สูตรเว่ยหล่าง ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม(3)







สูตรเว่ยหล่าง ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม(3)



ภิกุชิท็อง เป็นชาวบ้านชูเจาแห่งอานฟุง ได้อ่านลังการวตารสูตร มาเกือบพันครั้งแต่ก็ไม่สามารถเข้าใจความหมายของตรีกาย และปรัชญาทั้งสี่ เหตุนั้น จึงได้ไปหาพระสังฆปริณายก ให้ช่วยอธิบายความ
พระสังฆปริณายกได้ให้คำอธิบายว่า ในกายทั้งสามนั้น ธรรมกายอันบริสุทธิ์ก็คือตัวะรรมชาติตัวแท้ของทาน นั่นเอง สัมโภคกายอันสมบูรณ์ ก็คือตัวปรีชาญาณของท่าน ส่วนนิรมานกายนับด้วยหมื่นแสน ก็คือการกระทำกรรมต่างๆ ของท่าน ถ้าท่านจะให้กายทั้งสามนี้ เป็นของต่างหากจากจิตเดิมแท้ มันก็เกิดมี “กายซึ่งปราศจากปัญญา” ขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าท่านเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า กายทั้งสามนี้ ไม่มีตัวตนแท้จริงของมันเองอะไรที่ไหนอีก (เพราะมันเป็นแต่เพียงสมบัติของจิตเดิมแท้) ดั่งนี้แล้ว ท่านก็จะลุถึงโพธิของปรัชญาสี่ประการโดยแน่นอน จงฟังโศลกของฉัน ดังต่อไปนี้
กายทั้งสาม มีอยู่แล้ว ในจิตเดิมแท้ของเรา
ซึ่งโดยการงอกงามของจิตเดิมแท้ นั่นเอง ปรัชญาทั้งสี่ก็ปรากฏตัว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านไม่ต้องหลับตาหรืออุดหูของท่าน เพื่อหลีกอารมณ์ภายนอก
ท่านก็สามารถเข้าถึงพุทธภาวะได้โดยจังๆ หน้ากับอารมณ์ เมื่อข้าพเจ้าได้อธิบายแก่ท่านอย่างเปิดเผย (จนเห็นเอง) เช่นนี้แล้ว
จงเชื่ออย่างแน่วแน่เถิด ท่านจะหลุดพ้น จากความหลงตลอดไป
อย่าไปตามคน พวกที่แสงหา “การตรัสรู้” จากภายนอกกาย
คนพวกนี้ พูดถึงพิธ อย่างพร่ำเพรื่อ (แต่ตัวยังไม่เคยรู้เห็นเสียเลย)
ภิกษุชิท็อง ได้ขอร้องต่อไปว่า ไขอใต้เท้าได้กรุณาให้กระผมทราบข้อความ อันเกี่ยวกับปรัชญาทั้งสี่นั้นบ้างเถิด” พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ถ้าท่านเข้าใจในเรื่องกายสามนี้แล้ว ท่านก็จะเข้าใจในเรื่องปรัชญาทั้งสี่ได้เอง ฉะนั้น คำถามของท่านเป็นของไม่จะเป็น ถ้าท่านทำให้ปรัชญาทั้งสี่อยู่ต่างหากจากกายทั้งสามเสียแล้ว ก็จะเกิดมี ปรัชญาซึ่งปราศจากากายขึ้นโดยแน่นอน ซึ่งเมื่อเป็นดังนี้ มันหาใช่เป็นปรัชญาไม่
พระสังฆปริณายก ได้กล่าวโศลกอื่นต่อไปอีกว่า
“ปัญญอันเปรียบด้วยกระจกส่อง” นั้น บริสุทธิ์อยู่เองโดยธรรมชาติ
“ปัญญาเห็นความเสมอภาค”นั้น ย่อมเปลื้องจิต เสียขากเครืองกั้นทั้งปวง
“ปัญญาเครื่องเห็นสิ่งทั้งปวง”นั้น เห็นสิ่งทั้งปวงแจ่มแจ้ง โดยไม่ต้องอาศัยแนวแห่งเหตุผล
“ปัญญาเครื่องกระทำสิ่งทั้งปวง” นั้นมีลักษณะอย่างเดียวกันกับ
“ปัญญาอันเปรียบด้วยกระจกส่อง”
วิญญาณทั้งห้าข้างต้น (1) และอาลยวิญญาณ (2) ย่อม “แปรรูป” เป็นปรัชญาในขั้นที่ตรัสรู้เป็นพุทธะ อย่างเดียวกับที่ กลิษตมโนวิญญาณ(3) และมโนวิญญาณ(4) แปรรูปเป็นปรัชญาในขั้นที่เป็นเพียงโพธิสัตว์(5)
คำที่เรียกว่า “การแปรรูปของวิญญาณ” ดังที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อที่ใช้เรียกเท่านั้น ส่วนตัวจริงหามีอะไรเปลี่ยนไม่(6)
(1) วิญญาณห้า คือจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ฯลฯ
(2) วิญญาณคลังใหญ่ หรือวิญญาณโลก
(3) วิญญาณเฉพาะตน
(4) วิญญาณคิดนึก
(5) ในระยะที่หนึ่ง คือระยะ “มุทิตา” อันเป็นระยะที่โพธิสัตว์พิจารณาเห็นความว่างเปล่าของตัวตน และของสิ่งทั้งปวงอย่างแจ่มแจ้ง นั่นเองที่ท่าน “แปรรูป” กลิษตมโนวิญญาณ ไปเป็น “ปัญญาเครื่องรู้สิ่งทั้งปวง” เมื่อมีการบรรลุพุทธภาวะ วิญญาณห้าข้างต้น จะถูก “แปรรูป” ไปเป็น ปัญญาเครื่องกระทำสิ่งทั้งปวง” และอาลยวิญญาณ เป็น “ปัญญาเปรียบด้วยกระจกส่อง” –ว่องมูล่ำ
(6) ในจิตเดิมแท้ ไม่อาจมีสิ่งที่เรียกกันว่า “การแปรรูป” เมื่อคนตรัสรู้ธรรม ก็ใช้คำว่า “ปัญญา” เมื่อยังไม่ตรัสรู้ใช้คำว่า “วิญญาณ” หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า “การแปรรูป” คำนี้ ใช้เป็นเครื่องเปรีบ หรือภาพพจน์ เท่านั้น –ว่องมูล่ำ
เมื่อใดท่านสามารถเปลื้องตัวเองให้หมดจด จากความผูกพันของลิยารมณ์ในขณะที่มี “การแปรรูปของวิญญาณ” ดังกล่าวมาแล้ว เมื่อนั้นท่านชื่อว่าตั้งอยู่ใน นาคสมาธิ อันทยอยกันเกิดขึ้นติดต่อกันไปตลอดกาลเนืองนิจ
ภิกษุชิท็อง ได้ฟังคำอธิบายนี้ ได้มีความเห็นแจ้งในปรัชญาแห่งจิตเดิมแท้ในขณะนั้นเอง และได้กล่าวโศลกแก่พระสังฆปริณายกดังต่อไปนี้
แน่นอนเหลือเกิน กายท้งสามมีอยู่ในจิตเดิมแท้
เมื่อใจเรารู้ธรรมสว่างไสว ปรัชญาทั้งสี่ ก็ปรากฏเด่นอยู่ในนั้น
เมื่อใดกายและปรัชญาเหล่านั้น เกิดความรู้แจ้งซึ่งกันและกันว่า เป็นของอันเดียวกันแล้ว
เมื่อนั้นเราก็สามารถตอบสนองคำขอร้องของสัตว์ทั้งปวง (โดยเหมาะสมแก่อุปนิสัยและอารมณ์ของสัตว์นั้น) ไม่ว่าสัตว์นั้น ๆจะอยู่ในรูปร่างชนิดใด
การเริ่มต้นปฏิบัติ ด้วยการแสวงหากายสามและปรัชญาทั้งสี่ นั้นเป็นการถือเอาทางผิด โดยสิ้นเชิง (เพราะเมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเราเองแล้ว เรื่องของมันก็คือทำให้เห็นแจ้งออกมา ไม่ใช่เที่ยววิ่งแสวงหา)
การพยายามจะ “จับฉวย” หรือ “กุมตัว” สิ่งเหล่านี้ เป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อธรรมชาติแท้ของมันอย่างตรงกันข้าม
เพราะได้อาศัยใต้เท้าแหละขอรับ บัดนี้กระผมจึงสามารถจับใจความอันลึกซึ้งของมันได้
และตั้งแต่นี้ต่อไป กระผมสามารถสลัดทิ้งความเท็จเทียมและชื่อต่างๆ ที่หลงตั้งขึ้นเรียกตามโมหะของตนๆ ตลอดนิจกาล (1)
(1) บันทึก เมื่อจับใจความของคำสอนได้แล้ว ผู้ปฏิบัติก็ตั้งหน้าบำเพ็ญไปได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงชื่อที่ใช้เรียกสิ่งนั้นๆ เพราะว่าชื่อทั้งหมดเป็นเพียงของสมมุติให้เด็กเล่นเท่านั้นเอง (แม้ที่สุดแต่ชื่อว่า มรรค ผล นิพพาน ฯลฯ) ว่องมูล่ำ


ภิกษุ ชิช็วง เป็นชาวบ้านตำบลไกวกายแห่งชุนเจา เข้ามาบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และแข็งข้อในการพากเพียรเพื่อการเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ วันหนึ่งภิกษุรูปนี้ได้มานมัสการพระสังฆปริณายก และถูกพระสังฆปริณายก ถามว่า มาแต่ไหน และมาทำไม
ภิกษุ ชิช็วง ได้ตอบขึ้นว่า “เมื่อไม่นานมานี้ กระผมได้ไปที่ภูเขาผาขาวในเขตฮุงเจา เพื่อสนทนากับพระอาจารย์ต้าตุง ผู้ที่สามารถพอจะสอนกระผมได้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ และลุถึงพุทธภาวะด้วยเหตุนั้น แต่เพราะเหตุที่กระผมยังคงมีความสงสัยอยู่หลายประการ จึงอุตส่าห์เดินทางมาไกลถึงที่นี่ เพื่อนมัสการท่านอาจารย์ ขอได้โปรดอธิบายข้อสงสัยเหล่านั้น แก่กระผมด้วยเถิด”
พระสังฆปริณายกได้ถามขึ้นว่า เขาได้แนะนำท่านว่าอย่างไรบ้างเล่า?
ภิกษุ ชิช็วง เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้พักอยู่ที่นั่นจนถึงสามเดือนแล้วโดยมิได้รับคำแนะนำอย่างใดเลย และมีความกระหายในธรรมแรงกล้าขึ้นทุกที คืนวันหนึ่งกระผมลำพังผู้เดียว ได้เข้าไปในห้องของท่านอาจารย์ต้าตุงนั้น และถามท่านว่าจิตเดิมแท้ของผมคืออะไร?” กระผมตอบท่านว่า “มองเห็น” ท่านถามต่อไปว่า ความว่างที่ว่านั้น มีรูปร่างเฉพาะของมันเองหรือไม่? ครั้นกระผมตอบว่า ความว่างย่อมไม่มีรูปร่าง ฉะนั้น จึงไม่มีรูปร่างโดยเฉพาะของมันเอง ดังนี้แล้ว ท่านกล่าวต่อไปนี้ “จิตเดิมแท้ของเธอ” เป็นเหมือนกับความว่างอย่างตรงเผ็งทีเดียวละ การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เราอาจมองพบตัวมัน นี่คือ “ทิฏฐิอันถูกต้อง” การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า ไม่มีสิ่งใดเลยที่เราอาจรู้จักมัน(ให้ถูกต้อง) ได้ นี่แหละคือ “ความรู้อันถูกต้อง” การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า มันไม่ใช่เขียว มันไม่ใช่เหลือง มันไม่ใช่สั้น มันไม่ใช่ยาว ว่ามันเป็นของบริสุทธิ์อยู่โดยธรรมชาติ และว่าเนื้อแท้ของมันนั้น สมบูรณ์และสดใส นี่แหละคือการเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ และลุถึงพุทธภาวะได้ ด้วยเหตุนั้น ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธรรมะที่ทำให้คนเป็นพระพุทธะ”แต่กระผมไม่เข้าใจคำสอนของท่านอาจารย์ต้าตุงเสียเลย ขอใต้เท้าจงกรุณาทำความแจ่มแจ้งให้แก่กระผมด้วยเถิดขอรับ
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า คำสอนของท่านผู้นั้นชี้ชัดอยู่แล้วว่าเขายังมีความรุ้สึกที่นึกเอาเอง ในเรื่ออันเกี่ยวกับ “ทิฏฐิ” และ “ความรู้” เหลืออยู่ และอันนี้เอง ที่ส่อให้เห็นว่า ทำไมเขาจึงไม่สามารถทำความกระจ่างให้แก่ท่านได้ จงฟังโศลกของฉันดังต่อไปนี้
การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เราอาจมองพบตัวมันแต่แล้วก็ยังคงเก็บเอาความรู้สึกว่า “ความไม่อาจจะมองเห็นได้” ไว้อีก
ข้อนี้ เปรียบเหมือนกับดวงอาทิตย์ ที่ถูกบังอยู่ด้วยเมฆที่ลอยมาขวางหน้า
การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เราอาจจะรู้จักมันได้ แต่แล้วก็เก็บเอาความรู้สึกว่า “ความที่ไม่อาจจะรู้ได้” ไว้อีก
ข้อนี้ อาจเปรียบกันได้กับท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง แต่เสียรูปไปเพราะสายฟ้าแลบ
การปล่อยให้ความรู้สึก นึกเอาเองเช่นนี้ เกิดขึ้นตามสบายในใจของท่าน
ย่อมแสดงว่า ท่านไม่รู้จักจิตเดิมแท้อย่างถูกต้องด้วย ทั้งไม่มีเครื่องมืออะไร ที่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้ท่านรู้ได้ด้วย
ถ้าท่านรู้อย่างแจ้งฉาน แม้เพียงขณะเดียวเท่านั้นว่า ความรู้สึกที่นึกเอาเองเช่นนี้ เป็นของผิดใช้ไม่ได้แล้ว
แสงสว่างภายในจิตของท่านเอง จะลุกโพลงออกมาอย่างถาวร
เมื่อได้ฟังดังนั้น ภิกษุ ชิช็วง รู้สึกว่า ใจของตนได้สว่างไสวในขณะนั้นเอง เพราะเหตุนั้น เธอจึงกล่าวโศลกแก่พระสังฆปริณายก ดังต่อไปนี้
การยอมให้ความรู้สึกว่า “ความไม่อาจจะมองเห็นได้” และ “ความไม่อาจจะรู้ได้” เกิดขึ้นในใจ ตามความพอใจของตัวนั้น
เป็นการแสวงหาโพธิ โดยไม่ต้องเปลื้องตัวเองให้อิสระจากความคิดต่างๆ ที่ตนเดาเอาเอง ในเรื่องอันเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวง
ผู้ที่ผยองพองตัว ด้วยความรู้สึกอันเบาเต็งว่า “บัดนี้เรารู้แจ้งแล้ว” นั้น ก็ยังไม่ดีไปกว่าเมื่อเขายังไม่รู้สึกอะไรเลย
ถ้าหากข้าพเจ้าไม่ได้มาหมอบอยู่แทบเท้าของพระสังฆปริณายก
ข้าพเจ้าก็ยังคงงงงัน ไม่รู้จะเดินทางไหนถูกอยู่นั่นเอง
ในวันหนึ่ง ภิกษุ ชิช็วง ได้ถามพระสังฆปริณายกว่า พระพุทธองค์ได้ประกาศคำสอนเรื่อง “ยามสามชนิด” และเรื่อง “ยานชั้นสูงสุด” ไว้ด้วย แต่กระผมไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ ขอให้ใต้เท้าจงกรุณาอธิบายเถิด
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ในการพยายามเพื่อเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ท่านควรจะส่องดูที่ใจของท่านเอง และทำตัวต่อสิ่งทั้งปวงในภายนอกอย่างมีอิสระ ความแตกต่างระหว่างยานทั้งสี่ชนิด มิได้อยู่ที่ตัวธรรมะ แต่อยู่ที่ความแตกต่างของใจคนที่จะปฏิบัติธรรมะ การดู การฟัง การท่องพระสูตร เป็นยานขนาดเล็ก การรู้ธรรมและเข้าถึงความหมาย เป็นยานขนาดกลาง การเอาธรรมะที่รู้นั้น มาปฏิบัติจนเป็นปรกตินิสัย นี่คือยานขนาดใหญ่ การเข้าใจธรรมทั้งปวงอย่างปรุโปร่ง ได้ดื่มรสธรรมะนั้นอย่างสมบูรณ์ เป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง มีใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง และไม่ถืออะไรไว้โดยความเป็นของตน นี่แหละคือยานอันสูงสุด
เนื่องจากคำว่า “ยาน” (พาหนะ) คำนี้ หมายถึง “เครื่องเคลื่อน” (กล่าวคือ การน้อมนำมาปฏิบัติ) ดังนั้น ข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ ไม่มีความจำเป็นเสียเลย ทั้งหมดทั้งสิ้น มันขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตัวเอง ดังนั้น ท่านไม่จำเป็นจะต้องถามปัญหาใดๆ อีกเลย แต่ฉันขอเตือนท่านให้ระลึกไว้ว่า ตลอดทุกกาลเวลา จิตเดิมแท้นั้นคงดำรงอยู่ในภาวะแห่ง “ความเป็นเช่นนั้น” อยู่เสมอ
ภิกษุชิช็วง แสดงความเคารพและขอบพระคุณพระสังฆปริณายก จำเดิมแต่นั้นมา ท่านได้ทำตนเป็นผู้ปรนนิบัติพระสังฆปริณายก จนตลอดชีวิตของพระสังฆปริณายก

ภิกษุ ฉิต่าว เป็นชาวเมืองน่ำหอยแห่งกวางตุ้ง ได้มาหาพระสังฆปริณายก เพื่อขอคำแนะนำตักเตือน ได้กล่าวแก่พระสังฆปริณายกว่า “นับแต่กระผมได้บวชมานี้ กระผมได้อ่านมหาปรินิวาณสูตรมากว่า 10 ปีแล้ว แต่กระผมก็ยังไม่สามารถจับฉวยเอาใจความสำคัญของสูตรนั้นได้ ขอใต้เท้าได้โปรดสอนแก่กระผมด้วยเถิด
พระสังฆปริณายกได้ถามว่า พระสูตรตอนไหนเล่า ที่ท่านยังไม่เข้าใจ?
ภิกษุ ฉิต่าว จึงกล่าวตอบว่า “ข้อความในพระสูตรตอนที่กระผมไม่เข้าใจนั้นมีว่า “สิ่งทุกสิ่งไม่คงตัวอยู่อย่างถาวร ดังนั้น สิ่งทั้งปวงจึงตกอยู่ใต้อำนาจของธรรมที่เป็นความเกิดขึ้นและความแตกดับ (กล่าวคือสังขตธรรม) เมื่อความเกิดขึ้นและความแตกดับมาสิ้นสุดลงด้วยกัน ศานติสุขแห่งความหยุดได้โดยสมบูรณ์(1) และความสิ้นสุด ของการเปลี่ยนแปลง(กล่าวคือนิพพาน) ย่อมปรากฏขึ้น”
(1) ความหยุดได้โดยสมบูรณ์ หมายถึงความที่หลุดพ้นจากเครื่องปรุงแต่ง คือ พ้นจากอำนาจของอวิชชา ตัณหา นั่นเอง และหมายถึงนิพพาน –ผู้แปลเป็นไทย
พระสังฆปริณายกได้ถามว่า อะไรเล่าที่ทำให้ท่านสงสัย?
ภิกษุ ฉิต่าว ได้ตอบว่า สิ่งที่มีชีวิตทั้งปวงย่อมมีกาย 2 กาย กล่าวคือ กายเนื้อและกายธรรม กายเนื้อไม่คงตัวอยู่อย่างถาวร ไม่รู้อะไร ไม่มีความรู้สึกอะไร ทีนี้ในพระสูตรกล่าวว่า “เมื่อความเกิดขึ้น และความแตกดับมาสิ้นสุดลงด้วยกัน ศานติสุขแห่งความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลง (กล่าวคือนิพพาน) ย่อมปรากฏขึ้นมา” ดังนี้ กระผมไม่เข้าใจได้เลยว่า กายไหนสิ้นสุดลง และกายไหนยังอยู่เพื่อดื่มรสแห่งศานตินั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่กายเนื้อจะดื่มรสแห่งศานติเพราะว่าเมื่อมันตาย มหาภูตะทั้งสี่ (วัตถุธาตุ กล่าวคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ) จะกระจัดกระจายจากกัน และการกระจัดกระจายจากกันนั้น เป็นความทุกข์ล้วนๆ และตรงกันข้ามจากศานติสุขโดยสิ้นเชิง ถ้าหากว่าเป็นธรรมกายที่สิ้นสุดลงไป แล้วมันก็จะตกอยู่ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสิ่งที่ “มิใช่สัตว์” ซึ่งได้แก่ ผักหญ้า ต้นไม้ ก้อนหิน และอื่นๆ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้ดื่มรสแห่งศานตินั้น
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สภาวะธรรมดา ย่อมเป็นหัวใจหรือตัวการของความเกิดขึ้น และความแตกดับ อันแสดงตัวออกมาในรูปของขันธ์ทั้งห้า (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หรือถ้าจะกล่าวกันอย่างง่ายๆ ก็คือว่า มีตัวการแต่ตัวเดียว แต่อาการของมันมีถึงห้าอย่างนั่นเอง กระแสแห่งการเกิดขึ้นและการแตกดับนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่ออาการหรือการทำตามหน้าที่ยัง “มีออกมา” จากตัวการนั้นแล้วกระแสนั้นมีไหลไปเรื่อย เมื่อการปฏิบัติงานหรืออาการนั้น ถูก “ดูด” กลับคืนไปยังตัวการ กระแสก็หยุดไหล เมื่อการถือกำเนิดใหม่ยังมีได้อยู่เพียงใด ก็ย่อมไม่มี “การสิ้นสุดแห่งความเปลี่ยนแปลง” อยู่เพียงนั้น ดังจะเห็นได้ในกรณีของสัตว์มีชีวิตทั่วไป ถ้าการถือกำเนิดใหม่ไม่เข้ามาแทรกแซงแล้ว สิ่งต่างๆก็จะอยู่ในสภาพของสิ่งที่ไร้ชีวิต ดังเช่นวัตถุต่างๆ ที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ภายในขอบเขตอันจำกัดเฉียบขาดของนิพพานนั้น ย่อมมีไม่ได้แม้แต่ความมีอยู่ ของสัตว์ เช่นนี้แล้ว จะมีความเปรมปรีดิ์ (ในการดื่มรสของนิพพาน)อะไรกันได้เล่า
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ท่านก็เป็นบุตรคนหนึ่งของพระชินะพุทธ(คือเป็นภิกษุ) ทำไมจึงมารับเอาความเห็นผิดแห่งสัสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิของพวกเห็นผิดนอกพุทธศาสนา และทั้งกล้าตำหนิคำสอนของลัทธิอุตตรยาน?
ข้อแย้งของท่านยืนยันว่า มีกายธรรมอยู่ต่างหากจากกายเนื้อ และว่า “ความหยุดได้โดยสมบูรณ์” และ “ความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง” นั้น ต้องแสวงหาจากที่อื่นนอกไปจาก “ความเกิดขึ้นและความแตกดับ” ยิ่งกว่านั้น จากข้อที่กล่าวว่า “นิพพานเป็นความเปรมปรีดิ์ไม่มีที่สิ้นสุด” นั่นเอง ท่านเชื่อโดยการพิสูจน์เอาว่า ต้องมีใครคนใดคนหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เปรมปรีดิ์
ความเห็นผิดเหล่านี้เอง มิใช่อื่น ที่ทำให้คนทั้งปวงทะเยอทะยานอยากเกิดเป็นสัตว์ชนิดที่มีอวัยวะรู้รสของอารมณ์ และปรนปรือตัวเองด้วยความเพลินอย่างวิสัยโลก และเพื่อคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นเหยื่อของอวิชชา ซึ่งถือว่าการประชุมของขันธ์ทั้งห้า เป็นตัวตน และถือสิ่งนอกนั้นว่ามิใช่ตัวตน ซึ่งหลงรักการเกิดของตัว และเกลียดชังความตายอย่างสุดจิตสุดใจ ซึ่งลอยไปมาอยู่ ในวังวนของความเกิด และความตาย โดยไม่มีการสำนึกถึงความว่างกลวงไร้แก่นสารของโลกียภพ ซึ่งเป็นแต่เพียงความฝันและมายา ซึ่งทำความทุกข์ขึ้นใส่ตัวเองโดยไม่จำเป็นด้วยการพ่วงตัวเองเข้ากับสังสารวัฏแห่งการเวียนเกิด ซึ่งเข้าใจผิดต่อภาวะแห่งความเปรมปรีดิ์ ไม่มีที่สิ้นสุดของนิพพาน ในฐานะเป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง และซึ่งแล่นตามหาความเพลิดเพลินจากอารมณ์อยู่เนืองนิจ เหล่านี้เองแท้ๆ ที่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระมหากรุณา ได้ทรงแสดงศานติอันแท้จริงของนิพพานไว้ให้เขาโดยจำเพาะเจาะจง
ไม่ว่าในขณะใดหมด นิพพาน่อมไม่มีปรากกการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง หรือแห่งการแตกดับ ไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้นและความแตกดับ นิพพานเป็นการแสดงออกของ “ความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง” แต่แม้ในขณะแห่งการแสดงออกนั้น ก็ไม่มี “ความเห็น” ว่าเป็นการแสดงออก ดั่งนั้น จึงถูกเรียกว่า “ความเปรมปรีดิ์อันไม่รู้จักหมดสิ้น” ซึ่งไม่ต้องมีตัวผู้เปรมปรีดิ์หรือผู้ไม่เปรมปรีดิ์ แต่อย่างใด
ไม่มีสิ่งใดที่จะกล่าวได้ว่า “มีตัวการอยู่ตัวหนึ่ง แล้วมีอาการของมันห้าอย่าง” เหมือนที่ท่านยืนยัน ท่านกำลังกล่าวป้ายร้ายพระพุทธองค์และกำลังใส่ร้ายพระธรรม โดยที่ท่านไปไกลจนถึงกับกล่าวว่า ภายใต้ขอบเขตอันจำกัดเฉียบขาดของนิพพาน ย่อมมีไม่ได้ แม้แต่ความมีอยู่ของสัตว์ทุกชนิด จงฟังโศลกของฉันดังต่อไปนี้
มหาปรินิพพานอันสูงสุดนั้น
เป็นสิ่งที่เต็มเปี่ยม ถาวร สงบ และรุ่งเรืองสว่างไสว
คนสามัญและคนเขลา หลงเรียกนิพพานนั้นว่าความตาย
ฝ่ายพวกมิจฉาทิฏฐิก็ถือเอาตามชอบใจว่า นิพพานนั้นเป็นความขาดสูญ
พวกที่เป็นฝ่ายสาวกยาน และปัจเจกพุทธยาน
เห็นพระนิพพานว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่มีการกระทำ”
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการคำนวณเอาด้วยสติปัญญาของคนสามัญและย่อมจะสร้างรากฐาน แห่งมิจฉาทิฏฐิ 62 ประการขึ้นมา
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงชื่อต่างๆ ที่คิดเดาเอาเอง ประดิษฐ์ขึ้นเอง
ในขณะที่เขาไม่รู้จะทำอย่างไรต่อสัจจธรรมอันสูงสุดนั้น
เฉพาะพวกที่มีใจสูงเหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น
ที่อาจจะเข้าใจได้ถูกต้องว่า นิพพานนั้นคืออะไรกันแน่ และวางตนไว้ ในลักษณะที่เข้าพัวพันด้วยก็ไม่ใช่ เฉยเมยก็มิใช่ทั้งสองอย่าง(1)
(1) ข้อนี้ ท่านดิ ปิง เซ่ ให้อรรถาธิบายไว้ว่า เมื่อคนสามัญหลงอยู่ในวังวนของการเวียนเกิดเวียนตาย พวกสาวกและพวกปัจเจกพุทธะ แสดงทีท่าเกลียดชัง อาการอันนี้ ทำเช่นนี้ไม่ถูกทั้งสองพวก ผู้ดำเนินไปในมรรคปฏิปทา ย่อมไม่ติดใจ ในการเกิดเป็นสัตว์เพื่อเสวยอารมณ์แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีการจงเกลียดจงชังอะไรแก่สิ่งนี้ เพราะความถือว่า “ตัวตน” หรือว่า “สัตว์บุคคล” ย่อมไม่มีแก่ผู้นี้ และเพราะว่า ท่านผู้นี้เสียสละได้ทั้งท่าทีแห่งการอยากได้ และท่าทีแห่งการเฉยเมยต่อสิ่งทั้งปวง วิมุติ จึงอยู่ในกำมือของท่านตลอดเวลา และท่านอยู่เป็นผาสุกได้ในทุกๆ สถานการณ์ที่แวดล้อม ท่านอาจผ่านไปในกระแสของการเกิดตาย แต่กระแสนั้น ไม่อาจพัวพันท่าน และสำหรับท่าน ปัญหาเรื่องเกิดตายไม่เป็นปัญหาอะไรเลย คนชนิดนี้แหละ ที่ควรเรียกว่ามีใจสูงเหนือสิ่งทั้งปวง (ได้พบพระนิพพานแล้ว) –ดิปิงเซ่
ท่านเหล่านั้น ย่อมรู้ว่ ขันธ์ทั้งห้า
และสิ่งที่เรียกกันว่า “ตัวตน” อันเกิดขึ้นจากการประชุมพร้อมของขันธ์ทั้งห้านั้น
รวมทั้งวัตถุและรูปธรรมภายนอกทุกชนิด
และทั้งปรากฏการณ์ต่างๆ ของศัพท์และสำเนียง
ล้วนแต่เป็นของเทียม ดั่งเช่นความฝันและภาพมายา เสมอกันหมด
ท่านเหล่านั้นไม่เห็นว่ามีอะไรแตกต่างกัน ระหว่างพระมุนีกับคนธรรมดา
หรือจะมีความคิดเดาเอาเอง ในเรื่องนิพพาน ก็หาไม่
ท่านเหล่านี้ ย่อมอยู่เหนือ “การรับ” และ “การปฏิเสธ” และท่านเหล่านี้ ทำลายเครื่องกีดขวาง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ท่านเหล่านี้ ย่อมใช้อวัยวะเครื่องทำความรู้สึก ของท่าน ในเมื่อมีเรื่องต้องใช้
แต่ว่าความรู้สึกยึดถือใน “การใช้” นั้น มิได้เกิดขึ้นเลย
ท่านเหล่านั้น อาจระบุเจาะจงสิ่งต่างๆได้ทุกชนิด
แต่ว่าความรู้สึกยึดถือใน “การระบุเจาะจง” นั้น มิได้เกิดขึ้นเลย
แม้ขณะที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก ในที่สุดของกัลป์ เมื่อท้องมหาสมุทรแห้งไป
หรือขณะที่ลมมหาประลัยพัดทำลายโลก จนภูเขาล้มชนกันระเกะระกะ
ศานติสุขอันแท้จริงและยั่งยืน ของ “ความหยุดได้โดยสมบูรณ์”
และ “ความสุดสิ้นของความเปลี่ยนแปลง” แห่งนิพพาน ย่อมยังคงอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
นี่ฉันได้พยายามอธิบายแก่ท่าน ถึงสิ่งบางสิ่ง ที่เหลือที่จะพูดออกมาได้
เพื่อให้ท่านสามารถกำจัดความเห็นผิดของท่านเสีย
แต่ถ้าท่านไม่ตีความแห่งคำพูดของฉันให้ตรง ตามความหมายแล้ว
ท่านอาจเรียนรู้ความหมายของนิพพาน แต่เพียงกะจิริดนิดหนึ่งเท่านั้น
เมื่อได้ฟังโศลกนี้แล้ว ภิกษุ ฉิต่าว ได้มีความสว่างไสวในธรรมอย่างสูง เธอรับฟังคำสอนด้วยใจอันปราโมทย์ และลาจากไป

ภิกษุ ฮังฉิ อาจารย์องค์หนึ่งในนิกายธยานะนี้ เกิดที่อันซังแห่งกัตเจา ในตระกูลหลิว เมื่อได้ยินข่าวเล่าลือว่า คำสอนของพระสังฆปริณายก ได้ทำให้คนจำนวนมากมีความสว่างไสวในธรรม ท่านจึงได้ตรงมายังตำบลโซกายทันที เพื่อทำความเคารพ และได้ตั้งคำถามขึ้นว่า “ผู้ปฏิบัติควรส่งจิตของตนพุ่งไปยังสิ่งใด อันจะทำให้การบรรลุธรรมของเขาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถวัดได้ด้วย “เครื่องวัดคุณวิเศษ” ตามที่คนทั่วไปเขารู้กัน?”
พระสังฆปริณายกถามว่า ก็ท่านกำลังปฏิบัติอยู่อย่างไรเล่า?
ภิกษุ ฮังฉิ ตอบว่า แม้ธรรมคืออริยสัจทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทุกๆองค์สอนไว้ ข้าพเจ้าก็ไม่มีความจำเป็นอะไร ที่จะต้องเข้าไปแตะต้องด้วย
พระสังฆปริณายกถามต่อไปว่า แล้วก็เดี๋ยวนี้ท่านอยู่ใน “ชั้นแห่งคุณวิเศษ” ชั้นไหนเล่า?
ภิกษุฮังฉี ย้อนว่า จะมี “ชั้นแห่งคุณวิเศษ” อะไรที่ไหนเล่า ในเมื่อข้าพเจ้าปฏิเสธไม่เข้าเกี่ยวข้องด้วย แม้กับอริยสัจที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สอนไว้?
การตอบได้อย่างทันควันของภิกษุฮังฉิ ได้ทำให้พระสังฆปริณายกเกิดความนับถือ ถึงกับยกเธอขึ้นเป็ฯหัวหน้าคณะ
วันหนึ่ง พระสังฆปริณายกได้กล่าวแก่ท่านผู้นี้ ว่าท่านควรจะไปประกาศธรรมในท้องถิ่นของท่านเอง เพื่อว่าคำสอนจะไม่ลับหายสิ้นสุดไป เพราะเหตุนั้น ภิกษุฮังฉิ ได้กลับไปภูเขาชิงอัน อันเป็นภูมิลำเนาของท่าน พระธรรม (แห่งนิกายนี้) ถูกมอบหมายทอดช่วงไปยังท่าน ท่านได้เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง และเป็นการทำให้คำสอนแห่งครูอาจารย์ของท่านลงรากอย่างมั่นคง เพราะเหตุนั้น เมื่อท่านมรณะภาพแล้ว เขาพากันยกสมัญญาให้แก่ท่านว่า “ฮุงไซ่ ผู้เป็นอาจารย์แห่งนิกายธฺยานะ”


ภิกษุเว่ยยาง อาจารย์ในนิกายธฺยานะอีกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลเต๋า ในกิมเจา เมื่อไปเยี่ยมท่านเว่ยออนแห่งภูเขาซุงซาน ซึ่งเป็น “อาจารย์ประจำเมือง” ได้ถูกท่านผู้นี้บังคับให้มายังตำบลโซกาย เพื่อสนทนากับพระสังฆปริณษยก
ครั้นมาถึง และไดทำความเคารพตามธรรมเนียมแล้ว ก็ถูกพระสังฆปริณายกถามว่ามาจากไหน
ตอบว่า มาจากซุงซาน
ถามว่า สิ่งที่มานั้นเป็นอะไร? มาได้อย่างไร?
ตอบว่า จะว่ามันเหมือนกับอะไร ก็เป็นการผิดทั้งนั้น
ถามว่า เป็นสิ่งที่ลุถึงได้ด้วยการฝึกฝนปฏิบัติตนหรือ?
ตอบว่า มิใช่เป็นการสุดวิสัยที่จะลุถึงได้ด้วยการฝึกฝนปฏิบัติตน
แต่ว่าเป็นการสุดวิสัยจริงๆ ที่จะทำสิ่งนี้ให้เศร้าหมองมีมลทิน
เมื่อได้ฟังดังนั้น พระสังฆปริณายกได้เปล่งเสียงขึ้นดังๆ ว่า มันได้แก่สิ่งที่ไม่รู้จักเศร้าหมองนี้จริง ๆที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เอาพระทัยใส่ ถึงท่านก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน ถึงแม้ข้าพเจ้าก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน พระสังฆปริณายกชื่อ ปรัชญาตาระ แห่งประเทศอินเดียได้ทำนายไว้ว่าลูกม้า(1) ตัวหนึ่งจะออกมาทางใต้ฝ่าเท้าของท่าน และจะกระโจนเหยียบย่ำมหาชนไปทั่วโลก ข้าพเจ้าไม่จำเป็นจะต้องพยากรณ์ความข้อนี้เร็วเกินไป เพราะว่าคำพยากรณ์นั้น ท่านหาดูได้ในใจของท่าน
(1)ข้อนี้หมายถึงศิษย์อันมีชื่อเสียงของภิกษุเว่ยยาง ที่ชื่อว่า “ม้า โซ่” อันเป็นผู้ที่ได้แผ่คำสอนของนิกายธฺยานะไปจนทั่วประเทศจีน –ว่อง มู ล่ำ
ภิกษุ เว่ยยาง มีความเข้าใจปรุโปร่งในคำพูดองพระสังฆปริณายก ได้เข้าใจซึมทราบแจ่มแจ้งว่าพระสังฆปริณายกพูดหมายถึงอะไร ตั้งแต่วันนั้นมา ได้เป็นศิษย์ติดต้อยห้อยตามพระสังฆปริณายกอยู่เป็นเวลา 15 ปี มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนาลึกซึ้งยิ่งขึ้นๆ ทุกวันๆ ต่อมาได้ตั้งสำนักขึ้นที่เฮ็งชาน ทำการเผยแพร่คำสอนของพระสังฆปริณายกออกไปอย่างกว้างขวาง
เมื่อถึงมรณภาพแล้ว ทางการแห่งราชสำนักของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้ถวายสมัญญาแก่ท่านว่า “ไถ่ไหว่ ผู้เป็นอาจารย์แห่งนิกายธฺยานะ”

อาจารย์นิกายธฺยานะ ชื่อ หยวนกว็อก แห่งวิงกา เกิดในตระกูลไต๋ในเว็นเจา เมื่อยังหนุ่มได้ศึกษาในสูตรและศาสตร์เป็นอันมาก เป็นผู้แตกฉานในหลักสมถะและวิปัสสนาแห่งนิกายเท็นดาย โดยที่ได้อ่านวิมลกีรฺตินิเทศสูตร ท่านได้ทราบถึงข้อลี้ลับแห่งใจของท่านเองอย่างปรุโปร่ง
มีภิกษุรูปหนึ่งมีนามว่า อันแช็ก เป็นศิษย์ของพระสังฆปริณายกเผอิญได้ไปเยี่ยมนมัสการท่านอาจารย์ผู้นั้น เมื่อได้มีธรรมสากัจฉากันเป็นเวลานานแล้ว ภิกษุอันแช็กได้สังเกตเห็นว่า ถ้อยคำของคู่สนทนานั้นลงกันได้ดีกับคำสอนต่างๆ ของพระสังฆปริณายก จึงถามขึ้นว่า “ผมใคร่จะทราบนามอาจารย์ของท่าน ซึ่งได้สั่งสอนธรรมให้แก่ท่าน”
หยวนกว็อกได้ตอบว่า ผมมีอาจารย์มากมายที่สอนผม ในขณะที่ผมศึกษาสูตรและศาสตร์ต่างๆ แห่งสำนักไวปูลยะ แต่หลังจากนันมาเป็นเพราะได้อ่านวิมลกีรตินิเทศสูตร* ผมจึงมองเห็นแจ่มแจ้งถึงความสำคัญของนิกายพุทธจิตตะ (คือนิกายธฺยานะ) แล้วในตอนนี้ ผมยังไม่มีอาจารย์คนใดที่จะพิสูจน์และยืนยันความรู้ของผม
ภิกษุอันแช็กกล่าวขึ้นว่า ถ้าในยุคก่อนหน้าพระภิสมครรชิตศวร พระพุทธเจ้าองค์แรก ก็พอจะเป็นไปได้ ที่ใครๆ จะรู้ธรรมได้โดยไม่ต้องเกี่ยงข้องกับอาจารย์ แต่หลังจากนั้นมาแล้ว ผู้ที่บรรลุธรรมโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับอาจารย์ แต่หลังจากนั้นมาแล้ว ผู้ที่บรรลธรรมโดยไม่อาศัยความช่วยเหลือ และยืนยันของอาจารย์คนใดคนหนึ่งแล้ว (ดูเหมือนจะ) ใช้ไม่ได้เป็นธรรมดา
หยวนกว็อกได้ถามว่า ถ้าดังนั้นท่านช่วยเป็นผู้พิสูจน์การรู้ธรรมของผมได้ไหมเล่า?
ภิกษุอันแช็กตอบว่า คำพูดของผมไม่มีน้ำหนัก ที่ตำบลโซกาย มีพระสังฆปริณายกองค์ที่หก อยู่ที่นั่น คนจำนวนมากมาหาท่านจากทิศต่างๆ ด้วยความประสงค์อย่างเดียวกัน คือเพื่อรับเอาธรรม ถ้าท่านใคร่จะไปที่นั่น ผมยินดีที่จะไปเป็นเพื่อน
ในเวลาอันสมควร ภิกษุทั้งสองก็ได้ไปถึงโซกาย และพบปะกับพระสังฆปริณายกสำหรับท่านหยวนกว็อกนั้น เมื่อได้เดินเวียนรอบ ๆ พระสังฆปริณายกสามครั้งแล้ว ก็หยุดยืนถือไม้เท้านิ่งอยู่ (ปราศจากการแสดงความเคารพแต่อย่างใด)
พระสังฆปริณายกเห็นเช่นนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า ก็ภิกษุย่อมเป็นที่เกาะอาศัยของศีลสิกขาบทสามพันข้อ และสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกแปดพันข้อ ผมสงสัยเหลือเกินว่าท่านมาจากสำนักไหน และมีอะไรที่ทำให้ท่านถือตัวถึงเพียงนี้
ท่านหยวนกว็อกได้ตอบว่า ปัญหาเกี่ยวกับการเวียนเกิดไม่รู้สิ้นสุด เป็นปัญหาด่วนจี๋ และความตายอาจจู่มาถึงขณะใดก็ได้ (ผมจึงไม่มีเวลามากพอที่จะเสียไปในการทำพิธีรีตองเช่นนั้น)
พระสังฆปริณายกถามไปว่า แล้วทำไมท่านไม่ทำความแจ่มแจ้งในหลักธรรมเรื่อง “ความไม่เกิด” และแก้ไขความยุ่งยากแห่งความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตให้หมดไปด้วยธรรมนั้นเล่า?
ท่านหยวนกว็อกเสนอว่า การเห็นแจ้งจิตเดิมแท้เป็นการทำตนให้เป็นอิสระจากการเวียนเกิด จัดการกับปัญหาข้อนี้ให้ลุล่วงไปเพียงข้อเดียวปัญหาเรื่องความไม่เที่ยง ก็จะไม่มีเหลืออีกต่อไป
พระสังฆปริณายกได้ตอบรับว่า ถูกแล้ว ถูกแล้ว
ในตอนนี้ หยวนกว็อกได้ยอมทำความเคารพอย่างเต็มที่ตามธรรมเนียม ไม่กี่อึดใจก็กล่าวคำอำลาพระสังฆปริณายก
พระสังฆปริณายกถามว่า ท่านกำลังจะกลับเร็วเกินไปเสียแล้ว ใช่ไหมล่ะ?
หยวนกว็อกย้อนว่า “ความเร็ว” จะมีได้อย่างไรกันในเมื่อความเคลื่อนไหวเอง ก็มิได้มีเสียแล้ว
ย้อนกลับไปว่า ใครเล่า ที่จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวก็มิได้มี?
สวนมาว่า ท่านขอรับ กระผมหวังว่าท่านจะไม่ชี้ระบุตัวตนอะไรที่ไหน
พระสังฆปริณายกได้กล่าวสรรเสริญท่านหยวนกว็อก ว่าสามารถมีความเข้าใจในเรื่อง “ความไม่เกิด” (คือพระนิพพาน) ได้อย่างกว้างขวางปรุโปร่ง แต่ท่านหยวนกว็อกได้ตั้งข้อสังเกตขึ้นมาอีกว่า ก็ใน “ความไม่เกิด” นั้นมี “ความเข้าใจ” อยู่ด้วยหรือ?
พระสังฆปริณายกย้อนตอบไปว่า ไม่มี “ความเข้าใจ” แล้ว ใครเล่าที่สามารถชี้ระบุตัวตน?
ท่านหยวนกว็อกตอบว่า สิ่งที่ชี้ระบุตัวตนนั้น หาใช่ “ความเข้าใจ” ไม่
พระสังฆปริณายกร้องขึ้นว่า สาธุ แล้วได้ขอร้องให้ท่านหยวนกว็อกยับยั้งการกลับไว้ก่อน และค้างคืนด้วยกันสักคืนหนึ่ง เพราะเหตุนี้เอง ท่านหยวนกว็อกจึงเป็นผู้ที่พวกเพื่อนๆ ในสมัยเดียวกันขนานนามว่า “ผู้รู้ ซึ่งเคยค้างคืนกับพระสังฆปริณายก”
ต่อมาภายหลัง ท่านหยวนกว็อกได้ประพันธ์วรรณกรรมอันมีชื่อเสียงเรื่อง “บทขับเกี่ยวกับการบรรลุทางฝ่ายใจ” ซึ่งแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เมื่อมรณภาพแล้ว ท่านได้รับสมัญญาว่า “ปรมาจารย์ วู่เซ็ง” (ซึ่งแปลว่า ผู้อยู่เหนือสิ่งต่างๆ ในโลก) พวกเพื่อนๆ สมัยเดียวกันกับท่าน พากันเรียกท่านอีกนามหนึ่งว่า “ธฺยานาจารย์ ชุนกว็อก” (ซึ่งแปลว่าท่านที่รู้จริง)



ภิกษุ จิหว่าง เป็นนักศึกษาผู้หนึ่งในนิกายธฺยานะ หลังจากได้สอบถามพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า (เกี่ยวกับการก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของตน) แล้วก็เข้าใจเอาเองว่าตนได้บรรลุสมาธิ ดังนั้น ท่านผู้นี้จึงเก็บตัวอยู่ในวิหารเล็กๆแห่งหนึ่ง เป็นเวลาถึงยี่สิบปีและเฝ้าแต่นั่งขัดสมาธิอยู่ตลอดเวลา
มีศิษย์ของพระสังฆปริณายกองค์ที่หกผู้หนึ่งคือ ภิกษุ อันแช็ก จาริกไปทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฮวงโห ได้ยินเรื่องราวของท่านผู้นี้ จึงเข้าไปเยี่ยมถึงที่วัดนั้น
ภิกษุอันแช็กได้ถามว่า “ท่านทำอะไรอยู่ที่นี่?”
ภิกษุจิหว่างได้ตอบว่า “ข้าพเจ้ากำลังเข้าสมาธิอยู่”
ภิกษุอันแช็กกล่าวขึ้นว่า “ท่านว่าท่านกำลังเข้าสมาธิอยู่อย่างนั้นหรือ?
ข้าพเจ้าอยากทราบว่า ท่านทำสมาธิอยู่ด้วยความรู้สึก หรือว่าปราศจากความรู้สึก เพราะว่าถ้าท่านทำสมาธิอยู่ โดยไม่มีความรู้สึก มันก็หมายความว่า สิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งปวง เช่น เครื่องกระเบื้อง ก้อนหิน ต้นไม้และผักหญ้าทั้งหลาย ก็ลุถึงสมาธิได้เหมือนกัน หรือไม่อย่างนั้น ถ้าท่านทำสมาธิอยู่โดยมีความรู้สึก และตัวสัตว์ที่มีชีวิตหรือมนุษย์ก็ตามทั้งหมดนั้น ก็จะพลอยเป็นผู้อยู่ในสมาธิไปด้วยทั้งสิ้น”
ภิกษุจิหว่างได้กล่าวขึ้นว่า “เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในสมาธินั้น ข้าพเจ้าไม่รู้สึกเลยว่า มีความรู้สึกหรือไม่มีความรู้สึก”
ภิกษุอันแช็กจึงพูดว่า “ถ้าเอาอย่างที่ท่านว่า มันต้องเป็นความสงบตลอดกาล ซึ่งในภาวะเช่นนั้นไม่มีทั้งการเข้าอยู่และการออกมา อาการที่ท่านยังเข้าๆ ออกๆ ได้อยู่นั้น ยังไม่ใช่สมาธิชั้นเยี่ยม”
ภิกษุจิหว่างรู้สึกงง หลังจากที่นิ่งอึ้งไปขณะหนึ่ง แล้วท่านจึงได้ถามขึ้นว่า “ข้าพเจ้าขอทราบว่าใครเป็นอาจารย์ของท่าน?”
ภิกษุอันแช็กตอบว่า “อาจารย์ของข้าพเจ้า คือพระสังฆปริณายกองค์ที่หกแห่งโซกาย”
ภิกษุจิหว่างถามต่อไปว่า “อาจารย์ของท่าน ได้กล่าวสรุปความเรื่องธฺยานะและ สมาธิ ไว้อย่างไรเล่า?”
ภิกษุอันแช็กกล่าวตอบว่า “คำสอนของอาจารย์มีว่า ธรรมกายเป็นสิ่งที่เต็มเปี่ยมและสงบ ตัวแท้และการทำหน้าที่ของธรรมกาย ย่อมอยู่ในภาวะแห่ง ความคงที่เสมอ ขันธ์ทั้งห้า เป็นของว่างโดยแท้จริง และอายตนะภายนอกทั้งหก เป็นของไม่มีอยู่ ในสมาธิไม่มีทั้งการเข้า และไม่มีทั้งการออก ไม่มีทั้งความเงียบ และไม่มีทั้งความวุ่นวาย ธรรมชาติของธฺยานะไม่ใช่เป็นความเข้าอยู่ ดังนั้น เราควรจะขึ้นไปให้เหนือภาวะแห่ง “การเข้าอยู่ในความสงบแห่งธฺยานะ” ธรรมชาติของธฺยานะนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะสร้างขึ้นได้ ดังนั้น เราควรจะขึ้นไปให้เหนือความคิดแห่ง การสร้างภาวะของธฺยานะ ภาวะของจิตนั้นอาจเปรียบได้กับอวกาศ แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้น จิตจึงมีอยู่โดยปราศจากการจำกัดเขตอวกาศ
เมื่อได้ฟังดังนั้น ภิกษุจิหว่างจึงออกเดินทางไปยังโซกาย เพื่อไต่ถามพระสังฆปริณายก
เมื่อพระสังฆปริณายกถามว่า มาแต่ไหนแล้ว ภิกษุจิหว่าง ก็ได้เล่าเรื่องราวที่ตนได้สนทนากับภิกษุอันแช็ก ให้พระสังฆปริณายกฟังโดยละเอียด
พระสังฆปริณายกได้กล่าวว่า “ข้อความที่อันแช็กพูดนั้น ถูกต้องทีเดียว จงทำใจของท่าน ให้อยู่ในสภาพเหมือนกับความว่างอันหาขอบเขตไม่ได้ แต่อย่าให้มันเข้าไปติดในทิฏฐิว่า ดับสูญ จงให้ใจทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ ไม่ว่าท่านจะกำลังทำงานหรือหยุดพัก จงอย่าให้ใจของท่านเกาะเกี่ยวในสิ่งใด จงอย่าไปรู้สึกว่า มีความแตกต่างระหว่างตัวผู้กระทำ กับสิ่งที่ถูกกระทำ จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น (1) แล้วท่านก็จะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา
(1) “ความเป็นเช่นนั้น” หรือ “ตถตา” นั้น คือความที่ถ้าเป็นสังขาร ก็ปรุงแต่งหรือเกิดดับกันไป ถ้าเป็นวิสังขาร ก็ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการเกิดดับ –ผู้แปลเป็นไทย
เมื่อได้ฟังดังนั้น จิหว่างก็มีความสว่างไสวในใจถึงที่สุด ความคิดที่ว่า ตนได้บรรลุสมาธิมาแล้วตั้งยี่สิบปีแล้วนั้น บัดนี้ได้สูญสิ้นไป ในคืนวันนั้นเอง พวกชาวบ้านโฮเป่ย (ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเหลือง) ได้ยินเสียงอัศจรรย์ในท้องฟ้า ซึ่งแสดงว่าท่านอาจารย์จิหว่างแห่งนิกายธฺยานะ ได้รู้ธรรมในวันนั้น
ต่อมาอีกไม่นาน ภิกษุจิหว่างได้อำลาพระสังฆปริณายกกลับไปโฮเป่ย อันเป็นที่ซึ่ง ท่านได้สั่งสอนมหาชนหญิงชาย เป็นจำนวนมาก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์สืบมา

ครั้งหนึ่ง มี ภิกษุองค์หนึ่ง ถามพระสังฆปริณายกว่า บุคคลประเภทไหนที่สามารถรับเอาใจความสำคัญของคำสอน แห่งว่องมุ่ย คือ พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้าได้
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า “ผู้ทีสามารถเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นแหละ คือผู้ที่จะสามารถรับเอาได้”
ภิกษุองค์นั้นถามอีกว่า “ก็ใต้เท้าเล่า ได้รับแล้วหรือเปล่า?”
ท่านได้ตอบว่า “ฉันไม่รู้ (สึกว่ามี) ธรรมะของพระพุทธเจ้าเลย”
วันหนึ่งพระสังฆปริณายกต้องการจะซักจีวร ที่ได้รับมอบเป็นมรดกตกทอดมานั้น แต่ท่านไม่สามารถหาลำธารที่เหมาะ ๆ ได้ในที่นั่น ดังนั้นท่านจึงได้เดินไปยังที่แห่งหนึ่ง ทางหลังวัดประมาณห้าไมล์ ที่นั่น ท่านได้สังเกตเห็นว่า ผักหญ้า และต้นไม้งอกงามหนาแน่นและสิ่งแวดล้อมได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นที่อันเหมาะสม ท่านได้สั่นไม้เท้าประจำตัวของท่าน (ซึ่งทำให้เกิดเสียงดัง กริ่ง-กริ่ง เพราะมีลูกพรวนจำนวนหนึ่งผูกอยู่ที่ด้ามไม้เท่านั้น) แล้วปักมันลงที่แผ่นดิน ทันใดนั้น ก็มีน้ำพุ่งขึ้นมา ไม่นานก็กลายเป็นสระน้ำ
ขณะที่ท่านคุกเข่าลงบนก้อนหิน เพื่อจะซักจีวร ในทันใดนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมาปรากฏขึ้นตรงหน้าของท่าน และทำความเคารพท่าน
ภิกษุองค์นั้นได้กล่าวว่า กระผมชื่อ ฟองปิน เป็นชาวเสฉวน เมื่อครั้งกระผมอยู่ที่ประเทศอินเดียตอนใต้ กระผมได้พบ พระสังฆปริณายกโพธิธรรม ท่านได้แนะนำให้กระผมกลับมายังประเทศจีน ท่านได้บอกแก่กระผมว่า ธรรมหฤทัยอันถูกต้อง พร้อมทั้งจีวร บาตร (อันเป็นเครื่องหมายแห่งนิกานธฺยานะ) อันเราได้รับมอบต่อๆ ลงมาจากพระมหากัสสปะเถระนั้น บัดนี้ ได้ตกทอดไปถึงพระสังฆปริณายกองค์ที่หก(1) ซึ่งบัดนี้อยู่ที่ตำบลโซกาย แห่งชิวเจา ท่านจงไปที่นั่นเพื่อจะได้ดูสิ่งเหล่านั้น และได้ถวายความเคารพแก่พระสังฆปริณายกองค์นั้น กระผมเดินทางเป็นเวลานานจนมาถึงที่นี่ ขอให้กระผมได้เห็นจีวรและบาตรที่ใต้เท้าได้รับมอบเป็นทอดๆ ลงมานั้นเถิด?”
เมื่อได้ดูเจดีย์วัตถุทั้งสองอย่างนั้นแล้ว พระสังฆปริณายกได้ถามภิกษุฟองบินว่า เขามีความเชี่ยวชาญในงานชนิดไหนบ้าง ภิกษุฟองบินได้ตอบว่า “กระผมถนัดมือในทางงานแกะสลัก ขอรับ” พระสังฆปริณายกได้ระบุความต้องการของท่านออกไปว่า “ถ้าอย่างนั้นจงทำอะไรให้ฉันดูสักอย่างหนึ่ง”
ภิกษุฟองบินรู้สึกหัวหมุนในขณะนั้น แต่ต่อมา 2-3 วัน ท่านก็สามารถแกะสลักรูปพระสังฆปริณายกอย่างประณีต เหมือนกับมีชีวิตอยู่จริงๆ ขึ้นได้สำเร็จรูปหนึ่ง สูงประมาณเจ็ดนิ้ว เป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนื่งของการแกะสลัก
เมื่อได้เห็นรูปสลักรูปนั้น พระสังฆปริณายกได้หัวเราะ และกล่าวแก่ฟองบินว่า “เธอมีความรู้เชี่ยวชาญในด้านหนึ่งของวิชาการแกะสลักจริงๆ แต่ดูเหมือนว่า เธอไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวอันลึกซึ้งของพระพุทธเจ้าเสียเลย”
แล้วพระสังฆปริณายกได้เอื้อมมือไปลูบศีรษะของภิกษุฟองบิน (เป็นวิธีให้พรตามแบบของพุทธบริษัท) และได้ประกาศขึ้นว่า “เธอจงเป็นเนื้อนาบุญของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย ตลอดกาลนานเป็นนิจเถิด”
นอกไปจากนั้น พระสังฆปริณายกได้ตอบแทนงานชิ้นของภิกษุฟองปินนั้น ด้วยการมอบจีวรผืนนั้นให้เป็นรางวัล ซึ่งภิกษุฟองบินได้ตัดแบ่งออกสามส่วน ส่วนหนึ่งได้ตบแต่งรูปสลักนั้น ส่วนหนึ่งสำหรับใช้เอง และอีกส่วนหนึ่งท่านได้ห่อมันด้วยใบลาน แล้วฝังลงในดิน ขณะที่ทำการฝังลงไป ท่านได้ประกาศคำอธิษฐานออกมาว่า เมื่อใดผ้านี้ถูกขุดขึ้น เมื่อนั้นขอให้ท่านได้เกิดใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น และให้ได้รับภาระซ่อมแซมพระเจดีย์ และโบสถ์วิหารทั้งปวง



ภิกษุรูปหนึ่งนำโศลกซึ่งแต่งขึ้น โดยธฺยานาจารย์รูปหนึ่ง ชื่อ ออหลุน มาท่องบ่นอยู่ว่า
ออหลุน มีวิธีและเครื่องมือ
ที่จะกั้นจิตเสียจาก ความนึกคิดทั้งปวง
เมื่ออารมณ์ต่างๆมิได้กลุ้มรุมจิต
ต้นโพธิ (เครื่องหมายแห่งปัญญา) ก็จะงอกงามอย่างเป็นล่ำสัน
พระสังฆปริณายก ได้ยินโศลกนี้ จึงพูดว่า “โศลกนี้ ย่อมแสดงว่า ผู้แต่งยังไม่เห็นจิตเดิมแท้อย่างเต็มที่ ถ้าใครรับเอาข้อความมาถือปฏิบัติ ก็จะไม่ได้รับความหลุดพ้น แต่จักกลับผูกรัดตัวเองแน่นหนายิ่งขึ้น แล้วพระสังฆปริณายก ได้บอกโศลกบทหนึ่งให้แก่ภิกษุรูปนั้นไว้ท่องบ่น ว่าดังนี้
เว่ยหล่าง ไม่มีวิธี และเครื่องมือ
ที่จะกั้นจิตเสียจากความนึกคิดทั้งปวง
อารมณ์ต่างๆ ย่อมกลุ้มรุมจิตของข้าพเจ้าอยู่เสมอ
และข้าพเจ้าสงสัยว่าต้นโพธิจะงอกงามได้อย่างไรกัน?(1)

(1)บันทึก-ในบรรทัดสุดท้ายนี้ พระสังฆปริณายกได้แจ้งข้อความที่ว่า “ต้นโพธิจะงอกงามเพราะว่า “โพธิ” ย่อมไม่งอกขึ้น และทั้งไม่หดลง -ว่องมู่ล่ำ







 

Create Date : 14 กันยายน 2552
0 comments
Last Update : 4 ธันวาคม 2552 13:05:42 น.
Counter : 657 Pageviews.


chuhongchang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
14 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add chuhongchang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.