตอนนี้ได้จากตลาดนอกสหรัฐ
ส่วน สวอนสัน เพิ่มเติมข้อมูลเดชแพนดี ว่า หากมองสหรัฐในภาพรวม พิจารณาจากต้นทุนแรงงานในอเมริกาเทียบส่วนอื่นของโลกไม่ว่ายุโรป ญี่ปุ่นและตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่นั้นสำคัญมาก ในอเมริกาต้นทุนนี้กำลังลดลง และถ้าดูตัวเลขผลิตภาพกับกำไรควบคู่ไปด้วย ผลประโยชน์ที่ได้จึงอยู่ที่เจ้าของทุนทำธุรกิจมากขึ้น
ด้าน เวตซ์ มองตลาดสหรัฐเวลานี้คล้ายช่วงปี 2509-2525 ที่ดาวโจนส์อยู่ระดับ 600-1,000 จุด นาน 16 ปี และกึ่งกลางช่วงเวลานั้นเกิดภาวะตลาดหมีครั้งใหญ่ จากนั้น 1 ปี กับ อีก 6 เดือน ให้หลังตลาดหมีหมดไป ตลาดก็กลับฟื้นดีขึ้นอีกครั้ง และอีก 6 ปีให้หลังถึงจะได้เห็นดัชนีอยู่ระดับสูงอีกครั้ง
0 แนะเล่นหุ้นไอที
สวอนสัน เชื่อว่าทุกวันนี้กลุ่มหุ้นมีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตส์ แคปส์)มากที่สุดในดัชนีเอสแอนด์พี 500 คือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี (ไอที) และบริษัทไอทีสหรัฐมีความเชี่ยวชาญทำได้ดีในการส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปยัง ตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะจีนกับอินเดีย
ทั้งนี้ตลาดของคนชั้นกลางในจีนกับ อินเดียขยายตัว เพิ่มจำนวนมากขึ้น และตลาดนี้ต้องการอุปกรณ์โทรศัพท์สื่อสารทันสมัยจากตลาดสหรัฐ ตลาดต้องการเทคนิคการหาข้อมูลและการสื่อสารใหม่ และต้องการชิ้นส่วนอุปกรณ์ทุกอย่าง รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ต้องนำมาใช้เพิ่มเติม
ผู้ บริหารของ เอ็มเอฟเอส อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์ อธิบายว่าทั่วโลกตอนนี้ชื่นชอบสินค้าไอทีสหรัฐมาก ธุรกิจไอทีเป็นภาคธุรกิจทำกำไรจากส่วนต่าง มีเงินสดหมุนเวียนคล่องตัวมากและมากขึ้น 2-3 เท่า เทียบกับกำไรก่อนหักภาษีค่าเสื่อมที่เคยทำได้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และหุ้นกลุ่มไอทีกำลังเทรดกันที่ค่าพีอีประมาณ 16 เท่า เท่านั้น แตกต่างอย่างมากหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเทรดกันที่ค่าพีอีสูงมากถึง 40 ท่า
"ตอนนี้บริษัทไอทีสหรัฐกำลังนั่งอยู่บนกองเงินสด และไม่ว่าเงินปันผลจะเพิ่มขึ้น หรือมีการควบรวมกิจการอีกหลายดีล และบริษัทซื้อคืนหุ้นในตลาด แต่เงินสดมากมายยังคงกองอยู่ให้เห็น และรอวันจะปลดปล่อยออกมา ตอนนี้ถ้าดูมูลค่าหุ้นกลุ่มไอทีก็ไม่ได้มากมายนัก และกำไรที่ทำได้ยังไม่น่าตื่นเต้น" สวอนสันกล่าว
0 หุ้นบริษัทบัตรเครดิตน่าสนใจ
เอลลิสัน มองว่าหุ้นกลุ่มบริษัทบัตรเครดิต เป็นการลงทุนอีกแหล่งหนึ่งน่าสนใจดึงดูดใจกว่า เพราะอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ในธุรกิจนี้สูงมาก หมายความว่าผลตอบแทนได้จากสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ระหว่าง 10-20% นับเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ให้เพียง 4%
"ผม เลือกที่จะได้อัตราผลตอบแทน 12% และแสวงหาโอกาสทำเงินจากธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต เพราะธุรกิจนี้มีสินเชื่อชำระหนี้ไม่ตรงเวลามากมาย และสินเชื่อเหล่านั้นยังคงทำเงินให้เราได้ ผมยังชอบกลุ่มบริษัทให้บริการถ่ายโอนการเงิน อย่าง แคปิตอล วัน (Capital One), วีซ่า (Visa) และ มาสเตอร์การ์ด (MasterCard) หรือแม้แต่ดิสคอฟเวอร์ (Discover) ด้วย"
เอลลิสัน อธิบายว่า รัฐบาลสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจ จึงทำให้เขาไม่คิดว่าการบริการถ่ายโอนทำธุรกรรมการเงินจะลดลงมากมายนัก และนอกจากบริษัทบัตรเครดิตแล้ว บริษัทเรียกเก็บหนี้อย่าง Portfolio Recovery Associates ก็น่าสนใจ เพราะนับจากปี 2550 ทั่วสหรัฐมีการตัดบัญชีหนี้สูญไปแล้วมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์
บริษัท เรียกเก็บหนี้ข้างต้นได้โอกาสเข้าไปซื้อพอร์ตสินเชื่อในราคาต่ำ และจัดการเคลียร์สินเชื่อเหล่านี้ และหากเศรษฐกิจดีขึ้น ตำแหน่งงานเริ่มกลับมาให้เห็นหรือกระเตื้องดีขึ้นเล็กน้อย ผู้คนที่เป็นลูกหนี้จะสามารถชำระหนี้คืนได้ในที่สุด
0 ผู้สูงวัยควรถือหุ้นปันผลบ้าง
เดชแพนดี เห็นว่า มุมมองของผู้เชี่ยวชาญการเงิน ถึงการคาดการณ์ความเป็นไปได้ว่าอาจมีฟองสบู่ในตลาดบอนด์นั้น เป็นเหมือนสัญญาณเตือนนักลงทุนสูงวัยว่า เป็นสิ่งไม่สมควรและไม่สมเหตุสมผลสำหรับพวกเขา ที่จะแสวงหารายได้จากตราสารหนี้อย่างเดียว
โดยเขาคิดว่าองค์ประกอบหนึ่ง ของพฤติกรรมการลงทุนมีเหตุมีผล คือจัดสรรแบ่งการลงทุนไปไว้ในหุ้นปันผลหลายตัว ซึ่งหุ้นเด่นให้ปันผลดีเหล่านี้จะช่วยสร้างรายได้ให้นักลงทุนได้เหมือนกัน
เดช แพนดีให้ข้อมูลว่าในพอร์ตการลงทุนที่เขาบริหารให้ขณะนี้ มีหุ้นเด่นให้ผลตอบแทนดีอยู่หลายตัว ซึ่งทุกตัวให้ผลตอบแทนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3% พร้อมกับยกตัวอย่างว่าหนึ่งในหุ้นกลุ่มนี้คือบริษัท 3เอ็ม
0 ทองยังน่าลงทุน
โฮเจอรูด อธิบายถึงข้อสงสัยที่ว่า ราคาทองใกล้ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงปี 2553 และที่ราคานี้ยังจะน่าซื้อหรือไม่ ซึ่งเธอคิดว่าไม่ว่าแนวโน้มเป็นเช่นไร แต่ในที่สุดราคาทองยังคงปรับสูงขึ้นอีก พร้อมยอมรับทองถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ทองในระดับเกือบ 50% ถือเป็นการลงทุนโดยตรงที่มีเงินหมุนเวียนในตลาด เมื่อเทียบกับความต้องการทองเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับเพชร หรืออุตสาหกรรมอื่นที่ใช้ทองเป็นส่วนประกอบ แต่โฮเจอรูดย้ำว่าทองในระยะยาวแล้วยังปรับขึ้นอีก พิจารณาจากค่าเงินดอลลาร์ และตราบเท่าที่ดอลลาร์อ่อนค่าลง นักลงทุนยังจะได้เห็นราคาทองปรับขึ้น
ความ เห็นของโฮเจอรูด สอดคล้องกับเดชแพนดี ที่ว่าแม้เขาไม่มีมุมมองเกี่ยวกับทิศทางราคาทองในอนาคต แต่หากวิเคราะห์แบบทั่วไปในโลกการเงินทุกวันนี้ การคำนวณเชิงคณิตศาสตร์พิสูจน์แล้วว่ามูลค่าทองมีแต่จะเพิ่มขึ้น
โฮเจอ รูด ยกตัวอย่างกองทุนประเภทอีทีเอฟที่ลงทุนทอง (Gold ETFs) ในสหรัฐ เช่น GLD มีแต่จะเพิ่มมูลค่า ซึ่งกองทุนดังกล่าวนับเป็นกองทุนซึ่งถือทองไว้มากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และติดอันดับรองๆ ลงมาจากธนาคารกลางของบางประเทศ
นักลงทุนบางคนเลือก ถือทองไว้เป็นสินทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะค่าเงินอ่อนและผันผวน การลงทุนในทองสำหรับเดชแพนดีแล้ว ไม่รู้สึกเลยว่าเป็นการเก็งกำไรเหมือนการเล่นหุ้นอินเทอร์เน็ตช่วงปลาย ทศวรรษหลังปี 2533 หรือเป็นฟองสบู่สินเชื่อ แต่การลงทุนในทองถือเป็นพฤติกรรมการลงทุนสมเหตุสมผล
โดย เดชแพนดี แนะนำว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนในทองแบบเหนี่ยวแน่นหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่อยากแนะนำคือให้จัดสรรการลงทุนตามอายุ และควรมีทองเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 5-10% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
0 สินค้าโภคภัณฑ์น่าสนใจ
โฮเจอรูด ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ตอนนี้ความมั่งคั่งกำลังโยกจากกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ไปหากลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ขณะที่รายได้ของผู้คนเพิ่มขึ้น การบริโภคก็ยกระดับนิยมโปรตีนมากขึ้น ทำให้ประชาชนในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาสามารถซื้อหาเนื้อวัว เนื้อไก่ หรือเนื้อหมู และความต้องการบริโภคครอบคลุมถึงธัญพืชประเภทต่างๆ มีมากขึ้น
"ประชากร ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยทั่วไปแล้ว เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยลง และผู้บริโภครุ่นใหม่วัยเยาว์เหล่านี้ ต้องการอาหารเหล่านี้มากขึ้น และมากกว่าประชากรเป็นผู้บริโภคสูงวัย ดิฉันจึงชื่นชอบการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ประเภท เนื้อสัตว์ ข้าวโพด ถั่วประเภทต่างๆ ข้าวสาลีและข้าวสาร" โฮเจอรูด ให้ข้อมูล
กูรูโภคภัณฑ์ ผู้บริหารกองทุน กัลเทียร์ ลิมมิเทด แนะนำด้วยว่า หากคุณเป็นนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนในช่วง 2 ปี 5 ปี หรืออาจ 10 ปีข้างหน้า ควรปล่อยเงินให้ผู้จัดการกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์มีความคล่องตัวบริหารแทน หรืออาจลงมาเล่นเองก็ได้
"ในแวดวงการลงทุน ทุกคนคิดว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นั้นสลับซับซ้อน ที่จริงแล้วสินค้าโภคภัณฑ์ถือเป็นสินทรัพย์ประเภทที่ง่ายที่สุดที่จะทำความ เข้าใจ ขอเพียงนักลงทุนทำการบ้าน เหมือนๆ กับนักลงทุนเล่นหุ้น การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะง่ายขึ้น เพราะการเทรดข้าวโพดปริมาณเท่ากับหน่วยวัด 8แกลลอน นั้นฉ้อโกงกันไม่ได้ แต่ปริมาณจะมากขึ้นหรือน้อยลงอยู่ที่ราคา และราคาไม่สามารถลงจนกลายเป็นศูนย์" โฮเจอรูด กล่าวในช่วงท้าย

แหล่งที่มา อุไรวรรณ ภู่วิจิตรสุทิน - กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


สรุปยอดซื้อขายต่างชาติ ณ วันที่ 07 ม.ค 2554




อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


สรุปยอดซื้อขายต่างชาติ ณ วันที่ 06 ม.ค 2554




อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


สรุปยอดซื้อขายต่างชาติ ณ วันที่ 05 ม.ค 2554




อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


เซียนหุ้นหน้าหยก 'กิติชัย เตชะงามเลิศ' พอร์ตหุ้น 400 ลบ. ตอนที่3


ในสนามอสังหาฯ กิติชัย คือ 'นักเก็งกำไร' ตัวยง แต่ในสนามหุ้นเขาคือ'นักลงทุน' ที่รอบคอบทุกฝีก้าว ไม่รีบตะครุบเหยื่อโดยไม่รู้จักเหยื่อนั้นดีพอ
"กิ๊ด" หรือ กิติชัย เตชะงามเลิศ เซียนหุ้นวัย 40 เจ้าของพอร์ตหุ้นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ไม่เสี่ยงโดยไม่เข้าใจความเสี่ยงการเดินทางในตลาดหุ้นของเซียนหุ้นหน้า หยกรอบคอบทุกฝีก้าว ส่วนหนึ่งอาจมี "โชคช่วย" แต่หากขาด "ฝีมือ" ไม่มีทางที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เขาย้อนมองกลับไปพร้อมกับพูดถ่อมตัวถึงความสำเร็จที่ได้มา

"ผมมีความรู้สึกว่าคนเรา "เก่ง" อย่างเดียวไม่พอ มันต้อง "เฮง" ด้วย"

"กิ๊ด" เปิดประเด็นพร้อมยกตัวอย่าง เสี่ยตันโออิชิ เขาทั้งเก่งทั้งเฮงคุณตันเริ่มจับธุรกิจชาเขียวก่อนคนอื่นแล้วการที่เขาขาย หุ้นโออิชิให้แก่คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ในราคา 32.50 บาท หลังจากนั้นหุ้น OISHI ก็ลงไป 15.70 บาท เสียดายที่เขาไม่ได้ซื้อกลับเพราะหลังจากนั้นราคาขึ้นไป 105 บาท

"ผมว่าเขาไม่ได้เสียดายเพราะว่าคุณตันเอาเงินที่ขายหุ้นได้ไปซื้อหุ้น บริษัทเพลินจิตอาเขต เป็นเจ้าของที่ดินตรงถนนเพลินจิต ปัจจุบันเขาน่าจะขายที่ดินตรงนั้นไปแล้วตารางวาละ 1.2 ล้านบาท ไทม์มิ่งเขาดีมากขายหุ้นโออิชิมาซื้อที่ดินแล้วที่ดินก็ราคาขึ้นเอาๆ หลายครั้งที่ผมมองดูชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คน ต้อง "เก่ง+เฮง" ถ้าเลือกระหว่างเก่งกับเฮง ผมว่าเฮงดีกว่าเก่ง เพราะคุณเก่งแต่บางทีคุณไม่มีโอกาส หรือบางทีคุณไม่มีทุนในจังหวะที่โอกาสมันมา คุณก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคุณเฮงอยู่เฉยๆ ก็มีโอกาสวิ่งเข้ามาหาเอง"

กิติชัย ยกตัวอย่างหุ้นไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต (SCNYL) หุ้นตัวนี้มีสภาพคล่องต่ำมากวันหนึ่งซื้อขายระดับ "ร้อยหุ้น" แต่ตอนที่อยากซื้อใช้เวลาเก็บไม่นานได้หุ้นมา 200,000 หุ้น เพราะมีคนอยากขายพอดีไม่น่าเชื่อ

การลงทุนของเขาจะมีหลักการคัดเลือกหุ้นดังนี้คือ 1.จะดูประเภทธุรกิจก่อน ธุรกิจไหนน่าสนใจค่อยลงลึกไปดูว่าในธุรกิจนี้ในอุตสาหกรรมนี้มีบริษัทไหนที่ น่าสนใจบ้างแล้วคัดหุ้นออกมา 2.เจาะลึกลงไปดูแต่ละบริษัทว่าผลประกอบการย้อนหลังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จากนั้นถึงจะคัดหุ้นตัวที่โอเคที่สุดมาไว้ในจอมอนิเตอร์

"ผมจะแกะงบดูรายละเอียด ดูรายได้รายจ่ายกำไรว่ามาจากไหน แล้วดูรายไตรมาสว่าไตรมาสไหนดี ฤดูกาลไหนไม่ดี จากนั้นก็เลือกเอาเฉพาะตัวที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมนั้นมาเก็บๆ ไว้อยู่ในจอเรดาร์ ในมุมมองของผมธุรกิจประกันชีวิตกับโรงพยาบาลดีที่สุดแล้ว ในระยะยาวยังไม่เห็นว่าธุรกิจอะไรจะดีเท่า 2 ธุรกิจนี้"

ถ้าดูจากรายชื่อหุ้นที่ถือ (BGH, BLA, SCNYL และ NBC) กิติชัย บอกว่าอาจจะคล้ายๆ แวลูอินเวสเตอร์เหมือนกันเพราะเวลาที่จะซื้อหุ้นจะมีเกณฑ์คือ 1.จะเลือกหุ้นที่พื้นฐานดี และ 2.ราคาต้องถูกกว่าปัจจัยพื้นฐาน ส่วนจังหวะเข้าซื้อขายจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้าช่วย สมัยก่อนมี 30-40 ตัวในจอเรดาร์ แต่ตอนนี้คัดออกเหลือ 20-30 ตัว จะคอยติดตามอยู่เรื่อยๆ ทั้งราคาและผลประกอบการ

กิติชัย กล่าวว่า จะดูกราฟทุกวันโดยเลือกดูเฉพาะหุ้นที่ถูกเลือกมาอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตามอง เป็นพิเศษว่าราคาหุ้นใกล้ "แนวรับ-แนวต้าน" หรือยัง ส่วนเครื่องมือทางเทคนิคที่ใช้อยู่เป็นประจำหลักๆ จะดู 3 ตัว คือ Moving Averages (เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่) RSI และ MACD บางครั้งก็จะดู Stochastics บ้าง

"ถ้าเป็น MACD จากประสบการณ์ถ้ามันตัดขึ้นยิ่งใกล้ๆ เส้น 0 ความน่าเชื่อถือจะสูงมาก ถ้าตัดอยู่ใต้ 0 นิดหนึ่ง หรือเหนือ 0 นิดหนึ่ง หรือตรง 0 พอดี มั่นใจ 99% มีความแม่นยำค่อนข้างมากทั้งตัดลงหรือตัดขึ้น ส่วนตัวอื่นก็จะดู Convergence กับ Divergence ประกอบกับการดู Bar Chart ถ้าเป็น Bullish Divergence สมมติเกิด 2 ครั้งแล้วน่าซื้อแล้วนะ ค่อนข้างชัวร์ ถ้า RSI 80-90 ก็ต้องระวังแล้วอยู่ในเขตซื้อมากเกินไป ส่วนใหญ่ถ้าเป็นรายตัวจะดูกราฟ Day กับ Week เป็นหลัก ส่วนกราฟ Month จะใช้ดู SET มากกว่า"

เลือกหุ้นได้แล้ว ดูแนวรับ-แนวต้านรู้จังหวะเข้าซื้อแล้วจากนั้น กิติชัยจะทำการกำหนดวงเงินคร่าวๆ ว่า จะซื้อเท่าไร ถ้าซื้อเกินจากที่วางแผนอาจจะเป็นเพราะเทคนิคมันฟ้องว่าราคากำลังจะไป ส่วนที่เกินจะเป็นการเก็งกำไรเท่านั้น ถ้าขาดทุนกรณีเข้าผิดจังหวะก็จะ Cut Loss ออกเฉพาะส่วนที่ซื้อเกินจากที่ตั้งใจ โดยถือเกณฑ์ 10% เป็นจุดตัดขาดทุน

ถามว่าหุ้น SCNYL ต้นทุน 70 บาท ราคาขึ้นมา 500-600 บาท กำไรเยอะแยะแล้วทำไมถึงไม่ขายหรือว่า "โลภ" ถือมานานตั้ง 4 ปี เขากล่าวว่า บริษัทประกาศผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส เพราะความที่อัตราส่วนทางการเงินถูกกว่าตลาดมาตลอดพอกำไรขึ้นทีราคาหุ้นก็ ขึ้นที

"ถ้าเจอหุ้นแบบนี้ไม่รู้จะรีบขายไปทำไม ผมให้เหตุผลกับตัวเองไม่ได้ว่าผมขายหุ้นที่ดีในราคาที่ถูก แล้วผมไปซื้อหุ้นในตลาดที่ราคาแพงกว่า ผมบ้ารึเปล่า! มันให้เหตุผลกับตัวเองไม่ได้ ผมจะบอกตัวเองว่าไม่ขาย..ไม่ขาย..ไม่ขาย"

ถามต่อว่าทำไม! เวลาซื้อคอนโดถึงมองในลักษณะ "เก็งกำไร" เขาบอกว่าเพราะคอนโดเวลาเราขาย "เราขายราคาตลาด ในราคาที่เหมาะสม" แต่ถ้าเป็น "หุ้นดี" กำไรเพิ่มขึ้นๆ ตราบใดที่ราคายัง "ถูกกว่า" ราคาเหมาะสมไม่ใช่รีบขายสมควรจะ "ซื้อเพิ่ม" ด้วยซ้ำ แต่ที่ไม่กล้าซื้อ (หุ้น SCNYL) เพิ่มเพราะว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำมากเวลาจะขายไม่รู้จะขายใครดี

สมัยก่อนบางวันเคยมีกำไร 4-5 ล้านบาท ขาดทุนก็ขาดทุนเยอะ แต่ถึงจะเก็งกำไรอย่างไรแต่ไม่เคยไปเล่นหุ้นปั่นที่ไม่มีพื้นฐานเขาจะไม่ ตะครุบเหยื่อโดยไม่รู้จักเหยื่อนั้นดีพอ เจ้าตัวเล่าประสบการณ์เล่นเก็งกำไร "หุ้นผีบอก" ให้ฟัง

"ผมเคยเล่น ESTAR มีคนมาบอก เขาบอกสองตัวแรกถูกหมดตัวที่สามก็เลยซื้อตาม แต่เรารู้ว่าเป็นหุ้นเก็งกำไรก็เลยซื้อนิดเดียว ซื้อเสร็จรอบแรกกำไร ราคาลงมาก็ซื้ออีกรอบที่สองก็กำไรแต่เล่นนิดเดียว ราคาลงมารอบที่สามได้ใจซื้อเยอะเลย รอบนี้ผิดทางขาดทุน 10% Cut Loss ทิ้งเลย สรุปว่ากำไรสองรอบแรกไม่พอขาดทุนรอบหลัง"

ถามว่าลักษณะตลาดหุ้นแบบไหนเล่นง่ายเซียนหุ้นร้อย ล้าน กล่าวว่า ตลาดหุ้นจริงๆ แล้วในทุกสถานการณ์สามารถที่จะหากำไรได้หมด บางจังหวะอาจจะได้กำไรทันที บางจังหวะอาจจะซื้อแล้วต้องถือรอ

"อย่างเช่นตลาดขาลงถ้าช่วงนั้นผมมีหุ้นอยู่ในพอร์ตน้อย ผมจะรู้สึกเหมือนว่าผมจะได้ไปงานปาร์ตี้สนุกๆ เพราะว่าถ้าเราสามารถซื้อหุ้นดีๆ ได้ในราคาถูกผลตอบแทนจะสูงมาก แต่ต้อง "ถือรอ" จนตลาดกลับมาดี หรือช่วง 1-2 ปีนี้ที่หุ้นเป็นขาขึ้นตลอดมันก็ดีเพราะเราเล่นเราก็ได้กำไร หรือถ้าเป็นตลาดไซด์เวย์ข้อดีที่ผมชอบคือจะเป็นช่วงของการ "เก็บของ" เข้าพอร์ตไม่ต้องไล่ราคามากนัก"

กิติชัย บอกว่า ในมุมมองของตัวเองไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงไหนก็สามารถทำกำไรให้เราได้ ถ้าดูกราฟตลาดเป็นขาลงก็อาจจะลดพอร์ตถือหุ้นน้อยหน่อยแล้วคอยจังหวะซื้อกลับ แต่ไม่ได้ขายหมด อย่าง SCNYL ก็ถือไว้ไม่ได้ขาย ไม่จำเป็นว่าหุ้นขาลงต้องขายหุ้นทุกตัวในพอร์ต ถ้าผลการดำเนินงานยังดีราคายังถูกก็ไม่จำเป็นต้องขาย

"จริงๆ รอบนี้ผมก็พลาดตอนขึ้นมาจาก 380 จุดขึ้นมาถึงกว่า 500 จุดผมยังกลัวไม่กล้าซื้อเพราะว่าก่อนหน้านั้นเพิ่งจะขาดทุนเลือดซิบๆ กลับมาเล่นตอน 500-600 จุดแล้ว ช่วงนั้นหยุดเล่นเลย ช่วงที่หุ้นตกหนักๆ โหมไปดูคอนโดมิเนียมเกิดใหม่ เอาเวลาไปมุ่งทางด้านนั้น ทำตัวให้ดูยุ่งๆ จะได้ไม่มาสนใจตลาดหุ้นมาก"

ในส่วนของการวิเคราะห์ข่าวเซียนหุ้นราย นี้จะดูแหล่งข่าวว่ามาจากที่ไหน น่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วดูว่าผู้บริหารบางคนขี้โม้รึเปล่าอ่านข่าวหลายๆ ครั้ง ถ้าพูดแล้วไม่เป็นจริงเวลาเขาพูดอะไรเราก็ต้อง "หาร 2" ไม่ให้น้ำหนักมาก

"ผมรู้จักผู้บริหารในตลาด mai คนหนึ่ง ชอบขี้โม้บอกว่าบริษัทเขาดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย บางทีต้องหาร 3 ด้วยซ้ำ แต่ผู้บริหารบางบริษัทไม่โม้เลยและพูดน้อยกว่าความเป็นจริงนิดหน่อยด้วยซ้ำ ไป อย่างคุณอภิชาต ลี้อิสสระนุกูล ผู้บริหารไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า เขาพูดโอเคเลยเชื่อถือได้เป็นหุ้นตัวหนึ่งที่อยู่ในจอเรดาร์ของผม แต่ถ้าชื่นชมในความสามารถก็ต้องคุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ผู้บริหารบ้านปู"

กิติชัย มองว่า ผู้บริหารบ้านปูคนนี้อัจฉริยะจริงๆ เขาซื้อหุ้น บมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) หรือ ATC (ควบรวมกับโรงกลั่นน้ำมันระยองเป็น PTTAR) แถว 3 บาท มาขาย 40-50 บาท แล้วเขาซื้อไว้เยอะมากช่วงที่ไม่มีใครกล้าซื้อ แล้วการที่เขาขายหุ้น RATCH เอาเงินไปลงทุนเหมืองถ่านหินก็แสดงว่าหุ้น RATCH ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าผลตอบแทนไม่น่าสนใจแล้ว

"วิธีคิดของผมก็เหมือนกับคุณชนินท์ ถ้าผมจะขายหุ้นตัวหนึ่งก็คิดแล้วว่าเอาไปซื้อหุ้นตัวอื่นจะต้องได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า"

เซียนหุ้นราย นี้ยังเจาะลึกถึงขนาดที่ว่า ชาญ วรรธนะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงเทพประกันชีวิต ขายหุ้น BLA มาตลอดไปเช็คแล้วว่าเขาใกล้จะเกษียณคนนี้เขารวยมากที่ขายออกมาจิ๊บๆ เขามีทรัพย์สินไม่รู้กี่พันล้านบาทเป็นเจ้าของโรงแรม (รอยัล คลิฟ บีช พัทยา) ด้วย

"ผมถือหุ้น BLA เยอะก็เช็คข้อมูลสอบถามคนโน้นคนนี้ จนเราแน่ใจว่าไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ส่วนการวิเคราะห์วอลุ่ม ถ้าจู่ๆ วอลุ่มวันนี้โตขึ้นผิดปกติขึ้นมา 5-6 เท่าของวอลุ่มเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังแสดงว่าข้างในต้องมีข่าวอะไรสักอย่าง ถ้าวอลุ่มเข้าแล้วหุ้นขึ้นแสดงว่า "ดี" จะมีข่าวดี แต่ถ้าหุ้นขึ้นมาเยอะแล้วแล้ววอลุ่มก็พีคมากๆ "ต้องระวัง" แสดงว่ารายใหญ่อาจจะ "ออกของ" มันอยู่ที่ว่าวอลุ่มเยอะช่วงไหนของการขึ้นของราคา ถ้าจะดีต้องมีวอลุ่มเข้าช่วงเริ่มต้นขาขึ้นของราคา แสดงว่าหุ้นตัวนั้นกำลังจะไปแล้ว"

สมมุติว่าในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาเทรดวันละ 1 ล้านหุ้น แต่วันนี้ผ่านไปครึ่งวันมีวอลุ่มแล้ว 3-4 ล้านหุ้น แล้วราคาก็ขึ้นด้วยอันนี้ "ผิดปกติ" ต้องมีข่าวดีอะไรสักอย่างหนึ่งที่มีคนรู้แล้ว ในแง่ราคาหุ้นถ้าราคานิ่งๆ วอลุ่มไม่มาก แต่จู่ๆ ราคาหุ้นขึ้นพร้อมวอลุ่มมากด้วย ต้องมีอะไรแล้ว

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ราคาหุ้นขึ้นโดยหลักการแล้วหุ้นอะไรก็ตามถ้าพื้น ฐานบริษัทดีจริงๆ ในที่สุดราคาก็ต้องขึ้นมาตอบสนองกับพื้นฐาน เขาเชื่อว่า หัวใจของการลงทุนให้ได้กำไรก็คือเลือกซื้อหุ้นในราคาถูกกว่าราคาที่เหมาะสม เยอะๆ นี่คือหลักการ Margin of Safety ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้ แต่ราคาเหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวก็ไม่เท่ากัน

"อย่าง BGH ผมมีความรู้สึกว่ามันควรอยู่ที่ 48 บาท บางคนอาจจะบอกว่าอยู่ที่ 42 บาท ความคิดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตอนลงไป 15-16 บาท ไม่ได้ซื้อผมมาเก็บเยอะแถว 28 บาท ตอนนี้ผมมองราคาเหมาะสมที่ 48 บาท เวลาการขึ้นของหุ้นสมมติราคาเหมาะสม 48 บาท มันอาจจะขึ้นไป 50 กว่าก็ได้ ตอนขาลงบอกว่าเหมาะสมที่ 30 บาท ลงไป 20 บาทก็ได้ เสน่ห์ของหุ้นก็ตรงที่ว่าราคามันขึ้นหรือลงมากกว่าที่ควรจะเป็นได้เยอะ ถ้าเราเข้า-ออกถูกจังหวะก็จะได้กำไรเยอะ"

ถามว่าหุ้นถูกหุ้นแพงดูตรงไหนเขาตอบว่า จะดู P/E เป็นหลักเลยบางครั้งแพงกว่าตลาดไม่มากก็ซื้อ หุ้นบางตัว P/E ต่ำกว่าตลาดมากก็ไม่ซื้อ เพราะธุรกิจไม่มีอะไรน่าสนใจ ลักษณะธุรกิจต้องน่าสนใจ ต้องมีสตอรี่การเติบโตที่น่าสนใจ และดูความสามารถในการทำกำไรในอนาคตเป็นหลัก
แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.