Group Blog
 
All blogs
 
เซียนหุ้นหน้าหยก 'กิติชัย เตชะงามเลิศ' พอร์ตหุ้น 400 ลบ.


หนุ่มหน้าหยกพกความ กล้าเดินเข้าไปขอซื้อหุ้น NINE จาก'ธนะชัย สันติชัยกูล' ซีอีโอเครือเนชั่น 3 ล้านหุ้น พร้อมแนะนำตัวในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ NBCอันดับ 4 หนุ่ม 'โนเนม' รายนี้เป็นใคร ที่แน่ๆ...เขาไม่ธรรมดา

แม้เขาจะกลับมามือเปล่าไม่ได้หุ้น NINE ติดมือจาก ธนะชัย สันติชัยกูล ซีอีโอเครือเนชั่นแม้แต่หุ้นเดียว เพราะไม่มีหุ้นจะขายให้พนักงานเครือเนชั่นยังได้รับสิทธิจองซื้อหุ้น NINE น้อยนิดคนละ 1,000 หุ้น (2,400 บาท) แต่หนุ่มโนเนมรายนี้ก็เป็นที่สนใจขึ้นมาทันใด

"กิ๊ด" กิติชัย เตชะงามเลิศ หนุ่มใหญ่วัยขึ้นเลข 40 ปี แต่หน้าละอ่อนราวกับ "หยก" เขามักปฏิเสธที่จะบอกอายุจริงเพราะขี้เกียจอธิบายว่ามีเคล็ดลับอะไรถึงหน้า เด็กกว่าอายุ ไม่เพียงไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนทั่วไปเขายังไม่เป็นที่รู้จักของนัก เล่นหุ้นในวงการ ทั้งที่มีฝีไม้ลายมือระดับ "เซียน"

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีนัดกับเซียนหุ้นหน้าหยกบนคอนโดหรูส่วนตัวขนาด 194 ตารางเมตร ย่านใจกลางกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดรถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอส ซึ่งเขาบอกว่าทำเลตรงนี้คือ The Best Location ของประเทศไทย กิติชัยไม่ชอบสุงสิงกับใครมากนักชอบนั่งเล่นหุ้นคนเดียวในคอนโดขนาด 2 ห้องนอนที่ดัดแปลงหนึ่งห้องเป็นห้องทำงาน เหตุนี้เขาจึงแทบจะไม่มีเพื่อนพ้องในวงการ แต่ถ้าวัดระดับความใหญ่ของพอร์ตแล้วพูดได้คำเดียวว่า "ไม่ธรรมดา"

กิติชัยเริ่มเล่นหุ้นจากเงินก้อนเล็กและเติบใหญ่จนปัจจุบันมีพอร์ตหุ้น กว่า 400 ล้านบาท ขณะที่อีกขาหนึ่งเขาเป็น "นักเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์" ตัวยงที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ต้องส่งเทียบเชิญไปงานเปิดตัว คอนโดมิเนียมโครงการใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันเขามีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การครอบครองมูลค่ากว่า "ร้อยล้านบาท" ทั้งให้เช่า และซื้อเก็บไว้เก็งกำไร

ประวัติชีวิต "กิ๊ด" เด็กหนุ่มแซ่แต้ ชีวิตผกผันยิ่งกว่านิยาย ธุรกิจที่บ้านเริ่มต้นทำโรงงานทอผ้า โรงงานเสื้อยืด และค้าส่งเสื้อผ้าอยู่ย่านปทุมวัน ชีวิตวัยเด็กจัดว่ามีอันจะกิน แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตก็คืบคลานเข้ามาและเปลี่ยนทุก สิ่งทุกอย่างไปในชั่วข้ามคืน

"ตอนผมอายุ 12 ปี ที่บ้านเกิดไฟไหม้โรงงานเสื้อยืดไหม้ทั้งที่พักและที่ค้าส่งเสื้อผ้า คุณพ่อกับคุณแม่ของผมเสียชีวิตตั้งแต่ตอนนั้น มีผม พี่ชายและน้องสาว เรา 3 คนที่รอดชีวิต ไฟไหม้ตั้งแต่เช้ามืดช่วงตี 5 ตอนนั้นทุกคนยังเด็กกันอยู่ไม่มีใครสามารถที่จะรันธุรกิจต่อได้ ในที่สุดโรงงานทอผ้าที่ไฟไม่ไหม้ก็ขายกิจการให้กับหุ้นส่วนของพ่อไป เหลือแต่ธุรกิจค้าส่งเสื้อผ้าที่ยังพอทำได้ เพราะตั้งแต่เล็กๆ ก็ช่วยพ่อแม่ค้าขายอยู่แล้ว"

เซียนหุ้นรายนี้ต้องลาออกจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ขณะเรียนอยู่ชั้น ม. 1 เพื่อมาช่วยพี่ชายขายส่งเสื้อผ้า ชีวิตต้องช่วยเหลือตัวเอง คิดเอง และตัดสินใจเองมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ช่วงนั้นเขาจึงไปเรียนกวดวิชาตอนกลางคืนแล้วมาสอบเทียบ ม.ปลาย

"ตอนแรกไปสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ คะแนนสอบผมติดคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ด้วยซ้ำแต่ไม่ได้เลือกไว้ เพราะไม่มีใครแนะแนว ปีนั้นรุ่นพี่เอ็นดูผมมากเพราะเป็นคนเดียวในคณะที่เลือกคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อันดับ 1 และผมก็สอบได้อันดับที่ 1 ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในปีนั้นด้วย"

แต่เข้าไปเรียนที่จุฬาฯได้แค่เทอมเดียวต้องลาออก เพราะต้องเรียนเต็มเวลาทำให้ไม่มีเวลาทำงานหาเงินช่วยทางบ้าน ตอนนั้นพี่ชายทำคนเดียวไม่ไหวก็เริ่มบ่น ในที่สุดเขาก็ไปลงเรียนที่รามคำแหง คณะบริหารธุรกิจ เอกวิชาการเงินการธนาคาร ใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปีครึ่งแถมได้ทุนเรียนฟรี 2 เทอมเพราะเรียนดี

ชีวิตเด็กหนุ่มแซ่แต้ที่ขาดทั้งพ่อและแม่ไม่หยุดขวนขวายพอจบปริญญาตรีที่ รามฯ ก็มาสอบเรียนต่อปริญญาโท MBA ที่จุฬาฯ ปีนั้นเขาสอบติดทั้งหมด 3 มหาวิทยาลัย จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และนิด้า

"ผมสอบติดทั้ง 3 ที่เลย แต่สอบตกสัมภาษณ์ที่ธรรมศาสตร์ แต่ผ่านที่นิด้า กับจุฬาฯ ผมก็เรียน MBA พร้อมกัน 2 ที่เลย แต่เรียนไปได้แค่เทอมเดียวไม่ไหว มันเหนื่อย เรียนด้วยช่วยพี่ชายดูร้านด้วย สุดท้ายก็ตัดที่นิด้าทิ้งเพราะเดินทางไกลเลือกเรียน MBA ที่จุฬาฯ ที่เดียวใกล้บ้าน (ที่ปทุมวัน) ที่สุด ช่วงที่เรียนหนังสือผมก็เริ่มเล่นหุ้นแล้ว ถึงตอนนี้ก็เกือบ 20 ปีแล้ว ถ้าจำไม่ผิดเริ่มเล่นหุ้นประมาณปี 2534-2535 แถวๆ นั้น"

ก่อนจะเข้าสู่ภาคของ "หุ้น" กิติชัยพาวกเข้าสู่เรื่องราวชีวิตในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก่อน ช่วงที่เรียนหนังสือเขาก็ต้องแบ่งเวลามาช่วยพี่ชายขายส่งเสื้อผ้าด้วยแต่พัก หลังธุรกิจเริ่มซบเซา สมัยก่อนค้าขายดีเพราะมีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวรัสเซีย และตะวันออกกลางมาซื้อของที่ร้านไปขาย แต่พักหลังคนกลุ่มนี้ก็หายหน้าไปเลย จากการสอบถามได้ข้อมูลว่าชาวต่างชาติกลุ่มนี้ไปซื้อเสื้อผ้าที่เมืองจีนแทน แล้วแถวบ้านยังมีคนเอาสินค้าจีนมาขายตัดราคาอีก

"ผมก็คุยกับพี่ชายว่าผมไม่ทำแล้วนะ เพราะมองว่ามันเป็น "ซันเซ็ท" (ธุรกิจตะวันตกดิน) อีกอย่างตรงแถวปทุมวันที่ผมขายส่งเสื้อผ้า ก็มีคนมาสร้างเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่มีร้านค้ามาเปิดขายแข่งจำนวนมาก ดูแล้วไม่มีอนาคต เพราะเค้กก้อนเล็กลงแต่มีคนถือมีดบังตอมาขอหั่นมากขึ้น"

เขาวิเคราะห์ว่า หนึ่ง. ธุรกิจนี้หมดเวลาทำเงินแล้ว สอง. เค้กมันเล็กลงด้วย ตอนไปบอกว่าจะเลิกพี่ชายก็ถามว่าแล้วจะทำมาหากินอะไรกัน ก็บอกพี่ชายไปว่า "ไม่รู้" รู้แต่ว่าทำไปก็ไม่รุ่ง ไม่รู้จะทำต่อไปทำไม ช่วงที่ขายดียอดขายเยอะพอสมควรเป็น "หลักล้านบาท" ต่อเดือน แต่มาร์จินต่ำ กำไรไม่ได้เยอะ

"ตอนนั้นผมมีความคิดว่าคนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน มันเสียโอกาสเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้เงินเยอะกว่าดีกว่า ช่วงที่เลิกค้าส่งเสื้อผ้าเมื่อประมาณ 10-11 ปีที่แล้วก็มีกำไรจากหุ้นสะสมไว้พอสมควรแล้ว ระหว่างนั้นก็บอกพี่ชายว่าจะมาเล่นหุ้นเป็นอาชีพ พี่ชายก็เสนอว่าขายตึกแถวไปครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งก็เก็บไว้ดีกว่า ผมก็บอกว่าถ้างั้นทำคนเดียวผมไม่ทำแล้ว พี่ชายก็บอกว่าถ้าผมไม่ทำเขาก็เลิกทำ ช่วงนั้นน้องสาวก็แต่งงานออกไป"

หลังจากนั้นก็เริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจ (เก็งกำไร) อสังหาริมทรัพย์ เริ่มจากเพื่อนชวนไปนั่งประมูลทรัพย์สินของกรมบังคับคดี สมัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วยังมีคนเข้าประมูลไม่มาก ราคาประมูล จึง "ถูกมาก" จนเห็นโอกาสเต็มไปหมด

"ถึงผมจะไม่ได้อยู่ในวงการนี้ก็ยังรู้สึกได้เลยว่า "มันถูกมาก" ชิ้นแรกที่ประมูลได้ราคา 1.3 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยวอายุกว่า 10 ปี อยู่แถวถนนพัฒนาการ ผมขายไปได้ที่ราคา 1.8 ล้านบาท กำไร 5 แสนบาทภายในเวลาเพียง 4 เดือนโดยไปลงประกาศขายในอินเทอร์เน็ต ผมก็มองว่าธุรกิจซื้อมาขายไปอย่างนี้ดีกว่าค้าขายเสื้อผ้าตั้งเยอะ เพราะค้าส่งเสื้อผ้ากว่าจะได้กำไร 5 แสนบาทมันเหนื่อยมาก ผมก็พุ่งเป้ามาที่ธุรกิจนี้เลย"

ต่อมาเห็นข่าวบริษัทฮาริสัน เปิดประมูลที่ดินในสนามกอล์ฟวินด์มิลล์ย่านถนนบางนา-ตราด ก็ไปประมูลมาได้ 5 แปลง แปลงละ 300-400 ตารางวา ราคาแปลงละ 7-8 ล้านบาท หรือตารางวาละ 18,000-19,000 บาท กิติชัยมองว่าราคานี้ถูกมากแม้แต่เจ้าของซีพีก็ยังอยู่ในหมู่บ้านนั้น

"ผมขายไป 4 แปลง ยังเก็บไว้ 1 แปลง บางแปลงที่ขายกำไรน้อย บางแปลงก็กำไรเยอะ แปลงที่ขายได้ราคาแพงสุดตารางวาละ 30,000 บาท ถือไว้ 3-4 ปี แต่ระหว่างนั้นก็เข้าประมูลบ้านของกรมบังคับคดีขายมาเรื่อยๆ ผมชวนพี่ชายมาทำธุรกิจนี้เต็มตัว โดยแบ่งหน้าที่กันว่าให้พี่ชายดูแลบ้านเก่าและคอนโดมิเนียมเก่า ส่วนผมรับผิดชอบเฉพาะคอนโดมิเนียมใหม่"

เขาเล่าว่าก่อนประมูลก็ต้องไปดูทรัพย์สินก่อน ไปดูสภาพแวดล้อม และเช็คราคาบ้านที่ขายบริเวณใกล้เคียง สมัยก่อนกรมบังคับคดีทำแผนที่หยาบมากกว่าจะหาบ้านที่ประมูลเจอวนหาแล้วไม่ รู้กี่รอบ หน้าที่ของกิติชัยจะไปจองพวกคอนโดมิเนียมใหม่ๆ ราคาไหนที่สมเหตุสมผลดูแล้วขายต่อ มีกำไรก็จะจองครั้งละหลายยูนิต ส่วนใหญ่ก็จะขายตอนที่คอนโดสร้างเสร็จแล้ว แต่ก็มีบางเคสที่ขายใบจองก็มี เขาเล่ารายละเอียดบางโครงการถือใบจอง 20 กว่าวัน ทำกำไรมากกว่า 10 เท่าตัวก็เคยมาแล้ว แต่ขอร้องไม่ให้ลงตีพิมพ์

กิติชัยบอกว่า จริงๆ แล้ว โอกาสมันมีเสมอเพียงแต่ว่าคุณเห็นโอกาสนั้นรึเปล่า นอกจากเก็งกำไรซื้อมาขายไปแล้ว ยังมีให้เช่าด้วย บ้านบางหลังประมูลได้แล้วเจ้าของเดิมไม่ย้ายออกก็ต้องให้เขาเช่า ที่ประมูลมามี 3-4 เคสที่ต้องฟ้องให้เจ้าของเดิมย้ายออกเพราะไม่ยอมออกและไม่ยอมจ่ายค่าเช่า ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อนของการประมูลบ้านเก่า

ปัจจุบันธุรกิจนี้หากินยากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว สมัยก่อนทรัพย์สินของกรมบังคับคดีเขาบอกว่าเป็น "บลู โอเชี่ยน" การที่คนเข้าประมูลไม่เยอะราคาก็ไม่แข่งขันกันมาก จึงได้ทรัพย์สินราคาถูก

"ปัจจุบันผมเรียกว่ามันเป็น "เรด โอเชี่ยน" คนรู้จักที่จะไปประมูลมากขึ้นจนราคาเดี๋ยวนี้ไม่ถูกแล้ว เวลาไปประมูลจะวางมัดจำ 50,000 บาท เดี๋ยวนี้มีคนบางกลุ่มพอประมูลได้ก็เอาทรัพย์ไปเร่ขาย เพราะกรมบังคับคดีให้เวลา 3 เดือนในการโอน ภายใน 3 เดือนถ้าเขาขายไม่ได้เขายอมทิ้งเงิน 50,000 บาท เขาคิดว่าถ้าฟลุคบางชิ้นกำไร 4-5 แสนบาท กลุ่มนี้จะสู้ทุกราคาเพื่อให้ได้ทรัพย์มาก็เหมือนกับการปั่นราคา ปัจจุบันนี้ไม่ถูกแล้ว"

หลักการวิเคราะห์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กิติชัยใช้ประสบการณ์เป็นหลักไม่เคยศึกษามาก่อน แต่เขารู้ว่าในย่านนี้ถ้าเป็นทาวน์เฮ้าส์ 21 ตารางวา บ้านเดี่ยว 60 ตารางวา หรือคอนโดเก่าในย่านนี้ ราคาควรอยู่ที่เท่าไร

"ผมจะใช้วิธีเลียบๆ เคียงๆ สอบถามราคาแถวนั้นที่ติดประกาศขายเราก็จะรู้ "ราคาตลาด" ในย่านนั้น แล้วก็รู้ว่าจะประมูลราคาเท่าไร สู้ได้เต็มแค่ไหน ส่วนวิธีการต่อยอดทำให้ทรัพย์สินมีราคาสูงขึ้นจะมีช่าง 2-3 ทีม เข้าไปปรับปรุง ตกแต่ง ทาสีใหม่ และทำความสะอาดให้ทรัพย์อยู่ในสภาพดีแล้วถึงจะประกาศขาย ถ้าขายตามสภาพจะขายยากเพราะบ้านที่ประมูลได้ส่วนใหญ่ค่อนข้างเก่า ผมว่าการเรียนรู้ทุกอย่างมีประสบการณ์เป็นครู"

สำหรับคอนโดมิเนียมใหม่เขาบอกว่าจะดูง่ายเริ่มแรกต้องรู้จักทำเลที่ตั้ง และมาให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายสรุปข้อมูลให้ฟัง ปัจจุบันราคาคอนโดใหม่ที่บริษัทต่างๆ ตั้งขายแทบจะเก็งกำไรไม่ได้แล้ว เมื่อ 4-5 เดือนที่แล้วแสนสิริเชิญไปงานเปิดตัวคอนโดแถวทองหล่อ ขายตารางเมตรละ 1.4 แสนบาท ถึงจะใกล้รถไฟฟ้ามากแต่ว่าทำเลทองหล่อราคานี้ถือว่า "แพง"

"ถ้าผมจะซื้อตรงทองหล่อราคา 1.4 แสนบาท ผมซื้อคอนโด 185 ราชดำริ ของไรมอนแลนด์ดีกว่า ตารางเมตรละ 1.9-2 แสนบาท อยู่ตรงสถานทูตเขมรเก่าแล้วเป็นฟรีโฮลด์ (โครงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน) ด้วย เพราะย่านนั้นเป็นที่ดิน สนง.ทรัพย์สินฯเกือบหมด ราคาทองหล่อกับราชดำริต่างกัน 5 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ถ้าจะซื้อเก็งกำไรผมซื้อแถวราชดำริดีกว่า"

ถามว่าไม่คิดจะเปิดบริษัททำโครงการอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองบ้างหรือ เขาบอกว่า "คงไม่ทำ" เพราะการเป็นเจ้าของโครงการมีภาระต้องรับผิดชอบมาก เป็นนักลงทุนแบบนี้เป็น "อิสระ" อยากไปไหนก็ได้

"ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาผมไปเที่ยวบ่อย ครั้งละ 15-20 วัน ปีละ 3-4 ครั้ง ถ้าตั้งบริษัทขึ้นมาชีวิตผมไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ผมคิดว่าการเล่นหุ้นก็เหมือนการทำธุรกิจเพราะเราคัดสรรแต่บริษัทที่ดี มีผู้บริหารที่เก่ง หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ผมไม่ทำเอง ถ้าโครงการไหนดี ทำเลดี ราคาไม่แพง มีโอกาสทำกำไรได้ผมก็ไปจอง ชีวิตก็สบายดีแล้ว ผมไม่อยากหาเหามาใส่หัวอีก ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ผมจะ "เก็งกำไร" เป็นหลัก แต่ถ้าเป็นหุ้นจะไม่ใช่"

สัปดาห์หน้าติดตามภาคของ "หุ้น" วิธีคิดของเซียนหุ้นหน้าหยก เจ้าของพอร์ต 400 ล้านบาท รับรองว่า "ไม่ธรรมดา" โอกาสอยู่ใน 'อากาศ' อยู่ที่คุณจะเจอหรือไม่!

"ผมจะเล่าประวัติคอนโดที่ผมอยู่ให้ฟัง (ตรงจุดตัดรถไฟฟ้าใต้ดิน และ BTS) ขนาดพื้นที่ 194 ตารางเมตร เดิมห้องเก่าขนาด 100 ตารางเมตร เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้วผมรู้สึกว่ามันเล็กเกินไปหันไปทางไหนติดกำแพงหมดเลย ผมก็ประกาศขายขณะที่ยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ ช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ค่อยดีราคาขายตกลงไปเหลือตารางเมตรละ 40,000 กว่าบาท แต่ผมขายได้ 58,000 บาทต่อตารางเมตร เพราะตกแต่งไว้ค่อนข้างสวย"

"ผมทำสัญญาขอเช่าอยู่ต่ออีกไม่เกิน 3 เดือน เสร็จแล้วผมไปเปิดหาในคลาสสิฟายด์ไปเจอคอนโดที่ซอยร่วมฤดี ขนาด 250 กว่าตารางเมตร ราคาถูกมากตารางเมตรละไม่ถึง 30,000 บาท พอผมซื้อมาได้ประมาณ 2 อาทิตย์ คอนโดเก่าที่ผมอยู่ก็มีคนอยากขาย ผมชินแถวนี้และมองว่าตรงที่ผมอยู่ปัจจุบันนี่แหละเป็น The Best Location ปัจจุบันจุดตัดรถไฟฟ้ามีแค่ 3 ที่ คือ หมอชิต ศาลาแดง และอโศก ตรงหมอชิตผมถือว่าอยู่นอกโซนธุรกิจ ตรงศาลาแดงก็มีผับบาร์เต็มไปหมดไม่เหมาะอยู่อาศัย"

กิติชัย เล่าว่า ขายห้องเก่าราคา 5.8 ล้านบาท (100 ตารางเมตร) ซื้อห้องใหม่ราคา 7.8 ล้านบาท ได้ห้องมุมพื้นที่เพิ่มเป็น 194 ตารางเมตร แถมซื้อได้ราคาถูกลงเหลือตารางเมตรละ 40,000 บาท ทั้งที่ช่วงเวลาห่างกันไม่ถึง 2 เดือน ส่วนคอนโดที่ซอยร่วมฤดีถือไว้ 8-9 เดือน ขายไปได้กำไร 1.1 ล้านบาท เท่ากับว่าคอนโดที่อยู่ปัจจุบันเพิ่มเงินเพียงแค่ 9 แสนบาท ได้อยู่ตึกเดิมแถมได้พื้นที่เพิ่มจาก 100 ตารางเมตร เป็น 194 ตารางเมตร

"ผมจึงบอกว่าโอกาสมีอยู่เสมอ ผมเป็นคนที่ไขว่คว้าหาโอกาสไม่ได้รอให้โอกาสวิ่งมาหา ผมเห็นโอกาสจากคลาสสิฟายด์นะเปิดจากบางกอกโพสต์ กับเดอะเนชั่น ตอนนั้นโทรไปเกือบ 20 เจ้ากว่าจะเจอโอกาส แต่บางครั้งผมมีความรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ผมที่อยู่บนสวรรค์คอยดูแลช่วย เหลือ"

ปัจจุบันเขาบอกว่ามีคอนโดอยู่ในย่านสุขุมวิทหลายแห่งทั้งที่ซื้อไว้ปล่อย เช่า และเก็บไว้เก็งกำไร ถ้ารวมอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในพอร์ตเป็นหลัก "ร้อยล้านบาท"
แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.