Group Blog
 
 
มกราคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 มกราคม 2550
 
All Blogs
 
ไปเที่ยวป่ามาครับ

(Online ครั้งแรก 10 พย. 2005 //www.pharmacafe.com/phpbb/weblog_entry.php?e=254)
อาทิตย์ที่ผ่านมา เราไปเดินป่า hiking กับกลุ่มชาวต่างชาติ และญี่ปุ่นที่ติดต่อกันผ่านเวปไซด์แห่งหนึ่ง

การไปเที่ยวกับคนที่ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าค่าตามาก่อน ความสนุกอย่างหนึ่งคือการได้ลุ้นว่าคนเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร ตรงกับที่เราจินตนาการเอาไว้ไหม ซึ่งปรากฏว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้เจอกับเพื่อนใหม่หลายๆคนที่เป็นกันเอง สนุกสนาน และทำให้ hiking ครั้งนี้เป็นการเดินทางที่ประทับใจอีกครั้งหนึ่ง

การ hiking อาจจะฟังดูคล้ายการผจญภัย หรือต้องลำบากตรากตรำ แต่ในญี่ปุ่น hiking เป็นกิจกรรมพักผ่อนที่นิยมมาก มีทั้งเส้นทางง่ายๆ ไปจนถึงยาก มีทั้งเด็ก และผู้สูงอายุออกมา hiking ในวันอากาศดีๆมากมาย มีทั้งกลุ่มเพื่อนๆ หรือกลุ่มที่ไม่รู้จักกันมาก่อนอย่างกลุ่มเรา มีการเตรียมอาหารมากินร่วมกันเหมือนปิคนิค และอาจปิดท้ายด้วยการลงแช่น้ำพุร้อนร่วมกัน

เราไป hiking ที่ Kurama ซึ่งเป็นเมืองภูเขาเล็กๆใกล้ๆเกียวโต เส้นทางถือว่าลำบากพอควร เพราะต้องมีช่วงปีนป่ายนอกเหนือจากการเดินขึ้นเขา และที่สำคัญวันนั้นฝนตกปรอยๆตลอดวัน ซึ่งทำให้เส้นทางลำบากมากขึ้น

ถึงฝนจะเป็นอุปสรรค แต่เรากลับพบว่ามันทำให้ hiking ครั้งนี้มีเสน่ห์ และความประทับใจแตกต่างจากทริปที่เคยผ่านๆมา หมอกที่ลงจัดตลอดทางทำให้เห็นแนวต้นซีด้าร์ลางๆ ใบไม้ที่กำลังเริ่มเปลี่ยนสี ละอองฝนตลอดเส้นทาง และพื้นดินเฉอะแฉะทำให้ทิวทัศน์ดูแปลกตา แม้ว่ากลับมาจะทำให้เราน้ำมูกไหลไปทั้งวัน

พูดถึงป่า ทำให้เราคิดถึงผู้กำกับหนังคนหนึ่ง ที่ถ่ายทอดภาพป่าออกมาได้สมจริงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ที่สำคัญผู้กำกับคนนี้เป็นคนไทย และหนังของเขาเป็นหนังไทย

อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล หรือพี่เจ้ย เป็นศิษย์เก่า รุ่น 1 สถาปัตย์ มข.

หนังของเขามีจุดเด่นที่ความสมจริงเหมือนกับเป็นการเอากล้องไปแอบถ่ายกิจวัตรของคนมาให้เรารู้กัน ภาพดิบๆที่ไม่ปรุงแต่ง ดนตรีประกอบที่แว่วมาจากวิทยุ หรือเทปคาสเสท เสียงประกอบตามธรรมชาติที่ดังจนกลบเสียงนักแสดง นักแสดงที่หน้าตาบ้านๆ หาได้ทั่วไป ไม่มีลักษณะดารา เรื่องราวที่เล่าไปเรื่อยๆไม่เร้าอารมณ์ และป่าที่ดูเป็นป่าจริงๆ จนบางคนสงสัยว่าเขาทำหนังเป็นแน่หรือ

แต่ถ้าใครตามงานเขา จะรู้ว่าทุกอย่างผ่านการวางแผนมาอย่างดี ความสมจริงที่เกิดขึ้น เกิดจากการปรุงแต่งเพื่อโน้มน้าวอารมณ์ของคนดูให้เชื่อถือเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าเป็นความจริง แม้ว่าแท้จริงแล้ว เขากำลังพูดถึงโลกแฟนตาซี โลกในอุดมคติ (Utopia) หรือรองรับอารมณ์ของหนังได้อย่างเต็มที่

ยิ่งตัวละครในหนังอภิชาติพงษ์เดินทางเข้าไปในป่าลึกมากขึ้นเท่าใด พวกเขายิ่งปลดปล่อยตัวเอง แสดงออกตามอารมณ์ และเข้าถึงธรรมชาติมากขึ้น คนดูที่ยังเดินตามตัวละครเข้าป่าได้โดยไม่หลงทางเสียก่อน ก็จะเข้าใจในตัวละคร และสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อมากขึ้นเช่นกัน

คนที่ชื่นชอบในหนังอภิชาติพงษ์ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่นัก และยิ่งน้อยนิดไปอีก เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เกลียดงานของเขา หลายคนตั้งข้อกังขากับรางวัลที่เขาได้รับ เกี่ยวกับฝีมือและความเชี่ยวชาญในการทำหนังของเขา และหลายๆครั้งความกังขาเหล่านี้ถูกแสดงออกมาในเวปบอร์ด หนังสือ การพูดคุย รวมทั้งการกระแนะกระแหนคนที่ชื่นชอบผลงานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสุดเสน่หา หรือสัตว์ประหลาด แม้ว่าบางคนยังไม่ได้ดู หรือดูไม่จบด้วยซ้ำ

ด้านล่างคือข้อความที่เราเขียนตอบกระทู้หนึ่ง ซึ่งกล่าวหาว่าสุดเสน่หาไม่สมควรได้รางวัลจากคานส์ เพราะหนังขาดโครงเรื่องที่ดี และไม่สามารถเล่าเรื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราไม่เห็นด้วย

####### สุดเสน่หา ########

รางวัลที่หนังเรื่องนี้ได้รับมักมาจากเทศกาลหนัง หรือรางวัลที่มอบให้กับหนังนอกกระแส หนังที่แหวกแนว ประมาณนี้มากกว่ารางวัลที่มีชื่อเสียงด้านการตลาด อย่างออสการ์อย่างเนี้ย คงไม่มีสิทธิ์ได้แน่ๆ

ส่วนตัวได้ดูแล้ว และชอบมาก แต่จะให้กลับไปดูอีก ก็คงต้องขอคิดนานๆ จุดเด่นของหนังในสายตาผมคือเล่าเรื่องที่หนังส่วนใหญ่ไม่คิดจะเล่า นั่นคือความไม่มีเนื้อเรื่องอะไรเลย (นึกถึง Adaptation การทำหนังที่ไม่มีเนื้อเรื่องนี่ลำบากยังไง) ไม่มีจุดไคล์แมกซ์ ไม่มีจุดหักเห ไม่มีการจบหักมุม หรือให้ประทับใจ ไม่มีการตัดต่อหวือหวา ไม่มีดนตรีประกอบ (นอกจากได้ยินในเทป หรือแว่วๆมา) พระเอกนางเอกไม่หล่อ ไม่สวย พระเอกพูดไม่รู้เรื่อง เลิฟซีนโจ่งแจ้ง แต่ไม่ได้เร้าอารมณ์ การแสดงที่เป็นธรรมชาติ จนเหมือนแอบถ่ายมากกว่าเป็นหนัง ซึ่งยากที่จะทำให้เป็นหนังดีได้ แต่สุดเสน่หากลับทำให้คนดู(อย่างน้อยก็ผม)ติดตามไปกับบรรยากาศของเรื่อง และอยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป (ถึงสุดท้าย ก็ไม่มีอะไรเลย) ด้วยการใส่ภาพ และเรื่องที่ดูเหมือนกับว่าจะสำคัญ เช่นผู้หญิงกับพ่อหูหนวกที่ไปหาหมอต่อจากพระเอก ฉากหลังรถวิ่งนานๆ ครีมใส่ผลไม้ ผลไม้ป่า เกย์หนุ่มที่สามารถมีอะไรกับผู้หญิงได้ โจรขโมยมอเตอร์ไซด์ แต่มันก็ไม่มีอะไรอยู่ดี นี่ยังไม่นับเรื่องพระเอก นางเอก พี่อร สามตัวละครหลัก ซึ่งมีพฤติกรรมที่น่าสนใจ เช่นการโกหกของนางเอก เพื่อจะออกไปกับพระเอก พระเอกกับเพื่อนๆชาวพม่า หรือปัญหาที่พี่อรอยากปรึกษาหมอ แต่ทุกอย่างก็ไม่เฉลย แต่พอกลับมาคิดดูแล้ว หนังเรื่องนี้มีโครงสร้าง มีเนื้อเรื่อง มีความขัดแย้ง และอารมณ์ดราม่าครบถ้วน (แถมมีฉากน่ารักน่ารักแทรก) ผมจะลองสรุปสิ่งที่ผมคิดว่าหนังต้องการเล่าอะไรให้ฟังนะครับ

หนังแบ่งเรื่องเป็นสองส่วนชัดเจน (มีฉากไตเติ้ลคั่นกลาง) คือฉากในเมืองกับฉากในป่า ฉากในเมืองจะดูอึดอัด ตัวละครต่างก็โกหก (ทั้งนางเอกและพี่อร ในคลีนิค หรือนางเอกในโรงงาน หรือแม้แต่พ่อหูหนวกกับลูกสาว) ปิดบัง (พระเอกกับความเป็นพม่า) ไม่ไว้วางใจ (โรคของพระเอก นางเอกไม่ใช้ครีมของหมอ แต่กลับไปซื้อครีมบำรุงผิวมาทาให้พระเอก พี่อรเอาผลไม้ผสมลงในครีมนางเอกอีกที เพราะคิดว่าจะรักษาได้ผลดี) ในขณะที่ส่วนในป่า จะเป็นส่วนผ่อนคลาย ตัวละครได้แสดงอารมณ์ ความอ่อนไหว นางเอกได้แสดงความเสน่หาในตัวพระเอกกับทุกส่วนของร่างกายเหมือนชื่อเรื่อง พี่อรได้เผยด้านอ่อนไหว ว้าเหว่ เหงา เก็บกด ทั้งที่ครึ่งแรกเป็นตัวละครที่ออกจะน่ารำคาญ ในขณะเดียวกัน จังหวะหนังครึ่งหลังได้ถูกดึงจนช้า จนเริ่มอินกับบรรยากาศ และซึมซับอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด น้ำไหล มดเดิน จนไปถึงฉากเกือบสุดท้ายจริงๆ ที่นางเอกแสดงความเสน่หาในพระเอกให้คนดูได้เห็นจะจะ (โชคดี ผมได้ดูฉบับไม่เซนเซอร์) ในขณะพี่อรนอนร้องไห้อีกมุมหนึ่ง

ลองมาดูความสัมพันธ์ของนางเอก(รุ่ง) กับพี่อร ในขณะที่ภายนอก รุ่งกับพี่อรดูเหมือนจะเข้ากันได้ดี ปิดบังความลับให้กัน ยืมข้าวของกันใช้ แต่ความรู้สึกลึกๆที่ผมจับได้คือพี่อรอิจฉารุ่ง โดยเฉพาะเรื่องพระเอก และพยายามที่จะก้าวเข้ามาอยู่ในโลกส่วนตัวของนางเอก ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงสูตรครีมนางเอก การแตะเนื้อต้องตัวพระเอก การแอบดูนางเอกขณะปฏิบัติการทางปากให้พระเอก การชักชวนให้นางเอกบอกพระเอกให้ลงน้ำ และการทาครีมร่วมกับนางเอก ส่วนตัวรุ่งเองก็มองออกว่าพี่อรรู้สึกยังไง ถึงจะไม่พอใจ แต่ก็ไม่แสดงออกชัดเจน เช่นการรู้สึกไม่ชอบที่พี่อรตามเข้ามาในป่า หรือโวยวายเมื่อเห็นครีมที่พี่อรเอาไปดัดแปลง จนถึงฉากสุดท้ายนั่น ที่นอกจากเป็นการแสดงความเสน่หาในตัวพระเอกแล้ว อีกนัยหนึ่งคือการประกาศความเป็นเจ้าของพระเอก และแสดงความเหนือกว่าพี่อร ก่อนจะหลับลงอย่างมีความสุข (โดยมีของพระเอกในกำมือ)

แต่กับตัวพี่อร ผมว่าเธอเป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุดในเรื่อง ตอนแรก (ในเมือง) คนดูอาจคิดว่าเป็นแค่ผู้หญิงที่ขาดในเรื่องเซ็กซ์ (จากการปรึกษาหมอ การมีท่าทีกับพระเอก) แต่พอไปถึงในป่า เรื่องเซ็กซ์กลับไม่ใช่สิ่งที่เธอให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะเธอได้ผ่านจุดนั้นไปแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกโดดเดี่ยว โดยเฉพาะเมื่อผู้ชายของเธอไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องอารมณ์เลย (ตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างเดียว ไม่มีการเล้าโลม เสร็จแล้วก็นอนกิน แล้วก็วิ่งตามมอเตอร์ไซด์ทิ้งพี่อรไว้คนเดียว) ในขณะที่พระเอกเป็นผู้ชายคนเดียวในเรื่องที่ดูแคร์เธออยู่บ้าง (เดินกางร่มให้) หรือเธออยู่ในสถานะที่เหนือกว่า (สั่งให้นั่งรอ ให้ทำอะไรต่ออะไร) แต่พระเอกก็มีรุ่ง และรุ่งก็แสดงความเป็นเจ้าของพระเอกชัดเจน อารมณ์ในฉากสุดท้ายของเธอจึงเป็นการร้องไห้ให้กับตัวเอง และก่อให้เกิดภาพที่ขัดแย้งกันมากๆ เมื่อมองดูฝั่งรุ่งกับพระเอก และพี่อร

เรื่องอย่างนี้จะกำหนดแนวหนังให้เป็นเมโลดราม่าก็ยังได้ แต่ผู้กำกับเลือกเล่าเรื่องแนวสมจริง และเล่นกับเวลาโดยให้เวลาเดินเรื่องใกล้เคียงกับเวลาจริง ทำให้หนังยาวกว่าสองชั่วโมง (ถ้าเป็นแนวหนังทั่วไป อาจแค่สิบนาทีจบ) ตรงนี้เลยทำให้หนังมีความโดดเด่น และสะดุดตาคอหนังตามเทศกาล แต่ไม่ใช่ตลาดหนังทั่วไปแน่ๆ ความจริงจะว่าเสี่ยงก็เสี่ยง เพราะเรื่องนี้มีโอกาสทั้งเสียงชื่นชม และโดนด่ามากพอๆกัน (โดยเฉพาะโดดด่าจะเป็นกลุ่มใหญ่กว่า) แต่งานที่ออกมา และรางวัลที่ได้รับ ผมว่าผู้กำกับทำสำเร็จครับ



Create Date : 04 มกราคม 2550
Last Update : 6 มกราคม 2550 18:19:04 น. 0 comments
Counter : 616 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

I'm wu
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add I'm wu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.