โลกคือเวทีละคร ไม่ว่าใครก็ต่างก็ต้องแสดงในบทบาทของตนที่นั่น
Group Blog
 
All Blogs
 

Once you find laughter, no matter how painful your situation might be, you can survive it

“Once you find laughter, no matter how painful your situation might be, you can survive it.” - Bill Cosby

มีคนถามผมว่าผมมีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างไร คำตอบคือ ผมยิ้มให้กับปัญหาครับ

คนที่รู้จักผมจะรู้ว่าผมชอบผิวปาก ร้องเพลง ยิ่งวันไหนมีปัญหาที่ต้องจัดการมาก ผมอาจจะมีการเต้นประกอบจังหวะด้วย!

เพราะเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันกับการทำงาน สาเหตุของความเครียดจึงมักมาจากงานที่ทำอยู่

แต่ผมว่าตัวเองเป็นคนโชคดีมากคนหนึ่งที่มักจะได้งานที่ชอบ ทำให้ไม่เคยคิดว่าการมาทำงานคือความเหนื่อยยากแต่อย่างใด

ถึงกระนั้น บางครั้งผมก็มีปัญหาที่คิดไม่ตกเหมือนกัน ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานไป อาจนำมาซึ่งความเครียดได้

ถ้ามีปัญหายาก ๆ ที่ต้องแก้ ผมมักจะออกมาเดินเล่น คุยเล่นกับพนักงานบ้าง ก่อนจะกลับเข้าห้องไปคิดใหม่

การได้ยิ้มหรือหัวเราะประกอบกับการมีอารมณ์ขันจะช่วยทำให้หัวสมองปลอดโปร่งขึ้นเยอะเลยครับ

แต่ถ้ายังไม่คิดไม่ตก ผมมีอีกวิธีหนึ่งครับ

หยิบกระดาษขึ้นมาแผ่นหนึ่ง แล้วจัดการเขียนปัญหาทุกอย่างลงไป

การได้ระบายความในใจใส่กระดาษเป็นการปลดปล่อยความเครียดอย่างหนึ่งของผมครับ

เพราะตอนเขียน ผมจะใส่ลงไปหมดเลย ทั้งสิ่งที่รบกวนจิตใจ อะไรคือต้นเหตุของปัญหา อะไรที่ทำให้เครียด เสร็จแล้ว ผมจะรู้สึกโล่งขึ้น

ขั้นตอนต่อมาคือ นั่งเขียนแอ็คชั่นแพลนว่าจะต้องแก้ปัญหานั้นอย่างไร แล้วลงมือทำเลย

การปล่อยปัญหาคาราคาซัง จะทำให้เราไม่มีสมาธิไปสนใจเรื่องอื่น ดังนั้น ถ้ารีบแก้ให้เสร็จเป็นเรื่อง ๆ ไป จะช่วยประหยัดเวลาและทำให้ไม่ต้องเครียดกับอะไรนาน ๆ ด้วยครับ

วิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอีกอย่างหนึ่งคือ อย่าแบกรับปัญหาไว้คนเดียว

เมื่อก่อนเวลา มีลูกน้องทำหน้าหมอง ๆ เดินเข้ามาในห้องผมพร้อมกับปัญหา ผมมักจะช่วยแก้ไขให้

ด้วยความเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว ผมจึงเหมาคิดไปเองว่า ผมแก้ปัญหาได้ดีกว่าและเร็วกว่า ก็เลยรับมาแก้ให้เสร็จสรรพ พวกเขาจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น

แต่พอหลาย ๆ ครั้งเข้า ผมเริ่มรู้สึกว่าในขณะที่ลูกน้องเดินออกจากห้องไปด้วยใบหน้าแช่มชื่น ตัวผมกลับต้องนั่งหน้าเครียดอยู่กับปัญหากองโตแทน

อย่างนี้ก็ไม่ไหวสิครับ

ตั้งแต่นั้นมา เวลามีลูกน้องเดินเข้ามาหาผมพร้อมปัญหา ผมจะยิ้มแย้มรับฟังอย่างดี (เช่นเดิม) แต่พอฟังจบปุ๊บ ผมจะถามกลับไปทันทีว่า เขาคิดว่าอะไรคือต้นเหตุของปัญหา และเขาคิดว่าเขาจะจัดการแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเองอย่างไร ถ้าคิดไม่ออก ผมจะช่วยชี้แนะให้ แต่เขาต้องเป็นคนลงมือทำเอง ถ้ายังติดขัดอยู่อีก ผมอาจลงไปช่วยแก้ปัญหาให้ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งแน่นอน

แค่นี้ก็เรียบร้อยครับ ผมไม่ต้องนั่งเครียดอยู่คนเดียว ในขณะที่ลูกน้องได้เรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหามากขึ้น (หน้าอาจจะยังหมอง ๆ อยู่บ้าง แต่อีกหน่อยก็ดีขึ้น)

win win ทั้งสองฝ่ายครับ :-)

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549

Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:27:04 น.
Counter : 265 Pageviews.  

Share our similarities, celebrate our differences

“Share our similarities, celebrate our differences” - M. Scott Peck

อีกไม่กี่วันผมก็จะอยู่เมืองไทยครบสี่ปีแล้วครับ เวลาผ่านไปเร็วเหมือนโกหก

คำถามยอดนิยมที่ผมได้รับอยู่เสมอ คือ มีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและสไตล์การทำงานแบบไทย ๆ บ้างมั้ย

คำถามนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ถ้าให้ง่ายก็คือบอกไปเลยว่ามีหรือไม่มี แต่ที่ยากก็เพราะว่าผมไม่ได้มองว่าวัฒนธรรมหรือวิธีการทำงานของคนไทยเป็น ปัญหาน่ะสิครับ

แน่นอนที่แต่ละประเทศต้องมีวัฒนธรรมและวิธีคิดแตกต่างกันไป แต่แทนที่จะคอยเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยชินหรือมองว่าวัฒนธรรมในประเทศ ใหม่ที่เราไปอยู่เป็นปัญหา ผมว่าเราน่าจะพยายามทำความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างมากกว่า

หลายช่วงชีวิตที่ผมต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน อาจมีขลุกขลักบ้างในช่วงแรก ๆ แต่ถ้าเราคิดได้ว่าทุกที่ ๆ ไปคือโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ก็น่าจะเป็นกำไรชีวิต

สำหรับเรื่องการทำงาน ถ้าจะมีปัญหา ผมไม่คิดว่ามันเกิดจากความเป็นคนไทย หรือวัฒนธรรมไทยอย่างที่หลายคนชอบอ้าง แต่น่าจะมาจากโครงสร้างและวัฒนธรรมขององค์กรนั้น ๆ มากกว่า

ตอนผมมาที่นี่ใหม่ ๆ ดีแทคก็เหมือนบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งทั่วโลก ที่มีโครงสร้างองค์กรหลายชั้น ซึ่งอาจจะเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ในช่วงนั้น แต่พอสภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับตาม

และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมผมกับคุณวิชัยถึงให้ความสำคัญกับการปรับโครง สร้างองค์กร รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการทำงานที่กระตุ้นให้ทุกแผนกมีการประสานงานกันมากขึ้น

เราเริ่มจากลดความชันของโครงสร้างองค์กรให้เป็นแนวราบมากขึ้น จากเดิมที่มีผู้บริหารไม่กี่คนที่รายงานตรงต่อซีอีโอ เราปรับจนทุกวันนี้มีผู้บริหารกว่า 30 คนสามารถรายงานถึงซีอีโอได้โดยตรง

ในขณะเดียวกันเรามีการปรับสไตล์การทำงานของผู้บริหารให้ใกล้ชิดกับเจ้า หน้าที่ระดับปฏิบัติงานมากขึ้น เพื่อย่นระยะเวลาในการส่งผ่านข้อมูลจากระดับล่างขึ้นบนและจากระดับบนลงล่าง ซึ่งมีผลให้เราสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้รวดเร็วขึ้น

พร้อมกันนี้เรายังริเริ่มให้มีการประชุมระดมสมองระหว่างพนักงานจากหลาก หลายแผนกเพื่อให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ นั้นร่วมกัน

การออกแบบออฟฟิศใหม่ก็ช่วยได้มากในการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่สนุกสนานและลดช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน

จากเดิมที่ผู้บริหารทุกคนจะต้องมีห้องทำงานส่วนตัว มีเลขาหน้าห้อง และเฟอร์นิเจอร์แสดงฐานะทางสังคม ฯลฯ เราออกแบบให้ออฟฟิศใหม่มีโอเพ่นสเปซมากขึ้น ผู้บริหารนั่งทำงานรวมกับพนักงาน หรือถ้าจำเป็นต้องมีห้องทำงานส่วนตัว เราก็พยายามลดความห่างโดยการใช้ห้องกระจกกั้นแทนที่จะปิดทึบ

ตอนที่เราเสนอความคิดเรื่องปรับโฉมออฟฟิศไป ผมจำได้ว่ามีบางคนบอกว่าทำไม่ได้หรอก เพราะมันขัดกับ “วัฒนธรรมไทย” แต่อย่างที่บอก ผมไม่คิดว่าปัญหาเรื่องช่องว่างต่าง ๆ ที่กล่าวมามีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมไทย แต่มันน่าจะฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรมากกว่า

ซึ่งวันนี้หลังจากผ่านมาเกือบสี่ปีเต็ม ผมมองเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในบริษัทที่ไปในทิศทางที่ดี คนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ผู้บริหารกับพนักงานรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น การทำงานข้ามแผนกมีการประสานงานกันมากขึ้น และเพราะบริษัทมีฝรั่งอยู่ไม่ถึง 5 คน จากพนักงานทั้งหมดกว่า 4,500 คน ยิ่งทำให้ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมไทยไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาอย่างที่หลายคนกล่าว อ้าง

ถึงกระนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าพนักงานรู้สึกว่าถูกบังคับ ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กร ทั้งผมและคุณวิชัยมีหน้าที่ต้องทำให้บริษัทก้าวไปข้างหน้า แต่ในเรื่องการทำงานนั้น เราเคารพและให้อิสระพนักงานและทีมผู้บริหารในการตัดสินใจ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ผมไม่เคยเชื่อเรื่องการนำเอาแนวคิดหรือสไตล์การทำงานแบบฝรั่งมากำหนดให้คนไทยต้องทำตาม

บริษัทชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกที่เคยพยายามนำกรอบความคิดหรือวิธีการทำงาน ที่เคยใช้ได้ผลในซีกโลกหนึ่งมาครอบงำการทำงานของคนอีกซีกโลกหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดจากความพยายามลักษณะนี้ไปตาม ๆ กัน สาเหตุหนึ่งก็น่าจะมาจากการไม่เปิดใจยอมรับความต่างนั่นเอง

ผมว่าการยอมรับมันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองนะครับ หากเราอยากให้เขายอมรับเรา เราก็ต้องยอมรับเขาก่อน หากเราอยากให้เขาเข้าใจเรา เราก็ต้องพยายามเข้าใจเขาก่อน หากเราอยากให้เขาเคารพเรา เราก็ต้องเคารพเขาก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา และเราต้องทำให้เขาเห็นจริง ๆ ไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว

ต่อให้ผมมาจากอีกซีกโลกหนึ่ง พูดภาษาไทยได้แบบงู ๆ ปลา ๆ มองแต่ไกลใครก็รู้ว่าเป็นฝรั่ง แต่ผมว่าผมมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกับพนักงานไทยทุกคน นั่นคือความต้องการที่อยากจะให้บริษัทเจริญก้าวหน้า

สำหรับผม ความเคารพ ความเข้าใจ และมองเห็นความสวยงามใน “ความต่าง” รวมทั้งการมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน น่าจะเป็นสูตรผสมที่ลงตัวที่สุดแล้วครับในการปรับตัว ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรือทำงานอะไรก็ตาม.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549

Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:26:03 น.
Counter : 375 Pageviews.  

Competition is not only the basis of protection to the consumer, but is the incentive to progress

“Competition is not only the basis of protection to the consumer, but is the incentive to progress” - Herbert Hoover

ยังจำโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของคุณได้มั้ยครับ

สิบกว่าปีก่อน ต้องคนมีเงินเท่านั้นถึงจะซื้อมือถือได้ เพราะเครื่องหนึ่งตกหลายหมื่นบาทหรือเป็นแสนเลยทีเดียว รุ่นคลาสสิกเห็นจะหนีไม่พ้นรุ่นกระเป๋าหิ้วกับรุ่นกระติกน้ำ ประมาณว่าใช้ไม่กี่ครั้งกล้ามก็ขึ้นแล้ว แถมค่าโทรยังแพงมหาโหด แค่โทรในกรุงเทพฯ กระเป๋าก็แฟ่บไปเยอะแล้ว ถ้าโทรไปต่างจังหวัดด้วยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีอัตราเดียวโทรได้ทั่วประเทศเหมือนทุกวันนี้

นอกจากจะต้องมีเงิน มีร่างกายที่แข็งแรงแล้ว คนใช้มือถือสมัยนั้นต้องมีความอดทนเป็นเลิศอีกด้วย เพราะสัญญาณไม่ค่อยมี เวลาจะโทรทีแทบจะต้องขี่จักรยานหาคลื่นกันให้ควั่ก

เรื่องนี้ถ้าลองเล่าให้เด็กวันรุ่นสมัยนี้ฟัง รับรองส่ายหน้าไม่เชื่อกันเป็นแถว เพราะสิ่งที่เขาเห็นทุกวันนี้แตกต่างกับเรื่องที่เล่าให้ฟังอย่างสิ้นเชิง

เดี๋ยวนี้มือถือเครื่องหนึ่ง ถ้าเอาแบบถูกสุดราคาก็ไม่เกิน 2 พันบาท มีโปรโมชั่นให้เลือกใช้ตามความต้องการ สัญญาณคมชัด โทรไปไหนในประเทศก็อัตราเดียวเท่ากันหมด แถมยังมีบริการเสริมอื่น ๆ อีกมากมาย จะส่งข้อความ ส่งรูป ดูหนัง ฟังเพลง ทำได้หมด และที่สำคัญ ราคาไม่แพง

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นได้เอง แต่มันคือผลที่ได้มาจากการแข่งขันครับ

สมมติว่าในหมู่บ้านหนึ่ง มี “ป้าอิ่ม” เป็นแม่ค้าขายข้าวแกงอยู่เจ้าเดียว หิวขึ้นมาลูกค้าย่อมไม่มีทางเลือก ต้องกัดฟันกินข้าวป้าไป ถึงแกจะหน้าบึ้ง ขายก็แพง อาหารก็ไม่อร่อย ก็ต้องทน

แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดมี “ป้าเอม” เข้ามาขายแข่งเพิ่มอีกคนในราคาที่ถูกกว่าหรือมีกับข้าวให้เลือกมากกว่า “ป้าอิ่ม” ก็ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่แล้วล่ะครับ จะทำหยิ่งเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องง้อลูกค้ามากขึ้น ตั้งใจทำกับข้าวให้อร่อยขึ้น ตักอาหารให้มากขึ้น พูดจาดี ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น เพราะถ้าไม่ทำ มีหวังลูกค้าได้เฮโลไปหา “ป้าเอม” กันหมด

ถามว่าใครคือคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากการแข่งขันครั้งนี้ ก็ลูกค้าน่ะสิครับ เพราะนอกจากจะอิ่มท้องแล้ว ยังสบายกระเป๋าอีกด้วย

กลไกการแข่งขันเสรีนี้สามารถใช้ได้กับทุกตลาดและทุกอุตสาหกรรมครับ เหมือนในธุรกิจมือถือ ถ้าปล่อยให้มีผู้ให้บริการอยู่รายเดียว การแข่งขันก็ไม่เกิด และท้ายที่สุดลูกค้าก็ไม่มีทางเลือก ต้องก้มหน้าใช้บริการของเจ้านั้นไป

แต่หลังจากที่มีผู้ให้บริการมากขึ้น ทุกเจ้าก็ต้องพยายามทำให้บริการของตัวเองน่าสนใจที่สุดเพื่อเป็นทางเลือกให้ กับลูกค้า กลายเป็นแรงกดดันให้เจ้าตลาดเดิมที่เคยผูกขาดการให้บริการไว้คนเดียวต้อง เริ่มขยับปรับปรุงบริการและราคาให้ดึงดูดใจมากขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้าเอา ไว้

ดังนั้น หลังจากการแข่งขันเริ่มขึ้น เราจะเห็นความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่เป็นไปในทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าบริการ การขยายเครือข่าย การพัฒนางานบริการลูกค้า การคิดค้นรูปแบบบริการใหม่ ๆ ฯลฯ เมื่อมีจำนวนผู้ใช้มือถือมากขึ้น ผู้ผลิตเครื่องก็พลอยแข่งขันกันมากขึ้นไปด้วย ทำให้ราคาเครื่องลดต่ำลงหลายเท่า

ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่มีการแข่งขัน

แต่ถ้าจะให้ดีไปกว่านี้ การแข่งขันก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันด้วยนะครับ จากที่เห็นในหลายประเทศทั่วโลก การแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรมคือปัจจัยหลักในการผลักดันให้ตลาดมีการ พัฒนาอย่างเป็นระบบ

ผู้ให้บริการมีแรงจูงใจในการขยายการให้บริการออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล ในขณะที่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้น

ทุกวันนี้ในบางประเทศมีจำนวนผู้ใช้บริการมือถือถึงกว่า 90% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งหากวันใดที่ผู้ให้บริการในประเทศไทยสามารถแข่งขันกันบนพื้นฐานที่เท่า เทียมกัน ผมเชื่อว่าตลาดมือถือบ้านเราก็น่าจะเติบโตได้ไม่น้อยหน้าประเทศอื่น

ที่สำคัญการแข่งขันก็จะน่าสนุกขึ้นด้วย เพราะผู้ให้บริการทุกรายสามารถแข่งกันได้อย่างเต็มที่ และแทนที่จะแข่งกันเรื่องราคาอย่างเดียว ก็ต้องหันมาแข่งกันในเรื่องของคุณภาพของบริการมากขึ้นด้วย ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าบริการของใครดีกว่ากัน

นี่ล่ะครับคือความสวยงามของการแข่งขันที่พวกเราทุกคนอย่างเห็น.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549
Credit :www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:24:20 น.
Counter : 254 Pageviews.  

e who you are and say what you feel, because those who mind don’t matter and those who matter don’t

“Be who you are and say what you feel, because those who mind don’t matter and those who matter don’t mind!” - Dr. Seuss

การพูดความจริงหรือการเป็นตัวของตัวเองเป็นเรื่องที่ยากพอดูนะครับ โดยเฉพาะในโลกที่ไม่ค่อยยอมรับความจริงหรือในสังคมที่อยากเห็นทุกคนเหมือน หลุดออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน

มีหลายครั้งที่เราพบว่าตัวเองอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะพูดสิ่งที่คิดออกมาดัง ๆ ก็กลัวคนอื่นจะไม่พอใจ จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมามาก ๆ ก็เกรงว่าจะทำให้คนอื่นหมั่นไส้อีก

แต่ถ้าเราไม่พยายามรักษาจุดยืนและปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามที่คนอื่นคาดหวัง คนที่จะรู้สึกแย่ที่สุดก็คงไม่พ้นตัวเราเอง

ผมรู้ว่าเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก แต่คงไม่ผิดอะไรที่จะลองนะครับ

เมื่อหลายเดือนก่อนมีคนถามผมว่าจะทำอย่างไรดีถ้าบังเอิญไปรู้ความจริง บางอย่างที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ไม่กล้าบอกเจ้านาย เพราะมันเป็นงานของคนอื่น ซึ่งตนไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบอะไรด้วย

ผมนิ่งฟังก่อนจะถามกลับไปสั้น ๆ ว่า แล้วคุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณเก็บเรื่องนี้เป็นความลับต่อไป เขามองหน้าผมนิดหนึ่ง ถอนใจยาว แล้วตอบว่า ถ้าไม่บอกใคร บริษัทอาจจะเสียหายได้ ผมก็เลยแนะนำไปว่า ถ้าอย่างนั้นก็พูดความจริงไปเถอะ บอกคนที่เขาควรจะรู้ เพื่อที่เขาจะได้รีบหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหานั้นก่อนที่จะลุกลามไปใหญ่โต

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เขาอีเมล์มาหาผมพร้อมกับบอกว่า เขาแจ้งเจ้านายไปแล้ว ปัญหาคลี่คลายไปด้วยดี แต่เจ้านายดันไปบอกคนอื่นด้วยว่ารู้เรื่องนี้มาจากเขา ทำให้กังวลมากจะถูกเพื่อนร่วมงานตราหน้าว่าเป็นคนขี้ฟ้อง

ผมตอบอีเมล์นั้นไปง่าย ๆ ว่า อย่าวิตกไปเลย เพราะคนที่มีอำนาจตัดสินใจคือเจ้านายของเขา ซึ่งคนนี้ต่างหากที่เขาต้องคำนึงถึง ซึ่งก็โชคดีว่าเขาก็เข้าใจเราด้วย อีกอย่างหนึ่งคือ การที่ได้พูดสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็แสดงว่าเรามีความเคารพในตัวเอง

ผมคิดว่าการที่เรามีเรื่องไม่สบายใจบ่อย ๆ อาจจะมาจากการที่เรามีความคาดหวังกับความความรู้สึกของคนอื่นมากไป เลยทำให้ไม่ค่อยเคารพความรู้สึกของตัวเอง กลัวว่าคนนั้นจะคิดอย่างนี้ คนนี้จะคิดอย่างนั้น แต่ไม่เคยถามตัวเองว่า แล้วเราล่ะคิดอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น

แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการทำตัวก้าวร้าวคือการแสดงความมั่นใจหรือความเป็น ตัวของตัวเองนะครับ เราสามารถแสดงจุดยืนได้โดยไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องหยาบคาย

ถ้าจำไม่ผิด ประมาณต้นปี มีรายการทีวีมาสัมภาษณ์ผมถึงเกณฑ์ในการเลือกคนเข้าทำงาน เขาถามว่าถ้ามีคนแต่งชุดราชปะแตนเดินยิ้มร่าเข้ามาสมัครงาน ผมจะคิดอย่างไรกับคน ๆ นั้น ผมบอกว่า ผมคงชอบนะ เพราะหมายความว่าเขาต้องมีความกล้าระดับหนึ่งเลยทีเดียวที่ใส่ชุดนั้นมา สมัครงาน และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนด้วย

แต่การที่เราจะรับใครสักคนเข้ามาเป็นเพื่อนร่วมงาน เราคงไม่ได้ดูแค่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียว การพูดคุยกันจะช่วยให้เรามองเห็นความเป็นตัวตนรวมทั้งทัศนคติของคน ๆ นั้นได้มากกว่า

เวลาสัมภาษณ์พนักงานใหม่ ผมจึงมักจะถามคำถามที่ท้าทายให้เขาแสดงความคิดเห็นและความเป็นตัวตนออกมาให้ มากที่สุด บางคำถาม เช่น อะไรทำให้คุณเศร้า อะไรที่ทำให้คุณเสียใจ หรือ ถ้าเขาอยู่ในสถานการณ์ที่เล่ามาข้างต้น เขาจะรับมือกับปัญหาอย่างไร ฯลฯ อาจฟังดูไม่เห็นเกี่ยวกับงานที่มาสมัครเลย
แต่อย่างน้อยเราพอจะเดาได้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีความเป็นตัวของตัวเองมากน้อยแค่ไหน กล้าพูดในสิ่งที่คิดและกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

แต่ที่สำคัญคือ บรรดาเจ้านายก็ต้องยอมรับได้ด้วยนะครับถ้ามีลูกน้องพูดความจริงที่อาจแสลงใจ บ้าง เพราะถ้าเจ้านายเอาแต่บอกว่าจงเป็นตัวของตัวเอง มีอะไรก็พูดได้ แต่พอเอาเข้าจริง กลับโกรธหรือไม่พอใจ มันก็ไม่แฟร์ แถมทำให้ไม่มีใครกล้าพูดความจริงอีกต่อไป ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข คนก็จะหมดกำลังใจ และเราก็คงต้องอยู่ต่อไปในโลกที่ไม่มีใครอยากพูดความจริง.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549

Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:23:34 น.
Counter : 473 Pageviews.  

Things turn out the best for the people who make the best of the way things turn out

“Things turn out the best for the people who make the best of the way things turn out” - John Wooden

ผมเชื่อเรื่องชะตาลิขิตเหมือนกัน แต่ไม่ทั้งหมดครับ

คนเราจะเกิดมารวยหรือจนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราเลือกไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าเราสามารถกำหนดชีวิตหลังจากนั้นได้

ตัวผมเองก็ไม่ได้เกิดมาร่ำรวย ครอบครัวทำฟาร์มเล็ก ๆ ในนอร์เวย์ ตั้งแต่เกิดจนอายุเกือบ 20 ผมไม่เคยเข้าโรงหนังเลย เพราะแถวบ้านไม่มี ไม่เคยเห็นคนต่างชาติจนกระทั่งย้ายมาอยู่ในเมืองหลวง ไม่เคยไปต่างประเทศจนอายุ 30 กว่า

แต่ผมไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปมด้อยและไม่เคยโทษโชคชะตา จะว่าไปผมค่อนข้างมีความสุขกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดและเติบโตมา มีความสุขกับการที่ต้องทำงานหนัก มีความสุขกับการเป็นเด็กบ้านนอก และมีความสุขกับงานและชีวิตที่เราเลือกเอง

ผมว่าชีวิตคือการเรียนรู้ครับ เรียนรู้ที่จะทำทุกวันให้มีค่า เรียนรู้ที่จะไม่มองข้ามโอกาส และเรียนรู้ที่จะมองโลกในแง่บวก ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม

มีคนเล่าให้ฟังว่า นานมาแล้ว ณ บริษัททำรองเท้าส่งออกแห่งหนึ่งในอเมริกา มีเซลส์แมน 2 คนถูกสั่งให้ไปสำรวจตลาดในแอฟริกา คนแรกทำหน้าเซ็งสุดขีด แอบบ่นกระปอดกระแปดกับเพื่อนร่วมงานว่าตลาดทั้งโลกออกกว้างใหญ่ ทำไมต้องส่งไปแอฟริกาด้วยนะ ร้อนก็ร้อน ไกลก็ไกล ในขณะที่คนที่สองยิ้มรับคำสั่งอย่างไม่เกี่ยงงอน เตรียมจัดกระเป๋าเดินทางทันที

เมื่อไปถึง ทั้งสองต่างแยกย้ายกันไปทำงาน คนแรกเดินตระเวนไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็รีบส่งโทรเลขมาที่สำนักงานใหญ่ บอกว่าล้มเลิกความคิดไปเถอะ เพราะมองไม่เห็นโอกาสที่จะส่งสินค้ามาขายที่นี่เลย กวาดตาไปทางไหนก็เห็นแต่คนเดินเท้าเปล่า ไม่ใส่รองเท้า

ส่วนคนที่สองขาดการติดต่อไปหนึ่งวัน ก่อนจะส่งโทรเลขไปที่สำนักงานใหญ่ว่าบริษัทควรรีบตั้งงบประมาณเพื่อผลิต สินค้าส่งมายังดินแดนแห่งนี้โดยด่วน เพราะตลาดมีโอกาสเติบโตสูงมาก นอกจากนี้เขายังได้นำรองเท้าตัวอย่างออกแจกให้ชาวบ้านทดลองใส่หลายสิบคน เพื่อเช็คปฏิกิริยาของลูกค้า ซึ่งส่วนมากบอกว่าชอบ แต่ต้องการรองเท้าที่ทำจากวัสดุที่ทนทาน ใส่สบาย ไม่อับชื้น และราคาย่อมเยากว่านี้

ไม่ต้องบอกตอนจบก็รู้ใช่มั้ยครับว่าบริษัทจะเชื่อคำแนะนำของใคร แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า การที่เรามีทัศนคติที่ดี มันช่วยให้เรามองเห็นโอกาสดี ๆ ที่คนอื่นอาจมองข้าม การเอาแต่พร่ำบ่นไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น แถมทำให้จิตใจขุ่นมัว เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่จุดบกพร่องให้ติให้ว่าได้เสมอ

อย่างที่เราได้ยินบ่อย ๆ ว่าชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เวลาที่เจอขวากหนาม หรือเวลาที่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังไว้ ก็อย่าเสียเวลาตำหนิโชคชะตาเลยครับ แต่ให้ตั้งสติแล้วคิดดูว่าจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไรจะดีกว่า

คนชอบถามผมว่า ผมมีการวางแผนชีวิตอย่างไรที่ทำให้เด็กบ้านนอกคนหนึ่งกลายมาเป็นผมในวันนี้ คำตอบก็คงไม่พ้นจากที่เคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า ผมเป็นคนไม่ชอบวางแผนอนาคตอะไรนาน ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าช่วยผมได้มากก็คือ การเป็นคนมองโลกแง่บวกครับ

อีกอย่างหนึ่งคือ ผมไม่ค่อยยอมแพ้อะไรง่าย ๆ เมื่อมีโอกาสให้ได้เรียนรู้หรือลองทำอะไรใหม่ๆ ผมมักจะไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป ก็คงเหมือนเซลส์แมนคนที่สองนั่นล่ะครับ ที่เปิดใจกว้างสำหรับงานใหม่ที่หลายคนอาจดูว่าไม่มีอนาคต แต่ถ้าเรามองต่างออกไป และพยายามทำเต็มที่ เราก็จะเห็นโอกาสใหม่ ๆ มากมาย

ดังนั้น อย่าปิดโอกาสตัวเองด้วยการมองโลกในแง่ร้ายนะครับ ถ้าไม่ประสพความสำเร็จตามเป้า ก็อย่าท้อ อย่าโทษคนอื่นหรือโชคชะตา ลองค่อย ๆ คิดพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้ผลออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้สถานการณ์นั้น ๆ แล้วเราจะพบว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราคิดว่าสุดจะทนแล้ว มันอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดครับ.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม 2549

Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:22:27 น.
Counter : 440 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

Mr_high
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr_high's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.