Group Blog
 
All blogs
 
Don't Fight the Fed


บทความวันนี้อาจจะ มีชื่อคล้ายกับประโยคทองของนักวิเคราะห์ด้านเทคนิค (หรือTechnical Analyst) คือ “Don’t Fight the Trend” ที่แนะนำว่า เมื่อทิศทางราคามีแนวโน้ม หรือ Trend ไปในทิศทางใด (ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง) นักลงทุนไม่สมควรที่จะเข้าซื้อหรือขายในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับ Trend นั้น

ตัวอย่างในทางปฏิบัติของแนวคิดของ “Don’t Fight the Trend” หรือ “The Trend is Your Friend” ก็คือ เมื่อตลาดมี Trend ขาลงชัดเจน นักลงทุนไม่สมควรรีบเข้าไปช้อนซื้อ หรือเดาจุดต่ำสุด (catch a falling knife) หรือ เมื่อตลาดมี Trend ขาขึ้นชัดเจน Trader ก็ไม่ควรที่จะ Fight the Trend ด้วยการ Short สวน Trend ออกมา เพราะว่าตลาดสามารถที่จะปรับตัวไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ได้เป็นอย่างมากและเป็นระยะเวลานาน ดังที่ John Maynard Keynes (เจ้าของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบ Keynes ที่โด่งดัง) ผู้ซึ่งเคยหมดตัวจากตลาดมาก่อน แสดงความเห็นไว้ว่า “The market can stay irrational longer than you can stay solvent.”

คำกล่าวว่า “Don’t Fight the Fed” ก็เป็นประโยคทองเช่นกันในหมู่บรรดานักลงทุนทั้งหลาย นับตั้งแต่ Martin Zweig ได้เสนอแนวคิดเรื่อง Monetary indicators - Don't Fight the Fed ไว้ในหนังสือ “Winning on Wall Street” เมื่อ ค.ศ.1990 ซึ่งอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างดอกเบี้ย Discount Rate ที่กำหนดโดยคณะผู้บริหารในระบบธนาคารกลางของสหรัฐ (The Board of Governors of the Federal Reserve System หรือ FED) กับ ราคาตลาดหุ้นในสหรัฐ

Zweig เชื่อว่า เมื่อ FED ปรับขึ้น Discount Rate ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยในตลาดมักจะปรับตัวลดลง โดยตลาดหุ้นถือว่ามีสภาพ Moderately Bearish หากปรับขึ้น Discount Rate ขึ้น 1-2 ครั้ง ในรอบ 6 เดือน และ Extremely Bearish หาก Discount Rate ถูกปรับขึ้น มากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป (แน่นอนว่า หาก Discount Rate ปรับลง ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น)

ปัจจุบัน แนวคิด “Don’t Fight the Fed” นี้ มิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงในวงการหุ้น แต่เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลในตลาดของ Asset Class อื่นๆ ด้วย เช่น อัตราแลกเปลี่ยน พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงแนวคิดนี้ก็มิได้จำกัดแค่การปรับ Discount Rate และหมายรวมถึงการดำเนินนโยบายเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ของ FED ด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินปี ค.ศ.2008 เป็นต้นมา เมื่ออัตรา Discount Rate อยู่ในระดับที่ต่ำมาก FED ได้นำเอานโยบายการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตร หรือ Quantitative Easing (QE) (ซึ่งปัจจุบันหมดอายุไปแล้ว) มาใช้เสริมกลับนโยบายดอกเบี้ย อีกทั้ง Ben Bernanke ประธาน FED กล่าวย้ำกว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ระดับใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ไปอีกนานเท่าที่จำเป็น และพร้อมจะมีมาตรการพิเศษอื่นอีกหากเห็นสมควร เพื่อเป็นหลักประกันว่าวิกฤติการเงินจะไม่หวนกลับมาอีก

ช่วงที่ผ่านมา หากตามสุนทรพจน์ของ Ben Bernanke ที่ Jackson Hole, Wyoming เมื่อ 27 ส.ค. 53 หรือสุนทรพจน์ของ William Dudley ผู้ว่า FED สาขานิวยอร์ก ที่ Graduate School of Journalism, New York เมื่อ 1 ต.ค.2553 ที่ได้กล่าวไว้ในทำนองว่า “ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังต่ำเกินไป” หรือ การแสดงความเห็นของ James Bullard ผู้ว่า FED สาขาเซ็นต์หลุยส์ ผ่าน CNBC ในรายการ SQUAWK BOX เมื่อ 8 ต.ค.2553 ก็จะเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการพิมพ์เงินออกมา หรือ QE ภาคสอง (QE 2.0) เร็วๆ นี้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของระบบธนาคารกลางของสหรัฐ เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2553 ที่เพิ่งได้ถูกนำเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อ 13 ต.ค.2553 ซึ่งทั้งหมดสามารถตีความได้ว่า ASSET CLASS ต่าง ๆ น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ในช่วง 3 เดือนมานี้ ดูเหมือนว่าตลาดได้คาดการณ์ความเป็นไปได้ของนโยบาย QE 2.0 ไปแล้ว สังเกตจากราคาหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 15% ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แทบทุกประเภทต่างปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า ไล่เรียงตั้งแต่ สินค้าเกษตร อาทิเช่น น้ำตาล 68% ข้าวโพด 58% ข้าวโอ๊ต 58% ข้าวสาลี 47% ถั่วเหลือง 24% กลุ่มโลหะ อาทิเช่น ทองแดง 32% เงิน 30% อะลูมิเนียม 21% ทองคำ 12% และน้ำมันดิบ 12%

จะเห็นได้ว่า คาถา “Don’t Fight the Fed” ช่วงนี้ ก็ศักดิ์สิทธิ์ เพราะผู้ที่ใช้กลยุทธ์ที่ “Fight the Fed” หรือ เก็งกำไรในทิศทางขาลง (เปิด Short Position ไว้) ขาดทุนกันถ้วนหน้า และจะขาดทุนอย่างมากหากเป็นการลงแบบ High Leverage เช่นใน ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) หรือ ตลาดอนุพันธ์ (TFEX)

ส่วนตัวผมเอง ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไรกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาดังกล่าว เพราะเข้าใจว่าน่าจะเกิดจากการคาดการณ์ของนักลงทุน ในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายของธนาคารกลางชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และมีสกุลเงินที่ปัจจุบันยังเป็น World Reserve Currency

แต่ช่วงที่ผ่านมาผมยังแปลกใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ เหตุใดข้าวในบ้านเรายังมีระดับราคาที่ค่อนข้างต่ำ (ณ วันที่ 12 ต.ค. ข้าวขาว 5% ตลาดกรุงเทพฯ รายงานโดยกรมการค้าภายใน ราคาตันละ 12,750 บาท ลดลง 3% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา) ราคาไม่ยอมปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของกระแสโลก (ราคาธัญพืชแทบทุกตัว) ทั้งๆ ที่ มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น รัสเซีย ปากีสถาน หรือ ออสเตรเลีย รวมถึง Crop Report ของ USDA ล่าสุด รายงานถึงภาวะผลผลิตที่ตกต่ำของธัญพืชส่วนใหญ่ในสหรัฐในปีนี้ (ไม่นับรวมเรื่องของ Don’t Fight the Fed ที่พูดว่าก่อนหน้าอีกนะครับ)

หลายท่านอาจจะออกมาแย้งว่า ข้าวไทยราคาไม่ขึ้น เพราะเงินบาทแข็ง ซึ่งผมก็พอจะเห็นประเด็น แต่บาทแข็งอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวถึงกลับปรับตัวลดลงมา เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ หากเทียบกับสินค้ายางที่โค้ดกันเป็น “บาท” เหมือนกัน ปัจจุบันทำ New High ในรูปของบาทจนราคาอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว (RSS3 ใน AFET)
คงเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่รับ ผิดชอบ ที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ และ/หรือ แก้ปัญหา โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องอย่าลืมว่า ราคาข้าวตกต่ำ หรือ ยังไม่ยอมปรับตัวขึ้นทั้งๆ อาจจะสมควรต้องขึ้นแล้ว รัฐบาลย่อมได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะยิ่งราคาข้าวตกลงเท่าไรรัฐยิ่งต้องนำเงิน “ภาษี” มาจ่ายเงินชดเชยให้กับพี่น้องชาวนามากเท่านั้น (ตามเงื่อนไขของโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล) ซึ่งอาจทำให้เงินงบประมาณไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ

ท้ายนี้ขอเอาใจช่วยรัฐบาลให้สามารถหาคำตอบ และ/หรือแก้ปัญหา ข้าวที่ว่านี้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยเร็วครับ

แหล่งที่มา ดร.พีรพล ประเสริฐศรี กรุงเทพธุรกิจ



อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



 
ขอบคุณนะครับ อ่านตอนเช้าๆได้อาหารสมองดี


โดย: โต้คลื่น วันที่: 18 ตุลาคม 2553 เวลา:6:45:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.