<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
9 กุมภาพันธ์ 2552
 

มาฆบูชา : บทความที่ (2)



มาฆบูชากับโอวาทปาฏิโมกข์
โดย ไพรัตน์ แย้มโกสุม
วุฒิอาสาธนาคารสมอง




มาฆบูชา หรือจาตุรงคสันนิบาต เป็นวันทำบุญพิเศษทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 3 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ

  • 1.พระสงฆ์จากที่ต่างๆ เดินทางมุ่งมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีจำนวนถึง 1,250 องค์เป็นการประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

  • 2.พระสงฆ์ที่มาประชุมเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

  • 3.พระสงฆ์ที่มาประชุมวันนี้ ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือได้รับอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า

  • 4.ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์ เต็มบริบูรณ์


ในวันอันมหัศจรรย์นี้ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ได้เกิดมีการประชุม ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่สุด ก็เพราะ พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" แปลว่า "คำสอนที่เป็นหลักใหญ่" หรือ "คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด" จึงเรียกว่า "หัวใจของพระพุทธศาสนา" กล่าวสั้นๆ คือ "เว้นชั่ว-ทำดี-ทำใจให้บริสุทธิ์"

กล่าวยาวหน่อยตามบทสวดมนต์แปล (แบบอ่านง่าย-เข้าใจง่าย)
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง (การไม่ทำบาปทั้งปวง)
กุสะลัสสูปะสัมปะทา (การทำกุศลให้ถึงพร้อม)
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง (การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ)
เอตัง พุทธานะสาสะนัง (ธรรม 3 อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)

นี่คือ...สิ่งมหัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว แม้ปัจจุบันก็ยังอัศจรรย์อยู่ เพียงแต่ว่า...

คนส่วนใหญ่ มองเห็นเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ ส่วนพุทธโอวาท หรือ โอวาทปาติโมกข์นั้น จะมองเพียงผ่านๆ สักแต่ ว่ามอง ไม่เห็นความสำคัญอะไร ถ้าเห็นความสำคัญ ต้องนำไปปฏิบัติจริงและก็จะไม่เกิดปัญหาขยะ (ทั้งภายนอกภายใน) ล้นโลก เฉกเช่นทุกวันนี้

พระพุทธเจ้าทรงเป็นบรมครู ตรัสว่า.... พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ว่ากัปใด สมัยใด ต่างก็สอนอย่างเดียวกัน คือ... "ละชั่วบรรดามี ทำดีอยู่เป็นนิจ ทำจิต ประภัสสร" (ผู้เขียน-ดัดแปลงจากโอวาท ปาฏิโมกข์)

ซึ่งหลักธรรมคำสอน 3 อย่างดังกล่าว เป็นหลักใหญ่หรือเป็นประธานของคำสอนทั้งปวง เมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติจริง จนเข้าใจเข้าถึงครบ 3 ประการดังกล่าว ชีวิตอันน้อยนิดนี้ก็มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์ได้

แต่...ที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ไม่ยอมพ้นทุกข์ คงเนื่องจากไม่รู้ว่า "อะไรเป็นอะไร" จึงคิดจึงทำไปตามกระแสโลกนิยม ตกเป็นเหยื่อเป็นทาสเขาอยู่ร่ำไป

เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นสุขเป็นทุกข์ เห็นธรรมะเป็นซาตาน เห็นซาตานเป็นธรรมะ เห็นกุศลเป็นอกุศล เห็นอกุศลเป็นกุศล เป็นนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจโกงบ้างกินบ้างไม่เป็นไร มีผลงานให้เห็นบ้างก็ใช้ได้ เป็นชาววัดไม่ยอมทำใจให้ว่าง จึงวางไม่เป็น เมื่อวางไม่เป็น ก็แข่งมั่งแข่งมี แข่งยศแข่งอำนาจ แข่งโชคลาภวาสนา แข่งกิ๊กแข่งกั๊ก เยี่ยงชาวบ้าน ฯลฯ

คนไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไร จะเป็นคนรู้จักตนได้อย่างไร คนไม่รู้จักตน จึงพึ่งตนไม่ได้ อย่าเพ้อฝันเลยว่าจะไปให้พ้นทุกข์ แค่ทุกข์น้อยลงบ้างก็คงหวังได้ยาก

ธรรมะคือธรรมชาติ เป็นวลีเด็ดที่แพร่หลาย กลายเป็นธรรมะติดปากทุกเพศวัย ในทุกสมัย

แต่กรรม-เมื่อกระทำอะไรลงไปนั้น ไม่ได้ดูครู-ผู้ไร้ปากอย่างธรรมชาติบ้างเลย

เวลาปลูกพืชผัก ไม้ประดับ ไม้ผล อันดับแรกต้องเตรียมดิน ขจัดวัชพืช (พืชที่ก่อ ให้เกิดความรกเรื้ออันไม่พึงปรารถนา) ออกให้หมด เมื่อปลูกพืชแล้วก็ให้อาหาร คือ หมั่นรดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน อย่าให้วัชพืชเกิด ขึ้นได้ พืชที่ปลูกก็จะเจริญเติบโต ออกดอกออกผลกลายเป็นอาหาร และขายเป็นรายได้ของเจ้าของ

ชีวิตคนเราก็เหมือนการปลูกพืชผัก มีกุศลเป็นพืชที่ต้องการ และอกุศลเป็นวัชพืชหรือพืชที่ไม่ต้องการ

พืชที่เป็นกุศล ต้องสนใจเป็นพิเศษ หมั่นให้อาหารเสมอ จะได้เติบโตเต็มที่ ส่วนพืชที่เป็นอกุศล อย่าไปสนใจมัน อย่าให้อาหารมัน ในที่สุดมันก็จะเฉาตาย

ในโลกแห่งความเป็นจริง ก็มีทั้งกุศลและอกุศล ไม่ว่าในตัวเราหรือนอกตัวเรา จะมีเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ มันมีสองอย่างเสมอ ขอให้เรารู้ทันมัน สิ่งดีก็จะเจริญ และสิ่งชั่วก็จะเสื่อม

การปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติหน้าที่ นั่นคือการนำหลักธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำอะไร จะต้องเอาโอวาทปาฏิโมกข์ "ละชั่ว-ทำดี-ทำจิตผ่องใส" เป็นเป้าหมาย และเป็นมาตรวัดเสมอ

อยากจะหาหนังสือธรรมะดีๆ อ่านเข้าใจง่าย แจกเป็นธรรมทาน ได้ทำได้แจกปีละหลายครั้ง ครั้งละหลายเล่ม เกิดปีติ มีความสุขใจ นี่คือต้นไม้กุศล ได้งอกงามแล้วในหัวใจ ขณะเดียวกัน มีเพื่อนมาชวนไปเที่ยวอาบอบนวด แรกๆ ก็อยากไป พอรู้ทัน ก็ปฏิเสธเพื่อนไป แม้เพื่อนจะเทียวมาชวนบ่อยๆ ก็ปฏิเสธเหมือนเดิม ในที่สุดต้นไม้อกุศลก็ค่อยๆ เฉาลงๆ และตายไป

สมมุติเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทำ ผิดกฎหมายบ้านเมือง นายกฯต้องกล้าหาญปลดรัฐมนตรี แม้ตัวเองคือนายกฯทำผิด ก็ต้องลาออก ถ้าไม่มีความกล้าหาญดังกล่าวก็เหมือนกับปลูกพืชผักทับวัชพืช มีแต่พูด ทำดีๆๆ ด้วยปาก อายธรรมชาติไร้ปากอย่างแสงแดด สายลม เมฆฝนบ้าง มันไม่เคยเลือกที่รัก มักที่ชัง มันทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ไม่เลือกว่าจะเป็นราชาหรือยาจก ไม่เลือกว่าจะเป็นคนฉลาด หรือคนโง่ ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้มีพระคุณหรือนายทุนผู้เชิดหุ่น

นี่คือ....ได้ละชั่ว และได้ทำดีแล้ว (ในระดับหนึ่ง)

วันนี้ นั่งสมาธิ ดูลมเข้าออก ได้นานหลายนาที พอเผลอ (ขาดสติ) จิตคิดถึงอดีต เคยทำชั่วอะไรบ้าง ทำดีอะไรบ้าง พอมีสติ ก็ดูจิตกำลังคิดอะไร จิตก็เลยหยุดปรุงแต่ง พอเผลอขาดสติอีก จิตก็ไปต่อ ตอนนี้ไปถึง อนาคต อยากทำโน่นทำนี่ มีโครงการต่างๆ พอสติกลับมา รู้ทันว่าจิตกำลังคิดนึกอะไร จิตอายเลยหยุดเพ้อฝันรีบกลับมาอยู่กับลมหายใจ คราวนี้นาน สงบ-เย็น-เป็นสุข จิตได้พักผ่อน ได้อาหาร ได้ยาดี

คนเลี้ยงควาย นำควายไปเลี้ยงใกล้ๆ นาชาวบ้าน ต้นข้าวกำลังเขียวน่าเคี้ยว ควายก็และเล็มหญ้าไปใกล้ๆ ต้นข้าว คนเลี้ยงควายก็กระแอมพร้อมกระตุกเชือก ควายก็ถอยไม่กล้ากินต้นข้าว พอคนเลี้ยงควายเผลองีบหลับไป ตอนนี้ควายได้ที ลุยกินต้นข้าวในนาหมดไปเกือบครึ่งแปลง

คนเลี้ยงควายเปรียบเหมือนสติ มีสติก็ดี เผลอสติก็เสียหาย ควายก็คือจิตที่คิดปรุงแต่งไปเรื่อย คนเลี้ยงควายต้องดูแลให้ดี มีสติเสมอ เผลอเมื่อไหร่ ควายหรือจิตก็สร้างปัญหาเมื่อนั้น

พินิจพิจารณาแล้วจะเห็นว่า สติ คือ ผู้ดู ผู้รู้ จิต คือ ผู้ถูกดู ถูกรู้ ที่มันนึก คิดปรุงแต่งไปเรื่อย เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด- ดับ เพราะมันไม่เที่ยง (อนิจจัง) มันเป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) มันไม่ใช่ตัวตน หรือไม่ใช่รูป-นาม บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา)

แค่เฝ้าดู ก็รู้ธรรม คือรู้กาย-ใจ หรือรู้รูป-นาม มันก็แค่เกิด-ดับๆๆ เพราะมันเป็นไตรลักษณ์-อนิจจัง ทุกขัง-อนัตตา

ขณะที่เฝ้าดูกาย-ใจนี่แหละ โอกาสที่จิตหนีเที่ยวปรุงแต่งเรื่อยไปก็น้อยลง มีสติเข้มแข็งรู้ ทันมากเท่าไหร่ จิตปรุงแต่งก็น้อยลงเท่านั้น (มีสติเต็มร้อยเมื่อไหร่ จิตปรุงแต่งจะเหลือศูนย์ทันที นั่นคือภาวะนิพพาน)

เมื่อจิตปรุงแต่งน้อยลง ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของจิตจะเข้าแทนที่ เปรียบเหมือนกระดาษขาวคือความบริสุทธิ์ของจิต ดินสอที่ขีดเขียนอะไรลงไปในกระดาษ คือจิตปรุงแต่ง ยางลบที่คอยลบข้อความต่างๆ ออกไป หรือหยุดเขียนข้อความต่างๆ ลงไปในกระดาษเสีย คือสติ หรือผู้ดู ผู้รู้

นี่คือ...การทำจิตประภัสสร หรือจิตผ่องใส (ในระดับหนึ่ง)

การไม่ทำบาปทั้งปวง และการทำกุศลให้ถึงพร้อม ธรรม 2 อย่างนี้ ทำกันได้ไม่ยากหรอก ส่วนธรรมข้อที่ 3 การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ นี้ซิ-ออกจะทำได้ยากอยู่ ถ้าขาดธรรมอันเป็นกำลัง

ธรรมอันเป็นกำลัง (พละ 5) ได้แก่ ความเชื่อ (สัทธา) ความเพียร (วิริยะ) ความระลึกได้ (สติ) ความตั้งใจมั่น (สมาธิ) และปัญญา (ความรู้ทั่วชัด) ธรรม 5 อย่างนี้ เป็นอาหารของจิต และยาใจอย่างดีเชียวแหละ

เพราะมีมาฆบูชา จึงมีโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็น "คำสอนที่เป็นหลักใหญ่" หรือ "คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด" จึงเรียกว่า "หัวใจของพระพุทธศาสนา"

มหัศจรรย์แห่งธรรม ดำรงอยู่ในหัวใจของผู้ใฝ่ธรรมเสมอ

สยามประเทศไทยของเรา มีชาวพุทธประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ น่าภาคภูมิใจที่ เป็นเมืองพุทธ ถ้าชาวพุทธลืมหัวใจของพระ พุทธศาสนา จะเป็นผู้ "รู้-ตื่น-เบิกบาน" ได้อย่างไร ?!

ที่มา >> //www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act05090252§ionid=0130&day=2009-02-09


Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 14:42:07 น. 0 comments
Counter : 1340 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com