คำสอนท่านพ่อลี วัดอโศการาม -1
- ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ เหล่านี้ เราต้องหมั่นทำจิตใจให้คุ้นเคยกับมันไว้ จนเป็นมิตรกับมันได้แล้ว มันก็จะบอกความลับแก่เราทั้งหมด และไม่จับเราไปจองจำโซ่ตรวนติดคุกติดตะราง



- คนที่ใจไม่อยู่กับตัว เที่ยวแส่ส่ายออกไปรับสัญญาอารมณ์ภายนอกทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งอดีต อนาคต ผู้นั้นก็จะต้องพบกับความร้อนใจด้วยประการต่างๆ
เปรียบเหมือนผู้ที่ไม่อยู่ในบ้านในเรือนของตัว วิ่งออกไปเที่ยวนอกบ้าน มันก็จะต้องโดนแดดบ้าง ฝนบ้าง ถูกรถชนบ้าง ถูกสุนัขบ้ากัดบ้าง
ถ้าหากเราอยู่แต่ภายในบ้านของเราแล้ว แม้จะมีภัยอันตรายบ้างก็ไม่สู้มากนัก และก็จะไม่ต้องประสบกับความร้อนใจด้วย

- ถ้าเรามีหลักของใจ ทำใจให้สูงขึ้นแล้ว กิเลสต่างๆ ก็ไม่สามารถเล็ดลอดเข้ามาทำจิตใจของเราให้เศ้าหมองเปรื้อนเปรอะได้

- หน้าที่ของเราที่จะต้องตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณพระพุทธเจ้าก็คือ ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติกาย วาจาใจ ของเราให้ถึงพร้อมซึ่งความบริสุทธิ์ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น

- ขณะที่เรามานั่งเจริญภาวนาพุทโธๆ อยู่นี้ ก็เท่ากับว่าตัวเรากำลังพายเรือจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือนำเสด็จพระพุทธเจ้าประทับไปในหัวเรือ

- เราจะไปกับพระพุทธเจ้าหรือจะไปกับพญามาร? คิดดูให้ดี
ถ้าเราจะไปกับพระก็ต้องมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก ด้วยคำภาวนาว่า "พุทโธๆ" ให้เสมอๆ
ตัวมารมันจะมาเรียกร้องอย่างไรก็อย่าไปกับมัน
___________________________________________________________________________________

- ตา ไปรับรูปที่ไม่ดีเข้ามา ส่งให้วิญญาณ -วิญญาณรับรู้แล้วก็ส่งไปยังหทัยวัตถุ- ทำให้โลหิตในหัวใจเป็นพิษ
หู ไปรับเสียงที่ไม่ดี มาส่งให้วิญญาณ
จมูก ลิ้นกายใจ ก็ไปรับกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ไม่ดี มาให้วิญญาณ - วิญญาณ รับรู้แล้วก็ส่งไปยังหทัยวัตถุ - ทำให้โลหิตในหัวใจเป็นพิษ
โลหิตนี้ก็แล่นไปสู่ธาตุ ดินน้ำไฟลมในร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดเป็นพิษขึ้นอย่างนี้- บุคคลผู้นั้นจะมีความสุขมาแต่ไหน? ใจก็เป็นพิษ กายก็เป็นโทษ หาความสงบเย็นมิได้

- ถ้าเรารักษาจิตของเราให้ดีเสียอย่างเดียวเท่านั้น - ถึงตาจะเห็นรูปที่ดี มันก็ดี - เห็นรูปที่ไม่ดี มันก็ดี - จมูก ลิ้น กายใจ ก็เช่นเดียวกัน - เมื่อวิญญาณรับรู้แต่สิ่งที่ดี แล้วส่งไปยังหทัยวัตถุ - โลหิตในหัวใจก็ไม่เสีย ไม่เป็นพิษ
เมื่อหัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย กายนั้นก็จะมีแต่ความสมบูรณ์ เกิดความสงบเย็นทั้งกายใจนี่แหละที่เรียกว่าเป็นตัวบุญ

_____________________________________________________________________________

การทำสมาธิต้องประกอบด้วยอิทธิบาท4
1. ฉันทะ - พอใจรักใคร่ในลมหายใจของเรา ตามดูว่าเวลาที่เราหายใจเรา เราหายใจเอาอะไรเข้าไปบ้าง - ถ้าหายใจเข้าไปไม่ออกก็ต้องตาย หายใจออกไม่กลับเข้าก็ตาม - มองดูอยู่อย่างนี้ ไม่เอาใจไปดูอย่างอื่น

2. วิริยะ - เป็นผู้ขยันหมั่นเพียรในกิจการหายใจของเรา - ต้องทำความตั้งใจว่า เราจะเป็นผู้หายใจเข้า เราจะเป็นผู้หายใจออก,เราจะให้มันหายใจยาว, เราจะให้มันสั้น, เราจะให้หนัก เราจะให้เบา เราจะให้เย็น เราจะให้ร้อน เราจะต้องเป็นเจ้าของลมหายใจ

3. จิตตะ - เอาจิตเพ่งจดจ่ออยู่กับลมหายใจ - ดูลมภายนอกที่มันเข้าไปเชื่อมต่อประสานกับลมภายใน ลมเบื้องสูง ท่ามกลาง เบื้องต่ำ ลมในทรวงอก - มีปอด หัวใจ ซี่โครง กระดูกสันหลัง - ลมในช่องท้อง มีกระเพาะอาหาร ตับไตไส้พุง - ลมที่ออกมาตามปลายมือปลายเท้าตลอดจนทั่วทุกขุมขน

4. วิมังสา - ใคร่ครวญ สำรวจ ตรวจดูว่า ลมที่เข้าไปเลี้ยงร่างกายเรานั่น เต็มหรือพร่อง สะดวกหรือไม่สะดวก มีส่วนขัดข้องที่ควรจะปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง - ดูลักษณะ อาการ ความหวั่นไหวของลมภายนอกที่เข้าไปกระทบกับลมภายในว่ามันกระเทือนทั่วถึงกันหรือไม่- ลมที่เข้าไปเลี้ยงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟนั้น มีลักษณะเกิดขึ้น ทรงอยู่ และเสื่อมสลายไปอย่างไร

ทั้งหมดนี้ จัดเข้าในรูปกัมมัฏฐาน และเป็นตัวมหาสติปัฏฐานด้วย - จิตที่ประกอบด้วยอิทธิบาท4 พร้อมบริบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็จะเกิดความสำเร็จรูปในทางจิตให้ผลถึงโลกุตตระ เป็นโสดา สกิทาคา อนาคา และอรหันต์ สำเร็จทางกายให้ผลในการระงับเวทนา
___________________________________________________________________

- สติเป็นชีวิตของใจ
ลมเป็นชีวิตของกาย


- ถ้าลมหายใจของเรานี้อ่อนลง - สติก็จะอ่อนตามด้วย - นี่เท่ากับเรากำลังเจ็บป่วยอยู่แล้ว
ถ้าเราเผลอทั้งสติด้วยเมื่อไร ก็เท่ากับสลบหรือตายทีเดียว
คนที่สลบไปครั้งหนึ่ง ประสาทก็ย่อมเสียไปครั้งหนึ่ง สลบหลายครั้งก็ยิ่งเสียมากเข้า
ฉะนั้นเราต้องคอยตั้งสติรักษาลมไว้ให้ อย่าปล่อยให้มันเจ็บป่วยหรือสลบไปบ่อยๆ
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า คนไม่มีสติก็คือคนที่ตายแล้ว

- รู้กายในกาย นี้เป็นกายคตาสติ คือรู้ลมในร่างกายของเรา ตั้งแต่เบื้องสูงจดเบื้องต่ำ -เบื้องต่ำขึ้นไปหาเบื้องสูง - กระจายลมให้เต็มทั่วร่างกาย เหมือนกับน้ำที่เต็มอ่าง ก็จะได้รับความเย็นตลอดทั่วร่างกาย

- การเชื่อม ประสานลม ขยายลมไปตามธาตุต่างๆ ตลอดทั้งอวัยวะเส้นเอ็นทุกส่วนในร่างกาย - ก็เหมือนกับเราทำการตัดถนนสายต่างๆ ให้ติดต่อถึงกัน - ประเทศใดเมืองใดที่มีถนนหนทางมาก ก็ย่อมมีตึกร้านบ้านเรือนแน่นหนาขึ้น เพราะมีการคมนาคมสะดวก บ้านนั้นเมืองนั้นย่อมจะมีความเจริญมากขึ้น ฉันใด - ร่างกายของเรา ถ้าเรามีการปรับปรุงแก้ไขมลมในส่วนต่างๆของร่างกายให้ดีอยู่เสมอแล้ว ก็เปรียบเหมือนกับเราตัดตอนต้นไม้ส่วนที่เสีย ให้กลับงอกงามเจริญขึ้น ฉันนั้น

- ขณะที่เรานั่งสมาธิ ถ้าจิตของเราไม่อยู่กับตัว ก็เท่ากับเราเสียรายได้ของเราไป
- รายได้ของเราคืออะไร รายได้ของเรานี้ก็เปรียบด้วยอาหาร อาหารของเราจะต้องถูกสัตว์ต่างๆ มีแมวหมาแย่งไปกิน - แมวหมานี้เปรียบด้วยอารมณ์ภายนอกต่างๆ ได้แก่ตัวนิวรณ์ทั้ง 5 ที่เราเอามันมาเลี้ยงไว้ในบ้าน พอเราเผลอมันก็จะเข้ามาแย่งอาหารในชามของเรา - อาหารนี้ได้แก่ บุญกุศลคุณความดีที่เราควรจะได้รับ
___________________________________________________________


-ใจ เปรียบเหมือนเด็ก
สติเปรียบเหมือนผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่นั้น มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลควบคุมเด็กให้ดี เด็กจึงจะได้กินอิ่มนอนหลับ แล้วก็จะไม่ร้องไม่อ้อน - ต้องให้เด็กมีอาหารดีๆ คือ พุทธะ ธัมมะ สังฆะ เป็นอารมณ์-
มีตุ๊กตาตัวโตๆให้เล่น
ตุ๊กตามีอยู่ 4 ตัว คือ ธาตุดิน ก็เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง, ธาตุน้ำ ก็เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง, ธาตุไฟ ก็เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง, ธาตุลม ก็เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง
- เมื่อเด็กมีอาหารดี มีตุ๊กตาเล่น - เด็กก็จะไม่ซน ไม่วิ่งออกไปเล่นนอกบ้าน - การออกไปเล่นนอกบ้านนั้นมีอันตรายหลายอย่าง แต่ถ้าอยู่ภายในบ้านของเราแล้ว ถึงจะมีอันตรายเกิดขึ้นบ้างก็ไม่มากนัก



- ใจเรานี้จะต้องให้มันเล่นวนเวียนอยู่กับธาตุทั้ง 4 คือกาย ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ นี่แหละ จึงจะไม่เกิดทุกข์เกิดโทษ
- เมื่อเด็กเล่นเหนื่อยแล้ว ก็จะนอนพักในเปลหรือที่นอน - ที่พักนี้คือ จิตที่เข้าไปสงบนิ่งอยู่ในองค์ฌาน มีปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จนถึงจตุตถฌานเป็นต้น - ต่อจากนี้ก็จะเข้าถึงความเป็นหนึ่งคือ เอกัคคตารมณ์
__________________________________________________________________

- ลมหายใจตัวเรานี้ มิใช่มีแต่เฉพาะที่พุ่งเข้าพุ่งออกจากทางจมูกอย่างเดียว
- ลมในร่างกายนี้ ระบายออกได้ทั่วทุกขุมขน เหมือนกับไอน้ำที่ระเหยออกจากก้อนน้ำแข็ง และมีลักษณะละเอียดมากกว่าลมภายนอก -เมื่อมันกระจายออกมากระทบกันเข้า จะเกิดเป็นผลสะท้อนกลับเข้าสู่ร่างกายอีก เรียกว่า "ลมอุ้มชู" - เป็นลมที่ช่วยให้จิตใจและร่างกายสงบเยือกเย็น
- ฉะนั้นเวลาหายใจเข้าไป จึงควรทำลมให้เต็มกว้างภายใน และเวลาหายใจออกก็ให้มันเต็มกว้างทั่วบริเวณตัวเอง

- บุญกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรานี้ เหมือนกับหน่อเพชรหรือหน่อทองที่ผุดขึ้นในบ้านเรือนของเรา - ใครจะมาขุดมาแย่งชิงเอาของเราไปไม่ได้ กฎหมายก็บังคับอะไรเราไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นในส่วนที่นาของเราเอง บุญชนิดนี้จัดว่าเป็นบุญที่เลิศกว่าบุญทั้งหมาย

- อาหารมี 2 อย่างคือ อาหารคำๆที่เรากลืนกินเข้าไปนี้อย่างหนึ่ง, และลมหายใจเข้าไปอย่างหนึ่ง
- อาหารจิตมีอยู่ 3 อย่าง คือ 1.ผัสสาหาร 2.มโนสัญเจตนาหาร 3.วิญญาณหาร
___________________________________________________________

- พุทธะ ธรรมะ สังฆะ 3 รัตนะนี้ เมื่อรวมลงในพุทโธ ก็เท่ากับเราเอาสบู่ 3 ก้อนมารวมเป็นก้อนเดียวกันแล้วใช้สบู่ฟอกผ้า คือดวงจิตของเรา กายของเราให้ขาวสะอาด
- ธาตุทั้ง 6 เปรียบเหมือนกับผ้า - พวกธาตุดินมีกระดูกต่างๆ - ธาตุน้ำมีโลหิตและน้ำดี ฯลฯ - ธาตุไฟที่ทำความอบอุ่นในกระเพาะอาหารและลำไส้ - อากาศในช่องตา ช่องหู ช่องจมูก - วิญญาณความรู้สึกลมหายใจเปรียบเหมือนชามอ่างซักผ้า - พุทโธ เป็นสบู่ - สติเป็นมือที่ไปจับก้อนสบู่
- การซักเราจะต้องวางผ้าลงให้ตรงในชามอ่าง มือก็จับให้ถูกก้อนสบู่ และถูให้ถูกตรงที่เปื้อน - ทำเช่นนี้จึงจะได้ผลคือผ้าของเราก็ขาวสะอาด
- ผ้าที่มิได้ซักฟอก ย่อมจะมีน้ำหนักมาก เพราะมันอมอยู่ซึ่งเหงื่อไคล - เมื่อเราซักฟอกแล้ว มันจะมีน้ำหนักเบาลงกว่าเดิม เหมือนจิตของบุคคลที่ฝึกหัดขัดเกลาแล้ว ย่อมเบาจากความยึดถือ จิตก็จะสูงขึ้นกว่าเก่า
___________________________________________________________

- ทาน สละโลภะ, ศีล สละโทสะ, ภาวนา สละโมหะ

- จงคิดดูให้ดีว่า โลกนี้ไม่ใช่ของเรา แล้วเราจะมานั่งเฝ้าโลกกันอยู่อย่างนี้ล่ะหรือ ไม่ช้าเราก็จะต้องจากมันไปอย่างแน่ๆ - ดังนั้นเราจึงไม่น่าหลงติดอะไรอยู่

- ความสุขที่แท้จริงนั้น ย่อมเกิดจากบุญกุศล คือความสงบที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใจที่พ้นจากทุกข์โทษความดิ้นรน ไม่มีกระสับกระส่ายเดือดร้อนกระวนกระวาย
- ถ้าใครมานั่งหลงโลกติดโลก ว่ามันเป็นของดีวิเศษวิโสอยู่ นั่นมิใช่นิสัยของบัณฑิต ผู้ใฝ่ใจธรรมของพระพุทธเจ้า - เพราะฉะนั้น เราจงพากันตั้งอกตั้งใจประกอบบุญกุศล เพื่อจะให้เป็นทางที่พ้นไปจากโลกนี้ นั่นแหละจะเป็นหนทางที่ถูกต้อง

___________________________________________________________________

- ลมที่เราหายใจเข้าไปในร่างกายนี้ เราจะต้องขยับขยายส่งไปเชื่อมต่อกับธาตุต่างๆ ทุกส่วนในร่างกายให้ทั่ว - ธาตุลมก็ให้มันไปเชื่อมกับธาตุไฟ -ธาตุไฟเชื่อมกับธาตุน้ำ - ธาตุน้ำเชื่อมกับธาตุดิน - ธาตุดินเชื่อมกับธาตุอากาศ- อากาศเชื่อมกับวิญญาณ ทำธาตุทั้ง 6 ให้เป็นสามัคคีกลมเกลียวกัน ร่างกายของเราก็จะได้รับความสุขสมบูรณ์
- เหมือนกับเราบัดกรีขัน(ขันธ์)ของเราไม่ให้แตกร้าว ขันนันก็จะบรรจุน้ำได้เต็มทั้งใสและเย็นด้วยความเต็มนี้ได้แก่ บุญกุศล - ความใสเกิดจากจิตที่เที่ยง ไม่เอนเอียง - ความเย็นได้ เพราะขันน้ำนั้นตั้งอยู่ภายใต้ต้นไม้ที่มีร่มเงา คือพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ

- เวลาหายใจเข้า ลมภายในจะต้องสะเทือนให้ทั่วถึงกันทั้ง 3 ส่วน มี ปอด หัวใจ ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ซี่โครง กระดูกสันหลัง เป็นต้น - ถ้าไม่สะเทือนทั่ว นั่นไม่ใช่ผลของสมาธิ

- การปิดประตูหน้าต่าง หรืออุดช่องโหว่ ก็คือการสำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามิให้แส่ส่ายออกไปรับสัญญาอารมณ์ภายนอกต่างๆ เรียกว่า "สติสังวร" - สติของเราก็จะรวมกันเป็นก้อนเดียว สติเกิดกำลัง ผลก็ย่อมจะเกิดทันที คือความสบายใจ
- เมื่อสติของเราหนาแน่นไม่ย่อหย่อน - สมาธิของเราก็แข็งขึ้น ใจก็เที่ยง - ไฟคือแสงสว่างก็จะเกิดขึ้นได้เป็น 2 ประการ คือ เกิดจากตัวของเราเองอย่างหนึ่ง เกิดจากแสงสะท้อนของฝาผนังอย่างหนึ่ง
- สติจึงเป็นตัวเหตุ เป็นตัวอุปการี ที่อนุเคราะห์ส่งเสริมให้สมาธิของเราเจริญขึ้น
- สติจึงเปรียบเหมือนกับพ่อแม่ของเรา เราจะต้องเลี้ยงดูมันไว้เสมอ - สตินั้นท่านเรียกว่า มาติกากุสลา แปลว่า แม่ของกุศล

- ไฟมีอยู่ 2 ประเภท - ไฟร้อนประเภทหนึ่ง คือ กิเลสราคัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา
ไฟเย็นประเภทหนึ่ง ได้แก่ ฌานัคคิ เกิดขึ้นจากความสะสมไว้ซึ่งสมาธิจิต
- ไฟเย็นเปรียบเหมือนถ่ายไฟฉาย - ไฟร้อนเหมือนกับหัวเทียน

- กายทำสมาธิ คือ ต้องการไฟเย็น เหมือนถ่านไฟฉายย่อมเป็นของเย็น
- ถ้าคนโง่ก็เห็นว่าไม่มีไฟ เช่น คนบางคนเข้าใจว่า นั่งหลับตาสงบจิต มันจะโง่ไม่มีปัญญา นั่นเป็นความโง่ของคนที่ว่า - ถ้าคนฉลาดเขาเปิดได้ไฟเย็นใช้

- ใจสงบนิ่ง ย่อมเกิดแสงสว่างขาว รัศมีที่เรียกว่า ปภสฺสรํ จิตฺตํ - ไฟเย็นย่อมเกิดแสงขาว แสงที่ขาวนี้ย่อมไม่ให้โทษแก่หลอดไฟ เช่น ตาหู จมูก ลิ้น กาย - สายลวดคือเส้นประสาทที่เรียกว่า จักขุประสาท เป็นต้น - ไฟก็เย็น แสงก็เย็น ย่อมใช้ได้ทั้งใกล้และไกล - อานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความฉลาด ได้แก่ แสงที่เย็นฉายออก เช่น รอบรู้ในทางตา ดูรูปอะไรรู้เรื่อง เรียกว่า ทิพพจักขุ - ใช้ในทางหู ฟังอะไรรู้เรื่องเข้าใจ เรียกว่า ทิพพโสต - จมูกถูกกลิ่นอะไรก็รู้เรื่อง เข้าใจ ลิ้น กาย จิต ย่อมรู้รอบคอบสว่างไสว เยือกเย็นเป็นสุข ที่ท่านเรียกว่า ปญฺญาปโชโต แสงสว่างคือปัญญา - เมื่อใครทำได้เช่นนี้ จัดเป็นวิชชาวิปัสสนา คือแสงสว่างเกิดขึ้นแล้วจากความสงบ

- ตาไม่ติดรูป รูปไม่ติดตา - หูไม่ติดเสียง เสียงไม่ติดหู - จมูกไม่ติดกลิ่น กลิ่นไม่ติดจมูก - ลิ้นไม่ติดรส รสไม่ติดลิ้น - กายไม่ติดสัมผัส สัมผัสไม่ติดกาย -ใจไม่ติดอารมณ์ อารมณ์ไม่ติดใจ - แยกออกเป็นส่วนๆ เรียกว่า ภควา เป็นตัววิปัสสนาญาณ เป็นฉฬงฺคุเปกฺขา- ปล่อยได้ทั้งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก

- ใจที่แท้ย่อมอยู่กับความเย็น และความสงบสุข เปรียบเหมือนไฟเย็น ย่อมถาวรไม่ให้โทษแก่คนทั้งหลาย
- หินแข็ง ยิ่งเย็น -ความเย็นนั่นแหละย่อมเก็บไฟได้อย่างดี มีแสงอยู่ในตัว โดยไม่ต้องใช้เชื้ออย่างหยาบๆ ก็สว่างได้
- ดวงใจที่ฝึกหัดแล้ว สงบอยู่ในตัว ย่อมเย็น มีแสงอันลึก มีความฉลาดอันแหลม ผิดจากไฟแดงหรือไฟร้อน เกิดขึ้นจากเครื่องกระทบและเสียดสี
เช่นถ่านไฟฉายเป็นต้น ย่อมไม่มีโทษ

- บุคคลทั้งหลายผู้ไม่ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ย่อมอยู่กับไฟร้อน- อันจะต้องทำส่วนต่างๆ ของจิตให้เสียไป เช่น ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย - เมื่อประสาทเหล่านี้เสียไป ย่อมโง่ - ตาก็มืด เห็นรูปไม่รู้ความจริง เรียกว่าอวิชชา - หูก็ตึง ฟังเสียงอะไรไม่รู้เรื่องความจริง เรียกว่าอวิชชา ย่อมเกิดตัณหา ย่อมเกิดกิเลส ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นในตัว นั่นแหละคือความโง่เขลา


___________________________________________________________

- เมตตาตัว คือหมั่นประกอบบุญกุศลและคุณความดีให้มีขึ้นในตน
- ขณะใดที่จะเกิดประโยชน์จากตา หูจมูก ปากมือ เท้าของตนเองแล้ว ก็ไม่ยอมปล่อยโอกาสให้เสียไป - มือของเราที่จะให้ทาน ก็ไม่ถูกตัด, เท้าของเราที่จะก้าวเดินไม่วัด ก็ไม่ถูกตัด, หูของเราที่จะได้ฟังเทศน์ก็ไม่ถูกตัด, ตาที่จะได้พบเห็นของดีๆ ก็ไม่ถูกปิดปืด - เราก็จะได้รับผลรายได้อันดีจากตัวของเราอย่างเต็มที่ ผู้นั้นจะมีแต่ความสุข

- คนใดที่ขาดเมตตาตัวเอง ก็เท่ากับฆ่าตัวเอง เรียกว่าเป็นคนใจร้าย
เมื่อฆ่าตัวเองได้ ก็ย่อมฆ่าคนอื่นได้ด้วย - เช่น เขาจะไป ห้ามไม่ให้เขาไป , เขาจะดู ห้ามไม่ให้เขาดู, เขาจะฟัง ห้ามไม่ให้เขาฟัง ทำให้ผลประโยชน์ของคนอื่นที่ควรจะได้ พลอยเสียไปด้วย - นี่แหละ เป็นการฆ่าตัวเองและฆ่าคนอื่นให้ตายไปจากคุณความดี
___________________________________________________________

- ถ้าเราปรารถนาจะได้รับความสุขอันเป็นยอดของมหาสมบัติทั้งปวง - ก็ต้องกระทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศล คือ ทาน ศีล ภาวนาให้พร้อมบริบูรณ์ - เราจะต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นวัตถุภายในและภายนอกที่เป็นของๆเรา ออกถวายบูชาพระพุทธเจ้าให้หมดสิ้น แม้แต่ชีวิตร่างกายของตัวเอง เราไม่เอาอะไรเหลือกับติดไปเลยแม้เท่าปลายนิ้วมือ - นั่นแหละ เราจะได้รับมหากุศลสมตามความปรารถนา





ที่มา -1. หนังสือแนวทางปฏิบัติ-วิปัสสนากัมมัฏฐาน เรียบเรียงจาก โอวาท 4 พรรษาของพระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม
2. รูปจาก วัดป่าภูผาสูง






Create Date : 29 มกราคม 2553
Last Update : 15 สิงหาคม 2554 20:22:21 น.
Counter : 11904 Pageviews.

1 comments
  
ขอบคุณมากๆสำหรับหลักธรรมอันประเสริจ ขอให้บลอ็กนี้อยุ่คู่โลกไซเบอร์ตราบชั่วฟ้าดินสลาย
โดย: Jullaa (Jullaa ) วันที่: 3 ตุลาคม 2553 เวลา:15:35:06 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Kat_kine
Location :
ปทุมธานี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]