"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
27 ตุลาคม 2555

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๒๐ : ออกญากำแพง-เหตุทะเยอทะยานจึงวายชีวา


ภาพลายรดน้ำรูปแขก ตู้พระธรรมสมัยอยุทธยา่

สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์อยู่มาก อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมดจึงตกอยู่กับเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์หรือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกับเหล่าเสนาบดีทั้งหลายซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้ปกครองกรุงศรีอยุทธยาตัวจริง

ด้วยอำนาจอิทธิพลและบารมีของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ในขณะนี้ สมมติว่าต้องการจะแย่งชิงราชสมบัติสามารถทำได้ แต่ยังมีขั้วอำนาจอีก ๒ ขั้วที่เป็นไปได้ว่าจะยับยั้งไม่ให้เจ้าพระยาลาโหมสุริยวงศ์ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติซึ่งได้แก่ออกญาเสนาภิมุข(ยามาดะ นิซาเอมอง นางามาสะ)เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มักแสดงท่าทีว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ กับอีกคนหนึ่งคือออกญากำแพง(Oija Capheijn)


ออกญากำแพง
เคยกล่าวไปในตอนที่ ๑๗ ว่าออกญากำแพงเป็นขุนนางมุสลิมแขกมัวร์ ซึ่งมีอิทธิพลสูงมากในกรุงศรีอยุทธยา เยเรเมียส ฟาน ฟลีตกล่าวว่าตนผู้นี้เป็นที่เคารพอย่างสูง ร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติมากมาย นอกจากนี้ยังกองกำลังส่วนตัวซึ่งมีมากกว่า ๒๐๐๐ คน ช้างมากกว่า ๒๐๐ ตัวและม้าอีกจำนวนมาก ในอดีตเคยเป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามปราบกบฏพระศรีสิงห์ ด้วยเหตุนี้ทำให้ตอนเจ้าพระยากลาโหมสุิริยวงศ์ไปยื่นข้อเสนอเจรจาให้เป็นพวกเดียวกันในตอนที่จะโค่นล้มสมเด็จพระเชษฐาธิราชเพราะเกรงอิทธิพลของออกญากำแพงอยู่ และกลัวว่าออกญากำแพงจะขัดขวางการนี้

ตามที่ฟาน ฟลีตอ้าง เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์กับออกญาศรีวรวงศ์น้องชายได้ยื่นข้อเสนอว่าเมื่อล้มสมเด็จพระเชษฐาธิราชได้ จะให้ออกญากำแพงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทั้งสองขอให้ออกญากำแพงคุ้มครองตนจากพระเชษฐาธิราชในฐานะบุตรบุญธรรมซึ่งเห็นว่าจะเป็นไปได้ยากเพราะในความเป็นจริงคงไม่มีคนไทยยอมรับให้แขกมัวร์ต่างแผ่นดินขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุทธยาได้อย่างแน่นอน ฟาน ฟลีตเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตรงแถมการเจรจาน่าจะเป็นไปอย่างลับๆ ไม่น่าที่คนนอกอย่างฟาน ฟลีตจะรู้ เรื่องบุตรบุญธรรมก็ฟังดูเกินจริงเกินไป อย่างไรก็ตามออกญากำแพงก็รับข้อเสนอ 

ฟาน ฟลีตกล่าวว่าออกญากำแพงผู้นี้เป็นคนที่มีความทะเยอทะยานและกระหายอำนาจอย่างมาก(อาจเป็นเพราะเหตุนี้จึงทำให้หลงคารมออกญากลาโหมสุริยวงศ์ง่ายๆก็เป็นได้) และได้เปรียบเทียบออกญากำแพงกับบรรดาทรราชและคนทะเยอทะยานในประวัติศาสตร์หลายคนได้แก่ อับซาโลม(Absalom)โอรสกษัตริย์เดวิดแห่งอิสราเอล จักรพรรดิคาราคัลลา(Caracalla)แห่งจักรวรรดิโรมัน ปราฮาเตส(Prahates) ชาห์แห่งจักรวรรดิพาเธีย และสุลต่านมูร็อด(Amuratus)แห่งจักรวรรดิออตโตมัน

และความทะเยอทะยานนี้เองก็ทำให้เกิดเหตุสำคัญในอนาคต



ซ้าย : จักรพรรดิคาราคัลลา 'The Common Enemy of Mankind' สังหารเกธาพระอนุชารวมไปถึงผู้สนับสนุนทั้งหมดเพื่อปกครองจักรวรรดิโรมันแต่เพียงผู้เดียว รวมไปถึงการฆ่าล้างอย่างโหดเหี้ยมอีกหลายครั้งเช่นการสังหารหมู่ที่อเล็กซานเดรียกว่า ๒๐๐๐๐ ชีวิต
กลาง : เหรียญกษัตริย์ปราฮาเตสที่ ๔  สังหารพระบิดาและพี่น้องกว่า ๓๐ ชีวิต
ขวา : สุลต่านมูร็อดที่ ๓ ประหารพระอนุชา ๕ องค์เมื่อขึ้นครองราชย์


แขกมัวร์ใต้เศวตรฉัตร
เมื่อเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำกองกำลังของตนก่อการใหญ่บุกเข้าพระราชวังหลวงสำเร็จ และสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จหนีไป ออกญากำแพงได้แสดงความทะยานอยากของตนด้วยการขึ้นไปนั่งบนราชบัลลังก์ หนุนพระเขนยอิง(หมอนอิง) นำพระมหามงกุฎมาสวมใส่ และถือพระแสงดาบกับพัดอันเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ แสดงตนเป็นพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

เมื่อเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์มาถึง ออกญากำแพงก็เรียกร้องให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถวายบังคมตนในฐานะกษัตริย์ และบอกว่าถ้าทำตามนี้จะสถาปนาออกญากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช(heir to the Kingdom of Siam) แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์กล่าวว่าควรจะสถาปนาสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เพื่อไม่ให้คนครหานินทาว่าทำการใหญ่เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ

ออกญากำแพงกลับกล่าวว่าการให้เด็กปกครองเป็นเรื่องอันตราย แล้วถึงกับเสนอว่าหากออกญากลาโหมสุริยวงศ์ไม่ให้ตนเป็นกษัตริย์แล้ว ก็ให้ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นเป็นกษัตริย์เสียเอง แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็แสดงท่าทีไม่พอใจแล้วปฏิเสธ

สมมติในกรณีที่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ต้องการแย่งชิงราชสมบัติ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นับว่าฉลาดและมีชั้นเชิงมากกว่าออกญากลาโหมมากโดยเก็บอารมณ์ไม่แสดงท่าทีว่าต้องการราชสมบัติ และแสดงออกว่าการกระทำทั้งหมดเป็นเพื่อ ‘ปราบทุกข์เข็ญของบ้านเมือง’ ก็ทำให้ตนเองดูดีขึ้นเป็นการสั่งสมบารมีให้เพิ่มพูน แล้วได้อำนาจปกครองแผ่นดินมาโดยไม่ต้องขึ้นเป็นกษัตริย์ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับการที่เฉาเชา(โจโฉ)ไม่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ เพียงแค่เป็นเว่ยหวาง(วุยอ๋อง)เท่านั้นก็มีอำนาจครองแผ่นดินสูงสุด อย่างคำที่เฉาเชากล่าวตอบคนที่ยุให้ล้มราชวงศ์ฮั่นแล้วยึดบัลลังก์ว่า “แม้ว่าฟ้าจะประทานชะตานั้นแก่เรา เราขอเป็นเพียงโจวเหวินหวาง”

แต่ออกญากำแพงนั้นผิดกัน ออกญากำแพงแสดงตนอย่างเปิดเผยว่าตนเองต้องการชิงราชสมบัติด้วยการขึ้นนั่งบนบัลลังก์อย่างที่กล่าวไปแล้ว เชื่อว่าคนที่ร่วมก่อการกับออกญากลาโหมสุริยวงศ์น่าจะมีบางคน(แต่อาจจะน้อย)ที่ต้องการล้มสมเด็จพระเชษฐาธิราชเพื่อบ้านเมืองจริงๆ(เพราะการกระทำของสมเด็จพระเชษฐานั้นเหลือรับ) และการกระทำแบบนี้น่าจะทำให้ออกญากำแพงตกเป็นเป้าของความไม่พอใจของคนหลายฝ่าย และคงไม่มีคนไทยจะยอมรับได้ว่าจะให้แขกมัวร์เป็นกษัตริย์ การกระทำของออกญากำแพงจึงไม่ต่างอะไรกับ ‘กบฏปล้นราชสมบัติ’



อาลัมพายน์พราหมณ์ จากภูริทัตต์ชาดก ในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมาเลข ๖
น่าจะแสดงลักษณะใกล้เคียงขุนนางมุสลิมนั่งบนคานหาม มีบ่าวไพร่ติดตาม



ข้อกล่าวหา
เมื่อเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็เล็งเห็นแล้วว่าออกญากำแพงเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ของสมเด็จพระอาทิตยวงศ์(และต่อตนเองด้วยหากตนต้องการแย่งชิงบัลลังก์) ขุมอำนาจของออกญากำแพงก็นับได้ว่าแข็งแกร่งและอาจจะก่อการขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงวางแผนกำจัดออกญากำแพงทิ้ง

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้วางแผนร่วมกับออกญาพระคลัง(Oija Barckelangh)ขุนนางที่เป็นคู่คิดกับตนมาตั้งแต่ต้น(อ่านตอนที่ ๑๖,๑๗) ว่าตนจะทูลซัดทอดความผิดหลายประการของออกญากำแพงต่อสมเด็จพระอาทิตยวงศ์โดยให้ออกญาพระคลังเป็นพยานยืนยันความผิดนั้นๆ หลังจากวางแผนเสร็จเจ้าพระยากลาโหมจึงไปทูลความผิดของออกญากำแพงดังต่อไปนี้
  • ออกญากำแพงเป็นผู้นำในการก่อกบฏโค่นล้มสมเด็จพระเชษฐาธิราช  รวมไปถึงใช้กำลังข่มขู่ขุนนางอื่นๆให้ร่วมก่อการด้วย (ซึ่งจริงๆเรื่องนี้คนผิดจริงๆควรจะเป็นออกญากลาโหมสุริยวงศ์มากกว่า)
  • ออกญากำแพงขึ้นไปนั่งบนราชบัลลังก์เอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาสวมใส่และแสดงอาการบ่งบอกชัดว่าต้องการเป็นกษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดจริงและการกระทำแบบนี้เสมอด้วยกบฏ ไม่สามารถหลุดพ้นข้อกล่าวหาไปได้
  • ออกญากำแพงลอบสนับสนุนพระศรีสิงห์อยู่ลับๆ(ตอนที่ ๑๔) และเมื่อตอนปราบกบฏพระศรีสิงห์ ออกญากำแพงซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่วางแผนจะไปเข้ากับพระศรีสิงห์แต่ทำไม่ได้เพราะออกญาเสนาภิมุขขวางอยู่ เรื่องนี้ฟาน ฟลีตกล่าวว่าเป็นเท็จ แต่ในเอกสาร'คำให้การขุนหลวงหาวัด' ซึ่งเขียนจากปากคำเชลยไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒ กล่าวว่า ตอนพระศรีสิงห์จะก่อกบฏได้ลอบติดต่อกับ 'พระกำแพง'  ซึ่งพระกำแพงก็ตกลงยอมเป็นพวกพระศรีสิงห์ แม่ว่าเอกสารนี้จะไม่ร่วมสมัยและเหมือนเป็นเรื่องที่เล่าๆกันมามากกว่าบันทึกประวัติศาสตร์แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจริง

จากนั้นออกญาพระคลังก็ทูลยืนยันความผิดของออกญากำแพง ออกญากลาโหมสุริยวงศ์จึงทูลว่าออกญากำแพงเป็นภัยต่อแผ่นดินสมควรจะถูกกำจัดทิ้ง สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ซึ่งเป็นยุวกษัตริย์ พระชันษาเพียง ๙-๑๐ ปี ก็ทรงเชื่อตามนั้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชโองการให้จับออกญาเข้าคุก และถูกลงโทษจำ ๗ ประการ(ปกติมีแค่ ๕) ถูกริบราชบาตร ข้าทาสต่างก็ถูกแบ่งสรรกันไปในหมู่ขุนนาง ในเวลาเพียงครู่เดียวออกญากำแพงก็หมดอำนาจลงโดยสิ้นเชิง แต่ตัวออกญากำแพงยังไม่รู้ว่าทำไมตนจึงถูกจับ และเชื่อว่าออกญากลาโหมสุริยวงศ์จะช่วยเหลือตนได้



ก่อนตะวันตก
วันหนึ่งเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงไปหาออกญากำแพงในคุก แสดงท่าทีประหลาดใจที่ออกญากำแพงถูกจับ และได้ปลอบออกญากำแพง กล่าวว่าตนเองจะช่วยเหลือ และสาบานว่าก่อนพระอาทิตย์ตกดินออกญากำแพงจะถูกปลดปล่อยจากพันธะอันหนักหน่วงและได้ออกจากคุกอย่างแน่นอน แล้วจึงลากลับไป

วันนั้น ก่อนพระอาทิตย์ตกดินราวสองชั่วโมง ออกญากำแพงก็ได้ออกจากคุกจริงๆ โดยถูกนำตัวไปยังประตูท่าช้าง(Thacham)ริมแม่น้ำซึ่งเป็นแดนประหาร เมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอกออกญากำแพงจึงโกรธมากและตะโกนด่าทอเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์มากมายแต่หลังจากสงบอารมณ์ได้จึงร้องขอจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระอาทิตยวงศ์เพื่อทูลแก้ต่างและขอให้มีการไต่สวนตามกระบวนการตุลาการอย่างที่สมควร แต่ก็ไม่เป็นผล


ตะแลงแกงในความหมายปัจจุบัน
ในสมัยอยุทธยาตะแลงแกงใช้เรียกทางสี่แพร่งในกรุงศรีอยุทธยาซึ่งใช้เป็นที่ประหารชีวิต


ด้วยโทษเสมอ 'กบฏต่อต้านสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า' ออกญากำแพงถูกจับมัดกับต้นกล้วย แล้วถูกฟันที่สีข้างซ้ายจนลำไส้ทะลักออกมา จากนั้นจึงถูกหวายเสียบคอ แล้วจึงใช้หวายนั้นแขวนศพไว้บนตะแลงแกงไม่ไผ่(bamboo gallows) ประจานให้คนทั่วไปได้เห็น นับว่าเป็นวาระสุดท้ายของขุนนางแขกมัวร์ผู้ทะเยอทะยานเกินตัวผู้นี้

อสังหาริมทรัพย์กับทรัพย์สินอื่นๆของออกญากำแพงอันได้แก่ช้างม้า เครื่องศาสตราุวุธ เงินทองที่ฝังดินไว้ตามแบบธรรมเนียมไทย และข้าทาสที่รอดพ้นจากการถูกริบในครั้งแรก ตกไปอยู่ในมือของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์และออกญาพระคลังทั้งหมด เจ้าพระยากลาโหมได้นำสินทรัพย์เหล่านี้มาสร้างฐานอำนาจของตนเองให้มั่นคงยิ่งขึ้นและเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับขุนนางอื่นๆที่อยู่ฝ่ายตนให้แน่นแ้ฟ้นยิ่งขึ้นรวมถึงใช้สร้างมิตรสหายใหม่ๆด้วย

ภรรยาคนแรกของออกญากำแพงและบุตรสาวของนางรวมไปถึงภรรยาน้อยถูกนำตัวไปเป็นข้ารับใช้ในพระราชวังหลวง จนถึง พ.ศ.๒๑๘๓ นางเหล่านี้ก็ยังเป็นข้ารับใช้ของพระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอยู่ ส่วนผู้หญิงและเด็กๆที่เหลือก็ถูกจับเป็นทาสทั้งสิ้น ส่วนบุตรชายของออกญากำแพงก็ถูกให้กระจายไปเป็นข้ารับใช้ของขุนนางหลายคนและใน พ.ศ.๒๑๘๓ ก็ยังคงรับใช้อยู่

ภรรยาและบุตรสาวของออกญากำแพงไม่มีโอกาสจะได้แต่งงานแม้แต่คนเดียว ส่วนบุตรชายก็ไม่มีโอกาสจะได้รับราชการในตำแหน่งสูงๆแม้แต่คนเดียวเหมือนกัน


เจ้าพระยากลาโหมทำลายอำนาจของฐานออกญากำแพงอย่างสิ้นเชิงจนไม่มีโอกาสผงาดกลับมาได้ชั่วลูกชั่วหลาน




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2555
2 comments
Last Update : 25 พฤษภาคม 2556 10:52:28 น.
Counter : 5791 Pageviews.

 

 

โดย: tuk-tuk@korat 6 พฤศจิกายน 2555 13:59:13 น.  

 

ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

 

โดย: วิเศษกุญชร อัศดรอาจหาญ 3 มกราคม 2561 14:17:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ศรีสรรเพชญ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]




New Comments
[Add ศรีสรรเพชญ์'s blog to your web]