สายตาจับจ้องที่ดวงดาว และเท้ายังคงติดดิน (Keep your eyes on the stars, and your feet on the ground.)
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
11 กุมภาพันธ์ 2557
 
All Blogs
 

14 กุมภา เปิด ! ตำราเลือกคู่ ครองคู่ (ฉบับพระพุทธเจ้า) เปิดประตูสู่บุพเพฯ (สันนิวาส)

เปิด ตำราเลือกคู่ ครองคู่ เปิดประตูสู่บุพเพ ฯ(สันนิวาส)

ถ้านับกันจริง ๆ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นมารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิงและบุตรของเรา โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย

เพราะสงสารนี้ กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ /1

ก็เพราะเราแต่ละคนล้วนเวียนตายเวียนเกิด มาแล้วนับภพนับชาติไม่ถ้วน เพียงแค่คนสองคนจากทั่วทุกมุมโลก จะมีโอกาสเป็นเนื้อคู่กัน จึงมิใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด

และนั่นอาจเป็นที่มาให้หลายคนเชื่อเรื่อง การโคจรมาพบรักของกันและกันว่า นี่คือ “พรหมลิขิต” หรือไม่ก็เป็นชะตาที่ “ฟ้า” กำหนดไว้แล้ว

ทั้ง ๆ ที่ การโคจรมาพบรักของกันและกัน หรือ การเป็นคู่บุพเพสันนิวาสนั้น มิใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งที่จะมีอำนาจเหนือการกระทำของคนสองคนนี้ได้ ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล

สมัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่คฤหบดีและคฤหปตานี ผู้ปรารถนาจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพว่า

ดูกรคฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสอง หวังจะพบกันและกันทั้งในทิฏฐธรรม(ปัจจุบัน) ทั้งในสัมปรายภพ(อนาคต) ไซร้ ทั้งสองเทียว พึงเป็นผู้
มีศรัทธาเสมอกัน
มีศีลเสมอกัน
มีจาคะเสมอกัน
มีปัญญาเสมอกัน

ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในทิฏฐธรรม ทั้งในสัมปรายภพ ฯ

ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุกทั้งสองฝ่าย มีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน

ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตร เสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ /2 สอดคล้องกับอีกพุทธวจนะหนึ่งที่พระองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาความรักนี้ย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการ คือ

ได้เป็นมารดาบิดา ธิดาบุตร พี่น้องชายพี่น้องหญิง สามีภรรยา หรือสหายมิตรกันในภพก่อน เคยอยู่ร่วมที่เคียงกันมา ความรักนั้นย่อมไม่ละ คงติดตามไปแม้ในภพอื่น เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อนอย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะความเกื้อกูลกันในปัจจุบันอันได้ทำในอัตภาพนี้

ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการฉะนี้ เปรียบเหมือนอุบลในน้ำฉะนั้น คือเหมือนอุบลและบุปผชาติที่เกิดในน้ำต่างๆ เกิดในน้ำ ก็ได้อาศัยเหตุสองอย่าง คือน้ำและเปือกตมฉันใด ความรักก็ย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการนี้ฉะนั้น

หากพิจารณา “พุทธวจนะ” ข้างต้นนี้อย่างถี่ถ้วน การที่ 1 หญิง และ 1 ชาย ปรารถนาจะพบกันและกันทั้งในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพนั้น ขึ้นอยู่กับ ธรรม 4 ประการที่จะต้องมีเสมอกัน คือ ศรัทธา ศีล จาคะและปัญญา

กล่าวอย่างสั้นที่สุด ทั้งสองคนนี่แหละเป็น “คู่สร้างคู่สม” ในธรรมทั้ง 4

เมื่อต่างปรารถนาจะพบกันและกันแล้ว ก็ย่อมปรารถนาจะอยู่ร่วมกัน

และการอยู่ร่วมกันของชายและหญิงนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน 4 ลักษณะ คือ

ชายผี อยู่ร่วมกับ หญิงผี
ชายผี อยู่ร่วมกับ หญิงเทวดา
ชายเทวดา อยู่ร่วมกับ หญิงผี
ชายเทวดา อยู่ร่วมกับ หญิงเทวดา

และบัญญัติศัพท์ “...ผี” ไว้ว่า เป็นผู้มัก
ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม

พูดเท็จ
พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ

มีความละโมบ
มีจิตพยาบาท
มีความเห็นผิด

เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีใจอันมลทิน คือ ความตระหนี่ครอบงำ ด่าและบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน

และบัญญัติศัพท์ “...เทวดา” ไว้ว่า เป็นผู้งดเว้นจากการ
ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม

พูดเท็จ
พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ

ไม่มีความละโมบ
ไม่มีพยาบาท
มีความเห็นชอบ

มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ ไม่ด่า ไม่บริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน

ดังนั้น หาก
ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้ทุศีล เป็นคนตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ชื่อว่า เป็น
ผีมาอยู่ร่วมกัน

สามีเป็นผู้ทุศีลมีความตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์
ส่วนภรรยาเป็นผู้มีศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ภรรยานั้น ชื่อว่า หญิงเทวดาอยู่ร่วมกับชาย
ผี

สามีเป็นผู้มีศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ส่วนภรรยาเป็นผู้ทุศีล มีความตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ชื่อว่า หญิง
ผีอยู่ร่วมกับชายเทวดา และหาก

ทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธารู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกันรักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน

ครั้นประพฤติธรรมใน โลกนี้แล้ว เป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ ชื่อว่า หญิงเทวดาอยู่ร่วมกับชายเทวดา /3

สำหรับภรรยานั้น กล่าวได้ว่า หากจะแบ่งกันตามหลักพุทธวจนะแล้ว สามารถจำแนกได้ถึง 7 จำพวก คือ

ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้ เรียกว่า วธกาภริยา

สามีของหญิงประกอบด้วยศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยาปรารถนาจะยักยอกทรัพย์ แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้ เรียกว่า โจรภริยา และ

ภริยาที่ไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้ เรียกว่าอัยยาภริยา

ส่วน

ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา

ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพในสามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าภคินีภริยา

ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี เหมือนเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตรปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา และ

ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอกก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา

ภริยาที่ เรียกว่า
วธกาภริยา (ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต)
โจรภริยา (ภริยาเสมอด้วยโจร)
อัยยาภริยา (ภริยาเสมอด้วยนาย)

ภริยาทั้ง ๓ จำพวกนั้น ล้วนแต่ เป็นคนทุศีล หยาบช้า ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง นรก

ส่วนภริยาที่ เรียกว่า
มาตาภริยา (ภริยาเสมอด้วยมารดา)
ภคินีภริยา (ภริยาเสมอด้วยพี่สาวน้องสาว)
สขีภริยา (ภริยาเสมอด้วยเพื่อน)
ทาสีภริยา (ภริยาเสมอด้วยทาสี)

ภริยาทั้ง ๔ จำพวกนั้น เพราะ ตั้งอยู่ในศีล ถนอมรักไว้ยั่งยืน เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติ /4

นอกจากธรรม 4 ประการสำหรับผู้ปรารถนาจะเป็นคู่บุพเพสันนิวาส ลักษณะการอยู่ร่วมกันของภรรยาและสามี และลักษณะภรรยา 7 จำพวกแล้ว คนที่เป็นภรรยาและสามีกันยังจะต้องมีหน้าที่ ที่พึงปฏิบัติต่อกันตามหลักการดำรงชีพชอบของฆราวาส

ซึ่งสามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาโดยฐานะ 5 ประการด้วยการ...

ยกย่อง
ไม่ดูหมิ่น
ไม่ประพฤตินอกใจ
มอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้
และ

ให้เครื่องประดับ

และภรรยาก็พึงอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ 5 ประการด้วยการ...

จัดแจงการงานดี
สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
ไม่ประพฤตินอกใจ
ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่
และ
ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง /5

และเมื่อทั้ง 2 ฝ่าย พึงปฏิบัติต่อกันตามหลัก พุทธวจนะ ข้างต้นแล้ว เชื่อว่าปัญหาการหย่าร้างซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ก็คงจะค่อย ๆ ลดลงไปในอนาคตอันใกล้ เพราะต่างก็เข้าใจในหน้าที่ของตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น หากทั้ง 2 ฝ่ายปรารถนาจะเกื้อกูลกันและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขแล้ว ทั้งภรรยาและสามียังจะต้องดำเนินชีวิตบนหลักที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสุขแก่กุลบุตรทั้งในทิฏฐธรรมและในสัมปรายะ ซึ่งหลักนั้นประกอบด้วยธรรมอย่างละ 4 ประการ คือ

กุลบุตรในกรณีนี้
สำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการลุกขึ้นกระทำการงาน คือด้วยกสิกรรม หรือวานิชกรรม โครักขกรรม อาชีพผู้ถืออาวุธ อาชีพราชบุรุษ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในอาชีพนั้นๆ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยการสอดส่องในอุบายนั้น ๆ สามารถกระทำ สามารถจัดให้กระทำ

นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 1

กุลบุตรในกรณีนี้
โภคะอันกุลบุตรหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้นรวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรมได้มาโดยธรรม

เขารักษาคุ้มครองอย่างเต็มที่ ด้วยหวังว่า

“อย่างไรเสีย
พระราชาจะไม่ริบทรัพย์ของเราไป
โจรจะไม่ปล้นเอาไป
ไฟจะไม่ไหม้
น้ำจะไม่พัดพาไป
ทายาทอันไม่รักใคร่เรา จะไม่ยื้อแย่งเอาไป”
ดังนี้

นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 2

กุลบุตรในกรณีนี้
อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด

ถ้ามีบุคคลใดๆในบ้านหรือนิคมนั้น เป็นคหบดีหรือบุตรคหบดีก็ดี เป็นหนุ่มที่เจริญด้วยศีลก็ดี ล้วนแต่
ถึงพร้อมด้วยสัทธา
ถึงพร้อมด้วยศีล
ถึงพร้อมด้วยจาคะ
ถึงพร้อมด้วยปัญญา อยู่แล้วไซร้

กุลบุตรนั้นก็ดำรงตนร่วม พูดจาร่วม สากัจฉาร่วม กับชนเหล่านั้น
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยสัทธา โดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธา
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยศีล โดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยจาคะ โดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยปัญญา โดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา อยู่ในที่นั้นๆ

นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตา เป็น ธรรมประการที่ 3

กุลบุตรในกรณีนี้
รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า

“รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้”

เปรียบเหมือนคนถือตาชั่ง หรือลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า

“ยังขาดอยู่เท่านี้หรือเกินไปแล้วเท่านี้” ดังนี้ฉันใด กุลบุตรนี้ ก็ฉันนั้น

เขารู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า

“รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้”

ถ้ากุลบุตรนี้ เป็นผู้มีรายได้น้อย แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า

“กุลบุตรนี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ (อย่างสุรุ่ยสุร่าย) เหมือนคนกินผลมะเดื่อ” ฉันใดก็ฉันนั้น

แต่ถ้ากุลบุตร เป็นผู้มีรายได้มหาศาล แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า

“กุลบุตรนี้จักตายอดตายอยากอย่างคนอนาถา”

เมื่อใดกุลบุตรนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนักโดยมีหลักว่า

“รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้

นี้เรียกว่า สมชีวิตา เป็น ธรรมประการที่ 4 /6

กล่าวอย่างสั้นที่สุด ธรรม 4 ประการเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กุลบุตรในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) คือ

อุฏฐานสัมปทา (การถึงพร้อมด้วยความขยันในอาชีพ)
อารักขสัมปทา (การถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์)
กัลยาณมิตตตา (ความมีมิตรดี) และ
สมชีวิตา (การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุล พอเพียงกับฐานะ)

และ

กุลบุตรในกรณีนี้
เป็นผู้มีสัทธา เชื่อในการตรัสรูของตถาคตว่า

"เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
เป็นผู้ไกลจากกิเลส
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ
เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์"
ดังนี้

นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 1

กุลบุตรในกรณีนี้
เป็นผู้เว้นขาดจาก
ปาณาติบาต
อทินนาทาน
กาเมสุมิจฉาจาร
มุสาวาท และ
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน

นี้เราเรียกว่า สีลสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 2

กุลบุตรในกรณีนี้
มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน อยู่ครองเรือน
มีจาคะอันปล่อยอยู่เป็นประจำ
มีฝ่ามืออันชุ่มเป็นปกติ
ยินดีแล้วในการสละ ควรแก่การขอ
ยินดีแล้วในการจำแนกทาน

นี้เรียกว่า จาคสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 3

กุลบุตรในกรณีนี้
เป็นผู้มีปัญญาประกอบด้วยปัญญา
เป็นเครื่องให้ถึงสัจจะแห่งการเกิดดับ
เป็นเครื่องไปจากข้าศึก
เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส
เป็นเครื่องถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ

นี้เราเรียกว่า ปัญญาสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 4 /7

กล่าวอย่างสั้นที่สุด ธรรม 4 ประการเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กุลบุตรในสัมปรายะ (อนาคต) คือ

สัทธาสัมปทา (มีศรัทธาเสมอกัน)
สีลสัมปทา (
มีศีลเสมอกัน)
จาคสัมปทา (มีจาคะเสมอกัน) และ
ปัญญาสัมปทา (มีปัญญาเสมอกัน)

จะเห็นได้ว่า นี่เป็นธรรม 4 ประการเดียวกันกับธรรม 4 ประการสำหรับผู้ทีปรารถนาจะเป็นพบกันและกันทั้งในทิฏฐธรรมและในสัมปรายะ

และหลักที่ปรากฏใน “พุทธวจนะ” เหล่านี้ ก็เพียงพอแล้ว สำหรับ “การเลือกคู่” และ “การครองคู่” ของคนสองคน ที่มาจากต่างที่กัน

แต่ทว่า ยังมีธรรมอีก 4 ประการที่เป็นเสมือนพรอันประเสริฐสำหรับการครองคู่ ทั้งภรรยาและสามีต่างก็ปรารถนา


ขอบคุณภาพดีดีจาก //www.rojn-info.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=377177&Ntype=3

โดย ปรากฏการณ์หลังม่านสีฟ้า

ขอบคุณที่มา  //www.oknation.net/ 




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2557
5 comments
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2557 10:15:06 น.
Counter : 1400 Pageviews.

 

ต่ออีกนิดนึงค่ะ...ยังไม่จบ

ขอ...โภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม
ขอ...ยศจงเฟื่องฟูแก่เราพร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย
ขอ...เราจงเป็นอยู่นาน จงรักษาอายุให้ยั่งยืน และเมื่อตายแล้ว
ขอ...เราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์


และธรรม 4 ประการ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งพรอันประเสริฐทั้ง 4 นี้ ก็คือ
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า

"เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
เป็นผู้ไกลจากกิเลส
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ
เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์" ดังนี้


นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 1

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้งดเว้นจาก
ปาณาติบาต
อทินนาทาน
กาเมสุมิจฉาจาร
มุสาวาท และ
สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

นี้เรียกว่า สีลสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 2

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่
มีจาคะอันปล่อยแล้ว
มีฝ่ามืออันชุ่ม
ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ
ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน


นี้เรียกว่า จาคสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 3

บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำเสมอ คือ
อภิชฌาครอบงำแล้ว
พยาบาทครอบงำ
ถีนมิทธะครอบงำ
อุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ
วิจิกิจฉาครอบงำแล้ว


ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ
เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำอยู่

ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข


แต่ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ นั้นแลรู้ว่า

อภิชฌาวิสมโลภะ
พยาบาท
ถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ
วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละ

อภิชฌาวิสมโลภะ
พยาบาท
ถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ
วิจิกิจฉา อันเป็นอุปกิเลสของจิตเสีย


เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า
อภิชฌาวิสมโลภะ
พยาบาท
ถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ
วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้


อริยสาวกนี้เราเรียกว่า
เป็นผู้มีปัญญามาก
มีปัญญาหนาแน่น
เป็นผู้เห็นทาง
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา

นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา เป็น ธรรมประการที่ 4 /8


ที่ลำดับความมาทั้งหมด คือ หลักต่าง ๆ ที่ปรากฏใน พุทธวจนะ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการสร้างสัมพันธภาพระหว่างคน 2 คน ที่เกิดต่างมารดาต่างบิดา ต่างการอบรมเลี้ยงดู ต่างนิสัย สันดาน ต่างวิธีคิด และต่างรสนิยมในการดำเนินชีวิต


ก็เพราะคนทั้งสองมาจากสิ่งที่แวดล้อมกันคนละแบบ คนละอย่าง นั่นจึงมิใช่เรื่องง่ายนัก ที่จะใช้เวลาเพียงชั่วลัดนิ้วมือ ชั่วข้ามวันข้ามคืน หรือแม้กระทั่งชั่วข้ามปีสองปี ในการตัดสินใจเลือกเพื่อน 1 คนร่วมทางเดินไปกับเรา ชั่วระยะเวลาทั้งชีวิต


ถึงขนาดที่บางคน มั่นใจว่า


วันนี้ คนนี้แหละใช่แน่ ๆ นั่นก็แค่ใช่สำหรับวันนี้ ไม่ได้หมายความว่า พรุ่งนี้คน ๆ นี้จะต้องใช่สำหรับเรา และวันวาน แม้คน ๆ นั้นจะไม่ใช่ ก็ไม่ใช่สำหรับวันวาน ไม่ได้หมายความว่า วันนี้คน ๆ นั้นจะต้องไม่ใช่สำหรับเราไปด้วย


เรื่องของชีวิตนั้น อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน และความไม่แน่นอนนี่แหละ คือ ความแน่นอนที่สุด


อย่างที่กล่าว การเลือกคู่นับว่ายากแล้ว การครองคู่ในสถานะ “สมรส” ยิ่งยากกว่า


และยากกว่าเป็นไหน ๆ หากเทียบกับการคงสถานะ “โสด” คือ อยู่คนเดียวโดด ๆ


แต่ทว่านั่น ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับคน 2 คนที่มีศรัทธา ศีล จาคะและปัญญาเสมอกัน !


เริ่มศรัทธา ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วยังละ ! ขนาดคู่บุพเพ ฯ ยังสร้างได้

 

โดย: kanyong1 11 กุมภาพันธ์ 2557 10:16:52 น.  

 



เรื่องของชีวิตนั้น อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน และความไม่แน่นอนนี่แหละ คือ ความแน่นอนที่สุด

นะ ..แน่นอนสุดๆ ...

แปะหัวใจให้ด้วยจ๊า

 

โดย: เสี่ยวเฟย 12 กุมภาพันธ์ 2557 12:52:39 น.  

 

จริงค่ะ เห็นด้วยมากๆเลย

 

โดย: หัวใจนักท่องเที่ยว 13 กุมภาพันธ์ 2557 4:30:14 น.  

 

ฟังเรื่องคู่ๆ แล้วแสลงค่ะ เฮ้อ
แวะมาสุขสันต์วันวาเลนไทน์กับวันมาฆบูชาค่ะ
มีความสุขมากๆ และฝันดีราตรีสวัสดิ์นะคะ

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

 

โดย: ประกายพรึก 14 กุมภาพันธ์ 2557 21:48:39 น.  

 

แวะมาเยี่ยมค่ะ

 

โดย: นู๋ที 16 กุมภาพันธ์ 2557 1:34:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kanyong1
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]




เป็นคุณแม่ลูกสอง วัย42ปี สนใจการทำอาหาร และการท่องเที่ยวค่ะ ยินดีต้อนรับทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมบล็อคนะคะ หรือสามารถติดตามการทำอาหารได้ที่เฟสบุค Kannika Roddee

******************************
******************************

ไม่ต้องบินให้สูงอย่างใครเขา…

จงบินเอาเท่าที่เราจะบินไหว

ท่าที่บินไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

แค่บินไปให้ถึงฝัน เท่านั้นพอ

ทำเท่าที่เราจะทำได้ และทำให้ดีที่สุด สักวันหนึ่ง ฝันของเราจะเป็นจริง :)

*****************************
*****************************
: จำนวนคนที่กำลังออนไลน์
online
Blackjack Online
free counters
New Comments
Friends' blogs
[Add kanyong1's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.