โลกคือเวทีละคร ไม่ว่าใครก็ต่างก็ต้องแสดงในบทบาทของตนที่นั่น
Group Blog
 
All Blogs
 

My life as a coach



สวัสดีครับ

เมื่อหลายวันก่อน ผมได้ลองเปิดเวป เล่นๆดู และก็ได้พบเวปนึง เค้าได้แนะนำหนังสือ " My life as a coach" เขียนโดย คุณ ซิคเว่ เบรคเก้ (ที่เคยเป็น CEO ของ DTAC น่ะครับ) ซึ่ง ในหนังสือเล่มนี้จะเป็นการรวบรวมบทความจากคอลัมน์ Quote of the Day ของคุณซิคเว่ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

และคนที่เป็นเจ้าของเวปนั้นก็ใจดีมากเลย ได้ทำการเรียบเรียงบทความใน Quote of the day ในหนังสือกรุงเทพธุรกิจมาให้อ่านกัน

ผมก็ได้ทำการก็อบมาใส่ไว้ในบล็อกนี้ไว้หมดแล้ว หวังว่าจะได้แง่คิดดีๆ ได้กำลังใจ จากการอ่านบทความนี้นะครับ

สุดท้ายนี้ผมคิดว่าหนังสือ "My life as a coach" เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การครอบครองอย่างยิ่งจริงๆ




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:43:07 น.
Counter : 827 Pageviews.  

We are not in the coffee business serving people. We are in the people business serving coffee

“We are not in the coffee business serving people. We are in the people business serving coffee” – Howard Schultz, CEO, Starbucks

ผมเป็นคนชอบดื่มกาแฟครับ ปกติก่อนมาทำงาน ผมจะแวะซื้อกาแฟที่ร้านสตาร์บัคส์ทุกวัน ไม่ใช่เพราะรสชาติ หรือ ความโก้เก๋ของแบรนด์ แต่เป็นเพราะผมชอบวิธีการบริการของเขา บอกไม่ได้ว่าทำไมถึงชอบ มันแค่รู้สึกดีที่ได้เดินเข้าไปในร้านและเจอพนักงานที่คุ้นเคย และพร้อมจะให้บริการตลอดเวลา

ผมเคยถามตัวเองและเพื่อนๆ อีกหลายคนเหมือนกันว่า ทำไมเรายอมควักกระเป๋าซื้อกาแฟที่สตาร์บัคส์ทั้ง ๆ ที่เราสามารถใช้เงินจำนวนเท่ากันซื้อกาแฟร้านอื่นได้อย่างน้อยก็ 2 แก้ว

บางคนบอกว่าเป็นเพราะรสชาติ ในขณะที่อีกหลานคนบอกว่าเป็นเพราะกลิ่นหอมโดนใจของกาแฟที่ลอยมาเตะจมูกทุกครั้งที่เดินผ่านหน้าร้าน

แต่ผมคิดว่า หัวใจของความสำเร็จของสตาร์บัคส์มาจากการที่เขามองเห็นในสิ่งที่คู่แข่งมอง ไม่เห็นและรีบนำสิ่งนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ก่อนที่คนอื่นจะขยับทำตาม

ครับ ผมกำลังพูดถึงความกล้าที่จะเปลี่ยนกรอบความคิดเดิม ๆ ของร้านกาแฟทั่วไปที่เน้นที่ตัวสินค้าอย่างเดียว มาเป็นการให้ความสำคัญกับการให้บริการและประสบการณ์ของลูกค้ามากขึ้น

สตาร์บัคส์ไม่ได้มองว่าตัวเองอยู่ในธุรกิจกาแฟ แต่มองว่าตัวเองทำธุรกิจด้านการบริการ ซึ่งมี “คน” เป็นหัวใจ ต่อให้สินค้าดีอย่างไร ถ้าไม่สามารถนำเสนอหรือให้บริการที่โดนใจ “คน” แล้ว คุณก็ไม่สามารถประสพความสำเร็จหรือสร้างความแตกต่างได้

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน โรงแรม หรือ ธนาคาร ต่างก็หันมาแข่งขันกันที่คุณภาพของบริการทั้งนั้น เพราะโลกธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีเทคโนโลยีล้ำสมัยหรือกำลังทรัพย์ เพราะสิ่งเหล่านี้คู่แข่งของคุณก็มีได้เช่นกัน

สิงคโปร์ แอร์ไลน์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ล้ำหน้าคูแข่งด้วยบริการที่ประทับใจ เพราะเขารู้ว่าใคร ๆ ก็ซื้อเครื่องบินจากเวนเดอร์เดียวกัน จะให้หรูหราไฮเทคอย่างไรก็สั่งได้ ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะแตกต่างด้วยการให้บริการทำให้ลูกค้ารู้สึกดีและอยาก กลับมาใช้บริการในครั้งต่อไป

มีคนถามผมว่าแล้วตลาดมือถือล่ะจะเป็นอย่างไรในอนาคต ผมเชื่อว่า ก็คงไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องผันตัวจากเป็นธุรกิจที่เน้นโปรดักส์ (สำหรับเราก็คือเทคโนโลยีการสื่อสาร) เป็นธุรกิจที่เน้นด้านการบริการมากขึ้น

ทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสินค้าสามัญประจำบ้านไปแล้ว เพราะราคาเครื่องถูกและค่าโทรไม่แพง เมื่อก่อนเวลาพูดถึงมือถือ คนจะมองว่าเป็นสินค้าไฮเทคสำหรับคนมีเงินเท่านั้น แม้แต่ผู้ให้บริการเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเน็ตเวิร์คหรือบริการเสริมต่าง ๆ ดังนั้น เจ้าไหนมีเน็ตเวิร์คที่ดี สัญญาณชัด ก็มักจะได้เปรียบ

แต่วันนี้เกือบทุกเจ้าก็มีสัญญาณใกล้เคียงกัน ความครอบคลุมของโครงข่ายก็พอ ๆ กัน ราคาค่าบริการก็เหมือนกัน เรื่องเน็ตเวิร์คหรือราคาจึงกำลังกลายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ลูกค้าหาได้จากผู้ ให้บริการรายใดก็ได้ และพวกเขาเริ่มมีความคาดหวังและเรียกร้องในเรื่องคุณภาพบริการมากขึ้น

ดังนั้น จุดเปลี่ยนของการแข่งขันจึงเป็นเรื่องของ “คน” และ “การบริการ”
เวลาพูดถึงคน ผมหมายถึงทั้ง คนของเรา และ ลูกค้า
เวลาพูดถึงบริการ ผมไม่ได้หมายถึงแค่งานหน้าร้าน หรือ พนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ แต่หมายถึงทุก ๆ จุดที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้

ซึ่งการจะให้บริการที่ดี ต้องเริ่มที่คนครับ เราต้องทำให้คนของเรามีหัวใจของการให้บริการก่อน
เราต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนให้และคนรับ พูดอีกอย่างก็คือ คนรับจะมีความพอใจและกลายเป็นความผูกพันในบริการ เมื่อเขาสัมผัสได้ถึงความยินดีและเต็มใจของคนให้ ในขณะที่คนให้ก็จะรู้สึกดีและภูมิใจที่สิ่งที่ให้ไปเป็นที่ถูกใจของผู้รับ

พูดง่ายแต่ทำยากครับ เรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ ทั้งการสร้างคน การปรับเปลี่ยนแนวคิด การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้รู้สึกว่างานบริการคือหัวใจของความสำเร็จ การขยายช่องทางจำหน่ายเพื่อให้สะดวกกับลูกค้ามากที่สุด

แต่ผมหวังว่า วันหนึ่งเมื่อถามลูกค้าว่าทำไมเขาถึงเลือกใช้บริการของเรา เขาจะตอบชี้ชัดเจาะจงลงไปไม่ได้ว่าชอบเราเพราะอะไร เพราะมันหมายความว่าเราสามารถสร้างความพอใจให้เขาในทุก ๆ touch point จนเขาไม่สามารถระบุออกมาได้ว่าชอบเราที่ตรงไหน รู้แต่ว่าชอบ เชื่อใจ และอยากจะใช้เราไปเรื่อย ๆ

ผมยังหวังด้วยว่าวันหนึ่งเมื่อถามพนักงานว่าทำไมเขาถึงเลือกทำงานกับเรา เขาจะไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าเพราะอะไร เพราะนั่นหมายความว่าเขามีความสุขกับงานที่ทำมากจนอยากมาทำงานและให้บริการ ลูกค้าทุกวัน โดยไม่คิดที่จะลาออกไปหางานใหม่

เมื่อวันนั้นมาถึง ผมเชื่อว่าเราสามารถบอกได้ว่า “We are not in the mobile business anymore. But we are in the people business, serving mobile services instead” เราไม่ได้อยู่ในธุรกิจมือถืออีกต่อไป แต่เราอยู่ในธุรกิจบริการที่มีคนเป็นศูนย์กลางและให้บริการมือถือต่างหาก.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2549
Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:35:47 น.
Counter : 419 Pageviews.  

Fail faster, succeed sooner.

“Fail faster, succeed sooner.” - David Kelley

ผมเชื่อมาตลอดว่าการทำผิดพลาดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากแต่คือบันไดไปสู่ความสำเร็จต่างหาก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองว่าการทำผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องไม่ดีหากเรารู้จักนำมันมาเป็นบทเรียน อย่างที่เดวิด เคลลี่ พูดไว้ “ยิ่งล้มเหลวเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น” ดังนั้น ผมจึงมักกระตุ้นให้พนักงานดีแทคทุกคนกล้าที่จะเสี่ยงและไม่กลัวที่จะพลาด เพราะตราบใดที่เราสามารถลุกขึ้นได้ใหม่ ย่อมหมายถึงเรารู้จักแก้ไขตัวเองและเรียนรู้บทเรียนจากความผิดพลาดนั้น

ผมขอยกตัวอย่างความผิดพลาดครั้งหนึ่งที่ดีแทคให้ฟังนะครับ

สองปีที่แล้ว ช่วงก่อนวันสงกรานต์ ผมไปเยี่ยมตัวแทนขายและลูกค้าที่ภาคใต้ มีลูกค้ารายหนึ่งเดินเข้ามาบอกว่าดีแทคน่าจะมีของสมนาคุณเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกค้าบ้างในวันสงกรานต์ ผมปรึกษาทีมแล้วปิ๊งไอเดียทำแคมเปญเติมเงินสองเท่าขึ้นมาทันที โดยลูกค้าที่มาเติมเงินที่ร้านดีแทคในช่วงสงกรานต์จะได้โบนัสโทรฟรีเพิ่ม เป็นสองเท่าของมูลค่าที่เติม ฟังดูเยี่ยมไปเลยใช่มั้ยครับ?

ผลก็คือภายในหนึ่งอาทิตย์ เราต้องเติมเงินโบนัสเป็นล้านครั้ง แคมเปญโดนใจลูกค้ามาก แต่ไม่ค่อยจะสมดุลกับเงินในกระเป๋าเราสักเท่าไร ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่าแคมเปญนี้ทำให้เรากระเป๋าแฟบไปเป็นกอง (จนทุกวันนี้ผมยังจำหน้าตาอันคร่ำเครียดของเจ้าหน้าที่การเงินตอนที่เดินมา แจ้งข่าวได้อยู่เลย!)

ครับ นั่นคือความผิดซึ่งเกิดจากการพลาด ไม่ได้คำนวณอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะตามมา ได้แต่คิดว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่ดีที่เราจะตอบแทนลูกค้าได้ แต่การที่ผมเป็น CEO ผมอาจทำเป็นลืมๆ แล้วบอกให้ทุกคนเงียบๆ ไปซะก็ได้ แต่ผมเลือกที่จะยอมรับความผิดพลาด (ซึ่งน่าจะเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ผมทำงานที่นี่) ต่อหน้าผู้บริหารทุกคน และมาวันนี้ ผมก็อยากจะเล่าเรื่องนี้ให้พวกคุณได้รับรู้ เพราะผมเชื่อว่าการทำผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย หากเรามองว่ามันคือประสบการณ์และการเรียนรู้ แต่การทำผิดพลาดจะเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากๆ หากเรามัวแต่โทษว่าเป็นความผิดของคนอื่นและไม่ยอมที่จะปรับปรุงอะไรเลย

ก่อนจบ ผมมีอีกกิจกรรมที่อยากนำเสนอ เผื่อใครสนใจจะนำไปทำบ้างก็ไม่ว่ากันครับ

เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้ริเริ่มโครงการ “My mistake story” ขึ้น โดยประเดิมเป็นคนเขียนอีเมล์เล่าประสบการณ์การทำผิดพลาดของตัวเองให้พนักงาน กว่า 4,000 คนอ่านเป็นคนแรก จากนั้นก็โยนให้คุณธนา (เธียรอัจฉริยะ) เป็นคนรับช่วงต่อ พอคุณธนาเขียนเสร็จ ก็โยนให้ผู้บริหารท่านอื่นๆ ต่อไป เป้าหมายหลัก ไม่ใช่การสร้างมหกรรมสารภาพบาปนะครับ แต่คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบดีแทค ที่ทำให้พนักงานเห็นว่า แม้แต่ผู้ บริหารระดับสูงก็ล้วนผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นจงอย่ากลัวที่จะลงมือทำ แม้ว่าผลที่ได้อาจไม่ใช่อย่างที่ต้องการ แต่อย่างน้อยคุณก็ได้ลอง เพราะถ้าไม่ลอง ก็ไม่รู้ จริงมั้ยครับ

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 กันยายน 2549
Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:35:05 น.
Counter : 566 Pageviews.  

Leaders don’t create ‘followers’. They create ‘leaders

“Leaders don’t create ‘followers’. They create ‘leaders’” – Tom Peters

มีคนถามผมว่า ผมมีวาระอยู่ในตำแหน่งอีกกี่ปี ว่าง่าย ๆ คือ จะอยู่อีกนานมั้ย มีแผนจะลาออกเมื่อไหร่ เป็นคำถามที่โดนใจมาก ๆ ครับ

ที่โดนก็เพราะว่า ผมเป็นคนไม่เคยวางแผนอะไรนาน ๆ อย่างตอนที่มาทำงานที่นี่ ผมก็ไม่คิดว่าจะอยู่กี่ปี เผอิญทางผู้ถือหุ้นก็ไม่ได้กำหนดว่าจะให้อยู่นานแค่ไหน ก็เลยบอกชัด ๆ ลงไปไม่ได้ว่าจะอีกกี่ปี หรือ อีกกี่วัน

แต่ถ้าวันไหนผมรู้สึกว่าผมไม่สามารถให้อะไรที่เป็นประโยชน์กับบริษัทอีก ต่อไป หรือวันที่มีผู้นำคนใหม่ที่พร้อมจะก้าวเข้ามาแทนที่ ผมก็พร้อมจะโบกมือลา เพื่อไปหาอะไรใหม่ ๆ ทำ (แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นด้วยนะครับ ถ้าอยากให้ไปเมื่อไหร่ ผมก็คงต้องไปเมื่อนั้นเหมือนกัน)

ผมออกจะอาย ๆ อยู่เหมือนกันเวลามีคนบอกว่าบริษัทประสบความสำเร็จได้เพราะมีผมเป็นผู้นำ หากวันไหนขาดผมไป บริษัทอาจจะเสียเปรียบคู่แข่ง

ไม่จริงเลยครับ ผมว่าบริษัทก้าวมาถึงจุดนี้ได้เพราะทีมเวิร์คมากกว่า และบริษัทที่ดีก็ควรจะเป็นเช่นนั้น ต้องสามารถยืนได้ด้วยตัวเองและไม่ยึดติดกับตัวบุคคล

ดังนั้น ผมคิดว่าหน้าที่ของผู้นำก็เหมือนโค้ชฟุตบอล หาผู้เล่นที่เก่ง ๆ มาร่วมทีม จัดสรรหน้าที่ของแต่ละคนให้เหมาะสม และพยายามทำให้ทีมทำงานด้วยกันได้ไม่สะดุด

อีกบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กัน คือต้องสร้างผู้นำใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่สร้างแต่ผู้ตาม หรือห้อมล้อมตัวเองด้วยคนที่เอาแต่พยักหน้าเห็นด้วยตลอดเวลา

การสร้างผู้นำขึ้นมาใหม่ซึ่งวันหนึ่งเขาอาจจะมาแทนที่คุณ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ข้อแรก คุณต้องมองหาคนที่มีทั้งความสามารถและทัศนคติที่ดีในการทำงาน

ข้อสอง คุณต้องให้โอกาสเขาคนนั้นพิสูจน์ตัวเอง ให้อำนาจในการตัดสินใจ ให้เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน ทั้งงบประมาณและกำลังคน

ข้อสาม ซึ่งน่าจะยากที่สุด คือคุณต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง คุณต้องพร้อมที่จะก้าวลงจากตำแหน่งและผลักดันให้ผู้นำคนใหม่ก้าวขึ้นมาแทน ซึ่งเขาอาจจะดีกว่าหรือเก่งกว่าคุณด้วยซ้ำ

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนอย่างมาก เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรในการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็มองหาคนที่มีแววจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำต่อไป

ผมต้องท้าทายและกดดันพวกเขาเหล่านั้นตลอดเวลา เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะทำให้เขาจะแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่

แน่นอนครับ ผมเองก็ต้องถูกท้าทายจากลูกน้องที่เก่ง ๆ เหมือนกัน

แต่ถ้าคิดได้ว่ามีลูกน้องเก่งกว่าเป็นเรื่องดี เราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องอีโก้อะไรให้วุ่นวาย แถมยังสามารถเลือกคนให้เหมาะกับงานได้ดีขึ้น เพราะรู้ว่าใครเก่งด้านไหน อย่างไร

และถ้าวันไหนที่ผู้นำคนใหม่เติบโตเต็มที่ ผมก็พร้อมที่จะไป
แต่ระหว่างนี้ก็คงต้องเห็นหน้าผมไปเรื่อย ๆ ก่อนนะครับ!

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2549
Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:34:14 น.
Counter : 415 Pageviews.  

We need men who can dream of things that never were

“We need men who can dream of things that never were.” – John F. Kennedy

วันที่ 25 พฤษภาคม 1961 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ แถลงต่อหน้าที่ประชุมคองเกรสว่าเขาจะส่งชายคนแรกไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ภาย ในทศวรรษที่ 60

พอฟังแล้วหลายคนอาจคิดว่าประธานาธิบดีคนนี้ช่างเพ้อฝันเหลือเกิน จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนจะไปดวงจันทร์ ถึงจะทำได้ มันก็น่าจะใช้เวลามากกว่านั้น เพราะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แถมยังต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านเทคนิค บุคลากร และอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่ความฝันที่คนอื่นมองว่าไกลเกินเอื้อมก็เป็นความจริงขึ้นมา วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 สหรัฐอเมริกาส่งยาน Apollo 11 ขึ้นไปในอวกาศ และชายชื่อ นีล อาร์มสตรอง เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์

ผมชอบที่เคนเนดี้บอกว่าเราต้องการคนที่กล้าฝันถึงสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

แต่แค่ฝันอย่างเดียวคงไม่พอ เราต้องมีคนที่มุ่งมั่นด้วย ตั้งเป้าหมายให้สูง และหาหนทางไปให้ถึง

แทนที่จะตั้งเป้าปีต่อปี เคนเนดี้มองข้ามช็อตเป็นสิบปี เขาตั้งเป้าว่าอเมริกาจะต้องเป็นชาติแรกที่ส่งคนไปลงดวงจันทร์ให้ได้ภายใน สิ้นทศวรรษที่ 60 หลังจากนั้นเขาถึงวางแผนย้อนหลังไปว่า เพื่อจะไปให้ถึงดวงจันทร์ในอีกสิบปีข้างหน้า เขาต้องการอะไรบ้าง งบประมาณเท่าไหร่ และต้องมีศูนย์วิจัยอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ก็เหมือนกับการทำธุรกิจ เมื่อก่อนเวลาเราตั้งเป้าหมายการดำเนินงานของบริษัท เรามักจะมองเพียงแค่ว่าปีต่อไปเราจะมียอดลูกค้าเท่าใด มาร์เก็ตแชร์เท่าไหร่ มีรายได้แค่ไหน โดยคำนวณงบประมาณเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าใช้วิธีคิดแบบเคนเนดี้ เราจะกำหนดแผนการทำงานโดยดูที่เป้าหมายของอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้าเป็นหลัก เพราะฉะนั้นวิธีการกำหนดแผนงานในปีหน้าเพื่อปูทางให้เราไปถึงเส้นชัยที่เรา ตั้งไว้ก็คงจะต่างจากวิธีคิดแบบเดิมที่เคยใช้ในอดีตที่ผ่านมา

การที่เรากล้าฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ทำให้เรามองอนาคตต่างไปจากเดิม

แต่ฝันคนเดียวไม่สนุกหรอกครับ ต้องแบ่ง ๆ ความฝันให้คนอื่นด้วย

ผมว่าการที่อเมริกาสามารถส่งนีล อาร์มสตรอง ไปดวงจันทร์ได้ คงไม่ใช่เพราะมันคือความฝันของประธานาธิบดีเพียงคนเดียว แต่เป็นความฝันของคนทั้งชาติที่รู้สึกอยากเข้ามามีส่วนร่วมในความฝันนี้ด้วย กัน

มีเรื่องเล่ากันว่าตอนที่มีการตั้งองค์การนาซ่าใหม่ ๆ มีนักข่าวสนใจไปทำข่าวกันมาก วันหนึ่งนักข่าวมีนัดสัมภาษณ์ผู้บริหารที่ชั้นบน แต่พอดีเหลือบไปเห็นคุณลุงคนหนึ่งกำลังถูพื้นในล็อบบี้ด้วยท่าทีขะมักเขม้น เพราะสงสัยว่าอะไรทำให้ลุงคนนี้มีความสุขกับการทำงานขนาดนั้น เขาเลยเดินเข้าไปถาม ลุงเงยหน้าขึ้นมองแล้วยิ้มก่อนจะตอบว่า “เพราะผมภูมิใจที่กำลังเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในการส่งมนุษย์คนแรกไป เหยียบดวงจันทร์”

การได้ทำงานในนาซ่า ถึงแม้จะเป็นแค่พนักงานตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง แต่คุณลุงคิดว่าถ้าไม่มีใครเก็บกวาดทำความสะอาด เจ้าหน้าที่ทั้งหลายก็คงทำงานได้ไม่ราบรื่น และอเมริกาก็คงไปไม่ถึงดวงจันทร์เช่นกัน

ผมกับเพื่อนร่วมงานก็มีการตั้งเป้า “Man on the Moon Goal” ไว้เหมือนกันครับ แต่คงบอกรายละเอียดตรงนี้ไม่ได้ ที่แน่ ๆ คือมันอาจดูไกลเกินเอื้อมในวันที่เรากำหนดมันขึ้นมา แต่เราเชื่อว่าถ้าเรากล้าที่จะฝันและทำให้คนทั้งบริษัท ไม่ว่าเขาจะเป็นใครหรือตำแหน่งอะไรก็ตาม เชื่อในฝันเดียวกัน วันหนึ่ง ฝันนั้นจะต้องเป็นจริง

และวันนี้ผมว่าผมเริ่มมองเห็นแล้วล่ะครับว่าดวงจันทร์ไม่ได้ไกลอย่างที่คิด.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 กันยายน 2549
Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:33:42 น.
Counter : 642 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

Mr_high
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr_high's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.