สูตรเว่ยหล่าง ว่าด้วยธฺยานะ







หมวดที่ 5 ว่าด้วยธฺยานะ

วันหนึ่งพระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้

ในระบบการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาของเรานั้น เรามิได้กำหนดลงไปที่จิต (จิตปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างอย่างตรงกันข้าม กับจิตเดิมแท้), หรือกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์. หรือว่าเราจะไปจับเอาตัวความหยุดนิ่งปราศจากความเคลื่อนไหวทุกประการ ก็หามิได้. สำหรับการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิตนั้นไม่ควรทำ, เพราะจิตเป็นของมืดมัวมาเสียก่อนแล้วและเมื่อเรามองเห็นชัดว่า มันเป็นเพียงตัวมายาตัวหนึ่งเท่านั้นแล้ว, ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปจดจ่อกับมัน. สำหรับการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้นเล่า, ตัวธรรมชาติแท้ของเราก็บริสุทธิ์อย่างแท้จริงอยู่แล้ว, และตลอดเวลาที่เราขับไล่อกุศลวิตกออกไปเสียให้สิ้นเชิง มันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในตัวเรา นอกจากความบริสุทธิ์ อย่างเดียว, เพราะว่ามันเป็นด้วยอกุศลวิตก นี่แหละที่ทำให้ตถตา ต้องเศร้าหมองไป,ถ้าเราเพ่งจิตของเรา กำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์ เราก็มีแต่จะสร้างอวิชชาอันใหม่ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เท่านั้น, คืออวิชชาแห่งความบริสุทธ์เพราะเหตุที่อวิชชา เป็นสิ่งที่ไม่มีที่ตั้งอาศัย จึงเป็นความเขลาที่เราจะไปอิงอาศัยมัน, ตัวความบริสุทธิ์นั้นไม่มีสัณฐาน ไม่มีรูปร่าง แต่มีคนบางคนที่อุตริถึงกับประดิษฐ์ “รูปร่างของความบริสุทธิ์” ขึ้นมา แล้วก็กุลีกุจออยู่กับมันในฐานะเป็นปัญหาสำคัญของความหลุดพ้น. เมื่อถือหลักความคิดเช่นนี้ คนเหล่านั้นก็กลายเป็น ผู้ขับไล่ไสส่งความบริสุทธิ์เสียเองแล้ว จิตเดิมแท้ของเขา ก็ถูกทำให้เศร้าหมองไปเพราะเหตุนั้น.

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, พวกที่ฝึกตัวอยู่ใน “ความแน่วไม่หวั่นไหว” นั้น แม้จะได้เผชิญกับคนทุกชนิด เขาก็ยังไม่รู้ไม่เห็นความผิดของผู้อื่นอยู่เสมอ. เขาไม่มีอะไรวิปริตผิดแปลกไปจากเดิม เมื่อประสบบุญหรือบาป ความดีหรือความชั่วของผู้อื่น เพราะลักษณะเช่นนี้ ย่อมอนุโลมต่อ “ความแน่วไม่หวั่นไหว” ของจิตเดิมแท้. ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, คนที่มีจิตยังมืดนั้น อาจสงบเฉพาะทางร่างกายภายนอก แต่พอเผยอริมฝีปากเท่านั้น เขาก็ติชมวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยเรื่องบุญบาป ความสามารถ ความอ่อนแอ ความดี หรือความชั่ว ของคนเหล่านั้นๆ นี่แหละ เขาเฉออกไปนอกทางแห่งสัมมาปฏิบัติอย่างนี้เอง. อีกฝ่ายหนึ่ง การที่จดจ่อง่วนอยู่ ที่จิตของตนเอง หรือที่ความบริสุทธิ์ ก็กลายเป็นสิ่งสะดุดกีดขวางในหนทาง ด้วยเหมือนกัน.

ในสมัยอื่นอีก พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย. อย่างไรเรียกว่า การนั่ง เพื่อการกัมมัฏฐานภาวนา? ในนิกายของเรานี้ การนั่ง หมายถึงการได้รับอิสรภาพอันเด็ดขาด และมีจิตสงบได้ในทุกๆ กรณีที่แวดล้อมเข้ามาจากภายนอก, ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้างดี หรือเป็นอย่างใดมา. การกัมมัฏฐานภาวนานั้น หมายถึงการเห็นชัดแจ้งในภายใน ต่อ “ความแน่วไม่หวั่นไหว” ของจิตเดิมแท้.

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, อะไรเรียกว่า ธฺยานะ (ฌาน) และสมาธิ? ธฺยานะ หมายถึงการหลุดจากความพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอก(1)ทุกประการ

(1) อารมณ์ภายนอก หมายถึงสิ่งทุกสิ่งนอกจากจิต, ฉะนั้นแม้แต่ความคิดในจิต หรือของจิตก็เรียกว่าอารมณ์ภายนอกในที่นี้เหมือนกัน, ไม่ต้องกล่าวถึง รูป เสียง กลิ่น ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นของภายนอกชัดๆ –ผู้แปลเป็นไทย

และสมาธิหมายถึงการได้รับศานติในภายใน. ถ้าเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก จิตภายในก็จะปั่นป่วน. เมื่อเราหลุดจากการพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกอย่างแล้ว จิตก็จะตั้งอยู่ในศานติ. จิตเดิมแท้ของเราเป็นของบริสุทธิ์อยู่แล้วอย่างแท้จริง แล้วเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงปั่นป่วนนั้น ก็เพราะเรายอมตัวให้อารมณ์ซึ่งแวดล้อมเราอยู่ลากเอาตัวเราไป. ผู้ที่สามารถรักษาจิตของตนไว้ไม่ให้ปั่นป่วนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมชนิดไหนหมด นั่นแหละชื่อว่าได้บรรลุถึงสมาธิ.

การเป็นอิสระไม่พัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกอย่าง ชื่อว่าธฺยานะ, การลุถึงศานติในภายใน ชื่อว่า สมาธิ. เมื่อในเราอยู่ในฐานะที่จะเล่นฌาน และดำรงจิตในภายในให้ตั้งอยู่ในสมาธิ. เมื่อนั้น จึงชื่อว่า เราได้ลุถึง ธฺยานะและสมาธิ. ข้อความในโพธิสัตว์สีลสูตร มีอยู่ว่า “จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง.” ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลายเราจงเห็นชัดความข้อนี้เพื่อตนเอง ทุกเมื่อเถิด. เราจงฝึกตัวเอง ฝึกฝนมันด้วยตนเอง, และลุถึงพุทธภาวะ ด้วยความพยายามของตนเองเถิด.

นำมาจากหนังสือ "สูตรเว่ยหล่าง" โดยท่านพุทธทาสภิกขุ





Create Date : 16 กรกฎาคม 2552
Last Update : 23 กรกฎาคม 2552 18:26:15 น. 0 comments
Counter : 369 Pageviews.

chuhongchang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
16 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add chuhongchang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.