space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2559
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
space
space
15 พฤศจิกายน 2559
space
space
space

ปัญหาของนโยบายด้านการศึกษาของคนพิการในเมืองไทย วิเคราะห์โดยใช้กรอบการวิเคราะห์สถาบันและการพัฒนา (IAD


ปัญหาของนโยบายด้านการศึกษาของคนพิการในเมืองไทย

วิเคราะห์โดยใช้กรอบการวิเคราะห์สถาบันและการพัฒนา (IAD)

Problems of Thailand DisabledEducation Policy

Analyzed by Institutional Analysis andDevelopment Framework

ดร.ภคพร กุลจิรันธร

1. บทนำ

ประชาชนมากกว่า 93 ล้านคนทั่วโลกเป็นเด็กที่มีชีวิตในความพิการในแบบต่างๆ ซึ่งมีศักยภาพที่จำกัดในการจัดหาหรือตอบสนองสิ่งที่จำเป็นของชีวิตให้ตนเองทำให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ UNESCOส่งเสริมการจัดทำสนธิสัญญา หรือ พิธีสารต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการศึกษาของทุกคนรวมถึง มาตราที่ 26 ของคำประกาศเจตนารมณ์ในด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ในปี 1946 พิธีสารสิทธิของเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ในปี 1989 และ มาตรา 24ของพิธีสารของสหประชาชาติในด้านสิทธิของคนพิการ (UN Convention on theRights of Persons with Disabilities) ในปี 2006 (UNICEF,2014) จากมุมมองในด้านสิทธินั้นUNESCO ส่งเสริมนโยบายการเรียนรู้แบบสมบูรณ์เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการศึกษาสำหรับคนพิการซึ่งการดำเนินการนั้นรวมถึง การเผยแพร่รูปแบบการจัดการความรู้ที่พัฒนาจากประเทศในแถบยุโรปสำหรับคนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในการศึกษาและมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจสำหรับการศึกษาเด็กพิการทั่วโลกเนื่องด้วยมีเด็กพิการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลของเด็กต่อไปในอนาคต

สำหรับประเทศไทยนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (2551) ได้ให้ความหมายของคนพิการว่าเป็นบุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมเนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจอารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้หรือความบกพร่องอื่นใดประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความต้องการจำเป็นพิเศษทางการศึกษาที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใดเพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไปและได้มีพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการพ.ศ. 2551ระบุว่า คนพิการมีสิทธิทางการศึกษาดังนี้ 1)ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิตพร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา 2) เลือกบริการทางการศึกษา สถานศึกษาระบบและรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น 3)ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษารวมทั้งการจัดหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล 4)ให้สถานศึกษาในทุกสังกัดจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลโดยให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการและต้องมีการปรับปรุงแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง 5) สถานศึกษาใดปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าศึกษาให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย 6) ให้รัฐจัดเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและความสามารถในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

รวมถึงได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 (2556: 11-15)ว่าด้วยการให้บริการของรัฐแก่คนพิการ ในด้านการศึกษา มีใจความว่า 1)  ด้านการบริการ ให้ผู้พิการได้เรียนตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการโดยเน้นให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีให้โอกาสเด็กพิการ ได้เรียนทั้งด้านภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในหลักสูตรสายสามัญและให้ฝึกวิชาชีพเพิ่มเติมไปด้วยเพื่อให้คนพิการสามารถพัฒนาตนเองให้เพียงพอที่จะพึ่งตนเองได้ 2)  ด้านโอกาสทางการศึกษา ให้ผู้พิการมีโอกาสได้รับการศึกษาทัดเทียมกับเด็กปกติและให้คนพิการหญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา 3)  ด้านการจัดการศึกษา ต้องจัดให้คนพิการทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียนโดยขยายการบริการทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนเน้นการร่วมและการจัดให้สอดคล้องกับประเภทและระดับของความพิการ 4)  ด้านการรับนักเรียน ปรับกฎ ระเบียบให้เอื้อต่อการรับเด็กพิการทุกคน และให้รับตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการ โดยรัฐควรเพิ่มบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มให้ทั่วถึงทั้งในเขตเมืองและชนบทต้องทำทะเบียนเพื่อรับรองความพิการที่ต้องได้รับการช่วยเหลือตามกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาของคนพิการ 5)  ด้านหลักสูตร ต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับประเภทและระดับของผู้พิการโดยให้เด็กเป็นหลักในกระบวนการเรียนรู้เรียนด้วยตนเองจากการฝึกปฏิบัติให้เด็กพิการทุกประเภทสามารถสื่อความหมายและปรับพฤติกรรมให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข 6)  ด้านบริหารการศึกษา ให้มีคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการเป็นหน่วยประสานงานกลาง และกำกับการบริหาร โดยประสานกับกรมและจังหวัดและระดมความร่วมมือจากสถานศึกษา และสถานพยาบาลมาร่วมกันจัดและต้องสำรวจจำนวนผู้พิการให้ตรงความเป็นจริงรวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจถึงการบริการทางการศึกษา และฝึกอบรมพ่อแม่ให้รู้จักดูแลลูกพิการตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการ 7)  ด้านทรัพยากร ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรและวิชาการแก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาเพื่อคนพิการและให้ภาคเอกชน ชุมชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาเพื่อให้การดำเนินงานมีคุณภาพ ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะพิจารณาให้หน่วยงานการศึกษาเพื่อคนพิการซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นองค์การมหาชนในอนาคตหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ 8)  ด้านบุคลากร ให้สถาบันอุดมศึกษาปรับปรุงการผลิตครูการศึกษาพิเศษให้พอเพียงและมีคุณภาพ และให้มีรายวิชาการศึกษาพิเศษในหลักสูตรการฝึกหัดครู นอกจากนี้พัฒนาครูประจำการให้มีเทคนิคการสอนที่ทันสมัยตามหลักการของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 9)  ด้านการประเมินคุณภาพ จัดให้มีเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสำหรับการศึกษาเพื่อคนพิการโดยเฉพาะและมีระบบประเมินคุณภาพผู้สอนผู้บริหารสถานศึกษา โดยมีคณะกรรมการร่วมประเมินประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรคนพิการและผู้ปกครอง และ 10)  ด้านการส่งเสริมเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชน และองค์กรเอกชนที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการทุกระดับทุกระบบ และทุกรูปแบบ โดยรัฐให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและบุคลากรให้เท่าเทียมกับการจัดการศึกษาของรัฐ

พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนั้นได้ครอบคลุมการให้บริการการศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาแก่คนพิการแต่จากรายงานสถานการณ์คนพิการประจำเดือนสิ้นสุด 30 กันยายน 2559 ของกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พบว่า มีคนพิการรวมทั้งสิ้น 1,657,438 คน และเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายเป็นจำนวนมากที่สุดมีจำนวน 749,648 คนคิดเป็นร้อยละ 48.37 และส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษามีจำนวน 843,819 คนคิดเป็นร้อยละ 51.37 และไม่ได้รับการศึกษาใด ๆมีจำนวน 613,478 คน คิดเป็นร้อยละ 37.55 รวมแล้วคนพิการมากกว่าร้อยละ 88 ไม่ได้รับการศึกษาหรือมีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาจึงทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพใด ๆ มีจำนวน 585,555 คนคิดเป็นร้อยละ 35.33และเป็นเหตุให้ไม่มีรายได้อื่นนอกจากเงินช่วยเหลือคนพิการเดือนละ 800 บาท ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะศึกษาว่ากระบวนการใดในนโยบายด้านการศึกษาของคนพิการในประเทศไทยที่ควรได้รับการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของคนพิการให้สมดังเจตนารมณ์ตามนโยบายนี้

2. ความหมายของการจัดการศึกษาของคนพิการ

2.1 นโยบายสาธารณะ หรือ PublicPolicy มีความหมายที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนนักวิชาการในแต่ละสาขาต่างมีความเห็นเกี่ยวกับความหมายของนโยบายสาธารณะแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงมีผู้ให้ความหมายของนโยบายสาธารณะไว้หลายแนว อาทิ

2.1.1. Thomas R.Dye  ใน Understanding  Public  Policy(1984) กล่าวว่านโยบายสาธารณะคืออะไรก็ตามที่รัฐบาลตัดสินใจเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ

2.1.2.  James  E.Anderson  ใน Public  Policy-Making (1979) กล่าวว่านโยบายสาธารณะหมายถึงการกระทำบางอย่างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยจะมีการนำไปปฏิบัติโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ

2.1.3.  Robert  L. Lineberry  ใน Government  in  America :People, Politics and Policy (1981)   กล่าวว่านโยบายสาธารณะ หมายถึง การกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อตอบสนองต่อประเด็นทางการเมืองบางประการ

2,1.4.  David  Easton  ใน AFramework  for  political  Analysis (1965)  กล่าว

ว่านโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของการจัดสรรคุณค่าและผลประโยชน์ต่างๆ อย่างเป็นทางการ

2.1.5.  Harold  Lasswell  and  Abraham  Caplan  ใน Power  and  Society (1970)  

กล่าวว่านโยบายสาธารณะ หมายถึง แผนงานและโครงการที่กำหนดขึ้นอันประกอบด้วย เป้าหมาย

คุณค่า และการปฏิบัติต่าง ๆ

2.1.6.  Ina  Sharkansky  ใน Policy  Analysis  in  Political  Science(1970)  กล่าวว่านโยบายสาธารณะ หมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น

ดังนั้นนโยบายสาธารณะในมุมมองของผู้เขียนได้แก่กิจกรรมหรือการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต่อสาธารณะหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะทำ หรือ ตัดสินใจที่จะไม่ทำการตัดสินใจดังกล่าวอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม หรือเพื่อตอบสนองต่อประเด็นการเมืองนโยบายสาธารณะต้องมีการปฏิบัติเพื่อมุ่งไปสู่คุณค่าและเป้าหมายที่ตั้งไว้

2.2 นโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการ หมายถึงกิจกรรมที่รัฐตัดสินใจทำเพื่อเป็นการให้บริการแก่คนพิการซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมในด้านการให้ความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีหรือ ทางด้านการปฏิบัติ อาจจะหมายถึงการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย หรือการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อการประกอบอาชีพ การจัดการศึกษาให้คนพิการในประเทศไทยเป็นสิทธิของคนพิการที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติซึ่งเป็นการบริการสาธารณะที่รัฐต้องจัดให้อย่างเท่าเทียมกับการศึกษาของคนปกติโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการมุ่งเน้นพัฒนาความสามารถคนพิการให้เต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล มุ่งเน้นการให้โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยยึดหลักการศึกษาเพื่อปวงชนที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 43 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า12 ปี รัฐจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ” ประกอบกับมาตรา30 วรรค 3 บัญญัติไว้ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิดเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคลจะกระทำมิได้” นั่นหมายถึงว่าประชาชนคนไทยทกคนมีสิทธิเสมอกันทางการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือสภาพร่างกายพิกลพิการ โดยรัฐต้องจัดสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และความช่วยเหลืออื่นทางการศึกษาให้ มาตรา 55 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุคคลพิการ หรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

การจัดการเรียนการสอนแก่เด็กพิการหรือผู้ที่มีความบกพร่องย่อมแตกต่างกันไปตามความพิการหรือความบกพร่องของแต่ละประเภทจึงจำเป็นต้องมีการจำแนกความพิการหรือความบกพร่องให้ชัดเจนเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนสอดคล้องตามความต้องการจำเป็นและศักยภาพของคนพิการ ให้บังเกิดในการพัฒนาอย่างแท้จริง

3. ตัวแบบนโยบายสาธารณะที่นำมาใช้กำหนดนโยบายการศึกษาเพื่อคนพิการ

ตัวแบบ (model) (Dye,2005: 19-45) คือกรอบสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับการเมืองและนโยบายสาธารณะได้ง่ายและกระจ่างชัดโดยระบุลักษณะสำคัญของปัญหานโยบายอธิบายนโยบายสาธารณะและการพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ตัวแบบที่นำมาใช้ในการศึกษานโยบายสาธารณะในทัศนะของผู้เขียนนั้นมีฐานความคิดมาจาก2 ตัวแบบได้แก่ ตัวแบบสถาบัน(Institutional Model) และตัวแบบกลุ่ม (Group Model)

3.1 ตัวแบบสถาบัน (InstitutionalModel)  ตัวแบบสถาบันนี้ใช้ฐานความคิดในการกำหนดหรือวิเคราะห์นโยบายที่ตัวสถาบันในมิติของการกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ และการบังคับใช้นโยบายนี้ในสังคมและความชอบธรรมที่จะลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือละเมิดนโยบาย

สำหรับนโยบายการศึกษาของคนพิการนั้นสถาบันที่กำหนดนโยบายคือสภาผู้แทนราษฎร และสถาบันที่นำนโยบายไปปฏิบัติคือกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในสังกัดและกำกับดูแลและสถาบันที่ดูแลการบังคับใช้นโยบายในสังคมยังไม่ชัดเจนแต่หากมีหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้คนพิการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถฟ้องร้องที่ศาลปกครองให้ลงโทษหน่วยงานที่ฝ่าฝืนได้

3.2 ตัวแบบกลุ่ม (GroupModel)  ตามทฤษฎีกลุ่มนโยบายสาธารณะจะเป็นสิ่งที่สร้างดุลยภาพสำหรับกลุ่มต่างๆในสังคมกลุ่มใดที่มีอิทธิพลมากย่อมได้เปรียบเนื่องจากนโยบายสาธารณะย่อมโน้มเอียงไปตามการเรียกร้องของกลุ่มอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอิทธิพลจะมีมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่ม จำนวนสมาชิกในกลุ่มความมั่งคั่ง ความแข็งแกร่งขององค์การ ภาวะผู้นำความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ความสามัคคีภายในกลุ่ม

สำหรับนโยบายการศึกษาของคนพิการนั้นกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นกลุ่มดำเนินการเรียกร้องให้รัฐออกนโยบายนี้คือ นายมณเฑียรบุญตัน นายกสมาคนคนตาบอดแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ โดยการประสานความร่วมมือกับ UNDP, UNHCR , APCD (ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการไทยและเอเชียแปซิฟิค)รวมถึงกระแสเรียกร้องถึงความเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติตามนานาชาติและพิธีสารของสหประชาชาติในด้านสิทธิของคนพิการ(UN Convention on the Rights of Persons with Disabilities) ในปี 2006 จึงทำให้รัฐบาลไทยต้องออกกฎหมายสำหรับสิทธิและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นการเฉพาะ

4.การวิเคราะห์นโยบายการศึกษาของคนพิการในประเทศไทยโดยใช้กรอบแนวคิดIAD( Institutional Analysisand Development Framework)


IAD framework diagram

การวิเคราะห์สถาบันและการพัฒนากรอบการวิเคราะห์(IAD) ( Elinor Ostrom,1999) เป็นวิธีการทางระบบที่ใช้วิเคราะห์นโยบายโดยมีบริบทที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์สังคมปัจจัยด้านการจัดองค์การ ในด้านพื้นที่ที่ใช้วิเคราะห์นั้นมีปัจจัยที่ใช้วิเคราะห์ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบาย และ สถานการณ์ที่เกี่ยวกับนโยบายนั้น ๆในด้านรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยมีประเด็นการวิเคราะห์ได้แก่การถ่ายทอดองค์ความรู้ หรือ การดำเนินงานของนโยบายพร้อมกับกำหนดคุณลักษณะในการประเมินผล ได้แก่ 1)ประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ 2)ความเท่าเทียมกันในเชิงการงบประมาณ 3) ความเท่าเทียมกันในการกระจาย/จ่ายแจก4) ความรับผิดชอบ 5)ความสอดคล้องกับศีลธรรม และ 6) การปรับตัว

4.1 บริบทที่ใช้ในการวิเคราะห์นโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการ

บริบทที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์สังคม ปัจจัยด้านการจัดองค์การดังนี้

4.1.1 ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

สำหรับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพสำหรับนโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการนั้นประกอบด้วยสถานที่จัดการเรียนการสอน สาธารณูปโภคนอกบ้านสำหรับคนพิการ เช่น รถโดยสาร ทางเดินห้องน้ำ ลิฟท์ เป็นต้น

4.1.2 ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์สังคม

ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์สังคมสำหรับนโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการคือปัจจัยที่มีผลกระทบกับคนพิการในด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม เช่น รายได้ประเพณีของชุมชน โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ความเท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษา เป็นต้น

4.1.3ปัจจัยด้านการจัดองค์การ

ปัจจัยด้านการจัดองค์การสำหรับนโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการประกอบด้วยโครงสร้างองค์การในหน่วยงานการศึกษา ขั้นตอนและลำดับชั้นในการดำเนินงาน

4.2 พื้นที่ในการวิเคราะห์นโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการ

ด้านพื้นที่ที่ใช้วิเคราะห์นั้นมีปัจจัยที่ใช้วิเคราะห์ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบาย และ สถานการณ์ที่เกี่ยวกับนโยบายนั้น ๆ ดังนี้

4.2.1 ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบาย

ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการได้แก่

1)คนพิการ คือผู้ที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายนี้โดยข้อมูลสิ้นสุด30 กันยายน 2559 (กรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ,2559: 4) มีคนพิการที่ยังอยู่ในช่วงอายุของการศึกษาได้แก่ อายุ 3-21ปี มีจำนวน 144,015 คน

2) ผู้ดูแลคนพิการ ได้แก่ บิดามารดา คู่สมรส พี่น้องหรือญาติที่ทำหน้าที่ดูแลคนพิการจะเป็นทางการโดยมีชื่อในบัตรคนพิการ หรือไม่เป็นทางการเป็นการดูแลโดยพฤตินัย

3) กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการศึกษาของคนพิการในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานอยู่ในสังกัดหรือ กำกับดูแล เช่น โรงเรียนร่วม (Inclusive School) โรงเรียนพิเศษเฉพาะความพิการศูนย์การศึกษาพิเศษ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น

4) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของคนพิการ โดยมีหน่วยงานที่ดูแลคนพิการโดยตรงคือกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ

5) กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับสุขภาพกายสุขภาพใจ และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย

6)สภานิติบัญญัติ มีหน้าที่ตรากฎหมายต่าง ๆที่เกี่ยวกับการศึกษาของคนพิการ

7)สมาคมและชมรมคนพิการเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ดูแลคนพิการในด้านกายอุปกรณ์ การฝึกอบรมระยะสั้นหรือให้คำแนะนำต่าง ๆ

4.2.2สถานการณ์ที่เกี่ยวกับนโยบาย

นโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีดังนี้

1) ด้านกฎหมาย

(1) กฎหมายรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ฉบับลงประชามติ มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศอายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือ สุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็กสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

(2)พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 (2556: 11-15)ว่าด้วยการให้บริการของรัฐแก่คนพิการ ในด้านการศึกษา มีใจความว่า 1)  ด้านการบริการ ให้ผู้พิการได้เรียนตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการโดยเน้นให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี 2)  ด้านโอกาสทางการศึกษา ให้ผู้พิการมีโอกาสได้รับการศึกษาทัดเทียมกับเด็กปกติและให้คนพิการหญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา 3)  ด้านการจัดการศึกษา ต้องจัดให้คนพิการทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียนโดยขยายการบริการทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนเน้นการร่วมและการจัดให้สอดคล้องกับประเภทและระดับของความพิการ 4)  ด้านการรับนักเรียน ปรับ กฎระเบียบให้เอื้อต่อการรับเด็กพิการทุกคน 5)  ด้านหลักสูตร ต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับประเภทและระดับของผู้พิการ 6)  ด้านบริหารการศึกษา ให้มีคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการเป็นหน่วยประสานงานกลาง และกำกับการบริหาร โดยประสานกับกรมและจังหวัด และระดมความร่วมมือจากสถานศึกษาและสถานพยาบาลมาร่วมกันจัด 7)  ด้านทรัพยากร ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรและวิชาการแก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาเพื่อคนพิการและให้ภาคเอกชน ชุมชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาเพื่อให้การดำเนินงานมีคุณภาพ ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ 8)  ด้านบุคลากร ให้สถาบันอุดมศึกษาปรับปรุงการผลิตครูการศึกษาพิเศษให้พอเพียงและมีคุณภาพ และให้มีรายวิชาการศึกษาพิเศษในหลักสูตรการฝึกหัดครู นอกจากนี้พัฒนาครูประจำการให้มีเทคนิคการสอนที่ทันสมัย

(3)พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ระบุว่า คนพิการมีสิทธิทางการศึกษาดังนี้ 1)ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิตพร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา 2) เลือกบริการทางการศึกษา สถานศึกษาระบบและรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น3) ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษารวมทั้งการจัดหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล 4)ให้สถานศึกษาในทุกสังกัดจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลโดยให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการและต้องมีการปรับปรุงแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง 5) สถานศึกษาใดปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าศึกษาให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย 6) ให้รัฐจัดเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและความสามารถในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

2)ด้านการศึกษาของคนพิการ

รายงานสถานการณ์คนพิการประจำเดือนสิ้นสุด 30 กันยายน 2559 ของกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พบว่า มีคนพิการรวมทั้งสิ้น 1,657,438 คน และส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา มีจำนวน 843,819 คนคิดเป็นร้อยละ 51.37 และไม่ได้รับการศึกษาใด ๆ มีจำนวน 613,478 คนคิดเป็นร้อยละ 37.55 รวมแล้วคนพิการมากกว่าร้อยละ 88 ไม่ได้รับการศึกษาหรือมีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาจึงทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพใด ๆ มีจำนวน 585,555 คนคิดเป็นร้อยละ 35.33

4.3 รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องในนโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการ

ในด้านรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยมีประเด็นการวิเคราะห์ได้แก่การถ่ายทอดองค์ความรู้ หรือ การดำเนินงานของนโยบาย ดังนี้

4.3.1การถ่ายทอดองค์ความรู้

ในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการศึกษาของคนพิการมีโครงการฝึกอบรมผู้ดูแลคนพิการ และฝึกอบรมครูผู้สอนในหลักสูตรการเรียนร่วม (InclusionLearning) หรือโรงเรียนการเรียนร่วมเพื่อให้เข้าใจและสามารถจัดการศึกษาของคนพิการได้ตามวัตถุประสงค์

4.3.2การดำเนินงานของนโยบาย

นโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการในประเทศไทยนั้น สิ่งแวดล้อมทางกายภาพด้านสถานที่ศึกษานั้นค่อนข้างมีครบสมบูรณ์คือมีสถานที่เป็นทางการ แน่นอน แต่สิ่งที่ไม่สมบูรณ์คือสาธารณูปโภคสำหรับคนพิการ เช่นรถโดยสารสาธารณะสำหรับคนพิการยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ ทางเดิน หรือห้องน้ำทำให้การเดินทางไปสถานศึกษาเป็นสิ่งที่ลำบากพอสมควรสำหรับคนพิการสำหรับปัจจัยในด้านเศรษฐศาสตร์สังคมนั้นในปัจจุบันมีกฎหมายที่พยายามสร้างความเท่าเทียมกันให้คนพิการ มีความพยายามในการจัดการศึกษาให้คนพิการแต่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการเนื่องจากการขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาเช่น การเดินทาง อุปกรณ์ สื่อสารสนเทศ หรือเครื่องมือช่วยสำหรับคนพิการ เช่นภาษามือ อักษรเบล เป็นต้น และสำหรับปัจจัยในด้านการจัดองค์การในการดำเนินนโยบายการศึกษาเพื่อคนพิการนั้นมีการจัดองค์การเป็นสัดส่วนเหมาะสม

4.4การประเมินผลนโยบายการจัดการศึกษาของคนพิการ

กำหนดคุณลักษณะในการประเมินผลได้แก่ 1) ประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ 2)ความเท่าเทียมกันในเชิงการงบประมาณ 3) ความเท่าเทียมกันในการกระจาย/จ่ายแจก4) ความรับผิดชอบ 5)ความสอดคล้องกับศีลธรรม และ 6) การปรับตัว

4.4.1 ประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์กำหนดจากการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ของอรรถประโยชน์ที่ได้กับทรัพยากรที่ได้รับการจัดสรรอรรถประโยชน์ที่คนพิการได้รับนั้นอาจจะไม่สามารถคำนวณเป็นมูลค่าได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับทรัพยากรที่รัฐได้จัดสรรลงไปแต่เมื่อศึกษาถึงอรรถประโยชน์ที่คนพิการได้รับหลังจากได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายการศึกษาของรัฐพบว่าอรรถประโยชน์ที่คนพิการและครอบครัวคนพิการได้รับนั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลนั้นมีสูงเนื่องจากคนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย ทางจิตใจ และทางปัญญารวมถึงครอบครัวคนพิการและสังคมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการและทัศนคติที่ดีที่ถูกต้องต่อคนพิการและการปฏิบัติต่อคนพิการ ทำให้คนพิการได้รับความมั่นใจในการใช้ชีวิตมีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีแรงบันดาลใจที่จะดำเนินชีวิตเพื่อสังคมต่อไป

4.4.2 ความเท่าเทียมกันของงบประมาณ วัดจาก

1) ความเท่าเทียมกันของแต่ละบุคคลในการให้และการรับประโยชน์ซึ่งในนโยบายการศึกษาของคนพิการนั้น ตามกฎหมายให้ความเท่าเทียมกันในการได้รับสิทธิในการศึกษาโดยคนพิการทุกคนที่ต้องการเข้ารับการศึกษาจะได้รับการศึกษาจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกระดับชั้นพร้อมทั้งจะได้รับอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนตามประเภทของคนพิการ เช่น รถเข็นล่ามภาษามือ สื่อการเรียนการสอนอักษรเบล เป็นต้น

2)ความสามารถในการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งในนโยบายการศึกษาของคนพิการนั้นความสามารถในการดำเนินนโยบายนี้มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากระหว่างกรุงเทพมหานคร จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ และต่างอำเภอที่มีความห่างไกลเนื่องจากสถานศึกษาสำหรับคนพิการส่วนใหญ่มีที่ตั้งในตัวจังหวัด หรือ ตัวอำเภอเมืองหรือ อำเภอใหญ่จึงทำให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ต่างอำเภอจะได้รับความลำบากในการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการถึงแม้ว่าจะมีสิทธิตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกันก็ตาม

4.4.3 ความเท่าเทียมกันในการกระจายทรัพยากรประสิทธิภาพจะเกิดเมื่อทรัพยากรถูกใช้ไปแล้วได้ประโยชน์สูงที่สุดซึ่งเป้าหมายของความเท่าเทียมกันอาจจะตรงข้ามกับความหมายนี้โดยที่ทรัพยากรจะถูกกระจายจ่ายแจกให้กับคนที่มีความต้องการสูงที่สุดแนวคิดนี้จะขัดแย้งกับแนวคิดความเท่าเทียมกันของงบประมาณ นโยบายการศึกษาสำหรับคนพิการนั้นอาจจะไม่ได้นำความเท่าเทียมกันในการกระจายทรัพยากรมาใช้ในการปฏิบัติเนื่องจากตามนโยบายการศึกษาสำหรับคนพิการนั้นข้าราชการส่วนใหญ่ใช้การปฏิบัติในมิติของความเท่าเทียมกันของงบประมาณกล่าวคือ มีการกระจายทรัพยากรให้คนพิการทุกคนเท่ากัน เช่น เบี้ยยังชีพคนพิการเดือนละ800บาท เท่าเทียมกันทุกคนโดยไม่ได้พิจารณาถึง ความหนักเบาในความพิการหรือ ความจำเป็นมากน้อยในการใช้เครื่องมือช่วยเหลือ

4.4.4 ความรับผิดชอบในการนำนโยบายการศึกษาสำหรับคนพิการไปสู่การปฏิบัตินั้นตามความเป็นจริงเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐบาลทุกหน่วยรวมไปถึงหน่วยประชาสังคมด้วยตามแนวคิดการมีส่วนร่วมของสังคมจากการศึกษาจากเอกสารพบว่าความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐบาลที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงานตน และหากมีการร้องขอการสนับสนุนใด ๆต้องนำมาพิจารณาว่ามีงบประมาณ หรือ ทรัพยากรที่จะสนับสนุนหรือไม่ จึงสรุปพอได้ว่าความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐบาลในเรื่องความรับผิดชอบยังอยู่ในระดับต่ำ

4.4.5ความสอดคล้องกับศีลธรรม

การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะโดยทั่วไปจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของจริยธรรม การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะเป็นความพยายามที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

นโยบายการศึกษาสำหรับคนพิการ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องจริยธรรมอย่างน้อย 4 ประการ

1)ปัจจัยแห่งความสำเร็จ การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะจะช่วยให้รู้ว่า มี

ปัจจัยใดบ้างที่จะส่งเสริมให้นโยบายสาธารณะประสบความสำเร็จ และมีปัจจัยใดบ้างที่เป็นอุปสรรคที่ต้องกำจัดก่อนปฏิบัติตามนโยบายถ้าผู้ตัดสินนโยบายรู้ล่วงหน้าว่า จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้นโยบายประสบความล้มเหลว แต่ก็ปล่อยให้มีการทำตามนโยบายนั้น แสดงผู้ตัดสินนโยบายขาดจริยธรรมของการเป็นนักบริหาร

2)ทางเลือกที่เป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาสังคม นักวิเคราะห์นโยบาย

สาธารณะจะต้องวิเคราะห์ทางเลือกในนโยบายแบบเปรียบเทียบ เพื่อค้นหาแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริงได้ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและเป็นทางเลือกที่สามารถแก้ไขปัญหาสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การแสวงหาทางเลือกนโยบายที่เป็นไปได้นี้ ถือเป็นการมีจริยธรรมอย่างหนึ่งของนักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ

3) การตระเตรียมการแก้ไขผลกระทบของนโยบายสาธารณะ นักวิเคราะห์

นโยบายสาธารณะจะช่วยประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายสาธารณะ เพราะไม่มีทางเลือกใดในโยบายนี้ที่ไม่จุดอ่อน เมื่อรู้ล่วงหน้าแล้วว่ามีจุดอ่อนที่ใด ก็ต้องตระเตรียมการแก้ไขผลกระทบแต่เบื้องต้น เพื่อทำให้ผลกระทบเกิดผลเสียน้อยที่สุด เพื่อให้สาธารณชนยอมรับนโยบายสาธารณะนั้นๆ ให้มากที่สุด การยอมรับว่านโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามของสังคม ถือเป็นจริยธรรมสำคัญสำหรับนักบริหารมาก

4) ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในนโยบายสาธารณะ นักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะจะรู้ล่วงหน้าว่า จะมีปัญหาใดบ้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในทางเลือกนโยบาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ทำให้ต้องหยิกยกปัญหาทางสังคมที่ยังคั่งค้างในการปฏิบัติตามนโยบาย มาประมวลไว้ในทางเลือกนโยบายในอนาคต เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไปจึงเท่ากับสนองตอบต่อความต้องการของสาธารณชน ความล่าช้ายังดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย ความตระหนักรู้รับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาทางสังคม ถือเป็นจริยธรรมอย่างหนึ่งของนักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ

4.4.6 การปรับตัว ในการนำนโยบายการศึกษาสำหรับคนพิการไปสู่การปฏิบัตินั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีการปรับตัวทั้งทางด้านการดำเนินงาน และทัศนคติสำหรับหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงเช่น ศูนย์การศึกษาพิเศษกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บุคลากรของหน่วยงานมีการปรับตัวกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อนำนโยบายการศึกษาสำหรับคนพิการไปสู่การปฏิบัติได้ดีแต่หน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทางอ้อม เช่นหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น บุคลากรของหน่วยงานยังมีการปรับตัวเพื่อการดำเนินการนำนโยบายการศึกษาสำหรับคนพิการไปสู่การปฏิบัติอยู่ในระดับต่ำคือ ยังไม่มีการกำหนดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนยังไม่มีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน หรือการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการเพื่อการดำเนินงานดังกล่าว

5. ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกนโยบาย ดังนี้

5.1. ค่านิยม องค์การวิชาชีพ บุคคล นโยบาย และอุดมการณ์

5.2.ความสัมพันธ์กับนักการเมือง การมีอิสระในการออกเสียง กฎระเบียบในการควบคุมสมาชิกพรรค

5.3.ผลประโยชน์ของเขตเลือกตั้ง ประชาชนมีอำนาจที่จะกำหนดอนาคตของนักการเมืองในเขตของตนโดยตรง

5.4. มติมหาชน เพื่อผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ

5.5.ประโยชน์ของสาธารณะชน ความขัดแย้งกลุ่มผลประโยชน์ การแบ่งสรรผลประโยชน์

อ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ.(2551).พระราชบัญญัติการศึกษาคนพิการพ.ศ. 2551.กรุงเทพฯ: อรุณการ

พิมพ์.

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559

กรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ.(2556).พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ

แห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556.กรุงเทพฯ:สามเจริญการพิมพ์.

Anderson, James. E.(1975). Public policy-making. New York: Praeger.
Blomquist,William. (1999). Theories of the Policy Process. Colorado: WestviewPress.

Dunn, Williams. N. (1994).Public policy analysis: An introduction (2nd ed.). Englewood

Cliffs, NJ: Prentice-Hall.
Dye, Thomas.R. (1998). Understanding public policy (9th ed.). Upper Saddle River,

NJ: Prentice-Hall.

Kingdon, JohnW.(2007). Classics of Public Administration. Wadsworth : CengageLearning.

Ostrom,Elinorand and Elinor Ostrom.(1971).Public Administration Review, Vol.31,No (Mar.-

Apr.).

Simon,Christopher. A. (2009). Public Policy Preferences and Outcomes (2nded.). New

York:Longman.




Create Date : 15 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2559 10:26:21 น. 0 comments
Counter : 4800 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

สมาชิกหมายเลข 972112
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 972112's blog to your web]
space
space
space
space
space