โลกคือเวทีละคร ไม่ว่าใครก็ต่างก็ต้องแสดงในบทบาทของตนที่นั่น
Group Blog
 
All Blogs
 

It’s alright to be Goliath, but always act like David

“It’s alright to be Goliath, but always act like David” - Phil Knight

เคยได้ยินนิทานเรื่องเดวิดกับโกไลแอทมั้ยครับ

ตามท้องเรื่องโกไลแอทเป็นขุนศึกฝีมือฉกาจที่มีร่างกายสูงใหญ่น่าเกรงขาม วันหนึ่งด้วยความเชื่อมั่นในฝีมือของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม โกไลแอทกรีธาทัพมาหยุดที่หน้าเมืองของเดวิดพร้อมตะโกนท้าทายให้คนในเมืองออก มาสู้กับตัวเองแบบตัวต่อตัว ถ้าแพ้ก็ต้องเสียเมือง แต่ถ้าชนะ เขาจะยอมศิโรราบแต่โดยดี

เจ้าเมืองวิตกอย่างมาก เพราะไม่รู้จะหาใครที่กล้าออกไปต่อกรกับโกไลแอทได้ แต่ในที่สุดเดวิด ลูกชาวนาตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งก็เสนอตัวออกไปรบ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาวุธอะไรมากมาย นอกจากหนังสติ๊กกับดาบเล็ก ๆ เล่มหนึ่ง ความปราดเปรียวและกำลังใจที่กล้าแข็ง ทำให้เดวิดสามารถล้มยักษ์โกไลแอทได้อย่างที่ไม่มีใครคาดมาก่อน

ตอนเด็ก ๆ ผมฟังเรื่องนี้ไปเพลิน ๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก นอกจากเป็นนิทานที่สนุกดี

พอโตขึ้นและได้เข้ามาทำงานบริหาร ผมเริ่มคิดว่า ความจริงโลกธุรกิจก็ไม่ต่างกับนิทานเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ถ้าให้แบ่งง่าย ๆ ผมว่าบริษัทที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้มีอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือบริษัทยักษ์ใหญ่เหมือนโกไลแอท ที่ประสพความสำเร็จมาตลอด มีพลังอำนาจล้นเหลือทั้งในด้านการตลาดและเงินทุน ขยับตัวแต่ละทีก็สะเทือนไปทั้งวงการ ในขณะที่บริษัทประเภทที่สองนั้นเหมือนเดวิด คือเป็นบริษัทเล็ก ๆ ไม่มีทุนรอนอะไรมาก นอกจากกำลังใจและความมุ่งมั่นที่จะชนะ เหมือนนักมวยตัวเล็กที่ขยันต่อย วิ่งวนไปรอบ ๆ หาทางแย็บตลอดไม่เหน็ดไม่เหนื่อย

ผมไม่ได้บอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี หรือแบบไหนดีกว่ากันนะครับ

การเป็น “พี่เบิ้ม” หรือ “ยักษ์ใหญ่” นั้นเป็นสิ่งดีแน่นอน เพราะหมายถึงความได้เปรียบหลายด้าน รวมทั้งเป็นเครื่องหมายแสดงความสำเร็จที่ทีมงานได้บุกบั่นฟันฝ่ากันมาหลายปี

แต่ปัญหาคือพอประสพความสำเร็จมาก ๆ เข้า บางบริษัทก็เริ่มจะอุ้ยอ้าย ตัดสินใจทำอะไรทีก็ต้องผ่านการอนุมัติหลายขั้นตอน แถมผู้บริหารก็อาจชะล่าใจว่าคงไม่มีคู่แข่งที่ไหนไล่ทันเพราะทิ้งช่วงห่าง กันหลายขุม ดังนั้นจากที่เคยเป็นขุนศึกที่คล่องแคล่วในสนามรบก็กลายเป็นแม่ทัพที่เชื่อง ช้าและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรักษาฐานอำนาจภายใน มีหลายครั้งที่พวกเขาเหล่านี้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เพียงเพราะกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะสั่นคลอนสถานภาพของตน

ในขณะที่บริษัทเล็ก ๆ นั้นเสียเปรียบเกือบทุกด้าน ทั้งกำลังเงิน กำลังคน แต่สิ่งที่บรรดามวยรองเหล่านี้มีคือสปิริตของนักสู้ ที่กล้าเสี่ยงและพร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และเนื่องจากเป็นบริษัทเล็ก การขยับแต่ละก้าวมักจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว คิดปุ๊บ ลงมือปั๊บ เหมือนหน่วยรบที่พร้อมลงสนามทำศึกตลอดเวลา จะว่าไปองค์กรเล็กที่ประสพความสำเร็จหลายแห่งมักนำเอาข้อเสียเปรียบของตัว เองมาเป็นแรงผลักให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้าได้อย่างน่าแปลกใจ

นอกจากนี้ บริษัทเล็ก ๆ เหล่านี้มักจะทำงานประสานกันได้ค่อนข้างลื่นไหล เพราะไม่มีโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อน อีกทั้งผู้นำหลายคนขององค์กรขนาดเล็กก็มักจะใช้วิธีการบริหารแบบถึงลูกถึงคน มากกว่า ดังนั้นเรามักไม่ค่อยเห็นช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงานมากนัก ในขณะเดียวกัน บริษัทเหล่านี้มักจะไม่เหลิงไปกับความสำเร็จ เพราะรู้ว่าหนทางยังอีกไกลกว่าจะใหญ่โตกับเขาบ้าง

แต่เมื่อวันนั้นมาถึง ผมอยากให้คิดถึงคำพูดของ ฟิล ไนท์ เอาไว้เป็นเครื่องเตือนใจนะครับ

ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของไนกี้คนนี้เคยกล่าวไว้ว่า มันไม่ผิดที่จะเป็นโกไลแอท แต่ควรทำตัวให้เหมือนเดวิดด้วย

ฟิล ไนท์ สร้างไนกี้ขึ้นมาจากบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในปี 1964 บริษัทนี้ทำเงินแค่ 3,240 เหรียญ แต่พอในปี 1996 ไนกี้มีรายได้สูงถึง 6.5 พันล้านเหรียญ หลังจากนำไนกี้ขึ้นครองตำแหน่งแชมป์ตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา ไนท์ไม่เคยหยุดที่จะมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ เสมอ เช่นการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจแฟชั่นชุดกีฬาสตรี ซึ่งก็ขายดิบขายดี หรือการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ ถึงจะเป็นผู้นำมาหลายปี เขาไม่ยอมหยุดอยู่กับที่ให้ใครมาขโมยตำแหน่งแชมป์ไปง่าย ๆ เหตุการณ์ที่เขากลัวที่สุดและไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยในชีวิตก็คือวันที่หลาน ๆ เงยหน้าขึ้นถามเขาว่า “ไนกี้คืออะไร”

การก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรักษาตำแหน่งแชมป์เอาไว้ยิ่งยากกว่า ดังนั้น ถ้าวันนั้นมาถึง อย่าให้ความสำเร็จมาบดบังจนมองไม่เห็นใครอยู่ในสายตา และให้รักษาสปิริตความเป็นมวยรองที่สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีความ กระตือรือร้นที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลานะครับ

ถ้าจะเป็นยักษ์ ก็ขอให้เป็นยักษ์ที่คล่องแคล่ว ถ้าจะเป็นผู้นำ ก็ขอให้นำด้วยสมอง ไม่ใช่ด้วยขนาดอย่างเดียวครับ.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550
site: //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:09:09 น.
Counter : 350 Pageviews.  

“I don’t know the key to success, but the key to failure is trying to please everybody” - Bill Cosby

“I don’t know the key to success, but the key to failure is trying to please everybody” - Bill Cosby

มีนักจิตวิทยาหลายคนบอกว่าสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องการนอกเหนือไป จากปัจจัยสี่ ก็คือความรักและการยอมรับในสังคม ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมบางคนถึงได้พยายามอย่างเหลือเกินที่จะทำดีกับ ทุกคน เพราะเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ตนเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รัก

แต่จะมีกี่คนที่ได้ตามที่หวังครับ?

ผมรู้ว่ามันอาจฟังดูโหดร้าย แต่ในความเป็นจริงนั้น เราอาจจะทำให้คนบางคนพึงพอใจได้ในบางเวลา แต่เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ตลอดเวลา ดังนั้น หากวันนี้คุณกำลังทำงานอะไรสักชิ้นหนึ่ง และต้องการหาคนมาช่วยติชม ไม่ต้องมองที่ไหนไกล นักวิจารณ์ที่สามารถให้ความเห็นที่จริงใจและตรงไปตรงมาที่สุด อยู่ใกล้ ๆ แค่นี้เอง

ก็ตัวคุณเองไงครับ!

ผมว่ามีหลายคน ที่พอว่างเมื่อใดก็มักจะสอดส่ายสายตาดูว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันอยู่ แล้วก็เริ่มวิจารณ์ บางครั้งก็เป็นการติเพื่อก่อ บางครั้งก็แค่อยากจับผิดนิด ๆ หน่อย ๆ แก้เซ็ง แต่หากเรามีเวลามากพอในการวิจารณ์งานคนอื่น เราก็น่าจะมีเวลาวิจารณ์งานของตัวเองด้วยนะครับ

ความจริง ถ้าใจกว้างพอ เราน่าจะวิจารณ์ตัวเองได้ดีกว่าใคร ๆ เพราะทำงานนั้นมากับมือ รู้ความเป็นไปตั้งแต่ต้น แต่ปัญหาคือเรามักจะหาเหตุลำเอียงเข้าข้างตัวเองเสมอ จนบางทีก็ทำให้มองไม่เห็นข้อผิดพลาด ครั้นจะถามความเห็นจากใครสักคน จิตใต้สำนึกก็อาจกำหนดให้เลือกถามเฉพาะคนที่เขา (ดูเหมือน) ใจดีหน่อย เพราะรู้ว่าอย่างไรเสีย เขาก็จะเลือกพูดแต่สิ่งที่ดี ซึ่งท้ายสุดแล้ว เราก็จะได้ยินแต่ “คำชม” โดยไม่มี “คำติ” ให้สะเทือนใจ

แต่การหัดวิจารณ์ตัวเองอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้เราเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองได้ดีที่สุด ก่อนที่จะถามความเห็นคนอื่น เราน่าจะถามตัวเองว่างานที่ทำไปนั้นมีช่องโหว่ตรงไหนรึเปล่า พอหันไปถามคนอื่น แทนที่จะถามว่า “ชอบมั้ย” “ดีมั้ย” ก็ให้ถามว่า “งานนี้ยังมีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง” เพื่อจะได้ฟีดแบ็คที่ช่วยให้เราคิดอะไรได้รอบคอบขึ้น

แต่เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจก็ให้ระลึกไว้เสมอว่า ผลที่ได้ย่อมมีทั้งคนชอบและคนชัง เพราะโอกาสที่จะทำให้ใครบางคนไม่พอใจนั้นมีอยู่เสมอ แต่อย่าลืมว่า ทุกครั้งก่อนที่เราตัดสินใจทำอะไรลงไป เราได้เลือกแล้ว และต้องยอมรับผลที่จะตามมา

ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนต่างเคยทำพลาดกันมาทั้งนั้น แต่จะมีประโยชน์อะไรที่จะนั่งทอดอาลัย สิ่งที่เราควรทำคือ ขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน หรือ ดอกไม้ ก็ขอให้น้อมรับไว้ เพราะมันคือบทเรียนที่สอนให้เราเข้าใจอะไร ๆ ได้มากขึ้น

หากทำผิดพลาดก็หาทางแก้ไข และที่สำคัญ พยายามอยู่กับปัจจุบันครับ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แม้จะเพิ่งผ่านไปเมื่อ 1 นาทีก่อน ก็ถือว่าเป็นเรื่องในอดีต เราต้องมีชีวิตอยู่กับ “นาที” นี้ที่เรามีอยู่ในมือ และทำ “นาที” นี้ให้ดีที่สุดต่างหาก

อย่าเสียเวลานั่งจมอยู่กับความรู้สึกผิด อย่าโทษตัวเองว่าบกพร่องอย่างแรงที่ทำให้คนอื่นไม่พอใจ เพราะยิ่งคิดก็จะยิ่งเครียด บอกตัวเองไว้ว่า ไม่มีใครพอใจ “อะไร” หรือ “ใคร” ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกครับ

เมื่อคิดดีแล้ว เลือกแล้ว และตัดสินใจลงมือทำแล้ว ก็ขอให้หนักแน่นกับการตัดสินใจของตัวเอง อย่าปรับโน่นแต่งนี่เพียงเพื่อให้ทุกคนพอใจ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผลงานที่ออกมาอาจไม่เป็นที่พอใจของใครเลยสักคนรวมทั้งตัวคุณเอง แต่ให้ฟังทุกความเห็นและเลือกรับสิ่งที่เป็นประโยชน์ไว้เป็นแง่คิดในการ พัฒนาตัวเองต่อไปจะดีกว่าครับ.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550

Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:06:41 น.
Counter : 430 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

Mr_high
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr_high's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.