space
space
space
<<
มกราคม 2567
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
10 มกราคม 2567
space
space
space

วันพระ จาคะ ละความตระหนี่ อันเป็นมลทิน : มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป
วันพระ จาคะ ละความตระหนี่ อันเป็นมลทิน :
มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
มีธรรมเป็นศาสดา: ธรรมบาล สืบสาน ศึกษา
ปฏิบัติ เผยแผ่ศาสนา เพื่อจรรโลงดำรงไว้ซึ่ง
พระสัทธรรมของพระตถาคต อรหันตสัมมา
สัมพุทธพระเจ้าพระองค์นั้น และเสริมสร้าง
ความเจริญของพระพุทธศาสนา:
ทาน (การให้) เป็นอย่างไร
(บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙๗)
มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี
ก็ตามบุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ
เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และ
ประทีปโคมไฟแก่"สมณะหรือพราหมณ์"
เขาตายไป จะเข้าถึง "สุคติโลกสวรรค์"
เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทาน
ไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึง
สุคติโลกสวรรค์ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ
ในภายหลังจะเป็นคนมี **โภคทรัพย์มาก**.
(E-Tipitaka; พุทธวจน-หมวดธรรม:๑๓/๒/๑)
จาคะ (การบริจาค) เป็นอย่างไร
(บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑)
คหบดี ! ก็จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วย
การบริจาค) เป็นอย่างไร อริยสาวกใน
ธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทินคือ
"ความตระหนี่" อยู่ครองเรือน มีการ"บริจาค"
อันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม
ยินดีใน"การสละ" เป็นผู้ควรแก่"การขอ"
ยินดีในการให้และ"การแบ่งปัน" นี้เรียกว่า
"จาคสัมปทา".
(E-Tipitaka;พุทธวจน-หมวดธรรม๑๓/๓/๒)
เหตุในการให้ทาน (นัยที่ ๔)
(บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๔๐๓/๒๒๓)
ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน
๘ ประการนี้ มีอยู่ ๘ ประการเป็นอย่างไร
คือ
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะ
หรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น
เขาเห็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล
หรือคหบดีมหาศาล ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมถูก
บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ เขาจึงมีความ
ปรารถนาอย่างนี้ว่า
“โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความ
เป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์
มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล” เขาตั้งจิตนั้น
อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขา
นึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น
ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลาย
แห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล
หรือคหบดีมหาศาล แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่า
เป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความปรารถนาแห่งใจ
ของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะ
จิตบริสุทธิ์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ... และประทีปโคมไฟ
แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวัง
สิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมี
ความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เมื่อตายไป
ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นจาตุมหาราชิกา” เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น
เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว
ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการ
ทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็น
สหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล
ไม่ใช่ของผู้ทุศีล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความปรารถนาแห่งใจ
ของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้
เพราะจิตบริสุทธิ์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ... และประทีปโคมไฟ
แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวัง
สิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์
... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต
... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้น-
ปรนิมมิตวสวัตตี มีอายุยืน มีวรรณะ
มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนา
อย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึง
เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิม-
มิตวสวัตตี” เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น
เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปใน
ทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่
การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย
เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่า
เป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความปรารถนาแห่งใจ
ของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้
เพราะจิตบริสุทธิ์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ... และประทีปโคมไฟ
แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด
ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า
เทวดาชั้นพรหมกายิกา มีอายุยืน
มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความ
ปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เมื่อตายไป
ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง
เทวดาชั้นพรหมกายิกา” เขาตั้งจิตนั้น
อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขา
นึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น
ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลาย
แห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งเทวดาชั้นพรหมกายิกา แต่ข้อนั้นเรา
กล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความปรารถนาแห่งใจ
ของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะ
จิตปราศจากราคะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เหตุเกิดขึ้นแห่ง
**ทาน ๘ ประการ**.
(E-Tipitaka;พุทธวจน-หมวดธรรม
:๑๓/๖๐-๖๓)
การวางจิตเมื่อให้ทาน
(บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๖๐/๔๙)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอ เป็นเหตุ
เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล
ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก
ไม่มีอานิสงส์มาก อะไรหนอ เป็นเหตุ
เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล
ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก
มีอานิสงส์มาก.
สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน
โดยมีความหวังผล ให้ทานโดยมีจิตผูกพัน
ในผล ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม (บุญ)
ให้ทานโดยคิดว่า “เราตายไปจักได้เสวยผล
ของทานนี้” เขาจึงให้ทาน คือ ข้าว น้ำ
เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีป
โคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ ... เขาให้
ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ
เป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา
เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ
เป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่
ความเป็นอย่างนี้.
สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน
โดยไม่มีความหวังผล ให้ทานโดยไม่มีจิต
ผูกพันในผล ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม (บุญ)
ให้ทานโดยไม่คิดว่า “เราตายไปจักได้
เสวยผลของทานนี้” แต่เขาให้ทานด้วยคิดว่า
“การให้ทานเป็นการดี” เขาจึงให้ทาน
คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งเทวดาเหล่าดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม
สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.
สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน
โดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทาน
ด้วยคิดว่า “การให้ทานเป็นการดี” แต่ให้
ทานด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย
เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสีย
ประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ …
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
เหล่ายามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา
คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.
สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน
โดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทาน
ด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้
เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี
แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ไม่หุงหากิน
เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร
เขาให้ทาน คือข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความ
เป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดุสิต เขาสิ้นกรรม
สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.
สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน
โดยไม่มีความหวังผล ... ไม่ได้ให้ทานด้วย
คิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้
จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์
ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทาน
ด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน
เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี
วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี
ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี
วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี
บูชามหายัญ เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ
… ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
เหล่านิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา
คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.
สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน
โดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทาน
ด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน
เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คืออัฏฐกฤาษี
… ภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเรา
ให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความ
ปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ
… ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
เหล่าปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์
สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้
กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.
สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน
โดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วย
คิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส
เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทาน
เป็นเครื่องประดับจิต ปรุงแต่งจิต
(จิตฺตาลงฺการํ จิตฺตปริกฺขารํ) เขาให้ทาน
คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งเทวดาเหล่าพรหมกายิกา เขาสิ้นกรรม
สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความ
เป็นอย่างนี้.
สารีบุตร ! นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทาน
เช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว
มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเหตุ
เป็นปัจจัยเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
(E-Tipitaka;พุทธวจน-หมวดธรรม:
๑๓/๑๒๙-๑๓๒/๕๖)
ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน
(บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๓๐๕/๒๗๘)
ภิกษุทั้งหลาย ! ทาน ๒ อย่างนี้ คือ
(๑) อามิสทาน
(๒) ธรรมทาน
ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทาน ๒ อย่างนี้
**ธรรมทาน** เป็นเลิศ.
ภิกษุทั้งหลาย ! การแจกจ่าย ๒ อย่างนี้
คือ
(๑) การแจกจ่ายอามิส
(๒) การแจกจ่ายธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาการแจกจ่าย ๒ อย่างนี้
**การแจกจ่ายธรรม**เป็นเลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ! การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ
(๑) การอนุเคราะห์ด้วยอามิส
(๒) การอนุเคราะห์ด้วยธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้
**การอนุเคราะห์ด้วยธรรม**เป็นเลิศ.
(E-Tipitaka;พุทธวจน-หมวดธรรม:๑๓/๑๗๔/๗๔)
ผู้จัดว่าเป็น "อุบาสกรัตนะ"
(บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๓๐/๑๗๕)
ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ
อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก
ธรรม ๕ ประการ เป็นอย่างไร คือ
(๑) เป็นผู้มีศรัทธา
(๒) เป็นผู้มีศีล
(๓) ไม่เป็นผู้ถือโกตุหลมงคล เชื่อกรรม
ไม่เชื่อมงคล
(๔) ไม่แสวงหาผู้ควรรับทักษิณา
ภายนอกศาสนานี้
(๕) ทำการสนับสนุนในศาสนานี้
ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็น
อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก.
[E-Tipitaka; พุทธวจน-หมวดธรรม :
๑๒/๑๖๙)
วิปัตติสัมภวสูตร
[๒๘]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิบัติของอุบาสก ๗ ประการนี้
... สมบัติของอุบาสก ๗ ประการนี้
... ความเสื่อมของอุบาสก ๗ ประการนี้
... ความเจริญของอุบาสก ๗ ประการนี้
๗ ประการเป็นไฉน คือ
อุบาสกไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ ๑
ไม่ละเลยการฟังสัทธรรม ๑
ศึกษาในอธิศีล ๑
มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ
ผู้ใหม่ ทั้งปานกลาง ๑
ไม่ตั้งจิตติเตียน ไม่คอยเพ่งโทษฟังธรรม ๑
ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
กระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเจริญของอุบาสก
๗ ประการนี้แล ฯ อุบาสกใด ขาดการเยี่ยมเยียน
ภิกษุผู้อบรมตน ละเลยการฟังอริยธรรมไม่ศึกษา
ในอธิศีล มีความไม่เลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปใน
ภิกษุทั้งหลาย ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม
แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้และกระทำ
สักการะก่อนในเขตบุญภายนอกในศาสนานี้
อุบาสกนั้นซ่องเสพธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม
อันเราแสดงแล้ว ๗ ประการนี้แล ย่อมเสื่อม
จากสัทธรรมอุบาสกใดไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ
ผู้อบรมตนไม่ละเลยการฟังอริยธรรม ศึกษาอยู่
ในอธิศีลมีความเลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุ
ทั้งหลายไม่ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม
ไม่แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้
และกระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้
อุบาสกนั้นซ่องเสพธรรมอันไม่เป็นที่ตั้ง
แห่งความเสื่อม อันเราแสดงดีแล้ว
๗ ประการนี้แล ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม
[E-Tipitaka; พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย)
:๒๓/๒๗/๒๘]
“ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น;
ขอน้อมสักการะ ศรัทธา อนุโมทนาบุญกับ
วัดนาป่าพงผู้ผลิตเครื่องมือในการสืบค้น;
ขออนุโมทนาบุญกับผู้เข้าถึงโพสต์
ศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่และแชร์พระสูตร;
และขออนุญาต;อนุโมทนาบุญกับ
พุทธวจนเรียล; มูลนิธิพุทธโฆษณ์
:ต้นฉบับเรูปภาพและเจ้าของรูปภาพ
ไว้ ณ โอกาสนี้;”


Create Date : 10 มกราคม 2567
Last Update : 10 มกราคม 2567 7:51:53 น. 0 comments
Counter : 65 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space