Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
29 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
"เจ้าชายผมทอง"

โดย วาณิช จรุงกิจอนันต์
มติชน 03 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1268

ผมเพิ่งได้รับหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ นายจุลศักดิ์ อมรเวช เป็นกรณีพิเศษ เมื่อไม่กี่วันมานี้ งานดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2547 ที่วัดพระธาตุหนองบัว อำเภอเมือง อุบลราชธานี ซึ่งผมไม่ได้ไปร่วม แต่ผมได้เขียนกลอนไว้อาลัยในหนังสือเล่มนี้ด้วย
ผมเขียนกลอนบทที่ชื่อว่า "ชื่อที่จำได้เสมอ"
"นางหนึ่งนั้นรักเราจนจับจิต แต่เราคิดหลบหลีกปลีกตัวหนี อย่าทุกข์ไปเลยหนอยุพดี แม้บุญมีพี่จะกลับมารับนวล" (จากเจ้าชายผมทอง) กลอนบทที่ขึ้นไว้นี้เป็นกลอนจากหนังสือการ์ตูนเรื่องเจ้าชายผมทอง ของ "จุก เบี้ยวสกุล" ซึ่งก็คือ จุลศักดิ์ อมรเวช นั่นแหละครับ
ผมเขียนต่อว่า "ยังจำกลอนบทนี้ได้ดีอยู่ เหมือนกลอนครูให้รู้สึกเมื่อนึกหวน ครั้งได้อ่านก็บังเอิญเหมือนเชิญชวน ให้คิดควรรักเรียนการเขียนกลอน
รักเขียนรูปรักมากมาจากไหน จากแรงบันดาลใจในกาลก่อน "เจ้าชายผมทอง" เร่พเนจร ตัวอักษรเส้นยังจำฝังใจ
จากวัยเด็กวัยนั้นถึงวันนี้ จำชื่อพี่ "จุก เบี้ยวสกุล" ได้ จำชื่อพี่แม้กี่กาลจะผ่านไป ยังจำไว้และจำอยู่ไม่รู้ลืม"
ผมต้องจำชื่อ จุก เบี้ยวสกุล ได้แน่นอนอยู่แล้ว กระทั่งกลอนที่ จุก เบี้ยวสกุล เขียนผมยังจำได้เลย ว่าไปก็แปลกอยู่เหมือนกัน หนังสือการ์ตูนภาพเจ้าชายผมทองนั้นออกสู่ตลาดเล่มแรกเมื่อปี 2501 อายุผมยังไม่ถึงสิบขวบ กลอนบทนี้จะเขียนอยู่ในตอนที่เท่าไรเล่มไหนของเจ้าชายผมทองก็ไม่ทราบ เขียนไว้สักสี่หรือห้าบท
เป็นตอนที่เจ้าชายไปช่วยปราบทุกข์เข็ญอะไรที่เมืองหนึ่ง และเมืองนั้นก็มีเจ้าหญิง ชอบพอกัน แต่เจ้าชายผมทองมีภารกิจจะต้องไปช่วยเจ้าหญิงอีกนางหนึ่ง ก็ต้องเดินทางพเนจรต่อไป
ผมไม่ได้ตั้งใจจะจำนะครับ ไม่ได้ท่อง แต่ความที่ชอบเรื่องกลอนมาตั้งแต่ตอนนั้น อ่านหลายครั้งเข้าก็จำได้ จำได้แค่บทนี้บทเดียว

ผมเป็นแฟนตัวจริงของเจ้าชายผมทอง
หนังสือการ์ตูนภาพเจ้าชายผมทองขายในเวลานั้นเล่มละ "สิบสลึง" คือสองบาทห้าสิบ ทำให้นึกได้ว่าปากใช้เรียกอัตราเงินในวลานั้น เรียกสองบาทห้าสิบว่าสิบสลึง "สองสลึง" ไม่เรียก เรียกว่าห้าสิบสตางค์ ต่อมาก็เจ็ดสิบห้าสตางค์ ไม่เรียกว่าสามสลึง แล้วก็หนึ่งบาท จากหนึ่งบาทก็มาเป็น "ห้าสลึง" เป็น "หกสลึง" เจ็ดสลึงไม่เรียก เรียกกันว่า บาทเจ็ดสิบห้า แล้วก็มาสองบาท แล้วเป็นสองบาทสลึง ไม่เรียกเก้าสลึง มาเป็น "สิบสลึง" ต่อไปก็สองบาทเจ็ดสิบห้า สามบาทสลึง สามบาทห้าสิบ
บุหรี่เกล็ดทองซองละสามบาทห้าสิบ ผู้ใหญ่ที่นั่งกินเหล้าตอนเย็นมักจะใช้ให้ผมไปซื้อให้ โดยให้แบ๊งห้าบาทมา มีบางคราวที่ไอ้ตี๋มาขายแทนเตี่ย มันทอนให้ผมสิบสลึง แทนที่จะเป็นหกสลึง ไม่รู้ว่ามันคิดเงินทอนไม่คล่องหรือคิดว่าบุหรี่ที่ผมซื้อนั้นเป็นบุหรี่พระจันทร์ ผมก็จะได้เงินหนึ่งบาทจากไอ้ตี๋ อุ๊บอิ๊บครับ บาทหนึ่งเป็นเงินนะครับตอนนั้น
เงินสิบสลึงเยอะนะครับ โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าก๋วยเตี๋ยวข้าวแกงยังขายกันชามละจานละห้าสิบสตางค์หนึ่งบาท
ผมไม่มีปัญญาจะซื้อหนังสือเจ้าชายผมทองได้ หนังสือที่ผมซื้อและใจจดใจจ่อรอเวลามีเล่มเดียว คือหนังสือมวยชื่อ "บ๊อกซิ่ง" เล่มละหนึ่งบาท
ผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อไอ้เตี๊ย เด็กชายเตี๊ย แซ่เซียว บ้านไอ้เตี๊ยค้าขายฐานะดีระดับต้นๆ ในตลาด ไอ้เตี๊ยเป็นลูกชายคนโต แม่รักมาก และแม่ไอ้เตี๊ยคือเจ๊เค็งนั้นก็เอ็นดูผม ผมเข้านอกออกในบ้านไอ้เตี๊ยได้ตลอด บางทีไปถึงตอนเขากินข้าวกันก็ได้กินด้วย
ผมก็อ่านเจ้าชายผมทองที่บ้านไอ้เตี๊ย ผมอาศัยอ่านหนังสือการ์ตูนภาพในเวลานั้นจากไอ้เตี๊ย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ "หนูจ๋า" ของ "จุมจิ๋ม" หนังสือ "เบบี้" ของ "อาว์วัฒน์" รวมถึงเจ้าชายผมทอง มีหนังสือการ์ตูนอะไรออกมาไอ้เตี้ยซื้อหมด การ์ตูนภาพอัศวินสายฟ้าและการ์ตูนภาพสี่สหายที่มีมือหูกางมือแปของ "พ.บางพลี" ผมก็จำได้ว่าอ่านที่บ้านไอ้เตี๊ยนี่แหละ
เจ๊เค็งแม่ไอ้เตี๊ยนั้นไม่ว่าจะสิบสลึงหรือกี่สลึงถ้าไอ้เตี๊ยจะซื้อหนังสือการ์ตูนแกให้โดยไม่เคยถาม ไอ้เตี๊ยกินวิตามิน "ไวท็อป" ทุกวันแล้วนะครับ ตอนนั้นน่ะ
ทุกวันนี้ผมยังสงสัยว่าไอ้เตี๊ยอ่านหนังสือการ์ตูนภาพที่ซื้อมานั้นหรือเปล่า แต่หนังสือการ์ตูนทุกเล่มที่ซื้อมานั้น ไอ้เตี๊ยจะใส่ลังใหญ่ลังหนึ่งไว้ ผมเป็นเด็กตลาดเกือบจะคนเดียวที่เข้านอกออกในบ้านไอ้เตี๊ย ผมก็จะเข้าไปค้นหนังสือการ์ตูนในลังนั่นมาอ่าน ผมถึงได้อ่านเจ้าชายผมทองอยู่ซ้ำซาก ก็จำกลอนสี่บรรทัดนั่นได้แหละครับ
แล้วผมก็ชอบเขียนรูป เมื่อชอบเขียนรูปผมก็ยิ่งชอบอ่านการ์ตูนภาพ เจ้าชายผมทองเป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งที่ทำให้ผมอยากจะเขียนรูปให้ได้อย่างนั้น ไม่ใช่การ์ตูน "ตุ๊กตา" "อาวัฒน์" หรือ " จุ๋มจิ๋ม" หรือใครอื่นๆ
ผมอ่านหนังสือการ์ตูนภาพที่บ้านไอ้เตี๊ยอยู่ต่อเนื่องมานานหลายปี จนแม้เมื่อเข้าไปเรียนหนังสือในอำเภอแล้ว ไอ้เตี๊ยไม่ได้เรียนต่อเพราะเตี่ยแม่ต้องการให้ช่วยทำมาค้าขาย
ผมจากไอ้เตี๊ยเข้ากรุงเทพฯ จากเจ้าชายผมทองและหนังสือการ์ตูนภาพทั้งหลายที่เปิดลังอ่านที่บ้านไอ้เตี้ย จากนั้นก็แทบว่าจะไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูนภาพอะไรอีก นอกจากกลอนสี่บรรทัดและลายเส้นลายมือของเจ้าชายผมทองแล้ว ผมก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจำอะไรได้ แต่ชื่อ จุก เบี้ยวสกุล นั้นจำได้แม่น จำได้ทั้งที่เป็นตัวละครในหนังเรื่อง "หนึ่งต่อเจ็ด" และ จำในฐานะคนเขียนเจ้าชายผมทอง
หลายปีมาแล้ว คืนหนึ่งในวงเหล้าที่ใดที่หนึ่ง พี่ณรงค์ จันทร์เรือง แนะนำผมให้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่ง บอกผมว่า "คนนี้ไง จุก เบี้ยวสกุล คนเขียนเรื่องเจ้าชายผมทอง"
ผมอึ้ง ยกมือไหว้แล้วก็อึ้ง พูดอะไรไม่ออก ผมไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกับพี่เขาดี มันพ้นวัยที่จะพูดอะไรฟูมฟายแล้วครับ นอกจากมองพี่เขาอย่างชื่นชมอยู่เงียบๆ
ผมเจอพี่เขาต่อมาอีกหลายครั้งนะครับ แปลกที่ผมลืมกลอนสี่บรรทัดที่จำได้จากเจ้าชายผมทองนั้นไป ผมน่าจะถามพี่เขาว่าจำกลอนสี่บรรทัดนี้ได้ไหม ผมมานึกถึงกลอนสี่บรรทัดนี้และจำได้เมื่อตอนจะเขียนกลอนไว้อาลัยพี่เขา ผมจำได้ว่าเคยถาม พี่จุก เบี้ยวสกุล ว่าพี่เขียนเจ้าชายผมทองตอนอายุเท่าไหร่ พี่เขาบอกว่าตอนอายุสิบหกสิบเจ็ด
ตอนอายุเท่ากันกับพี่ ผมยังเป็นลูกอ๊อดอยู่เลย
จะได้เป็นกบเป็นเขียดหรือเป็นคางคกหรือเปล่าก็ไม่รู้

ผมเป็นนักอ่านอย่างยิ่งตอนวัยเด็ก คนรุ่นเดียวกับผมวัยเดียวกัน ไม่ว่าจะบอกว่าเคยอ่านหนังสืออะไรมา ก็มักจะเป็นหนังสือที่ผมได้อ่านด้วย รวมทั้งเรื่องเจ้าชายผมทองนี่ ไม่นับหนังสือเรียนแบบเด็กหญิงเรณูเด็กชายปัญญา หรือ เด็กชายประหยัดเด็กชายประยูร นะครับ นิยายของ "พนมเทียน" "โรสลาเรน" "บุษยมาส" "อรชร-พันธุ์ บางกอก" และนักเขียนอื่นๆ อีกมากผมก็อ่าน
"ป.อินทรปาลิต" "จ. ไตรปิ่น" ก็อ่าน "ส.เงินยวง" ก็อ่านนะครับ คนนี้เขียนเรื่องโป๊ๆ หน่อย
มีหนังสืออะไรให้เห็นผมอ่านทั้งนั้นแหละ
พฤติกรรมการอ่านของผมเปลี่ยนไปตามวัย ตอนที่เข้ากรุงเทพฯ เมื่ออายุสิบห้าสิบหกนั้น ผมไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูนภาพแล้ว อ่านนิยายและอ่านนิตยสาร อ่าน อาจินต์ ปัญจพรรค์ อ่าน "รงค์ วงษ์สวรรค์
พอเข้ามหาวิทยาลัยก็อ่าน คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อเริ่มอ่าน คึกฤทธิ์ ปราโมช นี่เป็นตอนที่ผมเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์รายวันทุกวันแล้ว แน่นอนว่าหนังสือพิมพ์รายวันที่อ่านทุกวันคือ "สยามรัฐรายวัน" อ่านสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ทุกเล่ม อ่านเรื่องสั้นชุด "ขุนเดช" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งแต่ตอนแรก อ่านเรื่องสั้นของ สุวรรณี สุคนธา และ ณรงค์ จันทร์เรือง ด้วยในเวลานั้น
ผมอ่านหนังสืออะไรต่อมิอะไรมาอีกมาก ยาวนานและต่อเนื่อง จนถึงทุกวันนี้ที่อ่านน้อยลง น้อยลงมาก เรื่องที่อ่านๆ มานั้นบางเรื่องก็จำไม่ได้บางเรื่องก็เลือนๆ ไป มีบางเรื่องที่จำได้ฝังใจ จำเรื่องรายละเอียดไม่ได้ แต่จำภาพรวมๆ ของเรื่องได้ อย่างเรื่อง "เด็กเสเพล" ของ พนมเทียน เป็นต้น
ในหลายๆ เรื่องที่จำได้ฝังใจนั้น เรื่องหนึ่งคือ "เจ้าชายผมทอง"



Create Date : 29 ธันวาคม 2550
Last Update : 29 ธันวาคม 2550 19:13:46 น. 0 comments
Counter : 806 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ชมพูพันทิบ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ชมพูพันทิบ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.