All Blog
อิสรชนคนสนามหลวง


สนามหลวง ชื่อนี้ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีมาช้านานในหมู่คนไทย หรือแม้ชาวต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวเมืองไทยก็ตาม เพราะสนามหลวงตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวัง ชาวต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวเมืองไทยต้องไม่พลาดที่จะมาชม


ถ้าสนามหลวงเป็นคนก็อาจจะเรียกได้ว่าผ่านเหตุการณ์มามากมายหลายรูปแบบ เช่นในอดีตเคยเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย มีสินค้ามากมายสารพัดชนิดวางขายที่นี่ แม้กระทั่งหนังสือเก่ามือสองก็มีขาย ต่อมาตลาดนัดก็ย้ายไปอยู่ที่สวนจตุจักรจนถึงวันนี้


สนามหลวงเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับคนที่มีรายได้น้อย พาครอบครัวมาปูเสื่อนั่งชมการเล่นว่าวในตอนบ่ายๆของวันอาทิตย์ในหน้าร้อน พร้อมกับมีของขบเคี้ยวกินเล่น เช่นปลาหมึกปิ้งย่างมาขายให้บริการอยู่ใกล้ๆ เด็กๆก็อาจจะเช่ารถจักรยานถีบเล่นด้วยความสนุกสนาน


เป็นที่รู้กันว่าภ้าใครเข้ามากรุงเทพครั้งแรกแล้วหลงทางก็มักจะมาตั้งต้นที่สนามหลวง เพราะที่นี่เป็นชุมทางรถเมล์มากมายหลายสิบสาย


แต่วันนี้สนามหลวงมีบทบาทเป็นที่ตั้งเวทีของกลุ่มการเมือง สำหรับการปราศัยให้ประชาชนมาฟัง นอกจากจะเป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีต่างๆเช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น และในปีนี้ประมาณเดือนพฤศจิกายน ก็จะมีงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระพี่นางฯ


ในอีกมิติหนึ่งของสนามหลวงวันนี้ ยังเป็นที่พักพิงของผู้คนที่ไร้บ้านมายึดเป็นที่พักอาศัยยามค่ำคืน กลุ่มคนพวกนี้เดินทางมาจากต่างจังหวัด และคนที่เร่ร่อนอยู่ในกรุงเทพมาช้านาน ความเป็นมาและความเป็นอยู่ของพวกเขาน่าสนใจมาก



ธีรนุช ยอดนุ่น พิธีกรสาวผู้ดำเนินรายการ "คนละไม้คนละมือ" ที่ออกอากาศทาง ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ จึงลงภาคสนามไปสัมภาษณ์คนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เข้ามาศึกษาและช่วยเหลือกลุ่มคนเร่ร่อนพวกนี้ พวกเขาปฏิบัติงานในนาม เจ้าหน้าที่กลุ่มอิสรชน สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน




คุณนที สรวารี เจ้าหน้าที่กลุ่มอิสรชน ให้สัมภาษณ์คุณธีรนุช ยอดนุ่น เล่าความเป็นมาของอิสรชนคนสนามหลวง


เขาเล่าว่าก่อนที่คนพวกนี้จะเดินทางเข้ามาเป็นอิสรชนคนสนามหลวงนั้น พวกเขามีบ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่ด้วยความยากจนขัดสน เขาจึงบากหน้าเข้ามาที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราๆท่านๆได้ยินเรื่องอย่างนี้กันมาช้านาน แต่คุณนทีเล่าว่ามันเป็นเรื่องจริงๆนะ เขาเข้ามากรุงเทพด้วยความหวัง หวังที่จะมีงานทำพอที่จะเก็บเงินได้สักจำนวนหนึ่ง แล้วก็จะกลับบ้านที่ต่างจังหวัด


แต่ความหวังของพวกเขาก็ละลายหายไป เมื่อไม่สามารถหางานทำได้ เงินทองที่มีติดตัวมาก็ค่อยๆหมดไป พวกเขาจึงมาอยู่ที่สนามหลวง กลายเป็นอิสรชนคนสนามหลวง


คุณนทีเล่าว่าคนพวกนี้ก็เหมือนกันเราๆท่านๆนี่แหละ เขามีศักดิ์ศรีและคิดว่าสักวันเขาคงจะมีโอกาสดีขึ้น แต่โอกาสในสังคมกรุงเทพไม่เปิดให้ใครง่ายๆ พวกเขาจึงเป็นคนด้อยโอกาสเช่นทุกวันนี้


กลุ่มเจ้าหน้าที่อิสรชนจะเข้ามาดูแล และให้คำแนะนำ พร้อมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับพวกเขาในการที่จะดำรงชีวิตความเป็นอยู่ที่สนามหลวงในสภาพที่ดีขึ้น แนะนำให้ประกอบอาชีพเล็กๆน้อยๆเพื่อยังชีพ บางคนก็เลยมีอาชีพที่สามารถจะเลี้ยงตัวเองและญาติมิตรได้ เช่น ป้าพร เป็นต้น




ป้าพรยึดอาชีพค้าขายเครื่องดื่มเล็กๆน้อยๆที่สนามหลวงนี้มานานหลายปี และบอกว่าวันนี้คุณภาพชีวิตของเธอดีขึ้นมาก และไม่คิดที่จะไปไหนอีก


หน่วยงานราชการเช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ น่าจะเข้ามาดูแลกลุ่มคนพวกนี้บ้าง เพราะพวกเขาอยู่ในกรุงเทพนี่เอง





ภาพประกอบจากรายการ "คนละไม้คนละมือ"
ถ่ายภาพจากหน้าจอ ทีวี ด้วยมือถือ NK N81






Create Date : 24 กันยายน 2551
Last Update : 24 กันยายน 2551 9:34:50 น.
Counter : 1845 Pageviews.

1 comments
  
น่ารักดีค่ะ รายการนี้

มีเรื่องราวดีๆมานำเสนอตลอด
โดย: หญิง IP: 124.121.112.51 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา:23:46:32 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง