ธรรมสอนใจ(4)มหาสติ
หนังสือธรรมะภาคปฏิบัติที่อ่านง่ายเข้าใจง่ายคือ " พระพุทธเจ้าสอนมหาสติ " ไชย ณ พล - เรียบเรียง กล่าวถึงการปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานให้ครบทุกฐาน คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และ ธรรมานุปัสสนา ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพจิตจากระดับ 1 ถึง 11 (คล้ายซีข้าราชการ c1-c11) เช่น
ระดับ 1 คือสติของคนที่มีความรู้สึกตัว ระดับ 2 คือสติของคนที่กำหนดรู้เป็นจุดๆหรือส่วนๆ ระดับ 3 คือสติของคนที่มีความรู้ตัวทั่วพร้อมในขณะเดียวกัน
- - - - - - ระดับ 11 คือสติของพระพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ ทั้งหลาย
ยกตัวอย่างมหาสติของ ..
กายานุปัสสนา : สติในอริยาบท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือ
เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นภายในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมมีอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และ ทิฐิ ไม่อาศัยแล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ฯ
กายานุปัสสนา : อานาปานัสสติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนต้นไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยันเมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออกย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวง หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้างย่อมมีอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว และ ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ฯ
กายานุปัสสนา : สัมปชัญญะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้า ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้างย่อมมีอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และ ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ฯ
การมีสติรับรู้ในสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันกาลสัก 2-3 นาที ไม่ต่างกับการนั่งทำสมาธิช่วงสั้นๆ ซึ่งได้ประโยชน์ทันทีคือ ทำให้เราไม่รู้สึกเหนื่อย ประเภทเหนื่อยอกเหนื่อยใจ หรือท้อแท้เสียก่อน ลองเปรียบเทียบทัศนคตินี้กับผู้รู้ชาวตะวันตกจาก เดอะ ซีเคร็ต
ชาร์ลส์ ฮาเนล กล่าวว่าหากความคิดจิตใจเราโลดแล่นราวรถไฟเหาะ หลุดไปจากการควบคุม อาจนำพาความคิดย้อนสู่อดีต แล้วเอาเรื่องเลวร้าย(อุตส่าห์ขุดหลุมฝังไว้)กลับมาในอนาคตเราด้วย ถ้าเรามีสติระลึกรู้เท่าทันดวงจิต อยู่กับปัจจุบัน รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เมื่อใดที่เราควบคุมความคิดไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ พลังอำนาจทั้งหมดของเราจะอยู่ตรงนั้น
วิธีเรียกสติคือ ทำใจหยุดนิ่งก่อน อาจจำเป็นต้องฝึก(จัดระเบียบความคิด)วันละหลายร้อยครั้ง
ไมเคิล เบอร์นาร์ด เบควิธ สรุปในกรณีนี้ว่า จำไว้ว่าต้องจำ .. ฉันขอให้จักรวาลสะกิดเตือนฉันเมื่อใจลอย หรือความคิดกระเจิดกระเจิง .. บางทีคุณอาจเผลอทำของหล่นจากมือ ตกใจเสียงดังโครมคราม อันเป็นสัญญาณเตือนให้รีบดึงสติกลับคืนมา นิ่งสงบ ถามตัวเอง
" ฉันกำลังคิดอะไรอยู่ ฉันรู้สึกอย่างไร ฉันมีสติรับรู้มั้ย "
เมื่อจบคำถามในใจง่ายๆแสดงว่าคุณมีสติแล้ว วิญญาณอยู่กับตัว ไม่ได้ล่องลอย(ออกจากร่าง)ไปไหน คุณจึงมีพลังอำนาจ ใช้พลังอำนาจเร้นลับนี้แสวงหาคำตอบหรือแนวทางอะไรสักอย่างในชีวิต
จักรวาลเตรียมคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเรามีสติรับรู้แค่ไหน ช่องทางของคำตอบมีเฉลยอยู่ไร้ข้อจำกัด อาจในรูปพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ คำพูดของใครที่เราบังเอิญได้ยิน เสียงแว่ว .. เพลงจากวิทยุ รถที่วิ่งสวนทาง หรือนึกรู้(intuition = ปิ๊งแว้บ)ขึ้นเองปัจจุบันทันด่วน
*รายละเอียดเพิ่มเติม เดอะ ซีเคร็ต/ รอนดา เบิร์น - เขียน จิระนันท์ พิตรปรีชา- แปล หน้า 168-170
Free TextEditor
Create Date : 28 สิงหาคม 2552 |
|
0 comments |
Last Update : 29 สิงหาคม 2552 11:53:21 น. |
Counter : 2636 Pageviews. |
|
|
|