โลกคือเวทีละคร ไม่ว่าใครก็ต่างก็ต้องแสดงในบทบาทของตนที่นั่น
Group Blog
 
All Blogs
 

Move out of your comfort zone. You can only grow if you are willing to feel awkward and uncomfortabl

“Move out of your comfort zone. You can only grow if you are willing to feel awkward and uncomfortable when you try something new” – Brian Tracy

คนชอบมองผมแปลก ๆ หรือไม่ก็นึกว่าผมพูดเล่น เวลาที่ผมบอกว่าผมชอบเห็นลูกน้องรู้สึกเหมือนต้องประคองตัวอยู่ตรงปากเหวตลอดเวลา

แต่ผมหมายความอย่างที่พูดจริง ๆ นะครับ
เคยรู้สึกมั้ยครับว่า เวลาที่เจ้านายโยนงานใหม่มาให้ทำ โดยเป็นงานที่เราไม่เคยทำมาก่อน เราจะรู้สึกตื่นเต้น กดดัน เครียด

แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะพยายามผลักดันตัวเองให้เรียนรู้มากขึ้น ทำการบ้านมากขึ้น คิดมากขึ้น

ถึงแม้ว่าเวลาลงมือทำจริง ๆ แล้ว มันจะมีพลาดอยู่ดี แต่ถ้าเราไม่ได้รับโอกาสให้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ดูบ้าง เราก็คงไม่รู้ศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง

การที่นั่งประจำอยู่กับงานเดิม ถึงแม้เราจะมีประสบการณ์เต็มเปี่ยม ใคร ๆ ก็เชื่อมือว่าเราสามารถทำงานที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี แต่ความเคยชินมักจะเป็นศัตรูกับความคิดสร้างสรรค์นะครับ แถมยังทำให้เราเคยตัว ชินกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง จนกลายเป็นสร้างอาณาจักรเล็ก ๆ หรือ comfort zone ของตัวเองขึ้นมา

ดังนั้น ผมถึงชอบโยกย้ายสลับคนไปมาในบริษัท ใครเคยทำการเงิน ผมก็ย้ายไปทำมาร์เก็ตติ้ง ใครเคยเป็นเอนจิเนียร์ ผมก็โยกไปดูงานขาย หรือใครที่ดูแลนักลงทุนสัมพันธ์ ผมก็ปรับให้ไปดูการพัฒนาบุคคลแทน

ที่ทำอย่างนี้ ก็เพราะผมต้องการดึงเขาออกจาก comfort zone ทำให้เขาต้องฟิตตัวเองอยู่ตลอดเวลา

แต่ไม่ใช่คิดจะย้ายใครก็ย้ายได้นะครับ เราก็ต้องดูแล้วว่าคนเหล่านี้มีศักยภาพที่จะไปต่อยอดงานด้านอื่นของบริษัท ด้วย และที่สำคัญที่สุด เขาต้องมี “ทัศนคติที่ดี” ต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นคน “ใจสู้” พอที่จะรับความกดดันได้ ไม่ถอดใจกระโดดลงเหวหรือโกยแน่บกลับบ้านไปก่อน!

การเปลี่ยนทัศนคติของคนนั้นเป็นเรื่องยาก ถ้าเขาไม่ยอมรับหรือมีความคิดต่อต้านการเปลี่ยนแปลง การจะย้ายเขาออกจาก comfort zone เพื่อไปสู่ความท้าทายใหม่ คงเป็นเรื่องลำบาก

แต่ถ้าเขามีทัศนคติที่ดี มองโลกในแง่บวก และยอมรับการเปลี่ยนแปลง เขาก็จะไม่ปิดโอกาสตัวเองที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คนประเภทนี้ล่ะครับ คือทรัพยากรที่เราต้องรักษาและพัฒนาต่อไป

สำหรับพวกที่ยังยึดติดกับความเคยชินแบบเก่า เราก็ต้องค่อย ๆ ปรับกันไป เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา แต่ผมเชื่อว่าการที่เราพยายามปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรไปเรื่อย ๆ พนักงานจะค่อย ๆ ซึมซับความเปลี่ยนแปลงไปได้เอง

สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือทำให้เขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มันเป็นแค่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในชีวิต ก็เท่านั้นเอง

ดูจากการลองย้ายคนที่ผ่านมา ผมว่ากว่า 90% ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ในงานใหม่มาก่อน เขาเลยเหมือนผ้าขาวที่พร้อมจะรับสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา และมีไฟที่จะนำเสนอความคิดที่ทีมอาจจะไม่เคยคิดมาก่อน

ในขณะเดียวกันเขาก็เรียนรู้ที่จะพึ่งพาทีมเวิร์คมากขึ้น โดยหาวิธีที่จะปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานใหม่ให้ได้ เพราะรู้ว่า ถ้าให้ทำคนเดียว คงทำไม่ได้แน่ และการที่ต้องปรับตัวเองตลอดเวลาทำให้พวกเขาเหล่านี้เติบโตขึ้นมากทั้งทาง ด้านความคิดและการทำงานร่วมกับคนอื่น

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ กำแพงที่เคยกั้นแต่ละแผนกออกจากกันนั้นเริ่มลดระดับลง เพราะคนมีการเปลี่ยนแปลง สลับหน้าที่กันมากขึ้น มีการย้ายแผนกกันตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการพูดจาประสานงานกันบ่อย ๆ และเริ่มชินกับการเปลี่ยนแปลง และไม่ยึดติดกับแผนกหรือตำแหน่งเดิม ๆ

มีคนถามผมอีกว่า พวกที่ย้ายไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จล่ะ จะทำอย่างไร

ผมก็แค่ปรับเขาไปสู่งานใหม่เท่านั้นเองครับ ตอนนี้เรามีโปรเจ็คต์ใหม่ ๆ ขึ้นมาตลอด ดังนั้นเขาอาจไม่ถึงขนาดต้องตัดขาดจากงานเดิมเสียทีเดียว เพียงแต่ต้องจัดเวลาของตัวเองให้ดีโดยแบ่งงานให้ลูกน้องทำมากขึ้น เพื่อที่ตัวเองจะได้มีเวลาทำโปรเจ็คต์ที่ได้รับมอบหมายด้วย

ผมว่าพอทำโปรเจ็คต์หนึ่งสำเร็จ เขาอาจสนใจทำโปรเจ็คต์ใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ได้ เพราะถึงมันจะเครียดและกดดันที่ต้องยืนอยู่ปากเหว แต่ชีวิตมันน่าจะมีรสชาติและตื่นเต้นกว่าต้องทำงานเดิม ๆ ตลอดเวลา เป็นไหน ๆ จริงมั้ยครับ.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2549
Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:32:20 น.
Counter : 397 Pageviews.  

Be a first rate version of yourself, not a second rate version of someone else

“Be a first rate version of yourself, not a second rate version of someone else” - Judy Garland

ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน หลาย ๆ คนพยายามลอกแบบความสำเร็จของคนอื่น โดยคิดว่าการทำแบบนั้นจะทำให้ตัวเองประสพความสำเร็จบ้าง

น่าเสียดายครับ

การเลียนแบบอาจหลอกคนอื่น (รวมถึงหลอกตัวเอง) ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ผลที่ได้อาจไม่คุ้มกับการสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป โดยเฉพาะในการทำธุรกิจ ถ้าเราไม่มีจุดยืนทางการตลาดที่ชัดเจน มัวแต่ลอกแบบคนอื่น เราก็คงไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้

ผมมักจะบอกลูกน้องเสมอว่าจงเป็นตัวของตัวเอง ทุกคนย่อมมีข้อดีและข้อเสีย สิ่งไหนที่ดีก็พยายามทำให้ดีขึ้น สิ่งไหนที่ยังไม่ดีก็ค่อย ๆ ปรับปรุงกันไป

เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ วัฒนธรรมใหม่ หรือในทางธุรกิจก็คือปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้โดยไม่จำเป็น ต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง

เพราะอะไรที่ไม่ใช่ตัวเรา พอแสร้งทำมันก็จะดูฝืน ๆ ทำอย่างไรเราก็ไม่มีทางทำได้ดีเท่าต้นตำรับ

ถึงแม้จะเลียนแบบได้แนบเนียนแค่ไหน เราก็เป็นได้แค่ผู้ตาม และถ้าทุกคนคิดเหมือนกัน เราก็คงเป็นแค่หนึ่งในหุ่นยนต์เลียนแบบที่เดินอยู่เต็มท้องถนนไปหมด

เหมือนเวลาเราไปร้องคาราโอเกะนั่นล่ะครับ สิ่งที่เราทำก็คือการร้องเลียนแบบนักร้องชื่อดังทั้งหลาย หลังจากร้องไปหลาย ๆ รอบ เราก็อาจจะร้องได้เหมือนตัวจริง แต่มันก็ไม่ใช่เพลงของเราอยู่ดี

ผมว่ามันจะเท่กว่ามากเลย ถ้าคราวหน้าเราไปที่ร้านคาราโอเกะและร้องเพลงที่เราแต่งเอง มันอาจจะไม่ได้ไพเราะเพราะพริ้ง อาจจะเชย หรืออาจจะเพี้ยนไปบ้าง แต่อย่างน้อยเราก็ได้เป็นคนแรกและเป็นคนเดียวที่ร้องเพลงนี้ (เพราะไม่มีใครกล้าเลียนแบบ!)

ในทางเดียวกันผมคิดว่าการจะประสบความสำเร็จได้ เราต้องเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเองก่อนที่จะเรียกร้องให้คนอื่นเขาเห็นและ ยอมรับในตัวเรา

หาตัวเองให้เจอ ถามตัวเองว่าตัวเองชอบทำอะไร อยากเป็นอะไร และที่สำคัญคือพยายามแข่งกับตัวเอง อย่าไปแข่งกับคนอื่น

ในโลกของธุรกิจปัจจุบัน เราไม่สามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความได้เปรียบทางการแข่งขันแบบถาวร” ได้ เพราะทุกอย่างที่เราผลิตออกมา ถ้าประสพความสำเร็จ ก็จะมีคนลอกเลียนแบบเราทันที

ดังนั้น เราต้องพยายามคิดบริการใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อสร้าง “การผูกขาดชั่วคราว” ซึ่งก็คือช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เราสามารถเป็นคนเดียวในตลาดที่มอบบริการนั้นให้กับลูกค้า มันอาจจะเป็นแค่ 1 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน แต่อย่างน้อยเราก็เป็นคนแรกและคนเดียวในช่วงเวลานั้นที่มีบริการนี้ ก่อนที่คนอื่นจะเริ่มเลียนแบบ

และไม่ว่าเราตัดสินใจว่าจะเอาดีทางด้านไหน ผมว่าเราควรทำให้มันสุด ๆ ไปเลย ถ้าวันนี้ทำได้ดีแล้วก็อย่ายึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ ทำวันพรุ่งนี้ให้ดีขึ้นไปอีก ถ้าคิดอย่างนี้ได้ เราจะไม่เสียเวลาไปกับการวิ่งก็อปปี้คนอื่น แต่จะสามารถประสพความสำเร็จได้ในแบบฉบับของตัวเราเอง

..สรุปแล้ว ผมว่า “เป็นต้นแบบให้คนอื่นเขาลอก ย่อมดีกว่าไปลอกแบบคนอื่นนะครับ”.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2549
credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:32:46 น.
Counter : 593 Pageviews.  

Example is not the main thing in influencing others, it is the only thing

“Example is not the main thing in influencing others, it is the only thing” - Albert Schweitzer

เมื่อเช้าตอนขึ้นลิฟต์มากับพนักงาน ผมแอบยิ้มคนเดียว เพราะอดคิดไปถึงตอนที่มาเริ่มทำงานที่นี่ใหม่ ๆ ไม่ได้ ตอนนั้นอย่าว่าแต่จะเข้ามาในลิฟต์พร้อมกัน แม้แต่จะยืนรอลิฟต์ใกล้ ๆ ผม พนักงานยังไม่ค่อยจะยอมทำ ยิ่งถ้าผมอยู่กับคุณวิชัย (เบญจรงคกุล) ด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่

ทีแรกผมนึกว่าเป็นเพราะผมเพิ่งเข้าใหม่ แถมยังเป็นฝรั่งด้วย พนักงานก็เลยยังเกร็ง ๆ อยู่ แต่พอผ่านไปหลายเดือนเข้าเหตุการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ผมเลยปรึกษาคุณวิชัยว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลดช่องว่างระหว่างผู้ บริหารกับพนักงาน

เผอิญช่วงนั้นใกล้ปลายปี ซึ่งดีแทคก็เหมือนบริษัทอื่น ๆ ที่จะมีการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ ผมกับคุณวิชัยเลยตัดสินใจเซอร์ไพรส์พนักงาน แทนที่จะใส่สูท ผูกไท ขึ้นไปกล่าว speech ปีใหม่ เราสองคนลงทุนแต่งตัวเป็นนักร้องเพลงแร็พ และกระโดดขึ้นไปบนเวที เพื่อร้องเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะสำหรับพนักงาน

เสียงกรี๊ดดังสนั่นงาน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพนักงานตกใจที่เห็นซีอีโอสองคนทำอะไรที่เขาไม่เคย เห็นมาก่อน อีกส่วนหนึ่งก็ขำที่เห็นผู้บริหารลงทุนออกมาร้องเพลงแถมเต้นอย่างเมามันขนาด นั้น

ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ผมคิดว่าเราสามารถทำให้พนักงานเห็นว่าผู้บริหารก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องเคร่งขรึม ใส่สูทผูกไท ตลอดเวลา ผู้บริหารก็คือพนักงานคนหนึ่ง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะพูดจาหรือทักทายเมื่อเห็นกัน

วันรุ่งขึ้น ผมยืนรอลิฟต์ตัวเดิม แต่คราวนี้มีพนักงานเดินเข้ามาสวัสดี บางคนก็บอกว่า “คุณซิคเว่ ยูเท่มาก” แล้วเราก็ขึ้นลิฟต์มาด้วยกัน

ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรต้องเริ่มจากผู้นำ ถ้าเราบอกคนข้างนอกว่าเราเป็นองค์กรที่ทันสมัย สนุกสนาน แอ็คทีฟ และติดดิน เราก็ต้องทำให้คนในองค์กรเป็นอย่างนั้นด้วย ซึ่งการจะทำให้คนกว่า 4,000 คนเป็นอย่างนั้นได้ มันก็ต้องเริ่มจากที่ผู้นำต้องทำให้ดูเป็นแบบอย่างก่อน

ลองคิดดูสิครับ ถ้าผมบอกพนักงานว่าพวกเขาควรจะออกไปพบปะลูกค้าในตลาด แต่ตัวเองกลับนั่งอยู่ในออฟฟิศติดแอร์เย็นฉ่ำ ใครจะยอมทำตามที่ผมบอก ดังนั้นผมจึงไม่เสียเวลาพูด แต่ลงมือทำให้เห็นกันเลย

หลายคนเมื่อเห็นผมพาพนักงานออกไปเดินตามตลาดหรือตามห้างต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์บริการของบริษัท คิดว่าผมคงต้องการสร้างภาพ ทำไปไม่กี่หนก็คงเลิก

แต่ตลอดสามปีครึ่งที่ผ่านมา ผมพาพนักงานออกตระเวนตามท้องถนนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นร้อย ๆ ครั้ง แค่ปีนี้ปีเดียว ผมไปเยี่ยมลูกค้ามาแล้ว 63 จังหวัด มีกิจกรรมที่เราเรียกกันภายในว่า ไปออก “ม็อบ” ถึง 74 ครั้ง

ปีแรกที่เราเริ่มทำกิจกรรมนี้ มีแต่ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากนั้นผมพยายามดึงผู้บริหารจากทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย รวมถึงพนักงานจากทุกชั้นทุกแผนก เพราะผมต้องการให้ทุกคนในบริษัท ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานใด ได้มีโอกาสสัมผัสกับลูกค้า ได้พูดคุยและรับฟังปัญหาหรือความต้องการของลูกค้า เพราะทุกคนในบริษัทล้วนมีส่วนในการทำให้บริการของเราดีขึ้นและตรงใจลูกค้า มากที่สุด

มีหลายคนถามผมว่า มันจำเป็นด้วยหรือที่ซีอีโอต้องลงไปทำขนาดนั้น ผมว่าจำเป็น เพราะถ้าผมไม่ทำจริงตามสิ่งที่ผมพูด พนักงานก็คงไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้

แม้ผมจะรู้ว่ามันเป็นงานที่หนัก ต้องใช้พลังงานสูงมาก แต่ถ้าเราทำได้อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถเพิ่มช่องทางในการสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า อีกทั้งยังเป็นการสร้างความจดจำในแบรนด์ของเราด้วย ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับการทำการตลาดใน วันนี้

ที่สำคัญ เวลาผมบอกกับลูกค้าว่าเราเป็นบริษัทที่ “พูดจริง ทำจริง” ผมก็ต้องให้พนักงานเชื่อตามนั้นด้วย โดยแสดงให้เขาเห็นว่าผม “พูดจริง” และ “ทำจริง” และเขาก็ควรจะเป็นเช่นนั้นด้วยเช่นกัน.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม 2549
Credit : //www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:29:56 น.
Counter : 323 Pageviews.  

ourage is what it takes to stand up and speak; courage is also what it takes to sit down and listen

“Courage is what it takes to stand up and speak; courage is also what it takes to sit down and listen” - Winston Churchill

มีคนแนะนำให้ผมรู้จัก pantip.com เมื่อประมาณสองปีก่อน ผมถึงรู้ว่าพันธ์ทิพเป็นเว็บบอร์ดที่มีคนนิยมมากที่สุดเว็บหนึ่งของเมืองไทย แถมยังมีห้อง “มาบุญครอง” เป็นแหล่งรวมสารพันข้อมูลและกระทู้เกี่ยวกับบริการไอทีและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีสมาชิกเข้ามาโพสต์ข้อมูล ความคิดเห็น ข้อสงสัยหรือคำถามต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ข่าวสารบางเรื่องในพันธ์ทิพไวกว่าหาอ่านตามหน้าหนังสือพิมพ์เสียอีก

น่าเสียดายที่ภาษาไทยของผมอ่อนด้อยมาก เลยต้องมีคนคอยช่วยแปลสรุปมาให้อ่านเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันก็มีทีมงานคอยเข้าไปอ่านและตอบกลับกระทู้ที่รอคำตอบอยู่ ซึ่งก็สร้างความพอใจให้กับลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีบางเรื่องเหมือนกันที่การเข้าไปตอบกระทู้ตามปกติ ไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด

ดังนั้นเมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อน ผมจึงมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับลูกค้าของเราที่เป็นชาวพันธ์ทิพ 3 ท่านด้วยกัน

เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ผมชื่นชมความตรงไปตรงมาและจริงใจของลูกค้าทั้งสามท่านมาก เกือบสามชั่วโมงที่ผมนั่งฟังข้อชี้แนะและคำติชมของลูกค้าด้วยความสนใจ จะเรียกว่าเป็นประสบการณ์เปิดโลกทัศน์ประจำสัปดาห์นั้นเลยก็ว่าได้

ผมได้ความรู้มหาศาลจากการฟังและที่สำคัญไปกว่านั้น มันทำให้ผมรู้ว่าบริการของเรายังต้องมีการปรับปรุงอีกมาก…

ปกติบริษัทชั้นนำทั้งหลายมักจะมีการทำสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าเป็น ประจำอยู่แล้ว แต่กว่าข้อมูลจะมาถึงมือเรา ระดับความ “ไม่” พอใจของลูกค้าต่อบริการบางอย่างก็อาจลุกลามไปไกลจนเกินแก้

ปัญหาหลายอย่างเกิดจากการที่เราคิดว่าเรารู้แล้ว เก่งแล้ว ดีแล้ว จนมักจะเป็นคนผูกขาดการ “พูด” ไว้คนเดียว และไม่ยอม “รับฟัง” ความเห็นของคนอื่น ยิ่งเป็นคำวิจารณ์ด้วยแล้ว หลายคนไม่อยากจะได้ยินให้ระคายโสตประสาทเสียด้วยซ้ำ

แต่ผมว่าความเห็นที่หลากหลายโดยเฉพาะคำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์นั้น มีประโยชน์กว่าคำชื่นชมที่ปราศจากความจริงเป็นไหน ๆ

ยิ่งเป็นคำวิจารณ์ที่ออกมาจากลูกค้าโดยตรงด้วยแล้ว มันบอกอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และทำให้เราสามารถปรับปรุงบริการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้

หลายคนพยายามอ้างว่าไม่มีเวลาเพราะมีงานรัดตัว แต่ผมว่าพวกเขาขาดความกล้าในการยอมรับความจริงมากกว่า อย่าพูดเลยครับว่าไม่มีเวลา เพราะทุกคนมี 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันทั้งนั้น แต่ทำไมบางคนถึงมีเวลามากพอที่จะแบ่งมารับฟังปัญหาของลูกค้ามากกว่าคนอื่น ได้

และที่สำคัญมันจะมีประโยชน์อะไรครับที่จะออกบริการมามากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วลูกค้าไม่ชอบหรือไม่ถูกใจ

ระหว่างที่นั่งคุยกับลูกค้าชาวพันธ์ทิพ ผมคิดไปถึงคำพูดของวินสตัน เชอร์ชิล ที่บอกไว้ว่า ความกล้าไม่ใช่แค่กล้ายืนขึ้นพูดเท่านั้น แต่ต้องกล้าที่จะนั่งลงและรับฟังด้วย

ความจริงข้อมูลจากลูกค้ามีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง เพียงแต่เรา “กล้า” พอรึเปล่าที่จะเปิดใจรับฟัง “กล้า” พอมั้ยที่จะยอมรับว่าเรายังมีข้อบกพร่อง และ “กล้า” พอรึเปล่าที่จะปรับปรุงตัวเอง

โจทย์วันนี้จึงไม่ใช่ว่าเรากล้าพูด กล้าทำ อย่างเดียว แต่เราต้องกล้าฟังและแก้ไขด้วยครับ.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2549
Credit:www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:28:44 น.
Counter : 353 Pageviews.  

the will must be stronger than the skill

“Champions are made from something they have deep inside them - a desire, a dream, a vision. They have to have the skill and the will. But the will must be stronger than the skill” – Muhammad Ali

โมฮัมมัด อาลี เป็นนักมวยในดวงใจตลอดกาลของคนหลายล้านคนรวมทั้งผมด้วย

กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์เปี้ยนโลก โมฮัมมัด อาลี ต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่เคล็ดลับความสำเร็จของเขาไม่ได้มาจากพลังกายที่แข็งแกร่งอย่างเดียว แต่มาจากพลังใจที่มุ่งมั่นและพร้อมที่จะทุ่มเททุกอย่างเพื่อชัยชนะ

ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองได้ จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนขึ้นอยู่กับใจตัวเอง

จริงอยู่ที่คนเราเกิดมามีต้นทุนหลายอย่างที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องสร้างด้วยตัวเอง คือ พลังใจ

หากเราปิดกั้นตัวเองด้วยคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ความฝันก็คงเป็นแค่ความฝันอยู่อย่างนั้น

เหมือนตอนที่ผมมาทำงานที่นี่ใหม่ ๆ ตอนนั้นบริษัทประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งด้านการเงิน ภาพลักษณ์ของแบรนด์ (มีคนบอกว่าบริการพรีเพดของเรา มีภาพลักษณ์เหมือนหญิงแก่น่าเบื่อ!) ช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน และโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อนซึ่งไม่เอื้อต่อการตัดสินใจที่รวดเร็ว

หากเราถอดใจยอมรับสภาพ เราก็คงเป็นผู้แพ้ตลอดกาล

แต่เพราะเราตั้งใจที่จะสู้ในวันนั้น ทำให้เรามีวันนี้ได้

ผมไม่ได้บอกว่าเราเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน แต่ผมคิดว่าผลจากพลังใจของพนักงานทุกคน ทำให้เราสามารถมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้น มีโครงสร้างองค์กรที่ช่วยให้กระบวนการตัดสินใจรวดเร็วยิ่งขึ้น และมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากกว่าเดิม

ผมถึงคิดว่า “ใจ” สำคัญที่สุด ถ้าเราเชื่อสักอย่างว่าเราทำได้ ต่อให้ยากเย็นแค่ไหน เราก็จะทำมันให้เกิดขึ้นจริง ขอเพียงแต่อย่าท้อเสียก่อนเท่านั้นเอง

ผมมักจะพูดเสมอว่า เวลาเลือกคนมาทำงานด้วย ผมจะดูที่ ทัศนคติ มากกว่า ทักษะ เพราะผมเชื่อว่า ทัศนคติที่ดี เป็นตัวกำหนดการกระทำและผลงานที่จะตามมา

มีหลายคนถามผมว่า แล้วทัศนคติที่ดี คืออะไร สำหรับผมแล้ว ทัศนคติที่ดีประกอบด้วย ความรัก ความมุ่งมั่นในงานที่ทำ และที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ หากเราพยายาม.

ที่มา : คอลัมน์ Quote of the day โดย ซิคเว่ เบรคเก้ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2549
Credit :www.thaispeculator.com




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 0:27:54 น.
Counter : 426 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

Mr_high
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr_high's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.