DOA DEAD OR ALIVE เมื่อเพศชายตกอยู่ใต้ฝ่าเท้าของสตรีเพศ
DOA DEAD OR ALIVE
เมื่อเพศชายตกอยู่ใต้ฝ่าเท้าของสตรีเพศ (บทความนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ลง"ที่ตรงนี้คุณเขียนนิตยสาร Starpics แล้ว)



ตามปกติธรรมดาแล้วหนังแอคชั่นกับเรื่องราวของเพศหญิงดูท่าทางว่ามันคงจะไม่ต่างอะไรจากฟ้ากับเหวเพราะมันไม่ใช้เรื่องใกล้ตัวเอาเสียเลยสืบเนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่บอบบางสุ่มเสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งจวบจนการต่อสู้ แต่ทว่ากรณีที่เรามองกันอยู่นี้ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นมันก็คือทัศนคติแย่ๆที่เพศชายมีต่อเพศหญิงเท่านั้นเองหรือ ?


เมื่อหลายปีไม่นานมานี้หนังเรื่องหนึ่งก็ได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่า”พลังของเพศหญิง”ไม่ได้น้อยด้อยกว่าเพศชายเลยผนวกเข้ากับความแค้นที่สุมอยู่ในอกยิ่งกลับเป็นตัวที่ช่วยเร่งเชื้อไฟพลังงานในตัวให้สูงขึ้น หนังดังกล่าวก็คือหนังเรื่อง Kill Bill ของเควนติน ทาเรนติโนที่พูดถึงเรื่องราวของเจ้าสาวผู้โดนลอบสังหารในงานแต่งงาน เธอตกอยู่ในสภาพโคม่าร่วมหลายปีจนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเธอฟื้นขึ้นมาพร้อมกับความแค้นที่จะตามเอาคืนกับคนที่ทำให้เธอตกอยู่ในสภาพนี้อย่างสาสม ไม่เพียงเท่านั้นหนังยังแสดงให้เห็นถึงความโกรธแค้นของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกกระทำอย่างไม่ได้รับความปราณี เมื่อการตอบกลับของเธอจึงทำให้เรื่องราวทั้งหมดกลายเป็นการนองเลือดหรือในหนัง Girls Power อย่าง Charlie's Angels ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นกลุ่มเรื่องความสามารถของสาวที่เมื่อทำงานกันเป็นทีมแล้วเป็นเช่นไร


จะเห็นได้ว่าเมื่อเพศหญิงเริ่มที่จะต่อต้านเพศชายบรรดาเหล่า “เธอ” ก็ทำได้ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเพศชายเลยแต่เมื่อตราบใดที่ทัศนคติของมนุษย์ยังคงแคบ ไม่เปิดใจบรรดาความคิดเช่นนี้ก็คงจะไม่มีวันที่มันจะได้รับการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นที่ยอมรับมากขึ้น


จริงอยู่ว่าโลกของเราจะหมุนไปข้างหน้าอยู่เรื่อยไปแต่ความดูถูกดูแคลนของเพศชายที่มองผู้หญิงนั้นก็ยังคงไม่ต่างอะไรจากวัตถุทางเพศชิ้นหนึ่งหรือจะให้แย่ไปกว่านั้นเพศหญิงก็มักจะตกเป็น”เหยื่อ”อยู่เสมอๆ


แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นกลับปราศจากและไม่ปรากฏอยู่เลยในภาพยนตร์เรื่อง DOA ที่พูดถึงเรื่องราวของการประลองยุทธ์ที่กลางเกาะอันไกลโพ้น ซึ่งผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไปบรรดาผู้เข้าแข่งขันจะประกอบไปด้วย คาสุมิ (เดวอน อาโอกิ) เจ้าสาวผู้มีเชื้อสายในการต่อสู้ชั้นสูงโดยเป้าหมายที่แท้จริงของเธอก็คือการตามหาพี่ชายที่หายไปในการแข่งขันเมื่อครั้งก่อน คริสตี้ (ฮอลลี่ วาเลนซ์) หัวขโมยสาวผู้คาดหวังจะเข้ามาชิงเงินรางวัล ทีน่า (เจมี่ เพรสลีย์) สาวสวยนักมวยปล้ำผู้มากอารมณ์ขันและผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆที่มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป


การเล่าเรื่องราวของหนังเริ่มด้วยการพาคนดูไปรู้จักกับตัวละครผ่านคำบอกเล่าประกอบท่าทางหรือจะให้กล่าวโดยตรงก็คือการแนะนำตัวละครซึ่งรูปแบบเรียงตัวยกตัวอย่างเช่น คาสุมิ เธอคือใคร บลาๆ.. ว่าไปเข้ามาเล่นเกมส์เพื่ออะไร บลาๆ .. ... ก็ร่ายยาวต่อไป ถ้ามองให้แง่ดีก็คือหนังพาเราเข้าไปสู้ในโลกของตัวละครมากขึ้น เข้าใจจุดประสงค์ของตัวละครมากขึ้น แต่ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือการทำแนะนำตัวละครแบบนี้เข้าขั้นเชยสนิทไม่ต่างอะไรจากการมานั่งเลือก ตัวละครในเกมส์ต่อสู้ตามเกมส์ใน PS2 (เกมส์เพลย์สเตชั่น 2) เนื่องจากภายในเกมส์บุคลิกของตัวละครก็มักจะระบุสรรพคุณของตัวละครไว้หมดแล้วยิ่งไปกว่านั้นก็คือหนังใช้เวลาตรงส่วนนี้ยืดยาวโดยไม่จำเป็นหรือว่าบางทีอาจจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับก็เป็นได้


คาแรกเตอร์ของ DOA คลั้บคลายคลับคลาว่าจะลอกแบบมาจากหนังในแนวทางทีนเอจ ไฮสคูลในหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปเพราะตัวหนังประกอบไปด้วยนางเอกผู้เดินทางเพื่อออกตามหาความจริง (คาสุมิ) เพื่อนนางเอกผู้มีความสามารถด้านการต่อสู้ (คริสตี้) ตัวตลกประจำกลุ่ม (ทีน่า) คำว่าทีนเฮจ ไฮสคูลคือหนังจำพวกหนังวัยรุ่นที่เหตุการณ์โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมโดยประกอบไปด้วยวัยรุ่นที่มีบุคลิกแตกต่างกันออกไปมีทั้งตัวเอกที่มีปมด้อยหรืออะไรบางอย่างแอบซ่อนในจิตใจ เพื่อนสนิทของนางเอกที่ไม่เป็นตัวโจ้กก็จะเป็นเพื่อนคู่คิดของนางเอก ส่วนพระเอกก็มันจะเป็นหนุ่มรูปงามเป็นที่หมายปองของสาวๆ แต่ทว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีพระเอก?


ถ้าจะหยิบยกตัวอย่างหนังมาอ้างถึงเรื่องราวในแนวทางทีนเอจ ไฮสคูลในแจ่มชัดขึ้นยกตัวอย่างเช่น Mean Girls ว่าด้วยการจัดจำแนกบุคลิกของกลุ่มหญิงสาวได้ชัดเจนที่สุด หนังกล่าวถึงชีวิตในช่วงไฮสคูลที่ในโรงเรียนจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยๆออกไปตามลักษณะนิสัยของคนที่มีความคิด ความอ่านที่ใกล้เคียงกัน หนังดังกล่าวพูดถึงกลุ่มผู้หญิงที่ตั้งชื่อตัวเองว่า ควีน บีส์ โดยมีหัวหน้ากลุ่มคือเรจินา จอร์จ (ราเชล แมคอดัมส์) ผู้มีบุคลิกเข้าข่ายนางร้ายแต่ซ่อนไว้ซึ่งความเป็นเด็กไว้ในตัว สิ่งที่แสดงถึงบุคลิกแบบเด็กๆของเธอคือการแสดงออก ที่มักจะพยามเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง รวมไปถึงลูกสมุนของเธออีกสองคนได้แก่เกรทเช่น วีนเนอร์และแคเรน สมิท ทั้งสองคนมีหน้าที่เพียงคอยส่งเสริมหรือจะว่ากันตรงๆก็คือเออออห่อหมกแสดงความเห็นให้ตรงใจกับเรจิน่าเท่านั้นเอง


ความเป็นใหญ่ของเรจิน่าเริ่มสั่นคลอนนับตั้งแต่แรกเห็นเคดี้ แฮรอน(ลินซ์เซย์ โลฮาน) ก้าวเข้ามาสู่โลกของเธอ บุคลิกของเคดี้ไม่ต่างอะไรจากรูปแบบของนางเอกที่มีปมบางอย่างอยู่ในหัวใจ เธอสวยสดใสน่ารักเป็นเสมือนด้านตรงข้ามของตัวเรจินาเองเมื่อเธอเริ่มรู้ตัวว่าบัลลังก์ของเธอกำลังจะได้รับผลกระทบ เธอจึงรับเคดี้เข้ากลุ่มเพื่อคอยควบคุมดูแลพฤติกรรมไม่ให้คลาสายตา


จากที่เอ่ยมาข้างต้นคงเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าทำไมเรื่องราวของ DOA จึงส่อเค้าแววไปในทางเดียวกันกับหนังแนวทีนเอจ ไฮสคูลนั่นก็เพราะว่าองค์ประกอบของหนังเกือบ 80% มีองค์ประกอบข้างต้นที่ครบถ้วน


หลังจากเรื่องราวเริ่มได้ไม่นานเมื่อบรรดาตัวละครเด่นๆได้รับเชิญมาที่เกาะ DOA จนหมดเรื่องราวก็เริ่มต้นขึ้น โดยกติกามีอยู่ว่าพวกเขาจะต้องไปถึงศูนย์บัญชาการก่อนพระอาทิตย์ตกดิน อีกครั้งที่ส้มก็มาหล่นใส่ตัวนำทั้งสามคนให้มาเผชิญหน้ากันแต่สุดท้ายก็กลายเป็นว่าพวกเธอควรร่วมมือกันดีกว่า ถ้าหากจะไปให้ทันเวลา (พล็อตคุ้นๆ) และเมื่อหนังเดินทางมาจุดสำคัญในที่นี้ขอเรียกว่าจุดขายก็คงผิด เมื่อพวกเธอต้องประลองยุทธ์กับคนในเกาะคอมพิวเตอร์จะสุ่มเลือกให้ซึ่งถ้าใครแพ้ก็จะถูกคัดออกจากการแข่งขัน


ที่สำคัญก็คือการจับคู่ต่อสู่ในหนังก็จะจับคู่โดยให้เพศหญิงต่อสู้กับเพศชายโดยตลอด จนสุดท้ายผลแพ้ชนะก็ตกอยู่ในกำมือของฝ่ายหญิงทั้งหมด ถ้าจะมองอย่างอคติก็คือหนังพยามโชว์พลังของเพศหญิงอย่างเต็มพิกัด นั่นยังไม่รวมถึงการโชว์เนื้อหนังมังสา ที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเมื่อเพศชายเห็นของจำพวกนี้เมื่อใด เพศชายก็ราวกับต้องมนต์สะกดหรือพูดอย่างไม่ไว้หน้าก็คือตกอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเพศหญิงไปโดยปริยาย


แต่สิ่งที่ไม่มีอยู่เลยในหนังก็คือไม่มีเพศหญิงคนใดเลยหนังที่กลายเป็นผู้แพ้ให้แก่เพศชายอาจจะมีเสียท่าบ้างแต่พวกเธอก็ไม่เคยแพ้ใคร เท่านั้นยังไม่พอพวกเธอยังสามารถทำได้ทุกอย่างนับตั้งแต่สะเดาะกลอนกุญแจ ควบคุมคอมพิวเตอร์ ต่อสู้ด้วยอาวุธ หรือมือเปล่ากระทั่งโดดจากหอคอยที่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูง แต่ก็มีอยู่ฉากหนึ่งเหมือนกันที่ตัวละครอย่างคริสตี้ต้องมาต่อสู้กับเฮเลน่า (ซาร่า คาร์เตอร์)ในการต่อสู้รอบรองชนนะเลิศโดยจากการมองภาพรวมการต่อสู้ครั้งนี้คือการต่อสู้ของเพศหญิงกับเพศหญิงบางทีนัยยะของฉากนี้อาจจะบอกว่าการที่เพศหญิงจะแพ้ใครนั้นการพ่ายแพ้เพศเดียวกันเองน่าจะเป็นเรื่องที่น่าเจ็บใจที่สุดก็เป็นได้


ในทางกลับกันเพศชายในหนังก็ตกอยู่สภาพเบี้ยรองบ่อนอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่อสู้ สติปัญญา อารมณ์ และที่สำคัญก็คือพละกำลังยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือฉากการต่อสู้ของทีน่ากับพ่อของเธอที่ได้รับเชิญมาต่อสู้เช่นกัน ก่อนการต่อสู้จะเริ่มขึ้นเธอตกลงกับพ่อว่า “หนูมาที่นี้เพื่อนจะพิสูจน์ตัวหนูเองว่าหนูไม่ได้ไร้น้ำยานะคะพ่อ ดังนั้นพ่อไม่ต้องออมมือ” แต่ในทางกลับกันในปกติธรรมดาของผู้เป็นพ่อก็มักจะ ถอย ให้ลูกเป็นธรรมดาการต่อสู้ในครั้งนี้คนที่คุมเกมส์อย่างเห็นได้ชัดก็คงเป็นทีน่า


เพศชายในเรื่องกลายเป็นผู้ถูกกระทำโดยตลอดนับตั้งแต่พี่ชายของคาสุมิที่โดนจับตัวไป บรรดาคู่มวยของสาวๆในเรื่องจวบจนกระทั่งผู้ร้ายของเรื่องที่ฝีมือมิได้เทียบเคียงกับพวกเธอได้เลยแม้แต่น้อย แถมเพศชายในเรื่องบางคนก็เข้าขั้นไร้ศักดิ์ศรีโดยสิ้นเชิงยกตัวอย่างเช่น มาร์ช (แมททิว มาร์เดน) แฟนหนุ่มหัวขโมยของที่หากินอยู่กับการอาศัยบารมีพละกำลังของคริสตี้โดยตัวเขาเองแล้วทำอะไรไม่เป็นเลยนอกจากขโมยของ


หรือในอีกหนึ่งฉากที่โดดเด่นในเรื่องการตอกย้ำความคิดเรื่อง “เพศหญิง” เป็นใหญ่คงจะหนีไม่พ้นฉากที่บรรดาตัวเอกของเราโดนจับเข้าเครื่องจักรอะไรสักอย่างที่จะสามารถดูดพลังและความสามารถของพวกเธอไป โดยผู้ที่สวมแว่นที่ทำขึ้นเป็นพิเศษจะสามารถรับพลังที่ดูดไปจากตัวของพวกเธอได้ซึ่งบรรดาลูกค้าที่สวมแว่นทั้งหมดเป็นเพศชายหนำซ้ำหน้าที่การงานของพวกเขามีตั้งแต่นักธุรกิจจวบจนทหาร นั่นหมายความว่าหนังได้ตอกหน้าเราอีกครั้งว่า เพศชายเปรียบเสมือนแมงดาที่คอยเทะโลม ดูดกินกระทั่งความสามารถของเพศหญิง


ส่วนประเด็นเรื่อง Girl Power ในหนังปรากฏให้ดูตั้งแต่ฉากรวมใจเพื่อไปถึงเป้าหมายจวบจนการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดในตอนท้ายและหนังพยามจะชี้นำคนดูตลอดเรื่องว่าอย่างไรก็ตามการทำงานเป็นทีมย่อมดีกว่าการทำงานคนเดียวทว่าการชี้นำในแนวทางนี้มันไม่ออกจะโบราณไปหน่อยรึ ?


แต่สิ่งที่ดูลามปามที่สุดก็คือในหนังเรื่องปรากฏฉากจำพวกปีนป่ายเศียรพระพุทธรูป ระเบิดพระพุทธรูป รอยสักรูปเศียรพระพุทธรูป ถ้านั่นคือการตอกย้ำว่านี่คือการเอาชนะเพศชายล่ะก็ พวกเธอก็เรียกว่าเล่นของสูงจนเกินไปแล้วนอกจากจะเป็นภาพพจน์ที่ไม่ดีแล้วยังเรียกว่าไม่ถูกไม่ควรอย่างยิ่งสำหรับการกระทำแบบนี้เพราะนี้เสมือนการย่ำยีมิใช่การเอาคืนของบรรดาเพศหญิง แน่นอนถ้าหากเปลี่ยนแปลงหรือเฉือนฉากนี้ออกจากหนังก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร บางทีนี่อาจจะเป็นการขาดการยั้งคิดเรื่องประเด็นทางศาสนาที่น่ากระทบจิตใจของคนส่วนมากโดยเฉพาะชาวพุทธ ที่ถึงแม้ดูฉากนี้และไม่รู้สึกอะไรแต่อย่าน้อย ฉากนี้ก็น่าจะสะกิดใจใครอีกหลายคนว่าตกลงนี่คือการดูถูกหรือเหยียดหยามเพศชายกันแน่


สิ่งที่สะกิดใจก็คือผู้กำกับอย่างคอรีย์ หยวนคือชาวเอเชียคนหนึ่งที่น่าจะทราบถึงความสำคัญในเรื่องพุทธศาสนาและน่าจะทราบบ้างว่าศาสนาพุทธมีศาสดาคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเจ้าชายสิทธิธัตถะซึ่งท่านก็เป็นเพศชายเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตามหนังทั้งเรื่องทำให้เรารู้สึกคล้อยตามไปโดยปริยายว่านี่คือการกดขี่ทางเพศหรือกล่าวว่ามันคือการกดขี่ของเพศหญิงที่กระทำต่อเพศชายดูต่ำต้อยกว่า ซึ่งฉากที่กล่าวมาถ้ามองโดยมวลรวมก็คือองค์พระพุทธเจ้าเปรียบเปรยได้กับศูนย์รวมศรัทธาแห่งชาวพุทธ ถ้าหากการดูถูก บ่อนทำลายและอีกหลายประการในหนังดังที่ปรากฏอยู่นั่นก็หมายความว่าหนังกำลังดูถูกคนที่นับถือศาสนาพุทธหมู่มากอีกด้วย


ซ้ำร้ายก็คือความสุดโต่งของหนังเรื่องนี้ก็คือทุกอย่างไม่ได้อยู่ภายใต้ตรรกะและความเป็นไปได้เลยอย่างสิ้นเชิงในแง่ความเป็นจริงหรือหากจะกล่าวว่านี่คือหนังที่สร้างจากเกมส์ดังนั้นจะไปเอาความสมจริงอะไรจากมันล่ะ ใช่ถึงแม้ว่านี่คือจะหนังที่จะสร้างจากเกมส์ก็ตามแต่หนังเรื่องนี้ก็ประสบชะตากรรมเดียวกับหนังเรื่องอื่นก็คือเราไม่สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของตัวละครเลยเพราะตัวละครไม่มีอะไรที่จำให้เรารู้สึกว่าพวกเธอน่าสงสาร น่าเอาใจช่วย เพราะทั้งเรื่องพวกเธอก็ไม่ต่างอะไรจากยอดมนุษย์ที่ทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง


น่าเสียดายอย่างที่สุดก็คือผู้กำกับอย่างคอรีย์ หยวนที่มีผลงานสร้างชื่อในการกำกับภาพและฉากแอคชั่นในหนังดังๆอย่าง The Transporter (2002) และ Transporter 2 (2005) ทำได้ไม่ค่อยน่าพอใจนักเพราะเขาจะเน้น “ฉากแอคชั่น” จนมากเกินไปจนลืมที่จะให้ความใส่ใจกับบทให้ออกมาหนักแน่นและน่าเชื่อถือมากกว่านี้แต่บางทีความใหม่ของเขาสำหรับหนังฮอลลีวู้ด เราก็ได้แต่หวังว่างานชิ้นต่อๆไปจะมีอะไรที่ดีกว่านี้ แต่สิ่งที่น่าชมเชยสำหรับหนังเรื่องนี้ก็คือถ่ายภาพออกมาได้สวยงาม ดูมีศิลปะไม่ใช่น้อย


ถ้าจะมองอีกมุมก็คือนี่เป็นอีกครั้งที่หนังเป็นความบันเทิงของเพศขายอย่างไม่มีข้อกังขาเพราะสิ่งที่จะได้เห็นก็คือเนื้อหนังมังสาของสตรีเพศ วอลเลย์บอลชายหาดที่มีเพียงบิกินนี้ตัวจิ๋ว ผนวกกับดาราระดับเนินไข่ดาวจวบจนไปถึงภูเขาหินกรวดมน ส่วนหน้าตาของบรรดาสาวๆในเรื่องก็เข้าขั้นน่าหลงไหลแต่ทว่าดูไร้เสน่ห์เหลือเกินเมื่อพวกเธอพยามแสดงฉากแอคชั่น


สุดท้าย DOA ก็ยังย้ำอยู่กับประเด็นเดิมๆก็คือการต้องการแสดงพลังของเพศหญิงออกมาให้โลกได้รับรู้รวมไปถึงการลุกขึ้นสู้ของเหล่าสตรีเพศ แต่น่าเสียดายที่ประเด็นของหนังไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้คนดูเข้าใจว่าเพศหญิงนั้นมีพลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนพลังงานเกล่านี้ไปใช้ในแนวทางที่ดี มิใช่มาใช้กับความรุนแรงอย่างที่เห็นในหนังเพราะถึงจุดๆหนึ่งเมื่อเพศชายตกไปอยู่ใต้เท้าของเพศหญิงสักวันเพศชายก็ต้องหาหนทางใดหนทางหนึ่งที่จะทำให้เพศหญิงกับมาสยบอยู่ใต้เท้าจนได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง




Create Date : 28 ธันวาคม 2550
Last Update : 28 ธันวาคม 2550 23:34:05 น.
Counter : 2646 Pageviews.

2 comments
  
ขออนุญาตนับถือที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วเขียนได้ยาวขนาดนี้
(แต่แอบเฉยๆกับฉากพระพุทธรูป มันดูถูกชาวพุทธตรงไหนหว่า??)

เพราะตอนที่กูดู กูมีแต่ความคิดว่า
"สัดด ห่วยยยยยยย"
และ
"อายาเนะ~~~~~~"

555555
โดย: nanoguy IP: 125.24.68.61 วันที่: 29 ธันวาคม 2550 เวลา:13:24:35 น.
  
มันสนุก
โดย: ข้าวปราย IP: 183.89.150.181 วันที่: 6 กรกฎาคม 2553 เวลา:17:03:40 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Onlineza
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล้อกของผมนะครับ

ถึงแม้จะแต่งบล้อกให้สวยงามไม่ค่อยเป็น แต่รับรองว่าเข้ามาในบล้อกแห่งนี้ มีเรื่องราวให้อ่านมากมายกว่าที่คิด

เร็วๆนี้อ่านจะเพิ่มเติมหัวข้อพากิน พาเที่ยวเพิ่มถ้ามีเวลานะครับ

ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนครับ

Fanpage : http://www.facebook.com/EntertainmentBite
https://entertainmentbite.wordpress.com/
ธันวาคม 2550

 
 
 
 
 
 
1
2
3
5
6
7
8
9
11
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
29
30
31
 
 
All Blog