“A path is made by walking on it.”
Group Blog
 
All blogs
 
ตำนานรักหลิวสี่ชีวิต



ทำไมคนเราถึงมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับคนบางคน? ทำไมบางคนทำให้เราเจ็บช้ำ? และบางคนทำให้เรามีความสุข?... ทั้งหมดนี้คือเงื่อนแห่งกรรม เหล่าดวงวิญญาณทั้งหลายพยายามหาทางที่จะแก้ปมที่ผูกไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน


ผู้แต่ง: Shan Sa
ผู้แปล: นวรัตน์ อักษร สุขเกษม
สนพ. สยามอินเตอร์บุ๊คส์


เนื้อเรื่องตอนที่ 1 เป็นการเปรียบเทียบชีวิตของคู่รักคู่หนึ่งในสมัยราชวงศ์หมิง ชงหยางสละความรักเพื่อใฝ่หาความรุ่งเรืองในเมืองหลวง สอบได้เป็นจอหงวน แต่งงานใหม่เป็นราชบุตรเขย มีตำแหน่งใหญ่โตในวัง ขณะที่ลิ่วยี่ปฏิเสธที่จะติดตามสามีไปอยู่ในวัง นางเปรียบตัวเองเหมือน “เงาที่ติดตามแสงสว่าง” หากนางไปอยู่ในวังกับชงหยาง นางจะเป็นได้เพียงทาสและของเล่นของเขา ดังนั้นนางพอใจที่จะมีชีวิตอยู่กับความทรงจำเก่าๆ ที่บ้านเดิม ห้อมล้อมไปด้วยข้าวของที่ชงหยางทิ้งไว้     

แม้ชงหยางคิดถึงลิ่วยี่มากมาย แต่เขาไม่ยอมกลับมาหานางด้วยตนเอง เขาส่งคนมารับลิ่วยี่หลายครั้งครา ล้วนได้รับการปฏิเสธ รักจึงพลันกลายเป็นแค้น เขาส่งจดหมายหย่าไปให้ลิ่วยี่ ความหวังที่จะรอคอยของนางจึงพังทลายลง นางเศร้าโศกจนค่อยๆ คืนร่างเป็นต้นหลิวที่เหี่ยวแห้งโรยรา ใช่แล้ว! แท้ที่จริงนางคือต้นหลิวที่ชงหยางในวัยเด็กปลูกไว้ที่ริมหน้าต่าง และนี่คือจุดเริ่มต้นของชะตา “ผูกพัน” ข้ามภพชาติของคนทั้งสอง

ตอนที่ 2 พูดถึงพี่น้องฝาแฝดชุนยี่ (ชาย) และชุนหนิง (หญิง) ที่มีชีวิตในเขตทุ่งหญ้าสมัยราชวงศ์ชิง ทั้งสองคลอดตามกันมา แต่ชุนยี่ถูกท่านย่านำไปเลี้ยง เขาค่อยๆ เติบโตเป็นเด็กชายที่เย่อหยิ่งทว่าไม่เอาไหน และยังเกลียดน้องสาวแท้ๆ ของตนเอง ขณะที่ชุนหนิงอาศัยอยู่กับมารดา สมองของเด็กหญิงเต็มไปด้วยความใคร่รู้ สงสัยในทุกสิ่ง เช่น เหตุใดพี่ชายที่คลานตามกันมาจึงจงเกลียดจงชังนางเสียเหลือเกิน? รวมถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ความสัมพันธ์ของผู้คน อะไรเล่าที่ชักนำและผูกมัดผู้คนให้พบเจอ รักกัน หรือเกลียดกัน? ... เงื่อนแห่งกรรมงั้นหรือ?

เมื่อโตขึ้นเด็กหนุ่มที่ไม่เอาไหนอย่างชุนยี่ก็ก่อเรื่องจนบ้านแตก เขาหนีไปปักกิ่งตามคำแนะนำของชุนหนิง ปักกิ่งเมืองซึ่งชุนหนิงใฝ่ฝันถึงตลอดมา แต่นางไม่มีโอกาสได้ไปเลยสักครั้ง ยามนี้คู่แฝดของนางไปถึงที่นั่น หยัดยืนอยู่หน้าประตูสันติภาพแห่งสวรรค์ของพระราชวังต้องห้าม ไม่ทราบพบเจอเรื่องร้ายดีอย่างไร ฝาแฝดเกิดตามกันบัดนี้แยกจากไปตาม ‘วิบากกรรม’ ของตนเอง ชุนหนิงได้แต่เฝ้ารอฟังข่าวอยู่ที่บ้าน แต่งงาน ให้กำเนิดชีวิตใหม่ พร้อมกาลเวลาที่ผ่านเลย

ตอนที่ 3 พูดถึงเหวินและหลิวที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม คนจำนวนมากแอบอ้างอุดมการณ์สวยหรูเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวของตนเอง การใส่ร้ายป้ายสี การฉวยโอกาสชำระแค้น การปลดปล่อยสัญชาตญาณดิบ ความดื้อรั้นดันทุรัง และความหวาดระแวง คุกรุ่นปั่นป่วนอยู่ในหมู่ชน

ในสถานการณ์ที่ไม่อาจไว้ใจใคร ความรักคือซอกมุมเล็กๆ ที่ทำให้คนสองคนพอจะไว้วางใจกันและกันได้ ดังนั้นสิ่งที่น่าเจ็บปวดที่สุดก็คือ ‘การทรยศต่อความรัก’ และสิ่งที่น่าซาบซึ้งใจที่สุดก็คือการค้นพบความจริงว่า’คนรักมิใช่ผู้ทรยศ’ แต่โชคชะตาของเหวินและหลิวไม่มีทางบรรจบกัน เสียงปืนแผดดังขึ้นหนึ่งนัด พรากคู่รักไกลห่างจากกันอีกครา

โศกนาฏกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้เสียงกู่ร้อง ‘ประธานเหมาจงเจริญ!’ ‘การปฏิวัติวัฒนธรรมจงเจริญ!’ ‘แนวความคิดแบบเหมาจงเจริญ!’

ตอนที่ 4 เล่าถึงเหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน อาจิ้งสาวมั่นที่ทั้งทำงานเก่ง ทั้งเปี่ยมเสน่ห์ มีชายหนุ่มหลายคนก้าวเข้ามาในชีวิตของเธอ แต่เธอไม่เคยจริงจังกับผู้ใด บางเวลาเธอฝันถึงเจ้าชายบนฟ้า ตนเองเป็นราชินีสวมมงกุฎหลิว แต่เธอก็ไม่สามารถก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความฝัน เมื่อเธอพบว่าตนเองแก่ลงเรื่อยๆ ขณะที่เจ้าชายในฝันยังคงหนุ่มแน่นคงเดิม นั่นคือสิ่งที่ปลุกให้เธอต้องตื่นขึ้น

ท่ามกลางผู้คนที่รายล้อม ชื่อเสียง ความโด่งดัง ความสำเร็จ อาจิ้งกลับรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว เธอยังรอคอยสิ่งใดเล่า?

ในตอนที่ 3 เหวินเคยบอกว่า “ชีวิตผมก็เหมือนกับการเดินทางท่องเที่ยวอย่างโดดเดี่ยว แต่กระเป๋าเดินทางของผมเต็มไปด้วยความคิดถึงบ้าน”

แล้วกระเป๋าเดินทางของอาจิ้งล่ะ?
เธอค่อยๆ เปิดมันออก “มงกุฎหลิวแห้งๆ วางอยู่ระหว่างชุดสองชุด” ในกระเป๋าเดินทางของเธอ


********************************

หลิว เป็นสัญลักษณ์ของความตายและการเกิดใหม่ คำถามสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ คนเราตายเพราะเหตุอันใด? และเกิดใหม่อีกครั้งเพื่ออะไร? คู่รักใน ‘ตำนานรักหลิวสี่ชีวิต’ เป็นตัวอย่างของการเวียนว่ายเพื่อหาทางแก้ ‘ปมแห่งกรรม’ ที่เคยผูกพันก่อขึ้นในอดีต

จขบ. อ่านแล้วรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มีปัญหาเรื่องสำนวนแปลโดยเฉพาะช่วงแรกๆ (ครึ่งเรื่องหลังสำนวนแปลดีขึ้นเยอะเลย) ผู้แปลมีความเชี่ยวชาญภาษาต้นฉบับ (ฝรั่งเศส) แต่ขาดความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมจีนซึ่งเป็นท้องเรื่อง ขณะเดียวกันก็ขาดความชำนาญในการถ่ายทอดเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะ “การเลือกใช้คำ” ทำให้เสียอรรถรสอย่างมากมาย

ตัวอย่าง การเรียกคนหนุ่มที่เตรียมตัวสอบระดับท้องถิ่นว่า “นักปราชญ์” (ความจริงควรใช้แค่คำว่า “บัณฑิต”) เอกสารเขียนด้วยมือ (ภาพเขียนอักษรจีน!?) ของเล่นอัตโนมัติ (คืออะไร?) หน้า 20 บอกว่าชงหยางสอบได้ที่ 5 ได้รับแต่งตั้งเป็นจอหงวน แต่ถัดลงไปอีกไม่กี่บรรทัด บอกว่าชงหยางต้องจากบ้านไปสอบจอหงวนอีกแล้ว ฯลฯ

ความสับสนเหล่านี้ส่วนหนึ่งอาจมีมาตั้งแต่ต้นฉบับแล้วก็ได้ อย่างเรื่อง The Girl Who Played Go ผลงานสร้างชื่อของ Shan Sa เธอได้รับคำชื่นชมมากมายจากบรรดา ‘ฝรั่งตื่นตะวันออก’ แต่อีกด้านหนึ่งเธอก็ถูก ‘ฝรั่งรู้จริง’ วิจารณ์หนัก ว่านอกจากภาษาสวยดุจบทกวีแล้วก็ไม่มีอะไร เธอไม่ประสีประสาเรื่อง ‘โกะ’ เสียเลยด้วยซ้ำ  

นั่นอาจเป็นเพราะ Shan Sa เติบโตในฝรั่งเศส คำบรรยายท้ายเล่มบอกว่าเธอ ‘ทิ้งภาษาจีนเพื่อภาษาฝรั่งเศส’ นับเป็นคำบรรยายที่แปลกประหลาดทีเดียว อย่างไรก็ดี Shan Sa มีพื้นฐานการศึกษาด้านปรัชญาและศิลปะ แม้องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมของเรื่องจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ ‘สาร’ ที่เธอสื่อผ่านเนื้อเรื่องยังเป็นสิ่งมีค่าน่าขบคิด






Create Date : 03 ตุลาคม 2558
Last Update : 3 ตุลาคม 2558 1:37:12 น. 0 comments
Counter : 1555 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Varalbastra
Location :
จันทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




My spirit listens and my yearning eyes
Strain to discover things they may not see.

《Chin Hwa》





..................
Friends' blogs
[Add Varalbastra's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.