|
สุมาอี้ จงต๊ะ - ผู้ชนะแห่งสามก๊ก
สุมาอี้ จงต๊ะ
เล่า โจ ซุน ต่อสู้แย่งชิงกันมา สุดท้ายสุมาได้ครองแผ่นดิน คำๆนี้น่าจะเป็นบทสรุปของเรื่องสามก๊กได้ดีที่สุดล่ะมั้ง
เรื่องสามก๊กเปิดฉากจากเล่าปี่ โจโฉ ภายหลังจึงมีซุนกวน และก็กลายเป็นการต่อสู้ของทั้งสามคน แต่สุดท้ายแผ่นดินจีนกลับไปตกเป็นของตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องสามก๊กที่กว่าจะขึ้นมามีบทบาทอย่างจริงๆจังก็ช่วงที่แผ่นดินเริ่มแบ่งเป็นสามแล้ว ซึ่งตัวละครตัวนี้ตอนที่โผล่ขึ้นมาทีแรกยังเป็นเพียงแค่กุนซือธรรมดาๆที่ไม่ได้มีความสำคัญหรือตำแหน่งใหญ่โตอะไรในฝ่ายวุยก๊กของโจโฉ แต่ใครจะคาดคิดว่าภายหลังเขากลับสามารถโค่นล้มตระกูลโจ ปูทางให้ลูกหลานรวมแผ่นดินได้สำเร็จ
เขาไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากไหนอย่างมังกรหลับขงเบ้ง แต่จู่ๆก็โผล่ขึ้นมากลายเป็นบุคคลที่ขงเบ้งไม่อาจจะเอาชนะได้จนกระทั่งตายลง
คนที่อ่านสามก๊กรอบแรกๆและอ่านฉบับที่รวบรัดน่าจะสงสัยกันไม่น้อยนะว่าเจ้าสุมาอี้คนนี้มันเป็นใครโผล่มาจากไหน ทำไมถึงได้เก่งกาจขนาดนี้ และกลายเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด สามารถปูทางให้ลูกหลานก่อตั้งราชวงศ์จิ้นสืบต่อมาได้
งั้นก็ไปดูประวัติของจิ้งจอกเจ้าเล่ห์คนนี้กัน
ประวัติโดยย่อ
สุมาอี้ หรือซือหม่าอี้ ชื่อรอง จงต๊ะ เกิดในปีค.ศ.179 เป็นบุตรชายคนรองของสุมาฮอง ผู้ว่าการแห่งนครหลวงลั่วหยางในตระกูลขุนนางชั้นสูงแห่งเฮอไน คำว่าซือหม่านั้นจะเป็นเหมือนกับยศถาที่ให้แก่ชนชั้นตระกูลขุนนางที่สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งบรรพบุรุษของสุมาอี้นั้นรับราชการมาตั้งแต่สมัยของฌ้อปาอ๋อง โดยพูดได้ว่าสุมาอี้นั้นเกิดมาเพื่อเป็นชนชั้นปกครองโดยเฉพาะ
ในวัยเด็กเขาได้รับการศึกษา ร่ำเรียนสรรพวิชา หลักปรัชญาของขงจื๊อ เม่งจื๊อ เรียนหลักพิชัยสงคราม หลักการปกครอง และรำทวน ขี่ม้า ยิงธนู เรียกว่าได้เรียนทุกอย่างครบเครื่องตามแบบฉบับของบุตรที่เกิดจากตระกูลขุนนางเลยทีเดียว และจะว่าไปเขาก็มีพื้นเพการศึกษามาคล้ายๆกับโจโฉ
ในยุคแห่งความวุ่นวายที่มีสาเหตุจากการลุกฮือของโจรผ้าเหลืองและการยึดอำนาจของตั๋งโต๊ะนั้น ทำให้แผ่นดินเข้าสู่กลียุค กลายเป็นสมัยที่ใครก็ได้หากมีความทะยานอยากและความเด็ดเดี่ยวมากพอ ก็สามารถจะผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ในชั่วข้ามคืน ตอนนั้นโจโฉได้ผงาดขึ้นมากลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในภาคกลางด้วยการเชิดชูฮ่องเต้ สร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่ฮูโต๋ ค่อยๆขยายอำนาจแผ่ไปทั่ว แต่สิ่งที่โจโฉเน้นมากที่สุดช่วงนั้นคือการสะสมบุคลากรที่มีความสามารถมารับใช้
สุมาอี้นับเป็นคนดังคนหนึ่งแห่งเฮอไน ด้วยความอัจฉริยะและความฉลาดหลักแหลมจนเป็นที่กล่าวขวัญ ประกอบกับตระกูลสุมาและโจโฉนั้นมีบุญคุณผูกพันกันอยู่เนื่องจากสุมาฮองบิดาของสุมาอี้นั้นเคยช่วยเหลือโจโฉในสมัยที่ยังรับราชการในเมืองหลวง ด้วยความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้โจโฉอยากได้สุมาอี้ตัวมารับใช้ แต่เขาไม่อยากไปอยู่กับโจโฉ ตามตำราและตามนิยายสามก๊กบรรยายในทำนองว่าสุมาอี้นั้นเกรงกลัวโจโฉจึงไม่อยากไปอยู่ด้วย บางเล่มก็ว่าเพราะโจโฉเป็นคนโฉด หรือไม่ก็เพราะสุมาอี้นั้นก็คิดการใหญ่ไว้เหมือนกัน
เหตุผลจริงๆคืออะไรคงอยากจะตอบได้ ซึ่งถ้าพอจะสรุปจากเรื่องราวและการกระทำในภายหลังของสุมาอี้นั้นน่าจะพอหาความจริงได้ว่า เป็นเพราะสุมาอี้นั้นก็มีความทะเยอทะยานแอบซ่อนอยู่ และคิดสะสมกำลังพลตั้งตัวขึ้นมาบ้างเช่นกัน ไม่ก็อาจจะกำลังหาทางลัดอยู่ แต่หากไปอยู่กับโจโฉนั่นเท่ากับเป็นการผูกมัดตัวเองไว้ ไม่สามารถทำอะไรได้ถนัด
สุมาอี้แกล้งป่วยเพื่อบอกปัดไม่ไปอยู่กับโจโฉ แต่โจโฉขู่ว่าหากไม่มาจะจับฆ่าเสีย สุมาอี้จึงจำต้องเข้ารับราชการ
โจโฉเมื่อได้ตัวสุมาอี้มาแล้ว ก็ให้เขาเป็นเสนาธิการ ที่ปรึกษาด้านการทหาร แต่ก็น่าแปลกที่โจโฉไม่ค่อยจะเชื่อในคำแนะนำของสุมาอี้เท่าใดนัก ทั้งที่ๆความเห็นที่เขาเสนอต่อโจโฉนั้นค่อนข้างจะเฉียบขาดและยอดเยี่ยม ถ้ายังไงจะขอเก็บเอาเรื่องนี้ไว้พูดถึงในตอนหลังอีกที
ตอนที่สุมาอี้มาอยู่กับโจโฉนั้นเป็นช่วงที่ดวงของยอดคนผู้นี้กำลังรุ่ง เขาทำสงครามปราบปรามอ้วนเสี้ยวทางภาคเหนือลงได้ ทำให้กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ควบคุมแผ่นดินภาคเหนือและกลางขอประเทศได้ทั้งหมด และเตรียมตัวจะทำการรุกลงใต้เพื่อรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว
แต่สุมาอี้เป็นคนแรกๆที่คัดค้านการบุกลงใต้ ด้วยให้เหตุผลว่าตระกูลซุนแห่งง่อก๊กที่ปกครองภาคใต้นั้นมีความเข้มแข็ง และมีชัยภูมิดี ยากแก่การตีแตกในตอนนี้ ที่สำคัญฝ่ายโจโฉเองก็เพิ่งจะปราบอ้วนเสี้ยวลงได้ แม้ว่าจะได้ความฮึกเหิมเป็นแรงขับแค่ไหน แต่กองทัพที่ผนวกเอามาจากอ้วนเสี้ยวนั้นก็ยังไม่พร้อมที่จะทำการรบใหญ่กับพวกที่มีความเชี่ยวชาญในพท.ซึ่งเป็นน้ำส่วนใหญ่อย่างกองทัพของง่อก๊กไม่ได้อยู่ดี
โจโฉไม่สนใจคำทัดทานของขุนนางมาใหม่อย่างสุมาอี้อยู่แล้ว แม้ว่าจะมีผู้อื่นทัดทานบ้างแต่ก็ไม่เกิดผล เพราะพวกที่ปรึกษาเก่าๆก็ไม่ได้ทัดทานด้วย ดังนั้นโจโฉจึงยกทัพลงใต้ และไปแพ้ในศึกเซ็กเพ็กอย่างที่สุมาอี้คาดการณ์ไว้ แม้ว่าเรื่องการแตกทัพทั้งร้อยหมื่นจนเหลือทหารเพียงไม่กี่ร้อย หรือถอยทัพเพราะโรคระบาด ไม่ว่าเรื่องจริงของศึกเซ็กเพ็กมันจะเป็นยังไงก็ตาม การศึกที่ผู้นำเป็นผู้นำไปเองด้วยทัพใหญ่จำนวนมหาศาล แต่กลับไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปในแดนของข้าศึกได้สักก้าว และต้องถอนทัพกลับ นั่นก็ถือว่าฝ่ายโจโฉพ่ายแพ้แล้ว
จากนั้นสุมาอี้ก็เริ่มได้รับการขยับฐานะเป็นที่ปรึกษาที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยช่วยในเรื่องการบริหารกิจการภายในแต่ก็ยังไม่มีบทบาทอะไรมากมายนัก เรียกว่าในสามก๊กไม่ได้มีการพูดถึงตัวละครตัวนี้เลย สามก๊กบางเล่มที่เล่าเรื่องราวแบบกระชับและตัดทอนรายละเอียดไปนั้น ไม่ได้พูดถึงสุมาอี้ตอนที่มาอยู่กับโจโฉด้วยซ้ำ กว่าจะพูดถึงอีกทีก็ในปีค.ศ.217 การศึกที่ฮั่นจงระหว่างโจโฉและเล่าปี่ ซึ่งเป็นเหมือนศึกการแย่งชิงฐานทัพด่านหน้าในอนาคตของวุยก๊กและจ๊กก๊ก เพราะตอนนั้นสามขั้วอำนาจ เล่าปี่ โจโฉ และซูนกวนได้ปักหลักสร้างฐานของตนจนมั่นคง ก่อรูปร่างเป็นสามอาณาจักรแล้ว เหลือเพียงว่าใครจะประกาศตัว ตั้งฐานันดรศักดิ์ให้ตัวเองก่อนกัน
ยกแรกของศึกฮั่นจงนั้น เริ่มจากการที่โจโฉนำกองทัพเข้าบุกตีฮั่นจง ซึ่งตอนนั้นมีเตียวลู่เป็นผู้ปกครอง ในขณะที่ทางเสฉวนนั้นเล่าปี่เพิ่งจะเข้ายึดมากจากเล่าเจี้ยง เรียกว่าสองฝ่ายแข่งกันยึดก็ไม่ผิด จากนั้นเมื่อโจโฉยึดฮั่นจงได้สำเร็จ ก็กำลังลังเลอยู่ว่าจะตามตีเอาเสฉวนต่อดีไหม สุมาอี้เป็นคนที่เสนอแนะให้โจโฉใช้จังหวะที่เล่าปี่ยังไม่ทันสร้างฐานอำนาจที่มั่นคงในเสฉวน บุกเข้าไปยึดมา เพราะถ้าพลาดโอกาสนี้ เล่าปี่สามารถปักหลักที่เสฉวนได้เมื่อไหร่ ฝ่ายตนก็ยากจะตีเสฉวนได้
แต่โจโฉหลังจากลังเลอยู่นานก็ปฏิเสธแผนการนี้และพูดในทำนองว่า คนเราช่างไม่รู้จักพอ เมื่อได้ฮั่นจงแล้วยังจะเอาเสฉวนอีกหรือ
คำพูดนี้แสดงถึงความอิ่มในอำนาจของโจโฉออกมาเหมือนกัน ก่อนหน้านี้โจโฉต้องวุ่นวายกับเรื่องการเลื่อนยศตัวเองขึ้นเป็นงุยก๋ง เพราะเรื่องนี้เองเป็นเหตุให้ขุนนางผู้ภักดีอย่างซุนฮกที่ตามรับใช้ตนมายาวนานต้องจบชีวิตลง ตัวเขาเองก็คงจะเริ่มเบื่อที่จะต้องทำการขยายดินแดนและอำนาจออกไปมากกว่านี้ แม้ว่าจุดหมายสูงสุดของโจโฉคือการรวมประเทศให้เป็นหนึ่ง แต่ขณะนี้ตัวเขามีอายุปาไป 60 แล้ว ความกระหายและความทะยานอยากย่อมต้องลดลงเป็นของปกติ ที่สำคัญเลยคือ การจะนำทัพเข้าบุกตีถิ่นทุรกันดารและทางเข้าเต็มไปด้วยเขาสูงสลับซับซ้อนอย่างเสฉวนนั้น โจโฉเองในฐานะผู้นำกองทัพย่อมไม่อยากเสี่ยง เมื่อได้ฮั่นจงมาก็นับว่าตรงตามเป้าของการทำศึกแล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากจะตามตีเสฉวนอีก แต่สุมาอี้นั้นเป็นที่ปรึกษาทางทหาร เขาย่อมต้องมองถึงภาพรวมข้างหน้าและโอกาสเป็นหลัก เมื่อเห็นว่าน่าจะตีได้เขาจึงรีบเสนอ แต่กลับกลายเป็นว่าโจโฉบอกปัดแผนของเขาอีกครั้ง
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในฐานะของเสนาธิการที่เสนอแผนการเยี่ยมๆให้นายไปถึงสองครั้ง แต่นายกลับไม่ตอบรับ จิ้งจอกตัวนี้จะเริ่มฉุกคิดอะไรขึ้นมารึเปล่า
เหมือนกับว่าเอาตัวเขามาอยู่ด้วย แต่กลับไม่ยอมใช้งาน ราวกับว่าโจโฉเองก็ระแวงระวังในตัวเขาอยู่ ดังนั้นก็เลยเลือกที่จะเอาตัวเขามาอยู่ใกล้ๆ เหมือนเป็นการควบคุม แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็อาจจะเกินไป เพราะสุมาอี้เวลานั้นก็แค่เสนาธิการทหารธรรมดาที่ไม่ได้มีผลงานอะไรเด่น ในขณะที่โจโฉเป็นถึงงุยก๋งผู้มีอำนาจล้นฟ้า
ช่วงปลายชีวิตของโจโฉนั้นเขาเคยพูดกับโจผีเกี่ยวกับสุมาอี้ในทำนองว่า อย่าให้เจ้านี่มันได้กุมอำนาจทหารเด็ดขาด แสดงว่าโจโฉตีค่าสุมาอี้ไว้สูงมาก และมองออกถึงความทะเยอทะยานของชายคนนี้ ว่าถ้ามีอำนาจทหารล่ะก็ จะเหมือนการติดปีกให้แก่จิ้งจอก
โจโฉสิ้นลงในปี ค.ศ.220 บุตรชายคนโตโจผีขึ้นสืบทอดอำนาจต่อ และสถาปนาตัวเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์วุยฮั่น ส่วนสุมาอี้นั้นมีความสนิทสนมกับโจผีในฐานะที่ปรึกษาคนสนิทมาตั้งแต่สมัยก่อน จึงได้เป็นหนึ่งในคณะเสนาบดีที่คอยดูแลบ้านเมือง
โจโฉนั้นแม้จะระวังสุมาอี้ แต่ก็ไม่ถึงที่สุด เพราะเขาคงมองว่าสุมาอี้นั้นมีอายุก็ไม่ใช่น้อย ในขณะที่โจผียังหนุ่มอยู่ ยังไงซะโจผีก็น่าจะมีอายุยืนนาน สุมาอี้ที่นับวันจะแก่ตัวลงก็ไม่น่าจะมีพิษสง หรือถึงจะเกิดเหตุสุดวิสัย แต่หลังจากโจผีก็ยังมีโจยอยหลานชายที่ดูแววแล้วมีสติปัญญาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นต่อให้สุมาอี้ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจทหารในภายหลังก็หมดสิทธิ์ซ่าแน่นอน และที่สำคัญวุยก็ยังมีพวกแม่ทัพเก่งๆที่เป็นคนของตระกูลโจเหลืออยู่อีกพอสมควร ลูกหลานของพวกเขาก็ยังมี ดูแบบนี้แล้วไม่มีทางเลยที่สุมาอี้ซึ่งตอนนั้นเป็นแค่ขุนนางบุ๋นจะขึ้นมาทำอะไรได้
แต่คนมันจะใหญ่ และไม่ใช่ฟ้าดลบันดาลอย่างเดียว สุมาอี้เองก็เป็นคนกระทำด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง เขามีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรง สะสมอำนาจบารมีมาเรื่อย ในขณะที่โจผีครองราชย์ไม่ถึงสิบปีก็สิ้นลง โจยอยซึ่งขึ้นมาสืบทอดแทนแม้จะครองราชย์ได้นานหลายสิบปี แต่ก็สิ้นลงในขณะที่อายุไม่มาก
ทำไมเป็นแบบนั้นได้ พอจะวิเคราะห์ออกมาได้อย่างหนึ่ง นั่นคือเรื่องของวิถีและแนวคิดในการใช้ชีวิตของตระกูลโจและสุมาที่ค่อนข้างต่างกันมาก ตระกูลโจที่นำโดยโจโฉนั้นเป็นพวกที่มีชีวิตในช่วงแผ่นดินกลียุค ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเก่าๆหลายอย่างไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตที่ต้องเอาตัวรอดในวังวนสงครามของพวกเขา โดยเฉพาะลัทธิขงจื๊อที่สอนให้ผู้คนอยู่ในกรอบธรรมเนียม ซึ่งตอนที่โจโฉขึ้นมากุมอำนาจนั้นได้ต่อต้านแนวคิดขงจื๊อที่สืบทอดมายาวนานอย่างรุนแรง ถึงขั้นสั่งประหารขงหยงทายาทรุ่นหลังของขงจื๊อลงภายใต้การด่าทอของพวกขุนนางหัวเก่าที่ยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อ
คนในตระกูลโจใช้ชีวิตในแนวที่ไม่ยึดติดต่อขนบประเพณี เรียกว่าค่อนข้างออกไปทางเม่งจื๊อ เพียงแต่ก็ไม่ได้ยึดตามหลักเม่งจื๊อ ถ้าจะเรียกว่าใช้ชีวิตแบบตามใจตัวน่าจะเหมาะกว่า นั่นคือการหาความสุขสำราญใส่ตัวอย่างเต็มที่ กินอยู่แบบไม่ต้องควบคุมตัวเอง นึกอยากทำอะไรก็ทำ ซึ่งที่จริงมันก็เป็นรูปแบบที่เหมาะกับพวกเขาในช่วงที่บ้านเมืองไร้ระเบียบและจำเป็นต้องมีการปฏิรูปใหม่หมดเช่นนั้น
แต่ตระกูลสุมาซึ่งเป็นพวกขุนนางเก่านั้นยึดถือรูปแบบการใช้ชีวิตตามแนวขงจื๊อมาช้านาน พวกเขาจะกินอยู่อย่างพอดี ไม่ใช้ชีวิตที่โลดโผนหรือทำอะไรตามใจมากเกินความพอเหมาะของร่างกาย ด้วยเหตุนี้สุมาอี้จึงมีสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สามารถมีชีวิตต่อมาอย่างยืนยาว เกินกว่าคนของตระกูลโจถึงสามรุ่น ฟังดูมันอาจจะเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งนี้กลับส่งผลอย่างมหาศาลในการแก่งแย่งอำนาจจริงๆ
งานนี้จะเรียกว่าโจโฉเสียรู้สุมาอี้ก็ไม่ผิด....
กลับมาต่อกันหน่อย เมื่อโจผีขึ้นเป็นฮ่องเต้ เขาพยายามจะแสดงแสนยานุภาพทางทหารออกมาเหมือนกัน ด้วยการจัดทัพไปตีง่อก๊ก แต่ก็แพ้อย่างไม่เป็นท่า จากนั้นเขาก็รู้สึกขยาดและเบื่อในสงคราม ประกอบกับโจผีแม้จะมีความทะเยอทะยาน แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด เมื่อดูแล้วว่าการสงครามไม่เหมาะกับตน และแม่ทัพเก่งๆของอีกสองก๊กก็ยังมีอยู่ เขาจึงหันไปทุ่มเทให้เรื่องของวรรณกรรมมากกว่า และก็ได้ดีจนเป็นฮ่องเต้ผู้เปิดโลกของวรรณกรรมเชิงวิจารณ์และแบบร้อยแก้วเป็นคนแรก
ส่วนเรื่องการคุมกองทัพนั้น ตอนแรกตำแหน่งนี้เป็นของโจหยิน แต่โจหยินตอนนั้นแก่มาก ได้ตำแหน่งมาก็เหมือนกับลอยๆ จนภายหลังก็เป็นโจหองที่รับตำแหน่งสืบต่อซึ่งก็มีสภาพคล้ายๆกัน
ช่วงนั้นแม่ทัพเก่งๆและพวกเครือญาติตระกูลโจและแฮหัวที่ร่วมงานกับโจโฉมายาวนานได้ล้มตายไปทีละคน พวกที่ขึ้นมาใหม่ๆก็ไม่ได้เก่งเหมือนรุ่นพ่อ แต่ฝีมือก็ยังพอใช้การได้ ดังนั้นโจผีจึงยังไม่ได้ยกเรื่องกองทัพให้สุมาอี้ดูแลเต็มที่ แต่อย่างน้อยสุมาอี้ก็ยังมีอำนาจในเรื่องทหารมากขึ้นกว่าสมัยโจโฉที่ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการควบคุมทหารด้วยเลย
จนมาถึงตอนที่โจยอยขึ้นครองราชย์ ได้มอบอำนาจทางทหารให้สุมาอี้ดูแลควบคู่ไปกับโจจิ๋นที่เป็นพระญาติ และเมื่อขงเบ้งคิดจะยกทัพบุกโจมตีวุยที่เมืองเตียงฮัน ด้วยความที่เกรงในฝีมือของสุมาอี้จึงได้ปล่อยข่าวไปว่าสุมาอี้คิดกบฏ ทำให้สุมาอี้ถูกปลดจากการคุมทหารไป
ขงเบ้งเห็นว่าแผนยุสำเร็จ จึงนำทัพบุกตีเตียงฮันจากทางกิสาน เมื่อปีค.ศ.227 โจจิ๋นผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ออกทำศึกต้าน แต่โจจิ๋นก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้ของขงเบ้ง และหากเตียงฮ้นแตก การอยู่รอดของวุยจะมีปัญหาแน่นอน โจยอยจึงจำต้องให้สุมาอี้กลับขึ้นมาเป็นแม่ทัพควบคุมกำลังทหารเพื่อไปรับศึกกับขงเบ้ง ซึ่งผลการศึกครั้งแรกนี้ในนิยายสามก๊กก็บอกผลไว้ชัดแล้วว่าขงเบ้งแพ้ยับเยิน
มีข้อแตกต่างระหว่างนิยายกับข้อมูลที่อ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์จริงอยู่บ้าง นั่นคือในนิยายนั้นผู้ที่ยกทัพมาสู้กับขงเบ้งคือสุมาอี้ แต่ในของจริงเป็นเตียวคับ ส่วนสุมาอี้นั้นสั่งการกองทัพอยู่แนวหลัง
โดยรายละเอียดในผลงานครั้งนี้ก็คือเดิมทีขงเบ้งได้ติดต่อกับเบ้งตัดซึ่งมาสวามิภักดิ์กับวุยก๊กหลังจากที่กวนอูตายว่าหากช่วยงานตีวุยก๊กจากด้านในสำเร็จ ฝั่งจ๊กก๊กจะยอมให้อภัยและให้กลับมามีตำแหน่งสูงยิ่งกว่าเดิม ซึ่งเบ้งตัดก็รับคำ เพราะตอนนั้นเขาเองก็ไม่พอใจที่ฝั่งวุยไม่ยอมให้เขามีตำแหน่งสูงอย่างที่เคยตั้งใจไว้ในตอนแรก
สุมาอี้เมื่อได้อำนาจทหารคืนมาก็รีบลงมือแบบสายฟ้าแลบ นำกองทัพด้วยตัวเองเข้าโจมตีเบ้งตัดที่มัวแต่มะงุมมะงาหราอยู่โดยไม่ให้ตั้งตัว ทั้งที่ขงเบ้งเองก็ส่งจดหมายมาเตือนเบ้งตัดแล้วว่า เมื่อสุมาอี้ได้อำนาจทหารคืน ต้องรีบลงมือ แต่เบ้งตัดดันบอกกลับไปว่าไม่เห็นต้องไปกังวล เพราะสุมาอี้จะออกศึกนั้นก็ต้องขอรับสั่งจากฮ่องเต้ก่อน
ขงเบ้งเจอจดหมายตอบกลับแบบนั้นก็แทบขว้างทิ้งแล้วบอกว่า แม่ทัพออกศึกแนวหน้าไม่จำเป็นต้องฟังกษัตริย์ สุมาอี้เองรู้ดีในหลักการข้อนี้ว่าหากจะปราบกบฏก็ต้องลงมือทันที ครานี้เบ้งตัดไม่รอดแน่ และก็เป็นจริง ซึ่งนั่นก็ส่งผลกระเทือนให้แผนการใหญ่ของขงเบ้งที่วางไว้พังพินาศหมด
สุมาอี้ได้รับเครดิตจากชัยชนะไปเต็มๆ และเมื่อภายหลังจากนั้นโจจิ๋นที่รู้สึกผิดหวังในผลการรบของตนก็ได้ล้มป่วยลง ทำให้สุมาอี้ขึ้นรับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แทนและกลายเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและอำนาจในการควบคุมการทหารอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับจ๊กก๊ก
อำนาจและบารมีของสุมาอี้ก็เริ่มขึ้นจากจุดนั้น หลายปีต่อมาขงเบ้งพยายามยกทัพเข้าตีวุยแต่ไม่เป็นผล นั่นทำให้สุมาอี้ยิ่งมีผลงานและบารมีกับเหล่าทหารและผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บรรดาแม่ทัพและนายทหารที่เป็นคนของตระกูลโจค่อยๆล้มตายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเตียวคับซึ่งเป็นแม่ทัพคนสุดท้ายที่รับใช้ตระกูลโจมาแต่สมัยโจโฉและยังมีชีวิตอยู่ได้ตายลง เท่ากับว่าเหล่าแม่ทัพรุ่นใหม่ๆต่อจากนี้เป็นคนที่สุมาอี้ปั้นขึ้นมาทั้งสิ้น
ในนิยายสามก๊กพูดถึงการศึกสุดท้ายระหว่างขงเบ้งและสุมาอี้ได้อย่างดุเดือด ที่น่าสนใจคือเรื่องที่ขงเบ้งวางแผนหลอกล่อให้สุมาอี้เข้ามาในหุบเขาน้ำเต้า และกะจะสังหารสุมาอี้ด้วยการวางดินระเบิดเอาไว้ในหุบเขา เมื่อล่อสุมาอี้เข้าไปแล้วก็จุดระเบิดเพื่อจัดการสุมาอี้ในทีเดียว
แผนการทำท่าจะสำเร็จ แต่ระหว่างที่ดินระเบิดกำลังถล่มกองทัพของสุมาอี้นั้น ได้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สุมาอี้รอดตายออกมาได้ จนขงเบ้งถึงกับท้อว่าวางแผนทุกอย่างดิบดี แต่ฟ้าไม่เป็นใจ
เรื่องนี้บ้างก็วิเคราะห์กันว่าอาจจะเป็นเรื่องแต่ง เพราะสมัยนั้นจีนยังคิดค้นดินระเบิดไม่ได้ แต่ถ้าหลอก้วนจงแต่งออกมาอย่างนั้น เขาอาจจะต้องการสื่อถึงว่าคนจะเป็นใหญ่แม้แต่ฟ้าก็ยังช่วยหนุนก็ได้ล่ะมั้ง
เมื่อขงเบ้งตายลงในปีค.ศ.234 โดยที่ไม่อาจจะตีเตียงฮันได้ นั่นเท่ากับเป็นผลงานสุดยิ่งใหญ่ของสุมาอี้ ที่ปราบมังกรหลับได้สำเร็จ เวลานี้ทอดตาไปทั่วแผ่นดินผู้ แม่ทัพหรือกุนซือ หรือจอมวางแผนผู้เก่งกาจที่จะต่อกรกับเขาแทบจะไม่มีอีกแล้ว จะเหลือก็เพียงลกซุนแห่งง่อคนเดียว แต่นโยบายของง่อคือการตั้งรับเป็นหลัก ดังนั้นแทบจะหมดห่วง
ในปีค.ศ.237 เกิดกบฏที่เหลียวตงโดยกองซุนเอี๋ยน ลุกฮือขึ้นเพราะไม่พอใจการปกครองของโจยอย ระดมทหารได้หลายแสนคนหมายจะบุกตีลกเอี๋ยง พระเจ้าโจยอยจึงให้สุมาอี้นำกำลังทหารไปปราบ แต่ไม่อาจระดมไปได้มากนัก เพราะต้องเหลือไว้รับศึกจ๊กก๊กและง่อก๊ก สุมาอี้จึงเอาทหารไปเพียง 4 หมื่นคน
เขาใช้เวลานานถึง 2 ปีในการเดินทางไปเหลียวตงที่เส้นทางลำบากยากแค้น แต่ด้วยความอดทนและมุ่งมั่นที่จะชนะศึกของสุมาอี้ แม้เสบียงจะหมดลงและกำลังทหารของเขามีน้อยกว่าเป็นเท่าตัว แต่ก็สามารถเอาชนะกองซุนเอี๋ยนลงได้ ซึ่งศึกนี้เป็นการประกาศศักดาตอกย้ำถึงความหนักแน่นของสุมาอี้ได้อีกครั้ง พูดถึงพระเจ้าโจยอยเล็กน้อย ฮ่องเต้องค์นี้เป็นผู้ที่มีสติปัญญาและปรีชาสามารถคนหนึ่ง ประวัติในวัยเด็กก็บ่งบอกว่าเป็นผู้ที่ถือคุณธรรม เมื่อแรกขึ้นนั่งบัลลังก์เขาก็บริหารราชการอย่างดี แต่ภายหลังดันไปลุ่มหลงในสุราและนารี จนเป็นเหตุให้เหล่าขุนนางไม่พอใจและประชาชนก่นด่าไปทั่ว ก่อนที่จะออกศึกเลียวตั๋ง สุมาอี้ได้รับฟังการระบายจากขุนนางเหล่านั้นก็ได้แต่เงียบและสงวนท่าที โดยบอกต่อเหล่าขุนนางว่าอย่าได้ทักท้วงฮ่องเต้ เพราะไม่เช่นนั้นหัวขุนนางผู้ภักดีจะต้องหลุด ซึ่งเขาไม่อยากให้บ้านเมืองเสียคนดีๆไปมากกว่านี้ นับแต่นั้นจึงไม่มีผู้ใดทัดทานการปกครองที่โหดเหี้ยมของโจยอย และส่งผลให้เกิดการต่อต้านตระกูลโจมากขึ้น อาจเป็นได้ว่านี่เป็นความตั้งใจของสุมาอี้ในทำให้ตระกูลโจทำลายตัวเอง โดยที่เขาไม่ต้องทำอะไรด้วยซ้ำ
เมื่อสุมาอี้ชนะศึกที่เหลียวตง ระหว่างเดินทัพกลับได้ข่าวโจยอยประชวร จึงรีบเร่งเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อเข้าเฝ้า ซึ่งก่อนตาย โจยอยได้ฝากฝังบุตรชายโจฮองที่อายุแค่ 9 ปีให้สุมาอี้ดูแล โดยงานบ้านเมืองนั้นให้สุมาอี้และโจซองที่เป็นบุตรชายของอดีตแม่ทัพใหญ่โจจิ๋นและเป็นพระญาติใกล้ชิดคอยดูแลควบคู่กัน แล้วก็สิ้นลง
โจซองนั้นหวั่นเกรงสุมาอี้ว่าจะทำการใหญ่ จึงคิดจะลิดรอนอำนาจด้วยการเลื่อนยศเขาให้ไปเป็นราชครูอันเป็นตำแหน่งระดับสูงแต่ไร้อำนาจทางทหาร เป็นการจัดการกับสุมาอี้อย่างแยบยล ซึ่งตัวสุมาอี้เองก็พอจะรู้ว่าใครคือคนที่อยู่เบื้องหลัง จึงจำยอมรับตำแหน่งราชครูและให้ลูกชายทั้งสองคนคือสุมาสูและสุมาเจียวลาออกตามด้วย เพื่อสร้างภาพลวง และหันไปเน้นให้กับการพัฒนาบ้านเมืองเพื่อสร้างภาพและความนิยมกับผู้คน แต่ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาแอบซ่องสุมกำลังคนไว้อย่างลับๆเพื่อเตรียมจะก่อการในวันหน้า
สุมาอี้เป็นคนที่ร้ายกาจมาก เขาอดทนรอคอยเวลาโดยไม่ยอมแก่ตายสักทีเป็นเวลานานถึง 8 ปี โดยไม่ยุ่งเรื่องการเมืองและการบริหารประเทศ ปล่อยให้โจซองและพรรคพวกทำการตามอำเภอใจ แต่ตนเองนั้นพร้อมจะแว้งกัดทันทีเมื่อโอกาสมาถึง
และมันก็มาถึงจริงๆ ในปีค.ศ.249 โจซองได้ส่งคนของตนไปตรวจสภาพของสุมาอี้ จิ้งจอกเฒ่ารู้ว่าคนของโจซองมาเยี่ยมที่บ้านก็แกล้งทำเป็นป่วยและหลอกจนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามหลงเชื่อและไปรายงานโจซองว่าสุมาอี้ป่วยหนัก คิดว่าคงจะอยู่ได้ไม่นาน โจซองกระหยิ่งในใจว่าหมดเสี้ยนหนามแล้ว ภายหลังจึงได้พาพรรคพวกตนออกไปล่าสัตว์นอกเมืองพร้อมๆกับอัญเชิญฮ่องเต้ไปด้วย เรียกว่าขนกันไปทั้งโขยง
สุมาอี้เมื่อรู้ว่าพวกโจซองออกไปนอกเมือง ก็รู้ว่าโอกาสมาถึงจึงสั่งการให้คนของตนที่ซ่องสุมไว้ประมาณ 3 พันคนลงมือทันที โดยกุยห้วยแม่ทัพคนสนิทที่ออกศึกมาตั้งแต่ครั้งสู้กับขงเบ้งที่กิสานได้นำกำลังพลเข้าควบคุมสถานที่สำคัญในเมืองหลวง
ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาสุมาอี้ได้วางคนของตนไว้ในจุดสำคัญๆของเมืองหลวงทั้งหมด เพื่อรอโอกาสเตรียมทำการรัฐประหาร นอกจากนี้ก็ยังมีเหล่าแม่ทัพนายทหารไม่ใช่น้อยที่เป็นคนของสุมาอี้และเคยร่วมทำสงครามมาตั้งแต่สมัยที่สู้กับขงเบ้ง ในเวลาไม่นานก็สามารถเข้าควบคุมจุดสำคัญในเมืองหลวงได้หมด โดยที่ตัวสุมาอี้เองนั้นนำกำลังไปดักพวกโจซองไว้ที่หน้าเมือง และให้สุมาสูและสุมาเจียวบุตรชายเข้าไปอัญเชิญประกาศกล่าวโทษโจซองจากไทเฮาถึงในตำหนัก เพื่อความชอบธรรมในการลงมือครั้งนี้
โจซองที่รู้ข่าวรัฐประหารสายฟ้าแลบของสุมาอี้ก็ตกใจสุดขีด คิดจะยกทัพกลับเข้ามาลุยกับสุมาอี้ในเมืองหลวง แต่สุมาอี้นั้นได้ส่งทูตเกลี้ยกล่อม โดยแจ้งว่าที่ทำไปเพียงต้องการยึดอำนาจการทหารคืนเท่านั้น หากว่าโจซองยอมมอบตัวก็จะไม่ทำอะไรและจะให้อยู่ต่อไปอย่างสุขสบาย
โจซองเติบโตมาในฐานะเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่ไม่เคยเจอความลำบาก ไม่เคยออกรบ เมื่อเจอไม้นี้เข้าไปจึงเกิดใจอ่อน เพราะคิดว่าขอเพียงรักษาชีวิตไว้ให้ได้อยู่อย่างสบายก็พอ และพวกตนก็เป็นถึงพระญาติ สุมาอี้คงไม่กล้าทำอะไร จึงยอมมอบตัว
แต่สุมาอี้นั้นรู้ดีว่าจะตัดรากต้องถอนโคน เมื่อได้ตัวพรรคพวกของโจซองก็สั่งประหารโคตรญาติตระกูลโจของโจซองถึง 7 ชั่วโคตร และยังลามไปถึงพวกคนในตระกูลแฮหัวที่เกี่ยวดองเป็นญาติกันด้วย
เรื่องครั้งนี้ทำให้แฮหัวป๋า แม่ทัพซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของแฮหัวเอี๋ยนไม่พอใจและลุกฮือขึ้นแถบชายแดน แต่ก็ถูกกุยห้วยแม่ทัพของสุมาอี้ตีจนแตกพ่ายไปและจำต้องไปสวามิภักดิ์อยู่กับเกียงอุยที่จ๊กก๊กแทน
สุมาอี้ขึ้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่แต่ผู้เดียวในเมืองหลวง โดยที่ประชาชนก็ไม่ได้ต่อต้าน เพราะการปกครองของตระกูลโจในช่วงหลังๆที่ผ่านมานับแต่ปลายสมัยของโจยอย จนถึงช่วงที่โจซองครองอำนาจ ได้ทำการกดขี่ต่อประชาชนไว้มาก
สุมาอี้ได้อำนาจทั้งหมดมาอยู่ในมือแต่กระนั้นก็ไม่ยอมล้มล้างราชวงศ์วุยเพื่อตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ซะเอง จะว่าไปเขาก็ลอกเลียนวิธีการนี้มาจากโจโฉนั่นคือการยอมอยู่ใต้คนเดียว แต่อยู่เหนือคนนับหมื่น เพียงแต่เขาโหดเหี้ยมมากกว่าตรงที่สั่งล้างตระกูลโจถึง 7 ชั่วโคตร ในขณะที่โจโฉยังเลี้ยงดูพระเจ้าเหี้ยนเต้และเหล่าพระญาติอย่างดี แม้จะปลดลงในสมัยที่โจผีขึ้นครองอำนาจ แต่ก็มิได้ประหารล้างโคตรขนาดนี้ นับว่าสุมาอี้ยังโหดและเด็ดขาดกว่าโจโฉอีกหนึ่งขั้นในการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ
ปีค.ศ.251 สุมาอี้ที่เป็นผู้มีอำนาจสงสุดในวุยได้ล้มป่วยลง และถึงแก่กรรมไปด้วยวัย 72 ปี ปล่อยให้บุตรชายทั้งสองคนคือสุมาสูและสุมาเจียวสืบทอดการก่อตั้งราชวงศ์ของตระกูลสุมาต่อไป และก็ทำได้สำเร็จเมื่อสุมาเอี๋ยนหลายชายของสุมาอี้ได้ล้มล้างราชวงศ์วุยของตระกลโจ และขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์จิ้นนามพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้ ในปี ค.ศ.265 และรวมแผ่นดินจีนที่แตกเป็นสามก๊กให้เป็นหนึ่งได้อีกครั้งในปี 280 เป็นอันปิดฉากยุคสามก๊กอันยาวนานลง
ชื่อของสุมาอี้ถูกกล่าวถึงในแง่ของคนหน้าด้านใจดำ ที่พร้อมจะกระทำทุกอย่างให้สำเร็จตามเป้าหมายด้วยความใจเย็นอย่างที่คงไม่มีใครในสามก๊กจะเย็นเท่านี้อีกแล้ว เขาสามารถอดทนรอคอยโอกาสได้อย่างยาวนานเป็นหลายๆปี เพื่อการยึดอำนาจมาเป็นของตนเอง และยังเป็นผู้ที่เก่งกาจในการนำทัพ วางแผนการเอาชนะข้าศึกอีกด้วย
ในเรื่องสามก๊กนั้นยกย่องขงเบ้งเป็นกุนซือที่เก่งที่สุด และโจโฉเป็นคนที่เหี้ยมที่สุด แต่เมื่อดูจากเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว พูดได้ว่าสุมาอี้น่าจะเป็นคนที่ร้ายกาจที่สุดในสามก๊ก....

Create Date : 15 พฤษภาคม 2549 |
| |
|
Last Update : 15 พฤษภาคม 2549 18:11:49 น. |
| |
Counter : 17068 Pageviews. |
| |
 |
|
|
ซุนฮก เหวินยื่อ - ผู้สร้างรากฐานวุยก๊ก
ซุนฮก เหวินยื่อ
ในกลียุคนั้นผู้ที่จะเป็นใหญ่ได้นั้นจำต้องรวบรวมผู้มีสติปัญญาและมีฝีมือการรบให้มาอยู่กับตนมากๆ
ผู้นำของก๊กทั้งสามนั้นต่างก็มีคนที่ว่านี้ไว้มากมายที่สุดพวกเขาจึงสามารถผงาดขึ้นมาอยู่เหนือคนอื่นในยุคเดียวกัน
ขุนศึกผู้มีความเก่งกาจในการรบนั้นจำเป็นต้องมีแน่ แต่หากว่าเล่าปี่ โจโฉ และซุนกวนขาดบุคคลผู้มีปัญญาที่มีความสามารถในการวางแผนวางกลอุบายเอาชนะข้าศึก หรือวางกลยุทธ์กำหนดแผนการรบและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลแล้วล่ะก็คงไม่อาจจะก่อตั้งอาณาจักรของตนขึ้นได้แน่นอน
แต่ในกลุ่มผู้มีปัญญาเหล่านั้นก็มีอยู่บางคนที่มีความโดดเด่นขึ้นมาอยู่เหนือผู้อื่นอีกขั้นหนึ่ง
ว่ากันว่าก่อนที่แผ่นดินจะถูกแยกออกเป็นสามก๊กนั้นทั่วแผ่นดินมีคนอยู่แค่ 3 คนที่มองออกว่าสุดท้ายแล้วแผ่นดินจะถูกแบ่งเป็น 3 ฝ่าย
นั่นคือ ขงเบ้ง โลซก และซุนฮก
โจโฉนั้นเป็นผู้ที่สามารถรวบรวมเหล่าขุนศึกและนักรบผู้กล้าไว้ได้มากที่สุดในยุคนั้น และซุนฮกก็เป็นผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศผู้หนึ่งที่เขาได้มาเป็นที่ปรึกษา
และเขายังเป็นที่ปรึกษาอันดับหนึ่งในบรรดาที่ปรึกษาทั้งหมดของโจโฉด้วย
ความสามารถที่เขามีนั้นไม่ใช่การวางกลอุบายแยบยลและพิศดารในการเอาชนะทัพของข้าศึกที่อยู่ตรงหน้า แต่อยู่ที่การกำหนดแผนการรบจากระยะไกลและมีวิสัยทัศน์ในการมองภาพรวมของสถานการณ์ต่างๆในแผ่นดินและกำหนดแผนการรบขั้นเด็ดขาดได้อย่างเฉียบคม
โจโฉยกย่องเขามากจนครั้งหนึ่งถึงขั้นออกปากว่า ซุนฮกคือเตียวเหลียงของข้า
เตียวเหลียงก็คือที่ปรึกษาอัจฉริยะที่เคยช่วยให้หลิวปัง(เล่าปัง) ซึ่งเป็นเพียงชาวนายากจนสามารถขึ้นมาผงาดเป็นปฐมฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นได้
ในบรรดาที่ปรึกษาทั้งหมดเขาเป็นคนที่โจโฉเชื่อใจมากที่สุดและเขาก็เป็นที่ปรึกษาที่อยู่กับโจโฉมานานที่สุดด้วย
แต่ในวาระสุดท้ายนั้นเขากลับต้องตายอย่างน่าเศร้า แถมความตายนั้นยังเป็นสิ่งที่โจโฉหยิบยื่นให้อีก
ประวัติโดยย่อ ซุนฮก เหวินยื่อ เกิดมาในตระกูลซุนซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งแห่งเมืองเท่งซวง ซึ่งตระกูลซุนนี้เป็นคนละซุนกับของซุนเกี๋ยนอันเป็นทายาทของซุนหวู่และเป็นใหญ่ในภาคใต้
เมื่อวัยเด็กนั้นเขาได้นับการศึกษาที่ดีมากสมกับเป็นคนในตระกูลใหญ่อีกทั้งยังได้เรียนรู้ในจารีตและหลักการตามแบบของลัทธิขงจื๊ออีกด้วย ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นสุภาพชนคนหนึ่งที่มีทั้งการศึกษาและความประพฤติตัวดีเยี่ยม
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองขึ้นและเกิดการจลาจลไปทั่วแผ่นดิน ซุนฮกจึงเป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นความวุ่นวายของบ้านเมือง รวมถึงความเหลวแหลกของราชวงศ์ฮั่น และนั่นคงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาต้องการทำงานรับใช้ชาติเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น
ต่อมาเพื่อผลประโยชน์ของตระกูล เขาจำต้องไปขออาศัยอยู่กับฮันฮกผู้เป็นข้าหลวงเมืองกิจิ๋ว ซึ่งภายหลังได้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอ้วนเสี้ยว
เขาจึงได้ทำงานอยู่กับอ้วนเสี้ยวอยู่ระยะเวลาหนึ่งและได้พบว่าคนอย่างอ้วนเสี้ยวเป็นคนโลเล ใจคอคับแคบไม่อาจทำการใหญ่ได้ พอดีกับที่ช่วงนั้นโจโฉเริ่มผงาดขึ้นมามีอำนาจทางภาคกลางและได้เป็นเจ้าเมืองกุนจิ๋ว ซุนฮกจึงผละจากอ้วนเสี้ยวไปอยู่กับโจโฉแทน
และช่วงนี้เองที่ซุนฮกได้มีบทบาทในการช่วยเหลือโจโฉสร้างฐานที่มั่นขึ้นมา จนทัพของโจโฉได้กลายเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดของภาคกลางเท่าเทียมกับอ้วนเสี้ยวที่เป็นใหญ่ทางภาคเหนือ
ซุนฮกนั้นไม่ได้มีจุดเด่นอยู่ที่การวางแผนพิศดารเพื่อเอาชนะทัพข้าศึกที่ตั้งประจันตรงหน้า แต่ความสามารถของเขาที่โจโฉนั้นมองออกและได้ดึงเอามาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือการกำหนดแผนการรบในระยะยาวทั้งการมองภาพรวมและสถาการณ์ต่างๆโดยละเอียด และสามารถนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์ที่จะใช้ในการพิชิตศึกได้ หลังจากที่ซุนฮกมาอยู่กับโจโฉได้แค่ปีเดียวนั้น โจโฉก็นำทัพบุกทางทิศตะวันออกเพื่อจัดการกับโตเกี๋ยมเจ้าเมืองชีจิ๋ว เหตุเพราะลูกน้องของโตเกี๋ยมได้ทำให้โจโก๋พ่อของเขาต้องตายลงในระหว่างที่กำลังเดินทางมาเมืองกุนจิ๋วของตน
ซุนฮกได้รับหน้าที่ให้อยู่เฝ้ามณฑลกุนจิ๋วและหัวเมืองอื่นโดยรอบ ซึ่งในตอนนั้นเองลิโป้ที่กำลังไร้ฐานที่มั่นและเป็นกลายเป็นขุนศึกพเนจรได้นำกำลังพลนำหมื่นบุกมาหมายจะตลบชิงเอากุนจิ๋วในระหว่างที่โจโฉไม่อยู่
ซึ่งหากว่าต้องเสียกุนจิ๋วไปล่ะก็ โจโฉก็จะขาดที่มั่น ซุนฮกกับเทียหยกที่ปรึกษาอีกคนของโจโฉที่อยู่เฝ้าเมืองเช่นกัน จึงร่วมกันวางแผนประสานสู้ตายกับลิโป้โดยจัดกำลังป้องกันอย่างเข็มแข็ง โดยสุดท้ายก็ต้องเสียเมืองเอียงจิ๋วซึ่งเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญไป แต่ก็สามารถป้องกันหัวเมืองที่สำคัญได้ถึง 3 หัวเมือง
ซึ่งนี่เป็นการทำให้โจโฉยังคงสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในแผ่นดิน เพราะหากต้องสูญเสียเมืองเหล่านี้ไปจนหมดล่ะก็ โจโฉก็จะหมดฐานที่มั่นที่จะใช้ก่อการใหญ่ได้อีก ผลงานครั้งนี้ของซุนฮกจึงถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญทีเดียว
เมื่อเสียเอียงจิ๋วไปแล้ว โจโฉนั้นคิดจะย้อนกลับไปตีชีจิ๋วของโตเกี๋ยมอีกครั้ง แต่ซุนฮกแนะว่าควรจะกลับไปยึดเอาเอียงจิ๋วคืนมาก่อน เพราะซุนฮกนั้นถือว่าเอียงจิ๋วเป็นเสมือนบ้านของโจโฉ หากสูญเสียบ้านที่เป็นรากฐานเดิมไป การจะขยายอิทธิพลให้เข้มแข็งต่อไปย่อมเป็นไปได้ยาก ซึ่งโจโฉก็รับเอาแผนนี้ของซุนฮกไปทำตาม
และไม่นานนักโจโฉก็สามารถยึดเอาเมืองเอียงจิ๋วคืนจากลิโป้ได้และส่งผลให้ลิโป้กลายเป็นขุนศึกพเนจรอีกครั้ง ซึ่งหากการครั้งแรกนั้นซุนฮกไม่สามารถป้องกันเมืองที่เหลือไว้ได้ล่ะก็ โจโฉคงจะไม่มีโอกาสเอาคืนเช่นนี้ได้แน่นอน
และการกลับมาตีเอาเอียงจิ๋วคืนครั้งนี้ก็ได้ส่งผลในภายหลังที่ทำให้โจโฉมีฐานที่มั่นที่มั่นคงและแข็งแกร่งที่สามารถขยายอิทธิพลออกไปได้กว้างไกล ซึ่งหากไม่ใช่เพราะคำแนะนำของซุนฮกแล้วล่ะก็ โจโฉคงมิอาจจะทำได้เช่นนี้
ในช่วงนั้นเองเหล่าขุนศึกในแดนตงง้วนต่างก็มุ่งแต่จะสู้รบแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่ได้สนใจในตัวฮ่องเต้ที่กำลังลอยละล่องหนีจากการตามล่าของลูกสมุนของตั๋งโต๊ะที่เหลืออยู่อย่างลิฉุยและกุยกี
ซุนฮกเป็นคนที่แนะนำให้โจโฉรับเอาตัวฮ่องเต้ไว้ โดยไม่ให้ขุนศึกชิงตัดหน้าไปก่อน เพราะหากได้ฮ่อเต้มาอยู่ในมือจะได้รับผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ซึ่งโจโฉก็ทำตามอีก
โจโฉรับเอาฮ่องเต้มาอยู่กับตนและจัดการถล่มลิฉุยและกุยกีจนกระจุยเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิกองทัพทำให้ฮ่องเต้ยอมไว้พระทัยไปอยู่กับโจโฉที่เมืองฮูโต๋ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ที่โจโฉได้สร้างเตรียมไว้แทนที่เมืองลกเอี๋ยงซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าที่ได้ถูกเผาทำลายจนไม่เหลือสภาพในยุคของตั๋งโต๊ะ
การรับเอาฮ่องเต้มาอยู่ด้วยนั้นส่งผลอย่างมากในภายหลังจริงๆ เพาะโจโฉสามารถที่จะใช้พระราชโองการของฮ่องเต้ในการบัญชาเหล่าขุนศึกทั่วแผ่นดินและสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองได้ ซึ่งในภายหลังสิ่งนี้ได้เป็นฐานให้โจผีบุตรของโจโฉใช้ในการโค่นล้มราชวงศ์ฮั่นและขึนครองบัลลังก์ได้สำเร็จ
จากนั้นซุนฮกก็ได้ช่วยเหลือโจโฉในการสร้างให้เมืองฮูโต๋กลายเป็นปราการที่แข็งแกร่งและช่วยโจโฉในการขยายอิทธิพลตามลำดับ ด้วยความชอบนี้ทำให้โจโฉถวายฎีกาแก่ฮ่องเต้ให้แต่งตั้งซุนฮกเป็นที่ปรึกษาและเจ้ากรมอาลักษณ์แห่งราชสำนัก ซึ่งซุนฮกก็ไม่ทำให้ผิดหวังเมื่อช่วยวางแผนให้โจโฉสามารถปราบปรามอ้วนสุดที่ตั้วตัวเองเป็นฮ่องเต้ปลอมจนต้องถอยร่นลงไปทางใต้
จากนั้นเขาก็เสนอให้โจโฉบุกปราบปรามเตียวสิ้ว และลิโป้ เมื่อสามารถรวบรวมภาคกลางได้แล้วเป้าหมายต่อไปก็คืออ้วนเสี้ยวที่กำลังเป็นใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ
ในศึกระหว่างโจโฉกับอ้วนเสี้ยวนั้นได้ตัดสินผลแพ้ชนะกันที่อำเภอกัวต๋อ ศึกนี้จึงถูกเรียกว่า สงครามกัวต๋อ ซึ่งผลจากศึกนี้ได้ทำให้โจโฉกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาคกลางและภาคเหนือแต่เพียงผู้เดียว
แต่กว่าที่จะชนะอ้วนเสี้ยวได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกำลังพลของอ้วนเสี้ยวนั้นมีมากมายมหาศาลกว่าของโจโฉมาก ว่ากันว่าในการต้านยันกันที่กัวต๋อนั้น ทัพทั้ง 2 ฝ่ายตั้งประจันโดยทัพของอ้วนเสี้ยวที่มีกำลังพลมากกว่าหลายเท่านั้นได้ระดมยิงธนูเป็นห่าฝนใส่กองทัพของโจโฉจนแทบจะไม่มีโอกาสโงหัวขึ้น จนตัวโจโฉนั้นเคยคิดที่จะถอนทัพกลับเหมือนกัน
แต่ซุนฮกซึ่งอยู่รักษาการที่ฮูโต๋นั้นได้ส่งจดหมายแนะนำโจโฉว่าห้ามถอยเด็ดขาด และให้รอความเปลี่ยนแปลงเพราะหากชนะอ้วนเสี้ยวที่นี่ได้ ก็จะส่งผลในระยะยาวที่จะทำให้โจโฉกลายเป็นผู้นำในดินแดนทางภาคเหนือและกลางได้
สุดท้ายก็เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เพราะเมื่อการโจมตีดุจห่าฝนไม่ได้ผล ในกองทัพของอ้วนเสี้ยวก็เกิดความขัดแย้งกันเองในหมู่ที่ปรึกษา
เหตุมาจากว่าโจโฉได้ส่งหนังสือไปขอเสบียงเพิ่มเติมจากเมืองหลวง แต่ระหว่างทางถูกคนของเขาฮิวที่ปรึกษาคนสำคัญของอ้วนเสี้ยวดักสกัดได้
เขาฮิวจึงมั่นใจว่าในกองทัพของโจโฉนั้นกำลังขาดแคลนเสบียงอย่างมาก จึงเสนอแนะให้อ้วนเสี้ยวแบ่งกองทัพเป็น 2 ทาง ทางหนึ่งบุกโจมตีเมืองฮูโต๋อีกทางให้บุกกัวต๋อ ให้โจโฉไม่อาจรับศึกทั้ง 2 ด้าน เช่นนี้ก็จะเอาชัยต่อโจโฉได้
แต่อ้วนเสี้ยวกลับหัวเราะเยาะดูถูกหาว่าเป็นความคิดเหลวไหล และบอกว่านี่เป็นกลลวงของโจโฉที่หลอกให้เราหลงเชื่อต่างหาก
เขาฮิวรู้สึกผิดหวัง และเข้าใจว่าที่แท้อ้วนเสี้ยวเป็นคนเช่นไร จึงตัดสินใจแปรพักตร์ไปอยู่กับโจโฉ ซึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะตัวเขาเองก็เคยรู้จักมักคุ้นกับโจโฉมาก่อนบ้างแล้ว
เมื่อเขาฮิวไปอยู่กับโจโฉก็ได้บอกตำแหน่งกองเสบียงของอ้วนเสี้ยวให้โจโฉรู้ และเสนอแนะให้เผาทำลายเสีย ซึ่งโจโฉได้ทำตามส่งผลให้สามารถเอาชัยชนะในศึกกัวต๋อได้ และเมื่อโจโฉรุกคืบต่อไปยังเมืองกิจิ๋วซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของอ้วนเสี้ยว เขาฮิวก็เสนอแผนทดน้ำให้ท่วมเมืองทำให้โจโฉสามารถยึดฐานกำลังที่สำคัญที่สุดของอ้วนเสี้ยวซึ่งผลให้สามารถเอาชัยชนะเหนืออ้วนเสี้ยวได้อย่างเด็ดขาดจนตระกูลอ้วนไม่อาจกลับมาผงาดได้อีกในภายหลัง
จุดเริ่มของชัยชนะในภายหลังทั้งหมดนั้นมาจากคำแนะนำของซุนฮกที่ให้โจโฉตั้งยันทัพของอ้วนเสี้ยวที่กัวต๋อต่อไปจริงๆ
นี่คือความสามารถของซุนฮกในการมองการณ์ไกลและสถานการณ์โดยรวมของแผ่นดินที่เขามีอยู่ในตัว เขาสามารถอ่านข้าศึกที่อยู่ไกลนับพันลี้ได้ทะลุและยังมองถึงสภาพของแผ่นดินในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ซึ่งในบรรดาที่ปรึกษาจำนวนมากมายของโจโฉที่มีสติปัญญาล้ำเลิศนั้น มีซุนฮกเท่านั้นที่เปี่ยมด้วยความสามารถด้านนี้นอกจากนี้เขายังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจยึดมั่นในคุณธรรมและภักดีต่อโจโฉอย่างจริงใจ เขาจึงเป็นผู้ที่โจโฉให้ความไว้ใจมากที่สุดในบรรดาที่ปรึกษาทั้งหมด
เมื่อโจโฉปราบปรามภาคเหนือและกลางได้ราบคาบ เขาก็ตัดสินใจกรีฑททัพลงใต้เพื่อจะรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งแน่นอนว่าซุนฮกก็ยังคงทำหน้าที่รักษาการอยู่ที่ฮูโต๋เช่นเดิม
จนเมื่อโจโฉได้ถอนทัพกลับและได้กลับมาสร้างความมั่นคงให้ภาคกลางอีกครั้ง ซุนฮกก็มีส่วนช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง
และผลงานของเขาที่ทำมาก็เป็นการวางรากฐานในการสร้างวุยก๊กให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาในภายหลัง
ช่วงเวลานั้นเองโจโฉได้กลายเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือดินแดนทางเหนือและกลางอย่างแท้จริง ยศตำแหน่งที่โจโฉมีอยู่ตอนนั้นก็คือมหาอุปราชนั้นก็เป็นตำแหน่งสูงสุดที่เป็นรองเพียงฮ่องเต้เท่านั้น แต่อำนาจการทหารและการบริหารบ้านเมืองทั้งหมดก็อยู่ในมือเขาอย่างเต็มเปี่ยม
แต่โจโฉไม่ได้พอใจแค่นั้น ตัวเขาต้องการมากกว่านั้นอีก ซึ่งเหล่าขุนนางที่ปรึกษาหลายคนต่างก็รู้ดี เหล่าที่ปรึกษาที่มีตังเจียวเป็นหัวเรือใหญ่จึงได้เสนอให้โจโฉรับเครื่องอิสริยยศนววิธพระราชทาน เลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็นวุยก๋ง (สมเด็จเจ้าพระยาวุย) ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสูงสุดที่ผู้เป็นสามัญชนคนทั่วไปไม่มีทางจะได้รับ แม้แต่เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครได้รับมาก่อน
เรียกได้ว่าหากมีการเลื่อนตำแหน่งให้โจโฉครั้งต่อไปล่ะก็ เขาคงต้องเป็นฮ่องเต้ซะเอง
ซุนฮกไม่เห็นด้วยกับการนี้ เขาเห็นว่าวิญญูชนนั้นรักและนับถือผู้มีคุณธรรม หากโจโฉทำเช่นนี้จะเป็นการทำให้โจโฉก้าวล้ำเส้นเกินไปและจะไม่ใช่ขุนนางผู้ดีงามอีก จึงทักท้วงการรับตำแหน่งในครั้งนี้ของโจโฉ
จากกระทำในครั้งนี้ของเขาจะเห็นได้ว่า ซุนฮอกนั้นแท้จริงแล้วเป็นขุนนางผู้มีความยึดมั่นและจงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น เหตุที่เขารับใช้โจโฉ เพราะเห็นว่าโจโฉนั้นสามารถที่จะฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นได้ ซึ่งที่ผ่านมาโจโฉก็ได้ทำมาอย่างดีมาตลอด
ตามจริงแล้วเดิมทีตัวโจโฉนั้นคงไม่คิดจะได้ต้องการเป็นใหญ่เหนือฮ่องเต้แต่อย่างใด ดูจากการที่เขาไม่ยอมปลดฮ่องเต้ลงจากบัลลังก์และยังปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบเรียบร้อยอย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ช่วงแรกที่เขารับฮ่องเต้มาอยู่ด้วยนั้น เขากับฮ่องเต้ก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอด จะมาเกิดรอยร้าวฉานก็ครั้งที่ตังสินซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้แนะนำฮ่องเต้ให้สังหารโจโฉนั่นเอง
แต่พอคนเราอยู่ในอำนาจสูงสุดนานๆเข้ามันก็มีบ้างที่จะเกิดเปลี่ยนแปลง และเกิดลุ่มหลงในอำนาจนั้นขึ้นมา ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะชาติไหนๆล้วนมีตัวอย่างในเรื่องอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเตียวคังเอี๋ยนปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซ่งซึ่งเดิมทีก็ไม่คิดจะเป็นใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่แต่เมื่อมีคนสนับสนุนให้ขึ้นครองบัลลังก์แทนกษัตริย์องค์เดิมเขาก็ยอมทำตามหรือหลิวปังที่เดิมทีคิดเพียงขจัดภัยให้แผ่นดินด้วยการปราบราชวงศ์ฉินเท่านั้นแต่สุดท้ายก็เกิดความอยากในอำนาจและขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น
กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทุกคนในประวัติศาสตร์ล้วนแล้วแต่เป็นเช่นนี้กันทั้งนั้น แล้วทำไมโจโฉจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้
ซุนฮกนั้นทัดทานโจโฉเพราะไม่ต้องการเห็นโจโฉกลายเป็นขุนนางผู้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าชั่วช้าและคิดคดต่อแผ่นดิน
แต่การกระทำนั้นส่งผลร้ายต่อตัวซุนฮกเอง เมื่อโจโฉไม่พอใจอย่างมากและนับแต่นั้นซุนฮกก็เข้าหน้าโจโฉไม่ค่อยติด ทำให้เขาเสียใจมากจนเขาต้องแกล้งป่วยอยู่กับบ้านไม่ออกรับราชการ
ต่อมาเมื่อโจโฉกรีฑาทัพใหญ่ลงใต้เพื่อปราบซุนกวนอีกครั้ง โดยเขาสั่งให้ซุนฮกอยู่เฝ้าที่เมืองหลวง จากนั้นใช้ให้คนส่งขนมไปให้กล่องหนึ่ง เมื่อซุนฮกเปิดออกดูก็พบว่าภายในกล่องว่างเปล่าไม่มีสิ่งของใดเลย
ซุนฮกเข้าใจในเจตนาของโจโฉ ดังนั้นจึงดื่มยาพิษปลิดชีพตนเองตาย
เมื่อซุนฮกตายลง โจโฉก็เลี้ยงดูครอบครัวของซุนฮกอย่างดีและภายหลังก็แต่งตั้งให้ลูกชายของเขาเป็นขุนนาง
จุดจบของซุนฮกนั้นเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ผมไม่ทราบหรอกว่าที่ซุนฮกเลือกมารับใช้โจโฉนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะของแบบนี้บางครั้งมันก็ไม่มีเหตุผลที่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้
เหมือนอย่างที่ทำไมกวนอู เตียวหุยถึงภักดีต่อเล่าปี่แม้ว่าจะลำบากขนาดไหน และทำไมจิวยี่ถึงภักดีต่อตระกูลซุนจนวันตาย
ก็เช่นเดียวกัน ซุนฮกภักดีต่อโจโฉแม้โจโฉจะไม่ต้องการใช้เขาอีกแล้วเขาก็เลือกที่จะตาย โดยไม่คิดจะไปรับใช้เล่าปี่หรือซุนกวน
ซุนฮกนั้นเชื่อว่าโจโฉเป็นยอดคนผู้มีความสามารถที่จะสามารถฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นได้ แต่เจตนาของโจโฉมันมีมากว่านั้น และซุนฮกก็ไม่ยอมรับ
หากเขาไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของโจโฉ ไม่ว่าโจโฉจะทำอะไรยังไงก็ไม่สน แต่มุ่งจะทำงานและให้คำปรึกษาเพียงอย่างเดียว เขาก็คงจะไม่ต้องจบชีวิตลง
แต่ซุนฮกนั้นยึดหลักคุณธรรมและความภักดีตามแบบฉบับขงจื๊อ เขาจึงไม่อาจปล่อยไปเช่นนั้นได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า ด้วยความตายที่โจโฉหยิบยื่นให้กับเขา
ทุกคนอาจมองว่าเขาเลือกนายผิดและตายอย่างน่าอนาจ แต่บางทีนั่นอาจจะเป็นหนทางที่เจ้าตัวเลือกเองโดยไม่เสียใจก็ได้
เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลังไม่มีวันรู้เรื่องนี้อยู่ดี

Create Date : 10 เมษายน 2549 |
| |
|
Last Update : 10 เมษายน 2549 16:24:06 น. |
| |
Counter : 1934 Pageviews. |
| |
|
|
|
จิวยี่ กงจิ๋น - แม่ทัพเรืออันดับหนึ่ง
จิวยี่ กงจิ๋น
ฟ้าให้จิวยี่เกิดมาแล้วไยต้องให้ขงเบ้งเกิดมาด้วยเล่า เป็นประโยคที่โด่งดังมากที่สุดอันหนึ่งในเรื่องสามก๊ก ที่บุรุษผู้หนึ่งได้พูดเอาไว้ก่อนตาย ชายคนนี้เป็นยอดแม่ทัพเรืออัจฉริยะอันดับหนึ่งแห่งยุคสามก๊ก อีกทั้งยังเป็นบุรุษรูปงามอีกด้วย
เขามีชื่อว่า จิวยี่ กงจิ๋น แม่ทัพใหญ่หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งรัฐหวูหรือที่คนไทยรู้จักกันว่า ง่อก๊ก
เรื่องราวของเขานั้นได้รับการกล่าวขวัญถึงและเป็นที่รู้จักในหมู่แฟนหนังสือสามก๊กในฐานะของยอดอัจฉริยะผู้เป็นคู่ต่อสู้ที่ทัดเทียมกันกับมังกรอัจฉริยะอย่างขงเบ้ง ถึงแม้เขาจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในท้ายที่สุดก็ตาม
ในสามก๊กของหลอก้วนจงนั้นได้สร้างภาพพจน์ของจิวยี่ว่าเป็นคนใจแคบและขี้อิจฉาขงเบ้งว่ามีสติปัญญาเหนือกว่าตน และสุดท้ายก็ต้องกระอักเลือดตายด้วยความเจ็บแค้น
แต่ตัวตนที่แท้ของเขานั้นเป็นเช่นนั้นจริงหรือ
เขาเป็นขุนศึกหนุ่มที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักของกังตั๋งตั้งแต่สมัยที่ซุนเซ็กยังมีชีวิตอยู่ด้วยวัยเพียง 24 ปี และก็เป็นเสาหลักให้ตระกูลซุนมาตลอดจนถึงในยุคของซุนกวน และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากทั้งซุนเซ็กและซุนกวนอย่างมาก
ตัวเขาเองนั้นตลอดชั่วชีวิตก็จงรักภักดีต่อตระกูลซุนอย่างจริงใจและเหล่าแม่ทัพนายทหารที่มีอายุมากกว่าเขานั้นต่างก็ยอมที่จะอยู่ใต้บัญชาการของเขาโดยไม่เกี่ยงงอน
คนแบบนี้หรือที่เป็นจะคนใจคับแคบอย่างที่ในนิยายได้ว่าไว้ ถ้าเช่นนั้นคงต้องมาดูเรื่องราวของเขา
ประวัติโดยย่อ
จิวยี่ ชื่อรองกงจิ๋น เกิดมาในครอบครัวของผู้ดีมีตระกูล ปู่ของเขาเคยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะที่บิดาของเขานั้นเคยเป็นผู้ว่าราชการของนครหลวงลั่วหยาง
ต่อมาเกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลือรวมทั้งเกิดการจลาจลขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ครอบครัวของจิวยี่จำต้องอพยพลงมายังภาคใต้ ดังนั้นเขาจึงเป็นคนจึงมิใช่คนใต้โดยกำเนิดแต่เป็นคนเหนือที่ไปได้ดีที่ภาคใต้โดยกลายเป็นแม่ทัพเรือที่เก่งที่สุดของยุคนั้นไป
นั่นเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าจริงๆแล้วคนจีนทางตอนเหนือไม่ได้ไร้ความสามารถทางการเดินเรือ นั่นเพราะทั่วประเทศจีนนั้นเต็มไปด้วยแม่น้ำใหญ่น้อยมากมาย ซึ่งการเดินทางนั้นจำเป็นต้องใช้เรือ ทำให้ชาวจีนทั่วทุกภูมิภาคเป็นผู้ที่ชำนาญในการเดินเรืออย่างมาก ตัวอย่างนี้ก็ดูได้จากจูล่งซึ่งเป็นชาวเหนือเช่นกันแต่ก็มีความเชี่ยวชาญในการยิงธนูขณะที่อยู่บนเรือ
จิวยี่เมื่อได้มาอยู่ที่ภาคใต้ก็ได้มีโอกาสไปอยู่ที่กังตั๋งซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของซุนเกี๋ยนผู้นำตระกูลซุน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าแห่งพิชัยสงครามอย่างซุนหวู่
ซุนเกี๋ยนนั้นเป็นยอดนักรบผู้ห้าวหาญที่ได้สร้างชื่อมาจากการปราบปรามพวกโจรโพกผ้าเหลือง เขามีลูกอยู่ 5 คน โดยคนโตที่ชื่อว่าซุนเซ็กนั้นเป็นเด็กหนุ่มที่มีความห้าวหาญไม่แพ้ผู้เป็นพ่อ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อเวลาที่ซุนเกี๋ยนออกรบนั้น เขามักจะพาลูกๆของเขาๆไปในสนามรบด้วยเสมอ นั่นทำให้ลูกของเขานั้นเป็นนักรบที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อย
ตัวจิวยี่ในวัยเด็กนั้นได้รู้จักสนิทสนมกับซุนเซ็กซึ่งแก่กว่าตนแค่เดือนเดียว และไม่ช้าพวกเขาทั้ง 2 ก็ได้กลายเป็นเพื่อนตายที่ดีต่อกัน
ซุนเซ็กนั้นฉายแววความเป็นนักรบผู้กล้าหาญตั้งแต่ยังหนุ่ม ในขณะที่จิวยี่ก็ได้แสดงอัจฉริยะภาพออกมาตั้งแต่วัยหนุ่มเช่นกัน
ปีค.ศ.189 เกิดกองทัพพันธมิตรต่อต้านตั๋งโต๊ะขึ้น โดยมีขุนศึกจากทั่วแผ่นดินถึง 18 หัวเมืองเข้าร่วมด้วย ซุนเกี๋ยนในฐานะเจ้าเมืองเตียงสาก็เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมในศึกครั้งนี้
ในการศึกครั้งนี้คาดว่าจิวยี่คงจะได้เข้าร่วมในกองทัพของซุนเกี๋ยนและได้หาประสบการณ์ในการรบเป็นครั้งแรกในช่วงนี้เอง
เมื่อเสร็จศึกแล้ว ซุนเกี๋ยนได้มีบารมีที่แกร่งกล้าขึ้นมามาก แต่จากนั้น 1 ปีต่อมาเขาก็ถูกทหารของเล่าเปียวและหองจอซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลแถบเกงจิ๋ว ซึ่งเป็นพื้นที่แถบตอนใต้กึ่งกลางของประเทศลอบสังหารโดยการใช้พลธนูเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
นั่นทำให้ทายาทของซุนเกี๋ยนอย่างซุนเซ็กซึ่งยังเป็นเพียงเด็กหนุ่มวัยเพียง 16 ปี ต้องขึ้นมาคุมทหารแทนบิดาและสืบทอดชื่อของตระกูลซุน พร้อมทั้งประกาศล้างแค้นเล่าเปียวและมุ่งมั่นที่จะยึดเอาดินแดนเกงจิ๋วเป็นของตนให้ได้
แต่ช่วงนั้นซุนเซ็กเองยังอายุน้อย เขาจำต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจคนอื่นๆเช่นอ้วนสุด และกลายเป็นแม่ทัพให้กับอ้วนสุดอยู่ระยะเวลาหนึ่ง แต่เขาก็ถูกอ้วนสุดที่ไม่ชอบพ่อของเขานั้นคอยกีดกันอยู่ตลอด ซึ่งเขาไม่มีทางเลือก ต้องทนอยู่เป็นเวลากว่า 2 ปี โดยในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจิวยี่จะแยกตัวออกไปเพื่อออกหาประสบการณ์ เพื่อที่จะรอเวลาให้ซุนเซ็กผู้เป็นเพื่อนรักผงาดขึ้นมาแล้วค่อยกลับมาสมทบด้วยในภายหลัง
ปีค.ศ.193 ซุนเซ็กได้ตัดสินใจมอบตราหยกราชสัญจกรที่พ่อของเขาเคยขุดพบโดยบังเอิญเมื่อครั้งที่ไปฟื้นฟูเมืองลั่วหยางเมื่อ 3 ปีก่อน มอบให้กับอ้วนสุดโดยแลกกับกำลังทหารและเหล่าแม่ทัพเช่น อุยกาย ฮันต๋ง เทียเภาที่เคยเป็นคนของพ่อตนเองกลับคืนมา โดยอ้างว่าจะนำไปช่วยเหลือน้าของเขาที่กำลังถูกเล่าอิ้วซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลทางตอนใต้รุกไล่อยู่
อ้วนสุดนั้นเป็นคนละโมบและโฉดเขลา จึงเห็นว่าตราหยกนั้นมีค่ากว่ากำลังทหารเพียงไม่กี่พันจึงได้ตกลงไป
จากนั้นซุนเซ็กก็นำกำลังทหารที่ได้มายกทัพลงใต้และในเวลาไม่นานก็สามารถทำลายล้างกลุ่มอิทธิพลที่ปกครองดินแดนทางใต้ได้จนหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าพวกชาวบ้านต่างเลื่อมใสศรัทธากองทหารของตระกูลซุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และซุนเซ็กนั้นได้สั่งทหารอย่างเฉียบขาดว่าเวลาเดินทัพผ่านเมืองหรือหมู่บ้านไหนก็ห้ามพวกทหารทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าทัพของซุนเซ็กจะผ่านไปทางไหน พวกชาวบ้านก็จะให้ความเคารพและยอมให้ผ่านไปได้เมื่อนั้น นอกจากนี้ยังได้กองทหารหรือพวกชาวบ้านที่มาขออาสาเป็นทหารเพิ่มมากขึ้นตามทุกที่ผ่านไป จนทหารที่มีเพียงไม่กี่พันคนในตอนแรกสุดเพิ่มมากขึ้นกลายเป็นหลายหมื่นคนในเวลาไม่นาน อันนี้ต้องยกให้ความมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและกุศโลบายของซุนเซ็กจริงๆ
จากนั้นซุนเซ็กก็ได้สร้างฐานอำนาจและขยายดินแดนแถบตอนใต้ไปกว้างขวางและมั่นคง โดยซุนเซ็กนั้นได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของดินแดนแถบแม่น้ำฉางเจียนย่านตะวันออกหรือที่รู้จักกันว่า กังตั๋ง ในเวลาต่อมา โดยเมืองสำคัญของดินแดนนี้ที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือ นานกิง
ส่วนจิวยี่ผู้เป็นเพื่อนรักของซุนเซ็กนั้น ในสามก๊กไม่ได้มีการพูดถึงในช่วงนี้ จึงเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีบทบาทอะไรนักและดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้อยู่ที่กังตั๋งด้วย
จากนั้นสองปีต่อมา อ้วนสุดที่ได้ตราหยกมาจากซุนเซ็กก็ตั้งตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แต่ก็ถูกโจโฉตีแตกพ่ายและถอยร่นลงมาทางตอนใต้ จึงคิดจะผูกมิตรกับซุนเซ็กอีกครั้งโดยการแต่งตั้งให้ จิวยี่และโลซกเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตวีฉาวและตงจวุ้น แต่พวกเขารู้ดีว่าอ้วนสุดเป็นคนเช่นไร ดังนั้นจึงได้อพยพมาอยู่กับซุนเซ็กที่กังตั๋ง
จากนั้นซุนเซ็ก จิวยี่ และโลซกก็ได้กลายเป็นสหายสนิทที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและมีส่วนช่วยทำให้กังตั๋งกลายเป็นดินแดนที่แข็งแกร่งมั่นคงดั่งภูผา
เกี่ยวกับโลซกนั้น ต้องเล่าย้อนกลับไปว่าจิวยี่ได้ไปกับพบเขาโดยบังเอิญ
มีเกร็ดเล่าว่า เมื่อครั้งที่ซุนเซ็กกำลังเดือดร้อนเรื่องเงินทองสำหรับการเตรียมทัพและจัดหาเสบียงนั้น จิวยี่ได้อาสาว่าจะหาทุนมาให้ เพราะเขาได้ยินชื่อของโลซกว่าเป็นเศรษฐีใจบุญที่ช่วยเหลือผู้คน
จิวยี่ได้เดินทางไปหาโลซกที่บ้านและอาศัยชื่อของซุนเซ็กเพื่อขอยืมเงินจำนวนหนึ่งในการสร้างกองทัพ
แต่ชื่อของซุนเซ็กในเวลานั้นยังไม่เป็นที่โด่งดังและได้รับการยอมรับมากนัก เพราะตอนนั้นเขายังไม่ได้มีดินแดนและกองทัพที่ใหญ่โตเป็นของตนเอง ซึ่งจิวยี่นั้นก็ได้ทำใจล่วงหน้าไว้แล้วว่าคงไม่อาจจะขอยืมได้ง่ายๆ
แต่ผิดคาด โลซกกลับยอมให้ยืมโดยง่ายและบอกว่าตระกูลซุนนั้นเป็นตระกูลของนักรบที่มีคุณธรรมตัวเขาเองก็เลื่อมใสมานานจึงยอมช่วยเหลือและยินยอมมอบทรัพย์สินเงินทองและเสบียงที่มีจำนวนมากยิ่งกว่าที่จิวยี่ได้ร้องขอซะอีก
ซึ่งนี่ได้ทำเอาจิวยี่ถึงกับนิ่งอึ้งไป โลซกจึงพูดว่าไม่พอหรือ ว่าแล้วก็จะยกให้มากกว่าเดิมอีก
จิวยี่จึงรู้ว่าโลซกเป็นบุรุษใจกว้างและมีความซื่อตรง พวกเขาจึงคบหากันมานับแต่นั้นและภายหลังเมื่อซุนเซ็กตายและซุนกวนได้ขึ้นมาครองอำนาจสืบต่อ จิวยี่ก็ได้แนะนำโลซกให้แก่ซุนกวน และได้กลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้ง่อก๊กของซุนกวนกลายเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาในภายหลัง
จิวยี่เมื่อได้มาอยู่กับซุนเซ็กแบบเต็มตัวแล้ว ก็ได้เพิ่มความสัมพันธ์กับซุนเซ็กให้แนบแน่นขึ้นไปอีก ด้วยการกลายเป็นคู่เขยของซุนเซ็ก โดยเขาได้แต่งงานกับนางเสียวเกี้ยว น้องสาวคนสวยของนางไต้เกี้ยวภรรยาคนสวยของซุนเซ็ก นั่นเท่ากับทั้งสองก็ได้กลายเป็นคู่เขยกัน
เกี่ยวพี่น้อง สองเกี้ยว นั้น ทั้งคู่เป็นสาวงามแห่งเมืองกังตั๋งและเป็นลูกสาวของผู้เฒ่าเกียวก๊กโล ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของดินแดนกังตั๋ง ซึ่งนับเป็นโชคของผู้เฒ่าจริงๆที่นอกจากจะมีลูกสาวที่สวยจนลือเลื่องไปทั่วแผ่นดินถึง 2 คนแล้วยังได้ลูกเขยทั้ง 2 คนที่เป็นถึงบุรุษหมายเลขหนึ่งและสองของกังตั๋งอีกด้วย แถมจิวยี่ยังได้ชื่อว่าเป็นบุรุษรูปงามคนหนึ่งของยุคนั้นอีกด้วย
จากนั้นจิวยี่ก็ได้รับความไว้ใจจากซุนเซ็กอย่างเต็มที่และได้ตั้งให้เขาเป็นผู้คุมกองทัพเรือของกังตั๋งและเขาก็ได้นำเอากองทัพเรือขยายเป็นกองเรือพาณิชย์ราชนาวีและออกแล่นไปถึงทะเลบูรพา และออกค้าขายไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิกรวมถึงเกาะไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงนี้จิวยี่เองคงได้เห็นศิลปะวิทยาการและความรู้อะไรต่างๆมามากมายในการเดินเรือ ที่จะทำให้เขากลายเป็นแม่ทัพเรืออันดับหนึ่งแห่งยุคในภายหลัง
ปีค.ศ.200 ซุนเซ็กถูกลอบสังหารโดยทหารเลวแค่ 3 คนในขณะที่ออกล่าสัตว์และได้รับแผลจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อรู้ว่าไม่รอดแน่จึงเรียกตัวซุนกวนให้มารับตำแหน่งสือต่อรวมถึงเรียกตัวจิวยี่และเตียวเจียวผู้เป็นขุนนางคนสำคัญมาและสั่งเสียแก่ซุนกวนไว้ว่า
เรื่องภายในให้ปรึกษาเตียวเจียว เรื่องภายนอกให้ปรึกษาจิวยี่
จากนั้นนักรบหนุ่มผู้ห้าวหาญผู้พิชิตดินแดนภาคใต้จนราบคาบก็ต้องจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 25 ปี (แต่บางฉบับบอกว่า 27 ปี)
จิวยี่ที่รับหน้าที่เป็นเสาหลักของกังตั๋งก็ได้คอยช่วยเหลือซุนกวนในด้านการทหารเพื่อปกป้องศัตรูผู้รุกรานจากภายนอกร่วมกับเตียวเจียวที่ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง
ซุนกวนเองนั้นก็ให้ความเคารพยกย่องจิวยี่เป็นอันมาก ซึ่งว่ากันว่าถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทหารแล้ว หากจิวยี่เห็นเช่นไร ซุนกวนก็ว่าตามนั้นและจิวยี่ก็ให้ความภักดีต่อซุนกวนดุจเดียวกับที่เขาให้ต่อซุนเซ็กไม่ผิดเพี้ยน
ในเวลาเดียวกันนั้นโจโฉได้รบชนะอ้วนเสี้ยว ทำให้เขาสามารถรวบรวมประเทศในตอนเหนือและภาคกลางได้สำเร็จ และกำลังตระเตรียมกองทัพเพื่อยกพลลงปราบปรามภาคใต้
ตอนนั้นทางตอนใต้ของประเทศจีนคือตั้งแต่เขตแม่น้ำแยงซีลงมานั้น ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดมีอยู่ 2 คน นั่นคือ เล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋วซึ่งปกครองดินแดนในมณฑลเกงจิ๋วทั้งหมด อีกคนคือซุนกวน เจ้าเมืองกังตั๋ง ซึ่งครอบครองดินแดนแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจนจรดฝั่งทะเล
โจโฉนั้นเล็งที่จะยึดเกงจิ๋วของเล่าเปียวเป็นอันดับแรกเพราะที่นี่เป็นเส้นทางสำคัญที่จะใช้ในการเดินทัพลงสู่ภาคใต้ของประเทศ และเป้าหมายต่อมาก็คือกังตั๋งของซุนกวน ซึ่งถือได้ว่าเป็นดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และยังมีเศรษฐกิจที่มั่นคงเพราะมีการค้าขายทางทะเลอีกด้วย
ตรงนี้ขอเล่าแบบตัดบทเล็กน้อย
นั่นคือเมื่อโจโฉสามารถยึดเมืองเกงจิ๋วได้เพราะเล่าจ๋องทายาทของเล่าเปียวซึ่งเป็นผู้ครองเมืองคนต่อมายอมสวามิภักดิ์แล้ว เป้าหมายต่อไปของโจโฉที่กำลังฮึกเหิมในชัยชนะนั่นก็คือการบุกยึดกังตั๋งของซุนกวน
โดยโจโฉได้ส่งจดหมายให้ซุนกวน มีความหมายว่าตนกำลังจะนำทัพร้อยหมื่นบุกมา ให้ยอมสวามิภักดิ์ซะโดยดี ซุนกวนร้อนใจมาก จึงรีบเรียกประชุมเหลาขุนนางโดยด่วนเพื่อปรึกษาหารือว่าจะทำเช่นไร
แล้วตอนนี้เองที่ขงเบ้งซึ่งเป็นกุนซือของเล่าปี่ได้เดินทางมาหาซุนกวนเพื่อที่จะขอร้องให้ซุนกวนร่วมเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่เพื่อรับศึกพอดี
ที่เล่าปี่มาขอเป็นพันธมิตรก็เพราะก่อนหน้านี้เล่าปี่ได้อาศัยอยู่กับเล่าเปียว โดยรับหน้าที่เจ้าเมืองซินเอี๋ยเพื่อคอยต้านโจโฉ แต่พอเล่าเปียวตายลงเล่าจ๋องกลับยอมสวามิภักดิ์ เล่าปี่ซึ่งไม่มีทางเลือกจึงต้องถอยหนีตายลงมาจนถึงเมืองแฮเค้าของเล่ากี๋ ผู้เป็นบุตรคนโตของเล่าเปียวแต่ไม่ได้รับสืบทอดเกงจิ๋ว เพราะถูกมารดาของเล่าจ๋องกีดกัน
เล่าปี่กับโจโฉนั้นยังไงก็อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ไม่คนใดคนหนึ่งจะต้องตายไป ดังนั้นแม้ว่าเล่าปี่จะมีกำลังทหารน้อยกว่ามากแค่ไหน ก็ยังคงคิดที่จะสู้ไม่ถอย
ด้วยเหตุนี้จึงมาขอเป็นพันธมิตรกับซุนกวนที่มีกองทหารที่กล้าแข็งให้ช่วยเหลือ และเล่าปี่ที่จับมือกับซุนกวนก็ได้ร่วมกันเป็นพันธมิตรสู้ศึกกับโจโฉ โดยเปิดศึกกันที่ผาแดง(ผาเซ็กเพ็ก) และสงครามครั้งนี้ก็ได้กลายเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 ของเรื่องสามก๊กที่ผลหลังจากนั้นได้ทำให้ขั้วอำนาจของประเทศจีนในเวลานั้นได้แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ และกลายเป็นสามก๊กในภายหลัง
สงครามครั้งนี้ถูกเรียกกันว่า สงครามเซ็กเพ็ก
เกี่ยวกับเรื่องราวนับจากตรงนี้ไปจนจบศึกเซ็กเพ็กนั้น ในสามก๊กของหลอก้วนจงได้บรรยายเอาไว้อย่างน่าตื่นเต้น และได้ทำให้ขงเบ้งกลายเป็นตัวเอกไป ทั้งที่ตามความเป็นจริงในประวัติศาสตร์แล้วผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการเตรียมทัพเพื่อสู้กับโจโฉนั้นก็คือจิวยี่
แต่เพราะในนิยายสามก๊กของหลอก้วนจงนั้นต้องการเชิดชูฝ่ายเล่าปี่ ขงเบ้งจึงได้รับบทเด่นตรงนี้ไป
ในนิยายนั้น กล่าวถึงตอนที่ขงเบ้งเดินทางมาถึงกังตั๋งและเข้าพบซุนกวนไว้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันทีเดียว โดยบอกว่าเหล่าขุนนางของซุนกวนนั้นต่างมีความเห็นในเรืองการศึกแยกเป็น 2 ฝ่าย นั่นคือฝ่ายบุ๋นที่นำโดยเตียวเจียวเสนอให้ยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ โดยให้เหตุผลว่ากองทัพของโจโฉมีจำนวนมหาศาลถึงรบไปก็มีแต่จะแพ้และสร้างความเดือดร้อนแก่ให้ราษฎรชาวกังตั๋ง ในขณะที่ฝ่ายบู๋ซึ่งนำโดยพวกอุยกายและเทียเภาเสนอให้รบ โดยให้เหตุผลว่ากังตั๋งแม้จะมีทหารน้อยกว่า แต่ก็มีแม่น้ำแยงซีไหลผ่านทำให้เป็นชัยภูมิที่มั่นคงหากต้องเกิดการรบย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบและเหล่าแม่ทัพนายกองของกังตั๋งทุกคนต่างก็พร้อมที่จะสู้ยอมตายให้ซุนกวน
ซุนกวนยังคงลังเลใจ เพราะตัวเขายังไม่เคยได้มีโอกาสในการเป็นแม่ทัพใหญ่นำทัพออกศึกจริงแบบนี้มาก่อน จึงปรึกษากับโลซกผู้เป็นขุนนางคนสนิท
โลซกนั้นเดิมทีเป็นตัวตั้งตัวตีในการให้ซุนกวนผูกเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ เขาเป็นคนที่คอยเจรจาและติดต่อกับขงเบ้งให้มาที่กังตั๋ง และเมื่อพันธมิตรได้เกิดขึ้นแล้ว ในภายหลังก็เป็นเขานี่แหละที่พยายามอย่างสุดกำลังเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายเอาไว้ ดังนั้นถ้าจะพูดว่าเขากับขงเบ้งเป็นผู้ที่ให้กำเนิดพันธมิตรเล่า-ซุนก็ไม่เกินเลยไปนัก
โลซกแม้จะเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น แต่เขาเป็นผู้ที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ เขาเห็นว่าซุนกวนสมควรจะเปิดศึกกับโจโฉ โดยให้เหตุผลสำคัญคือ หากว่าซุนกวนยอมสวามิภักดิ์นั้น ซุนกวนก็จะต้องถูกริบรอนอำนาจและยศศักดิ์รวมถึงอาจถูกส่งไปอยู่ในแดนไกล หมดโอกาสที่จะตั้งตัวอีกตลอดไป แต่กับขุนนางคนอื่นๆหรือตัวเขานั้น ยังไงซะก็คงจะได้เข้ารับราชการเหมือนเดิมในสังกัดโจโฉ เพียงแต่อาจจะได้ยศศักดิ์ที่น้อยลงเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากคิดถึงตัวซุนกวนแล้ว ไม่ควรสวามิภักดิ์โดยเด็ดขาด
ซุนกวนจึงคิดได้และตัดสินใจยอมรับเป็นพันธมิตรพร้อมทั้งยอมพบและพูดคุยกับขงเบ้งที่เป็นทูตของเล่าปี่
แต่กระนั้นก็ยังคงมีความลังเลอยู่บ้างนั่นเพราะว่าเขายังไม่ได้ปรึกษากับจิวยี่ซึ่งในขณะนั้นตัวจิวยี่เองกำลังฝึกทหารเรืออยู่ที่กวนหยง ซุนกวนจึงได้ส่งสารเรียกตัวจิยี่กลับมาที่กังตั๋งด่วนเพื่อปรึกษาเรื่องนี้
จิวยี่เมื่อกลับมานั้น ด้วยการแนะนำของโลซกจึงได้พบกับขงเบ้งและพูดคุยกันในเรื่องการเปิดศึกกับโจโฉ
ในสามก๊กฉบับนิยายของหลอก้วนจงนั้นได้บรรยายไว้ว่า จิวยี่ไม่คิดจะเปิดศึกกับโจโฉและจับมือเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่เพราะเขาคิดว่าการที่จะเปิดศึกกับโจโฉที่มีทหารนับล้านนั้นเป็นการเสี่ยงเกินไป และโจโฉนั้นสามารถยึดครองแดนตงง้วน(ภาคกลาง)ได้หมด ทำให้มีอิทธิพลกล้าแข็ง ไม่ควรที่จะเป็นศัตรูด้วย
แต่ด้วยคารมของขงเบ้งที่ได้ยั่วยุจิวยี่โดยบอกว่าเหตุที่โจโฉนำทัพบุกลงใต้นั้น นอกเหนือจากต้องการรวบรวมประเทศแล้วยังมีจุดหมายอยู่ที่ นางสองเกี้ยว สองสาวงามผู้เลื่องลือไปทั่วแผ่นดินผู้เป็นภรรยาและพี่สะใภ้ของจิวยี่อีกด้วย
โดยขงเบ้งได้อ้างว่าโจโฉนั้นได้สร้างปราสาทนกยูงสัมฤทธิ์ขึ้น ซึ่งตัวเขาตั้งใจไว้เป็นที่หาความสำราญโดยการนำสาวงามทั่วแผ่นดินไปไว้ในปราสาท และให้โจสิดผู้เป็นลูกชายคนที่ 4 ที่มีความเชี่ยวชาญในการแต่งโคลงกลอน ได้แต่งโคลงชื่นชมปราสาทซึ่งมีใจควาในทำนองที่ว่าต้องการนางสองเกี้ยวไปไว้ชื่นชม
ด้วยเหตุนี้เองจิวยี่จึงโกรธจัด ประกาศไม่อยู่ร่วมโลกกับโจโฉและจับมือกับขงเบ้งร่วมกันต้านศึกนี้
แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้มีบันทึกในประวัติศาสตร์จริง ที่สำคัญปราสาทนกยูงสัมฤทธิ์นั้นอันที่จริงแล้วสร้างขึ้นในปีค.ศ.210 ซึ่งเป็น 2 ปีหลังจากที่ศึกเซ็กเพ็กจบลงแล้วต่างหาก
ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ขงเบ้งจะนำเอากลอนบทนี้มาใช้ยั่ยยุจิวยี่เพื่อให้เปิดศึก
ด้วยเหตุนี้จึงฟันธงได้เลยว่าเหตุที่จิวยี่ตัดสินใจเปิดศึกกับโจโฉนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ขงเบ้งมายั่ยุแม้แต่น้อย แต่ตัวจิวยี่ได้พิจารณาหลายๆด้านแล้วพบว่าสามารถสู้ได้ต่างหาก
นี่จึงเป็นสิ่งหลอก้วนจงแต่งเพิ่มขึ้นมาเพื่อยกให้ขงเบ้งมีความโดดเด่นขึ้นและให้เรื่องราวมีความน่าตื่นเต้นขึ้นตามแบบฉบับของนิยายเท่านั้นเอง ซึ่งอันที่จริงแล้วจิวยี่พิจารณาแล้วว่ามีโอกาสชนะศึก ด้วยปัจจัยเหล่านี้
-กังตั๋งมีชัยภูมิที่ดีเนื่องจากมีแม่น้ำหลายหลายไหลผ่าน เหมาะแก่การตั้งรับ ไม่ว่าข้าศึกจะมีกองทัพมากมายแค่ไหนก็ไม่อาจตีแตกได้ง่ายๆ -กังตั๋งมีความอุดมสมบูรณ์ในและมีเศรษฐกิจมั่นคง ทำให้กำลังทหารเข้มแข็งตามไปด้วย
-เหล่าแม่ทัพนายกองและทหารใหญ่น้อยของกังตั๋งล้วนแต่มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะเอาชนะศึกโดยไม่กลัวความตาย
-โจโฉนั้นเพิ่งจะได้ชัยชนะในการปราบปรามภาคเหนือทำให้เกิดความกระหยิ่มยิ้มย่องในชัยชนะมากเกินไป และเกิดความประมาทขึ้นได้
-ทหารส่วนใหญ่ของโจโฉที่ใช้ในการตีภาคใต้ล้วนแต่เป็นทหารที่รวบเอามาจากทัพที่พ่ายแพ้ของอ้วนเสี้ยวและทหารเกงจิ๋วที่มาสวามิภักดิ์ ด้านกำลังขวัญจึงอาจจะมีไม่มากนัก
-ช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้นตามแถบหัวเมืองภาคใต้พอดี และหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดโรคระบาดขึ้นในทัพของโจโฉจริงๆ ทำให้ทหารล้มตายไปมากมาย
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้จิวยี่จึดคิดว่านี่เป็นโอกาสเหมาะที่สุดที่จะเอาชนะโจโฉได้ จึงเสนอให้ซุนกวนตัดสินใจรบกับโจโฉทันที
ในที่ประชุมขุนนางซุนกวนมอบกระบี่อาญาสิทธิ์ให้กับจิวยี่และมอบตำแหน่งแม่ทัพใหญ่เพื่อให้จิวยี่มีอำนาจการตัดสินใจเต็มที่ ในการทำศึก พร้อมทั้งประกาศว่าหากใครยังไม่เห็นด้วยในการเปิดศึก นั่นทำให้พวกที่ไม่เห็นด้วยต่างหงอไปตามๆกันและยังเป็นการทำให้แม่ทัพนายกองของกังตั๋งสามารถรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันได้
ตรงนี้มีเกร็ดน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับที่จิวยี่ได้ตำแหน่งบัญชาการสูงสุดในกองทัพนั้น ทำให้แม่ทัพอาวุโสอย่างเทียเภาซึ่งรับใช้ตระกูลซุนมาตั้งแต่สมัยของซุนเกี๋ยนนั้นไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะจิวยี่มีอายุแค่ 34 ปี แต่กลับมีอำนาจบัญชาการสูงสุดในกังตั๋ง เรียกได้ว่าภายในกังตั๋งนี้จิวยี่มีอำนาจเป็นรองอยู่แค่คนเดียวนั่นคือซุนกวน
เทียเภาจึงน้อยใจและขังตัวเองอยู่ในที่พักไม่ยอมเข้าประชุมทัพด้วย เมื่อจิวยี่รู้เข้าจึงไปาหเทียเภาถึงที่พักและแสดงความนอบน้อมจนเทียเภาเกิดความละอายและรีบขอขมาต่อจิวยี่และจับมือกันเพื่อรับศึกกับโจโฉอย่างเต็มกำลัง
เกร็ดตรงนี้เป็นการบอกให้รู้ว่าจิวยี่นั้นไม่ใช่คนที่มีใจคอคับแคบเหมือนอย่างในนิยายได้ว่าไว้ แต่จริงๆแล้วเขาเป็นคนที่มีจิตใจกว้างขวางมาก ไม่เช่นนั้นคงจะไม่สามารถเอาชนะใจเหล่าแม่ทัพของกังตั๋งที่เต็มไปด้วยเหล่าผู้อาวุโสกว่าเขาได้
ในนิยายนั้นได้บอกว่าจิวยี่มีความอิจฉาในตัวขงเบ้งที่เป็นผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ จึงไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะตัวจิวยี่ไม่มีความจำเป็นต้องไปอิจฉาอะไรในตัวขงเบ้งเลย
จิวยี่นั้นเป็นถึงบุรุษหมายเลข 2 ของกังตั๋งซึ่งเป็นดินแดนที่มีอาณาเขตและกำลังทหารที่เข้มแข็งและยังคุมทหารนับหมื่น ในขณะที่ขงเบ้งนั้นเป็นเพียงที่ปรึกษาของเล่าปี่ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีเมืองเป็นของตัวเองเลยด้วยซ้ำ
จิวยี่ได้ภรรยาคือนางเสียวเกี้ยว ซึ่งเป็นถึงสาวงามเลื่องชื่อแห่งแผ่นดิน แต่ภรรยาของขงเบ้งคือนางหวังเย่อิงนั้นได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่ขี้เหร่มากคนหนึ่งเพียงแต่ที่ขงเบ้งเลือกนางเป็นภรรยานั้นเพราะนางมีความรอบรู้ในศาสตร์ลึกลับหลายแขนง
ไม่มีเหตุผลใดที่จิวยี่จะต้องไปอิจฉาขงเบ้งเลยแม้แต่น้อย
ถ้าจะบอกว่าจิวยี่ไม่ค่อยไว้วางใจในตัวขงเบ้งกับเล่าปี่ และระแวงว่าท้องสองคนจะกลายเป็นศัตรูที่ร้ายกาจในภายหลัง นั่นต่างหากถึงจะสมเหตุสมผลมากกว่า ทำให้การกระทำและนโยบายใดๆของซุนกวนและโลซกที่ส่อว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายเล่าปี่ เขาจะไม่ค่อยยินยอมนัก ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง มันก็เป็นเช่นนี้จริงๆ
เรื่องการศึกเซ็กเพ็ก ในฉบับนิยายนั้นได้บรรยายไว้อย่างน่าตื่นเต้นและน่าติดตามทั้งช่วงเตรียมทัพ การวางแผน วางกลศึก ไปจนถึงช่วงที่เปิดฉากและสงครามจบลง มีเรื่องราวพิศดารหักมุม วางแผนซ้อนแผน และเชือดเฉือนกันอย่างดุเดือด โดยมีขงเบ้งเป็นตัวเอกที่มีบทเด่นที่สุด
แต่เรื่องจริงในประวัติศาสตร์แล้วคนที่มีความสำคัญและมีบทบาทที่โดดเด่นที่สุดก็คือจิวยี่
ในฉบับนิยายนั้นเล่าว่าจิวยี่ได้ขอคำแนะนำจากขงเบ้งในการที่จะทำลายกองทัพเรือของโจโฉ โดยขงเบ้งแนะไปว่าให้ใช้ไฟในการทำลาย แต่ปัญหาคือการจะใช้ไฟเผาทำลายทัพเรือนั้นจำต้องทำให้เรือแต่ละลำถูกล่ามโซ่ติดไว้ แล้วจะมีหนทางใดที่จะทำให้โจโฉใช้โซ่ผูกกองทัพเรือของตัวเองแบบนั้น
ต้องหาไส้ศึกสักคนให้เข้าไปทัพของโจโฉ แล้วให้เขาเสนอความคิดนี้กับโจโฉ แต่มีเงื่อนไขว่าคนๆนั้นต้องเป็นบุคคลที่มีความสติปัญญาสูงและต้องมีชื่อเสียงโด่งดัง ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับใช้ผู้มีอำนาจคนใดมาก่อน เพื่อจะได้ทำให้โจโฉไม่คิดระแวงสงสัย
ขงเบ้งจึงเสนอชื่อของบังทอง ผู้มีฉายาว่า ลูกหงส์ ซึ่งขงเบ้งยอมรับนับถือในสติปัญญาว่ามีไม่แพ้ตนและยังมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหน้าที่นี้
จิวยี่จึงได้เชิญตัวบังทองมาพบและได้วางแผนให้บังทองเข้าไปเป็นสายลับในกองทัพของโจโฉ และบังทองก็ได้ทำตามแผนการโดยแนะนำให้โจโฉเอาโซ่มาผูกล่ามเรือของตัวเองให้ติดกันเพื่อที่ว่าทัพเรือของจิวยี่จะได้ใช้เรือเผาได้ทั้งหมดในภายหลัง
เหตุที่โจโฉยอมเชื่อคำของบังทองนั้นเป็นเพราะว่าขณะนั้นในกองทัพของโจโฉกำลังประสบปัญหาหนักนอกเหนือไปจากโรคระบาดแล้ว ยังมีพวกทหารจากทางเหนือที่ไม่เคยชินกับการอยู่บนเรือรบที่ต้องโคลงเคลงตลอดเวลา ดังนั้นการใช้โซ่ล่ามติดกันทำให้เรืออยู่นิ่งนั้นจึงเป็นทางแก้ปัญหาทางหนึ่ง
ตรงนี้เองที่ขัดกับความเป็นจริง นั่นเพราะจริงๆแล้วชาวจีนไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใดก็ล้วนแล้วแต่มีความชำนาญในการเดินเรือด้วยกันทั้งนั้น นอกจากว่าจะเป็นชาวจีนทางตอนเหนือสุดที่ออกไปนอกกำแพงเมืองจีนนั่นแหละที่ไม่ชำนาญการเดินเรือ แต่เป็นสุดยอดแห่งการขี่ม้า
ดังนั้นหากมองตามความเป็นจริงในประวัติศาสตร์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจโฉจะต้องเอาโซ่มาผูกเรือของตัวเองให้ติดกันไว้ และโจโฉเองก็เป็นขุนศึกที่ชำนาญการศึก เขาจะน่ามองออกว่าหากทำแบบนั้นแล้วกองทัพเรือของตนก็มีสิทธิ์ที่จะถูกเล่นงานด้วยเพลิงไฟได้ง่ายๆเพราะเหล่าที่ปรึกษาของโจโฉที่ตามทัพมาด้วยอย่างซุนฮิวหรือกาเซี่ยงนั้นต่างก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับวิธีนี้นัก
ดังนั้นเรื่องที่ทัพเรือของโจโฉถูกไฟเผาทั้งกองทัพจนวอดวายนั้น ตามความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าจะมีการจุดไฟเผาขึ้นมาล่ะก็ น่าจะเป็นโจโฉเองต่างหากที่สั่งให้จุดไฟเผาทัพเรือของตนเอง
ที่พูดแบบนี้เป็นเพราะปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทัพของโจโฉกำลังเผชิญอยู่ตอนนั้นก็คือโรคระบาด ซึ่งรุนแรงมากในบริเวณตอนใต้ของจีน มีประชาชนมากมายที่ต้องล้มตายไปด้วยโรคระบาดนี้ และกองทัพของโจโฉก็โดนโรคระบาดนี้เล่นงานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบรรดาทหารที่โจโฉได้รวบเอามาจากเมืองเกงจิ๋วนั้นติดโรคนี้ไปเกือบทุกกอง
ซึ่งนี่ต่างหากที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โจโฉต้องถอยทัพกลับไป โดยก่อนจะกลับนั้นคงจะได้เผาเรือและทหารที่ป่วยเป็นโรคของตนเองทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นภาระ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฝ่ายกังตั๋งได้เรือรบของตนเองไปใช้ด้วย เท่ากับว่าโจโฉไม่ได้แพ้ไปอย่างยับเยินเหมือนอย่างที่นิยายได้ว่าไว้ เพราะหากโจโฉซึ่งนำทัพมาถึง 1 ล้าน แพ้ยับเยินไปแบบนั้นจริงล่ะก็ ดินแดนภาคกลางและภาคเหนือที่เขาเพิ่งรวบรวมได้นั้น น่าที่จะมีคนฉวยโอกาสก่อกบฏขึ้นมาต่อต้านเป็นแน่
แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในปีต่อมาโจโฉก็ยังสามารถระดมพลทหารเตรียมทำศึกได้อีกและในปีต่อมาก็ถึงกับสามารถสร้างปราสาทนกยูงสัมฤทธ์เป็นการเสริมบารมีให้ตัวเองได้
หากโจโฉแพ้ยับกลับไปจริง ในความเป็นจริงแล้วคงจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วขนาดนั้นในเวลาเพียงปีหรือ2ปี
เพราะหากดูตามประวัติศาสตร์จีนรวมถึงหลักความเป็นจริงแล้ว ในการรบกันของ 2 ฝ่ายนั้น หากว่าฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องสูญเสียทหารไปมากมายขนาดนั้นจริง โอกาสที่เขาจะตั้งตัวขึ้นมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างอ้วนเสี้ยวที่มีทหารนับแสนและพ่ายให้โจโฉในศึกกัวต๋อก็ไม่อาจตั้งตัวขึ้นมาได้อีก หรืออย่างเล่าปี่ที่ได้เป็นฮ่องเต้แห่งจ๊กก๊กในภายหลังจากนี้อีกหลายสิบปีได้นำทหาร 7 แสนไปพ่ายแพ้ยับเยินให้กับลกซุนจนต้องตรอมใจตายในภายหลังนั้น ขงเบ้งซึ่งรับสืดทอดเจตนารมณ์มากว่าที่จะสร้างกองทัพให้พร้อมรบได้อีกครั้งก็ต้องใช้เวลาหลายปี แต่ก็มิอาจสร้างกองทัพให้ยิ่งใหญ่ได้เช่นเดิมเหมือสมัยที่เล่าปี่เพิ่งตั้งอาณาจักรได้อีก
ดังนั้นจึงเป็นไปได้มากทีเดียวว่าที่โจโฉแตกพ่ายอย่างย่อยยับจนเหลือทหารไม่กี่ร้อยกี่พันจาก 1 ล้านในศึกเซ็กเพ็กนั้นเป็นเรื่องที่หลอก้วนจงแต่งเสริมขึ้น ความจริงแล้วโจโฉน่าที่จะถอยกลับไปด้วยตัวเองมากกว่า แต่กองทัพของเขาก็คงได้รับความบอบช้ำพอสมควร แต่ไม่ได้ย่อยยับมากมายเหมือนในนิยายและในหนังได้ว่าไว้ แต่หากวิเคราะห์กันตามตรงแล้ว ที่จริงโจโฉอาจไม่ได้ยกทหารมาขนาดร้อยหมื่นดั่งจดหมายขู่ที่ได้แจ้งแก่ซุนกวนก็ได้ เพราะการอ้างถึงจำนวนทหารให้มากไว้เพื่อข่มขู่ข้าศึก มันเป็นหลักการที่ทำกันมานมนาน หากยกมาขนาดนั้นจริงแล้วแพ้ยับกลับไปแบบนี้ ทหารของโจโฉหรือตัวโจโฉเองคงไม่กล้ายกทัพบุกง่ออีกแน่ จิวยี่เองก็น่าจะอ่านออกว่าของจริงคงมีจำนวนทหารไม่ถึง ดังนั้นถึงกล้าเปิดศึก
แต่ไม่ว่าเรื่องจริงๆมันจะเป็นเช่นไร โจโฉจะถูกเผาทัพเรือจนย่อยยับหรือว่าถอยทัพไปเองเพราะโรคระบาด หรือจะอย่างไรก็แล้วแต่ เท่ากับว่าในศึกนี้จิวยี่ในฐานะแม่ทัพใหญ่แห่งกังตั๋งได้รับชัยชนะและเป็นการทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก
หลังจากที่โจโฉได้ถอนกำลังออกไปแล้วฝ่ายเล่าปี่และซุนกวนต่างก็แย่งกันฉกชิงเอาดินแดนเกงจิ๋วส่วนที่เหลือ ซึ่งฝ่ายเล่าปี่นั้นไวกว่าและได้เมืองในเกงจิ๋วไปถึง 4 จาก 8 เมือง
จิวยี่เจ็บใจมากที่ทางเล่าปี่มาชุบมือเปิบในขณะที่ตนเองต้องเหนื่อยยากในการรบกับทางโจโฉ แต่แทบจะไม่ได้เมืองใดเป็นการตอบแทนเลย แถมนี่ยังเป็นการทำให้เล่าปี่เริ่มมีฐานกำลังเป็นของตัวเองด้วย ซึ่งจิวยี่เกรงว่าอาจจะเป็นภัยกับกังตั๋งในวันหน้าได้
ถ้าจิวยี่จะไม่พอใจขงเบ้งหรือเล่าปี่ก็คงเป็นเรื่องนี้มากกว่า ไม่ได้รู้สึกอิจฉาอะไรหรอก
ในเรื่องการยึดหัวเมืองเกงจิ๋วนั้น ในนิยายและประวัติศาสตร์สามก๊กบันทึกไว้ต่างกัน ในนิยายเล่าว่าทัพของโจโฉที่พ่ายจากเซ็กเพ็กได้ถอยหนีขึ้นไปยังเมืองกังเหลง จิวยี่ได้ระดมทัพใหญ่เข้าติดตาม แต่ก็โจโฉได้ใช้ให้โจหยินคอยอยู่เฝ้าที่กังเหลงอย่างแน่นหนา จิวยี่ใช้เวลารบพุ่งอยู่นานก็ไม่อาจตีแตก แถมในระหว่างการเข้าตีก็ถูกธนูยิงจนบาดเจ็บต้องถอยทัพกลับ จิวยี่จึงอาศัยการบาดเจ็บของตนให้เป็นประโยชน์ ปล่อยข่าวว่าตนเองตายแล้วลวงให้โจหยินยกทัพออกนอกเมือง แล้วอาศัยการดักซุ่มเข้าตีจนทัพของโจหยินแตกพ่าย โจหยินจึงต้องถอนทัพกลับขึ้นเหนือไปตั้งมั่นที่เมืองเซียงหยางโดยละทิ้งเมืองกังเหลงไป จิวยี่จึงนำทัพหมายจะเข้ายึดเมืองกังเหลงที่ไร้คนเฝ้า แต่กลับพบว่าจูล่งเข้ามายึดเอาไว้แล้ว ซึ่งเป็นแผนการของขงเบ้งที่อ่านออกว่าจิวยี่จะใช้แผนแสร้งเจ็บล่อทัพโจหยินออกนอกเมือง จึงอาศัยจังหวะนั้นให้จูล่งนำทัพเข้ายึดกังเหลงเอาไว้ จิวยี่โกรธมากที่ถูกขงเบ้งชุบมือเปิป แต่ทำอะไรไม่ได้จึงต้องรามือจากกังเหลง นั่นคือเรื่องในฉบับนิยาย ซึ่งการกระทำของขงเบ้งนั้นนับว่าโกงก็ฝ่ายง่อมาก แม้ว่าตำราซุนหวู่จะระบุว่าการรบที่ดีที่สุดคือการใช้ทหารน้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลยก็ตามที
แต่ในประวัติศาสตร์กลับบันทึกต่างไปโดยเล่าว่าจิวยี่ใช้เวลาอยู่หนึ่งปีในการตีเมืองกังเหลงจากโจหยินแต่ก็ไม่อาจตีแตกและถูกธนูยิงจนบาดเจ็บ ซึ่งตรงนี้บันทึกเหมือนกัน ที่ต่างกันคือรื่องหลังจากนี้ที่ในประวัติศาสตร์บันทึกว่าโจหยินดูสภาพการณ์แล้วคิดว่าไม่อาจจะต้านทานทัพง่อต่อไปได้อีก จึงตัดสินใจถอยทัพออกจากกังเหลงและไปตั้งมั่นที่เซียงหยางแทน จิวยี่จึงเข้ายึดกังเหลงได้สำเร็จ จากนั้นขงเบ้งจึงเข้าเจรจากับซุนกวนขอยืมเมืองกังเหลงเพื่อให้เล่าปี่ใช้เป็นฐานที่มั่นในการตั้งหลัก เพื่อว่าวันหน้าจะยกทัพเข้ายึดเสฉวน ซึ่งโลซกสนับสนุนแผนนี้ เพราะจะทำให้เล่าปี่ขึ้นมาคอยค้ำอำนาจทางทิศตะวันตกกับโจโฉเอาไว้ ซุนกวนก็เห็นด้วยจึงยอมให้ไปโดยมีโลซกเป็นผู้ค้ำประกันว่าหากวันใดเล่าปี่ยึดเสฉวนได้ จะคืนเมืองนี้ให้ซุนกวน ซึ่งเรื่องนี้จิวยี่ไม่เห็นด้วย เพราะตนเองเป็นคนที่เหนื่อยยากที่สุดในการเอาเมืองกังเหลงมา เขาทำไปเพื่อเอาเมืองนี้ให้แก่ซุนกวนไม่ใช้เล่าปี่ ดังนั้นเรื่องที่จิวยี่จะไม่พอใจขงเบ้งก็คือกรณีนี้
เพราะบรรดาเมืองที่เล่าปี่ยึดได้จากโจโฉนั้น เมืองกังเหลงซึ่งถือเป็นเมืองสำคัญที่เป็นประตูขึ้นสู่ภาคกลางนั้นเป็นเมืองที่ฝ่ายซุนกวนต้องการได้มากที่สุดและเขาเองก็สมควรจะได้เพราะหากไม่ใช่จิวยี่เอาชัยชนะในศึกเซ็กเพ็กได้ล่ะก็ ฝ่ายเล่าปี่คงไม่มีทางได้เมืองนี้มาแน่ และเมืองนี้ก็ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ซุนกวนต้องการ
เมื่อแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว ความไม่พอใจจึงเกิดขึ้น ภายหลังโลซกจึงอาสาจะไปทวงเอาเมือคืนจากเล่าปี่
โลซกนั้นเป็นขุนนางที่มีความรู้ความสามารถ วิสัยทัศน์ก็กว้างไกล แต่เขาเป็นคนซื่อตรงที่มีจิตใจกว้างขวาง เขายึดหลักความจริงใจเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งในการทูตแล้วก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมแต่ในกรณีเมืองเกงจิ๋วนี้ การทูตแบบซื่อๆของโลซกไม่สามารถแก้ปัญหาได้
เล่าปี่นั้นไม่ต้องการคืนเมืองหัวเมืองเกงจิ๋วให้ซุนกวน จึงพยายามหาข้ออ้างบ่ายเบี่ยง ขงเบ้งจึงได้หาข้ออ้างแทนว่าไว้หากเล่าปี่คืนเมืองเกงจิ๋วให้ ก็เท่ากับเล่าปี่จะต้องสูญเสียฐานที่มั่นไป จึงขอยืมเกงจิ๋วชั่วคราวจนกว่าเล่าปี่จะสามารถหาฐานที่มั่นอื่นได้ซะก่อน ซึ่งขงเบ้งนั้นได้เล็งเอาเมืองเสฉวนของเล่าเจี้ยงที่อยู่ทางทิศตะวันตกเอาไว้
โลซกไม่มีทางเลือก จำต้องกลับไปรายงานซุนกวนซึ่งเรื่องนี้ทำให้เขาโกรธมาก และเรื่องเมืองเกงจิ๋วที่ไม่อาจแก้ปัญหาได้นี้ก็ได้กลายเป็นชนวนที่นำไปสู่การตายของกวนอูในภายหลัง
กลับมาที่เรื่องของจิวยี่ หลังจากเสร็จศึกที่เซ็กเพ็กแล้ว จิวยี่ก็ได้รับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ควบคุมกองกำลังทหารส่วนหน้าประจำอยู่ที่ลำกุ๋น และก็ได้ติดโรคร้ายมากับเขาด้วยรวมถึงในการศึกครั้งหนึ่งเขาถูกลูกธนูยิงเข้าจนเป็นแผลลึกและได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาต้องกระอักเลือดตายในภายหลัง ไม่ใช่เพราะเจ็บแค้นขงเบ้ง
จิวยี่นั้นเจ็บใจที่เล่าปี่และขงเบ้งวางแผนคิดไม่ซื่อตลบหลังเอาเมืองเกงจิ๋วไป จึงได้ออกอุบายล่อให้เล่าปี่เข้ามาแต่งงานกับซุนหยิน น้องสาวของซุนกวน แต่จริงๆแล้วเป็นการลวงมาฆ่า
แต่ขงเบ้งรู้ทันจึงได้ส่งจูล่งมาอารักขาและวางแผนซ้อนแผนจนเรื่องแต่งงานลวงกลายเป็นเรื่องจริงไป และเล่าปี่ก็ได้เมียสาวที่อายุอ่อนกว่าตนถึง 30 ปีกลับมาที่เกงจิ๋วด้วย
ที่กลายเป็นคำกล่าวในภายหลังที่ว่า เสียทั้งเมือง เสียทั้งนารี
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นการวางแผนของจิวยี่ แต่เป็นการแต่งงานจริงที่ฝ่ายซุนกวนจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระชับสัมพันธ์ไมตรีระหว่างตระกูลเล่าและตระกูลซุนมากกว่า ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก ที่ใช้การแต่งงานเป็นเครื่องเชื่อมไมตรี
ไม่ว่าจะจริงเท็จยังไงภายหลังจากที่เล่าปี่ได้กลับเกงจิ๋วไปแล้วไม่นาน จิวยี่ก็ได้นำทัพออกศึกอีกครั้งเพื่อหวังที่จะยึดเมืองหับป๋า แต่ระหว่างทางบาดแผลเก่าที่เคยถูกธนูยิงเกิดกำเริบขึ้น ในที่สุดเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่อาจมีชีวตรอดต่อไปได้อีก จึงเรียกตัวโลซกเพื่อนสนิทให้มาพบ และเขียนจดหมายฝากให้ซุนกวนขอให้แต่งตั้งโลซกขึ้นดำรงตำแหน่งแทนตนเอง จากนั้นก็สิ้นลม
ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ชีวิตของจิวยี่ถือว่าได้อยู่และตายอย่างสมศักดิ์ศรีแล้ว
ชั่วชีวิตนี้เขาทำทุกอย่างเพื่อตระกูลซุนและเพื่อสร้างง่อก๊กขึ้น โดยไม่เห็นแก่ตนเองเลย
เขาเป็นคนที่มีจิตใจกว้างขวางและเปี่ยมด้วยความสามารถอย่างยิ่ง หลักฐานคือเขาสามารถเอาชนะใจของเหล่าทหารและแม่ทัพที่ล้วนแต่อายุมากกว่าเขาได้ แต่น่าเสียดายที่ในหนังสือสามก๊กได้ทำให้เขากลายเป็นคนที่ขี้อิจฉาและใจคอคับแคบไป เพียงเพราะเขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเล่าปี่และขงเบ้งเท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะพูดยังไงก็ตามนี่ก็คือชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดมาและตายไปอย่างไม่ต้องอับอายใคร
เพราะบุรุษที่ชื่อจิวยี่นี้ได้ทำทุกๆสิ่งอย่างที่ผู้เป็นบ่าวจะมอบให้กับนายของตนแล้ว

Create Date : 10 เมษายน 2549 |
| |
|
Last Update : 10 เมษายน 2549 16:21:41 น. |
| |
Counter : 3751 Pageviews. |
| |
|
|
|
ลิโป้ เฟยเสียง - เทพเจ้าสงคราม
ลิโป้ เฟยเสียง
หยืนจงหลี่ปู้ หม่าจงชื่อทู่
ความหมายของประโยคนี้คือ ยอดคนต้องลิโป้ ยอดอาชาต้องเซ็กเธาว์
ประโยคข้างต้นนี้เป็นคำที่ใช้สำหรับกล่าวขวัญถึงยอดนักรบผู้ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดในเรื่องสามก๊ก ความแข็งแกร่งที่กลายเป็นตำนานในฐานะของนักรบที่เก่งที่สุดในแผ่นดิน
แต่น่าเสียดายที่ในยุคสามก๊กนั้น ความแข็งแกร่งในเชิงยุทธ์เพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้ใครคนใดเป็นใหญ่หรือแม้แต่เอาชีวิตให้รอดได้ เพราะมันเป็นยุคที่คนเราทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเล่ห์กลสกปรกเพียงใดเพื่อกลืนกินผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้ ลิโป้ ยอดนักรบอันดับหนึ่งของแผ่นดินจึงไม่อาจที่จะบรรลุความฝันในการเป็นใหญ่ ไม่สิ เพียงแค่จะเอาชีวิตให้รอดเขาก็ไม่อาจทำได้สำเร็จแล้ว
เพราะเหตุใดชายที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดจนถูกขนานนาว่าเทพนักรบถึงได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์สามก๊กเร็วเกินไปนั้น คงต้องดูจากเรื่องราวชีวิตของเขาเอง
ประวัติโดยย่อ
ลิโป้ ชื่อรอง เฟยเสียง ปีเกิดไม่แน่ชัดแต่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงปี ค.ศ.156-160 เป็นชาวเมืองอู่เหยียน มณฑลซานซี ถิ่นเกิดของลิโป้นั่นอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ซึ่งบรรดานักรบชื่อดังในประวัติศาสตร์หลายต่อหลายคนที่มีความเก่งกาจในการบบนหลังม้านั้น ต่างก็มีถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งในยุคสามก๊กนั้นเหล่าผู้กล้าที่ยอดนักรบบนหลังม้านั้นก็มี จูล่ง ม้าเฉียว เตียวเลี้ยว ฯลฯ
นั่นเป็นเพราะก่อนยุคสามก๊กนั้น แถบตอนเหนือของประเทศจีนรวมถึงบริเวณนอกกำแพงเมืองจีนขึ้นไปนั้น เป็นดินแดนของเหล่านักรบบนหลังม้ามากว่าหลายร้อยปี คนจีนส่วนในแถบนี้ส่วนมากมักจะเป็นลูกผสมระหว่างจีนแท้กับนอกด่าน ด้วยเหตุนี้จึงสืบทอดเอาความสามารถการรบบนหลังม้าของพวกนอกด่านมาด้วย ซึ่งการที่ลิโป้เองก็เกิดมาโดยมีสายเลือดแห่งนักรบบนหลังม้าติดตัวมาแต่กำเนิด ทำให้ภายหลังนั้น ชื่อของเขาก็ได้รับการยกย่องในฐานะนักรบอันดับหนึ่งของยุค
ช่วงวัยหนุ่มของลิโป้นั้นมีประวัติไม่แน่ชัด ทราบเพียงว่าเมื่อตอนที่เป็นหนุ่มฉกรรจ์นั้น เขาก็ได้เป็นยอดฝีมือในเชิงยุทธ์ที่เก่งกาจเหนือผู้คน เก่งครบเครื่องทั้งการขี่ม้า การใช้เพลงอาวุธ และการยิงธนู จนถูกขนานนามว่านักรบบิน เหตุนี้ทำให้เขาได้รับการอุปถัมภ์จากเต็งหงวนซึ่งเป็นเจ้าเมืองเป็งจิ๋ โดยเต็งหงวนนั้นชื่นชอบในฝีมือการรบของลิโป้มาก โดยให้เขาเป็นองครักษ์ประจำตัวและถึงกับรับเป็นบุตรบุญธรรมด้วย
และในปี ค.ศ.189 ได้เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นในประวัติศาสตร์จีน
หลังจากที่เหล่าโจรโพกผ้าเหลืองได้ถูกปราบปรามไปเป็นเวลา 4 ปีกว่าๆ ภายในเมืองหลวงได้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ขึ้น ซึ่งเรื่องก่อนหน้านั้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับลิโป้นัก แต่มันเกี่ยวข้องกับชายผู้โหดเหี้ยมผู้หนึ่ง ซึ่งจะมีชื่อเสียงเหม็นโฉ่วในประวัติศาสตร์จีนไปอีกหลายพันปี ซึ่งเขาผู้นี้เป็นผู้ที่ทำให้ลิโป้ได้โอกาสแสดงฝีมือในการรบจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน
เรื่องคือ ในปี ค.ศ. 189 พระเจ้าฮั่นเลนเต้สิ้นพระชนม์ลงด้วยอายุ 34 ปี โดยทิ้งโอรสที่ยังมีพระชนม์น้อยไว้ 2 คนนั่นคือรัชทายาทเล่าเปียนกับองค์ชายรองเล่าเหี้ยนหรือโดยตำแหน่งก็คือตันหลิวอ๋อง
จากนั้นรัชทายาทเล่าเปียนจึงได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อมาทั้งที่ด้อยสติปัญญา โดยมีพระนางโฮไทเฮากับโฮจิ๋นพี่ชายซึ่งได้เป็นสมุหกลาโหม เป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริง
การนี้ทำให้ 10 ขันทีผู้เคยกุมอำนาจการปกครองในสมัยของพระเจ้าเลนเต้นั้น ต้องหาทางทำอะไรซักอย่างเพื่อเรียกเอาอำนาจของตัวเองกลับมาและรักษาชีวิตไว้ เพราะโฮจิ๋นนั้นต้องการที่จะกำจัดเหล่าขันทีและกุมอำนาจเองมานานแล้ว
แต่ 10 ขันทีก็ชิงลงมือก่อน ด้วยการลวงโฮจิ๋นเข้าวังยามวิกาลแล้วรุมฆ่าทิ้ง อ้วนเสี้ยวซึ่งเป็นคนสนิทของโฮจิ๋นจึงนำกำลังทหารเข้าวังแล้วกวาดล้างเหล่าขันทีทั้งหมด
อันที่จริงอ้วนเสี้ยวน่าที่จะกุมสถานการณ์ทั้งหมดได้ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะก่อนที่จะเกิดการกวาดล้าง ฮ่องเต้และน้องชายคือตันหลิวอ๋องได้เสด็จหนีออกนอกเมืองหลวงมาก่อนและได้พบกับตั๋งโต๊ะเจ้าเมืองเสเหลียง ที่นำกำลังทหารมาเพื่อยุติความวุ่นวายพอดี
เกี่ยวกับการที่ตั๋งโต๊ะได้โอกาสมาที่เมืองหลวงนั้น ต้องขอบอกว่าเป็นเพราะความเบาปัญญาของโฮจิ๋น
โฮจิ๋นคิดที่จะกำจัด 10 ขันที แต่กลับทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งการที่จะสังหารเหล่าขันทีพวกนี้นั้น หากเป็นช่วงที่พระเจ้าเลนเต้ยังมีพระชนม์ชีพอยู่คงจะทำได้ลำบาก เพราะในตอนนั้นพวกขันทีเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจในราชสำนักไว้ แต่เมื่อสิ้นพระเจ้าเลนเต้แล้ว ผู้ที่ขึ้นมากุมอำนาจก็คือโฮจิ๋นและโฮไทเฮาผู้เป็นน้องสาวและเป็นแม่ของฮ่องเต้องค์ใหม่
โฮจิ๋นหมายจะกำจัด 10 ขันที แต่ติดตรงที่พระนางโฮไทเฮาออกมาปกป้องซึ่งสาเหตุคงเป็นเพราะเตียวเหยียงหัวหน้า 10 ขันทีนั้นได้อาศัยฝีปากในการอ้อนวอนและประจบประแจงจนสามารถรักษาชีวิตพวกตนเองไว้ได้
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม อำนาจในการบัญชากำลังทหารก็อยู่ในมือโฮจิ๋น นั่นเท่ากับว่าถ้าอยากจะกำจัด 10 ขันที มันไม่ใช่เรื่องยากเลย รอเพียงโอกาสเหมาะๆจะออกประกาศความผิดของ 10 ขันทีอย่างเป็นทางการหรือจะหาเรื่องเนรเทศจนถึงส่งมือสังหารเข้าไปเมื่อไหร่ก็ทำได้ ในเมื่อพวกตนเป็นผู้กุมอำนาจแล้ว
แต่โฮจิ๋นกลับเลือกวิธีที่ไม่ควรทำที่สุด นั่นคือการประกาศออกมาว่าต้องการสังหารเหล่าขันที และเรียกระดมเหล่าขุนศึกจากหัวเมืองเข้ามาเมืองหลวง ซึ่งตั๋งโต๊ะเองก็เป็นเจ้าเมืองเสเหลียงที่กุมกำลังทหารนับแสน เขาจึงเป็นคนหนึ่งที่ได้รับหมายเรียกให้เข้าเมืองหลวงเพื่อปราบปรามเหล่าขันที โดยที่ตั๋งโต๊ะนั้นรอโอกาสที่จะได้เข้ามายังส่วนกลางมานานแล้ว แถมคราวนี้มีคนมายื่นโอกาสให้และยังหาขออ้างอย่างการทำเพื่อความชอบธรรมของบ้านเมืองอีกด้วย ดังนั้นการกระทำของโฮจิ๋นครั้งนี้จึงเป็นการชักนำหายนะเข้ามาให้กับราชวงศ์ฮั่นอย่างที่ตัวเองก็ไม่ตั้งใจแท้ๆ
และการที่โฮจิ๋นทำแบบนี้เป็นการทำให้พวก 10 ขันทีนั้นได้ตั้งตัวและเท่ากับบีบให้พวกเขาต้องเลือกหนทางของหมาจนตรอก
หมาจนตรอกเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเพราะมันจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตนมีชีวิตรอดโดยไม่สนใจว่าจะต้องทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นและตนเองแค่ไหน
นี่จึงเป็นที่มาให้ 10 ขันทีแอบอ้างราชโองการเรียกโฮจิ๋นเข้ามาสังหาร และก่อเกิดเป็นการนองเลือดในวังหลวงเมื่ออ้วนเสี้ยวสั่งล้างบางพวกขันทีหลังจากนั้น
เมื่อตั๋งโต๊ะได้โอกาสทองมายังไม่คาดฝัน แถมยังได้เข้าพบฮ่องเต้ด้วย มีหรือที่คนเล่ห์ร้ายและทะเยอทะยานอย่างเขาจะไม่ฉวยโอกาสไว้
ตั๋งโต๊ะถือโอกาสทองนี้ นำเสด็จฮ่องเต้กลับเข้าเมือง และจากนั้นก็สังหารโฮไทเฮาและปลดฮ่องเต้ลงจากบังลังก์ โดยได้ยกเอาตันหลิวอ๋องผู้เป็นองค์ชายรองซึ่งมีสติปัญญาและบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับการเป็นฮ่องเต้มากกว่าให้ขึ้นนั่งบัลลังก์แทน มีพระนามว่าพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้
ส่วนตั๋งโต๊ะนั้น เขาได้ตั้งตัวเองขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการและกุมอำนาจการปกครองเบ็ดเสร็จแถมยังยกตัวเป็นบิดาของฮ่องเต้ด้วย
เหล่าขุนนางต่างพยายามต่อต้าน แต่ตั๋งโต๊ะนั้นกุมกำลังทหารหลายแสนไว้ในมือ เหล่าขุนนางผู้ภักดีที่พูดต่อต้านจึงถูกเก็บไปทุกคน ในบรรดาขุนนางเหล่านั้น เต็งหงวนเป็นคนหนึ่งที่พูดด่าตั๋งโต๊ะ จนตั๋งโต๊ะโกรธและสั่งทหารให้จับตัวเขา
แต่ที่ข้างกายเต็งหงวนนั้นมีลิโป้เป็นองครักษ์ และได้แสดงฝีมือจัดการกับทหารเหล่านั้นจนหมด การปรากฏตัวครั้งแรกของลิโป้ในหนังสือสามก๊กนั้นก็คือครั้งนี้นั่นเอง
เมื่อตั๋งโต๊ะได้เห็นฝีมือในเชิงยุทธ์และพละกำลังอันมหาศาลของลิโป้แล้ว จึงรู้สึกชื่นชอบมาก
จากนั้นไม่นานตั๋งโต๊ะก็ส่งลิยูซึ่งเป็นกุนซือคนอสนิทให้ไปเกลี้ยกล่อมให้ลิโป้มาอยู่กับตนแทน โดยมอบเงินทองรวมถึงม้าเซ็กเธาว์ ซึ่งเป็นยอดอาชาให้เป็นของขวัญแก่ลิโป้
ลิโป้นั้นยอมรับของของขวัญเหล่านั้นและในที่สุดเขาก็ฆ่าเต็งหงวนแล้วมาอยู่กับตั๋งโต๊ะแทน ในฐานะของแม่ทัพคนสนิทและบุตรบุญธรรม
ตรงนี้จะเห็นได้ว่าหากลิโป้ไม่ทำตัวละโมบ หลงใหลในเงินทองและม้าศึก แต่หันมายึดมั่นในคุณธรรมและกำจัดตั๋งโต๊ะแทนล่ะก็ เขาคงจะได้รับการสรรเสริญในฐานะที่เป็นขุนศึกที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่นและมีฝีมือเป็นอันดับหนึ่งแห่งแผ่นดินอย่างแท้จริง
ดังนั้นถึงแม้เขาจะมีฝีมือการรบเป็นอันดับหนึ่งในเวลานั้น แต่ผู้คนกลับไม่ได้ให้ความเคารพยกย่องเขาเหมือนกับกวนอูซึ่งเป็นนักรบหมายเลขหนึ่งคนต่อมา ก็เพราะเขาขาดซึ่งคุณธรรมที่นักรบควรจะยึดถือ
หลังจากได้มาอยู่กับตั๋งโต๊ะแล้ว ลิโป้ก็กลายเป็นขุนพลคนสนิทที่ขาดไม่ได้ และด้วยฝีมือการรบอันเก่งกาจเหมือนเทพสงครามนั้นก็ได้ทำให้ชื่อของเขาลือลั่นไปจนทั่วแผ่นดินในเวลาไม่นาน
ในปี ค.ศ.190 นั่นคือ 1 ปีต่อมา โจโฉซึ่งได้กลายเป็นสนิทของตั๋งโต๊ะ แต่จริงๆแล้วคิดต่อต้านนั้นได้อาสาเหล่าขุนนางที่คิดวางแผนลอบสังหารตั๋งโต๊ะ แอบเข้าไปลอบฆ่าตั๋งโต๊ะ แต่เขาทำไม่สำเร็จและได้หนีออกไปจากเมืองหลวง จากนั้นจึงปลอมแปลงพระราชโองการของฮ่องเต้เพื่อรวบรวมเหล่าขุนศึกทั่วแผ่นดินให้มาร่วมมือกันกำจัดตั๋งโต๊ะ เหล่าขุนศึกทั่วแผ่นดินต่างตอบรับ และมีขุนศึกใหญ่ที่เป็นผู้สำเร็จราชการของมณฑลและเมืองต่างๆถึง 18 หัวเมืองเข้าร่วมในการนี้ ซึ่งขุนศึกใหญ่เหล่านั้นประกอบด้วย
ฮันฮก มณฑลกิจิ๋ว ขงมอ มณฑลอิจิ๋ว เล่าต้าย มณฑลกุนจิ๋ว อองของ เมืองโห้ลาย เตียวเมา เมืองตันลิว เตียวโป้ เมืองตองกุ๋น อ้วนอุ้ย เมืองซุนหยง เปาสิ้น เมืองเจปัก ขงเล่ง เมืองปักไฮ เตียวเถียว เมืองก่องเล่ง โตเกี๋ยม มณฑลชีจิ๋ว ม้าเท้ง เมืองเสเหลียง กองซุนจ้าน เมืองปักเป้ง เตียวเอี้ยง เมืองเลียงตง ซุนเกี๋ยน เมืองเตียงสา อ้วนเสี้ยว เมืองปักไฮและแม่ทัพหลังอ้วนสุด สุดท้ายคือโจโฉ เมืองตันลิว
กองทัพพันธมิตรจึงถือกำเนิดขึ้น โดยในที่ประชุมนั้นได้ยกให้อ้วนเสี้ยวซึ่งเป็นทายาทขุนนาง 4 สมัย ซึ่งมีอิทธิพลในราชสำนักและกำลังทหารเป็นของตัวเองจำนวนมากเป็นผู้นำ ส่วนโจโฉนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการประจำกองทัพ
การศึกในครั้งแรกๆของกองทัพพันธมิตรนั้นได้รับชัยชนะพอควร และในการศึกครั้งนี้ก็ได้สร้างชื่อให้กับวีรบุรุษไร้ชื่อหลายต่อหลายคนให้โด่งดังขึ้นมาได้ ยอดคนเหล่านั้นได้แก่
เล่าปี่ นายอำเภอเมืองผิงหยวน ซึ่งอยู่ในสังกัดกองทัพของกองซุนจ้าน และน้องร่วมสาบานอย่างกวนอู เตียวหุย ซึ่งยังมีตำแหน่งเพียงพลทหารธนู แต่กลับสร้างผลงานได้ โดยเฉพาะกวนอูนั้นสร้างผลงานใหญ่ด้วยการสังหารนายพลฮัวหยง ทหารเอกอีกคนของตั๋งโต๊ะได้ แต่กระนั้นกวนอูก็ไม่ได้รับรางวัลหรือตำแหน่งอะไร เพราะอ้วนเสี้ยวและแม่ทัพคนอื่นๆนั้นถือว่าเขาเป็นเพียงนายทหารยศต่ำต้อย ซึ่งมีเพียงโจโฉเท่านั้นที่ยอมรับนับถือพวกเขา
ซุนเกี๋ยน เจ้าเมืองเตียงสา ซึ่งเป็นยอดขุนศึกหนุ่มที่สืบสายเลือดมาจากเจ้าแห่งตำราพิชัยสงครามอย่างซุนวูนั้น ได้รับคำสั่งให้บุกตะลุยในอีกเส้นทางหนึ่ง และก็สามารถตีข้าศึกจนแตกพ่ายตลอดเส้นทางการเดินทัพ แต่ก็พลาดพลั้งในภายหลัง เนื่องจากอ้วนสุดน้องชายของอ้วนเสี้ยวซึ่งได้รับหน้าที่ให้เป็นกองส่งเสบียงนั้น ไม่ยอมส่งเสบียงให้ซุนเกี๋ยนเนื่องจากอิจฉาที่เขาสร้างผลงานได้มากจนเกินหน้าตนเอง
จะเห็นได้ว่ากองทัพพันธมิตรแทนที่จะสามัคคีกันรับศึก กลับชิงดีชิงเด่นและขัดขากันเอง นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้กองทัพพันธมิตรต้องล่มสลายในภายหลัง
กลับมาที่การศึกอีกครั้ง กองทัพพันธมิตรที่มีชัยเรื่อยมา ได้เข้าประชิดที่ด่านกิสุยก๋วน ซึ่งถือเป็นปราการด่านสุดท้าย หากตีที่นี่แตกก็จะสามารถเข้าสู่เมืองหลวงนครลกเอี๋ยง และสามารถจับกุมตั๋งโต๊ะได้
แต่ทัพพันธมิตรไม่อาจจะเดินหน้าไปได้มากกว่านี้อีก เพราะที่ด่านกิสุยก๋วนนี้ มียอดนักรบผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเทพสงครามแห่งยุคคอยพิทักษ์อยู่
ลิโป้ เฟยเสียง!
บรรดายอดนักรบที่ทัพพันธมิตรได้ส่งเข้าไปเพื่อรบกับลิโป้นั้น ต่างก็ต้องจบชีวิตลงกันเหมือนใบไม้ร่วง ภายในไม่กี่กระบวนท่า จนในกองทัพพันธมิตรต่างขยาดฝีมือของลิโป้กันหมด
ตอนนั้นเอง เตียวหุย เอ๊กเต็ก น้องร่วมสาบานของนายอำเภอเล่าปี่ ซึ่งมียศเพียงพลทหารธนูได้ขออาสาไปออกรบกับลิโป้เอง
การต่อสู้ผ่านไปเนิ่นนานก็ยังไม่รู้ผล กวนอูจึงเข้าไปรุมอีกคนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อาจโค่นลิโป้ลงได้ สุดท้ายเล่าปี่จึงเข้าไปร่วมด้วยอีกคน
แต่กระนั้นก็ยังไม่อาจเอาชีวิตของลิโป้ได้ ถึงแม้สุดท้ายลิโป้จะต้องยอมถอยก็ตาม แต่การที่ใช้ยอดฝีมือถึง 3 คนช่วยกันรุมและ 2 ใน 3 อย่างกวนอูและเตียวหุยนั้นยังได้ชื่อว่าเป็นยอดฝีมือที่ทรงพลังไม่เป็น 2 รองใครด้วย ก็ยังไม่อาจจะเอาชีวิตหรือจับตัวลิโป้ได้นั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสุดยอดในเชิงยุทธ์ของลิโป้ได้เป็นอย่างดี
การศึกที่กิสุยก๋วนจบลงโดยที่ฝ่ายพันธมิตรยอมถอยกลับที่มั่นและไม่คิดจะรุกคืบต่อทั้งที่เป็นโอกาสอันดี เป็นการเปิดโอกาสให้ตั๋งโต๊ะได้ทำการเผาเมืองหลวงทิ้ง และย้ายเมืองหลวงหนีไปอยู่ที่เมืองเตียงฮัน โดยพาเอาฮ่องเต้เด็กไปด้วย
โจโฉเสนอให้รุกติดตามแต่เหล่าแม่ทัพแห่งกองทัพพันธมิตรนั้นล้วนขลาดเขลาไม่คิดจะติดตาม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โจโฉไม่พอใจมาก และเมื่อเขาได้ลงมือตามข้าศึกไปเองนั้นก็ต้องพ่ายแพ้เพราะขาดการสนับสนุนจากพวกเดียวกัน ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาถอนตัวออกไปหลังจากที่พวกเล่าปี่ได้ถอนตัวไปก่อนหน้านี้พร้อมกับทัพของกองซุนจ้านแล้ว
ฝ่ายซุนเกี๋ยนซึ่งได้เข้าดูแลเมืองหลวงหลังจากถูกเผานั้น ก็ได้พยายามช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มกำลัง แต่เมื่อเขาได้ค้นพบตราหยกแห่งราชวงศ์ที่สาบสูญไปโดยบังเอิญ เขาก็เกิดความคิดที่จะตั้งตนเป็นใหญ่บ้าง และถอนทัพกลับสู่ภาคใต้
เมื่อคนเก่งมีฝีมือต่างถอนตัวไปหมด กองทัพพันธมิตรที่เหลือเพียงเหล่าแม่ทัพที่ใจโลเล และเอาแต่จะชิงดีกันเองนั้น ก็ต้องล่มสลายไปในที่สุด
ขอจบเรื่องของกองทัพพันธมิตรไว้เท่านี้ และขอย้อนกลับไปที่เรื่องของลิโป้อีกครั้ง ตั๋งโต๊ะซึ่งย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เตียงฮันโดยพลการนั้น ยังคงความโหดเหี้ยมอยู่ต่อไปและนับวันจะมีแต่หนักขึ้นกว่าเดิม
ในขณะที่ยังคงมีการต่อต้านอยู่บ้างประปรายจากหัวเมืองโดยรอบทำให้ลิโป้ได้รับคำสั่งให้ออกปราบปราม และลิโป้ก็สามารถมีชัยต่อการศึกได้ทุกครั้งและถึงตอนนี้เขาก็ได้กลายเป็นแม่ทัพที่เป็นเสาหลักของตั๋งโต๊ะไปแล้ว
และในตอนนี้เองที่เกิดตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เพราะไม่ได้ถูกกล่าวถึงในสามก๊กฉบับของเฉินโซ่วและสามก๊กฉบับหลังจากนั้น แต่เกิดมาครั้งแรกจากปลายปากกาของหลอก้วนจง และเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้ในฐานะของหนึ่งใน 4 สตรีผู้โด่งดังที่สุดและงดงามเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์จีน
นั่นคือในสถานการณ์ที่ราชวงศ์ฮั่นแทบจะสิ้นลมแล้วนั้น เสนาบดีอ้องอุ้นซึ่งเป็นผู้ภักดีคนหนึ่ง แต่จำต้องอยู่กับตั๋งโต๊ะนั้น ได้วางแผนการที่จะช่วยชาติขึ้นมาอย่างหนึ่ง นั่นคือแผนสาวงาม
โดยการใช้สาวงามเข้าล่อเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ของลิโป้และตั๋งโต๊ะที่มีความแน่นแฟ้นกันนั้นพังทลายลง
เล่าแบบคร่าวๆที่สุดคือ อ้องอุ้นนั้นมีนางกำนัลอยู่ 1 คนซึ่งมีความงามมากและยังมีความเชี่ยวชาญในการดนตรีและการร่ายรำ นางผู้นี้มีชื่อว่าเตียวเสี้ยน
เตียวเสี้ยนนั้นเป็นหญิงที่นอกจากจะเฉลียวฉลาดแล้วยังมีความเสียสละต่อชาติบ้านเมือง นางเป็นผู้ยอมเสนอให้อ้องอุ้นใช้ตัวเองสำหรับแผนการครั้งนี้
ขั้นแรกของแผนการคือ อ้องอุ้นนั้นได้ไปขอเข้าพบลิโป้และมอบหมวกทองคำให้เพื่อเป็นการซื้อใจลิโป้ จากนั้นจึงชวนลิโป้ไปทานข้าวที่จวนของตน
ลิโป้เป็นคนที่หลงไหลในทรัพย์ เขาจึงตกหลุมอย่างง่ายดาย และเมื่อไปตามคำชวนแล้ว อ้องอุ้นก็ได้หาโอกาสให้เตียวเสี้ยนได้ออกมาพบกับลิโป้
ด้วยความงามและกิริยาท่าทางอันอ้อนแอ้นของสาวสะคราญวัย 16 กว่าๆอย่างเตียวเสี้ยนนั้น ทำเอาลิโป้ถึงกับตาค้างและหลงไหลในทันที
อ้องอุ้นบอกกับลิโป้ว่าเตียวเสี้ยนนั้นเป็นบุตรสาวบุญธรรมของตน ซึ่งหากลิโป้ชอบเขาก็พร้อมที่จะยกให้ แน่นอนว่าลิโป้ดีใจมากและด้วยเหตุการณ์นี้อ้องอุ้นก็สามารถซื้อใจลิโป้ได้แล้ว
จากนั้นในวันต่อมาอ้องอุ้นก็ได้เชิญตั๋งโต๊ะมากินเลี้ยงที่จวนของตน และใช้ให้เตียวเสี้ยนออกแสดงการร่ายรำ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มักมากในกามและนารีอย่างตั๋งโต๊ะก็ไม่พ้นที่จะหลงไหลกับความงามของเตียวเสี้ยนอีกคนหนึ่ง
อ้องอุ้นออกปากยกเตียวเสี้ยนให้กับตั๋งโต๊ะ ซึ่งแน่นอนว่าตั๋งโต๊ะต้องรับแน่และนำเอาตัวนางกลับเข้าวังในทันที
วันต่อมาเมื่อลิโป้จะมารับตัวเตียวเสี้ยนที่จวนของอ้องอุ้น อ้องอุ้นก็อ้างว่าตั๋งโต๊ะมารับนางไปก่อนแล้ว โดยที่มารับนั้นก็เพื่อที่จะยกให้กับลิโป้ในภายหลัง
ลิโป้หลงเชื่อสนิท แต่เมื่อกลับเข้าวังก็ต้องพบกับภาพบาดใจ เมื่อตั๋งโต๊ะกำลังกอดเตียวเสี้ยนไว้ในอ้อมแขน และตั๋งโต๊ะก็บอกต่อเขาว่านี่คือนางสนมคนใหม่ของตน
ลิโป้เจ็บแค้นตั๋งโต๊ะยิ่งนัก ครั้นจะโวยวายกับตั๋งโต๊ะก็ไม่กล้า จึงไปอาละวาดที่จวนอ้องอุ้น
แน่นอนอ้องอุ้นรีบอธิบายว่าตนไม่รู้เรื่องและยังตำหนิอีกว่าตั๋งโต๊ะนั้นทำแบบนี้เท่ากับไม่เห็นแก่เกียรติของลิโป้เลย
รวมกับท่าทีของลิโที่แสดงออกกับตั๋งโต๊ะเมื่อมีเตียวเสี้ยนอยู่ด้วยนั้น ทำให้ตั๋งโต๊ะเริ่มไม่พอใจลิโป้เท่าไหร่ นับจากนั้นความสัมพันธ์ของลิโป้และตั๋งโต๊ะก็ไม่เหมือนเดิมอีก
เมื่อความโกรธแค้น ความหึงหวง ความเจ็บใจ มันประดังมากๆ รวมกับการยุยงของอ้องอุ้น ในที่สุดลิโป้ก็ตัดสินใจที่จะสังหารตั๋งโต๊ะ
อ้องอุ้นได้เข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้เพื่อให้ทรงมีราชโองการเรียกตัวตั๋งโต๊ะเข้าวังโดยบอกว่าจะยกบัลลังก์ให้ ซึ่งแน่นอนว่าตั๋งโต๊ะก็หลงเชื่อและเข้ามาตามที่อ้องอุ้นได้วางแผนไว้ จากนั้นก็อาศัยที่ตั๋งโต๊ะเข้ามาถึงพระราชทานเพียงลำพัง ลิโป้ก็ได้ลงมือสังหารตั๋งโต๊ะด้วยตนเอง
เมื่อสังหารตั๋งโต๊ะได้แล้วลิโป้ก็เอาเตียวเสี้ยนมาเป็นของตนและเขากับอ้องอุ้นก็เข้าควบคุมอำนาจในเมืองหลวงแต่ก็ได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น เพราะกองทัพของลิฉุยและกุยกีซึ่งเป็นลูกสมุนของตั๋งโต๊ะได้บุกเข้ามาในเมืองหลวง
ทหารของลิโป้นั้นมีน้อยกว่า และในที่สุดอ้องอุ้นก็ต้องจบชีวิตลงท่ามกลางความวุ่นวาย ส่วนลิโป้นั้นก็อาศัยความวุ่นวายนั้นหลบหนีออกมา
นับจากตรงนี้ไปแล้วในหนังสือสามก๊กไม่ได้มีการพูดถึงเตียวเสี้ยนอีกเลย
ในสามก๊กฉบับเฉินโซ่วนั้น กล่าวถึงความขัดแย้งของลิโป้กับตั๋งโต๊ะว่า ลิโป้กับตั๋งโต๊ะนั้นหมายปองสตรีคนเดียวกันทำให้เกิดความบาดหมางและอาจจะมีเรื่องของอำนาจด้วย ทำให้สุดท้ายแล้วลิโป้จึงได้เข้าร่วมกับอ้องอุ้นร่วมสังหารตั๋งโต๊ะ ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงชื่อของเตียวเสี้ยนเลย
ตัวเตียวเสี้ยนนั้นอาจจะมีหรือไม่มีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ ชื่อของเธอก็ได้กลายเป็นตัวแทนของหญิงสาวผู้ที่ยอมเสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือชาติบ้านเมืองให้พ้นภัยในขณะที่เหล่านักรบชายชาตรีไม่อาจจะเทียบได้ และจะยังคงมีชื่อต่อไปตราบนับพันนับหมื่นปี
กลับมาที่เรื่องของลิโป้อีกครั้ง เมื่อหนีออกมาได้แล้วเขาก็ได้กลายเป็นแม่ทัพพเนจรที่นำกองกำลังของตนเดินทางไปเรื่อยๆ ไม่มีหลักแหล่ง และไม่ยอมมีใครช่วยรับไว้ เพราะคนอย่างเขานั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่าไร้ซึ่งคุณธรรมและสัจจะ การที่เขาสังหารพ่อบุญธรรมของตนถึง 2 คนก็น่าจะเป็นหลักฐานที่เพียงพออยู่แล้ว
นับแต่ตั๋งโต๊ะตายไปเวลาผ่านไปถึง 2 ปีเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายในแผ่นดิน เหล่าขุนศึกจำนวนมากต่างก็ก้าวขึ้นมาแย่งชิงความเป็นใหญ่โดยไม่ได้สนใจองค์ฮ่องเต้ที่ถูกพวกลิฉุยกุยกีคุมตัวอยู่ที่เมืองเตียงฮัน
โจโฉได้ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองกุนจิ๋วมีอำนาจปกครองถึง 3 หัวเมือง และกำลังยกทัพนับหมื่นบุกไปตีเอาเมืองชีจิ๋วของโตเกี๋ยมซึ่งฝ่ายโตเกี๋ยมนั้นได้เล่าปี่มาอาสาช่วยเหลือ
ลิโป้ได้ฉวยโอกาสนั้นนำกองทัพของตนเข้าตลบหลังและด้วยรับความช่วยเหลือจากตันก๋งและเตียวเมาซึ่งเคยเป็นคนของโจโฉแต่แปรพักตร์ ยึดเอาเมืองเอียนเสียมาได้
โจโฉนำกองทัพกลับมาและในเวลาไม่กี่เดือนก็สามารถยึดเอาเมืองที่เสียไปคืนมาได้และตีจนลิโป้จนแตกพ่ายไป ลิโป้ที่พ่ายศึกกลายเป็นเสือไร้ถิ่น เมื่อไม่มีที่จะไปและทหารก็เหลือไม่มาก ด้วยคำแนะนำของตันก๋ง ทางเลือกที่เหลือคือการไปขอพึ่งพิงเล่าปี่ซึ่งได้รับสืบทอดเมืองชีจิ๋วมาจากโตเกี๋ยม
เล่าปี่เลี้ยงต้อนรับลิโป้เป็นอย่างดี และทางลิโป้นั้นได้อ้างว่าที่เล่าปี่สามารถได้ครองเมืองชีจิ๋วนั้น เป็นเพราะครั้งที่โจโฉนำทัพจะมาตีเมืองชีจิ๋วแล้วต้องถอนทัพกลับนั้น เป็นเพราะว่าตนได้เข้ายึดเมืองเอียนเสียของโจโฉได้ โจโฉจึงได้ละจากทางชีจิ๋วไป และเป็นเหตุให้เล่าปี่ได้เมืองชีจิ๋วมาในภายหลังโดยไม่ต้องรบ
ด้วยข้ออ้างนี้แม้กวนอูและเตียวหุยจะไม่พอใจ แต่มันก็เป็นความจริง เล่าปี่จึงได้รับลิโป้ไว้และยกเมืองเสียวพ่ายซึ่งเป็นเมืองในอาณัติไว้ให้เขาดูแล
แต่เสือย่อมเลี้ยงไม่เชื่อง ยิ่งเป็นเสือที่ชื่อว่าลิโป้ด้วยแล้ว
เล่าปี่ได้ข่าวว่าอ้วนสุดยกทัพหมายจะมาตีเอาชีจิ๋ว เล่าปี่จึงต้องนำทัพออกต้านโดยนำกวนอูไปด้วยแต่ทิ้งเตียวหุยไว้ให้เฝ้าเมือง
แต่เตียวหุยนั้นดื่มเหล้าจนเมามาย และได้เสียท่าให้ลิโป้ที่รอโอกาสอยู่แล้วร่วมมือวางแผนกับโจปา ขุนนางชีจิ๋วที่ไปเข้าฝ่ายลิโป้ นำกองกำลังเข้ายึดเมืองชีจิ๋วไว้ได้อย่างง่ายดาย
เตียวหุยที่หนีตายไปหาเล่าปี่ที่ตั้งทัพอยู่จึงได้รายงานเรื่องทั้งหมด เล่าปี่ซึ่งไม่อาจเคลื่อนทัพไปไหนได้เพราะมีทัพของอ้วนสุดตรึงไว้ จึงตัดสินใจนำทัพกลับชีจิ๋ว โดยมีทัพของอ้วนสุดตามติด แต่ลิโป้นั้นได้ช่วยคลี่คลายเรื่องให้ โดยท้าพนันกับอ้วนสุดว่าเขาสามารถยิงเกาทัณฑ์ถูกเสาธงบนกำแพงเมืองที่อยู่ห่างไกลมากได้ เขาก็ขอให้อ้วนสุดถอยทัพ เพราะขณะนั้นลิโป้ก็กำลังจะผูกมิตรกับอ้วนสุดด้วยการส่งลูกสาวให้แต่งงานกับลูกของอ้วนสุด ซึ่งแน่นอนว่าฝีมือระดับเทวดาของลิโป้นั้นย่อมไม่พลาดเป้า ทำให้อ้วนสุดต้องยอมถอนทัพกลับไป ด้วยเหตุนี้เล่าปี่จึงต้องติดหนี้บุญคุณต่อลิโป้ไป และยอมสวามิภักดิ์ต่อเขา ซึ่งคราวนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ที่เรียกกันว่า เจ้าบ้านกลายเป็นแขก ลิโป้สั่งให้เล่าปี่ไปอยู่เมืองเสียวพ่ายเหมือนครั้งที่เล่าปี่ได้สั่งให้ลิโป้ไปในครั้งแรก ซึ่งเมืองเสียวพ่ายนั้นขาดแคลนกำลังทหารและเสบียง ดังนั้นตัวเล่าปี่จึงไม่อาจทนรับสภาพได้และในที่สุดเขาก็ตัดสินใจไปขอพึ่งพิงโจโฉเพื่อจะให้โจโฉช่วยตีเอาเมืองชีจิ๋วคืน
ลิโป้นั้นถือว่าโจโฉเป็นศัตรู และเมื่อรู้ว่าเล่าปี่ไปอยู่กับโจโฉจึงโกรธมาก รีบนำกองทัพไปตีกับโจโฉทันที
แต่ครานี้ทัพของโจโฉนั้นแข็งแกร่งกว่าเดิมมากรวมกับเขานั้นมีขุนศึกและที่ปรึกษามากมาย ทำให้ลิโป้ปราชัยต่อโจโฉครั้งแล้วครั้งเล่า
เวลานี้ชื่อของนักรบอันดับหนึ่งในแผ่นดินแทบจะไม่เหลืออีกแล้ว รวมกับตัวลิโป้นั้นไปหลงเชื่อแผนการที่สองพ่อลูกตันกุ๋ยและตันเต๋งซึ่งได้แอบสวามิภักดิ์โจโฉไปแล้ว
นั่นคือในการรบที่ชีจิ๋วนั้น แทนที่ลิโป้จะนำทัพออกมาประจันหน้ากับฝ่ายโจโฉอย่างตรงๆ เขากลับเลือกวิธีที่ไม่สมกับเป็นวิธีของยอกนักรบผู้กล้าอันดับหนึ่งอย่างการใช้แผนปิดเมือง
เขาเลือกที่จะปิดประตูเมืองทุกด้านและตั้งมั่นป้องกันอยู่แต่ในเมืองเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเขาในอดีตล่ะก็คงจะไม่ทำเช่นนี้แน่
อาจเพราะการรบที่เริ่มพ่ายแพ้ติดๆกัน รวมกับฝีมือในเชิงยุทธ์ที่ดูเหมือนจะถดถอยลงตามอายุที่มากขึ้น ไม่สิ อายุที่มากขึ้นไม่น่าจะเป็นอุปสรรค แต่ที่ถดถอยลงคือกำลังใจต่างหาก ตันก๋งซึ่งเป็นคนสนิทที่ภักดีต่อเขาอย่างแท้จริงนั้น เขากลับไม่คิดใช้งานอีกแต่ไปเลือกใช้แผนการของ 2 พ่อลูกตันกุ๋ย ซึ่งได้แอบสวามิภักดิ์กับโจโฉแล้ว เมื่อเอาแต่ปิดตัวเองอยู่ในเมืองก็เท่ากับรอเวลาแพ้ และคนฉลาดอย่างโจโฉก็เร่งเวลานั้นขึ้นมาอีกด้วยการใช้แผนทลายเขื่อนกั้นแม่น้ำจากแม่น้ำกิซุย ให้ท่วมเข้าไปในเมืองของลิโป้ เพียงเท่านี้ก็ทำลายกำลังขวัญทหารและเสบียงได้แล้ว
ว่ากันว่าการโจมตีเมืองที่ดีที่สุดคือการโจมตีทางใจ ซึ่งโจโฉโจมตีได้ตรงจุดจริงๆ
และในที่สุดเมื่อกำลังขวัญทหารตกต่ำถึงขีดสุด ลิโป้ซึ่งกำลังเผลอก็ถูกทหารของตนเองจับเป็นและประตูเมืองชีจิ๋วก็ถูกเปิดออกทำให้ทหารของโจโฉเข้าเมืองได้อย่างง่ายดาย และขุนศึกผู้ยิ่งยงที่ได้ทำให้ทหารนับแสนต้องตกตะลึงเมื่อครั้งศึกที่กิสุยก๋วนก็ต้องสิ้นท่าและถูกประหารลง
ในวาระสุดท้ายของลิโป้นั้น ผมมีความรู้สึกขัดใจอย่างหนึ่งว่าเขารักตัวกลัวตายเกินไป เพราะในวาระสุดท้ายนั้นเขาร้องขอชีวิตต่อโจโฉแทนที่จะยอมตายอย่างยอดนักรบ ซึ่งในหนังสือสามก๊กได้บรรยายตรงนี้ไว้ชัดเจน อันที่จริงโจโฉนั้นคิดที่จะไว้ชีวิตลิโป้ เพราะเขาเสียดายในฝีมือการรบ แต่ว่าเล่าปี่ได้เสนอแนะให้ฆ่าเสีย โดยให้เหตุผลว่าคนไร้คุณธรรมเช่นนี้หากอยู่ไปก็จะมีแต่แว้งกัดผู้อื่น
และในที่สุดลิโป้ก็ถูกประหารชีวิต หากแม้นเขามีสติปัญญาและคุณธรรมมากกว่านี้สักเล็กน้อยจุดจบของเขาอาจไม่เป็นเช่นนี้ ซึ่งไม่แน่ว่าเขาอาจจะได้กลายเป็นผู้นำก๊กที่ 4 ก็เป็นได้
เพราะหากเขามีคุณธรรมมากกว่านี้เจ้าเมืองและขุนศึกทั้งหลายย่อมล้วนแต่อยากจะร่วมมือกับเขา เพราะเขาเป็นสุดยอดนักรบไร้เทียมทานของยุคนั้น แม้ว่าเขาจะสิ้นชีพเร็วเกินไป และชื่อเสียงของเขาจะเน่าเหม็นในฐานะของคนเนรคุณคนก็ตาม แต่ถึงกระนั้นหากถามว่าใครคือยอดนักรบผู้มีฝีมือเป็นอันดับหนึ่งแห่งยุคสามก๊กแล้วล่ะก็ ชื่อของลิโป้จะถูกล่าวถึงเป็นชื่อแรกอย่างแน่นอน

Create Date : 10 เมษายน 2549 |
| |
|
Last Update : 10 เมษายน 2549 16:05:11 น. |
| |
Counter : 7710 Pageviews. |
| |
|
|
|
เตียวหยุน จูล่ง - สุภาพบุรุษนักรบ(2)
ต่อ......
ภารกิจในการยึดฮันต๋งนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากแม่ทัพที่เฝ้าฮันต๋งนั้นก็คือแฮหัวเอี๋ยน 1 ใน 4 ขุนพลคนสนิทของโจโฉและยังเป็นญาติที่โจโฉไว้ใจมาก และยังมีเตียวคับ แม่ทัพผู้ห้าวหาญและชำนาญกลศึกเป็นรองแม่ทัพด้วย
เล่าปี่ได้ส่งฮองตงแม่ทัพชราผู้เป็นจอมขมังธนูแห่งยุค เป็นทัพหน้าและมีหวดเจ้งเป็นที่ปรึกษา และด้วยแผนการรบของหวดเจ้งฮองตงก็สามารถตัดศีรษะแฮหัวเอี๋ยนและตีซิหลงแตกพ่ายพร้อมกับยึดเมืองฮันต๋งได้
ปีค.ศ.219 โจโฉต้องการล้างแค้นให้แฮหัวเอี๋ยน จึงยกกองทัพกว่า 2 แสนมาล้างแค้น ฮองตงซึ่งกำลังลำพองในชัยชนะจึงขออาสาเป็นทัพหน้าอีกครั้ง
แต่จูล่งเองคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าฮองตงอายุมากแล้วอาจพลาดพลั้งได้ ตัวเองจึงขอไปแทน แต่เมื่อต่างก็ไม่ยอมกันเพราะถือในฝีมือทั้งคู่ เล่าปี่จึงได้ให้ฮองตงกับจูล่งเป็นทัพหน้าไปทั้งคู่ โดยฮองตงเป็นแม่ทัพใหญ่ จูล่งเป็นรองแม่ทัพ
เมื่อทั้งคู่ช่วยกันวางแผนการรบนั้น ฮองตงกับจูล่งซึ่งต่างก็ถือดีในฝีมือของตน ต่างจะขอเป็นฝ่ายยกทัพออกไปก่อน ในที่สุดทั้งคู่ยอมถอยให้กันคนละก้าว และอาศัยวิธีจับสลากเลือกว่าใครจะได้เป็นคนยกทัพออกไปก่อน
ฮองตงจับชนะ ได้ออกไปก่อน จูล่งจึงบอกว่าให้ท่านไปก่อนแต่หากเลยเที่ยงเมื่อไหร่ฮองตงยังไม่ชนะเขาจะยกทัพไปสมทบ เพราะไม่อยากเห็นแม่ทัพผู้เก่งกาจต้องตายไป โดยเมื่อเลยเที่ยงแล้วให้เป็นเวลาของเขา
ฮองตงยอมตกลง จึงยกทัพไปก่อน ส่วนจูล่งรอฟังผลการรบอยู่ในค่าย จนเมื่อเวลาเที่ยงแล้วยังไม่มีข่าวดีมาจากฮองตง เขาจึงตัดสินใจยกทัพตามไปเพราะได้สัญญากันไว้แล้ว เมื่อยกทัพไปถึงพบว่าการสู้รบอยู่บนเนินเขาซึ่งจูล่งไม่อาจจะขี่ม้าอย่างที่ตัวเองถนัดขึ้นไปได้
แต่เขาไม่สนใจ รีบนำกองทัพเดินเท้าบุกขึ้นเนินเขาและตีข้าศึกจนแตกกระเจิงและมาติดอยู่ที่นายพลเจาปิงของฝ่ายโจโฉ จูล่งนั้นนึกว่าเจาปิงเป็นทหารของตัวเองจึงตะโกนถามไปว่าแล้วพวกเราอยูไหนกันหมด เจาปิงตอบกลับว่า พวกมึงตายหมดแล้ว จูล่งโกรธจึงฟันเจาปิงตายในฉับเดียวแล้วยกพลขึ้นไหล่เขาที่ๆฮองตงกำลังรบอยู่
เมื่อขึ้นมาถึงก็พบว่าทัพของฮองตงกำลังตกอยู่กลางวงล้อมข้าศึก จูล่งจึงบุกตีฝ่าทัพโจโฉจนแตกพ่ายและพาตัวฮองตงหนีออกมา ระหว่างทางหนีกลับนั้นไม่ว่าจะมีทหารข้าศึกขวางมากน้อยแค่ไหน ก็ถูกนักรับชุดขาวตีแตกกระเจิงทุกครั้ง จนโจโฉที่สังเกตการณ์จากที่สูงถึงกับเอ่ยว่า เจ้านั่นมันใครกัน ทุกที่ๆมันเดินไปราวกับไม่มีทหารของเราขวางอยู่เลย ทหารฝ่ายเสนาธิการบอกโจโฉว่านั่นคือ เตียวจูล่ง ชาวเสียงสาน
โจโฉเมื่อได้ฟังถึงกับตกตะลึงและร้องว่า ไอ้เสือร้ายเมื่อเนินเตียงปันนั่นยังมีชีวิตอยู่อีกหรือ และสั่งหยุดทัพไม่ให้รุกต่อทันที
เมื่อกลับมาที่ค่ายจูล่งบอกฮองตงว่าเขายกทัพไปช่วยครั้งนี้เพราะเห็นว่าตะวันถึงเที่ยงแล้วจึงเข้ารบตามที่ได้สัญญากันไว้ ฮองตงเมื่อได้ฟังถึงกับน้ำตาคลอด้วยความซาบซึ้งในน้ำใจของจูล่ง
จูล่งเมื่อกลับค่ายแล้วก็ไม่ประมาทเพราะรู้ว่าโจโฉต้องสั่งทหารรุกตามมาแน่ จึงได้วางกลอุบายหมายจะตลบหลังโจโฉ
นั่นคือจูล่งเห็นว่าทัพของโจโฉที่ยกตามมานั้นมีมากกว่าหลายเท่า เขาจึงได้สั่งให้เปิดประตูค่าย แต่ให้กองทหารธนูแอบซุ่มไว้ ส่วนตัวเองขี่ม้าถือทวนออกไปยืนหน้าค่ายเพียงลำพัง
ทัพหน้าของโจโฉศัตรูที่ยกมานั้นเคยเห็นความเก่งกาจของจูล่งเมื่อครั้งเนินเตียงปันมาแล้วจึงได้แต่หยุดอยู่หน้าค่ายไม่กล้ายกเข้าไป ส่วนตัวเขานั้นยืนตะโกนท้าทายว่าหากศัตรูไม่กลัวตายก็เข้ามาได้เลย
ทัพโจโฉได้แต่หยุดอยู่แบบนั้นเพราะกลัวว่าจูล่งจะซุ่มทหารไว้ และเมื่อลังเลและเริ่มถอยทัพกลับ จูล่งถือโอกาสที่ศัตรูถอยทัพสั่งระดมยิงธนูเข้าใส่และยกทหารกองหนึ่งเข้าตีทัพของโจโฉจนแตกกระเจิงไปไกล
ยุทธวิธีของจูล่งครั้งนี้นับเป็นกลศึกตามแบบฉบับของจูล่งที่มักเอาตัวเข้าเสี่ยงภัย ซึ่งหลังจากนี้เขาจะใช้กลศึกทำนองนี้ตลอด โดยอาศัยวีรกรรมที่เนินเตียงปันซึ่งดังไปทั่วมาใช้ในการข่มขวัญข้าศึกล่วงหน้า แล้วจึงอาศัยกำลังทหารเข้าหักอย่างรวดเร็ว ซึ่งนับว่าได้ผลอย่างยอดเยี่ยม ทำให้เขาชนะศึกมาตลอด
จากผลการรบครั้งนี้โจโฉถึงกับบอกต่อทหารของตนเองว่า หากพบจูล่งเมื่อใด ต้องระวังตัว ซึ่งเมื่อเล่าปี่มาตรวจผลการรบถึงกับออกปากชมจูล่งว่า มีดีไปทั้งตัว และยกย่องจูล่งเป็น หู่เวยเจียงจวุน หรือ นายพลพยัคฆ์เดช
ดีในที่นี้หมายถึงดีที่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกาย ที่เล่าปี่พูดแบบนี้เพราะคนจีนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนที่มีความกล้าหาญจะมีดีใหญ่ และความกล้าของจูล่งนั้นก็มีมากมายมหาศาล
เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกในสามก๊กทุกฉบับ
หลังเสร็จศึกที่ฮันต๋งนี้แล้ว เล่าปี่ก็ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋อง ก่อตั้งอาณาจักรจ๊กก๊กขึ้นและแต่งตั้งให้จูล่งขึ้นเป็น1 ในห้านายพลทหารเสือซึ่งว่ากันว่าเป็นยอดขุนศึกแห่งยุค ซึ่งประกอบไปด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง
โดยจูล่งนั้นยังคงรับตำแหน่งองครักษ์พิทักษ์ครอบครัวเล่าปี่อยู่เช่นเดิม
ตอนนี้มีจุดน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเป็นจุดเล็กๆที่คนอ่านสามก๊กหลายคนอาจมองข้ามไป โดยเฉพาะคนที่ดูหนังคงไม่รู้ เพราะในหนังไม่ได้เอ่ยถึงเลย ในบันทึกประวัติศาสตร์นั้นได้บอกไว้ชัดแจ้งว่าเล่าปี่ที่เพิ่งยึดเมืองเสฉวนได้นั้น ได้ฉลองความสำเร็จอย่างใหญ่โต และได้นำเอาทรัพย์สินเงินทองที่ได้จากเล่าเจี้ยงมาแจกจ่ายเป็นรางวัลให้แก่พรรคพวกดังนี้
กวนอู เตียวหุย ขงเบ้ง ได้รับทองคำแท่งคนละห้าร้อยชั่ง เงินแท่งหนึ่งพันชั่ง เงินเหรียญห้าสิบล้านอีแปะ ผ้าแพรหนึ่งหมื่นพับ
และเรือกสวนไร่นาซึ่งมิได้มีผู้ใดจับจองทำมาหากินนั้นให้แบ่งแก่ขุนนางใหญ่น้อยเป็นกำลังทำราชการสืบไป
แต่จูล่งคัดค้านว่าเมืองเสฉวนนี้มีศึก ราษฎรต่างพลัดพรากจากภูมิลำเนาที่ทำมาหากิน ซึ่งจะเอาเรือกสวนไร่นามอบให้ขุนนางนั้น ราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของก็จะได้รับความเดือดร้อน ท่านจงให้ป่าวร้องไพร่บ้านพลเมืองว่า ภูมิลำเนาและเรือกสวนไร่นาของผู้ใดก็ให้เข้ามาอยู่ทำมาหากินดังเก่า ราษฎรจึงมีความสุขสืบไป เล่าปี่เห็นชอบด้วย ก็ให้ทหารไปประกาศป่าวร้องแก่ราษฎรตามที่จูล่งว่า
จากตรงนี้จะเห็นอะไรได้หลายอย่างว่าเล่าปี่นั้นเมื่อสามารถเข้ายึดเมืองเสฉวนได้แล้วก็เริ่มเผยธาตุแท้อีกด้านของตนออกมา หากไม่เพราะจูล่งเป็นผู้ที่ออกมาคัดค้านแบบนั้นราษฎรคงจะได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว
จูล่งเป็นขุนศึกเพียงไม่กี่คนของยุคนั้นที่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นไปกับของรางวัลและเงินทองที่ได้รับ เขาไม่เคยขอของใดๆจากเล่าปี่เลย แม้ตนจะมีความชอบมากมายแต่ก็มักไม่พูดถึงความชอบของตนนัก และไม่ชอบโอ้อวดหรือยกตนข่มท่าน
นี่จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาทำงานต่างๆไม่ค่อยพลาด ทั้งนี้เพราะเขารู้จักที่จะอ่อนน้อมต่อผู้อื่น สุขุมเยือกเย็น และรู้จักใช้สติปัญญา ที่สำคัญเลยคือยึดถือคุณธรรมเป็นที่ตั้ง เหตุนี้เขาจึงเป็นขุนศึกเพียงคนเดียวในจ๊กก๊กของเล่าปี่ที่ขงเบ้งนิยมใช้งานมากที่สุด เวลาที่ต้องอาศัยคนที่เชื่อใจได้เพราะในยามคับขันที่จำต้องใช้ความกล้าและฝีมือรบพุ่งเข้าแก้ไข จูล่งก็มีฝีมือที่ไม่เป็นสองรองใครติดตัว
และในปลาย ปี ค.ศ.219 ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เมื่อกวนอูที่อยู่เกงจิ๋วประกาศศักดายกทัพเข้าตีเมืองเซียงหยางที่โจหยินแม่ทัพแห่งก๊กวุยของโจโฉเฝ้าอยู่ แต่ขณะที่บุกตะลุยไปนั้นได้พลาดท่าเสียทีให้ลิบองและลกซุนแม่ทัพแห่งก๊กง่อของซุนกวนซึ่งแอบเข้ามาตลบหลัง และถูกจับประหารชีวิต
เมื่อเสียเกงจิ๋วให้ซุนกวนแล้วเล่าปี่และเตียวหุยก็เสียใจอย่างหนักและคิดจะยกทัพไปแก้แค้นแต่เหล่าขุนนางทัดทานไว้ เล่าปี่จึงต้องหยุดรอก่อน
ปีค.ศ.222 เล่าปี่ไม่รออีกแล้วเหตุหนึ่งเพราะเตียวหุยคอยรบเร้า ทำให้ตัดสินใจยกกองทัพไปตีซุนกวนเพื่อล้างแค้น ช่วงที่เตรียมทัพนั้นเตียวหุยโดนทหารของตัวเองสังหารและหนีไปหาซุนกวน ดังนั้นในเดือน 6 โดยที่ไม่สนใจคำทัดทานของจูล่งรวมถึงฎีกาห้ามปรามของขงเบ้ง
เล่าปี่เกณฑ์คนถึง 7 แสนคนโดยมีฮองตงเป็นทัพหน้า ส่วนจูล่งเนื่องจากเขาเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการทำศึกครั้งนี้จึงได้เป็นเพียงกองส่งเสบียงเท่านั้น รวมไปถึงขงเบ้งที่ต้องอยู่เฝ้าเมืองเสฉวน
ผลจากการที่ไม่มีจูล่งอยู่ในทัพหน้านั้นสาหัสยิ่งนักเมื่อฮองตงแม่ทัพเฒ่าใจร้อนเกินไปในการเข้าโจมตีจนต้องจบชีวิตลง และอุยเอี๋ยนแม่ทัพที่ชำนาญการศึกอีกคนต้องอยู่เฝ้าเมืองฮันต๋ง นั่นทำให้เล่าปี่ไม่มีขุนศึกที่ชำนาญด้านการศึกหลงเหลือแม้แต่คนเดียว และเมื่อต้องไปปะทะกับลกซุน แม่ทัพหนุ่มผู้เป็นบัณฑิตอัจฉริยะ กองทัพ 7 แสนของเล่าปี่ก็ถูกไฟคลอกตายและแตกพ่ายยับเยิน ซึ่งศึกครั้งนี้ถูกเรียกว่า สงครามอิเหลง
ยังดีที่จูล่งซึ่งอยู่แนวหลังนำกองทัพของตนช่วยพาเล่าปี่หนีกลับมาได้
จากนั้นไม่นานเล่าปี่ก็ป่วยหนักและประทับอยู่ที่เมืองเป๊กเต้เสียเพราะไม่กล้ากลับไปสู้หน้าขงเบ้งและเหล่าขุนนางในเสฉวนที่ทัดทานเรื่องศึกครั้งนี้
ปี ค.ศ.223 เล่าปี่เรียกตัวลูกชาย 2 คนและขงเบ้งให้มาเข้าเฝ้าพร้อมทั้งสั่งให้ขงเบ้งช่วยดูแลบ้านเมืองต่อ จากนั้นรับสั่งกับจูล่งให้ช่วยดูแลอาเต๊าและครอบครัวของพระองค์ด้วยและสิ้นพระชนม์ไป
เมื่อเล่าปี่สิ้นพระชนม์ลง อาเต๊าจึงได้ขึ้นครองราชย์ด้วยวัยเพียง 16 ปี นามพระเจ้าเล่าเสี้ยน
ขงเบ้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นมหาอุปราชมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ส่วนจูล่งได้รับแต่งตั้งเป็น หย่งชาง ถิงโหว ซึ่งเป็นตำแหน่งอะไรผมเองก็ไม่แน่ใจนัก แต่กระนั้นก็ยังคงรับหน้าที่องครักษ์ของเล่าเสี้ยนอยู่เช่นเดิม
เวลาผ่านไปหลายปี ขงเบ้งในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด คิดที่จะรวบรวมทหารบุกตีวุยก๊กซึ่งในเวลานั้นโจผีบุตรของโจโฉได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้นามพระเจ้าเว่ยวุ๋นตี้
ก่อนจะเปิดศึกนั้นขงเบ้งได้ยกทัพบุกลงใต้เพื่อปราบเผ่าหมานที่กระด้างกระเดื่องโดยมีจูล่งร่วมทัพไปด้วย แต่ผลงานของจูล่งในการศึกนี้ไม่ได้เด่นชัดนักจึงไม่ขอพูดถึง
จากนั้นเมื่อถึงปี ค.ศ.228 หลังจากที่ขงเบ้งสามารถปราบเผ่าหมานทำให้ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนสงบลงแล้ว เป้าหมายต่อไปของขงเบ้งก็คือการโจมตีวุยก๊กที่ครอบครองภาคกลางและภาคเหนือ
ขงเบ้งยกทัพใหญ่บุกตีหัวเมืองต่างๆทางทิศเหนือเพื่อใช้เป็นช่องทางสำหรับเข้าตีเมืองเตียงฮันในภายหลัง ซึ่งขณะนี้จูล่งมีอายุได้ 70 กว่าปีแล้ว ผมขาวไปทั้งหัว หน้าตามีร่องรอยแห่งความชรา แต่ความห้าวหาญและฝีมือรบอันเลื่องลือนั้นยังคงดังเดิม
ในการเข้าตีวุยก๊กนี้ ขงเบ้งเรียกระดมนายพลและแม่ทัพทั้งหมดกว่า 33 คน แต่ในนั้นไม่มีชื่อของจูล่ง ซึ่งเป็นแม่ทัพที่ฝีฝีมือการรบเป็นอันดับหนึ่งของแคว้นไม่
จูล่งจึงรีบเข้าพบขงเบ้งและถามว่าทำไมศึกใหญ่แบบนี้จึงไม่มีชื่อตนอยู่ในฐานะแม่ทัพด้วย ขงเบ้งจึงว่าเมื่อครั้งไปปราบเบ้งเฮ็กก็เสียม้าเฉียวซึ่งป่วยหนักไปคนแล้ว บัดนี้ห้าทหารเสือผู้ยิ่งยงแห่งจ๊กก๊กเหลือเพียงจูล่งเป็นคนสุดท้าย และมีอายุมากแล้วกลัวว่าจะพลาดท่าในสนามรบและทำให้เสียเกียรติประวัติไป
จูล่งจึงว่าข้าทำศึกมาตั้งแต่หนุ่มจนอายุเพียงนี้ ก็ยังไม่เคยพ่ายแพ้แก่ผู้ใด ในที่สุดขงเบ้งก็ยอมให้จูล่งเป็นแม่ทัพหน้าในการเข้าตีข้าศึกก่อนผู้อื่น ซึ่งเหตุหนึ่งเป็นเพราะขงเบ้งรู้ว่าจูล่งเป็นผู้ที่พระเจ้าเล่าปี่อดีตฮ่องเต้แห่งจ๊กก๊กผู้ล่วงลับให้ความรักใคร่นับถือมาก จึงไม่กล้าขัดใจเท่าไหร่
ดังนั้นตำแหน่งแม่ทัพหน้าซึ่งควรจะเป็นของคนหนุ่มจึงกลายเป็นของแม่ทัพชราไป
ในการศึกครั้งนี้กองหน้าของจูล่งมีทหารเพียง 5 กองพัน แต่ฝ่ายก๊กวุย ซึ่งให้แม่ทัพแฮหัวหลิม ผู้เป็นเขยของพระเจ้าโจผีออกมารับศึกนั้นมีกองพลถึง 20 กองพล ส่วนทัพหน้านั้นมี 8 กองพล
จำนวนทหารนั้นผมไม่ทราบแน่ชัดแต่ดูจากจำนวนกองพลที่ต่างกันมากนั้นก็บอกให้รู้แล้วว่าจำนวนทหารของทั้ง 2 ฝ่ายต่างกันมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เป็นตัวแปรนั้นก็คือการที่กองกำลัง 5 กองพันนั้นมีผู้บังคับบัญชาคือจูล่ง
ผู้นำทัพหน้าของแฮหัวหลิมนั้นคือ ฮันเต๊ก ซึ่งมีชื่อในด้านการเป็นมือขวาน เขามีลูกชาย 4 คน เอ๋ง เอี๋ยว เขง และกี๋ ซึ่งทั้ง 4 ต่างก็เชี่ยวชาญในการรบเช่นกัน
ในการปะทะของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น จูล่งขี่ม้าขาวอยู่หน้าทัพของตน เตรียมปะทะกับกับฮันเต๊กและลูกทั้ง 4 คน
ฮันเอ๋งเข้าปะทะคนแรกและเสียท่าให้กับจูล่งด้วยการโจมตีเพียงสามท่า เอี๋ยว เขงและกี๋จึงเข้ามาพร้อมกัน และรุมจูล่งทั้ง 3 ด้านแต่ก็ไม่เทียบกับความโชกโชนในการรบของจูล่งได้ สุดท้ายเอี๋ยวถูกจับเป็นเชลย เขงและกี๋ตายในที่รบ
ฮันเต๊กผู้พ่อถึงกับตกตะลึงในฝีมือการรบที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนจึงควบม้าหนีเข้าเมือง แฮหัวหลิมโกรธมากจึงให้จัดกำลังพลใหม่และให้ฮันเต๊กแก้ตัว
ฮันเต๊กจึงนำกองทัพออกมาอีกหมายจะกู้ชื่อของจอมขวานแห่งวุยก๊ก แต่เมื่อเข้าปะทะกับจูล่งเพียงสามท่าก็ถูกแทงตาย ทัพของแฮหัวหลิมจึงแตกพ่ายอีกครั้ง
เตงจี๋ผู้เป็นรองแม่ทัพได้เห็นฝีมือของคนวัย 70 อย่างจูล่งแล้วก็อดชื่นชมไม่ได้ที่จูล่งสามารถผลาญชีวิตแม่ทัพของศัตรูได้ 4 คนในวันเดียวและยังจับเป็นอีกหนึ่งด้วย
จากผลการรบนี้ทำให้ฝ่ายจ๊กก๊กได้ชัยและสามารถรุกคืบเข้าไปใกล้เมืองเตียงฮันทุกขณะ
ทัพของขงเบ้งนั้นมาหยุดที่เขากิสานซึ่งเป็นจุดที่จะเข้าสู่เตียงฮันเต็มที ทำให้ทางฝ่ายโจผีตัดสินส่ง สุมาอี้ ยอดอัจฉริยะจอมแสบแห่งยุคและเป็นผู้เดียวที่ขงเบ้งครั่นคร้ามเป็นแม่ทัพออกมาต้าน
ผลการศึกระหว่างขงเบ้งกับสุมาอี้นั้นผมจะขอสรุปอย่างย่อๆว่า เป็นเพราะการเลือกใช้คนที่ผิดพลาดของขงเบ้งทำให้ทัพจ๊กก๊กต้องพ่ายแพ้และถอยกลับอย่างไม่เป็นขบวน
ในศึกครั้งนี้จูล่งไม่ได้รับเป็นทัพหน้า แต่ขงเบ้งใช้ให้เขาไปเป็นทัพอิสระคอยโจมตีอยู่ที่ราบลุ่มกิก๊กซึ่งไม่ได้เป็นจุดที่ชี้ขาดการรบ
จูล่งนั้นแม้จะถูกใช้ให้แยกมาจากทัพใหญ่แต่ก็ยังคงความจมูกไวในแบบของยอดแม่ทัพอยู่ เขาจะคอยส่งคนไปตรวจสอบความเคลื่อนไหวของทัพใหญ่อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อรู้ว่าทัพใหญ่เกิดแตกพ่ายและถอยทัพกลับ เขาก็ไม่รอช้ารีบสั่งการให้ทัพของตนแปรสภาพเป็นทัพระวังหลังให้กับกองทัพใหญ่ทันที เผื่อว่าจะได้ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง
ในตอนนี้เองที่จูล่งได้ฝากกลยุทธ์ในการถอยระดับสูงเอาไว้ให้โลกได้ตะลึง ซึ่งตรงจุดนี้ผมค่อนข้างเสียดายอยู่บ้างเพราะว่าในหนังสามก๊กนั้นได้ตัดส่วนนี้ทิ้งไป ทั้งที่การถอยทัพกลับของจูล่งในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความกล้าหาญอันสูงส่งของเขาที่รวมอยู่ในตัวคนเดียว และเป้นการถอยทัพในแบบที่คงจะไม่มีใครอีกแล้วในประวัติศาสตร์จีนที่ทำได้เช่นเดียวกับเขา
เรื่องคือจูล่งรู้ว่าสุมาอี้จะต้องใช้ให้ทหารของตนเข้าติดตามกองทัพของขงเบ้ง ดังนั้นทัพของเขาซึ่งเป็นเพียงทัพเดียวที่ยังไม่ได้รับความบอบช้ำจึงควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้ทัพใหญ่ถอยกลับไปได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นเขาจึงให้เตงจี๋ซึ่งเป็นผู้ช่วยของตน ชักธงที่มีตัวหนังสือเขียนว่า จูล่ง ชาวเสียงสาน แล้วนำไปกับกองทัพจำนวนหนึ่งเพื่อหลอกล่อให้ทัพสุมาอี้ไล่ตามไป ส่วนตัวเองแอบซุ่มอยู่ในราวป่า เมื่อกองติดตามของศัตรูไล่ตามมาก็เข้าตีจนเกิดความสับสนและให้เตงจี๋นำกองทัพที่แกล้งถอยหันกลับเข้ารบ ก็จะขยี้ข้าศึกได้ราบเรียบ ซึ่งแผนการของจูล่งครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ถึงจะตีกองติดตามจนแตกไปแล้ว ก็ยังคงมีกองหนุนตามมาอีก จูล่งจึงใช้แผนการที่ถ้าไม่ใช่ตัวเขาเป็นผู้กระทำมันก็จะไม่บรรลุผล
นั่นคือจูล่งปล่อยให้กองพลของตัวเองเดินล่วงหน้าไปก่อน 12 กิโลจากนั้นตัวเขาเพียงผู้เดียว ขี่ม้าขาว เกราะขาว มือหนึ่งถือทวน ยืนรอทัพหนุนของข้าศึก
เมื่อกองหนุนของข้าศึกตามมาและเห็นนักรบชัดขาวขี่ม้าขาวยืนรออยู่เพียงลำพัง ก็รู้ว่านั่นคือ จูล่ง จึงไม่มีใครกล้าผลีผลามบุกเข้าไป จูล่งยืนคอยอยู่ถึงเวลาเย็นเมื่อไม่เห้นทหารข้าศึกบุกเข้ามาจึงควบม้าออกไป
การกระทำอันองอาจที่เหมือนเย้ยทหารวุยก๊กนี้ ได้ถูกรายงานไปให้กองบัญชาการทราบ ซึ่งแม่ทัพซึ่งผมจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร โกรธมากจึงสั่งให้นายพลบั้นแจ้งนำกองทหารเข้ารบและจับตัวจูล่งมาให้ได้
บั้นแจ้งเกิดฮึกเหิมจึงนำกองทหารไปหนึ่งกองร้อย และได้พบกับจูล่งที่กำลังควบม้าถอยกลับไปตามปกติ จูล่งเมื่อเห็นบั้นแจ้งกับทหารหนึ่งกองร้อยก็หัวเราะ ซึ่งระยะห่างตอนนั้นไกลเกินกว่าที่จะรบกันด้วยอาวุธ จูล่งจึงง้างเกาทัณฑ์ยิงใส่พู่หมวกของบั้นแจ้งจนร่วงลง เพื่อเป็นการประกาศฝีมือ
บั้นแจ้งแม้จะกลัวแต่ก็ยังรักเกียรติดังนั้นจึงควบม้าตรงเข้าหาจูล่งอย่างบ้าบิ่น จูล่งเห็นดังนั้นจึงใช้ฝีมือทวนเล่นงานจนบั้นแจ้งตกลงจากหลังม้า แต่จูล่งไม่ฆ่าเขาเพียงเอาปลายทวนจ่อคอหอยและกล่าวว่าถึงจะฆ่าไปก็เท่านั้น ให้บั้นแจ้งกลับไปแจ้งนายให้ยกทัพออกมาสู้ ตัวเขาจะคอยท่าอยู่ที่นี่
บั้นแจ้งรีบลนลานกลับไปแจ้งแม่ทัพของตน ฝ่ายจูล่งนั้นรออยู่จนถึงเวลาเย็นแต่ก็ยังไม่มีทัพศัตรูมา เขาจึงควบม้าออกไปตามเดิม ซึ่งนั่นเป็นเพราะแม่ทัพของวุยก๊กได้ขยาดต่อฝีมือของเขาเกินกว่าที่จะกล้าออกมาสู้ด้วย
จากนั้นกองทัพของจูล่งก็ได้กลับเข้าค่ายได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เสียทหารหรือม้าแม้แต่ตัวเดียว ทั้งที่กองทหารอื่นๆของจ๊กก๊กนั้นต่างก็แตกกระเจิงกลับมาหมด
ในหนังสือสามก๊กพูดถึงตรงนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อตอนที่ขงเบ้งกลับมาถึงค่ายนั้น รู้สึกกังวลใจกับจูล่งที่ตนได้สั่งให้แยกไปฏิบัติการโดยลำพัง เพราะในขณะที่ทุกทัพถอยกลับมาหมดแล้วยังไม่ได้ข่าวคราวจากทัพของจูล่งเลย
จนเมื่อจูล่งกับเตงจี๋นำกองทหารกลับมาโดยที่ไม่เสียไพร่พลแม้แต่คนเดียวนั้น ขงเบ้งถึงกับพิศวงว่าจูล่งทำได้อย่างไร จึงสอบถาม แต่จูล่งไม่สนใจที่จะตอบโดยพูดในทำนองที่ว่านั่นไม่ได้เป็นผลงานยิ่งใหญ่อะไรเพราะทัพใหญ่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้
เตงจี๋ทนเฉยไม่ไหวจึงบอกต่อขงเบ้งถึงการกระทำอันห้าวหาญและเปี่ยมด้วยปัญญาของจูล่งที่นำทหารถอยทัพกลับมาได้ เมื่อขงเบ้งได้ยินแล้ว ก็ถึงกับรำพึงว่า นี้เป็นทหารเอกหาผู้เสมอเหมือนมิได้
จากนั้นจึงปูนบำเหน็จให้อย่างงาม แต่จูล่งมิใช่คนที่หลงใหลในเงินทอง และของรางวัล เขาถือว่าทั้งกองทัพประสบความพ่ายแพ้ จึงไม่สมควรที่จะประทานรางวัล เขาจึงได้ปฏิเสธที่จะรับและกล่าวว่า ขอให้นำทองซึ่งเขาได้เป็นบำเหน็จนี้คืนแก่ท้องพระคลังเถิด และถ้าถึงกำหนดเบี้ยหวัดแล้วจงเอาแจกแก่ทหารทั้งปวง
ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนของจูล่งนี้ หนังสือสามก๊กได้บันทึกอย่างชัดเจนทุกฉบับว่า นับแต่นั้นไปขงเบ้งก็มีความคารวะจูล่งเป็นอันมาก
และนั่นก็เป็นวีรกรรมครั้งสุดท้ายของเขาด้วย
ปี ค.ศ. 229 ขงเบ้งตระเตรียมกำลังพลหวังที่จะบุกวุยก๊กอีกครั้ง ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนได้แปลไว้ดังนี้
ขณะเมื่อประชุมทหารพร้อมอยู่นั้น พอเกิดลมหัด้วนพัดมาถูกกิ่งสนตรงหน้าโรงประชุมขุนนางหักสะบั้นลง ทหารทั้งปวงพากันตกใจ ขงเบ้งจึงจับยามดู ก็รู้ว่าทหารเอกตายเป็นมั่นคง จึงบอกแก่ขุนนางและทหารทั้งปวงว่าบัดนี้ทหารเอกเขี้ยวศึกของเราตายเสียแล้ว พอขาดคำลงทหารคนหนึ่งก็เข้ามบอกว่า เตียวกอง เตียวหอง บุตรจูล่งจะเข้ามาหาท่าน
ขงเบ้งแจ้งดังนั้นก็รู้ว่าจูล่งถึงแก่ความตาย กระทืบเท้าทิ้งจอกสุราลงเสีย ขณะนั้นเตียวกอง เตียวหอง ก็เข้ามาคำนับบอกว่า เวลาคืนนี้ประมาณสามยามบิดาข้าพเจ้าถึงแก่ความตายแล้ว ขงเบ้งก็ร้องไห้รักจูล่งจนสลบไป ครั้นฟื้นขึ้นแล้วจึงว่า อันจูล่งถึงแก่ความตายนี้เสมือนหนึ่งแขนซ้ายพระเจ้าเล่าเสี้ยนหักด้วยเป็นนายทหารผู้ใหญ่เขี้ยวศึกมา ทหารทั้งปวงก็พากันร้องไห้รักจูล่งทุกคน แล้วขงเบ้งก็ให้บุตรจูล่งไปแจ้งแก่พระเจ้าเล่าเสี้ยน ณ เมืองเสฉวน
พระเจ้าเล่าเสี้ยนแจ้งว่าจูล่งถึงแก่ความตายก็ทรงพระกันแสงรำพันไปถึงความหนหลังทุกประการ แล้วก็ให้แต่งการศพจูล่งไปฝังไว้ที่สมควร จึงปลูกเป็นศาลเทพารักษ์ไว้บูชามาตราบเท่าทุกวันนี้ แล้วตั้งให้บุตรจูล่งทั้งสองเป็นทหารผู้ใหญ่
นี่คือครั้งสุดท้ายที่ได้กล่าวถึงจูล่งในสามก๊ก ความดีที่เขาได้กระทำไว้นั้น ได้รับผลตอบแทนเมื่อตายไปแล้วเมื่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนเห็นควรให้ตั้งบรรดาศักดิ์ย้อนหลังแก่จูล่งเป็น ซุ่นผิงโหว หรือพระยาสามัญนิยม
ถ้าความสำเร็จของคนวัดกันที่ว่าคนรุ่นหลังจะพูดถึงคนๆนั้นแบบไหนล่ะก็ผมถือว่าจูล่งเป็นผู้หนึ่งในสามก๊กที่ผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง
เพราะนี่คือตัวละครหนึ่งเดียวในเรื่องสามก๊กที่ไม่มีใครในยุคหลังหาจุดด่างพร้อยในประวัติชีวิตและการกระทำของท่านได้ นอกจากนี้คุณธรรมของท่านที่แสดงออกมาและได้รับบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็เป็นความจริงใจที่มิได้เกิดจากการเสแสร้ง ขอคารวะ.......
 
Create Date : 10 เมษายน 2549 |
| |
|
Last Update : 10 เมษายน 2549 16:04:47 น. |
| |
Counter : 2672 Pageviews. |
| |
|
|
|
| |
|
 |
อินทรีสามก๊ก |
|
 |
|
|