<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
11 พฤษภาคม 2551
 

ทำความรู้จัก 'นาร์กีส'องคาพยพแห่งความตาย




"นาร์กีส" เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงร้ายกาจของ "พายุหมุนเขตร้อน" ที่มีต่อมนุษย์ได้ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่ง
แต่นาร์กีสไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์หรือการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าต่อผู้หนึ่งผู้ใด ประเทศหนึ่งประเทศใด ตรงกันข้าม มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติสภาวะ หากจะยึดถือว่าเป็นการลงโทษ นาร์กีส จึงน่าจะเป็นการลงโทษของธรรมชาติต่อมนุษยชาติมากกว่าอย่างอื่น

ต่อไปนี้คือคำอธิบายโดยสังเขปถึงธรรมชาติสภาวะที่กอปรขึ้นเป็นองคาพยพของ "นาร์กีส" ที่เป็น "องคาพยพแห่งความตาย"
ของชาวพม่านับหมื่นนับแสนคน

ไซโคลน, ไต้ฝุ่น และเฮอร์ริเคน

ไซโคลน, ไต้ฝุ่น และเฮอร์ริเคน เป็นพายุหมุนในเขตร้อนทั้งหมด ถิ่นกำเนิดของมันมักอยู่ในมหาสมุทรบริเวณใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ที่ซึ่งมีอุณหภูมิของน้ำสูง (27 องศาเซลเชียสหรือมากกว่า) และเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า
"คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" รุนแรง

อุณหภูมิสูง ทำให้เกิดการสะสมของไอน้ำ ก่อตัวเป็นเมฆและฝน "คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" เป็นต้นเหตุให้มันหมุน
ยิ่งสะสมยิ่งมีขนาดใหญ่ ยิ่งหมุนเร็วและรุนแรงมากขึ้น "คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตาม
ธรรมชาติ เพราะเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการที่ "โลกหมุน"

การหมุนของโลก ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง เมื่อโลกหมุนอะไรก็ตามที่เคลื่อนที่อยู่บนผิวโลกจะถูกแรงเหวี่ยงจากการหมุนของโลกกระทบให้หันเหทิศทาง หากสิ่งนั้นเคลื่อนที่อยู่ในซีกโลกตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตร
มันจะเหไปทางขวา หากเคลื่อนที่อยู่ในซีกโลกทางใต้เส้นศูนย์สูตรลงมามันจะเหไปทางซ้าย สัณฐานที่โป่งกลางเหมือนผลส้มของโลก ทำให้แรงเหวี่ยงบริเวณเส้นศูนย์สูตรและพื้นที่ใกล้เคียงสูงมากกว่าที่อื่น ทำให้ "คอริโอลิส
เอฟเฟ็คต์" บริเวณนี้รุนแรงกว่าพื้นที่อื่น

พายุหมุนในเขตร้อน มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ในแหล่งจำเพาะที่มีธรรมชาติสภาวะเอื้อต่อการเกิด เช่น บริเวณนอกชายฝั่ง
ด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา มักเคลื่อนตัวขึ้นเหนือผ่านหมู่เกาะแคริบเบียนไปขึ้นฝั่งบริเวณรัฐฟลอริดา
หรือข้ามอ่าวเม็กซิโกไปยังรัฐหลุยเซียน่าของสหรัฐอเมริกา พายุหมุนในบริเวณดังกล่าวเรียกว่า "เฮอร์ริเคน"

บริเวณมหาสมุทรอินเดียตอนล่าง ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรก็เป็นแหล่งกำเนิดพายุหมุน มักเคลื่อนตัวขึ้นเหนือเข้าถล่ม
บังกลาเทศ หรือในกรณีของนาร์กีส ก็คือชายฝั่งด้านตะวันตกของพม่าและไทย พายุหมุนในบริเวณนี้ เรียกกันว่า "ไซโคลน"

พื้นที่กว้างใหญ่บริเวณทะเลจีนใต้ก็เกิดพายุหมุนขึ้นบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน มักเคลื่อนตัวเข้าถล่มฟิลิปปินส์ เข้าสู่ชายฝั่งด้านตะวันออกของเวียดนาม หรือเลยขึ้นไปทางเหนือถล่มไต้หวัน หรือพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของจีน
พายุหมุนในบริเวณนี้ ถูกขนานนามว่า "ไต้ฝุ่น"

นาร์กีส เริ่มต้นได้อย่างไร?


น่าสนใจอย่างยิ่งที่ลมพายุรุนแรงอย่างนาร์กีส เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเกิดสภาวะลมสงบหรือบางเบา เปิดโอกาสให้ความชื้นในอากาศรวมตัวเข้าเป็นเมฆ หากภาวะลมสงบคงอยู่นานพอที่จะไม่พัดเมฆที่เพิ่งก่อตัวกระจายไปก่อน มันก็จะเริ่มสะสมและขยายตัวใหญ่ขึ้น อุณหภูมิสูงของน้ำและอากาศในบริเวณพื้นผิวทำให้น้ำระเหยเพิ่มมากขึ้น ความกดอากาศในบริเวณดังกล่าวเบาบางลง มวลอากาศเคลื่อนที่ขึ้นสู่ด้านบนและมีมวลอากาศที่เย็นกว่าไหลเข้ามาแทนที่อย่างต่อเนื่อง เเละสืบเนื่องเพราะ "คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" อากาศที่เคลื่อนเข้ามา ถูกเหทิศทางไปทางขวาเรื่อยๆ มวลอากาศที่เคลื่อนตัวชักนำให้เมฆเริ่มเคลื่อนตัวหมุนไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา (ดูภาพประกอบที่ 1)

ดีเปรสชั่น


เมื่อมวลอากาศที่เต็มไปด้วยความชื้นจากไอน้ำที่ระเหยจากทะเลหรือมหาสมุทรเคลื่อนตัวขึ้นสู่ด้านบน มันจะเริ่มเย็นตัวลงไอน้ำเริ่มควบแน่นรวมตัวเข้าเป็นหยดน้ำและเป็นฝนในที่สุด ในกระบวนการควบแน่นของไอน้ำเพื่อกลายเป็นฝนนั้น จะมีการปลดปล่อยความร้อนแฝงออกมาเมื่อมีการเปลี่ยนสถานะจากไอน้ำเป็นน้ำและฝน ผลลัพธ์ก็คือ ความร้อนแฝงที่ปลดปล่อยออกมาทำให้บริเวณโดยรอบอุ่นขึ้นกว่าเดิมและขยายบริเวณกว้างออกไปกว่าเดิม อาณาบริเวณของก้อนเมฆก็ยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย และเนื่องจากมวลอากาศร้อนจะเบากว่ามวลอากาศเย็น มันจะลอยตัวขึ้นสูงและจะดูดเอาอากาศเย็นโดยรอบเข้ามาแทนที่เพิ่มมากขึ้น ความเร็วของลมที่ถูกดูดเข้าหาศูนย์กลางเพิ่มมากขึ้น ความเร็วของการหมุนของเมฆทวีขึ้น สภาวะนี้รู้จักกันในชื่อ ดีเปรสชั่นเขตร้อน หรือที่เราคุ้นมากกว่าในชื่อ "พายุดีเปรสชั่น" นั่นเอง (ดูภาพประกอบที่ 2)

พายุโซนร้อน


หากสภาวการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมฆก้อนนั้นจะยิ่งเพิ่มความกว้างและความหนามากขึ้นเรื่อยๆ กำลังลมที่ถูกดูดวนเข้าหาศูนย์กลางทวีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใดก็ตามที่ความเร็วลมดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระหว่าง 35-64 น็อต (63-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และตัวพายุจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เริ่มเป็นวงกลมมากขึ้น มันจะนำพาตัวเองเข้าสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือการกลายสภาพเป็น "พายุโซนร้อน" โดยทั่วไปแล้ว นักอุตุนิยมวิทยาจะเริ่มตั้งชื่อมันอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้ในการติดตามพัฒนาการของมันอย่างใกล้ชิดต่อไป (ดูภาพประกอบที่ 3)

ไซโคลน


ถ้าหากสภาวะแวดล้อมยังไม่เปลี่ยนแปลง กระบวนการการเกิดพายุหมุนก็จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสั่งสมความรุนแรงและความเร็วมากขึ้นตามลำดับ เมื่อใดก็ตามที่มันสามารถคงความเร็วลมไว้ที่ 64 น็อต (117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไปได้ ก็จะถูกเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า "พายุไซโคลน" (หรือไต้ฝุ่น หรือเฮอร์ริเคน) โดยทั่วไปแล้ว ขนาดของไซโคลนจะกว้างราว 500 กิโลเมตร แต่อาจมากหรือน้อยกว่านั้นได้หลากหลายขนาดมาก ขนาดไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงและอำนาจทำลายล้างของมัน ตรงกันข้าม เฮอร์ริเคนแอนดรูว์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี กลับมีขนาดค่อนข้างเล็กด้วยซ้ำไป (ดูภาพประกอบที่ 4)


ที่ใจกลางพายุ


หากเราตัดขวางก้อนเมฆพายุหมุนเพื่อเข้าไปตรวจสอบดูภายใน จะพบเห็นเมฆพายุหนาทึบบิดตัววนเป็นวง ด้านล่างลงไปจะเต็มไปด้วยฟ้าแลบ ฟ้าผ่า และพายุฝนหนักหน่วงรุนแรง ที่ใจกลางคือบริเวณ "ดวงตา" พายุ ซึ่งเป็นบริเวณที่ค่อนข้างนิ่งโดยมีทุกอย่างหมุนวนอยู่โดยรอบเป็นกำแพงแห่งความโกลาหล ยิ่งลมพายุหมุนคว้างโดยรอบใจกลางของพายุมากเท่าใด คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจนกักล้อมไม่ให้อากาศเข้าถึงบริเวณ "ดวงตา" พายุ ได้แต่โค้งเป็นวงอยู่โดยรอบ จะมีก็แต่อากาศเบาบางที่ไหลลงมาจากด้านบน บริเวณ "ดวงตา" ของพายุจึงมักเห็นท้องฟ้าโปร่ง แจ่มใส และความเร็วลมต่ำอย่างยิ่ง (ดูภาพประกอบที่ 5)


เส้นทางหายนะแห่งนาร์กีส



นาร์กีส เริ่มก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนในมหาสมุทรอินเดียเมื่อราวปลายเดือนเมษายน ถึงวันที่ 28 เมษายน มันเคลื่อนตัวขึ้นเหนือ
อยู่นอกชายฝั่งห่างจากเมืองเชนไน (มัทราส เดิม) ของอินเดียราว 544 กิโลเมตร ในบริเวณอ่าวเบงกอล ถึงตอนนั้นความเร็วลมของมันทวีขึ้นจนกลายเป็นพายุไซโคลน และได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "นาร์กีส"

วันที่ 1 พฤษภาคม นาร์กีสเปลี่ยนทิศทางแทนที่จะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอลและบังกลาเทศอย่างที่คาดหมายกันในตอนแรก มันเริ่มเหออกไปในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ เที่ยงคืนวันที่ 2 พฤษภาคม นาร์กีสขึ้นฝั่งที่บริเวณพื้นที่ที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ด้วยความเร็วลม 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อำนาจทำลายล้าง


เราจำแนกระดับของพายุหมุนในเขตร้อนด้วยมาตรวัดที่เรียกว่า "ซาฟฟีร์-ซิมป์สัน สเกล" ซึ่งจัดระดับของไซโคลน, ไต้ฝุ่น
หรือเฮอร์ริเคน ออกเป็น 5 ระดับ ขึ้นอยู่กับอำนาจการทำลายล้างที่คาดว่ามันจะก่อให้เกิดขึ้นได้ และจำแนกโดยอาศัยความเร็วลมของพายุเป็นหลัก นอกจากนั้น ในขณะที่เกิดพายุหมุน พลังลมของมันจะดึงดูดให้น้ำทะเลในบริเวณใกล้เคียงหนุนสูงขึ้นมาด้วย มากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ไหล่ทวีปตามแนวชายฝั่งในบริเวณนั้น

ระดับของไซโคลน มีดังนี้

ระดับ 1
ความเร็วลม 74-95 ไมล์ต่อชั่วโมง (118-152 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำทะเลหนุนสูง 1.5 เมตร อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับต้นไม้ ไม้พุ่ม หรือบ้านเรือนที่ไม่แข็งแรง

ระดับ 2
ความเร็วลม 96-100 ไมล์ต่อชั่วโมง (153-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำทะเลหนุนสูง 2.5 เมตร บ้านเรือนที่ไม่มีหลักยึดที่แข็งแรงได้รับความเสียหายหนัก หลังคาบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย ต้นไม้โค่น

ระดับ 3
ความเร็วลม 111-130 ไมล์ต่อชั่วโมง (178-208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำทะเลหนุนสูง 4 เมตร บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงเสียหายอย่างรุนแรง ต้นไม้ขนาดใหญ่โค่น อาคารขนาดเล็กที่ปลูกสร้างอย่างแข็งแรงได้รับความเสียหาย

ระดับ 4
ความเร็วลม 131-155 ไมล์ต่อชั่วโมง (209-248 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำทะเลหนุนสูง 5.5 เมตร บ้านเรือนไม่แข็งแรงเสียหายโดยสิ้นเชิง โครงสร้างที่แข็งแรงได้รับความเสียหายหนัก พื้นที่บริเวณชายฝั่งถูกน้ำทะเลท่วม

ระดับ 5
ความเร็วลม เกินกว่า 155 ไมล์ต่อชั่วโมงขึ้นไป (248 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป) น้ำทะเลหนุนสูงเกินกว่า 5.5 เมตร บ้านเรือนขนาดเล็กถูกพัดหายไปกับพายุ บ้านเรือนทุกรูปแบบได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง พื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 4.5 เมตร จะถูกน้ำท่วมอย่างหนัก

นาร์กีส จัดเป็นไซโคลนระดับ 4 เท่านั้น แต่สร้างความเสียหายมหันต์ให้กับพม่า


***ที่มา: หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11018, หน้า32 : //www.matichon.co.th/news_detail.php?id=30556&catid=25



Create Date : 11 พฤษภาคม 2551
Last Update : 11 พฤษภาคม 2551 11:01:25 น. 6 comments
Counter : 1598 Pageviews.  
 
 
 
 
พระเจ้าคืออะไร?

ในบทสรุปส่วนตัวของฉันพระเจ้าก็คือธรรมชาติ

การลงโทษของธรรมชาติจึงไม่ต่างอะไรจากการถูกลงทัณฑ์ด้วยพระเจ้า
ในลัทธิบูชาธรรมชาติอันเป็นลัทธิแรกเริ่มของโลกนั้น เป็นความคิดที่มิได้ซับซ้อน
ก่อนจะถูกศึกษาวิเคราะห์ผ่านกระบวนการความคิด
แล้วแปรออกมาเป็นสารพัดลัทธิรวมถึงปรัชญาทางศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วมาจากการศึกษาความเป็นไปของธรรมชาติ

อ้าว...นอกเรื่องไปไกล...นี่พูดถึงนาร์กีสนี่นา

แต่ฉันกำลังนึกถึง

แสงดาวพร่างพราวฟ้าลุ่มน้ำอิระวดี

ไปหัดเขียนบทกวีตัวนี้ก่อนล่ะค่ะ
 
 

โดย: นกที่ไม่มีเสียง วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:41:09 น.  

 
 
 
มาลงชื่อคนแรกคน ค่ะ คุณนัทธ์...

หวัดดีวันหยุดค่ะคุณนัทธ์ กลับมาแล้วค่ะ
ไปกะเด็กๆ ทั้งสนุกทั้งเหนื่อย

เรื่องราวข้อมูลเกี่ยวกับพายุ..ทำให้รู้สึกว่ามนุษย์เรา...ไม่สามารถควบคุมหรือเอาชนะธรรมชาติได้เลย...
"นาร์กีส" มาเหมือนพิโรธโกรธเคืองใครมาเป็นร้อยปี..เห็นใจชาวพม่า..เหมือนถูกลงโทษ..เศร้าจัง
ขอบคุณเรื่องราวที่นำมาแบ่งปันกันค่ะ
คิดถึงค่ะ
 
 

โดย: โมกสีเงิน วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:51:40 น.  

 
 
 
นากีส ชื่อเก๋แต่ไม่มีใครอยากเจอเนอะ
อาทิตย์ที่แล้วอุตส่าไปแอ่วบนดอยอินทนนท์ คุณนากีสดันแผ่อิทธิพลดลบันดาลให้ฝนตกใหญ่ summer เลยอดเที่ยวเลย ฝนตกทั้งวันทั้งคืน นึกว่าเทวดาลืมปิดก๊อกน้ำ
 
 

โดย: Summer Flower วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:12:06:57 น.  

 
 
 
มาทบทวนความรู้เรื่องพายุต่างๆค่ะ
ชื่อนาร์กีสฟังดูเพราะแต่ทว่าโหดร้ายไม่ใช่เล่น ดูข่าวแล้วนึกถึงหนังเรื่องตะลุมพุกค่ะ
 
 

โดย: มัยดีนาห์ วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:22:20:27 น.  

 
 
 
โหด จาง อ่า ค๊าบๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


ชื่อมะสมกับ พายุเลย งิ


โหดๆๆมากมาย
 
 

โดย: อย่างน้อย IP: 118.174.116.172 วันที่: 13 พฤษภาคม 2551 เวลา:18:29:49 น.  

 
 
 
ดีค่ะ
ทำไมอยากเอาไปอ่าน
 
 

โดย: นัท IP: 117.47.59.172 วันที่: 17 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:35:25 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com