All Blog
ฟัตวาอุละมาอฺว่าด้วยการถือศีลอดและเดือนรอมฎอน
(1) - จะทราบได้อย่างไรว่าเริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอน?
ถาม : เราจะทราบได้อย่างไรว่าเข้าสู่เดือนรอมฎอน?

ตอบ : ด้วย 2 วิธี คือ
1- การมองเห็นเดือน ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงตรัสไว้ว่า

(فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ)
“ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น” อัลบะเกาะเราะฮฺ : 185
ดังนั้น เมื่อมีการยืนยันจากผู้ที่เชื่อถือได้ ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
2- เดือนชะอฺบานครบ 30 วัน

(ฟัตวาเชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)



(2) - นอนเยอะในช่วงกลางวันของเดือนรอมฎอน

ถาม : ในเดือนรอมฎอนนั้น หากว่าหลังจากที่เราทานอาหารสุหูรฺและละหมาดฟัจญรฺเสร็จ เรานอนยาวถึงเวลาละหมาดซุฮรฺ เมื่อละหมาดซุฮรฺเสร็จก็นอนต่อจนถึงอัศรฺก็ตื่นละหมาดแล้วนอนต่อถึงมักริบ กระทำเช่นนี้การถือศีลอดของเราถือว่าใช้ได้ไหม?

ตอบ : การถือศีลอดในกรณีนี้ถือว่าใช้ได้ แต่การที่คนเรานอนตลอดทั้งวันนั้นถือเป็นความบกพร่องประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ซึ่งเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่มุสลิมจะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองให้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านอัลกุรอาน หรือ การศึกษาหาความรู้ เป็นต้น

(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและชี้ขาดปัญหาศาสนา ซาอุฯ เล่ม 1 หน้า 129)



(3) - การทานอาหารสุหูรฺเป็นผลดีต่อการถือศีลอด
ถาม : คนที่ไม่ทานสุหูรฺนั้น การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ไหม?

ตอบ : การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ เพราะการทานสุหูรฺนั้นไม่ใช่เงื่อนไขในการทำให้การถือศีลอดนั้นใช้ได้ แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (มุสตะหับ) เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :
( تَسَحَّرُوا فإنّ في السحُور بَركةً )
ความว่า “ พวกท่านจงทานสุหูรฺเถิด แท้จริงแล้วการทานสุหูรฺนั้นนำมาซึ่งบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ) ”
บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม

(ฟัตวาเชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ จากหนังสือรวมฟัตวาของท่าน)



(4) - กลืนน้ำลายขณะถือศีลอด

ถาม : อยากทราบหุก่มการกลืนน้ำลายในขณะถือศีลอด

ตอบ : เป็นสิ่งที่กระทำได้ ฉันไม่พบว่ามีอุละมาอฺท่านใดเห็นต่างไปจากนี้ เนื่องจากเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการกลืนน้ำลาย
ส่วนเสมหะและเสลดนั้นหากออกมาถึงช่องปากแล้วจำเป็นต้องคายออกมา และไม่อนุญาตให้กลืนเข้าไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต่างจากน้ำลาย วะบิลลาฮิตเตาฟีก

(ฟัตวาเชค บินบาซ ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน เล่ม 3 หน้า 251)



(5) - การใช้ไม้สิวากขณะถือศีลอด

ถาม : มีบางคนพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ไม้สิวากขณะถือศีลอด เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เสียการถือศีลอด ไม่ทราบว่าเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่? และเวลาใดที่เหมาะสำหรับการใช้สิวากในเดือนรอมฎอน?

ตอบ : การหลีกเลี่ยงการใช้สิวากในขณะถือศีลอดนั้นเป็นการกระทำที่ไม่มีหลักฐาน เนื่องจากการใช้สิวากนั้นถือเป็นสุนนะฮฺดังที่ปรากฎในหะดีษเศาะหีหฺ
(السواك مطهرة للفم ومرضاة للرب)
ความว่า “การใช้สิวากนั้น เป็นการทำให้เกิดความสะอาดในช่องปาก และทำให้เกิดความพอพระทัย ณ พระผู้เป็นเจ้า”

ซึ่งส่งเสริมให้กระทำทุกเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำการอาบน้ำละหมาด,เมื่อจะทำการละหมาด,ตื่นจากนอน หรือเข้าบ้าน เป็นต้น ไม่ว่าจะขณะถือศีลอดหรือไม่ก็ตาม และไม่เป็นการทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด นอกเสียจากว่าไม้สิวากนั้นจะมีรสชาติและทิ้งร่องรอยในน้ำลาย หรือใช้แล้วเกิดมีเลือดไหลออกจากเหงือกหรือไรฟัน เช่นนี้แล้วก็ไม่อนุญาตให้กลืนกินสิ่งเหล่านั้น

(ฟัตวาเชค อิบนฺ อุษัยมีน ในฟิกฮุลอิบาดาต)



(6) - การกินหรือดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจ

ถาม : อะไรคือหุก่มของการกินหรือดื่มขณะถือศีลอดด้วยความลืมตัว?

ตอบ : ผู้ที่กินหรือดื่มขณะถือศีลอดโดยที่เขาไม่ได้เจตนานั้น การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ แต่ทันทีที่เขานึกขึ้นได้จำเป็นต้องคายออกมาทันทีแม้ว่าจะเป็นเพียงอาหารแค่คำเดียว ซึ่งหลักฐานที่ระบุว่าการถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้นั้น ได้แก่หะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
(من نسي وهو صائم فأكل أو شرب فليتم صومه فإنما أطعمه الله وسقاه)
ความว่า : “ผู้ใดเผลอกินหรือดื่มในขณะถือศีลอด ก็ให้เขาถือศีลอดต่อไปแท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้ทรงประทานอาหารและเครื่องดื่มแก่เขา” บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม

(ฟัตวาเชค อิบนฺ อุษัยมีน ในฟิกฮุลอิบาดาต)



(7) - การใช้ยาห้ามประจำเดือนในเดือนรอมฎอน

ถาม : อนุญาตให้ใช้ยาห้ามประจำเดือนเพื่อให้สามารถถือศีลอดได้ทั้งเดือนหรือไม่?

ตอบ : สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นการดีที่มุสลิมะฮฺจะได้ถือศีลอดพร้อมๆกับคนอื่นและไม่ต้องถือศีลอดชดภายหลัง ทั้งนี้ในกรณีที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อตัวเธอ เนื่องจากสตรีบางคนเมื่อใช้ยาชนิดนี้แล้วจะทำให้เกิดอาการแพ้

(ฟัตวาเชคบินบาซ ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน เล่ม 15 หน้า 201)



(8 ) - การชิมอาหารขณะถือศีลอด

ถาม : การชิมรสชาติอาหารขณะถือศีลอดทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : อนุญาตให้ใช้ลิ้นทำการชิมรสชาติอาหารขณะถือศีลอดได้ แต่ชิมเสร็จแล้วต้องคายออกมาและไม่กลืนกินอาหารนั้นเข้าไป หากผู้ใดเจตนากลืนอาหารเข้าไปถือว่าการถือศีลอดของเขานั้นเสีย ทั้งนี้ ปากนั้นถือเป็นอวัยวะภายนอก การชิมอาหารจึงไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย เปรียบได้กับการบ้วนปากในการอาบน้ำละหมาด

(ฟัตวาเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน จาก //www.islamway.com)



(9) – การอาเจียน

ถาม : การอาเจียนทำให้เสียการถือศีลอดหรือไม่?

ตอบ : หากว่าเจตนาทำให้อาเจียนก็ถือว่าเสีย แต่ถ้าหากอาเจียนออกมาเองโดยไม่เจตนา เช่นนี้ก็ไม่เสีย ซึ่งหลักฐานที่ระบุถึงประเด็นนี้ได้แก่หะดีษอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

"من ذرعه القيء فلا قضاء عليه، ومن استقاء عمداً فليقض"ความว่า "ผู้ใดที่อาเจียนออกมาโดยไม่ได้เจตนานั้นไม่มีการชดสำหรับเขา และผู้ใดที่เจตนาทำให้อาเจียน เขาก็จงชดเสีย" บันทึกโดย อบู ดาวุด และตัรมิซียฺ

หากรู้สึกเหมือนจะมีอะไรออกมา จำเป็นต้องพยายามกลั้นไว้ หรือ พยายามทำให้ออก? คำตอบคือ อย่าพยายามทำให้อาเจียนออกมา และอย่าพยายามกลั้น เพราะถ้าเจตนาให้อาเจียนออกมาการถือศีลอดก็เสีย และถ้าหากพยายามกลั้นก็อาจจะเกิดโทษได้ เพราะฉะนั้นให้ทำตัวตามสบาย หากอาเจียนออกมาโดยไม่ได้เจตนา ก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)



(10) - ตัดผม ตัดเล็บ ขณะถือศีลอด

ถาม : อยากทราบว่าการตัดผม หรือตัดเล็บขณะถือศีลอดทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : การตัดผม ตัดเล็บ โกนขนรักแร้ หรือขนในที่ลับ ไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด

(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา ซาอุฯ)



(11) - บ้วนปากหลังจากทานสุหูรฺ

ถาม : จำเป็นหรือไม่ที่ต้องบ้วนปากหลังการทานสุหูรฺ? ถ้าหากทานแล้วไม่ได้บ้วนปากจนถึงเช้าจะทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : การบ้วนปากหลังทานสุหูรฺไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องกระทำแต่อย่างใด เพียงแต่ส่งเสริมให้บ้วนปากเพื่อรักษาความสะอาดในช่องปาก

(ฟัตวาเชคอับดุรฺเราะหฺมาน อัลอัจญฺลาน)



(12) - หุก่มการอาบน้ำขณะถือศีลอด

ถาม : ขณะถือศีลอดหากเรารู้สึกเหนื่อยหรือร้อน สามารถอาบน้ำหรือใช้น้ำราดศีรษะหรือตัวได้หรือไม่?

ตอบ : สามารถกระทำได้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยใช้น้ำราดศีรษะเนื่องจากอากาศร้อน หรือกระหายขณะที่ท่านศีลอด ท่านอิบนุ อุมัรฺ ก็เคยทำให้ผ้าของท่านเปียกชุ่มขณะถือศีลอดเพื่อลดความร้อนหรือความกระหาย การที่เสื้อหรือตัวเปียกน้ำไม่มีผลต่อการถือศีลอด เนื่องจากน้ำไม่ได้เข้าไปในร่างกาย

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)



(13) - เลือดออกตามไรฟัน

ถาม : มีเลือดออกตามไรฟันหรือเหงือก ทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : เลือดที่ออกตามไรฟันไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด แต่จำเป็นต้องระวังเท่าที่ทำได้ที่จะไม่กลืนเข้าไป เลือดกำเดาก็เช่นเดียวกัน

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)



(14) - กลืนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน

ถาม : หากมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟันแล้วเรากลืนเข้าไป เช่นนี้ถือว่าทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : ในกรณีนี้จำเป็นต้องคายเศษอาหารเหล่านั้นออกมา และถ้าหากเขาเจตนากลืนมันเข้าไป เช่นนี้ทำให้การถือศีลอดของเขาเสีย แต่ถ้ากลืนกินเข้าไปด้วยความไม่รู้ หรือลืมตัว ก็ไม่เป็นไร อนึ่ง จำเป็นที่มุสลิมต้องรักษาความสะอาดในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงการถือศีลอดหรือไม่ก็ตาม

(ฟัตวาเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน)



(15) - ใช้น้ำหอมขณะถือศีลอด

ถาม : อยากทราบหุก่มการฉีดน้ำหอมขณะถือศีลอด

ตอบ : ไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

** สำหรับสตรีห้ามใส่เครื่องหอมยามออกนอกบ้าน (By NaRok)



(16) – การเจาะเลือด

ถาม : การเจาะเลือดขณะถือศีลอดเพื่อนำไปตรวจ มีผลทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ 1 : อัลหัมดุลิลลาฮฺ หากว่าเลือดที่เจาะไปนั้นโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่ถ้าหากว่าเป็นการเจาะเลือดในปริมาณมาก ก็ควรถือศีลอดชดสำหรับวันนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งระหว่างอุละมาอฺ และเป็นการเผื่อ

(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อวิจัยทางวิชาการและฟัตวา ซาอุฯ เล่ม 10 หน้า 263)

ตอบ 2 : การตรวจเลือดเช่นนี้ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่เป็นสิ่งที่อนุโลมให้กระทำเพราะความจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอดตามบทบัญญัติศาสนาแต่อย่างใด

(ฟัตวาเชคบินบาซ ในฟะตาวา อิสลามิยะฮฺ เล่ม 2 หน้า 133)



(17) – การถือศีลอดในวันที่สงสัยว่าเป็นวันที่ 1 รอมฎอนหรือไม่? (يوم الشك)

ถาม : อยากทราบหุก่มการถือศีลอดในวันที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นวันที่ 1 รอมฎอนหรือ 30 ชะอฺบาน?

ตอบ : ผู้ที่ถือศีลอดในวันที่สงสัยว่าเป็นวันที่ 1 รอมฎอนหรือ 30 ชะอฺบาน โดยที่ไม่ได้ทราบว่ามีการเห็นเดือนอย่างถูกต้องตามหลักการ แล้วปรากฎว่าวันนั้นเป็นวันที่ 1 รอมฎอนพอดี เช่นนี้ การถือศีลอดของเขาในวันนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ เนื่องจากเขาไม่ได้ยึดหลักศาสนาในการเริ่มถือศีลอด (นั่นคือการมองเห็นเดือน) อีกทั้งยังเป็นวันที่กังขา (เยามุชชัก) ซึ่งมีหลักฐานที่ถูกต้องระบุชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในวันนี้ [ เช่น รายงานจากท่านอัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า “ ผู้ใดถือศีลอดในวันซึ่งเป็นที่กังขา (เยามุชชัก) แท้จริงเขาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของอบุล กอสิม (ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)” บันทึกโดยนักบันทึกทั้ง 4 ท่านอิบนุคุซัยมะฮฺกล่าวว่าเศาะหีหฺ – ข้อความระหว่าง [ ] เพิ่มโดย Abu Sofwan ]

และจำเป็นที่เขาต้องถือศีลอดชดสำหรับวันนี้ ซึ่งทัศนะนี้เป็นของอุละมาอฺส่วนใหญ่ เช่น ท่านอบูหะนีฟะฮฺ ท่านมาลิก ท่านชาฟิอียฺ และบรรดาสานุศิษย์ของท่านเหล่านั้น วะบิลลาฮิตเตาฟีก วะศ็อลลัลลอฮุอะลานะบิยินามุหัมมัด วะอาลิฮี วะเศาะหฺบิฮี วะสัลลัม

(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อวิจัยทางวิชาการและฟัตวา ซาอุฯ เล่ม 10 หน้า 117-118)



18) - ประโยชน์ทางด้านสังคมของการถือศีลอด?

ถาม : การถือศีลอดมีประโยชน์ทางด้านสังคมหรือไม่?

ตอบ : การถือศีลอดมีประโยชน์ทางด้านสังคมหลายประการด้วยกัน เช่น ทำให้มุสลิมมีความรู้สึกว่าทั้งหมดเป็นประชาชาติเดียวกัน ทุกคนต่างถือศีลอดในช่วงเวลาเดียวกัน คนรวยจะสำนึกในเนียะมัตของอัลลอฮฺ รับรู้ถึงความรู้สึกของคนจน และสงสารพวกเขา และในเดือนรอมฎอนความชั่วร้ายในหนทางของชัยฏอนลดน้อยลง ความตักวายำเกรงเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีความตักวา สังคมก็จะสงบสุข

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน)



19) – ในเดือนรอมฎอนชัยฏอนถูกล่าม แต่ทำไมเรายังเห็นคนทำบาป?

ถาม : เราต่างทราบกันดีว่าในเดือนรอมฎอนนั้นชัยฏอนจะถูกล่าม แต่ทำไมเราจึงยังเห็นผู้คนกระทำบาปกันอีก?

ตอบ : การกระทำบาปและมะศียัตที่เราเห็นในเดือนรอมฎอนนั้นไม่ได้ขัดแย้งกับตัวบทที่ว่าชัยฏอนถูกมัดหรือล่ามแต่อย่างใด เนื่องจากการที่พวกมันถูกล่ามนั้นไม่ได้บ่งบอกว่ามันจะไม่สามารถขยับเขยื้อนตัวเลยเสียทีเดียว ดังนั้น จึงมีหะดีษบทหนึ่งระบุว่า

( تصفد فيه الشياطين، فلا يخلصون إلى ما يخلصون إليه في غيره )
ความว่า : “ในเดือนนี้ (รอมฎอน) ชัยฏอนจะถูกล่ามไว้ ดังนั้น พวกมันจึงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เหมือนกับที่เคยทำในเดือนอื่นๆ”

นั่นคือ ไม่ใช่ว่าพวกมันจะขยับเขยื้อนทำอะไรไม่ได้เลยเสียทีเดียว มันยังคงเคลื่อนไหว และยังหลอกล่อผู้คนให้หลงผิด เพียงแต่กำลังของมันในเดือนรอมฎอนจะไม่อยู่ในระดับเดียวกับในเดือนอื่นๆ

และปรากฎในบางรายงานซึ่งบันทึกโดยอันนะสาอียฺว่า :

( تصفد فيه مردة الشياطين )
ความว่า : “บรรดาชัยฏอนที่มีความชั่วร้ายระดับต้นๆจะถูกล่ามตรวนไว้”

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเร้นลับที่จำเป็นต้องศรัทธาโดยไม่ต้องซักไซร้ให้มากความ เช่นนี้จะเป็นการดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับเรา

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน ในหนังสือรวมเล่มฟัตวาของท่าน)



20) - ถือศีลอดเพื่อลดความอ้วน

ถาม : อยากทราบหุก่มของคนที่ถือศีลอดเพื่อรักษาโรคหรือลดน้ำหนัก?

ตอบ : หากว่าเขาเนียตเพียงแค่นั้น แน่นอนว่าการถือศีลอดของเขาจะไม่มีประโยชน์ใดๆเลยในอาคิเราะฮฺ อัลลอฮตะอาลาทรงตรัสไว้ว่า

( مَن كَانَ يُرِيدُ العَاجِلَةَ عَجَّلْنَا لَهُ فِيهَا مَا نَشَاءُ لِمَن نُّرِيدُ ثُمَّ جَعَلْنَا لَهُ جَهَنَّمَ يَصْلاهَا مَذْمُوماً مَّدْحُوراً ، ومَنْ أَرَادَ الآخِرَةَ وسَعَى لَهَا سَعْيَهَا وهُوَ مُؤْمِنٌ فَأُوْلَئِكَ كَانَ سَعْيُهُم مَّشْكُورا )

ความว่า : “ผู้ใดปราถนาชีวิตชั่วคราว (ในโลกนี้) เราก็จะเร่งให้เขาได้รับมัน ตามที่เราประสงค์แก่ผู้ที่เราปราถนา แล้วเราได้เตรียมนรกไว้สำหรับเขา เขาจะเข้าไปอย่างถูกเหยียดหยามถูกขับไส และผู้ใดปราถนาปรโลก และขวนขวายเพื่อมันอย่างจริงจัง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ชนเหล่านั้น การขวนขวายของพวกเขาจะได้รับการชมเชย” (อัลอิสรออฺ : 18-19)

(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชคศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)



(21) - คนป่วย

ถาม : ชายคนหนึ่งเป็นโรคกระเพาะอักเสบ หมอห้ามให้เขาถือศีลอดเป็นเวลา 5 ปี ไม่ทราบว่าเช่นนี้เขาต้องทำอย่างไร?

ตอบ : หากว่าหมอที่ห้ามเขาถือศีลอดนั้นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ มีความรู้ และมีอมานะฮฺ เช่นนี้ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่หมอบอก ด้วยการไม่ถือศีลอด จนกระทั่งเขาสามารถที่จะถือศีลอดได้อีกครั้ง ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงตรัสไว้ว่า

( فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضاً أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَر )
ความว่า : "แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดินทางก็ให้ถือใช้ในวันอื่น" (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 184)

และเมื่อเขาหายแล้ว ก็จำเป็นที่เขาต้องถือศีลอดชดสำหรับเดือนรอมฎอนที่เขาไม่ได้ถือศีลอด

(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)



(22) - ผู้ป่วยที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อีกเลย

ถาม : อยากทราบหุก่มของผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อีกเลย เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่มีความหวังจะหาย หรือเนื่องจากความชรา?

ตอบ : จำเป็นที่เขาต้องให้อาหารแก่คนจน ครึ่งศออฺ (ราวๆ ครึ่งกิโลกรัม) 1 คน ต่อ 1 วัน ซึ่งอาหารนั้นต้องเป็นอาหารหลักที่คนทั่วไป ณ ที่นั้นทานกัน เช่น ข้าว เป็นต้น โดยให้จ่ายต้นเดือนดังที่ท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เคยทำ หรือจะเป็นกลางๆเดือน หรือปลายเดือนก็ได้

(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)



(23) - การเนียตในคืนก่อนการเดินทาง

ถาม : ชายคนหนึ่งประสงค์จะเดินทางในวันรุ่งขึ้น ไม่ทราบว่าในคืนนั้นเขาจะเนียตว่าพรุ่งนี้จะไม่ถือศีลอด (เพราะจะเดินทาง) ได้หรือไม่?

ตอบ : ไม่อนุญาตให้กระทำเช่นนั้น จำเป็นที่เขาต้องเนียตถือศีลอด เพราะเขาไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา อาจจะมีเหตุทำให้เดินทางไม่ได้ก็เป็นได้ เมื่อเขาเดินทางแล้วจึงค่อยละศีลอดหากเขาประสงค์ หรือหากจะยังคงถือศีลอดก็ไม่เป็นไร

(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)

ที่มา : ฟัตวาอุละมาอฺว่าด้วยการถือศีลอดและเดือนรอมฎอน ห้องสมุดอิกเราะฮฺ ออนไลน์ โดยคุณ Abu Sofwan



Create Date : 17 กันยายน 2550
Last Update : 17 กันยายน 2550 13:52:45 น.
Counter : 832 Pageviews.

0 comments

นะ(รก)
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]



เพราะเราไม่รู้ว่า ลมหายใจจะหมดลงเมื่อใด
The Doomsday Book
Date Conversion
Gregorian to Hijri Hijri to Gregorian
Day: Month: Year
Website Counter
New Comments