เจ้าช่อมะกอก ::เจ้าดอกมะไฟ
บล๊อคนี้ทีแรกว่าจะไม่เขียน แต่ขอเข้ามาสรุปเรื่องที่คิดทิ้งไว้ก่อนที่ตัวเองจะลืมค่ะ



ประวัติเรื่องของนักกวีในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นที่พูดจากัน วิเคราะห์กันมานาน ตัวเองก็อาศัยจับแพะไปชนกับแกะบ้าง บางทีก็เขาชนไก่ จับให้วุ่นวายไปหมด เรื่องราวของ ท่านสุนทรภู่ กวีเอก ตัวเองก็เพิ่งจะให้ความสนใจในระยะหลังนี้ค่ะเพราะหลังจากอ่านงานท่านในเชิงคำกลอนคำภาษาก็ว่าไป....แต่เมื่อลงลึกพิจารณาถึงเนื้อหาทางการเมืองที่ซ่อนเร้นอยู่ในแต่ละเรื่องราวของท่านแล้ว ก็ให้เห็นสิ่งที่ขยายความมามากกว่า คำกลอนที่ท่านประพันธ์ไว้

เอาละไม่พูดถึงท่านสุนทรภู่ ดีกว่า เพราะจะเปิดบล๊อคนี้ขึ้นมาเพราะอยากเขียนเกี่ยวกับคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือ นักกวีหญิง ร่วมสมัยของท่านสุนทรภู่ นั่นเอง

ในสมัยของรัชกาลที่ ๓ ต้นรัตนโกสินทร์ เราต้องบอกว่าเป็นยุคสมัยของสตรีที่มีสิทธิมากกว่าที่เรารู้ เรามองย้อนอดีตไปอาจจะเห็นแต่ภาพของผู้หญิงที่ต้องรักษาเนื้อรักษาตัว อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเท่านั้น.....แต่ขอโทษ....มนุษย์ก็คือมนุษย์ค่ะ ยุคสมัยไหนก็คล้ายๆกันไปหมด มีกิเลส มีตัณหาเสมอเหมือนกัน สังคมสมัยนั้นก็ไม่ได้ปิดกั้นเรื่องราวเหล่านี้อยู่ภายใต้กรอบประเพณีอันดีงาม แต่มีจารีตปฏิบัติที่น่าสนใจถึงความเป็นเสรีของสตรีอยู่มากพอสมควรทีเดียว

คุณพุ่ม นั้น เป็นธิดาของพระยาราชมนตรี(ภู่) ไม่ใช่ท่านสุนทรภู่นะคะ คนละท่านกัน คุณพุ่มจะเกิดวันเดือนปีใด ยังไม่ได้ค้นเลยค่ะ ทราบแต่ว่าท่านเสียชีวิตในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕

ช่วงชีวิตของท่านแรกเริ่มเดิมที เป็นชาววังตำแหน่งพนักงานอัญเชิญพระแสง ซึ่งมีหน้าที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน คิดว่าต้องเป็นที่โปรดปราน และทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องเชิญพระแสงตามเสด็จตั้งแต่บนที่ (ที่พระบรรทม เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘บนที่’) ไปทรงบาตร เมื่อเสด็จกลับขึ้นหอพระต้องคลานผ่าน ๖ เจ้านายฝ่ายใน ซึ่งเฝ้าอยู่ตลอดพระที่นั่งไพศาลทักษิณมาถวายพระแสงให้ทรงถือที่พระทวารา (ในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานชื่อพระทวารานี้ว่า ‘เทวราชมเหศร’)...[คัดมาจากคุณ จุลลดา ภักดีภูมิทนร์ ค่ะ] การติดตามเสด็จอย่างใกล้ชิด ผ่านเจ้านายนางในทั้งหลาย คลานผ่านหน้าไปมากันทุกๆวัน คิดดูเอานะคะ คงจะเป็นที่เขม่นหูเขม่นตาบรรดาท้าวนางกันพอควร....

แล้วต่อมาเห็นว่าคุณพุ่มท่านกราบบังคมลาออกจากราชการมาอยู่กับบิดาที่เรือนแพ ตรงท่าพระ ไปถามไถ่คนที่รู้ๆกัน ว่ากันว่าท่านผูกแพอยู่ตรงต้นโพธิ์ ใกล้ๆวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร หน้าพระบรมหาราชวัง ในปัจจุบันนั่นเองค่ะ

เหตุที่ท่านถวายบังคมขอลาออกมานั้น มีคนเล่าว่า คุณพุ่มไปทำหน้าที่อัญเชิญพระแสงให้แก่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ กรมขุนอิศเรศ ในขณะนั้นเสียแทน ว่ากันว่า กรมขุนอิศเรศนั้นท่านทรงงามเหลือ เป็นที่ขึ้นชื่อมานาน ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ยังมีเรื่องว่า เคยได้รับพระราชทานเจ้านายฝ่ายหญิง มาจากประเทศราชพระองค์หนึ่ง เจ้านายฝ่ายหญิงพระองค์นั้นยังขอสมัครใจไปอยู่กับพระองค์ จนเป็นเรื่องเล่าลือกัน

กลับมาเรื่องคุณพุ่มต่อค่ะ หลังจากที่คุณพุ่ม ไปทำหน้าที่อัญเชิญพระแสงใหกรมขุนอิศเรศอยูระยะหนึ่ง ก็มีเรื่อง เรื่องที่ว่าคือ คุณพุ่มเธอไปยื้อแย่งพระแสงกับกรมขุนอิศเรศ เข้าให้ เรื่องนี้คงเป็นที่ลือกันหนาหู จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๕ คุณพุ่มยังมีชีวิตอยู่และได้ติดตามรัชกาลที่ ๕ ไปเล่นสักรวาในสระบางปะอินเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ " พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระซิบสั่งกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณให้ทรงสักรวาว่าเย้าคุณพุ่ม หมายจะทรงฟังสำนวนกลอนเวลาโกรธจะว่าอย่างไร กรมหลวงบดินทรฯแกล้งอ้างความขึ้นไปถึงครั้งคุณพุ่มชิงพระแสงดาบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เย้าอยู่หลายบทสักรวา แต่จะเป็นเพราะคุณพุ่มแก่ชราเสียแล้ว หรือเพราะเกรงพระบารมีด้วยเป็นหน้าพระที่นั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ หาได้โต้ตอบเต็มสำนวนดังแต่ก่อนไม่ บทสักรวาเหล่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือประชุมบทสักรวาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑"

ท้ายสุดเมื่อเกิดเรื่องกับ กรมขุนอิศเรศแล้ว คุณพุ่ม ก็เลยกลับมาอยู่ที่เรือนแพที่เก่าตามเดิม แต่ไม่ยอมกลับไปรับราชการในกระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานกลอน ให้แก่คุณพุ่มครั้งนั้น ว่ากันว่า กลอนบทนี้ทรงด้นขึ้นสด ออกจากพระโอษฐ์ทีเดียว

"เจ้าช่อมะกอก เจ้าดอกมะไฟ
เจ้าเห็นเขางาม เจ้าตามเขาไป
เขาทำเจ้ายับ เจ้ากลับมาไย
เขาสิ้นอาลัย เจ้าแล้วหรือเอย
"


คุณพุ่มนั้น คงจะหยั่งรู้ถึงความผิด ที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงตรัสออกมาถึงเพียงนี้ จึงได้มีคำกลอนลุแก่โทษ ตน กล่าวถึงตัวเองในฐานะของธิดา พระยาราชมนตรี ที่เปรียบเสมือน "บ่อแก้ว" ในรัชสมัยของพระองค์ไว้ ว่า

“ถึงพลั้งผิดปลิดโปรดโทษประทาน
ด้วยการสุจริตของบิดา
คือถือมั่นกตัญญูชูพระเดช
รักษาเขตคลังสมบัติมนัสา
ไม่ฉ้อหลวงล่วงพระราชอาชญา
ทำเงินตราขึ้นไว้ในแผ่นดิน
สมพัตสรบ่อนเบี้ยคิดเกลี้ยกล่อม
รู้เก็บหอมรอมรับซึ่งทรัพย์สิน
เดิมกรุงเก่าเล่าวิบัติปัฐทินทร์
เป็นราคินครั้งพม่ามันมากวน
สมบัติกรุงยุ่งยับนับเอนก
อภิเษกกษัตรารักษาสงวน
ประชาชนจนเซยังเรรวน
การเรือกสวนสมพัตสรต้องผ่อนปรน
สืบสยามสามทั้งพระนั่งเกล้าฯ
เป็นจอมเจ้าจักรพรรดิบำเพ็ญผล
ประชาชี (มั่ง) มีทั่วทุกตัวคน
ได้ลาภผลพฤกษาเนื้อนาปรัง
ถึงสุธาหากินถิ่นประเทศ
คุ้มภัยเพทโจรขโมยได้โดยหวัง
ท่านบิดาราชมนตรีว่าที่คลัง
จึงแต่งตั้งเจีย (เจ๊ เจ้า) สัวตัวอากร
ให้เงินหลวงตวงเติมเฉลิมฉลาด
ฉลองบาทบพิตรอดิศร
คลังสมบัติวัฒนาสถาวร
พระนครบริบูรณ์จำรูญรักษ์
เป็นบุรุษสุจริต สนิทนาถ
เฉลิมบาทคู่บุญจุลจักร
รู้ถ่ายเทเสน่หาสามิภักดิ์
บำรุงรักษาสมบัติขัติยา


เหตุใด ถึงมีการตรัสพ้อต่อว่า และแก้ตัวกันเพียงนี้
สะดุดใจคนอ่านอย่างเราจริงๆเลยค่ะ


มาต่ออีกค่ะ....มาพบกับบทกลอนอีกบทหนึ่ง คราวที่กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เสด็จมาด้นกลอนกับคุณพุ่มที่เรือนแพ ตอนนั้น ทราบมาว่าวันนั้นคุณพุ่มนั่งอยู่ด้านในเรือนแพไม่รู้ว่าเป็นใคร พอกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ แต่งกลอนสักวาอ่านออกมา คุณพุ่มจึงรู้ว่าเป็นใครเพราะจับทางเชิงกลอนกันได้ ด้วยรู้ลีลาภาษากลอนกันอยู่

กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทรงขึ้นต้นกลอนนั้นดังนี้

"สักวาวันนี้พี่สังเกต
เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เห็นลับลี้หลายปีมา...."



สะดุดไหมคะ......"พุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา..." เข้าทางเลยค่ะ

ทำไมต้องเป็น -พุ่มพวง -ดวงเนตร และ -ของเชษฐา


ตัวเองรีบไปเปิดตรวจสอบพระประวัติ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ หรือพระองค์เจ้าทินกร ทรงเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๓๔๔

แต่ถามว่า "พระเชษฐา" ในสักวาบท นั้นจะหมายถึง กรมขุนอิศเรศ ได้หรือไม่ เพราะตัวคุณพุ่มเอง เธอก็เคยไปอยู่ในวังของกรมขุนอิศเรศช่วงหนึ่ง ก็เลยต้องตรวจสอบพระราชประวัติต่อไปค่ะ จึงพบว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือกรมขุนอิศเรศ นั้น ทรงพระราชสมภพ ๔ กันยายน ๒๓๕๑.....ทรงพระชันษาเยาว์กว่า กรมหลวงภูวเนตร อยู่หลายปีค่ะ

ดังนั้น ความหมายของ....พระเชษฐา....ในกลอนบทนี้.....เห็นทีจะมีพระองค์เดียว
พระองค์ที่เคยตรัสต่อว่าคุณพุ่มนั่นเอง


มาเพิ่มเติมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคุณพุ่มที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันนะคะ

มีเรื่องเล่ากันว่า......คุณพุ่มนั้นเคยถูกเรียกไปถวายงานในพระบรมมหาราชวัง แต่เธอบ่ายเบี่ยงอ้างว่าตนนั้น "ไม่สะอาด" จึงขอทำงานถวายพระเจ้าแผ่นดินอยู่ตรงเรือนแพด้านนอกพระบรมมหาราชวังแล้วเย็บ "พู่กลิ่น" ถวายบนพระที่ในห้องบรรทมทุกคืนเสียแทน ว่ากันว่า หากคืนใดไม่มีพู่กลิ่นถึงกับไม่เสด็จเข้าในพระที่ทีเดียว (อันนี้ฟังผู้ใหญ่เล่ามาอีกที ยังหาหนังสือไม่เจอค่ะ)

และจากบทประพันธ์ของกรมหลวงภูวเนตร แล้วเราก็เดาได้ว่า สมัยนั้นคงจะเป็นทราบกันดีว่า คุณพุ่ม คงไม่ใช่เพียงแค่ "สาวเปรี้ยว" ที่มีวาจากล้าหาญตัดพ้อถึงคำอธิษฐานเหน็บแนมใครต่อใครได้มากมายถึงขนาดออกคำกลอนอธิษฐาน ๑๒ ข้อ

คำอธิษฐานคุณพุ่ม

๑. "ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่" คือ คนชิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) อธิบายว่า เพราะมักถูกเฆี่ยนหลังลายไม่เว้นตัว

๒. "ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร" คือ คนใช้ของเจ้าพระนคร(น้อย) อธิบายว่า เพราะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ ดังเช่นเรือช้าไป ให้ฝีพายถองเรือเป็นต้น

๓. "ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี" คือ คนต้มน้ำร้อนของพระยาศรีสหเทพ(เพ็ง) อธิบายว่า เพราะพระยาศรีฯนั้นแขกไปหาไม่มีขาด จนคนต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกจะหาเวลาพักมิได้

๔. "ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช" อธิบายว่า พระยานครราชสีมาครั้งนั้น อยากเล่นมโหรีให้เหมือนขุนนางผู้ใหญ่ที่ในกรุงเทพฯ มีแต่พวกข่าและลาวเชลยก็เอามาหัดเป็นมโหรีไปตามแกน

๕. "ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย" คือ มหาดเล็กตัวโปรดของกรมขุนราชสีหวิกรม อธิบายว่า ถ้าชอบทรงใช้มหาดเล็กคนไหน คนนั้นมักถูกจำโซ่ตรวนในเวลาใช้ไม่ได้ดังพระหฤทัย

๖. "ขออย่างให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์" อธิบายว่า ฝีพายเรือที่นั่งของเจ้าฟ้าอาภรณ์นั้น ต้องขานยาวถี่กว่าเรือลำไหนๆหมด

๗. "ขออย่างให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า" คือละครของน้อย ธิดาเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน) อธิบายว่า ละครโรงอื่นๆเขาเล่นเอาเงินโรง แต่ละครของน้อยคนนั้นถึงใครจะให้เพียงข้าวปลา หรือที่สุดจนกะปิหอมกระเทียมก็รับเล่น ได้อะไรก็เอาสิ่งนั้นมาแจกเป็นบำเหน็จแก่ตัวละคร

๘. "ขออย่างให้รู้ชาตาเหมือนอาจารย์เซ่ง" อธิบายว่า นายเซ่งคนนั้นเป็นหมอดู ใครไปให้ดูก็มักทายว่าดวงชาตาดี จะถึงได้เป็นกษัตริย์บ้าง ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง ได้เป็นเศรษฐีบ้าง คนก็พากันหลงไปจ้างให้นายเซ่งดูชาตาลงที่สุดนายเซ่งต้องถูกลงพระราชอาญา

๙. "ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก" อธิบายว่า ท่านผู้หญิงฟักคนนั้นชอบเล่นเบี้ย มีอุบายนอกรีตอย่างหนึ่ง เวลาเข้าไปอยู่ในบ่อนเบี้ย มักทำกิริยาให้นายบ่อนมัวหลงดูที่ตัวท่ายผู้หญิงฟัก(๓) จนเป็นช่องให้พรรคพวกลักเปิดโปดูได้ กล่าวกันว่าเป็นนักเลงรวยด้วยอุบายอันนั้น

๑๐. "ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย" คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก อธิบายว่า เวลาเข้าเฝ้านุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียวไม่รู้จักเปลี่ยน

๑๑. "ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง" คือ เจ้าจอมมารดาตานีรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนาฯ(บุนนาค) และเป็นเจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ อธิบายว่า เจ้าคุณวังเป็นช่างดอกไม้ ฝีมือดีอย่างยิ่งในสมัยนั้น ใครจะมีการงานก็มักไปขอดอกไม้ที่เจ้าคุณวัง เจ้าคุณวังต้องร้อยดอกไม้ช่วยงานเขาไม่ขาด จนดอกไม้ในสวนเจ้าคุณวังถูกเด็ดไม่มีโอกาสที่จะบานได้กับต้น

๑๒. "ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ" อธิบายว่า ระฆังวัดอื่นๆโดยปรกติตีแต่เวลาจวนรุ่งกับจวนค่ำ วันละ ๒ เวลา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ โปรดให้ตีระฆังเป็นสัญญาอาณัติสงฆ์ในการอย่างอื่น เช่นตีเรียกสงฆ์ลงโบสถ์เช้าค่ำเป็นต้น ระฆังวัดบวรนิเวศในสมัยนั้นจึงต้องตีมากกว่าระฆังวัดอื่นๆ



ทำไม คุณพุ่มสามารถประพันธ์คำอธิษฐานอันแสนเฉือดเชือนบุคคลในวงสังคมชั้นสูงได้เพียงนั้น
....เพราะที่สำคัญ....ทุกคนทราบดีว่า เธอ เป็น ใคร


เคยผ่านตาบทกลอนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่บทหนึ่งที่พระราชทานไปยังจมื่นไวยวรนาถ ในสมัย รัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) ยังเป็น จมื่นไวยวรนาถ เพิ่งยี่สิบเศษๆ

ท่านจมื่นไวยฯผู้นี้ เป็นหนึ่งในบรรดาท่านทั้งหลายที่ไปเยี่ยมเยียนที่ท่าแพของคุณพุ่มอยู่บ่อยครั้ง เหมือนกับหนุ่มๆแวดวงชั้นสูงสมัยนั้นต้องไปเล่นสักวา ที่เรือนแพคุณพุ่มเป็นสโมสรนักกลอน

คราวนั้นเพิ่งมีเหตุที่ลูกพี่ลูกน้องของจมื่นไวย ต้องโทษประหารเพราะไปส่งเพลงยาวให้เจ้าจอมข้างใน จมื่นไวยวรนาถจึงได้รับพระราชทานกลอนจากพระเจ้าแผ่นดินมาเสียบทหนึ่ง ว่า

“อย่าพิกลจริตให้ผิดผัน
เคร่าครองชีวันไว้ดีกว่า
ยังกำดัดสันทัดยุพานพา
ทั้งสักรวา ก็ดีปรีชาชาญ
แล้วแหลมหลักในลักษณ์กลเลศ
รู้จบไตรเภททหารหาญ
คนรู้มากมักได้ยากทรมาน
สดับสารนึกน่าจะปรานี
แต่งตอบจะประกอบให้หายหลง
อย่าพะวงในสัมผัสทั้งสี่
กลิ่น เสียง รูปรสวาที
กระยาหารอันมีโอชารส
อีกทั้งดุริยางคดนตรี
ทั้งนี้ให้พร่ำจำอด
จะเสียตัวก็เพราะกลั้วรักรส
เป็นเบื้องบทเร้าราคราคี
อย่าใหลหลงพะวงว่าสิ่งสุข
คือกองทุกข์ใหญ่ไม่เอาตัวหนี
เพราะเมตตาจึงช่วยว่าให้ดีดี
อย่าจู้จี้ให้พลอยรำคาญเอยฯ”




หลังจากได้รับพระราชทานกลอนบทนั้น จมื่นไวย คงระมัดระวังตนมากขึ้นไม่พยายามทำสิ่งที่ได้รับการตักเตือนจากพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ให้หลงมัวเมาในเรื่องของสตรีจนเสียหน้าที่ราชการอย่างเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้น


และ......ถ้อยคำกลอนที่ว่า... "เจ้าช่อมะกอก เจ้าดอกมะไฟ...." คงจะมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่เห็น......

แอบคิดต่อไปไม่ได้ว่า....หลังจากที่ท่านจมื่นไวยฯได้รับกลอนเตือนจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านคงไม่ได้กลับไปที่ เรือนแพคุณพุ่มหลังจากนั้นอีกเลย



Create Date : 02 มิถุนายน 2550
Last Update : 3 มิถุนายน 2550 14:37:43 น.
Counter : 4406 Pageviews.

8 comments
  
ความรู้อัดแน่นเลยค่ะ

แต่ว่า - -

ภาพในกล่องคอมเม้นต์เร้าใจมากกกกกกกกค่ะ
สมาธิแตกซ่าน
โดย: อัญชา วันที่: 2 มิถุนายน 2550 เวลา:21:36:16 น.
  
เราเคยอ่านเรื่องของคุณพุ่มจากหนังสือเวียงวังและหนังสือเลาะวังของ อ. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ มาบ้างเหมือนกันค่ะ แอบติดใจ "ระหว่างบรรทัด" อย่างที่คุณโตมิฯ ยกมาเหมือนกัน แหะๆ

เราเห็นว่าคุณพุ่มเธอเป็นหญิงที่ใช้ชีวิตได้น่าสนใจและมีสีสันมากๆ เลยนะคะ
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยุคสมัยของเธอ --- ชีวิตครบรส น่าศึกษามากๆ
โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 2 มิถุนายน 2550 เวลา:22:48:27 น.
  
น่าคิด น่าคิด จริงๆค่ะพี่วรรณ อะไรหลายอย่างไม่เป็นอย่างที่คิดจริงๆนะค่ะ ข้อมูลแน่นอีกแล้วครับท่าน ว่าแต่ว่าพี่วรรณมีเกร็ดลับสมองอย่างนี้อีกไหมค่ะ ถ้ามีก็อย่าลืมเล่าสู่กันฟังนะค่ะ
รักษาสุขภาพด้วยเด้อค่ะ
โดย: ป้านวล IP: 203.146.63.185 วันที่: 5 มิถุนายน 2550 เวลา:2:49:22 น.
  
เอาอีกค่า กำลังสนุกอยู่พอดีเชียว ฆ่าเวลาที่พ่อโฉมทองยังมาไม่ถึง

กลอนของ ร.๓ ช่วงที่ว่าเขาทำเจ้ายับ เจ้ากลับมาไย นั่น หมายความว่าทรงรู้ความเป็นไป

ของคุณพุ่มตลอดเลยใช่มั้ยคะ แต่ก็ตงิดๆ ตรงวรรคที่ว่า เจ้ากลับมาไยน่ะค่ะ

ก็คุณพุ่มไม่ได้กลับไปถวายงานกับพระองค์ ร.๓ ไม่ใช่เหรอคะ ทำไมถึงทรงพระราชนิพนธ์ว่าอย่างนั้นล่ะ

แต่พูดก็พูดเถอะ หนูว่าบทนี้ทรงพระราชนิพนธ์ได้แสบทรวงมากๆ เลยนะคะ
โดย: Kitsunegari IP: 124.120.168.147 วันที่: 6 มิถุนายน 2550 เวลา:15:08:12 น.
  
โห...มาฟังความรู้ พี่โตมิข้อมูลแน่นปึ๊กจริง ๆ เลยค่ะ
โดย: ตอกะจอ วันที่: 7 มิถุนายน 2550 เวลา:18:10:11 น.
  
คิดถึง
โดย: หนุ่ม IP: 125.27.238.179 วันที่: 12 มกราคม 2551 เวลา:14:41:22 น.
  
รักนะครับ คิดถึงมาก
โดย: หน่ม IP: 125.27.238.179 วันที่: 12 มกราคม 2551 เวลา:14:42:55 น.
  
พอจะรู้มั้ยคะว่าความมุ่งหมายในการเเต่งนิราศวังบางยี่ขัน

โดย: สาว IP: 49.228.104.144 วันที่: 20 ธันวาคม 2563 เวลา:16:09:49 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โตมิโต กูโชว์ดะ
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ร่างทรงของ "วรรณวรรธน์" โปรดอย่าถามว่าเป็นใครในอดีต รู้แต่ว่าตอนนี้ยังมีลมหายใจอยู่ เท่านั้นก็มากเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งได้รู้จักกันแล้ว
New Comments
มิถุนายน 2550

 
 
 
 
 
1
3
4
5
6
7
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30
 
All Blog