สายตาจับจ้องที่ดวงดาว และเท้ายังคงติดดิน (Keep your eyes on the stars, and your feet on the ground.)
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 ตุลาคม 2555
 
All Blogs
 
ความต้องการถือเงินกับหลักการใช้จ่ายทรัพย์ในทางพุทธศาสนา

ถึงแม้ว่าในรายละเอียดและจุดมุ่งหมายของการใช้ทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนากับความต้องการถือเงิน (demand for money) ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างในบางส่วนของเป้าหมาย แต่นัยของหลักใหญ่ใจความก็สามารถที่จะเทียบเคียงในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้ และที่น่าสนใจก็คือ กว่า ๒๕ ศตวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หลักธรรมคำสอนในเรื่องการใช้จ่ายทรัพย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูจะมีความหมายที่กว้างและครอบคลุมยิ่งกว่าเกี่ยวเนื่องจาก เป็นหลักที่เน้นไปในทางให้ ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น ในขณะที่ศาสตร์ทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาทรัพย์เพื่อเอาไปในการใช้จ่ายสำหรับประโยชน์ส่วนตน (เจ้าของทรัพย์) เป็นประการสำคัญสูงสุด










ในการมีทรัพย์ (โภคทรัพย์) ไว้เพื่ออะไรนั้น...ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแสดงถึงเหตุผลในการที่จะมีทรัพย์ หรือประโยชน์ที่ควรถือเอาจากทรัพย์สมบัติแก่อนาถบิณฑิกคหบดี โดยตรัสให้เหมาะกับสภาพของสังคมในสมัยนั้น พึงพิจารณาจับสารัตถะตามสมควรดังนี้ (จากหนังสือ พุทธธรรม : ฉบับปรับปรุงและขยายความ โดยพระพรหมคุณาภรณ์  หน้า ๗๘๗ – ๗๘๘.)

“ดูกรคหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะทั้งหลายมี ๕ ประการดังนี้, ๕ ประการคือ

             ๑. ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สะสมขึ้นมาด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมเลี้ยงตัวให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลตนให้เป็นสุขโดยชอบ ย่อมเลี้ยงมารดาบิดา...บุตรภรรยาคนรับใช้กรรมกรคนงานให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ, นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๑

            ๒. อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมเลี้ยงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ, นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะข้อที่ ๒

           ๓. อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมป้องกันโภคะจากภยันตรายที่จะเกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทร้าย ทำตนให้สวัสดี, นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๓

           ๔. อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมกระทำพลี ๕ อย่างคือ ญาติพลี (สงเคราะห์ญาติ) อติถิพลี (ต้อนรับแขก) ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศผู้ล่วงลับ) ราชพลี (บำรุงราชการ) เทวตาพลี (ถวายเทวดาหรือบำรุงศาสนา), นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๔

           ๕. อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมประดิษฐานทักขิณาอันส่งผลสูง อันอำนวยอารมณ์ดีงาม มีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ ซึ่งฝึกฝนตนเอง ทำตนเองให้สงบ ทำตนเองให้หายร้อนกิเลสได้, นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งดภคะ ข้อที่ ๕

         คหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะมี ๕ ประการเหล่านี้แล, ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคทรัพย์หมดสิ้นไป เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า อันใดเป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ประโยชน์เหล่านั้นเราถือเอาแล้ว และโภคะของเราก็หมดสิ้นไป โดยนัยนี้อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ; และหากว่าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคทรัพย์เพิ่มพูนขึ้น เขาย่อมมีความคิดว่า อันใดเป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ประโยชน์เหล่านั้นเราก็ถือเอาแล้ว และโภคะของเราก็เพิ่มพูนยิ่งขึ้น โดยนัยนี้ อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ เป็นอันไม่มีความเดือดร้อนใจทั้งสองกรณี”...

ในการใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้นั้น สิ่งสำคัญในหลักการทางพระพุทธศาสนานั้นท่านสอนให้พึงเข้าใจและคำนึงไว้เสมอว่า ให้ใช้จ่ายไปในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น หากใช้จ่ายไปในทางที่ไม่มีประโยชน์แล้วการแสวงหาและได้มาแห่งทรัพย์ดังกล่าวก็เปล่าประโยชน์และอาจจะมีโทษ รวมทั้งไม่มีค่าหรือความหมายใด ๆ โดยแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สวัสดีในชีวิตมี ๕ ประการ กล่าวคือ

         ๑. ใช้ทรัพย์ไปในการเลี้ยงตัว เลี้ยงมารดา บุตร ภรรยา รวมทั้งคนที่อยู่ในการปกครองทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี

          ๒. ใช้ทรัพย์ไปในการบำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี

          ๓. ใช้ทรัพย์ไปในการปกป้องรักษาสวัสดิภาพรวมทั้งทำตนให้มั่นคงปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงที่มี

          ๔. ใช้ทรัพย์ไปในการเพื่อพลี เป็นไปในลักษณะที่จะสละเพื่อบำรุงและบูชา ๕ อย่าง

               ๔.๑ ญาติพลี คือ สงเคราะห์ญาติ

               ๔.๒ อติถิพลี คือ ต้อนรับแขก

               ๔.๓ ปุพพเปตพลี คือ ทำบุญหรืออุทิศส่วนบุญกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

               ๔.๔ ราชพลี คือ การบำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น

               ๔.๕ เทวตาพลี (ถวายเทวดา) คือ ทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพบูชาตามความเชื่อถือ

         ๕. อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ รวมถึงเหล่าบรรพชิตผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบและผู้ที่ไม่มีความประมาทมัวเมาทั้งหลาย

          จะว่าไปในการมีทรัพย์เพื่อเป็นเครื่องปลื้มใจหากไม่รู้จักใช้จ่ายในทรัพย์นั้น ความปลื้มใจอันที่คิดว่าแน่แท้ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์ระทมขมขื่นใจ ดังในเรื่องที่เคยเกิดขึ้นสมัยพุทธกาลที่ท่านว่าไว้โดยมีเนื้อหาสาระสอนใจดังนี้…

กิระดังได้ฟังมาความว่าไว้ ในสมัยพุทธกาลเนิ่นนานมามีนิคมหนึ่งที่ชื่อว่า “สักกระ” มีระยะทางไม่ห่างไกลจากกรุงราชขคฤห์มากนัก ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยของเศรษฐีใหญ่นามว่า “โกสิยะ” เป็นที่เล่าลือกล่าวขานกันว่าท่านมีทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) แต่มิพึงต้องการใช้ประโยชน์ใด ๆ ในทรัพย์นั้นเพื่อไปสงเคราะห์ผูใดหรือแม้กระทั่งตัวเอง!

          อยู่มาวันหนึ่งซึ่งเศรษฐีโกสิยะได้ไปเข้าเฝ้าพระราชา ตอนกลับมาจากเข้าเฝ้าระหว่างทางเขาได้พบกับชาวบ้านที่ยากจนคนหนึ่งซึ่งกำลังนั่งกินขนมเบื้องด้วยท่าทางเอร็ดอร่อย ชะลอยเพราะมีความหิวที่บังคับบีบคั้นเริ่มปะทุขึ้นมาทำให้เศรษฐีโกสิยะนึกอยากกินขึ้นมาบ้าง แต่ด้วยความที่มีนิสัยไปในทางตระหนี่จึงคิดหาวิธีที่จะกินขนมเบื่อง (ราคาแสนถูก) นั้นตลอดเส้นทางกลับบ้าน แต่นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกเพราะหากจะบอกกับภรรยาว่าอยากกิน ก็เกรงว่าหากได้ยินถึงหูคนอื่นภายในบ้านทุกคนก็จะมีความต้องการเหมือนตนจึงยอมอดทนอดกลั้นต่อความหิวนั้นไว้ อันความทุกข์ใดไหนเล่าจะยิ่งใหญ่เท่ากับกับความทุกข์ใจที่ไม่ได้รับสนองตอบต่อความต้องการ (กิน) ของตน เมื่อจนด้วยปัญญาเพราะว่ากลัวจะเสียทรัพย์ จึงก้มหน้ารับเอาความเศร้าเก็บไว้ในใจเพียงลำพัง จนทำให้ร่างกายผ่ายผอมและทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงไป

        ฝ่ายภรรยาของเศรษฐีโกสิยะเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีเมื่อเห็นสามีของตนหน้าตาหม่นหมอง รวมทั้งร่างกายผ่ายผอมลงนับตั้งแต่วันที่กลับมาจากเข้าเฝ้าพระราชา ดูเหมือนกับว่าสามีกำลังกลุ้มใจในอะไรบางอย่างจึงเลียบเคียงถามว่า

         “ท่านเป็นอะไร หรือว่ามีเรื่องไม่สบายใจหรือเปล่า?”

          โกสิยะเศรษฐีผู้เป็นสามีส่ายหน้าด้วยท่าทีที่เหนื่อยล้า

          “หรือว่าพระราชาทรงกริ้วท่านหรือ?” ผู้เป็นภรรยายังคงคะยั้น

          “ไม่ใช่อย่างนั้น” ผู้เป็นสามีตอบออกไปในที่สุด

          “ถ้ายังงั้น มีใครทำให้ท่านไม่สบายใจหรือเปล่า?” ฝ่ายภรรยายังคงรบเร้าถามต่อ

         “ไม่มี!” ท่านเศรษฐีย้ำอย่างหนักแน่น แต่ในใจข้างในสุดแสนจะทรมาน

         “ถ้ายังงั้น เป็นเพราะอาหารไม่ถูกปากหรือว่าท่านอยากจะทานอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า?” ถามต่อเพราะเห็นร่างกายของสามีที่ผ่ายผอมลงโดยคิดว่าอาจจะเป็นไปได้ที่ไม่เจริญอาหาร ซึ่งก็เข้ากับความต้องการที่มีของเศรษฐีพอดี...แต่เมื่อเขาฉุกคิดดูอีกทีเพราะกลัวเสียทรัพย์จึงได้แต่ทำหน้าบอกบุญไม่รับดังเดิมและไม่ได้กล่าวอะไรออกมา ภรรยาจึงรบเร้าหนักขึ้น ในขณะที่เศรษฐีโกสิยะกลืนน้ำลายลงคอที่แห้งผากด้วยความยากลำบากก่อนที่จะหลุดปากออกมาว่า

      “ใช่! ฉันต้องการทานอะไรบางอย่าง”

        ภรรยาได้ฟังถึงกับอ้าปากค้างด้วยความแปลกใจแต่ก็รู้สึกผ่อนคลาย เพราะเคยคิดว่าคงมีเรื่องคอขาดบาดตายอะไรที่ทำให้สามีเป็นทุกข์ใจได้ถึงเพียงนี้ แต่ที่ไหนได้กลับกลายเป็นเรื่องเล็ก (สำหรับเธอ) นิดเดียวเท่านั้นเอง

 “แล้วท่านอยากทานอะไรหรือคะ” ภรรยาถามขึ้นในทันใดเพื่อที่จะได้จัดหามาให้สามีสุดที่รัก

 “ฉันอยากกินขนมเบื้อง” เขาพูดออกมาเบา ๆ พร้อมกับเหลียวซ้ายแลขวาเพราะกลัวว่าจะมีใครมาได้ยิน ฝ่ายภรรยาเมื่อได้ฟังดังว่าและเห็นกิริยาอาการก็อดที่จะขบขันไม่ได้จึงแสร้งเบือนหน้าไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ไม่อาจรอดพ้นสายตาของสามีไปได้

            “ขำอะไรนักหนา!”

          ภรรยาจึงหยุดและพูดขึ้นว่า “ท่านฝืนทนอยู่ทำไมจนทำให้ร่างกายผ่ายผอม หากแค่ยอมบอกออกมาว่าอยากทานขนมเบื้องเพียงเท่านั้นก็สิ้นเรื่อง ดีเหมือนกันจะได้ทำเลี้ยงคนจนทั้งเมืองไปด้วยพร้อมเลย” ภรรยาเอ่ยขึ้นด้วยความที่เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี

       แต่ท่านเศรษฐีถึงกับตกใจเลยสวนขึ้นในทันใด “อย่าว่าถึงคนจนทั้งเมืองเลยแม้แต่ทุกคนภายในบ้านฉันก็ไม่ต้องการให้ทานด้วย ฉันต้องการทานเพียงลำพังแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น!”

      ครั้นภรรยารับคำที่จะทำขนมเบื้องให้เพียงพอเฉพาะสามีที่รับประทานเพียงคนเดียวแล้ว เศรษฐีโกลิยะก็ยังอุตส่าห์วางเงื่อนไขไว้ให้เอาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวสาร น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้งและเนยใสโดยที่ให้ใช้ในปริมาณน้อย ๆ เท่านั้นโดยเฉพาะข้าวสารก็ให้เอาข้าวสารอย่างเลวคือแบบหัก ๆ หรือป่น ๆ ไปทำเท่านั้น...

         นี่คือเนื้อเรื่องบางส่วนในสมัยพุทธกาล ที่ต้องการหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการใช้ไปในทรัพย์ ซึ่งจากนิทานจะเห็นได้ว่าท่านเศรษฐีโกสิยะถึงแม้ว่าจะเป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์มากมายกว่า ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) แต่ก็ยอมอดทนอดกลั้นต่อความอยาก (กินขนมเบื้อง) จนทำให้ตัวเองลำบากทุกข์ใจและทุกข์กาย (ผ่ายผอม) ด้วยความตระหนี่

          ถึงแม้ว่าเศรษฐีจะมีจิตใจน้อมไปในการบริโภคใช้สอยแต่น้อยนิด แต่ถ้าวินิจฉัยในหลักพระพุทธศาสนาเกี่ยวเนื่องกับ “การใช้จ่ายไปในทรัพย์” แล้วจะพึงเห็นได้ว่า ไม่ถูกกับคุณค่าที่วางเป็นหลักใหญ่เอาไว้เพราะไม่เป็นไปในลักษณะของการใช้เพื่อเลี้ยงตนเองรวมถึงครอบครัวและบริวารที่อยู่ในการปกครองของตน (ประโยชน์แห่งโภคะข้อที่ ๑) ให้เกิดความสุขสวัสดี ซึ่งในกรณีของเศรษฐีโกลิยะดังกล่าวถือได้ว่า มีทรัพย์ก็เปล่าประโยชน์และยังมีโทษต่อตัวเอง คือ รู้สึกเสียดายที่จะใช้จ่ายไปได้แต่นั่งมองนอนมองทรัพย์สมบัติที่กองอยู่เต็มบ้านแต่ไม่ได้นำมาเพื่อสร้างความเบิกบานและปลื้มใจให้กับเจ้าของนั้นเลย

หากว่าใครที่เรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ จะพึงสังเกตได้ว่า การใช้จ่ายทรัพย์ในทางพระพุทธศาสนาสามารถเทียบเคียงได้กับหลักทฤษฎีการเงินของสำนักเคนส์ ซึ่งแบ่งความต้องการถือเงิน (demand for money) ออกเป็น ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

๑. เพื่อใช้จ่ายประจำวัน (transaction motive) บุคคลโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือผู้ผลิตจะถือเงินไว้เพื่อจับจ่ายใช้สอยประจำวันจำนวนหนึ่งเสมอ เช่น เป็นค่าหาร ค่าพาหนะ ซื้อวัตถุดิบ ค่าเช่า เป็นต้น

                ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับความสัมพันธ์ในการใช้จ่ายทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็คือ ประการที่ ๑ ใช้ทรัพย์ไปในการเลี้ยงตัว เลี้ยงมารดา บุตร ภรรยา รวมทั้งคนที่อยู่ในการปกครองทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดีนั่นเอง

๒. เพื่อเป็นทุนสำรองเมื่อมีเหตุจำเป็น (precautionary motive) คือ การถือเงินไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ เป็นต้น

               ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับความสัมพันธ์ในการใช้จ่ายทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็คือ ประการที่ ๓ใช้ทรัพย์ไปในการปกป้องรักษาสวัสดิภาพรวมทั้งทำตนให้มั่นคงปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงที่มี และประการที่ ๔ ใช้ทรัพย์ไปในการเพื่อพลี เป็นไปในลักษณะที่จะสละเพื่อบำรุงและบูชา ๕ อย่าง นั่นเอง

๓. เพื่อเก็งกำไร (speculative motive) คือ การที่ประชาชนหรือหน่วยธุรกิจต้องการถือเงินไว้เพื่อเก็งกำไรหรือลงทุนเพื่อหากำไร เช่น การซื้อหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร เป็นต้น

              ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับความสัมพันธ์ในการใช้จ่ายทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นการลงทุนแล้วก็คือประการที่ ๒ ใช้ทรัพย์ไปในการบำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี นั่นเอง

       ถึงแม้ว่าในรายละเอียดและจุดมุ่งหมายของการใช้ทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนากับความต้องการถือเงิน (demand for money) ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างในบางส่วนของเป้าหมาย แต่นัยของหลักใหญ่ใจความก็สามารถที่จะเทียบเคียงในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้ และที่น่าสนใจก็คือ กว่า ๒๕ ศตวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หลักธรรมคำสอนในเรื่องการใช้จ่ายทรัพย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูจะมีความหมายที่กว้างและครอบคลุมยิ่งกว่าเกี่ยวเนื่องจาก เป็นหลักที่เน้นไปในทางให้ ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น ในขณะที่ศาสตร์ทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาทรัพย์เพื่อเอาไปในการใช้จ่ายสำหรับประโยชน์ส่วนตน (เจ้าของทรัพย์) เป็นประการสำคัญสูงสุด

********************************************************************************************************************

ความพอเพียงในชีวิตประจำวัน


ความพอเพียงเริ่มต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม


เมื่อไม่นานมานี้ขณะที่ผู้เขียนกำลังยืนคุยกับเพื่อนที่หน้าร้านกาแฟ ก็สังเกตเห็นชาวต่างชาติคนหนึ่งสะพายเป้ขนาดใหญ่ไว้ข้างหลังและมือถือขวดน้ำ เดินถามร้านค้ามาตลอดเส้นทางจนมาถึงร้านกาแฟที่ผู้เขียนยืนอยู่ สังเกตเห็นเหงื่อของเธอเต็มตัวเลยทีเดียว

             “ขอโทษนะคะ แถวนี้มีตู้ใส่น้ำไหมคะ”  แม้ว่าเธอจะพูดไม่ชัด แต่ก็ถือได้ว่าภาษาไทยของเธออยู่ในระดับที่ใช้ได้เลยทีเดียว

            คนขายกาแฟทำหน้างงเล็กน้อยก่อนตอบว่า “ตู้ใส่น้ำ... อ๋อ ตู้น้ำหยอดเหรียญ เดินตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายตรงซอยหน้าก็จะเจอครับ”

             ดูท่าทางเธอดีใจมาก เธอพูดพร้อมกับทำมือประกอบ “เลี้ยวซ้ายข้างหน้า โอเค ขอบคุณมากคะ”

              เมื่อเธอเดินไปได้ซักพัก คนขายกาแฟพูดขึ้นลอย ๆ ว่า “เซเว่น ก็อยู่ใกล้ ๆ ไม่รู้จักเข้าไปซื้อ จะเดินให้เหนื่อยทำไม”

               ตอนแรกผู้เขียนเองก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอคนขายกาแฟพูดประโยคนี้ขึ้นมาทำให้อดคิดไม่ได้

               “เออ นั่นซิ ทำไมต้องเดินให้เหนื่อยด้วย ร้านค้าแถวนี้ก็มีเยอะแยะ” 

             จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้มองในมุมสะท้อนออกมาให้เห็นถึง “ความพอเพียง” ในตัวของชาวต่างชาติคนนั้น คือ

ประการที่ ๑ ความพอประมาณ เป็นลักษณะของการวางแผนบริหารจัดการรายได้ กับรายจ่าย และภาระหนี้สิน ให้ลงตัว หากพิจารณาจากพฤติกรรมการบริโภคของเธอดังกล่าวแล้วจะเห็นว่า ถึงแม้ว่าเธอจะต้องเดินและเหนื่อยมากขึ้นในการหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ แต่สิ่งที่ชดเชยกลับมาให้เธอก็คือความประหยัด (เงินเก็บในกระเป๋าเธอเหลือมากขึ้น)

   น้ำหยอดเหรียญ ๑ ลิตร / ๑ บาท หากซื้อน้ำขวดใหม่ขวดละ ๑๐ บาท (น้ำ ๑ขวดประมาณ ๗๐๐ ซีซี)  หากสมมติในหนึ่งวันดื่มน้ำ ๒ ขวด

- กรณีซื้อน้ำขวดใหม่ใช้จ่าย (๒ x ๑๐) เท่ากับ ๒๐ บาท

                                หนึ่งเดือน (๓๐ x ๒๐)      เท่ากับ         ๖๐๐ บาท

                                 หนึ่งปี       (๓๖๕ x ๒๐) เท่ากับ     ๗, ๓๐๐ บาท

- กรณีใช้ตู้หยอดเหรียญหนึ่งวัน (๒ x ๐.๗๐)  เท่ากับ  ๑.๔๐ บาท

                                 หนึ่งเดือน  (๓๐ x ๑.๔๐)    เท่ากับ        ๔๒  บาท

                                 หนึ่งปี      (๓๖๕ x ๑.๔๐)   เท่ากับ      ๕๑๑  บาท

           หนึ่งเดือนสามารถประหยัดได้   ๖๐๐ – ๔๒   เท่ากับ       ๕๕๘  บาท

           หนึ่งปีสามารถประหยัดได้   ๗,๓๐๐ – ๕๑๑ เท่ากับ    ๖,๗๘๙  บาท

ประการที่ ๒ ความสมเหตุสมผล ถึงแม้ว่าเธอจะต้องเดินเหนื่อยมากขึ้นกว่าเดิมแทนการเข้าไปซื้อน้ำในร้านค้า แต่เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนของรายจ่ายในการซื้อน้ำขวดใหม่กับต้นทุนรายจ่ายในการใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญบวกกับพลังงานในการเดิน ก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผลที่เธอจะเลือกใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญ

ประการที่ ๓ ความสมดุล จากพฤติกรรมของเธอยังสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนและช่วยสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมอีกด้วย ซึ่งถ้าหากว่าเธอเลือกซื้อน้ำขวดใหม่ทุกวัน ปริมาณของขวดพลาสติกก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อนำไปสู่กระบวนการการรีไซเคิลก็จะไปเสริมทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น

ประการที่ ๔ ภูมิคุ้มกัน พฤติกรรมของเธอช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเธอเอง (มีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้น หากเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นก็จะไม่เดือดร้อนมาก) และภูมิคุ้มกันให้กับสิ่งแวดล้อมดังได้กล่าวมาในประการที่ ๓

ความพอเพียงเริ่มต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนะคติและพฤติกรรม

“กายใจพอเพียง...เลี้ยงชีพพอประมาณ...บริหารจัดการสมเหตุผล...  ธรรมชาติและคนสมดุลสุขสันต์...สร้างภูมคุ้มกันให้กับสังคม"

 ที่มาของบทความดีๆ จาก จัตุเศรษฐธรรม / ผู้เขียน  APICHA

//www.gotoknow.org/blogs/posts/463167




Create Date : 27 ตุลาคม 2555
Last Update : 27 ตุลาคม 2555 19:33:39 น. 0 comments
Counter : 1773 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kanyong1
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]




เป็นคุณแม่ลูกสอง วัย42ปี สนใจการทำอาหาร และการท่องเที่ยวค่ะ ยินดีต้อนรับทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมบล็อคนะคะ หรือสามารถติดตามการทำอาหารได้ที่เฟสบุค Kannika Roddee

******************************
******************************

ไม่ต้องบินให้สูงอย่างใครเขา…

จงบินเอาเท่าที่เราจะบินไหว

ท่าที่บินไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

แค่บินไปให้ถึงฝัน เท่านั้นพอ

ทำเท่าที่เราจะทำได้ และทำให้ดีที่สุด สักวันหนึ่ง ฝันของเราจะเป็นจริง :)

*****************************
*****************************
: จำนวนคนที่กำลังออนไลน์
online
Blackjack Online
free counters
New Comments
Friends' blogs
[Add kanyong1's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.