<<
มีนาคม 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 มีนาคม 2548
 

Don't Move -- กับอดีตที่หลอกหลอน


หนังเรื่องนี้ มีฉายประมาณห้า หกโรงครับ ที่โรงหนังสยาม , อีจีวีเมโทรโพลิส ซีคอน ปิ่นเกล้า (แต่เครืออีจีวี รู้สึกจะฉายด้วยระบบดีวีดี) , วิสต้า กาดสวนแก้ว เชียงใหม่ แล้วก็ที่เนวาด้า อุบลฯ (มั้งครับ)

หลังจากดูจบ ค่อนข้างเฉยๆ กับหนังเรื่องนี้นะครับ (คงเป็นเพราะว่าตั้งความหวังเอาไว้สูง) คือดูได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกประทับใจในตัวหนังมากนัก ว้า! แย่จัง :( …….

คำเตือน : อาจมีการเปิดเผยเรื่องราวที่สำคัญของหนัง

--- 8.0/10 ---

Don’t Move เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการสำรวจด้านมืดในจิตใจของมนุษย์
“มนุษย์ทุกคนย่อมมีด้านมืดเหมือนกันทั้งนั้น” ไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นใครมาจากไหน ก็ย่อมเคยทำผิดมาเหมือนกันทุกคน
ไม่เว้นแม้แต่ศัลยแพทย์ผู้มากไปด้วยความรู้อย่าง Timoteo (Sergio Castellitto) ที่ภายนอกเขาอาจฉาบไว้ด้วยความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่า แท้จริงแล้ว “เนื้อใน” ของเขานั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดำมืดแอบแฝงอยู่?

ย้อนกลับไป 16 ปีก่อน เนื่องจากรถเสียระหว่างทาง จึงเป็นเหตุทำให้ Timoteo ได้พบเจอกับ Italia (Penelope Cruz) ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจของ Italia (หรือมีอย่างอื่นแอบแฝง?) เธอจึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่แขกแปลกหน้าทุกอย่าง ทั้งพาเขาไปหาช่างซ่อมรถ ทั้งให้ยืมโทรศัพท์ใช้ แต่สิ่งที่เธอได้รับตอบแทน กลับกลายเป็น “การถูกข่มขืน” – จากเหตุการณ์ในวันนั้น จากความใคร่ที่มีอยู่ในตอนแรกก็ได้ค่อยๆ พัฒนาตัวและแปรเปลี่ยนกลายเป็นความรักอันเร่าร้อนและรุนแรงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้น เมื่อทั้ง Italia และ Elsa (Claudia Gerini) ภรรยาที่แท้จริงของเขา ต่างก็ตั้งท้องทั้งคู่ นั่นจึงเป็นเหตุทำให้ Timoteo ถึงคราวต้องทำการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ ..... และจากวันนั้น เรื่องราวทั้งหมดก็ไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป....

....ดูเผินๆ แล้ว พล็อตของหนังอาจไม่โดดเด่นมากนัก ค่อนข้าง “ซ้ำซาก” “น่าเบื่อ” และอาจถึงขั้นเข้าข่าย “ไร้ความแปลกใหม่” เสียด้วยซ้ำ (คุ้นๆ ว่าเคยดูละครไทยพล็อตประมาณนี้เลย แต่นึกชื่อเรื่องไม่ออก!) ฉะนั้น โจทย์อันหนักหนาของผู้สร้างก็คือ จะทำอย่างไรให้คนดูคล้อยตามไปกับเนื้อเรื่องอันซ้ำซาก (Cliche) เหล่านี้ได้?

ตัวผู้กำกับอย่าง Sergio Castellitto (กำกับ, เขียนบท, แสดงนำ) จึงเลือกที่จะใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบคู่ขนาน ตัดสลับเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงด้านมืดของคนๆ หนึ่งอย่าง Timoteo – ณ วินาทีแห่งความเป็นความตายของลูกสาวเพียงคนเดียวอย่าง Angela (Elena Perino) นั้น จู่ๆ คนเป็นพ่ออย่าง Timoteo ก็ได้เห็น “ภาพความผิด” (Guilt) ที่เขาได้เคยทำต่อผู้หญิงคนหนึ่งที่มีชื่อว่า Italia - แล้วเรื่องราวหลังจากนี้ก็เป็นเรื่องราวของการสารภาพบาป การสารภาพความผิดที่ได้พรั่งพรูออกมาอย่างไม่ขาดสาย

เราจะเห็นว่า หนังเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของคนสองคนอย่างชัดเจน ระหว่าง “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ”
- ผู้กระทำ : Timoteo แม้ภายนอกจะดูดี มีความรู้ แต่ลึกๆ แล้ว ในจิตใจของเขากลับไม่ได้มีอะไรเหมือนกับรูปลักษณ์ภายนอกเลย ตั้งแต่วันแรกที่เขาได้เจอกับ Italia เราจะเห็นว่าเขาปฏิบัติต่อเธอราวกับเธอเป็นโสเภณีข้างทางที่ไม่มีค่าใดๆ เลย ! ทั้งยังอ้างเหตุผลให้กับการกระทำอันป่าเถื่อนของเขาเพียงแค่ “ผมเมา” อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น แม้ว่าจะอยู่ในสภาพปกติเพียงใด เราก็ยังคงเห็นว่าเขาก็ปฏิบัติตัวต่อ Italia ไม่ต่างออกไปจากครั้งแรกที่เขาได้พบกับเธอเลย – “ผมเมา” คงใช้อ้างได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

และหนังก็ได้ให้เหตุผลของการกระทำเหล่านั้นว่า ด้วยความที่เป็นคนมีความต้องการทางเพศ (Sexual Desire) ค่อนข้างสูง (จากภาพพฤติกรรมทางเพศที่เร่าร้อนและรุนแรงของเขา) ทำให้เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองจากภรรยาอย่าง Elsa เขาจึงต้องหาทางระบายออกกับคนอื่นแทน และคนๆ นั้นก็คือ Italia

แต่นั่นคือวิธีการระบายออกที่ถูกหรือ? แน่นอนมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลย น่าแปลกนะครับที่การศึกษาหรือฐานะไม่สามารถเป็นเครื่องชี้วัดถึงจริยธรรมในจิตใจของคนในสังคมได้เลย -- ไม่ว่า Timoteo จะมีการศึกษาหรือฐานะดีเพียงใด แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้เขามีจิตใจที่สูงขึ้นเลย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งมี IQ สูงมากขึ้นเท่าไหร่ ..EQ และ MQ (Moral Quotient; ความฉลาดด้านคุณธรรม จริยธรรม) ก็ดูจะลดน้อยลงๆ เท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นการที่ Timoteo ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจใดๆ ได้ทั้งสิ้น เขาปล่อยให้สิ่งที่เรียกว่า “ความใคร่” เข้ามาครอบงำจิตใจจนล่วงเลยกลายมาเป็นความรักได้ในที่สุด ....หรือจะเป็นการนอกใจภรรยา ที่ได้ค่อยๆ กัดกร่อนทำลายสัมพันธภาพที่ทั้งคู่มีต่อกันจนเกือบหมดสิ้น! ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ล้วนแล้วแต่นำพาเขาไปสู่ “การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่” กับการเสียชีวิตอันมีค่าของคนถึงสองคน!

“พระเจ้าต่างหาก ที่จะไม่ให้อภัยเราสองคน” Italia เคยตอบ Timoteo ไว้อย่างนี้
แต่ผมคิดว่า คนที่พระเจ้าจะไม่ให้อภัยมากที่สุด น่าจะเป็น Timoteo เพียงคนเดียว!!

- ต่างจากผู้ถูกกระทำอย่าง Italia ที่แม้เธอจะเป็นหญิงสาวยากจนธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่ก็ใช่ว่าคนอย่างเธอจะเป็นคนเลว เพราะเราจะเห็นตั้งแต่เริ่มแรกเลยว่า เธอมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือกับคนแปลกหน้าอย่าง Timoteo (แต่หลายคนอาจมองเห็นว่าพฤติกรรมของเธออาจมีอะไรแอบแฝง ก็แล้วแต่จะคิด!) อีกทั้งหนังยังได้แสดงให้เห็นอีกว่า นี่ไม่ใช่การ “ถูกกระทำ”ครั้งแรกของเธอ ในอดีต เธอเคยถูกชายขายเสื้อคนหนึ่งล่วงเกินทางเพศมาแล้ว

แต่นั่นก็ไม่ได้สำคัญมากไปกว่า....ชายคนนั้น คือ “พ่อ” ของเธอเอง!

การตกอยู่ในภาวะผู้ถูกกระทำย่อมเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สำหรับใครต่อใครเป็นแน่ ยิ่งถูกกระทำจากคนเป็น “พ่อ” ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เธอต้องเผชิญกับชะตากรรมอันน่าเศร้าเหลือเกิน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผลักดันให้เธอต้องการความรักมากกว่าคนปกติ ต้องการใครสักคนมาเป็นที่ยึดเหนี่ยว พึ่งพิง เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น (Protection Nurturance Approach)

……. “แล้วอย่าลืมแวะมาหาฉันบ้างนะ อาทิตย์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรือปีละครั้งก็ยังดี”
นี่คือสิ่งที่ Italia บอกแก่ Timoteo แม้เธอจะรู้อยู่แก่ใจว่าเขามีภรรยาแล้ว แต่เธอก็ยอมทำทุกสิ่ง เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เธอเฝ้าถวิลหามาแต่เด็ก นั่นคือ “ความรัก”

ช่างน่าสงสารเหลือเกินกับชะตาชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่ต้องตกอยู่ในบ่วงของสิ่งที่เรียกว่า “ตัณหา และราคะ”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า Italia จะเป็นผู้ถูกกระทำเพียงคนเดียว เพราะแม้กระทั่งลูกสาวสุดที่รักอย่าง Angela ก็เคยตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำมาก่อนเช่นกัน ทั้งการที่ “พ่อ” บังคับให้เธอเล่นยูโด, ทั้งการที่ “พ่อ” เลี้ยงลูกแบบผิดๆ ให้ท้ายลูก สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผลักดันให้เกิดโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าสลดครั้งนี้ทั้งสิ้น
..........................

และด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบคู่ขนานแบบนี้ จึงทำให้พล็อตธรรมดาๆ ดูมีความลุ่มลึกและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อได้ผนวกเข้ากับการเจาะประเด็นถึงแรงผลักดัน (Drive) สาเหตุและความเป็นไปของพฤติกรรมในวัยเยาว์ของ Timoteo (ครอบครัวแตกแยก มี “พ่อ” เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี) ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ตัวละครดูมิติ และมีความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมง 5 นาที ผมคิดว่าหนังน่าจะสามารถหาเหตุผลมาอธิบายถึง “สิ่งที่เห็นและเป็นไป” ได้มากกว่านี้ (บางเหตุการณ์ดู‘จงใจ’มากจนเกินไป เช่น จู่ๆ คุณภรรยามากเรื่องอย่าง Elsa ก็ลุกขึ้นมาอยากมีอะไรๆ กับคุณสามีบ้าง!) แต่หนังก็ไม่ทำ .....หนังน่าจะให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตัวละครมากกว่านี้ แต่หนังก็ไม่ทำอีกเช่นกัน

หนังมัวแต่ไปเล่นกับการใช้ดนตรีประกอบมากเกินความจำเป็น (สังเกตว่าดนตรีประกอบ ช่วงท้ายๆ ดู “รก” และ “มาก” เกินความจำเป็น เช่นตอนจะทำการผ่าตัด Italia เพลงเร้าอารมณ์มากเสียจนน่ารำคาญ เป็นต้น; ยกเว้นเพลง If It Be Your Will และเพลงที่ Italia ร้องในรถที่ผมเห็นว่าหนังใส่มาอย่างถูกที่ ถูกทาง ) จนทำให้บางครั้ง เรื่องราวอัน “ดำมืด” ดูขาดตอนลง ซึ่งนั่นเป็นผลทำให้เรื่องราวดู “ทื่อ” ไปในที่สุด

ยังโชคดีที่ได้ฝีมือการแสดงอันสุดยอดของทั้ง Sergio และ Penelope มาช่วยประคองไว้ เลยทำให้หนังออกมา “ดูดี” กว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะ Penelope ต้องยกย่องเธอสุดๆ เพราะในเรื่องนี้ ได้ข่าวว่าถึงขั้นลงทุนไปเรียนภาษาอิตาเลียนเพื่อนำมาใช้พูดในหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ -- แม้ว่าอาจจะดูโทรมไปบ้าง แต่ความเด่นก็ไม่แพ้ความโทรมเลย :D

แต่เพียงแค่การแสดง และเรื่องราวบางอย่างที่ผมชอบ....... คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ผม “หลงรัก” หนังเรื่องนี้ได้
..........แต่เอาเถอะ แม้จะไม่ได้ประทับใจในตัวหนังมากนัก อย่างน้อย ก็มีสิ่งหนึ่งที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้ นั่นคือ มันทำให้เราได้เห็นถึงความตั้งใจของคนทำหนัง ที่พยายามจะนำเสนอเรื่องราวดีๆ ให้เราได้รับรู้กัน กับการสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความเหลวแหลกของสังคม” (ถึงมันจะดูซ้ำซากไปบ้าง แต่ก็พอหยวนๆ)

......แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว ถึงโลกของเราจะเป็นสีเทาเพียงใด หนังก็ได้บอกเป็นนัยกับเราว่า “ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป” (อาจไม่คล้ายกัน แต่ตอนจบ ดูแล้วนึกถึงเรื่อง Crying out Love, In the Center of the World เลย)
.........................................

เมื่อสายฝนซาลง เค้าว่ากันว่า ฟ้าหลังฝน ย่อมจะมีแต่สิ่งที่ดีๆ
รองเท้าสีแดงที่ได้ทิ้งไว้ข้างนั้น ก็เท่ากับว่า “อดีตที่ติดค้าง” ทั้งหลายได้ถูกสลัดออกไปหมดแล้ว
จริงอยู่ “อดีต” อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ได้ แต่เราก็ไม่ควรจะยึดติดกับมันมากจนเกินไป
.............ไม่ว่าอดีตจะมืดมิดเพียงใด แต่ตอนนี้ ทุกอย่างมันได้ผ่านพ้นไปแล้ว
และหน้าที่ที่คนอยู่เบื้องหลังต้องทำก็คือ “ก้าวเดินต่อไป....”

……C’est La Vie’………..


หมายเหตุ :
- ก่อนหน้าที่จะมาทำงานกำกับภาพยนตร์ Sergio Castellitto เป็นดาราดังในอิตาลีมาก่อน มีผลงานการแสดงอาทิเช่น The Starmaker และนี่ก็เป็นผลงานการกำกับชิ้นที่สองของเขา (ผลงานชิ้นแรกคือ Libero Burro; 1998)
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากนิยายขายดีในอิตาลี ฝีมือการประพันธ์ของ Margaret Mazznatini ซึ่งเธอก็คือภรรยาของผู้กำกับนั่นเอง (ว่ากันว่าเธอโผล่มาในฉากสุดท้ายของหนังด้วย!!)
- Penelope และ Sergio ต่างก็ได้รับรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมจาก David Di Donatello (ออสการ์ของอิตาลี) มาแล้วทั้งคู่
- แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นที่ฮือฮาในหลายๆ เทศกาล แต่ภาพยนตร์ที่ได้เป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของอิตาลี ปีนี้กลับเป็นเรื่อง The Keys to the House (มีกำหนดเข้าฉายเร็วๆ นี้ โดย Major Cinepictures)
- อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพยนตร์ได้ที่ //www.imdb.com/title/tt0330702 และหนังสือ Pulp ฉบับเดือนมีนาคม 2548 เล่มที่ 21


ป.ล.: ได้รับหนังสือ “ผม คนปรกติ” ของคุณ “สุภารัตถะ” แล้วนะครับ เพิ่งได้ตอนบ่ายเมื่อวานนี้เอง แล้วยังไง ถ้าอ่านจบแล้วจะมาบอกครับ ว่ารู้สึกยังไง :D


Create Date : 27 มีนาคม 2548
Last Update : 27 มีนาคม 2548 12:56:28 น. 6 comments
Counter : 1211 Pageviews.  
 
 
 
 
เป็นหนังที่น่าดูครับ แต่ท่าทางนางเอกจะเซ็กซี่มาก ดูจากใบปิด อิอิ
แหง่ว.. มีส่งหนังสือให้กันด้วย อิจฉาเล็กๆ 55
 
 

โดย: Mint@da{-"-} วันที่: 27 มีนาคม 2548 เวลา:13:19:24 น.  

 
 
 
โห ได้เร็วจัง
คุณมินท์อิจฉา ที่ไม่ได้ร้องไห้ร่วมกับคุณ it ฯ อะดิ
 
 

โดย: suparatta วันที่: 27 มีนาคม 2548 เวลา:13:39:56 น.  

 
 
 
หนังอะนะ คิดไรมากเนอะ

 
 

โดย: รักดี วันที่: 27 มีนาคม 2548 เวลา:14:04:31 น.  

 
 
 
ขอก็อปคำตอบจากกระทู้นี้เลยนะครับ //www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A3375117/A3375117.html#18

เรื่องนี้อาจจะคล้ายๆ Bad Guy ของคิมคีด็อคก็ได้ นั่นคือ ผู้ชายที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่ผู้หญิงก็กลับหลงรักเขา

ตอบเรื่อง Bad Guy (B+) ก่อนนะครับ
ไม่เข้าใจนางเอกก็คือปกติแล้วครับ หนังของคิมคีด็อคยุคแรกๆมักใช้ผู้ชายเป็นตัวละครนำเสมอ และหนังของเค้ามักว่าด้วย 'ความลุ่มหลงปรารถนาของผู้ชาย' และเรื่องราวจากนั้นก็จะเพี้ยน ดิบ เถื่อน ถ่อย ไปตาม 'ตรรกะแบบคิดคีด็อค' เพราะฉะนั้น ไม่เข้าใจนี่คือความน่าสนุกของหนังครับ

แต่สำหรับงานช่วงหลังอย่าง Samaria (2004, A+++++++) คิมก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาก็สามารถให้หนังเกี่ยวกับ 'ผู้หญิง' ได้ดีขนาดไหน

ว่าไปแล้ว ถ้าพูดถึงหนังที่เข้าได้ยากถึงตัวละครผู้หญิงก็น่าจะเป็น La Belle (A+++++++) และ The Piano Teacher (2001, มิคาเอล ฮานาเก้, A++++++) ครับ แล้วก็อาจจะพวกตระกูลหนังของ แคทเธอรีน เบลญาต์

--------------------------------------

สำหรับเรื่อง Don't Move ผมยังไม่ได้ดูครับ แต่ถ้าตอบประเด็นของคุณจ็อบ นี่ผมก็ไม่รู้นะ ไม่เคยข่มขืนใคร ไม่เคยถูกใครข่มขืน (อุ๊ย...) แต่เท่าที่นึกได้หนังเรื่องแรกๆของเปรโดร อัลโมโดวาร์ มักเสนอในประเด็นนี้เหมือนกัน คือตัวละครหญิงมักสับสนว่าเธอกำลังถูกข่มขืนหรือกำลังมีความสุขกันแน่! (อัลโมโดวาร์ ไม่ใช่ผู้ชายยย เค้าเป็นเกย์ เพราะฉะนั้นพ้นกรณี ความคิดคับแคบของผู้ชายไปได้ระดับหนึ่ง)

Rape Movies หนังที่เกี่ยวกับการข่มขืน
**มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของหนัง**

Death and the Maiden (โรมัน โปลันสกี้ - ผกก. The Pianist)
นำแสดงโดยซิเกอร์นีย์ วีเวอร์ เธอเป็นสายลับที่ถูกจับได้และโดนทรมานด้วยการปิดตาและข่มขืนถึง 14 ครั้ง! หลังจากรอดมาได้ วันหนึ่งมีผู้ชายเข้ามาในบ้านโดยอ้างว่ารถของเขาเสีย เธอจำเสียงเขาได้ เพราะเสียงนั้นคือเสียงของคนที่เคยข่มขืนเธอ!

Irreversible (2002, กัสแปร์ โนว์, A+++++)
หนังสุดฉาวที่ทำคนอ้วกกลางคานส์มาแล้ว นำแสดงโดยคู่รักในชีวิตจริงคือ โมนิก้า เบลุซซี่ และแวงซองต์ คาสเซล หนังมีฉากเด็ดที่ฉากข่มขืนลองเทคยาว 9 นาทีไม่มีตัด! และการเล่าเรื่องแบบถอยหลัง ชนิดว่า Memento กลายเป็นเด็กอมมือ! ที่สำคัญหนังเรื่องนี้ทริบิวต์ แสตนลีย์ คูบริค (หนังข่มขืนเนี่ยนะ?) แนะนำสุดๆเรื่องนี้ ผมโปรดมาก

The Accused (1988, โจนาธาน แคปลาน, B+)
หนังที่ทำให้โจดี้ ฟอสเตอร์คว้าออสการ์ตัวแรกไป เธอเล่นเป็นสาวช่างแร่ดที่ยั่วผู้ชายในบาร์จนถูกรุมข่มขืน (บนโต๊ะสนุ้ก!) ประโยคเด็ดของเรื่องนี้คือ "พวกเขาไม่มีสิทธิข่มขืนฉัน เพียงเพราะฉันเดินยั่วหรอกนะ!" (เรื่องนี้ได้ดูจากเคเบิ้ลครับ)

The Last Seduction (1994, จอห์น ดาห์ล)
หนังสาวร้ายสไตล์ฟิล์มนัวร์ พระเอกถูกจับข้อหาข่มขืนนางเอก ทั้งๆที่เธอเป็นคนสั่งให้เขาทำ!

Last Exit To Brooklyn (1989, ยูริ อีเดล)
สร้างจากนิยายจาก ฮูเบิร์ท เซลบี้ จูเนียร์ เจ้าของงานเลื่องชื่ออย่าง Requiem for a Dream นำแสดงโดยดาราสาวสุดอินดี้ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ เธอถูกทหารทั้งกองทัพข่มขืน! (คนเรียงคิวเป็นร้อย!)

Thelma and Louise (1991, ริดลีย์ สก็อต)
จีน่า เดวิส + ซูซาน ซาแรนดอน เข้าชิงออสการ์ทั้งคู่

Romance (1999, แคทเธอรีน เบลญาต์)
งานสุดฉาวเรื่องแรกๆของเจ้าป้าเฟมินิสต์จอมตบกะโหลกผู้ชาย นี่แหละคือหนังที่จะตอบคำถามของ จขกท. นางเอกออกล่าผู้ชายทั่วเมือง ไม่มีใครเอาเธอ แต่พอกลับบ้านเธอถูกข่มขืนตรงบันไดหน้าบ้าน แล้วเธอก็พบว่า นี่แหละ สิ่งที่ฉันตามหามาทั้งชีวิต! (ที่สำคัญ ผกก. เป็นผู้หญิง และเธอก็เปิดสอนวิชาเพศในภาพยนตร์ในมหาลัยซะด้วย)

The Paino Teacher (2001, มิคาเอล ฮานาเก้, A+++++++++++)
หนังที่ผมรักสุดหัวใจ ว่าด้วยครูเปียโนสาวจิตแตกที่หลอกล่อลูกศิษย์จนหัวปั่น เธออ้อนวอนให้เขาร่วมรักกับเธอแบบโหดๆ ตบหน้า! ฟาดหลัง! ถ้าเธอร้องก็ตบซ้ำ! เด็กหนุ่มเลยผวาหนีกลับบ้านไปก่อน ...แต่สุดท้ายเขากลับมาข่มขืนเธอแล้วเธอก็เล่นบนเป็นศพนอนตาย! ...ตัวหนังได้รางวัลจูรี่ ไพรซ์จากคานส์ ดารานำทั้งสองได้รางวัลไป ที่สำคัญอิซาเบล อูแปร์ ได้รับการโหวตจากคณะกรรมการแบบเป็นเอกฉันท์!

Baise-Moi (2000, โคราลี ตรินห์ ติ + เวอร์จินี เดส์ปองเตส์)
ได้รับการขนานนามว่าเป็นเธลม่าแอนด์หลุยส์เวอร์ชั่นสุดสถุล! หนังถูกแปนในฝรั่งเศส ทั้งที่ประเทศนี้ไม่ได้แบนหนังมาตั้งแต่ปี 1973 แล้ว!

Multiple Maniacs (1970, จอห์น วอเตอร์ส)
งานของผู้กำกับที่โสโครกที่สุดในโลก ฉากที่เลื่องลือคือ ดีไวน์ กะเทยร่างยักษ์หนัก 300 ปอนด์ถูกกุ้งล็อบสเตอร์ข่มขืน!!!!

(ข้อมูลหนังเหล่านี้อ่านได้ใน Bioscope ฉบับที่ 19: มิถุนายน 2546 หน้าปก The Hulk หน้า 91-93)
 
 

โดย: merveillesxx วันที่: 27 มีนาคม 2548 เวลา:23:22:15 น.  

 
 
 
อืม ไม่กล้าดูอะครับ สงสาร

แต่ก็อยากดูมาก
 
 

โดย: underdog (พ่อน้องโจ ) วันที่: 1 เมษายน 2548 เวลา:3:44:48 น.  

 
 
 
เข้ามาอ่านค่ะ คุณ iTCu ตีความได้ลึกซึ้งมาก ขอชมค่ะ
 
 

โดย: Barfinn (Barfinn ) วันที่: 22 พฤษภาคม 2548 เวลา:16:28:04 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

it ซียู
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]








Google




ท่องไปทั่วโลกหาแค่ในพันทิบก็พอ
[Add it ซียู's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com