ข้อเสนอต่อปัญหาการค้าแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย ดร. ภคพร กุลจิรันธร  Cr: Prachachart.net ปัญหาการค้ามนุษย์ หรือ การใช้แรงงานต่างด้าวได้เป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอดในอุตสาหกรรมประมงเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานและใช้เวลามากโดยเฉพาะการออกเรือไปหาปลา ส่วนใหญ่ใช้เวลา 1-4 สัปดาห์ ทำให้แรงงานไทยไม่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ทำให้เป็นช่องว่างที่จะให้แรงงานต่างชาติที่ต้องการมีงานทำเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้โดยที่การบังคับใช่กฎหมายแรงงานของไทยไม่เคร่งครัดพอทำให้เกิดปัญหาการค้าแรงงานขึ้น สหรัฐอเมริกาได้ประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์มาเป็นอันดับ3 หรือ Tier3 เป็นปีที่ 2 (2013-2014, 2014-2015) คือ ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐฯและไม่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขนั้นอาจจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังประเทศสหรัฐฯรวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังทั่วโลกที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการค้าสัตว์น้ำในสหรัฐฯ และนอร์เวย์งดซื้อสินค้าจากประเภทกุ้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยให้เหตุผลว่าในห่วงโซ่การเลี้ยงกุ้งตลอดจนสินค้าประมงของไทยมีการใช้แรงงานในลักษณะการค้ามนุษย์และที่สำคัญ ประเทศไทยอาจถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรในสินค้า 4ประเภท ได้แก่ น้ำตาล กุ้ง ปลา และเครื่องนุ่งห่มซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกไทยโดยเฉพาะสินค้าอาหารและประมงของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การแก้ไขปัญหาแรงงานของไทยนั้นจะต้องมีการวางแผนในระยะยาว5-10 ปีเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื่องจากปัญหาแรงงานจะมีความรุนแรงและจะไม่สามารถหาแรงงานมาทดแทนได้เพียงพอในอนาคตควรมีมาตรการในการเตรียมความพร้อมในการจัดการแรงงานทั้งระบบอย่างถูกต้องและมีจำนวนแรงงานที่เพียงพอสำหรับประเทศไทยในระยะยาวได้ควรสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการไทยเพื่อทดแทนการใช้กำลังแรงงานคนควรมีการสนับสนุนสินเชื่อของธนาคารรัฐให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาธุรกิจของตนให้ใช้แรงงานน้อยลงเตรียมความพร้อมในการวางแผนการพัฒนาคนเพื่อรองรับการขยายตัวใน AEC และศึกษากำลังคนเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ ปรับปรุงและยกระดับระบบการศึกษาไทยในระดับอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการรณรงค์ให้หอการค้าจังหวัด หน่วยงานภาคเอกชน ประชาสัมพันธ์หน่วยงานต่างๆให้เห็นความสำคัญของแรงงานต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจ พร้อมทั้งให้หยุดการใช้แรงงานผิดกฎหมายและให้สอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานของ คสช. ส่วนการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวต้องบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบในระยะยาวร่วมกับประเทศต้นทางของแรงงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยสนับสนุนการดำเนินงานของ คสช. ในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยโดยมีความชัดเจน ลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย ควรเสนอให้ คสช.ประสานงานกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 1. ควรมีการจัดตั้งศูนย์คัดกรองและรับสมัครงานแรงงานจากประเทศต้นทาง 2. ควรจัดให้มีผู้จัดหาแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของทั้ง2 ประเทศผู้จัดหางานต้องระบุคุณลักษณะงานของแรงงานที่ต้องการอย่างชัดเจนเพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานผิดอุตสาหกรรมและเกินความจำเป็นในอุตสาหกรรม 3. ด้าน BOI ควรพิจารณาผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือต่อไปจนกว่าจะมีนโยบายในการพัฒนาแรงงานต่างด้าวในระยะยาว 4. การแก้ไขปัญหาแรงงานประมงนั้นให้ผู้ประกอบการ PP โรงงานแปรรูปฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และเรือประมง ดำเนินการตามแนวทาง GLP 5. ต้องมีการจัดระเบียบเรือประมงโดยการจดทะเบียนชาวประมงและผู้ประกอบการประมงให้มีใบอาชญาบัตรเรือออกใบอนุญาตการใช้เครื่องมือทำการประมงและสำรวจแรงงานประมงโดยให้จัดระเบียบเรือประมงและการประมงทั้งหมดให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของกรมประมง 6. ต้องบังคับให้แรงงานประมงทั้งหมดทั้งไทยและต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนแรงงานประมงให้ถูกต้องภายใต้ศูนย์ประสานแรงงานประมง 7. ควรจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์โดยการบันทึกข้อมูลชาวประมงและผู้ประกอบการประมงเครื่องมือประมง และแรงงานประมง 8. สนับสนุนให้มีการตรวจตราเรือประมงที่เข้า-ออก จากฝั่งเพื่อตรวจสอบการทำประมงและป้องกันการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ 9. จัดทำการประชาสัมพันธ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการประมง 10. และดำเนินการส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าและผู้บริโภคสินค้าประมงของไทยตลอดจนภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคการประมงของไทย นอกจากนี้ยังต้องสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการประมงในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาความมั่นคงทางทรัพยากรและบริหารแรงงานในเรือประมงร่วมกันดังนี้ - สนับสนุนให้มีการบริหารจัดการประมงโดยแบ่งตามขนาดเรือ เครื่องมือใช้งาน เพื่อให้การจัดการแรงงานมีความเหมาะสมชัดเจน สามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้
- สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือการวิเคราะห์ในการบริหารจัดการประมงเพื่อติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง โดยใช้ระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) ที่สามารถให้ข้อมูลวิเคราะห์ทั้งทางการจัดการทรัพยากรทางทะเล และการจัดการทรัพยากรมนุษย์ตามที่ได้ผูกพันกับอนุสัญญาต่างๆ ที่ทางราชการได้ลงนามไว้
- ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งเรือประมงที่เข้าฝั่ง และเรือที่กำลังทำการประมงอยู่ในทะเลทั้งในและนอกน่านน้ำไทย และให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงลูกเรือกลางทะเลทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
- สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการประมงเชิงบูรณาการ และภาครัฐควรจัดหาแรงงานประมงให้เพียงพอ
Create Date : 24 มกราคม 2559 |
Last Update : 24 มกราคม 2559 8:31:43 น. |
|
1 comments
|
Counter : 787 Pageviews. |
 |
|
ตามมาอ่านและตามมาโหวตค่าาาาา